หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/109
    ๓๙๖๙. พิณ  เป็นชื่อเรียกเครื่องดนตรีไทยประเภทที่ดีดเป็นเสียงบางอย่างมาจากคำว่า "วีณา" ในภาษาบาลีและสันสกฤตซึ่งเรียกเครื่องดีดทุก ๆ อย่าง เครื่องดนตรีของไทยสมัยปัจจุบันที่เรียกว่าพิณมีอยู่เพียงสองอย่างคือ พิณน้ำเต้ากับพิณเปี้ยะ หรือเพียะ พิณน้ำเต้าเป็นพิณที่มีสายเดี่ยวสายทำด้วยลวดทองเหลือง กระพุ้งเสียงสำหรับให้เกิดกังวาน ทำด้วยเปลือกผลน้ำเต้าแก่ตัดครึ่งผล ส่วนพิณเปี้ยะมีรูปร่างเหมือนพิณน้ำเต้า หากแต่กระพุ้งเสียงที่ทำให้เกิดกังวานนั้นทำด้วยกะลามะพร้าว และบางอันก็มีสองสาย เวลานี้ยังมีอยู่บ้างใน จ.เชียงรายแต่ก็น้อยเต็มทีใกล้จะสูญอยู่แล้ว
                        ส่วนพิณในคำกลอนเรื่องกากี และพิณในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ฯ ไม่ทราบว่าเป็นพิณชนิดใดมีรูปร่างอย่างไร ที่ภาพปูนปั้นที่หน้าบันปรางค์วัดพระพายหลวง มีรูปคนดีดพิณ ซึ่งพิณนั้นมีรูปเช่นเดียวกับกระจับปี่สมัยนี้แม้รูปที่ช่างเขียน เขียนพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกกิริยา มีพระอินทร์มาดีดพิณสามสายถวายเป็นปริศนาธรรม ภาพพิณก็มีรูปร่างอย่างกระจับปี่สันนิษฐานว่า พิณดังกล่าวก็คือ เครื่องดีดที่เรียกว่า กระจับปี่นี้เอง แต่เดิมคงเรียกว่าพิณ
                        คำว่าพิณของอินเดียที่ไทยเอามาใช้นั้นหมายถึงเครื่องดนตรีประเภทดีดที่เป็นเสียงได้ทุก ๆ อย่าง ไม่เลือกว่าจะมีรูปเป็นอย่างไร
                        พิณในต่างประเทศก็เป็นเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งของฝรั่งเป็นเครื่องดนตรีใหม่ที่สุดที่ดีดด้วยมือ          ๒๑/ ๑๓๒๔๘
                ๓๙๗๐. พิณพาทย์  เป็นชื่อเรียกวงดนตรีไทยที่มีปีฆ้อง กลอง ตะโพนผสม ซึ่งมีขนาดวงต่าง ๆ กัน เช่นพิณพาทย์เครื่องห้า พิณพาทย์เครื่องคู่ และพิณพาทย์เครื่องใหญ่ การเรียกวงดนตรีที่มีเครื่องผสมอย่างนี้บางสมัยก็ปี่พาทย์
                        ในรัชกาลที่หก ใช้พิณพาทย์ทั้งนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่เจ็ดจึงเริ่มใช้เปลี่ยนใช้คำปี่พาทย์เรียกวงบรรเลงประเภทนี้ต่อมา          ๒๑/ ๑๓๒๕๒
                ๓๙๗๑. พิทยลาภ ๑  พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระนามเดิม คือพระองค์เจ้าชายโสณบัณฑิต เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่สี่ประสูติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖ ทรงเริ่มรับราชการเป็นราชองครักษ์ในกรมทหารมหาดเล็ก และในออฟฟิศหลวงตำแหน่งผู้ช่วยราชเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๒๖ ได้เสด็จไปประจำ ณ สถานทูตที่ลอนดอนในตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร และในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ได้เสด็จไปในขบวนราชทูตเจริญทางพระราชไมตรี ณ สหรัฐอเมริกาในฐานะที่ปรึกษาคณะทูต ซึ่งมีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ทรงเป็นราชทูตริเสศ
                        ต่อมาได้เสด็จกลับมารับราชการในตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้เสด็จราชการปราบเงี้ยวยางแดง ซึ่งยกทัพบุกรุกมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ประทับจัดราชการอยู่ที่นครเชียงใหม่สามปีจึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ และได้รับสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาในปี พ.ศ.๒๔๓๔  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาได้ทรงรับราชการ ต่อมาในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ควบกับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการอยู่ระยะหนึ่ง ทรงเป็นสภานายกรัฐมนตรี จัดวางแบบอย่างการประชุมรัฐมนตรี ทรงจัดสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาและเริ่มสร้างสายเพชรบุรี ทรงวางแบบอย่างกรมเจ้าท่า จัดการรักษาคลองน้ำทั้งปวงในกรุงเทพ ฯ
                        ต่อมาได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง และได้รับสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓          ๒๑/ ๑๓๒๕๒
                ๓๙๗๒. พิทยลาภ ๒  พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรพระนามเดิมคือ ม.จ.ธานีนิวัต โสณกุล เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้เป็นนักเรียนหลวงเสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ได้ทรงรับปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาบุรพคดีจากมหาวิทยาลัยออซฟอร์ด ในปีพ .ศ.๒๔๕๑ แล้วเสด็จกลับมารับราชการในกระทรวงหมาดไทยตำแหน่งปลัดกรมพลำพังในปี พ.ศ.๒๔๕๓ และได้ทรงเป็นข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอยุธยาในปีต่อมา
                        ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ทรงเป็นผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ
                        ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ทรงเป็นผู้ช่วยราชเลขาธิการเลขานุการเสนาบดีสภาและเลขานุการองคมนตรีสภา ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ และทรงเป็นราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๖๒
                        ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระวงวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต
                        ในรัชกาลที่เจ็ดทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ และทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๗๕ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ทรงเป็นอภิรัฐมนตรีรวมอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงเป็นประธานองคมนตรี ในปี พ.ศ.๒๔๙๒
                        ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สามครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๔, ๒๕๐๖ (สองครั้ง) และได้ทรงดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีจนสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗          ๒๑/ ๑๓๒๕๔
                ๒๙๗๓. พิธีการทูต  หมายถึง ระเบียบแบบแผน และหลักปฏิบัติทางการทูตที่ใช้ถือปฏิบัติอย่างเป็นทางการทูต ที่ใช้ถือปฏิบัติอย่างเป็นทางการของแต่ละประเทศ ทั้งนี้โดยอาศัยหลักสำหรับสองประการคือ ประการแรกได้แก่ หลักจารีตระหว่างประเทศ ที่ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยคำนึงถึงอัธยาศัยไมตรี และหลักถ้อยที่ถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ และประการที่สองได้แก่ หลักการที่กำหนดไว้ในกฎหมายสนธิสัญญา และอนุสัญญาระหว่างประเทศ
                        งานเกี่ยวกับพิธีการทูตที่ปฏิบัติในกระทรวงการต่างประเทศแบ่งออกได้เป็นสามประเภทด้วยกันคือ
                        ประเภทที่หนึ่ง  ได้แก่ งานด้านแบบพิธีทางการทูตและกงสุลได้แก่ งานเกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอนทูต กงสุลและผู้ช่วยทูตฝ่ายต่าง ๆ ทั้งของไทยและของต่างประเทศ การจัดทำหนังสือรายนามคณะผู้แทนทางการทูต กงสุลและองค์การระหว่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศไทย งานเกี่ยวกับการเสด็จ ฯ หรือไปเยือนต่างประเทศขององค์พระประมุขของประเทศ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้ารัฐบาล คณะทูตสันตไมตรีและบุคคลสำคัญ ๆ ของไทย การนัดหมายให้หัวหน้าคณะทูต และกงสุลกับภริยา รวมทั้งบุคคลสำคัญชาวต่างประเทศในระดับต่าง ๆ ที่มาเยือนประเทศไทยซึ่งทางราชการพิจารณาเห็นสมควรได้เข้าเฝ้า ฯ องค์พระประมุขหรือเข้าพบหัวหน้ารัฐบาลและบุคคลสำคัญในระดับต่าง ๆ ของไทย การเสนอของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่บุคคลสำคัญชาวต่างประเทศ การแสดงความยินดี เสียใจเพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวัน และโอกาสสำคัญต่าง ๆ ของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสันชาติของทุกประเทศ
                       ประเภทที่สอง  ได้แก่ งานด้านการรับรอง ได้แก่ การจัดพิธีการต่าง ๆ ในการต้อนรับ รับรองและอำนวยความสะดวกต่อองค์พระประมุข ประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล คณะทูตสันติไมตรี คณะผู้แทนและบุคคลสำคัญ ๆ ของต่างประเทศที่มาเยือนอย่างเป็นทางการ การรับรองคณะผู้แทนทางการทูต และกงสุลของต่างประเทศม าประจำการในประเทศไทย การดำเนินงานด้านการจัดเลี้ยง ทั้งในด้านการเลี้ยงรับรองและการเลี้ยงอาหาร เช่น อาหารเช้า อาหารกลางวัน และอาหารเย็นของทางราชการ นอกจากนั้นยังรับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านการต้อนรับ การจัดลำดับอาวุโสแก่ผู้แทนทางการทูต กงสุลและคณะผู้แทนขององค์การระหว่างประเทศ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมในงานพระราชพิธี และงานสำคัญต่าง ๆ ของทางราชการ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ แก่คณะผู้แทนทางการทูต กงสุลและคณะผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเมื่อได้รับคำร้องขอ
                       ประเภทที่สาม  ได้แก่ งานด้านเอกสิทธิ์ และความคุ้มกันได้แก่ การออกบัตรประจำตัวให้แก่คณะผู้แทนทางการทูต กงสุลและคณะผู้แทนขององค์การระหว่างประเทศ การออกบัตรอนุญาตประเภทอื่น ๆ ตามสิทธิที่เขาพึงได้รับ การพิจารณาให้เอกสิทธิ์เกี่ยวกับสิทธิการพักอาศัย สิทธิการเดินทางออกประเทศไทยได้ตลอดเวลา ที่ได้รับแต่งตั้งให้ประจำประเทศไทย การยกเว้นภาษีอากรแก่สิ่งของที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งยานพาหนะที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียน การจำหน่ายและการประเมินภาษียานพาหนะของบุคคลในคณะทูต กงสุลและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ          ๒๑/ ๑๓๒๕๗
                ๓๙๗๔. พินัยกรรม  มีบทนิยามว่า "เอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย"
                        พินัยกรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัวมีผลบังคับได้ก็เฉพาะแต่ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือการอันอยู่ในอำนาจของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น บิดาจะทำพินัยกรรมแทนบุตรไม่ได้ แม้บุตรจะเป็นผู้เยาว์ก็ตาม
                        พินัยกรรมต้องทำตามแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ พินัยกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามแบบจะเสียไปคือ เป็นโมฆะ อย่างไรก็ตาม ทรัพย์มรดกก็ตกทอดไปยังทายาทตามกฎหมายอยู่แล้ว
                        ประเทศไทยมีกฎหมายมรดกมาแต่โบราณ แม้ครั้งสุโขทัยก็ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกว่า เมื่อพ่อแม่ตายให้ทรัพย์สินตกได้แก่ ลูกของมัน แต่การทำพินัยกรรม ยังไม่ปรากฎว่ามีในสมัยนั้น เข้าใจกันว่าเรื่องพินัยกรรมและมรดกมีมาแต่สมัยอยุธยา
                        เรื่องพินัยกรรมได้นำมาป้องกันไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ออกมาในปี พ.ศ.๒๔๖๘ ได้วางหลักในการทำพินัยกรรมไว้หลายแบบ คือ
                        ๑. - แบบเขียนเอง  ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนด้วยมือของตนเองทั้งฉบับ เขียนเสร็จแล้วลงลายมือชื่อของตนไว้ โดยไม่ต้องมีพยานลงชื่อรับรอง เหมือนดังพินัยกรรมแบบอื่น แต่ต้องลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมนั้นไว้ด้วยจะจั่วหน้าส่งพินัยกรรมหรือไม่ก็ได้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นสดแท้ แต่ผู้ทำพินัยกรรมประสงค์ข้อสำคัญคืออย่าให้ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดี หรือเป็นข้อกำหนดที่พ้นวิสัย ไม่อาจปฏิบัติได้ก็เป็นโมฆะเหมือนตัวนิติกรรมอื่นทั้งหลาย
                        ๒. - แบบคนอื่นเขียนให้หรือพิมพ์  ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ถ้าเซ็นชื่อในพินัยกรรมไม่เป็นก็พิมพ์ลายนิ้วมือ และต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน พยานจะต้องไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมเองหรือสามีภริยาของผู้รับพินัยกรรมกับต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องไม่วิกลจริต หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หูหนวกหรือเป็นใบ้หรือตาบอดทั้งสองข้าง ผู้เขียนหรือพิมพ์ต้องลงชื่อไว้ด้วยจะลงชื่อเป็นพยานด้วยก็ได้
                        ๓. - แบบเอกสารฝ่ายเมือง  ผู้ทำพินัยกรรมต้องไม่ทำที่อำเภอหรือเขตในกรุงเทพ ฯ หรือขอให้เจ้าหน้าที่มาทำที่บ้านหรือสถานที่อื่นใดนอกสถานที่ราชการก็ได้ ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องบอกข้อความที่ตนประสงค์จะใส่ไว้ในพินัยกรรมแก่เจ้าหน้าที่ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ผู้ทำพินัยกรรมลงลายชื่อไว้ในพินัยกรรมต่อหน้าพยานนั้น และพยานก็จะลงชื่อไว้ในพินัยกรรมด้วย เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำพินัยกรรมจะลงลายมือชื่อ วันเดือนปีในพินัยกรรม
                       ๔. - แบบเอกสารลับ  หลังจากทำพินัยกรรมแล้วจะใส่พินัยกรรมไว้ในซองผนึกเรียบร้อย ลงลายมือชื่อตามรอยผนึกนั้น จากนั้นจะนำซองบรรจุพินัยกรรมนั้น ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่อำเภอต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลเหล่านั้นว่าซองนั้นเป็นซองพินัยกรรมของตน เมื่อเจ้าหน้าที่อำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวันเดือนปีที่แจ้งลงไว้บนซองพินัยกรรมแล้ว เจ้าหน้าที่และพยานจะลงลายมือชื่อ และประทับตราบนซองนั้น
                       ๕. - แบบปากเหล่าหรือพินัยกรรมทำด้วยวาจา  กฎหมายให้ทำได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งไม่สามารถจะทำแบบอื่นได้ด้วยความจำเป็นคับขัน ถ้าผู้ทำพินัยกรรมตายเสียในคราวนั้น พินัยกรรมนั้นก็มีผลใช้ได้ แต่ถ้ายังไม่ตายและมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกถึงหนึ่งเดือน นับแต่ผู้นั้นกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมแบบอื่นได้แล้ว พินัยกรรมที่ทำด้วยวาจาจะสิ้นผลไปโดยปริยาย
                       ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมอยู่ต่างประเทศ จะทำตามกฎหมายต่างประเทศก็ได้ และหากจะทำเอกสารฝ่ายเมือง หรือทำเป็นเอกสารลับก็ให้ไปทำที่สถานทูต
    หรือสถานกงสุล แทนอำเภอ ถ้าเป็นกรณีอยู่ในยุทธภูมิ ก็ให้ทำกับแม่ทัพนายกอง          ๒๑/ ๑๓๒๖๐
                ๓๙๗๕. พิบูลมังสาหาร  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม โดยมากมีดงใหญ่ และภูเขาอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บ้าง
                        อ.พิบูลมังสาหารเดิมเป็นแต่เพียงหมู่บ้านเรียกว่า บ้านกวางชะโด ถึงปี พ.ศ.๒๔๐๖ รัชกาลที่สี่โปรดให้ยกขึ้นเป็นเมืองเรียกว่า เมืองพิบูลมังสาหาร ยุบเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.โพธิไทร เรียกกันว่า เมืองใหม่ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้ย้ายกลับมาตั้งที่ ต.พิมูล และเรียกชื่อว่า อ.พิมูลมังสาหารถึงปี พ.ศ.๒๔๘๓ เปลี่ยนชื่อ ต.พิมูล เป็น ต.พิบูล และอ.พิมูลมังสาหาร เป็น อ.พิบูลมังสาหาร                      ๒๑/ ๑๓๒๗๑
                ๓๙๗๖. พิบูลสงคราม - หลวง  เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ยาวนานเป็นประวัติการณ์คือ ระยะแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๗ ระยะที่สองระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๑ - ๒๕๐๐ รวมเวลาถึง ๑๖ ปี
                        หลวงพิบูลสงคราม (แปลก)  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เข้าเรียนที่โรงเรียนนายทหารบก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ออกเป็นนักเรียนทางการนายร้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ อยู่เหล่าทหารปืนใหญ่ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ และได้รับทุนไปศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้พบปะกับเพื่อนนักเรียนไทยในฝรั่งเศสหลายคน นัดพบกันในกรุงปารีส เพื่อวางแนวทางเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อเรียนจบหลักสูตรในปี พ.ศ.๒๔๗๐ แล้วก็เดินทางกลับประเทศไทย ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยเอก ได้รับตำแหน่งหน้าที่ราชการสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้รับพระทานยศเป็นนายพันตรี และบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิบูลสงคราม ประจำกรมจเรทหารปืนใหญ่ และเป็นนายทหารประจำพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์อีกตำแหน่งหนึ่ง สมัยนั้นนายพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นจเรทหารปืนใหญ่
                        ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในฝ่ายทหาร และได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวคนหนึ่ง ในจำนวน ๗๐ คน และได้เป็นกรรมการราษฎรคนหนึ่งในจำนวน ๑๔ คน ซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธาน และต่อมาก็ได้เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรี
                        ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดที่สาม มียศเป็นนายพันโท ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารฝ่ายยุทธการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันเอกและได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรก และเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ.๒๔๗๘
                        ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกและได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี
                        ในการสร้างชาติให้เจริญก้าวหน้ารัฐบาลของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้รัฐนิยมรวม ๑๒ ฉบับ ในฉบับที่หนึ่ง ได้เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ และเพื่อให้มีการปฏิบัติตามรัฐนิยมกันอย่างแพร่หลายรัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.บ.บำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๓ ขึ้น ต่อมาได้มีประเทศพระบรมราชโองการ กำหนดวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่แทนวันที่ ๑ เมษายน โดยเริ่มปีใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ แทนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๓
                        ในด้านการต่างประเทศรัฐบาลจัดให้มีการฉลองสนธิสัญญากับนานาประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ สนธิสัญญาชุดนี้ให้เอกราชโดยสมบูรณ์แก่ประเทศไทย แต่ต่อมาประเทศไทยต้องเผชิญกับกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เนื่องจากไทยได้เสนอขอปรับปรุงเขตแดนตามลำแม่น้ำโขง โดยอาศัยร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์กับปรับปรุงเขตแดน
    ให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือให้ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทย กับอินโดจีนของฝรั่งเศส ตั้งแต่ทิศเหนือลงมาทางใต้จนถึงเขตแดนกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝรั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบางและตรงข้ามปากเซคืนมา นอกจากนี้ยังขอคำมั่นว่า ถ้าหากอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสในอินโดจีนเปลี่ยนไปแล้ว ขอคืนแคว้นลาว และกัมพูชาให้แก่ประเทศไทย ฝ่ายปฏิเสธข้อเสนอของไทย จึงเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ ถึงวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ในการทำสงครามนี้ พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
                        ฝ่ายญี่ปุ่นได้เข้ามาแก้ไขกรณีพิพาทจัดให้มีการประชุมสันติภาพ ณ กรุงโตเกียว และนำไปสู่การลงนามในอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ไทยได้ดินแดนอินโดจีนคืนมารวมสี่จังหวัดคือ พระตะบอง พิบูลสงคราม จัมปาศักดิ์และลานช้าง
                        ต่อมาได้มีการยกเลิกประเพณีพระราชทานบรรดาศักดิ์ และให้ใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลได้
                        ในระหว่างนั้นฝรั่งเศสเป็นฝ่ายปราชัยเยอรมนี เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมนี ได้ฉวยโอกาสขยายตัว เข้ามายึดครองอินโดจีนของฝรั่งเศส กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในอินโดจีน ครั้นถึงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่ (อังกฤษ)  และขอเดินทัพผ่านประเทศไทยไป เพื่อรุกเข้าสู่มลายูและพม่า อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ประเทศไทยต้องยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยได้ และไทยจำต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของญี่ปุ่น ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่
                        ญี่ปุ่นเสนอว่าภาษาไทยเรียนได้ยาก ควรใช้ภาษาญี่ปุ่นแทน จอมพล ป.พิบูลสงคราม หาทางออกโดยจะปรับปรุงภาษาไทย ให้เรียนได้ง่ายกว่าแต่ก่อน ได้มีการปรับปรุงเสร็จ และประกาศใช้เป็นทางราชการ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ให้งดใช้สระห้าตัว คือ ใจ ฤ ฤา ฦ ฦา และงดใช้พยัญชนะ ๑๓ ตัว ที่จะซ้ำกัน คือ ฃ ต ฆ ฌ ฎ ฏ ฐ ฒ ณ ศ ษ ฬ ส่วน ญ ให้ตัดเชิงออก
                        จอมพล ป.พิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.๒๔๘๗ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อนุมัติ พ.ร.ก. ระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบุรี พ.ศ.๒๔๘๗ ในบริเวณรอบรอยพระพุทธบาท จ.สระบุรี
                        ครั้งถึงวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ จอมพล ป. พิบูลสงครามถูกจับในข้อหาตามกฎหมายอาชญากรรมสงคราม แต่พ้นข้อกล่าวหา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ภายหลังรัฐประหารวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาแห่งประเทศไทยต่อมาในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง สืบต่อมาจนถึงวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านต้องพ้นตำแหน่งไปเนื่องจากเกิดรัฐประหาร ท่านต้องไปพำนักอยู่ต่างประเทศ และถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗          ๒๑/ ๑๓๒๗๒
                ๓๙๗๗. พิปูน  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มมีภูมิเขาสลับซับซ้อน ทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ตอนกลางเป็นที่ราบใช้ในการประกอบกสิกรรม
                        อ.พิปูน แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ขึ้น อ.ฉวาง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙          ๒๑/ ๑๓๒๙๑
                ๓๙๗๘. พิพิธภัณฑสถาน เป็นสถานที่ซึ่งเก็บรักษาสิ่งของต่าง ๆ มักเรียกสั้น ๆ ว่า พิพิธภัณฑ์ มีบทนิยามว่า "สิ่งของต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา เช่น โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ" และบทนิยามคำว่า พิพิธภัณฑ์สถานมีว่า "สถาบันถาวรที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินเจริญใจ"
                        พิพิธภัณฑสถานหรือพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมเมื่อแรกตั้งในรัชกาลที่ห้า ได้เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า มิลเซียม คำพิพิธภัณฑสถานได้บัญญัติในรัชกาลที่เจ็ด
                        พิพิธภัณฑสถานทุกชนิดทุกประเภท ล้วนมีภาระหน้าที่อย่างเดียวกันคือ เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง อดีต ปัจจุบันและอนาคต          ๒๑/ ๑๓๒๙๒
                ๓๙๗๙. พิมพ์ - การ  คือการจำลองต้นฉบับที่เป็นตัวหนังสือ หรือภาพลงบนวัตถุที่เป็นพื้นราบ หรือใกล้เคียงพื้นราบ ออกเป็นจำนวนมาก ๆ เหมือน ๆ กัน โดยอาศัยเครื่องมือช่วยในการจำลอง
                        ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ คนจีนรู้จักแกะแผ่นไม้เป็นแม่พิมพ์ เอาหมึกทาแล้วกดลงบนแผ่นกระดาษ เป็นการเริ่มต้นระบบการพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียบางประเทศ และไปถึงยุโรปด้วย
                        ในปี พ.ศ.๑๕๘๔ - ๑๕๙๒ ชาวจีนชื่อไปเช็ง ได้เป็นผู้คิดวิธีพิมพ์จากตัวพิมพ์ โดยการสร้างตัวหนังสือแต่ละตัวเป็นตัวพิมพ์นำตัวพิมพ์มาเรียงกันเป็นบรรทัด จัดรวมกันเป็นหน้าหนังสือ นำไปพิมพ์ทำให้เกิดการเรียงพิมพ์ และการพิมพ์ด้วยตัวเรียงพิมพ์ และในปี พ.ศ.๑๙๙๓ ชาวเยอรมันชื่อ โยฮานส์ กูเตนเบิร์ก ได้คิดระบบการพิมพ์ด้วยตัวเรียงพิมพ์ขึ้นใหม่ในยุโรป
                        สำหรับประเทศไทย การพิมพ์น่าจะมีการนำเข้ามาครั้งแรกจากยุโรป ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ต่อมาบาทหลวงคาทอลิก ชื่อการ์โนลต์ ได้จัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นอีกในสมัยกรุงธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือไทย โดยใช้ตัวพิมพ์อักษรโรมันปรากฏหลักฐาน
    คือหนังสือคำสอนคริสตังภาคต้น พิมพ์ในปี พ.ศ.๑๓๓๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๘ พวกมิชชันนารีอเมริกัน ได้มอบให้หมอบรัดเลย์นำตัวพิมพ์ใหม่ที่ชื่อจากสิงคโปร์ พร้อมทั้งเครื่องพิมพ์เข้ามาในเมืองไทย และจัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย และจัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวพิมพ์อักษรไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙           ๒๑/ ๑๓๒๙๗
                ๓๙๘๐. พิมพการัง  เป็นชื่อหอยชนิดหนึ่งนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า หอยพิม หอยพิมปะการัง หอยเล็บมือ เป็นหอยสองกาบเปลือกสีขาวบางและเปราะ รูปร่างเป็นทรงกระบอกเรียวไปทางท้ายตัว ยาวประมาณ ๘ - ๑๕ ซม. อยู่ในที่มืด มีแสงเรืองฝาทั้งสองเมื่อปิดเข้าหากันแล้ว ก็ยังมีช่องเปิดที่หัวและท้าย ให้เท้าและท่อน้ำยื่นออกไปได้ใต้บานพับ ที่ทำให้ฝาปิดเปิดได้ มีเงี่ยงยื่นลงมาอยู่ด้านในของเปลือกใช้ช่วยยืดส่วนที่เป็นตัวหอยให้ติดทับเปลือก หอยพิมมีเท้าขนาดใหญ่ ท่อน้ำเข้าและท่อน้ำออกรวมกันเป็นอันเดียว ขนาดใหญ่และยาว อาศัยอยู่ในรูตามพื้นดิน หินปะการังและในไม้รูที่อยู่ขุดเจาะขึ้นเอง โดยขุดลึกลงไปตรง ๆ เมื่อเข้าอยู่ในรูแล้วก็จะไม่มีการเคลื่อนย้าย หรือออกมาจากรูแล้วก็จะไม่มีการเคลื่อนย้าย หรือออกมาจากรูอีก อาหาร น้ำและอากาศจะผ่านเข้าไปทางท่อน้ำที่ยื่นออกมานอกเปลือก การอาศัยอยู่ในรูเป็นการปกป้องตัวเองจากศัตรู ซึ่งได้แก่ ดาวทะเล กุ้ง และปู ซึ่งมักจะจับหรือหนีบปลายท่อน้ำที่ยื่นออกมาจากรู เนื้อหอยพิมใช้เป็นอาหารได้ดี          ๒๑/ ๑๓๓๐๔
                ๓๙๘๑. พิมพิสาร - พระเจ้า  เป็นพระราชาธิราชแห่งแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล มีกรุงราชคฤห์เป็นเมืองหลวง มีแคว้นอังคชนบท รวมอยู่ในราชอาณาเขตด้วย มีอาณาเขตติดต่อกับแคว้นโกศลกาลีและวัชชี กรุงราชคฤห์เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คนเจริญด้วยวิทยาความรู้ ตลอดจนการค้าขาย เป็นที่รวมของบรรดาคณะจารย์เจ้าลัทธิในสมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน ในพระพุทธศาสนาด้วย (ดูราชคฤห์ - ลำดับที่...)
                        พระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์สืบราชสันติวงศ์ในกรุงราชคฤห์เป็นองค์ที่ ๒๖ โดยมีพระนางเวเทหขันธราธิดา พระน้องนางของเจ้าชายปเสนทิโกศลราชกุมาร ราชโอรสพระเจ้ามหาโกศลราชแห่งกรุงสาวัตถีเป็นพระอัครมเหสีมีพระโอรสชื่อ เจ้าชายอชาตศัตรู ซึ่งต่อมาได้สมคบกับพระเทวทัตคิดจะปลงพระชนม์พระราชธิดา เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่อง จึงยกราชสมบัติให้แต่พระเทวทัต ยังยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารเสีย พระเจ้าอชาตศัตรูจึงจับพระราชบิดาขังไว้ และให้อดอาหารจนสิ้นพระชนม์
                        พระเจ้าพิมพิสารยังทรงมีพระมเหสีอื่น ๆ อีก คือพระนางเขมา และพระนางปทุมวดีแห่งนครอุชเชนี ทั้งสององค์ได้ออกบวชเป็นพระภิกษุณีองค์ต่อมาคือ พระนางอัมพปาลี
                        พระเจ้าพิมพิสารมีแพทย์หลวงประจำพระองค์คือ หมอชีวโกมารภัจ ซึ่งต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้นำถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าอีกด้วย
                        พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงพบกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อคราวเสร็จออกบรรพชา และได้รับการขนานนามว่า พระมหาบุรุษครั้งแรกที่เขาบัณฑวบรรพต โดยพระมหาบุรุษเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบได้เสด็จไปเฝ้า และทรงเลื่อมใสศรัทธาถึงกับจะทรงแบ่งราชสมบัติให้ครอบครอง แต่พระมหาบุรุษมิได้มีพระประสงค์ เนื่องจากทรงออกผนวช เพื่อมุ่งหมายพระสัมมาสัมโพธิญาณแต่อย่างเดียว พระเจ้าพิมพิสารจึงทูลขอปฏิญญาจากพระมหาบุรุษว่า หากพระองค์ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้เสด็จมายังกรุงราชคฤห์ และแสดงธรรมโปรดพระองค์ด้วย
                        ต่อมาเมื่อพระมหาบุรุษทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว มีพระประสงค์จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงที่กรุงราชคฤห์ จึงเสด็จทรงมีพระอริยสาวกประมาณหนึ่งพันองค์ มีพระอุรเวลกัสสปเป็นประธานไปยังแคว้นมคธ และประทับอยู่ที่สัฏฐิวันใกล้กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเฝ้าพร้อมพราหมณ์ และคหบดีเป็นจำนวนสิบสองหมื่น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม โปรดพระเจ้าพิมพิสารสิบเอ็ดหมื่น จนบรรลุเป็นพระโสดาบันอีกหนึ่งหมื่นให้เลื่อมใสอยู่ในพระรัตนตรัย จากนั้นได้ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆารามและพุทธวาส          ๒๑/ ๑๓๓๐๕

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch