หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/110
    ๓๙๘๒. พิมเสนหรือภิมเสน  ภีมเสน พิมเสนเกร็ด พิมเสนตรังกานู และพรมเสน เป็นสารธรรมชาติที่ได้จากต้นไม้หลายชนิด และหลายวงศ์แต่ที่ให้พิมเสนคุณภาพดีนั้น ได้จากต้นไม้ชื่อพิมเสนต้น
                        พิมเสนมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็ก ๆ สีขาวขุ่นหรือแดงเรื่อ มีกลิ่นหอมเย็นฉุนระเหิดได้ ติดไฟให้แสงจ้า และมีควันมาก ไม่มีขี้เถ้า หนักกว่าน้ำเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ ยากัดเสมหะ ยากระตุ้นการหายใจ กระตุ้นสมอง บำรุงหัวใจ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อาการเกร็ง ยาระงับความกระวนกระวาย ยาทำให้ง่วงซึม
                        พิมเสนต้นเป็นต้นไม้ที่มีขนาดสูงใหญ่มาก เรียกได้ว่าเป็นพญาไม้สูงถึง ๗๐ เมตร ลำต้นเปลาขึ้นไป ๒๗ - ๓๘ เมตร เรือนยอดเป็นรูปฉัตร มีกิ่งก้านสาขาใหญ่ หลายกิ่งตกยอดทรงแหลม ใบตอนบน ๆ ออกเป็นใบสลับ แต่ตอนล่าง ๆ ออกตรงกันข้ามแผ่นใบเป็นรูปไข่ ดอกมีกลิ่นหอมชื่นใจ ในเนื้อไม้แก่ ๆ จะมีพิมเสนตกเกล็ดออกมา          ๒๑/ ๑๓๓๑๒
                ๓๙๘๓. พิมาย ๑  เป็นพระนามหนึ่งของกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิมาย เรียกกันว่าเจ้าพิมาย เป็นราชโอรสในพระเจ้าบรมโกศ
                        เมื่อพระเจ้าบรมโกศสวรรคตในปี พ.ศ.๒๓๐๑ ราชสมบัติได้แก่ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต พระมหาอุปราช ฝ่ายเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีทรงตั้งพระองค์เป็นอิสระ แสดงท่าที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง พระเจ้าอุทุมพรจึงถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าเอกทัศผู้เป็นพระเชษฐา ภายหลังที่ทรงราชย์อยู่ได้เดือนเศษ แล้วเสด็จออกไปทรงผนวชที่วัดศรีอโยฌิยา แล้วมาประทับอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม
                        ในการเปลี่ยนแผ่นดินครั้งนั้นขณะที่พระเจ้าอุทุมพรทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่วัดกระโจม กรมหมื่นเทพพิพิธไม่พอพระทัยจึงได้คบคิดกับเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราชและพระยาเพชรบุรีเป็นขบถ มีความมุ่งหมายที่จะอัญเชิญพระเจ้าอุทุมพรกลับมาครองราชย์ตามเดิม พระเจ้าเอกทัศ จึงให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธ ไปอยู่เกาะลังกา มีผู้นับถือมาก ชาวลังกาที่ขบถต่อพระเจ้ากรุงลังกา คิดจะถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเทพพิพิธ พระเจ้ากรุงลังกาจึงโปรดให้จับกรมหมื่นเทพพิพิธ พระองค์จึงหนีไปอาศัยอยู่ในอินเดีย
                        เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธได้ข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าจึงได้กลับมาเมืองไทย แต่กรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่าตามข่าวลือ พระเจ้าเอกทัศจึงให้คุมตัวไว้ที่เมืองมะริด ครั้นพม่าตีเมืองมะริดได้ กรมหมื่นเทพพิพิธจึงหนีมาอยู่ที่เมืองเพชรบุรี พระเจ้าเอกทัศจึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปคุมขังไว้ที่เมืองจันทบุรี
                        กรมหมื่นเทพพิพิธทรงดำริที่จะขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา จึงทรงเกลี้ยกล่อมรวบรวมผู้คนได้เป็นอันมาก แต่พม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้เสียก่อน จึงได้พาครอบครัวไปอยู่ที่ด่านโคกพระยา ในเขตเมืองนครราชสีมา และเริ่มเกลี้ยกล่อมพระยานครราชสีมามาให้เป็นพรรคพวก แต่พระยานครราชสีมาไม่ยอมร่วมมือด้วย กรมหมื่นเทพพิพิธ ทรงให้พรรคพวกลอบฆ่าพระยานครราชสีมาเสียแล้ว ขึ้นนั่งเมืองแทน หลวงแพ่งผู้เป็นน้องชายพระยานครราชสีมา ไม่ยอมร่วมด้วย หนีไปเกณฑ์ผู้คนที่เมืองพิมาย แล้วจัดตั้งเป็นกองทัพ ยกไปตีเมืองนครราชสีมาคืนมาได้ และจับกรมหมื่นเทพพิพิธกับครอบครัวมาได้ แต่พระพิมายได้ขอชีวิตไว้
                        พระพิมายจงรักภักดีต่อเจ้านายกรุงศรีอยุธยา จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธจึงตั้งพระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งต่อมาได้คิดอุบายจับหลวงแพ่งฆ่าเสีย เจ้าพิมายสามารถแผ่อำนาจออกไปยังหัวเมืองใกล้เคียงกลายเป็นชุมนุมเจ้าพิมายมีเมืองพิมายเป็นราชธานี แต่ในที่สุดก็ถูกพระเจ้าตากสินตีได้ และถูกประหารชีวิต          ๒๑/ ๑๓๓๒๕
                ๓๙๘๔. พิมาย ๒ - ปราสาทหิน  ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของเมืองพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมืองนี้เคยเป็นเมืองมาแต่โบราณ ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอ
                        ลักษณะเมืองพิมายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๕๖๕ เมตร ยาวประมาณ ๑,๐๓๐ เมตร กำแพงเมืองทั้งสี่ด้านเป็นเนินดิน ประตูเมืองก่อด้วยศิลาทรายในเมืองมีสระแก้ว สระพลุ่งและสระขวัญ นอกกำแพงเมืองมีสระเพรง
                        ปราสาทหินพิมายเป็นพุทธสถานมีกำแพงสี่เหลี่ยมล้อมรอบมีประตูซุ้มทั้งสี่ทิศ ช่องประตูซุ้มอยู่ตรงกัน ประตูซุ้มใหญ่ที่สุดอยู่ด้านหน้าอยู่ทางทิศใต้ คงเป็นเพราะแต่เดิมมีถนนตัดจากประเทศกัมพูชาขึ้นมาทางทิศใต้
                        หน้าประตูซุ้มแห่งนี้ก่อเป็นสะพานนาค กว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๓๒ เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ ๒.๕๐ เมตร มีบันไดลงสู่พื้นดินแยกเป็นสามทาง ที่เชิงบันไดตั้งรูปสิงห์ แล้วจึงถึงประตูซุ้ม ประตูซุ้มก่อแบ่งเป็นสามคูหาจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ
                        ต่อจากประตูซุ้มด้านทิศใต้ชักปีกกาเป็นกำแพงออกไปข้างละราว ๘๐ เมตร แล้วจึงหักมุมเป็นแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตกต่อไป ส่วนบนหรือหลังคาของซุ้มประตูด้านทิศใต้ ตรงคูหากลางก่อสูง นอกนั้นลดหลั่นกันไปตามลำดับ การสร้างประตูซุ้มมีคูหาติดต่อกันทั้งสี่ทิศนี้ ทำให้แลดูมีลักษณะคล้ายรูปกากบาท ประตูซุ้มของกำแพงทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ก็มีลักษณะอย่างเดียวกับประตูทางทิศใต้ ผิดแต่ไม่มีสะพานนาคข้างหน้าเท่านั้น กำแพงของปราสาทหินพิมายสร้างด้วยศิลาทรายสีแดง ทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวประมาณ ๒๒๐ เมตร ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก ยาวประมาณ ๒๗๗.๕๐ เมตร
                        นอกประตูซุ้มด้านทิศใต้มีซากอาคารสร้างด้วยศิลาทราย และศิลาแลงอยู่หลังหนึ่งทางทิศตะวันตก ขนาดกว้างประมาณ ๒๖ เมตร ยาวประมาณ ๓๕ เมตร เดิมเรียกกันว่าคลังเงิน ปัจจุบันเปลี่ยนเรียกชื่อเป็นธรรมศาลา
                        ถัดประตูซุ้มด้านใต้เข้าไปเป็นลานใหญ่คือ สามชั้นนอก มีสระน้ำอยู่สี่มุม มุมละสระ บนลานชั้นนอกตอนใกล้ประตูซุ้มกำแพงทิศตะวันตก มีซากอาคารก่อด้วยศิลาหลังหนึ่ง สันนิษฐานว่า อาจเป็นพระตำหนัก หรืออาจเป็นหอไตร หรือบรรณาลัย ที่เก็บรักษาตำราทางศาสนาก็ได้
                        ต่อจากลานชั้นนอกเข้าไปถึงระเบียงคดก่อยกฐานมีประตูซุ้มสี่ทิศ และประตูทางทิศใต้มีขนาดใหญ่กว่า ประตูทางทิศอื่น ภายในระเบียงคด มีทางเดินทะลุถึงกันทั้งสี่ด้าน หลังคามุงด้วยแผ่นศิลาทำเป็นรูปหลังคาเรือประทุน ที่ประตูซุ้มด้านใต้ของระเบียงคดมีค่าจารึกอยู่บนแผ่นหินด้านขวามือร้าวปี พ.ศ.๑๖๕๑ และ ๑๖๕๕
                        ต่อจากระเบียงคดเข้าไปจะเป็นลานชั้นใน เป็นที่ตั้งของปรางค์สามองค์ และอาคารหนึ่งหลัง ปรางค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง ปรางค์น้อยอยู่ข้างหน้าทั้งซ้าย และขวาของปรางค์องค์ใหญ่ องค์ซ้ายเรียกกันว่า ปรางค์พรหมทัต องค์ขวาเรียกว่า ปรางค์หินแดงบนทับหลังของปรางค์พรหมทัต มีภาพสลักพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน เป็นแนวมีบริวารประกอบทับหลังชิ้นนี้อยู่ในศิลปะขอมแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ด้านหลังปรางค์หินแดง มีอาคารน้อยหลังหนึ่งได้พบศิวลึงค์ขนาดย่อม สลักด้วยศิลา ๒ - ๓ ชิ้น เรียกอาคารหลังนี้ว่า หอพราหมณ์
                        ถัดปรางค์พรหมทัตกับปรางค์หินแดงเข้าไปเป็นปรางค์องค์ใหญ่ คือปรางค์องค์ประธานของปราสาทหินพิมาย ทัพสัมภาระที่ใช้ก่อสร้างมีทั้งศิลาปูนและศิลาทราย ประตูเข้าออกองค์ปรางค์มีทั้งสี่ทิศ มุขหน้าของปรางค์ใหญ่มีทางขึ้นลงสามทางคือ ซ้าย ขวาและหน้า
                        ทับหลังชิ้นสำคัญสี่ชิ้นที่อยู่เหนือประตูชั้นในด้านหน้ารอบปรางค์องค์กลางแสดงให้เห็นว่า ปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน คือ ด้านทิศใต้จำหลักภาพเป็นสองแนว แนวบนเป็นพระพุทธรูปนาคปรกประทับอยู่ระหว่างกลางพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิหกองค์ แนวล่างมีภาพอุบาสก อุบาสิการนำสิ่งของมาถวาย  ด้านทิศตะวันตกจำหลักเป็นสองแนวเช่นกัน แนวบนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนอยู่ระหว่างต้นไม้คู่หนึ่ง มีกษัตริย์นั่งเฝ้าอยู่ข้าง ๆ พร้อมด้วยบริวาร แนวล่างเป็นรูปพนักงานชาวประโคมกับฟ้อนรำ  ด้านทิศเหนือจำหลักภาพเป็นสองแนว แนวบนเป็นภาพเทวดาสามพักตร์สี่กรห้าองค์ เข้าใจว่าคือ พระวัชรสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ประจำองค์ พระอาทิพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  ด้านทิศตะวันออกจำหลักเป็นสองแนวเช่นกัน แนวบนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ ประทับนั่งเรียงแถวอยู่ในเรือนแก้วสิบองค์ แนวล่างเป็นเทพบุตรและเทพธิดากำลังฟ้อนรำ
                        จากจารึกและศิลปะซึ่งตกอยู่ในศิลปะขอมแบบปาปวน (ราวพ.ศ.๑๕๕๐ - ๑๖๕๐)  จึงอาจกล่าวได้ว่าปราสาทหินพิมาย คงจะเริ่มสร้างในสมัยพระจ้าชัยวรมันที่หก (พ.ศ.๑๖๒๓ - ๑๖๕๐)  และสำเร็จลงในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗          ๒๑/ ๑๓๓๒๙
                ๓๙๘๕. พิมาย ๓  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบ เหมาะแก่การทำนา ตอนใต้เป็นป่าไม้
                        พิมายเป็นอำเภอสำคัญของ จ.นครราชสีมา เป็นเมืองเก่าแก่สมัยขอม พวกขอมตั้งเป็นราชธานี สำหรับปกครองท้องที่แผ่นดินที่ราบสูงตอนใต้ มีซากโบราณสถานปรากฏอยู่หลายอย่างเช่น ปราสาทหิน
                        อ.พิมายแต่เดิมก็ชื่อว่า พิมาย ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองพิมาย ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พิมายตามเดิม
                        มีนิยามที่เป็นประวัติของเมืองพิมาย คือเรื่องของท้าวปาจิตกับนางอรพิมพ์ ที่ อ.พิมายมีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งเรียกว่า ไทรงาม แผ่กิ่งก้านสาขาออกต่อเนื่องกัน เป็นบริเวณใหญ่รุ่มรืนเป็นรมณียสถาน          ๒๑/ ๑๓๓๓๙
                ๓๙๘๖. พิมาย ๔  เป็นชื่อเขื่อนกั้นแม่น้ำมูลที่คุ้งไทรงาม ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ส่งน้ำให้ระบบการส่งน้ำของโครงการทุ่งสัมฤทธิ์ รวม ๑๕๓,๐๐๐ ไร่ เริ่มงานก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖          ๒๑/ ๑๓๓๔๑
                ๓๙๘๗. พิราบ - นก  เป็นนกที่อาศัยตามเขาหิน แต่ต่อมากลับเชื่องและกลายเป็นนกบ้านไปอย่างรวดเร็ว นกนี้บินแข็งมาก สามารถจะบินกลับเรือนรัง หรือบ้านของเจ้าของเดิม ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปเป็นร้อย ๆ กิโลเมตรได้ถูกต้อง จึงมีคนชอบใช้เป็นนกสื่อสารกันมาก          ๒๑/ ๑๓๓๔๓
                ๓๙๘๘. พิษณุโลก  จังหวัดภาคกลางมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.อุตรดิตถ์ ทิศตะวันออกจด จ.เลย และจ.เพชรบูรณ์ ทิศใต้จด จ.พิจิตร ทิศตะวันตกจด จ.กำแพงเพชรและจ.สุโขทัย ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกส่วนมากเป็นป่าไม้ และเขามีที่ราบน้อย นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่มทั่ว ๆ ไป ทั้งในที่ลุ่มแม่น้ำน่าน และที่ลุ่มแม่น้ำยม
                        จ.พิษณุโลกเป็นเมืองโบราณพื้นที่เดิมก่อนที่จะสร้างเมืองขึ้นเห็นจะเป็นท้องที่ของเมืองโอฆบุรี เพราะปรากฏในพงศาวดารเหนือว่า เมื่อพระเจ้าพสุจราชกรุงศรีสัชนาลัยสวรรคต แล้วพระธรรมไตรโลกโอรส ได้ขึ้นเสวยราชย์แล้ว ออกผนวชที่เมืองโอฆบุรี พระเจ้าโกรพราช ให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุ แล้วพระราชทานนามว่า วัดจุฬามณี เข้าใจว่าเป็นวัดเดียวกันกับวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงสร้าง (บูรณะ) เมื่อเสด็จขึ้นไปประทับเมืองพิษณุโลกแล้วทรงผนวชที่วัดนั้น
                        เมืองพิษณุโลกเคยเป็นเมืองมาแล้วก่อนสมัยขอม ครั้นต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๔๐๐ ขอมได้ครอบครองเมืองนี้ปรากฏหลักฐานคือ ปรางค์ศิลาแลงที่วัดจุฬามณี เดิมที่เดียวคงเรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองสองแควที่ตั้งเมืองเดิมอยู่ที่วัดจุฬามณีในระหว่างแม่น้ำน่านกับแควน้อย ถึงปี พ.ศ.๑๙๐๒ พญาสิไทมาประทับเมืองพิษณุโลก ครั้นปี พ.ศ.๑๙๒๑ พญาไสยฤาไท ต่อสู้กองทัพกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ก็ยอมอ่อนน้อมโปรดแบ่งเขตเป็นสองมณฑล เมืองตาก กำแพงเพชรและพระบาง เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองใหญ่ ให้พระยายุธิษฐิระบุตรติดพระมเหสีสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ปกครอง พญาไสยฤาไทคงปกครองเมืองสุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก แล้วย้ายตัวเมืองจากที่เดิมมาสร้างใหม่ในฝั่งเดียวกัน
                        ในปี พ.ศ.๑๙๘๑ พระมหาธรรมราชาที่ห้าสวรรคต สมเด็จพระราเมศวร ต้องเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งให้รวมหัวเมืองเหนือทั้งปวงคือ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย สวรรคโลก พิชัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ตาก พระบาง ถึงปี พ.ศ.๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมราชาที่สองสวรรคต สมเด็จพระราเมศวร ต้องเสด็จกลับมาครองกรุงศรีอยุธยา เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทางเมืองเหนือจึงให้เจ้าเมืองปกครองขึ้นกรุงทุกเมือง สมัยนั้นพระเจ้าติโลกราช เป็นใหญ่ในอาณาจักรลานนา มีอำนาจมาก ยกกองทัพลงมารบกวนเมืองเหนือเนือง ๆ จึงต้องเสด็จขึนไปประทับที่เมืองพิษณุโลก ทรงสถาปนาวัดจุฬามณี แล้วทรงผนวชที่วัดนั้นแปดเดือน ในปี พ.ศ.๑๙๙๒ พระองค์เสด็จสวรรคตที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๑ พระเชษฐาโอรสเกิดแต่พระชนนีเชื้อราชวงศ์สุโขทัย ได้ครองเมืองเหนือ ประทับ ณ เมืองพิษณุโลกถึงปี พ.ศ.๒๐๓๔ เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สามสวรรคต แล้วก็เสด็จลงมาเสวยราชย์กรุงศรีอยุธยา เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง เมืองพิษณุโลกก็ว่างผู้ปกครอง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๖๙ โปรดตั้งสมเด็จหน่อพุทธารกูรเจ้าเป็นอุปราช ประทับอยู่เมืองพิษณุโลกได้สามปี สมเด็จพระรามาธิบดีที่สองสวรรคต ต้องเสด็จมาครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สี่ จึงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอพระชนนี เป็นเชื้อพระวงศ์เมืองเหนือ เป็นพระไชยราชาไปครองเมืองพิษณุโลก ต่อปี พ.ศ.๒๐๗๗ พระไชยราชาเสด็จลงมาปราบดาภิเษก เป็นสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระองค์สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๐ ขุนพิเรนทรเทพเชื้อพระวงศ์เมืองเหนือราชบุตรเขย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ได้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เป็นพระมหาธรรมราชา
                        สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสวยราชย์ได้เจ็ดเดือน พระเจ้าตะเบงชะเวดี้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพเมืองเหนือลงมาช่วย พม่าถอยทัพไปทางเหนือ พระมหาธรรมราชา และพระราเมศวร คุมกำลังตามตีทัพพม่า ถูกบุเรงนองจับได้ทั้งสององค์ ต้องเสียช้างชนะงาพลายศรีมงคล กับพลายมงคลทวีปแลกตัวคืนมา
                        ในปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระเจ้าบุเรงนองกองทัพมาตีเมืองเหนือที่เป็นเมืองขึ้นเมืองพิษณุโลกได้แล้วเข้าตีเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาต้องยอมอ่อนน้อม ถือน้ำกระทำสัตย์พระเจ้าบุเรงนอง เอาสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นตัวจำนำอยู่ ณ เมืองหองสาวดี แล้วพม่าจึงยกทัพมาติดกรุงศรีอยุธยา
                        เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ออกทรงผนวชพระมหาธรรมราชาไม่ยอมอยู่ในบังคับบัญชาพระมหินทร ซึ่งครองราชย์แทนอยู่ พระมหินทรจึงชวนพระไชยเชษฐา ผู้ครองแคว้นลานช้าง ให้มาตีเมืองพิษณุโลก เหตุเพราะพระมหาธรรมราชา ไปทูลพระเจ้าบุเรงนอง ให้มาแย่งพระเทพกษัตริย์ ที่พระราชทานทรงไชยเชษฐาไป แต่สู้พระมหาธรรมราชาไม่ได้ เมื่อไทยแตกกันด้วยอุบายพม่า พม่าจึงเกณฑ์ไทย เมืองเหนือให้พระมหาธรรมราชาเป็นแม่ทัพ ยกมารบด้วยทัพหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๑๑๑ พระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว ก็เดินทัพกลับทางเมืองพิษณุโลก
                        สมเด็จพระนเรศวร ฯ เสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๔ แต่เมื่อพระองค์ประกาศอิสรภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ ก็โปรดให้กวาดต้อนครอบครัว ทิ้งเมืองให้ร้างไว้แปดปี
                        เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๔ พม่ายกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เจ้าพระยาพิษณุโลก ยกกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปช่วย แต่ช่วยไม่ทันเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๑๐ แล้วเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)  ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอิสระชุมนุมหนึ่ง
                        ถึงปี พ.ศ.๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพเรือไปตีชุมนุมเจ้าพิษณุโลก แต่ต้องทัพกลับมาเจ้าพระยาพิษณุโลก จึงทำพิธีราชภิเษกเป็นกษัตริย์อยู่ได้เจ็ดวัน ก็ถึงพิราลัย เจ้าพระฝางจึงยกกองทัพมาล้อมเมืองพิษณุโลกได้สองเดือน ก็เข้าเมืองได้ กวาดต้อนชาวเมืองพิษณุโลกไปไว้เมืองสวางคบุรี รวมเข้าไว้ในชุมนุมของเจ้าพระฝางอยู่มาอีกสองปี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เสด็จยกทัพเรือขึ้นไปตีก๊กเจ้าพระฝางตีได้เมืองพิษณุโลกแล้วยกขึ้นไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางทิ้งเมืองหนีไปโปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพพม่ามาล้อมเมืองพิษณุโลก จนไทยขัดสนเสบียงอาหารต้องทิ้งเมือง
                        เมืองพิษณุโลกเป็นหัวเมืองเอก ตามกฎมณเฑียรบาลว่า เป็นเมืองพระยามหานครมีสิ่งสำคัญคือ ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ เช่น พระศรีรัตนมหาธาตุ และพระพุทธชินราช มีโบราณสถานคือ พระราชวังจันทน์ สร้างครั้งพระเจ้าลิไท วัดจุฬามณีซึ่งตามพงศาวดารเหนือว่าพระเจ้าโกรพราชให้สร้าง        ๒๑/ ๑๓๓๔๓
                ๓๙๘๙. พีชคณิต  เป็นแขนงหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์ นอกจากจะใช้ตัวเลข ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนจำนวนเหมือนในวิชาเลขคณิตแล้ว พีชคณิตยังใช้ตัวอักษรแทนจำนวน ที่ยังไม่ได้กำหนดค่าที่แน่นอน มีการบวก ลบ คูณ หาร ยกกำลังตัวอักษรที่เขียนแทนจำนวน เช่นเดียวกับตัวเลข ผลที่ได้รับเป็นนิพจน์ (สัญลักษณ์ที่แทนหลาย ๆ พจน์บวกหรือลบกัน)  ทางพีชคณิต การทำเช่นนี้เป็นการง่ายที่จะศึกษาสมบัติของจำนวนเพื่อนำไปสู่การวางกฎเกณฑ์ทั่วไป
                        เราอาจแก้ปัญหาเลขคณิตที่ยุ่งยากได้ง่ายโดยใช้วิธีพิชคณิต เริ่มด้วยการให้ตัวอักษรแทนจำนวนที่ยังไม่รู้ค่า ตั้งสมการตามเงื่อนไขที่โจทย์กำหนด คำนวณหาผลลัพธ์จากการแก้สมการ แล้วจึงตรวจสอบผลลัพธ์
                        วิชาพีชคณิตมีประโยชน์มากในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และวิชาอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้สูตร เมื่อกำหนดค่าต่าง ๆ ตามที่สูตรต้องการมาให้การคำนวณหาค่า ที่เหนืออาจต้องใช้การแก้สมการ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๗๙๓ ชาวกรีกผู้หนึ่งแห่งละเล็กซานเดรียเป็นคนแรก ที่เริ่มใช้ตัวอักษรแทนจำนวนที่ยังไม่รู้ค่า ประมาณปี พ.ศ.๑๓๖๓ ชาวอาหรับผู้หนึ่งได้เขียนหนังสือวิชาว่าด้วยการแก้สมการ ต่อมาชาวยุโรปหลังสงครามครูเสด (หลังปี พ.ศ.๑๙๔๓)  นำหนังสือนี้ไปแปลเพื่อศึกษาเล่าเรียน
                        วิชานี้ในภาษาไทยใช้คำว่า พีชคณิตกันเป็นที่แพร่หลาย (พบในหลักสูตรสามัญศึกษา พ.ศ.๒๔๕๔)  พีชคณิต ค่าชื่อนี้ตรงกันกับชื่อที่ภาสกร นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียแต่งไว้เมื่อ ๘๐๐ ปีก่อน ในปี พ.ศ.๑๖๙๓ ภาสกรได้เป็นผู้อำนวยการหอดาราศาสตร์เมืองอุชเชนี ได้แต่ตำราดาราศาสตร์ขึ้นชุดหนึ่ง แบ่งออกเป็นบท ๆ บทที่หนึ่งกล่าวถึงวิชาเลขคณิต บทที่สองมีชื่อว่า พีชคณิต กล่าวถึงการแก้สมการบทที่สาม และที่สี่ กล่าวถึงวิชาดาราศาสตร์ และรูปทรงกลม
                       คำว่าพีช (อ่านว่าพีชะ)  แปลว่า เมล็ดพันธุ์ไม้หรือพืช คณิตแปลว่าการนับ การคำนวณ พีชคณิตเป็นวิชาคำนวณที่ใช้วิธีการคล้ายการปลูกต้นไม้
                       ในระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปีมานี้ นักคณิตศาสตร์ได้พยายามเสาะหาหลักเกณฑ์ทั่วไปของพีชคณิต หลังจากนั้นได้สร้างวัถตุทางคณิตศาสตร์ขึ้นใหม่ กำหนดให้มีสมบัติบางอย่างเหมือนจำนวน เช่น เวกเตอร์และเมตริก ทำให้เกิดพีชคณิตใหม่เรียกว่า วิชาพีชคณิตเชิงเส้น ต่อมาก็สมมติวัตถุทางคณิตศาสตร์ขึ้นมาลอย ๆ เป็นนามธรรมแทนวัตถุที่กล่าวถึงแต่ละตัวด้วยอักษร แต่กำหนดให้มีสมบัติบางอย่างเหมือนจำนวน สมบัติบางอย่างอาจแตกต่างกัน จึงเกิดพีชคณิตแขนงใหม่เรียกว่า วิชาพีชคณิตนามธรรม ซึ่งแตกแขนงออกไปเป็นทฤษฎีของกลุ่ม วง และพื้นภูมิ
                       ดังนั้นในความหมายปัจจุบัน พีชคณิตเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยวัตถุทางคณิตศาสตร์บางอย่าง วัตถุเหล่านี้แทนด้วยสัญลักษณ์ทางพีชคณิต เริ่มด้วยการวางสัจพจน์ (ข้อความที่ยอมรับในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ว่าจริง โดยไม่ต้องพิสูจน์)  ให้นิยามของการดำเนินการแล้ว ใช้ตรรกศาสตร์สร้างข้อความที่พิสูจน์ได้ว่าจริง          ๒๑/ ๑๓๓๔๙
              ๓๙๙๐. พีล่อโก๊ะ  เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่แห่งราชวงศ์สินโล ซึ่งครองอาณาจักรน่านเจ้าในจีนใต้ ประมาณปี พ.ศ.๑๑๙๔ - ๑๔๔๕ ในระยะเวลาเกือบสามร้อยปีนั้น อาณาจักรน่านเจ้ามีลักษณะเป็นไทย ครั้นราชวงศ์สินโลสิ้นสุดลง ก็กลายเป็นจีนยิ่งขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งถูกโค่นลง โดยกองทัพของพระเจ้าหงวนสีโจ้งฮ่องเต้ หรือพระเจ้ากุบไลข่าน เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๖
                    พระเจ้าพีล่อโก๊ะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าโลเซงปี ในรัชสมัยของพระองค์ (พ.ศ.๑๒๗๑ - ๑๒๙๑) พระองค์ทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับจีน เคยเสด็จไปสู่ราชสำนักจีน ช่วยจีนรบทิเบตตลอดจนร่วมมือในการปราบการขบถ และโจรผู้ร้ายด่านหัวเมือง ทรงรวบรวมแคว้นต่าง ๆ ห้าแคว้นเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับน่านเจ้า เมื่อพระเจ้าสินโลได้ตั้งอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นนั้น มีกลุ่มชนอยู่ถึง ๓๗ กลุ่ม จึงทรงแบ่งออกเป็นหกแคว้น พระองค์ทรงครองแคว้นหนึ่ง อีกห้าแคว้นโปรดให้ญาติใกล้ชิดไปครอง ภายหลังแคว้นทั้งห้านี้ถือตนเป็นอิสระ พระเจ้าพีล่อโก๊ะสามารถปราบแคว้นทั้งห้าลงได้ ครั้นพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าพีล่อฝงราชโอรสได้เสวยราชย์ต่อมา          ๒๑/ ๑๓๓๘๓
                ๓๙๙๑. พืชมงคล - พระราชพิธี  เป็นพระราชพิธีที่นำเอาการปฎิบัติทางพระพุทธศาสนา เข้าไปมีส่วนประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งศาสนาพราหมณ์ถือปฎิบัติแต่โบราณกาล เท่าที่มีจดหมายเหตุอ้างอิงคือ สมัยสุโขทัย แต่อาจมีก่อนนั้นแล้ว เรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา จัดเป็นพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน           ๒๑/ ๑๓๓๕๔
                ๓๙๙๒. พุก - หนู  ในประเทศไทยมีสองชนิดคือ หนูพุกเล็ก และหนูพุกใหญ่
                        หนูพุกใหญ่ เป็นหนูขนาดใหญ่มากในเมืองไทย พบตามทุ่งนาที่ราบต่ำทั่วไป มีขนหลังเท้าดำ ใต้ท้องสีขาวจาง ๆ ขนยาวรุงรัง หางยาวสีดำ
                        หนูพุกเล็ก มีมากทางจังหวัดจันทบุรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย           ๒๑/ ๑๓๓๕๔
                ๓๙๙๓. พุกาม  เป็นชื่ออาณาจักรหนึ่ง ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในตอนเหนือของพม่า โดยมีเมืองพุกามเป็นราชธานี กษัตริย์ผู้เรืองอำนาจและทรงตั้งราชวงศ์พุกามขึ้นคือ พระเจ้าอนุรุทธหรืออโนรธามังช่อ ทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่รวมพม่าเหนือ กับพม่าใต้อันได้แก่ อาณาจักรมอญเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน พระองค์ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาก เมืองพุกามจึงกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในเมืองพม่า แทนเมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมอญ และได้แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๐๐ พระองค์ครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๒๐ และราชวงศ์พุกาม ครอบครองประเทศพม่าระหว่างปี พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๘๓๐
                        ภายหลังที่พวกปยุ เสียราชธานีแก่กองทัพน่านเจ้าแล้ว ชาวพม่าได้รวบรวมกำลังตั้งเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ มีกษัตริย์ปกครองคือ เมืองพุกาม ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอิรวดี ใต้ทางแยกของแม่น้ำชินด์วินลงมาเล็กน้อย มีการแย่งราชสมบัติและเปลี่ยนราชวงศ์กันหลายครั้ง จนถึงรัชสมัยพระเจ้าอนุรุทธ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๘๗
                        พระเจ้ากุบไลข่านได้ให้กองทัพเข้าตีอาณาจักรพุกาม ได้เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๐            ๒๑/ ๑๓๓๕๖
                ๓๙๙๔. พุด - ต้น  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ไทยหลายชนิด ที่พบทั่ว ๆ ไปมีดังนี้
                         พุด หรือข่อยด่าน หรือพุดผา  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบ สูง ๑๐- ๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ใบรูปรีหรือไข่กลับ ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามปลายกิ่ง กลิ่นหอม กลีบดอกสีขาวสะอาด ผลรูปไข่กลับ ผิวเรียบ เนื้อไม้สีเหลืองนวลละเอียด เสี้ยนตรง ใช้ทำเครื่องกลึง และสลัก
                        พุดจีน   เป็นไม้พุ่ม อาจสูงถึง ๒ เมตร ใบบางทีเรียงระดับเดียวกันสามใบ รอบกิ่งอยู่ติดกัน รูปหอกหรือรี ดอกออกเดี่ยว ๆ เกือบที่ปลายกิ่ง กลิ่นหอมมาก ดอกสีขาว ก่อนโรยสีเหลืองอ่อน ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ พรรณที่มีกลีบดอกซ้อน เรียกกันว่า พุดซ้อน
                        พุดใหญ่ หรือผ่าด้าน หรือคำมอก หรือชันยอด  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง อาจสูง ๑๐ - ๑ - เมตร ใบรูปขอบขนาน หรือไข่กลับ ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ มีกลิ่นหอม ผลรูปรี เนื้อไม้สีขาวนวลละเอียด เสี้ยนตรง ใช้ในการกลึงและแกะสลัก
                        พุดจีบ หรือพุดสวน หรือพุดสา  เป็นไม้พุ่ม อาจสูง ๑ - ๒ เมตร ใบรูปรี แกมขอบขนาน หรือไข่กลับ ดอกออกเป็นกระจุกตามง่ามกิ่ง กลิ่นหอม ผลเป็นฝักคู่ ปลูกเป็นไม้ประดับ ชนิดดอกซ้อนเรียกกันว่า พุดซ้อน           ๒๑/ ๑๓๓๖๒
                ๓๙๙๕. พุดตาน - พระที่นั่ง  เป็นราชบัลลังก์ สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทหาร พลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีวันเฉลิมพระชนม์พรรษา หรือการพระราชพิธีสำคัญ เช่น สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร
                        นอกจากนี้ใช้สำหรับเป็นพระราชยาน เสด็จประทับโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เลียบพระนคร เมื่อบรมราชาภิเษกแล้ว และบางคราวใช้เป็นพระราชยาน ประทับเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามหลวง โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่สถลมารค
                        พระที่นั่งพุดตาน สร้างทำด้วยไม้สักห้าชั้น หักมุมไม้สิบสอง ฐานสุดล่างกว้างยาวเท่ากัน ด้านละหนึ่งเมตร ทั้งองค์จำหลักลวดลายปิดทองคำเปลวประดับรัตนชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จะได้เชิญขึ้นตั้งบนพระแท่นราชบัลลังก์ นพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นพระแท่นขนาดใหญ่ สร้างในรัชกาลที่หนึ่ง ด้วยไม้สักจำหลักลายลงรักปิดทอง ประดับรัตนชาติ องค์พระแท่นราชบัลลังก์ แบ่งเป็นห้าชั้น ชั้นล่างสุดเป็นฐานสี่เหลี่ยม หน้ากระดานเรียบ กว้างยาวเท่ากัน ด้านละ ๑.๙๐ เมตร ตอนบนขอบสองชั้นประดับกระจัง
                        พระที่นั่งพุดตาน เมื่อจะใช้เป็นพระราชยานประทับเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เป็นกระบวนพยุหยาตราสถลมารค จะตั้งพระที่นั่งนี้โดยมีคนหามสิบหกนาย ยกคานที่แอกและลูกแอก ขึ้นบ่าแบกเดินไปตามทางที่จัดเป็นกระบวนราชอิสริยยศ           ๒๑/ ๑๓๓๖๔
                ๓๙๙๖. พุทธคยา ๑  เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อยู่ในเขตจังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
                        ในสมัยพุทธกาล เรียกสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่า โพธิมัณฑะ หรือโพธิมณฑล คือ บริเวณโดยรอบต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งต่อมาเรียกว่า ต้นโพธิ หรือมหาโพธิ อยู่ในเขตตำบลอุรุเวลา แคว้นมคธ ห่างจากเมืองคยา สามคาวุต ห่างจากนครราชคฤห์ สี่โยชน์ สามคาวุต ห่างจากเมืองพาราณสี ๑๕ โยชน์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา บนฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของโพธิมณฑล เป็นหมู่บ้านเสนานิคม ฉะนั้น ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา บางทีก็เรียกบริเวณเหล่านี้ รวมกันว่า อุรุเวลาเสนานิคม
                        ชื่อพุทธคยา น่าจะตั้งขึ้นเมื่อศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู เข้าไปยึดครองเมืองคยาทั้งหมด และปรับปรุงดัดแปลง พุทธสถานเดิมให้เป็นของตน จึงเรียกเมืองคยาส่วนนั้นว่า พรหมคยา เรียกบริเวณที่เป็นโพธิมณฑลว่า โพธคยา หรือ พุทธคยา (ดู คยา - ลำดับที่ ...ประกอบ)
                        หลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ ๑๐๐ ปี พระพุทธสาสนาเริ่มเสื่องลง พวกนับถือศาสนาพราหมณ์ มีกำลังขึ้นได้เข้าไปครอบครองดินแดนเมืองคยา โพธิมณฑล ถูกย่ำยีจนเป็นสถานที่รกร้างเรื่อยมา จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ขึ้นครองราชย์ ณ เมืองปาฎลีบุตร แคว้นมคธ  เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒ และหลังจากทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ได้เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถานสี่ตำบล และสถานที่สำคัญทั่วทุกแห่ง เสด็จไป ณ ที่ใด ก็โปรดให้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์ปูชนียสถาน ให้กลับมีสภาพดีขึ้น หรือให้สร้างขึ้นใหม่ พร้อมกับสร้างเสาศิลาจารึก แสดงประวัติของสถานที่สำคัญนั้น ๆ ไว้ด้วย ที่โพธิมณฑล พระเจ้าอโศก ฯ โปรดให้ก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ เรียกกันต่อมาว่า มหาโพธิวิหาร โพธิมณฑลจึงกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  แล้วก็ทรุดโทรมลงหลังจากพระเจ้าอโศก ฯ สวรรคตแล้ว
                        ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๘๗๓ พระเจ้าแผ่นดินลังกา ทรงพระนามว่า สิริเมฆวรรณ ทรงให้สร้างพระวิหารขึ้นไว้ในบริเวณโพธิมณฑล เพื่อเป็นที่พักของพระพุทธศาสนิกชน ชาวลังกาที่เดินทางไปบูชา และทรงขออนุญาตพระเจ้าสมุทรคุปต์ ผู้ครองแคว้นมคธ ในสมัยนั้นสร้างวิหารอีกหลังหนึ่ง เพื่อเป็นที่พักอาศัยของคณะสงฆ์ ชาวลังกา
                        หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งเดินทางไปสืบพระพุทธศาสนา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๙๐๐ ได้เขียนบรรยายสภาพของโพธิมณฑลไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า ณ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ มีพุทธวิหารอยู่สามหลัง มีพระภิกษุผู้ทรงศีล อาศัยอยู่ทุกแห่ง มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่โดยรอบ ชาวบ้านเหล่านั้นคอยอังคาสพระภิกษุสงฆ์ด้วยอาหาร และเครื่องนุ่งห่มมิให้เดือดร้อน ภิกษุสงฆ์เป็นผู้ทรงศีลรักษาวินัยกันได้เคร่งครัด มีพระสถูปใหญ่องค์หนึ่ง ยังไม่ปรักหักพังแต่อย่างใด ตั้งแต่สมัยพุทธปรินิพานเป็นต้นมา
                        หลวงจีนถังซัมจั๋ง ซึ่งเดินทางไปสืบพระพุทธสาสนา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๐๐ ได้เขียนบรรยายไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า "ไปทางทิศตะวันออกของโพธิมณฑล มีวิหาร (สถูป) ใหญ่หลังหนึ่ง มีความสูงประมาณ ๑๖๐ ถึง ๑๗๐ ฟุต (ศอก - เพิ่มเติม) ตรงฐานล่างเป็นกำแพงกว้างประมาณ ๒๐ ก้าว หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องสีฟ้า ตามช่องบนองค์วิหาร (สถูป) แต่ละชั้นมีพระพุทธรูปทองคำ แต่ละช่องโดยรอบทั้งสี่ทิศ มีลวดลายสลักงดงามมาก ฯลฯ "  ต่อจากนั้นได้พรรณาถึงช่องต่าง ๆ โดยรอบองค์สถูปว่า บางช่องมีรูปฤาษี บางช่องมีรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร บางช่องมีพระพุทธรูป บางช่องมีรูปพระเมตไตรย และยังพรรณาเพิ่มเติมว่า มหาวิหารนี้ พระเจ้าอโศก ฯ เป็นผู้สร้างไว้ ต่อมาภายหลังมีพราหมณ์มาก่อเพิ่มเติมขึ้นให้ใหญ่โตกว่าเก่า
                        เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๒๑ มีพระภิกษุชาวพม่าหมู่หนึ่งเดินทางไปถึงโพธิมณฑล เห็นสภาพปรักหักพังของพระวิหาร ก็ช่วยกันบูรณปฎิสังขรณ์ ให้ดีขึ้นดังเดิม
                        ผู้รักษาโพธิมณฑล เปลี่ยนมือกันอยู่ระหว่างชาวอินเดียกับชาวลังกาสืบมา จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ศาสนาอิสลามก็เข้าไปรุกรานทำเสียหายยับเยิน โพธิมณฑลกลายเป็นป่าเปลี่ยว ครั้นสิ้นอำนาจของพวกมุสลิมแล้ว บริเวณโพธิมณฑลก็ตกเป็นสมบัติของเศรษฐีชาวฮินดูชื่อ มหันต์ มาโดยตลอด แต่ไม่ได้บำรุงรักษาแต่อย่างใด ปล่อยให้รกร้างเป็นป่า และให้ชาวบ้านเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ ระหว่างนั้นก็มีภิกษุชาวเนปาล  ทิเบต และจีน ไปนมัสการพุทธสถานแห่งนี้มิได้ขาด
                        เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๑๓ มีนักพรตจาริกแสวงบุญชื่อ โคสิงฆามันคีรี เดินทางไปถึงโพธิมณฑล ได้พบเห็นความเปลี่ยวเปล่าอยู่ในบริเวณป่าพุทธวิหาร และสถานที่โดยรอบ พบว่าสถูปปรักหักพังหาชิ้นดีไม่ได้ จึงตกลงจะทำสถานที่ให้ถาวร เที่ยวชักชวนพวกนักพรต และบรรดาศิษย์ให้เข้าไปตั้งนิวาสสถานอยู่ในบริเวณนั้น มีชาวฮินดูเข้าไปเป็นศิษย์อาศัยอยู่เป็นอันมาก โพธิมณฑลจึงตกไปอยู่ในความคุ้มครองของชาวฮินดูมากขึ้นโดยลำดับ จนในที่สุด หมู่บ้านในบริเวณนั้นก็ตกเป็นของนักพรตผู้นี้ โดยได้รับพระราชทานเป็นสิทธิขาดจากพระราชาอินเดีย
                        เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๑๔ ทางพม่ามีกษัตริย์ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ และทรงส่งพระภิกษุไปจำพรรษาอยู่หลายคราว
                        ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๑๑๗ มีกษัตริย์พม่าอีกองค์หนึ่ง ส่งธรรมทูตและพระราชสาสน์ไปยังรัฐบาลอินเดีย แสดงความปรารถนาจะร่วมทำนุบำรุงโพธิมณฑล และจะส่งคนมาช่วยเฝ้าสถานที่ไว้สองคน และขอให้คนพม่าได้เดินทางถวายบูชาสักการะ ในนามของพระองค์ได้ปีละหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง
                        มหันต์ยินยอมให้กษัตริย์พม่าทรงกระทำตามพระราชประสงค์ แต่มีข้อแม้ว่าจะตั้งเทวรูปของตนไว้ ภายในบริเวณโพธิมณฑลด้วย
                        รัฐบาลอังกฤษผู้ปกครองอินเดีย และมหันต์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงและก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ ตามแผนการของพม่าจนเสร็จในเวลาต่อมา แต่หลังจากนั้นก็ถูกปล่อยให้ทรุดโทรมลงอีก จนกระทั่ง เซอร์ เอ็ดวิน อาโนลต์ ชาวอังกฤษได้เดินทางไปถึงตำบลพุทธคยา เมื่อกลับไปอังกฤษแล้ว ได้เขียนหนังสือเชิดชูพระพุทธศาสนาเล่มหนึ่งชื่อ ประทีปแห่งอาเซีย ทำให้ท่านธรรมบาล ชาวลังกาเกิดความบันดาลใจเข้าไปส่งเสริม และฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียได้สำเร็จในเวลาต่อมา
                        เมื่อครั้งฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในอินเดีย รัฐบาลอินเดียสมัย นายวาหรลาล เนห์รู เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บูรณะซ่อมแซมบำรุงพุทธคยา และสังเวชนียสถานอีกสามแห่ง ตลอดจนพุทธสถานอื่น ๆ ได้เชิญบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ให้ไปสร้างวัดประจำชาติขึ้นที่พุทธคยา จึงมีวัดไทย วัดลังกา วัดพม่า วัดทิเบต และวัดญี่ปุ่น               ๒๑/ ๑๓๓๖๙

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch