หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/107
    ๓๙๓๕. พังงา ๒  จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขต ทิศเหนือจด จ.ระนอง ทิศตะวันออกจด จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่ ทิศใต้จด จ.ภูเก็ต ทิศตะวันตกตกทะเลอันดามัน ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีภูเขาอยู่โดยรอบ ที่ลุ่มโดยมากอยู่ตามชายทะเลและบริเวณลุ่มน้ำ ส่วนที่ดอนโดยมากเป็นป่า
                        จ.พังงาตั้งขึ้นในรัชกาลที่สาม มีโบราณวัตถุคือกำแพงเมืองเก่าที่ตลาดเหนือ อ.ตะกั่วป่า มีหินสลักรูปพระนารายยณ์ พระลักษณ์ และนางสีดา แผ่นละรูปอยู่ที่ ต.เหล อ.กะปง          ๒๐/ ๑๓๐๗๓
                ๓๙๓๖. พังพอน ในประเทศไทยมีสองชนิดคือพังพอนธรรมดากับพังพอนกินปู ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า และชอบกินปูปลา และสัตว์น้ำตามริมบึงหนองทั่วไป
                        พังพอนธรรมดา เที่ยวหากินตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน มักเห็นวิ่งข้ามทางทั้งวัน เป็นศัตรูที่ช่วยทำลายหนูตามท้องนา เป็นประโยชน์แก่ชาวนามาก          ๒๐/ ๑๓๐๗๓
                ๓๙๓๗. พัฒนานิคม  อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ดอนเป็นป่าและเขา
                        อ.พัฒนานิคม แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น อ.เมืองลพบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖          ๒๐/ ๑๓๐๗๕
                ๓๙๓๘. พัดโบก  เป็นเครื่องสูงประเภทหนึ่ง มีสองชนิดคือ
                        ชนิดที่หนึ่ง  ลักษณะเป็นพัดใบตาลหรือใบปาล์ม ปลายพัดมนแบบพัดธรรมดา ด้ามโลหะสีทอง ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร ปลายด้ามทางที่ติดกับตัวพัดโค้งงอเป็นมุมฉาก เวลาเชิญด้ามตั้งฉากกับตัวพัด ใช้สำหรับถวายอยู่งานในเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกประทับนั่งบนพระราชบัลลังก์สูง ในพระราชพิธีสำคัญ การถวายอยู่งานจะต้องควงด้านให้ปลายพัดหมุนไปโดยรอบ
                        ชนิดที่สอง  ลักษณะเหมือนชนิดแรก แต่ปลายพัดแหลมและงอนช้อย ด้ามทำด้วยไม้ทาสีทอง ใช้สำหรับถวายอยู่งานในโอกาสที่ทรงพระราชยานคานหาม เสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวนแห่
                       ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระราชวงศ์ชั้นสูง และสมเด็จพระสังฆราชสวรรคต ทิวงคต หรือสิ้นพระชนม์ลง เมื่อจะมีการอัญเชิญพระบรมศพ หรือพระศพ โดยกระบวนพระอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี เจ้าพนักงานจะเชิญพัดโบกชนิดที่สองนี้ ขึ้นประจำที่ท้ายพระราชรถทรงพระศพด้วย แต่เชิญไปในลักษณะที่จะให้เป็นเครื่องประกอบพระเกียรติยศเท่านั้น          ๒๐/ ๑๓๐๗๕
                ๓๙๓๙. พัทธยา  เป็นชื่อลมพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นชื่อลมที่ไทยรู้จักกันมานาน ลมนี้พัดมาประมาณเดือนพฤษภาคม และต้นเดือนมิถุนายน จึงเป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ตอนต้นฤดู          ๒๐/ ๑๓๐๗๖
                ๓๙๔๐. พัทธสีมา  มีบทนิยามว่า "เขตสังฆกรรมที่พระสงฆ์ได้กำหนดไว้เป็นหลักฐาน ตามวิธีการในพุทธานุญาตเรื่องสีมา"
                        คำว่าสีมาแปลว่าเขตบ้าง แดนบ้าง ที่รู้กันมากว่าหมายถึงเครื่องหมายบอกเขต, โบสถ์ สำหรับทำสังฆกรรม มีสองประเภท เขตที่สงฆ์กำหนดเอาเองเรียกพัทธสีมา แปลว่าแดนที่ผูก สีมาย่อมเป็นหลักสำคัญแห่งสังฆกรรมอย่างหนึ่ง
                        พัทธสีมา แดนที่ผูกนั้นคือแดนที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์กำหนดเขตเอาเอง ตามความพอใจ แต่มีจำกัดที่สุดทั้งข้างเล็กทั้งข้างใหญ่ไว้ ห้ามไม่ให้สมมติสีมาเล็กเกินไป จนจุภิกษุ ๒๑ รูป นั่งหัตถบาสกันไม่ได้ เพราะสังฆกรรมที่ต้องการ สงฆ์มีจำนวนมากที่สุด ๒๐ รูป คืออัพภานกรรม สวดระงับอาบัติสังฆาทิเสสของภิกษุ นับทั้งภิกษุนั้นด้วยเป็น ๒๑ รูป และห้ามไม่ให้สมมติสีมาใหญ่เกินกว่าสามโยชน์ เพราะเหลือระวัง สีมาเล็กเกินไปและใหญ่เกินไปอย่างนี้เป็นสีมาวิบัติ ใช้ไม่ได้
                        ประเทศไทยตัดปัญหาเรื่องนี้ได้เด็ดขาด เพราะธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยนั้นกำหนดว่าต้องผูกสีมา ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตจากราชการแล้ว จึงมีธรรมเนียมว่าเมื่อจะผูกสีมาต้องขอพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน ขนาดพื้นที่ที่ขอพระราชทานนั้นถือเป็นขนาดเดียวกันคือ กว้าง ๒๐ วา ยาว ๔๐ วา เท่ากันหมด
                        การผูกสีมานั้น สิ่งจะต้องเตรียมล่วงหน้าคือวัตถุที่จะทำเป็นนิมิตเรียกกันทั่วไปว่า ลูกนิมิต ซึ่งก็คือหลักหินหรือหลักเขต วัตถุที่จะใช้เป็นนิมิตนั้น ทรงอนุญาตไว้หลายอย่างด้วยกัน แต่ในประเทศไทยนิยมใช้ก้อนหินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ ซม. สัณฐานกลมแต่ผิวขรุขระกันกลิ้งไปได้ง่าย นิมิตนั้นไม่จำกัดว่าเท่าไร แต่มีอยู่โดยปริยาย ต้องมีตั้งแต่สามขึ้นไปจึงจะใช้ได้ ข้างมากไม่มีกำหนด ในประเทศไทยปัจจุบันนี้นิยมใช้สีมามีนิมิตแปดแห่ง
                        ครั้งปฐมโพธิกาล จำนวนผู้บวชยังมีน้อย ทั้งผู้บวชในยุคนั้นก็พอใจที่จะอยู่ป่า เขตสามัคคีของสงฆ์จึงถือเอาป่าเป็นประมาณ เขตป่านั้นมีกำหนดว่าห่างจากหมู่บ้านเจ็ดอัพภันดร ประมาณ ๔๙ หรือ ๕๐ วา โดยรอบ ภายในเขตนั้นเรียกอรัญสีมา อยู่ในประเภทอพัทธสีมา นอกจากนี้ก็ถือเอาเขตที่ฝ่ายอาณาจักรกำหนดไว้ มีเล็กบ้างใหญ่บ้างไม่เท่ากันเรียกว่า คามสีมา คือเขตตำบลบ้างเรียกว่า นิคมสีมา คือเขตอำเภอบ้าง พระสงฆ์ที่อยู่ในเขตเหล่านี้ ย่อมมีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ยังมีอพัทธสีมาอีกอย่างหนึ่งเรียกอุทกุกเขปสีมา วัดที่อยู่ริมน้ำหรือทะเล จะใช้ตามที่ทรงอนุญาตไว้            ๒๐/ ๑๓๐๗๘
                ๓๙๔๑. พัทลุง  จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.นครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกตกทะเลสาบ และ จ.สงขลา ทิศใต้จด จ.สงขลา ทิศตะวันตก จดทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งปันเขตกับ จ.ตรัง ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกพื้นที่สูง เพราะอยู่แนวเชิงทิวเขานครศรีธรรมราช แล้วค่อยลาดเทลงมาทางทิศตะวันออก จนจดทะเลสาบ ตอนเชิงเขาเป็นป่าสูง ตอนกลางเป็นที่ราบทำนา ทำสวน ตอนใกล้ทะเลบางแห่งเป็นที่ราบ บางแห่งเป็นพรุ ทำนา ทำสวนไม่ได้
                        จ.พัทลุง เดิมตั้งเมืองที่ อ.ปละท่า (อ.สทิงพระ ในปัจจุบัน ) จ.สงขลา ได้โยกย้ายที่ตั้งมากแห่ง เมืองเดิมนั้นเป็นเมืองเก่า เมืองหนึ่งทางภาคใต้ อาณาจักรศรีวิชัย (พ.ศ.๑๒๐๐ - ๑๔๐๐) ก็เคยมีอำนาจแผ่ขึ้นมาตลอดแหลมมลายู จ.พัทลุง มีเรื่องราวปรากฎในพระราชพงศาวดารอยู่มากแห่ง ในปี พ.ศ.๑๙๒๗ สมเด็จพระราเมศวร ได้ส่งเชลยชาวเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองพัทลุง ในปี พ.ศ.๒๒๙๑ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โปรดให้พระยาราชบังสัน (ตะตา) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง เป็นทำนองประเทศราช ถวายต้นไม้เงินทอง เป็นเมืองชั้นตรี มีเมืองขึ้นสี่เมืองคือ ปะเหลียน จะนะ เทพา และสงขลา (เดิมสงขลา เป็นปากน้ำเมืองพัทลุง)
                        สมัยธนบุรี พระปลัดตั้งตัวเป็นเจ้านครศรีธรรมราช ให้หลายชายมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่ท่าเสม็ด หรือตำบลปราน ต่อมาเจ้านคร ฯ ให้พระยาพิมลขันธ์ สามีท้าวเทพสตรี เมืองถลาง มาเป็นเจ้าเมืองตั้งเมืองที่ ต.ควนมะพร้าว ถึงปี พ.ศ.๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ โปรดให้นายจันท์ มหาดเล็กมาเป็นเจ้าเมือง ตั้งเมืองที่ บ.ม่วง ภายหลังนายจันท์มีโทษต้องถูกถอดปี พ.ศ.๒๓๑๕ ทรงตั้งนายขุน บุตรพระยาราชบังสัน (ตะตา) ต้นสกุล ณ พัทลุง หรือพระยาพัทลุง ขุนคางเหล็ก เป็นพระยาแก้วเการพพิไชย ผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง
                        สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่หนึ่ง โปรดให้เมืองพัทลุง และเมืองอื่น ๆ อีก ๑๙ เมือง ทางปักษ์ใต้ซึ่งเดิมขึ้นกรมท่า มาขึ้นกลาโหม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๘ พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เจ้าเมืองและกรมการยกครอบครัวหนีพม่าเข้าป่า พระมหาช่วยเป็นอธิการอยู่วัดเขาแดง แขวงเมืองพัทลุง ได้คุมกำลังพันคนเศษยกมาขัดตาทัพพม่าอยู่กลางทาง เขตเมืองพัทลุง ต่อกับเมืองนคร พระมหาช่วยมีความชอบ กรมพระราชวังบวร ฯ โปรดให้ออกจากสมณเพศแล้ว ทรงพระกรุณาตั้งให้เป็น พระยาทุกขราษฎร์ ช่วยการเมืองพัทลุงถึงปี พ.ศ.๒๓๓๔ โปรดให้พระยาแก้วโกรพพิชัย  (ทองขาว บุตรพระยาพัทลุง ขุนคางเหล็ก) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองอยู่ที่ อ.ลำปำ ริมทะเลสาบ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๗ ย้ายเมืองมาอยู่ที่ อ.เมืองพัทลุง บัดนี้
                        จังหวัดนี้ มีสถานที่และสิ่งสำคัญคือ เขาเมือง หรือเขาชัยบุรี ตั้งอยู่กลางเมืองที่เขาทำนาได้โดยรอบ ในชะวากเขาเคยเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุงมาครั้งหนึ่ง ยังมีกำแพงและซากเมืองอยู่ เขานี้มีถ้ำมากมีพระพุทธรูปโบราณแทบทุกถ้ำ          ๒๐/ ๑๓๐๘๙
                ๓๙๔๒. พันงู  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิดในวงศ์ผักขม และชนิดหนึ่งในวงศ์ต้นสัก ได้แก่ พันงูขาว พันงูแดง พันงูน้อย พันงูตัวผู้ พันงูเขียว          ๒๐/ ๑๓๐๙๓
                ๓๙๔๓. พันจำ  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิด วงศ์ไม้ยาง เป็นไม้ยืนต้นสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง ใบรูปหอกแกมรูปดาบ ดอกออกเป็นช่อสีขาว ผลโคนมักเชื่อมติดกับผล ปีกสั้นรูปหอก ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม - พฤษภาคม เนื้อไม้ใช้ทำเสาเรือน สะพานเชื่อมเสาโป๊ะ หมอนรองรถไฟและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน
                        นอกจากนั้น ยังมีพันจำขน และพันจำดง          ๒๐/ ๑๓๐๙๓
                ๓๙๔๔. พันท้ายนรสิงห์  รับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่แปด (พระเจ้าเสือ) ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๔๖ - ๒๒๕๑
                        ในการเสด็จทางชลมารคครั้งหนึ่งเพื่อไปประพาส ณ ปากน้ำ เมืองสาครบุรี เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึง ต.โคกขาม คลองช่วงนั้นคดเคี้ยวมาก ชาวบ้านเรียกว่า เจ็ดคด เจ็ดเลี้ยว พันท้ายนรสิงห์ถือท้ายเรือพระที่นั่งด้วยความยากลำบาก โขนหัวเรือพระที่นั่งไปกระทบกิ่งไม้อันใหญ่ โขนหัวเรือหัก พันท้ายนรสิงห์กราบทูลให้ตัดศีรษะของตน ตามพระราชกำหนด แต่ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานอภัยโทษ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบทูลว่า จะเสียขนบธรรมเนียมตามพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการแสดงความซื่อสัตย์กตัญญูอย่างแน่วแน่ต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นที่ซาบซึ้งจดจำของประชาชนชาวไทย สืบต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้           ๒๐/ ๑๓๐๐๑
                ๓๙๔๕. พันธบัตร  เป็นหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ออกให้แก่ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นหลักฐาน โดยให้คำมั่นสัญญาว่า จะชำระต้นเงินกู้คืนภายในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนด ในระหว่างที่พันธบัตรยังมีอายุอยู่
                        รัฐบาลไทยได้ออกพันธบัตรเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ โดยออกพันธบัตรจำหน่ายในตลาดการเงินลอนดอน และปารีส เป็นจำนวนหนึ่งล้านปอนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ก่อสร้างรถไฟ ช่วยเงินคงคลังและอื่น ๆ เป็นพันธบัตรชนิดจ่ายเงินให้แก่ผู้ถืออายุ ๔๐ ปี จ่ายปีละสองงวด ทุกหกเดือน
                        หลังจากนั้น ยังได้ออกพันธบัตรจำหน่ายในต่างประเทศอีกหลายครั้ง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๗ นับจากนั้น รัฐบาลก็มิได้กู้เงินจากต่างประเทศ โดยออกพันธบัตรจำหน่ายอีก จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๑ จึงเริ่มมีการออกพันธบัตรจำหน่ายในตลาดต่างประเทศใหม่ ที่ญี่ปุ่น และเยอรมัน
                        สำหรับภายในประเทศ รัฐบาลได้เริ่มออกพันธบัตรจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ในวงเงินสิบล้านบาท อายุสิบปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๔.๕ ต่อปี จ่ายปีละสองงวดทุกหกเดือน           ๒๐/ ๑๓๑๐๒
                ๓๙๔๖. พันบุตรศรีเทพ  หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐมีข้อความตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชนฤพาน สมเด็จพระยอดฟ้าราชกุมาร เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา
                        สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีราชบุตรซึ่งประสูติด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอกสองพระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า พระยอดฟ้า หรือพระแก้วฟ้า พระชันษาได้ ๑๑ พรรษา พระองค์น้อยทรงพระนามว่า พระศรีศิลป์ พระชันษาได้ ๕ พรรษา พระแก้วฟ้าได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระเทียรราชา ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และท้าวศรีสุดาจันทร์ เป็นผู้สำเร็จราชการภายในพระราชวัง
                        ต่อมา พระเทียรราชาออกอุปสมบทอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน ท้าวศรีสุดาจันทร์ ก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแต่ผู้เดียว และได้มีความเสน่หารักใคร่ พันบุตรศรีเทพ พนักงานเฝ้าหอพระ และได้เป็นชู้กันจนนางมีครรภ์ขึ้น จึงได้เลื่อนพันบุตรศรีเทพ เป็น ขุนชินราชรักษา และขุนวรวงศาธิราช ตามลำดับ มีอำนาจบังคับบัญชาทหารที่รักษาพระราชวังทั้งสิ้น เสนาบดีผู้ใดที่กระด้างกระเดื่องก็ให้ลอบฆ่าฟัน และกำจัดเสีย และได้ปลงพระชนม์พระแก้วฟ้าเสีย เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ แล้วท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ให้ราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราช เป็น พระเจ้าแผ่นดิน ขุนวรวงศาธิราชตั้งนายจันทร น้องชายเป็นมหาอุปราช
                        ขุนพิเรนทรเทพ ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ได้คบคิดกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรีทรงยศ พร้อมพรรคพวกออกอุบายให้ขุนวรวงศาธิราช ท้าวศรีสุดาจันทร์ และมหาอุปราชออกไปคล้องช้าง แล้วช่วยกันฆ่าขุนวรวงศาธิราช ท้าวศรีสุดาจันทร์ และบุตรี ซึ่งเกิดด้วยกันเสีย รวมเวลาที่อยู่ในราชสมบัติได้ ๔๒ วันจากนั้นจึงอัญเชิญพระเทียรราชา ให้ลาผนวชขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ ราชาภิเษกทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
                ๓๙๔๗. พันปี - พระ  พระมหากษัตริย์เมื่อขึ้นครองราชย์ และทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จะได้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาพระราชาคณะเป็นฤกษ์ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์พระบรมราชวงศ์ และทรงตั้งเลื่อนพระราชทานบรรดาศักดิ์ ข้าราชการ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นราชพระประเพณี แต่โบราณ
                        การสถาปนาพระอิสริยศักดิ์พระราชวงศ์นั้น ย่อมทรงระลึกถึงบุพการีสูงสุด ที่พระองค์เคารพรักมีอุปการคุณยิ่งใหญ่ เอนกประการได้แก่ พระชนนีของพระองค์ แต่มีธรรมเนียมราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์ ถ้ายังไม่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง จะไม่กล่าวขานออกพระนามเดิมพระชนนีของพระมหากษัตริย์ แต่เพื่อถวายความเคารพยกย่อง จะถวายพระนามกล่าวขานว่า สมเด็จพระพันปีหลวง
                        ดังนั้น ราชาศัพท์พระราชอิสริยศักดิ์ พระชนนี หรือสมเด็จพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ ย่อมได้รับการยกย่องตามพระราชประเพณี จะต้องกล่าวขานถวายพระเกียรติว่า สมเด็จพระพันปีหลวง โดยจะไม่กล่าวพระนามาภิไธย ที่ได้ทรงรับการสถาปนา          ๒๐/ ๑๓๑๑๒
               ๓๙๔๘. พันวรรษา - พระ  ปวงชนชาติไทยสมัยก่อน เมื่อจะกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมจะใช้ถ้อยคำยกย่อง เป็นทำนองเหมือนถวายพระพรให้ทรงพระเจริญอีกด้วย ได้แก่ พระพันวรรษา หรือพันวัสสา เป็นราชาศัพท์แทนพระปรมาภิไธย มีความหมายทรงพระเจริญถึงพันปี เช่นในวรรณคดีเรื่องขุนช้าง - ขุนแผน เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า สมเด็จพระพันวษา
                        ในสมัยรัตนโกสินทร์ ราชาศัพท์พระพันวรรษา ได้ใช้เป็นการเฉลิมพระนามพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไชย สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า          ๒๐/ ๑๓๑๑๖
                ๓๙๔๙. พาก  เป็นชื่อโรคระบาดสัตว์ชนิดหนึ่ง นิยมเรียกกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า โรคปาก และเท้าเปื่อย สัตว์ที่เป็นโรคชนิดนี้ได้แก่ สัตว์กีบคู่ต่าง ๆ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และสัตว์ป่า เช่น กวาง สมัน ละมัง ส่วนมนุษย์ติดโรคนี้ได้ยากมาก          ๒๐/ ๑๓๑๑๘
                ๓๙๕๐. พาน ๑ - พระยา  เป็นพระนามกษัตริย์ในตำนาน หรือนิทานโบราณเล่ากันมาว่า เป็นผู้สร้างพระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม ทุกวันนี้ เนื่องจากพระยาพานได้กระทำปิตุฆาต ฆ่าพระยากง ผู้บิดา และฆ่ายายหอม ผู้เลี้ยงตนมาจนเจริญวัย ดังปรากฎในนิทานเรื่องพระยากง พระยาพาน ซึ่งได้สร้างพระเจดีย์เพื่อล้างบาปขึ้นสูงเท่านกเขาเหิน
                        แต่ในทางโบราณคดีนั้น เข้าใจกันว่า พระปฐมเจดีย์ สร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศไทยนี้ และเก่าแก่ที่สุด          ๒๐/ ๑๓๑๒๓
                ๓๙๕๑. พาน ๒  เป็นชื่อเรียกภาชนะชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปมีรูปร่างลักษณะประกอบด้วยสามส่วนคือ
                        ๑. ส่วนตัวพาน มีลักษณะคล้ายชามอยู่ตอนบน
                        ๒. ส่วนเอว คือ ส่วนที่อยู่ระหว่างก้นพาน กับเชิงหรือตีนพาน มีลักษณะคล้ายวงกำไล ทำเป็นสันคล้ายอกไก่ก็มี กับทำเป็นเอวเว้าเข้าไปก็มี
                        ๓. ส่วนเชิงหรือตีนพาน มีลักษณะเป็นรูปกรวยคว่ำ คล้ายฝักบัว หรือตีนช้าง
                        รูปทรงของพาน มักทำเป็นรูปทรงกลม แต่ที่ทำเป็นรูปแปดเหลี่ยม หรือเป็นทรงย่อไม้สิบสองก็มี ส่วนปากของพานมีทั้งที่เป็นอย่างปากลวดกลม และปากกลีบบัว ลวดลายตกแต่งพาน และเชิงพาน ส่วนมากนิยมทำเป็นลายกลีบบัว เป็นพื้น
                        พานทำด้วยวัสดุต่าง ๆ กันมีตั้งแต่ ทำด้วยดินเผาธรรมดา ดินเผาเคลือบผิวด้วยน้ำยาต่าง ๆ ทำด้วยโลหะประเภททองคำ เงิน ทองแดง ทองสำริด ทำด้วยไม้ ไม้ไผ่สาน ประสานผิวด้วยสมุกรัก และทำด้วยแก้ว ก็มี
                        ภาชนะรูปพาน ทำด้วยดินเผา เป็นภาชนะชนิดหนึ่งที่คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยได้ทำขึ้นในเวลานั้น และพบต่อมาในสมัยทวารวดี ซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๒ ต่อมาในสมัยสุโขทัย มีการทำพานด้วยดินเผาเคลือบผิวด้วยน้ำยาเป็นสีเขียวไข่กา รูปทรงคล้ายชาม มีเชิงรับรองอยู่ใต้ก้นพาน เป็นอย่างรูปตีนช้าง รูปร่างคล้ายพานในสมัยทวารววดี มีพานชนิดที่ปรากฎในศิลาจารึก คงจะเป็นพานทำด้วยโลหะ และน่าจะคล้ายกับภาชนะที่เรียกกันในสมัยหลัง ๆ ว่าโต๊ะทองเหลืองใช้รองจานเชิงคุมกันขึ้นไปเป็นสำรับกับข้าว สำหรับผู้ที่มีฐานะดี
                        ในสมัยอยุธยา พบเอกสารกล่าวถึงพานในฐานะเป็นเครื่องราชูปโภค ปลายสมัยอยุธยา พานคงเป็นภาชนะที่คนทั่วไปได้ถือเป็นเครื่องใช้สอย พานเป็นภาชนะสำหรับใส่ หรือรองรับสิ่งของต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู
                        พานสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน มีแบบอย่างของรูปทรง ชื่อและหน้าที่ต่างกันออกไปหลายแบบด้วยกันคือ
                        พานพระขันหมาก  เป็นเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งในสี่อย่าง มีทรวดทรงเป็นพานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองชั้น พานลูกบนมีนาครวยทำด้วยทองคำ จำหลักลวดลาย ลงยาราชาวดี ใช้สำหรับพานหมาก ช่องพลู และตลับรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปลีกทรงมัน
                        พานพระศรี  เป็นเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ สำหรับใส่หมาก พลู มีสองสำรับ สำรับหนึ่งเป็นเครื่องทองลงยา อีกสำรับหนึ่งเป็นเครื่องนาก เครื่องทองใช้ในเวลาปรกติ เครื่องนากใช้ในวันพระ
                        พานบายศรี  เป็นเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ เนื่องในการพระราชพิธีสมโภชต่าง ๆ มีสามชุด ทองคำ เงิน และแก้ว แต่ละชุดประกอบด้วยพานเถาจำนวนหกลูก ตั้งซ้อนกันขึ้นไป พานลูกบนสุดใส่พุ่มดอกไม้ ลูกถัดลงมาแต่ละลูกใส่พานขนาดเล็ก เรียงโดยรอบใส่เครื่องกินต่าง ๆ หรือใส่ดอกๆไม้นานาพรรณ
                        พานสองชั้น  คือพานทอง ตั้งซ้อนนกันสองลูก ลูกบนมักย่อมกว่าลูกล่าง เป็นพานกลม ปากเป็นกลีบบัวจงกล เชิงพานลูกบนมีนาครวยประกอบสี่มุมพาน ใช้สำหรับรองรับเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์
                        พานรองสังข์  เป็นพานโลหะขนาดเล็ก ตัวพานทำรูปวงรี ปากพานทำเป็นกลีบบัว ผายออกสองด้าน ใช้สำหรับรองสังข์ เรียกอีกอย่างว่าพานปากกระจับ
                        พานปากกลม  เป็นพานรูปทรงกลม ปากเรียวกลมเหมือนปากชาม มีเส้นลวดเลียบรองปากชาม
                        พานกลีบบัว  เป็นพานรูปทรงกลม แต่ที่ปากทำเป็นจัก ๆ คล้ายปลายกลีบบัว เรียงซ้อนต่อเนื่องกันไป รอบขอบปากพาน
                        พานรองขัน  เป็นพานโลหะรูปทรงกลม ขอบปากเรียบ ใช้ตั้งรองรับโลหะใส่น้ำ มักเรียกควบกันว่า ขันน้ำพานรอง
                        พานแว่นฟ้า  ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนหรือหวาย รูปทรงสี่เหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองลูก ลูกบนเล็กกว่า ตกแต่งผิวด้วยการปั้นขี้รักปิดทองบ้าง ลงลักเขียนลาย ปิดทองรดน้ำบ้าง ประดับกระจกสี หรือประดับมุกบ้าง โดยมากใช้ใส่ผ้าไตร
                        พานพุ่ม ทำด้วยดินปั้น เผาไฟให้สุก แล้วนำมาเขียนสี เป็นลวดลาย ภายนอกตัวพาน ใช้สำหรับรองพุ่มขี้ผึ้ง ถวายพระในเทศกาลเข้าพรรษา
                        พานแก้ว ทำด้วยแก้ว หล่อตัวพาน ลักษณะคล้ายจานปากคลุ่ม ตีนพานเป็นเลากลม โดยเลาแฝงเป็นแป้นกลม โดยมากใช้ใส่หมากพลู ดอกไม้ถวายพระ ในชั้นหลังนิยมจัดพุ่มดอกไม้ ตั้งบูชาพระด้วย
                        พานสาน ใช้ตอกไม้ไผ่สาน ตัวพานรูปร่างคล้ายถาด ตับพานสานสายชะลอม เป็นรูปทรงกวระบอก เทินตัวพานขึ้นไปไว้ สำหรับใส่เครื่องพลีกรรมในพิธีต่าง ๆ          ๒๐/ ๑๓๑๒๖
                ๓๙๕๒. พาน ๓  อำเภอขึ้น จ.เชียงราย ภูมิประเทศโดยมากเป็นที่ราบลุ่ม บางตอนเป็นป่าทึบ มีไม้สัก และไม้กระยาเลย
                        อ.พาน เดิมเป็นเมือง ขึ้น จ.ลำพูน สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.๑๔๐๕ ต่อมาราววปี พ.ศ.๒๔๔๓ ทางราชการได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น จ.ลำพูน ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๗  ได้ยกไปขึ้น อ.แม่ใจใต้ จ.เชียงราย อยู่ราวสองปี จึงรวม อ.แม่ใจใต้ กับกิ่ง อ.พาน เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑          ๒๐/ ๑๓๑๓๔
                ๓๙๕๓. พานทอง  อำเภอ ขึ้น จ.ชลบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบตลอด โดยมากเป็นทุ่งนาโล่งแจ้งทั่วไป เว้นแต่ตอนใกล้ปากคลองพานทอง พื้นดินต่ำและมีป่าจากขึ้นอยู่เป็นบริเวณกว้างขวาง          ๒๐/ ๑๓๑๓๕

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch