หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/106
     ๓๘๙๕. พลูช้าง  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะอินเดียตะวันอก พม่า มาเลเซีย เป็นไม้เถา ลำต้นอวบน้ำ เลื้อยพันตามไม้ยืนต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกัน รูปไข่เบี้ยวหรือรูปหอก โคนใบรูปหัวใจตื้น ๆ ดอกอัดแน่นเป็นช่อเดี่ยว ๆ ที่ยอด ผลเป็นผลสด มีเนื้อนุ่ม
                        พรรณไม้นี้มีประโยชน์ทางด้านสมุนไพรคือ ผลเป็นยาบำรุง ยากระตุ้น ขับเหงื่อ ขับพยาธิ และเป็นยาทาแก้ปวดข้อ          ๒๐/ ๑๓๐๐๑
                ๓๘๙๖. พลูด่าง  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของเกาะโซโลมอน เป็นไม้เถา แตกกิ่งก้านสาขามาก เลื้อยพันไม้อื่นไปได้สูง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่เบี้ยว โคนใบเป็นรูปหัวใจลึก ดอกอัดกันแน่นเป็นแท่งสั้น ผลสดมีเนื้อนุ่ม
                        พรรณไม้นี้ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับมีอีกชื่อว่า พลูฝรั่ง          ๒๐/ ๑๓๐๐๒
                ๓๘๙๗. พลูโตเนียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๙๔ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ นับแต่นั้นมาธาตุนี้ก็ได้มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ และอาวุธสงคราม
                        ในธรรมชาติธาตุนี้ มีปรากฎอยู่เป็นปริมาณน้อยอย่างยิ่งในสินแร่ยูเรเนียม ลักษณะเป็นโลหะสีเงิน ถ้าทิ้งไว้ในอากาศผิวของมันจะหมองเป็นสีเหลือง เป็นธาตุที่มีปฎิกิริยาเคมีสามารถละลายได้ในกรดหลายชนิด และสามารถปรากฎอยู่ในสภาพไอออน ซึ่งมีสีในสารละลายที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย สามารถรวมตัวกับโลหะอื่น เป็นโลหะเจือได้
                        พลูโตเนียม เป็นธาตุที่มีพิษอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นธาตุกัมมันตรังสี มีอัตราการปล่อยอนุภาคแอลฟ่า ออกมาสูงมากและไขกระดูกดูดกลืนเข้าไปได้ดี ก่อให้เกิดเป็นมะเร็งในกระดูกได้         ๒๐/ ๑๓๐๐๓
                ๓๘๙๘. พลูลาย  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของมลายูและชวา เป็นไม้เถาอาจสูงเกิน ๑๒ เมตร เลื้อยพันต้นไม้อื่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ใบรูปไข่ รูปหัวใจ ดอกอัดแน่นอยู่บนแกนเป็นช่อรูปทรงกระะบอก กาบรองดอกสีขาว ผลสุกมีเนื้อนุ่ม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ         ๒๐/ ๑๓๐๐๖
                ๓๘๙๙. พวงแก้วกุดั่น  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะอินเดียตะวันออก มีเขตกระจายพันธุ์ถึงคาบสมุทรมลายู ชวาและไทย เป็นไม้เถาเลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปไข่ หรือสามเหลี่ยม ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบมีกลิ่นหอม ผลรูปรีหรือรูปไข่ ติดเป็นกระจุก ผลแก่แห้งปลิวไปตามลม ออกดอกเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน
                        พวกแก้วกุดั่นนี้ ลำต้นสดเหนียว ใช้ผูกมัดสิ่งของชั่วคราวได้         ๒๐/ ๑๓๐๐๖
                ๓๙๐๐. พวกแก้วแดง  เป็นพืชพื้นเมืองของแอฟริกา ลักษณะคล้ายพวงเงิน เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามเป็นคู่ ใบรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายชิ่ง หรือซอกใบ กลีบดอกสีแดงเข้ม ปลูกเป็นไม้ประดับ          ๒๐/ ๑๓๐๐๗
                ๓๙๐๑. พวงแก้วมณี  เป็นพรรณไม้อยู่ในสกุลและวงศ์เดียวกับพวงแก้วกุดั่น มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ต้นเป็นเถาเลื้อย ใบเป็นใบช่อแบบขนนก ใบรูปไข่ป้อม ดอกออกเป็นช่อกระจายสีขาว ผลแห้งเล็ก ๆ เมื่อแก่ปลิวไปตามลมได้      ๒๐/ ๑๓๐๐๗
                ๓๙๐๒. พวงโกเมน  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก เป็นพืชตระกูลเดียวกับหมามุ่ย ต้นเป็นเถาเลื้อย เถาอาจยาวถึง ๕๐ เมตร ใบเป็นช่อชนิดสามใบย่อย ออกดอกในฤดูฝน ดอกเป็นช่อติด ๆ กันหลายช่อสีแดงเข้ม รูปคล้ายดอกแค         ๒๐/ ๑๓๐๐๘
                ๓๙๐๓. พวงขน  เป็นไม้ล้มลุกอายุหนึ่งปี สูง ๒๐ - ๑๐๐ ซม. ลำต้นเล็กตั้งตรง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือตามง่ามใบ ฝักรูปขอบขนาน          ๒๐/ ๑๓๐๐๘
                ๓๙๐๔. พวงไข่มุก   เป็นไม้พุ่ม อาจสูงถึง ๓ เมตร มีไหลในดิน ใบเป็นใบช่อ มีใบย่อย ๓ - ๕ คู่ ใบรูปไข่หรือรูปหอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือตามง่ามใบ ช่อดอกบานแผ่เป็นรูปร่ม กลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลกลม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ          ๒๐/ ๑๓๐๐๙
                ๓๙๐๕. พวงคราม  เป็นไม้เลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ไม่มีหูใบ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปรี ดอกออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบห้อยย้อยลง สีม่วง หรือม่วงคราม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป          ๒๐/ ๑๓๐๑๐
                ๓๙๐๖. พวงเงิน  เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ สีแดงเข้ม ผลสีดำเป็นมัน         ๒๐/ ๑๓๐๑๐
                ๓๙๐๗. พวงชมพู  เป็นไม้เถาล้มลุก มีอายุหลายปี เลื้อยพันโดยอาศัยมือเกาะ ใบออกสลับกันรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อที่ยอด หรือตามง่ามใบ สีชมพู หรือขาว ผลปลายแหลมโคนกลม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ออกดอกตลอดปี          ๒๐/ ๑๓๐๑๑
                ๓๙๐๘. พวงทองเครือ  เป็นไม้เถาเลื้อยเกาะพันสิ่งอื่น ๆ ไปได้ไกล ๆ ใบรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อที่ยอด และตามง่ามใบใกล้ ๆ ยอด ห้อยระย้าลงมา มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ          ๒๐/ ๑๓๐๑๒
                ๓๙๐๙. พวงทองต้น  เป็นไม้พุ่มสูง ๕๐ ซม. - ๒ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันรูปไข่ ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อตั้งตรงที่ปลายยอด ผลแห้งสีน้ำตาล นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ          ๒๐/ ๑๓๐๑๒
                ๓๙๑๐. พวงประดิษฐ์  เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ  รูปรี หรือรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผลเป็นชนิดผลแห้งมีขนาดเล็ก         ๒๐/ ๑๓๐๑๓
                ๓๙๑๑. พวงมาลัย  เป็นชื่อเพลง ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองของไทย แต่โบราณอย่างหนึ่งมักเล่นในงานเทศกาล และมักเล่นรวมกับการเล่นอย่างอื่น การร้องเพลงพวงมาลัย เป็นการร้องระหว่างหญิงกับชาย ร้องเกี้ยวกันในเชิงเกี้ยวพาราสี          ๒๐/ ๑๓๐๑๔
                ๓๙๑๒. พวงแสด  เป็นไม้เถา ใบเป็นใบประกอบ มักมีใบย่อยสามใบ ใบรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด สีแสดอมส้ม เชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ส่วนปลายพองออก แยกเป็นแฉกห้าแฉก นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามรั้ว          ๒๐/ ๑๓๐๑๕
                ๓๙๑๓.  พวงหยก  เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง ลำต้นตรงยาวราว ๔๕ ซม. ใบรูปรีดอกใหญ่ ออกเป็นช่อกระจายมักออกเป็นคู่ ๆ  สีม่วงอ่อน ดอกบานเดือนมีนาคม - เมษายน         ๒๐/ ๑๓๐๑๖
                ๓๙๑๔. พวน - ลาว  เป็นชื่อเรียกไทยเผ่าเหนึ่งที่อยู่ตอนในของประเทศลาว พูดภาษาลาว เมืองหลวงอยู่ที่เชียงขวาง เดิมเมืองพวนเป็นรัฐอิสระมีเจ้าปกครองตนเอง
                        ตามประวัติศาสตร์ของลาว กล่าวว่าขุนบรมได้มาสร้างเมืองแถง ที่ญวนเรียกว่า เดียนเบียนฟู ขุนบรมมีโอรสเจ็ดองค์ ได้ให้โอรสทั้งเจ็ดไปปกครองในที่ต่าง ๆ ท้าวเจื๋อง โอรสองค์ที่เจ็ดไปครองเมืองเชียงขวางคือ เมืองพวน
                        ท้าวเจื๋อง ลงมาสร้างเมืองเชียงขวาง เมื่อปี พ.ศ.๑๒๔๑
                        อาณาจักรของชาวพวน ที่เมืองเชียงขวางอยู่ในท่ามกลางอาณาจักรหลวงพระบางทางเหนือ อาณาจักรเวียงจันทน์ ทางด้านตะวันตกและอาณาจักรญวน ทางด้านตะวันออกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เจ้าพระยาจักรี ได้ยกทัพไปตีประเทศลาวได้ทั้งเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๑ เมืองพวนจึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทยแต่นั้นมา จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามายึดประเทศลาว รวมทั้งเมืองเชียงขวางหรือพวนไปจากไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ลาวกอบกู้เอกราชได้ และรวมเมืองพวนไปไว้ในประเทศลาวด้วย แต่เมืองพวนยังมีเจ้าปกครอง ซึ่งลาวตั้งให้เป็นเจ้าเมือง
                        คนไทยรู้จักเมืองพวน หรือเชียงขวาง จากชื่อที่เรียกว่า ทุ่งไหหิน ซึ่งอยู่ทางเหนือของเชียงขวาง
                        เมื่อคราวฮ่อมารบกวนเชียงขวาง และเมื่อญวนยกเข้ามาตีเชียงขวาง ทางเชียงขวางได้ขอให้ไทยยกทัพไปช่วย ไทยเห็นว่าเมืองพวนอยู่ห่างหูห่างตามาก เกิดเหตุอะไรก็ยกไปช่วยไม่ทัน จึงได้อพยพเอาชาวพวนส่วนหนึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่พนมสารคาม และมีนบุรี แต่ส่วนหนึ่งไม่ยอมมาด้วย จึงหยุดอยู่เสียที่กลางทางบริเวณบุริขัน และปากซัน และตามริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่พลเมืองส่วนหนึ่งยังคงอยู่ที่เชียงขวางต่อไป         ๒๐/ ๑๓๐๑๗
                ๓๙๑๕. พสุสงกรานต์  มาจากคำว่า "พสุ" แปลว่า ดี เลิศ ประเสริฐ พิเศษ และ "สงกรานต์" แปลว่า การย้ายราศี หรือการย้ายตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดังนั้น จึงอาจแปล พสุสงกรานต์ ว่า การย้ายตำแหน่งอันพิเศษของดวงอาทิตย์คือ ตำแหน่งซึ่งดวงอาทิตย์มาอยู่ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า พสุสงกรานต์เหนือ (ราววันที่ ๔ มกราคม) และดวงอาทิตย์อยู่ไกลโลกที่สุด เรียกว่า พสุสงกรานต์ใต้ (ราววันที่ ๓ กรกฎาคม)         ๒๐/ ๑๓๐๒๑
                ๓๙๑๖. พหลพลพยุหเสนา - พลเอก พระยา  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ ไปศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ เข้ารับราชการเป็นนายทหารปืนใหญ่  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็น พระยาพหล ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลเอก และเชษฐบุรุษ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐         ๒๐/ ๑๓๐๒๕
                ๓๙๑๗. พหลโยธิน  เป็นชื่อทางหลวงแผ่นดินสายประธาน กรุงเทพ - แม่สาย ระยะทางยาว ๑,๐๑๐ กม. ผ่านดอนเมือง หินกอง สระบุรี ลพบุรี โคกสำโรง ตาคลี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เถิน ลำปาง เชียงราย และแม่สาย
                        ทางหลวงสายนี้เดิมชื่อ ประชาธิปัตย์ ปัจจุบันคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑         ๒๐/ ๑๓๐๓๘
                ๓๙๑๘. พ่อขุน  ในสมัยสุโขทัยตอนต้น "พ่อขุน" เป็นคำขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดิน แห่งราชอาณาจักรใหญ่ ในขณะที่ "ขุน" เป็นคำขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดินแคว้นเล็ก ๆ ส่วน "พระ" เป็นพระนามเจ้านายที่มีบรรดาศักดิ์สูง ต่อมาในสมัยพระมหาธรรมราชาที่หนึ่ง (ลิไทย) พระนามพระเจ้าแผ่นดิน จึงเปลี่ยนไปขึ้นต้นด้วยคำว่า "พญา" แล้วเปลี่ยนไปเป็น "สมเด็จพระ" หรือ "พระเจ้า" ในสมัยอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็น "พระบาทสมเด็จ"          ๒๐/ ๑๓๐๓๘
                ๓๙๑๙. พอง  แม่น้ำ ยอดน้ำอยู่บนภูกระดึง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใน อ.ภูกระดึง จ.เลย เป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่าง อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ กับ อ.ภูกระดึง จ.เลย ในต้อนต้นน้ำ เป็นที่ตั้งเขื่อนอุบลรัตน์ ใน อ.อุบลรัตน์ ไหลไปบรรจบแม่น้ำชี ระหว่าง ต.พระลับ อ.เมืองขอนแก่น กับ ต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย แม่น้ำพอง กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๒๗๕ กม. มีน้ำตลอดปี          ๒๐/ ๑๓๐๔๑
                ๓๙๒๐. พอน - ปลา  เป็นชื่อที่ชาวบ้านบางท้องถิ่น ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกปลาน้ำจืดหลายชนิด มักจะเรียกกลุ่มปลาที่คล้ายกัน          ๒๐/ ๑๓๐๔๒
                ๓๙๒๑. พอโลเนียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๘๔ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่มีปรากฎในธรรมชาติ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑
                        พอโลเนียม เป็นธาตุที่หายากมาก มีปรากฎในธรรมชาติด้วยปริมาณที่น้อย ยิ่งมีสมบัติเป็นโลหะลักษณะสีเทาเงิน หรือสีดำ เป็นธาตุที่มีพิษอย่างร้ายแรง ในอุตสาหกรรมใช้ธาตุนี้เพื่อกำจัดไฟฟ้าสถิต ที่เกิดขึ้นระหว่างกรรมวิธีทำม้วนกระดาษ กรรมวิธีทำแผ่นพลาสติก กรรมวิธีทำเส้นใยสังเคราะห์          ๒๐/ ๑๓๐๔๗
                ๓๙๒๒. พะงั่ว  เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่ห้า ของพระยาอู่ทองคนเก่า
                        พระบรมราชา (พะงั่ว)  ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง พระบรมราชา (พะงั่ว)  ไปปราบเขมรที่แปรพักตร์ได้ สามารถตีนครธมได้ กรุงศรีอยุธยาได้ขยายอาณาเขตออกไปทางทิศตะวันออก ได้ดินแดนซึ่งบัดนี้เป็นจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่นครราชสีมาไปจันทบุรี
                        พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยได้กรุงสุโขทัยมาอยู่ในพระราชอาณาเขตในปี พ.ศ.๑๙๒๑ แล้วทรงจัดการปกครองอาณาจักรสุโขทัยเสียใหม่ โดยแบ่งออกเป็นสองมณฑล กรุงสุโขทัยจึงลดศักดิ์ลงมาเป็นประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา เมื่อสิ้นรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่สี่ ในปี พ.ศ.๑๙๘๑ สมเด็จพระบรมราชาที่สอง (เจ้าสามพระยา)  โปรดให้ผนวกกรุงสุโขทัย เข้ารวมกับอาณาจักรอยุธยา
                        ในปี พ.ศ.๑๙๒๙ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง (พะงั่ว)  ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพยกไปถึงเมืองลำปาง แต่ตีไม่ได้ พระองค์ยกกองทัพไปตีอาณาจักรลานนา อีกครั้งในปี พ.ศ.๑๙๓๑ แต่ทรงพระประชวรระหว่างทางต้องถอยทัพกลับมา          ๒๐/ ๑๓๐๔๙
                ๓๙๒๓. พะแนง  เป็นชื่อแกงเผ็ดชนิดหนึ่ง ที่มีน้ำขลุกขลิก คนไทยใช้เป็นอาหารประจำวันทั่ว ๆ ไป           ๒๐/ ๑๓๐๕๒
                ๓๙๒๔. พะยอม  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง ๒๐ - ๓๐ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ผลัดใบก่อนออกดอก ลำต้นตรงเปลา ในเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่ง รูปขอบขนาน ปลายมน ดอกสีขาวกลิ่นหอม ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ผลรูปกระสวย มีปีกยาวสามปีก สั้นสองปี เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน เมื่อแปรรูปแล้ว เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ เนื้อละเอียดใช้ในการก่อสร้างที่ทนทานถาวร มักจำหน่ายปนกันไปกับไม้ตะเคียน           ๒๐/ ๑๓๐๕๓
                ๓๙๒๕. พะยูง  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๒๕ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มโปร่ง ผลัดใบก่อนออกดอก ลำต้นค่อนข้างตรง แต่มักบิดงอ ใบเป็นช่อเรียงเวียนสลับกันบนกิ่ง ใบย่อยเรียงสลับกันบนก้านใบ ดอกเล็กสีขาว ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ตามปลายกิ่ง ผลเล็กแบน           ๒๐/ ๑๓๐๕๕
                ๓๙๒๖. พะยูน  เป็นสัตว์น้ำเลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มิใช่เป็นปลา เป็นสัตว์ใหญ่ แต่เชื่องไม่ทำอันตรายใคร ชอบท่องเที่ยวไปเป็นคู่ หรือเมื่อรวมฝูงจะอยู่กันประมาณ ๓ - ๖ ตัว รูปร่างตัวกลมคล้ายปลาโลมา ตามตัวมีขนบ้าง ตัวผู้มีงาไม่ยาวนัก         ๒๐/ ๑๓๐๕๖
               ๓๙๒๗. พะเยา  จังหวัดมีอาณาเขตทิศเหนือ จด จ.เชียงราย ทิศตะวันออกจดประเทศลาว และ จ.น่าน ทิศใต้จด จ.ลำปาง และ จ.แพร่ ทิศตะวันตก จด จ.ลำปาง และ จ.เชียงราย ภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบ มีภูเขาล้อมรอบ
                        จ.พะเยา เป็นเมืองโบราณเก่าแก่เมืองหนึ่ง ปรากฎในพงศาวดารโยนกว่าเป็น เมืองสมัยเดียวกับกรุงสุโขทัย มีเจ้านครหลวงปกครองสืบกันมาหลายองค์ พระยาลาวเงิน เจ้าเมืองหิรัญนครเงินยาง มีราชบุตรเกิดจากมเหสีสององค์ องค์น้องพระนามว่า ขุนจอมธรรม ไปครองแคว้นภูกามยาว ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองหิรัญนครเงินยาง ได้สร้างเมืองภูกามยาว ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๖๓๙ เมื่อทิวงคตแล้ว ขุนเจื๋อง ราชโอรสได้ครองเมืองสืบต่อมา และได้ขยายอาณาเขตเข้าไปถึงล้านช้าง และเมืองแกว (เวียดนาม) ผู้สืบเชื้อสาย จากขุนเจื๋อง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย พ่อขุนเม็งราย ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง และพระยางำเมือง ผู้ครองเมืองพะเยา
                        ในปี พ.ศ.๑๘๘๑ เมืองภูกามยาว ถูกพระเจ้าคำพู ผู้ครองนครเชียงใหม่ กับพระยากามน่าน ยกทัพมาตีเมืองภูกามยาวแตก ต่อมาภายหลังเมืองนี้ได้ยุบเป็น อ.เมืองพะเยา เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พะเยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้ยกฐานะเป็น จ.พะเยา          ๒๐/ ๑๓๐๕๙
                ๓๙๒๘. พระลานชัย  เป็นชื่อบึงใน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด กว้าง ๔๕๐ เมตร ยาว ๕๖๐ เมตร มีประวัติความเป็นมาปรากฎอยู่ในนิยายเรื่องผาแดงนางไอ่ เรื่องหนึ่งและนิยายปรัมปราเรื่องพระสงฆ์รูปหนึ่ง พร้อมชาวบ้านขุดสระน้ำแล้วไปจับเงือกที่แม่น้ำโขง มาปล่อยไว้ในสระนั้น ทำให้มีน้ำในสระตลอดปี           ๒๐/ ๑๓๐๖๐
                ๓๙๒๙. พะวา  เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ใบเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่ง รูปรี แกมขอบขนาน ดอกสีเหลือง ออกน้ำตาล ผลสุกรสเปรี้ยวฝาดบริโภคได้           ๒๐/ ๑๓๐๖๑
                ๓๙๓๐. พะสิม  เป็นเมืองท่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ประมาณ ๑๐๐ กม. มีแม่น้ำพะสิมซึ่งเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำอิรวดีไหลผ่าน ในปี พ.ศ.๒๑๒๗ พระเจ้านันทบุเรงให้เจ้าเมืองพะสิมคือ พระยาพะสิม ผู้เป็นอาคุมทัพ ๓๐,๐๐๐ คน เข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อกองทัพยกมาถึงเมืองสุพรรณบุรี ก็ถูกกองทัพเรือพระยาจักรี ใช้ปืนใหญ่ระดมยิง ทำให้กองทัพพม่าต้องถอยจากที่ราบไปตั้งอยู่บนเขาพระยาแมน           ๒๐/ ๑๓๐๖๑
                ๓๙๓๑. พังกา  เป็นพรรณไม้ที่พบขึ้นในป่าชายเลน มีสามชนิดด้วยกันคือ
                          พังกาใบใหญ่  เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๓๐ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ลำต้นตรงเปลา โคนมีรากค้ำสลับซับซ้อนสูงขึ้นมาประมาณ ๓ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนกันบนกิ่ง ดอกสีขาว ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบตามปลายกิ่งช่อละ ๓ - ๕ ดอก ผลแก่สีน้ำตาล งอกรากตั้งแต่บนต้น เนื้อไม้ใช้ทำฟืนและเผาถ่านที่มีคุณภาพสูง ใช้ทำไม้ค้ำยัน และเสาเข็ม บางทีก็เรียกว่า โกงกางใบใหญ่ และกงกางนอก
                          พังกาใบเล็ก  ลักษณะคล้ายคลึงกันกับโกงกางใบใหญ่ เนื้อไม้ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับชนิดแรก มักพบขึ้นปนกันกับชนิดแรก ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ด้านในของป่า ที่ติดต่อกันกับป่าที่น้ำทะเลขึ้นท่วมเป็นครั้งคราว ที่เรียกกันว่า ป่าเชิงทรง บางทีเรียกว่า โกงกางใบเล็ก และพังกาทราย
                          พังกาหัวสุม  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๓๐ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทึบ ลำต้นตรงเปลา โคนต้นมีรากผุดพื้นดินขึ้นมาโดยรอบ ใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนกันบนกิ่ง ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ตามปลายกิ่ง ผลรูปถ้วย รากผลสั้นรูปกระสวย พบขึ้นในป่าตอนในต่อกับป่าเชิงทรง เนื้อไม้ใช้ทำฟืน และเผาถ่านได้ดี           ๒๐/ ๑๓๐๖๓
                ๓๙๓๒. พังคราช  เป็นพระนามกษัตริย์ไทยองค์ที่ ๔๒ ที่ครองอาณาจักรโยนก - เชียงแสน ทรงสืบราชวงศ์มาจากพระเจ้าสิงหนวัติ ซึ่งทรงสถาปนาอาณาจักรนี้ พระองค์ทรงยกทัพไปตีเมืองอุโมงเสลานคร ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของขอม สันนิษฐานกันว่าคือ เมืองฝาง ต่อมาขอมได้โอกาสตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นราชธานีได้เมื่อปี พ.ศ.๑๖๒๓ แล้วจัดการให้พระองค์ไปประทับอยู่ที่เวียงสีทอง ใกล้เมืองเชียงแสน เมืองเชียงแสนต้องส่งส่วยเป็นทองคำหนักเท่ามะตูมสี่ผล แก่ขอมทุกปี
                        ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ เวียงสีทอง พระองค์ได้พระโอรสสองพระองค์ องค์หนึ่งคือ เจ้าชายพรหม หรือพรหมราช ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๖๒๕ ครั้นเจ้าชายทรงพระเจริญวัยได้ทรงรวบรวมผู้คน ก็อิสรภาพของอาณาจักรโยนกเชียงแสนได้           ๒๐/ ๑๓๐๖๘
                ๓๙๓๓. พังโคน  อำเภอ ขึ้น จ.สกลนคร ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔          ๒๐/ ๑๓๐๖๙
                ๓๙๓๔. พังงา ๑  ในความหมายของทหารเรือ หมายถึงเครื่องมือหันหางเสือของเรือ เพื่อบังคับให้เรือแล่นไปตามทิศทางที่ต้องการ พังงาที่ใช้กับเรือเล็กใช้สวมลงที่ก้านหางเสือ มีสองแบบคือ พังงาด้าม และพังงาวงเดือน
                       เรือซึ่งต้องการให้นายท้ายถือท้ายเรือ ที่บริเวณหัวเรือต้องใช้ระบบโซ่ (หรือเชือกลวด) และรอกโยงจากก้านหางเสือที่ท้ายเรือไปยังหัวเรือหรือที่อื่น ๆ ที่ต้องการแล้วต่อเข้ากับพังงา ซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม นายท้ายหรือคนถือท้ายหมุนพังงานี้ เพื่อบังคับหางเสือให้หัวเรือหันไปยังทิศที่ต้องการ          ๒๐/ ๑๓๐๗๐

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch