หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/105
     ๓๘๖๒. พราหมณะ - คัมภีร์  เป็นคัมภีร์สำคัญพวกหนึ่ง ในจำนวนคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สี่พวกของศาสนาพราหมณ์ ที่รวมกันเข้าเป็นกลุ่มคัมภีร์พระเวท ซึ่งประกอบด้วย
                        ๑. สัมหิตา หรือมันตระ เป็นบทสวด
                        ๒. พราหมณะ เป็นบทอธิบายกฎเกฎฑ์ในการทำยัญกรรม
                        ๓. อารัณยกะ  เป็นบทแสดงข้อประพฤติปฎิบัติของผู้ฝึกธรรมในป่า
                        ๔. อุปนิษัท เป็นบทว่า ด้วยปรัชญาเกี่ยวกับพรหม อันเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เวทานตะ"  (ที่สุดแห่งพระเวท)
                        คัมภีร์พระเวท แต่ละเล่มคือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท ต่างก็ประกอบขึ้นจากสี่กลุม หรือสี่ตอน ดังกล่าวนี้ เหมือนกันทั้งสิ้น
                        กลุ่มคัมภีร์ประเภท พรหมณะ นับว่าเป็นแม่บทสำคัญของศาสนาพราหมณ์ เพราะเป็นคัมภีร์ที่วางกฎเกณฑ์ทุกอย่าง เกี่ยวกับการปฎิบัติในเรื่องพิธีรีตรองทางศาสนาพราหมณ์โดยเฉพาะ คัมภีร์นี้แต่งเป็นร้อยแก้วทั้งหมด มีทั้งหมดสิบสองเล่ม
                ๓๘๖๓. พราหมี - อักษร  เป็นตัวอักษรโบราณเก่าแก่ที่สุดของอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตัวอักษรชนิดต่าง ๆ ที่ใช้กันแพร่หลายในแว่นแคว้นต่าง ๆ ของอินเดีย ในสมัยหลังยกเว้นอักษรขโรษฐี อักษรพราหมี ที่พบครั้งแรกสุดในอินเดียคือ จารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรพราหมีขึ้น
                        ตัวอักษรพราหมี กระจายไปตามภาคเหนือและภาคใต้ของอินเดีย ได้ถูกดัดแปลงเปลี่ยนรูปร่างไปในท้องถิ่นต่าง ๆ หลายรูปแบบ จนในที่สุดแบ่งออกเป็นแบบใหญ่ ๆ สองแบบคือ แบบที่ใช้ในอินเดียภาคเหนือเรียกว่า อักษรเทวนาครี แบบที่ใช้ในอินเดียภาคใต้เรียกว่า อักษรครนถ์ หรือคฤนถ์ ส่วนตัวอักษรพราหมี แบบดั้งเดิมเลิกใช้ไปในที่สุด         ๒๐/ ๑๒๘๘๙
                ๓๘๖๔. พริก ๑ - นก  เป็นนกที่ชอบเดินหากินไปบนจอกแหน มีสีดำเกือบทั้งตัว ปีกสีน้ำตาลแดง โคนปากและแผ่นเนื้อที่หน้าผากเป็นสีแดง คล้ายคาบพริกไว้          ๒๐/ ๑๒๘๙๓
                ๓๘๖๕. พริก  ๒  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๓๐ - ๑๐๐ ซม. มีใบขนาดเล็กปลายแลบ โคนใบแหลม ใบออกสลับกันสองข้างกิ่ง ดอกขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว ขาวอมเขียว ขาวอมม่วง ดอกออกตรงข้อหรือปลายยอด ออกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก ผลพริกมีรูปร่างหลายแบบและหลายขนาด ส่วนใหญ่จะมีรูปทรงยาว ปลายแหลม
                        โดยทั่วไป พริกใช้ทำเป็นอาหารได้ทั้งใบและผล          ๒๐/ ๑๒๘๙๓
                ๓๘๖๖. พริกไทย  เป็นพืชยืนต้นประเภทเถาไม้เลื้อยตระกูลเดียวกับดีปลี ช้าพลู สะค้าน และพลู ฯลฯ ใบเป็นประเภทเดี่ยวเกิดสลับตามข้อลำต้น และกิ่งแขนงรูปร่างคล้ายใบพลู ดอกเกิดตรงข้ามกับใบในส่วนของกิ่งแขนง เป็นช่อดอกแบบไม่มีก้านดอก หนึ่งช่อดอกมีดอกประมาณ ๑๕๐ ดอก ดอกมีขนาดเล็กมาก ผลออกเป็นช่อ แต่ละผลไม่มีก้านเกาะติดกันอยู่กับแกนกลางของช่อดอก มีรูปร่างกลม          ๒๐/ ๑๒๘๙๙
                ๓๘๖๗. พฤกษศาสตร์ ๑  เป็นวิชาหรือการศึกษาเกี่ยวกับพืช ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์กาล และพัฒนามาเป็นลำดับ         ๒๐/ ๑๒๙๐๔
                ๓๘๖๘. พฤกษศาสตร์ ๒  เป็นหลักสูตรการศึกษาหลักสูตรหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยเป็นการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ทางด้านชีวภาพโดยเน้นหนักในเรื่องสิ่งมีชีวิตที่จัดเป็นพืชชั้นต่ำ ไปจนถึงพืชชั้นสูง         ๒๐/ ๑๓๙๐๕
                ๓๘๖๙. พฤกษศาสตร์ ๓  เป็นหน่วยราชการระดับภาค หรือแผนกวิชาของทบวงมหาวิทยาลัย และหน่วยงานระดับงานของกระทรวงเกษตร ฯ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ของพันธุ์ไม้         ๒๐/ ๑๓๙๐๕
                ๓๘๗๐. พฤติกรรมนิยม  เป็นปรัชญาวิทยาศาสตร์แห่งพฤติกรรม มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาทำนาย และควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์         ๒๐/ ๑๓๙๐๖
                ๓๘๗๑. พฤหัสบดี - ดาว  เป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่สุด ในระบบสุริยะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๑ เท่าของโลก และมีมวลมากกว่าดาวเคราะห์ทุกดวงมารวมกัน อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ห้า โดยห่างประมาณห้าเท่าของระยะที่โลกอยู่ห่าง ดังนั้น พลังแสงแดดจึงมีเพียง ๑/๒๕ ของที่โลกได้รับ มีอุณหภูมิที่พื้นผิวต่ำ พื้นผิวมีน้ำแข็ง แอมโมเนียแข็งและมีเทนแข็ง ปกคลุมอย่างหนาทึบ องค์ประกอบของดาวพฤหัสบดีมีดาวบริวารสี่ดวง เรียงอยู่ในแนวที่ผ่านเส้นศูนย์สูตรของดาวพฤหัสบดี
                        การหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี พบว่าหมุนรอบตัวเองเร็วที่สุด บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรมีอัตราการหมุนรอบละ ๙ ชั่วโมง ๕๐ นาที ๓๐ วินาที การหมุนรอบตัวนี้ทำให้ดาวพฤหัสบดีโป่งออกแถบศูนย์สูตร และแบนที่ขั้วโลกเป็นอันมาก เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ ๒๐,๐๐๐ กม.
                        บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีแบ่งเป็นชั้นต่าง ๆ คล้ายบรรยากาศของโลก เว้นแต่ไม่มีระดับชั้นโอโซนเท่านั้น        ๒๐/ ๑๓๙๑๒
                ๓๘๗๒. พล  อำเภอ ขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีทุ่งและป่าเต็งรังเป็นพื้น          ๒๐/ ๑๒๙๒๑
                ๓๘๗๓. พลเทพ - เจ้าพระยา  เป็นราชทินนามขุนนาง จตุสดมภ์กรมนา หรือเกษตราธิบดี มีหน้าที่ว่าการไร่นาเพาะปลูก และการเก็บสรรพากรขนอนตลาด ในชั้นหลังมีหน้าที่ตรวจตราการทำไร่นา และออกหนังสือมอบที่นาที่เรียกว่า โฉนด จตุสดมภ์กรมนา จะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินได้เฉพาะที่นาเท่านั้น ที่สวนนั้น จตุสดมภ์กรมคลัง มีหน้าที่ให้กรรมสิทธิ์ ส่วนที่บ้านนั้น จตุสดมภ์กรมเวียง เป็นผู้ให้กรรมสิทธิ์
                        จตุสดมภ์กรมนา ยังมีหน้าที่เก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง เก็บสะสมไว้เพื่อเป็นเสบียงเลี้ยงกองทัพ ในงานพระราชสงคราม คำว่า หางข้าวนั้น หมายความว่า อากรค่านาที่ราษฎรทำได้เท่าใด ต้องแบ่งให้แก่หลวงตามจำนวนที่กำหนด ตามชนิดของนาได้ข้าวดีหรือไม่ดี ได้มากได้น้อย ตามที่ทางราชการกำหนด เช่น นาคู่โค หรือนางฟางลอย         ๒๐/ ๑๒๙๒๑
                ๓๘๗๔. พลวง ๑  เป็นไม้ยืนต้น อาจสูงถึง ๓๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ดอกสีขาว ออกเป็นช่อสั้น ๆ น้อยดอกตามง่ามใบ ผลมีปีกใหญ่ยาวสองปีก และเป็นรูปหูสั้น ๆ สามอันที่ปลายผล เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างชั่วคราว และตกแต่งภายใน          ๒๐/ ๑๒๙๒๕
                ๓๘๗๕. พลวง ๒  เป็นธาตุลำดับที่ ๕๑ ในธรรมชาติธาตุพลวงมีปรากฎอยู่ในหินอัคคี และในเปลือกโลก ทั้งในภาวะอิสระและในภาวะรวมตัวกับธาตุอื่น เป็นสารประกอบ
                        พลวง มีคุณสมบัติพิเศษคือ เมื่อนำไปหลอมละลายแล้ว ทิ้งให้เย็นจะขยายตัวมีปริมาตรโตขึ้น เมื่อแข็งตัวเช่นเดียวกับน้ำ เมื่อนำพลวงไปผสมกับโลหะอื่น ที่มีลักษณะอ่อน เช่น ดีบุก ตะกั่ว จะได้โลหะเจือที่มีความแข็งแกร่งทวีขึ้น         ๒๐/ ๑๒๙๒๖
                ๓๘๗๖. พลวง ๓ - ปลา  เป็นปลาที่มีความว่องไวมากชอบอยู่ตามน้ำตก หรือบริเวณที่น้ำไหลแรง และค่อนข้างเย็น ปลาพลวงมีลำตัวค่อนข้างเพรียวยาว แบนข้างเล็กน้อย หัวเล็ก
                ๓๘๗๗. พละศึกษา ๑  เป็นกระบวนการศึกษาแขนงหนึ่งจากสี่แขนง (พุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา) เชื่อกันว่าการพลศึกษาเกิดขึ้นมานานนับพันปี
                        ปัจจุบันชาติต่าง ๆ ได้ถือว่าพลศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการศึกษา ประเทศไทยเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า พลศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๒ โดยทางราชการได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านพลศึกษาขึ้น ณ บริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มีชื่อว่า โรงเรียนพลศึกษากลาง         ๒๐/ ๑๒๙๓๑
                ๓๘๗๘. พลศึกษา ๒  เป็นชื่อกรมหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการคือ กรมพลศึกษามีอำนาจหน้าที่ในการจัดและส่งเสริม ทางด้านพลศึกษากีฬา นันทนาการ สุขศึกษา ลูกเสือ อนุกาชาด การควบคุมความประพฤติ และงานผลิตครูพลศึกษา สุขศึกษา         ๒๐/ ๑๒๙๓๒
                ๓๘๗๙. พลอง - ต้น  เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๔ - ๒๕ เมตร ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามในระนาบเดียวกัน ดอกสีขาวหรือม่วงแดง ม่วงน้ำเงิน ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ และกิ่งแก่ ผลกลมหรือรี ขนาดเล็ก สีเขียวอ่อน หรืออมเหลือง         ๒๐/ ๑๒๙๓๒
                ๓๘๘๐. พลอย  เป็นคำทั่วไป หมายถึง แร่ที่มีสมบัติเด่นพิเศษภายในตัว เนื้อควรใสสามารถนำมาเจียระไนตกแต่ง แปลงรูปเป็นเครื่องประดับ บางครั้งหมายถึง สิ่งของที่มีความสวยงามภายในตัว เช่น อำพัน ปะการัง ไข่มุก หรือหินบางชนิด แม้กระทั่งของสังเคราะห์ ทำเทียมเลียนแบบของแท้ตามธรรมชาติ แล้วนำมาเจียระไน เป็นเครื่องประดับ เช่น พลอยกระจก ซึ่งทำมาจากแก้ว
                        พลอย โดยปรกติไม่หมายรวมถึง เพชร แต่เมื่อกล่าวถึงกลุ่มแร่ที่มีความสวยงามเหล่านั้น เรียกรวมกันว่า เพชรพลอย พลอยมีหลายชนิดมีหลากสีทั้งชนิดไร้สี จนถึงสีดำหรือหลายสีปะปนกัน ในก้อนเดียวก็ได้ นักวิชาการบางท่านอาจเรียกเพชร และพลอยที่ได้รับการตกแต่งเจียระไนเรียบร้อยแล้ว พร้อมจะนำมาเป็นเครื่องประดับว่า อัญมณี หรือรัตนชาติ          ๒๐/๑๒๙๓๕
                ๓๘๘๑. พลังงาน  หมายถึง ความสามารถของสิ่งใด ๆ ที่จะทำงานได้และเราวัดพลังงานของสิ่งนั้น ๆ ได้ด้วยปริมาณงานทั้งสิ้น ที่สิ่งนั้นสามารถจะทำได้
                        พลังงานอาจปรากฎอยู่ในแบบต่าง ๆ กัน เช่น พลังงานกล พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานแสง พลังงานเสียง พลังงานเคมี พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น แต่ละแบบของพลังงาน ก็มีวิธีการกำหนดหน่วย และวิธีการวัดค่าด้วยข้อกำหนด และมาตรฐานต่าง ๆ กัน พลังงานแบบหนึ่งสามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นพลังงานแบบอื่นได้ นี่คือ การแปลงพลังงาน
                        พลังงานเป็นสิ่งที่จะสร้างเป็นให้มีขึ้นไม่ได้ และย่อมไม่สูญหายไป แต่อาจจะแปรเปลี่ยนไปเป็นพลังงานแบบอื่นได้ ความจริงข้อนี้เรียกกันว่า หลักความถาวรของพลังงาน หลักนี้ได้ขยายออกไปเป็นรูปที่เราเรียกกันว่า หลักของมวล - พลังงาน
                        พลังงานแบบต่าง ๆ เมื่อประมวลเข้าด้วยกันจะจัดแบ่งออกได้เป็นสองชนิดคือ พลังงานจลน์ และพลังงานศักย์
                            ๑. พลังงานจลน์  พลังงานจลน์ของสิ่งใด ๆ นั้นมีอยู่เนื่องจากการเคลื่อนที่ของสิ่งนั้น เราวัดปริมาณได้ด้วยปริมาณงานที่สิ่งนั้น ต้องใช้เพื่อที่จะหยุดการเคลื่อนที่นั้น
                            ๒. พลังงานศักย์  พลังงานศักย์ของสิ่งใดๆ คือ พลังงานที่สิ่งนั้น ๆ มีอยู่เนื่องจากตำแหน่งที่อยู่ของมัน เราวัดปริมาณงานที่สิ่งนั้นกระทำได้ เมื่อเคลื่อนที่จากตำแหน่งที่อยู่ของมัน ไปยังตำแหน่งที่อยู่มาตรฐาน
                         พลังงานศักย์ เป็นพลังานที่แฝงอยู่ในเทหวัตถุ เป็นพลังงานที่พร้อมจะทำงานได้
                         โดยปรกติเราจะประสบกับการแปรเปลี่ยนสภาพกันระหว่างพลังงานจลน์ กับพลังงานศักย์อยู่เสมอ
                         ดวงอาทิตย์ เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานในธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุดซึ่งให้พลังงานโดยตรงแก่โลก ในลักษณะเป็นพลังงานความร้อนและพลังงานแสงเป็นส่วนใหญ่ พลังงานที่ได้รับนี้เป็นปัจจัยที่จำเป็น และสำคัญยิ่งยวดต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล          ๒๐/ ๑๒๙๓๙
                ๓๘๘๒. พลับ หรือมะพลับ  เป็นชื่อเรียกพรรรไม้ไทยสองชนิด ชนิดแรกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ยืนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ลำต้นเป็นพู ดอกสีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ผลกลม เมื่อสุกรสหวานบริโภคได้ ผลอ่อนใช้ย้อมแห อวน และเครื่องนุ่งห่ม ของชาวประมง
                        ชนิดที่สอง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร เรือยอดแตกกิ่งก้านสาขา เป็นพุ่มโปร่ง ลำต้นมักคองด ดอกสีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ผลกลม          ๒๐/ ๑๒๙๔๘
                ๓๘๘๓. พลับจีน  เป็นชื่อเรียกผลไม้ ที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ในรูปผลสดหรือผลแห้ง ได้จากพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๕ - ๑๐ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่ม ค่อนข้างโปร่ง ดอกสีขาว เหลือง ๆ ขนาดเล็ก ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ผลโคนกว้างสอบไปหาปลาย ค่อนข้างแบน รสหวาน         ๒๐/ ๑๒๙๕๑
                ๓๘๘๔. พลับพลึง  เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีหัวอยู่ในดินขึ้นเป็นกอ มีหน่อใหม่รอบ ๆ ต้นเดิม มีหลายชนิด พลับพลึงที่ปลูกกันทั่วไปตามบ้าน ลำต้นกลมสูงประมาณ ๕๐ ซม. (ไม่รวมใบ) ใบหนาอวบน้ำ ออกเวียนลำต้นรูปเรียวยาวปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ ดอกเป็นกระจุกมี ๑๒ - ๔๐ ดอก กลิ่นหอม กลีบดอกสีขาว
                        ใบพลับพลึง ใช้ย่างไฟให้ตายนึ่ง นำมาพันแก้ฟกช้ำ บวม เคล็ด ขัดยอก มีอัลคาลอยด์ ในหัวและราก          ๒๐/ ๑๒๙๕๑
                ๓๘๘๕. พลับพลึงดอกแดง  ลักษณะคล้ายพลับพลึงดอกขาว ต่างกันที่ลำต้นและใบ
                ๓๘๘๖. พลับพลึงธาร  เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่พบในเมืองไทยครั้งแรกที่ จ.ระยอง ลักษณะทั่วไปคล้ายพลับพลึงดอกขาวทุกประการ          ๒๐/ ๑๒๙๕๒
                ๓๘๘๗. พลับพลึงเล  ลักษณะทั่วไปคล้ายพลับพลึงขาว          ๒๐/ ๑๒๙๕๓
                ๓๘๘๘. พลาธิการ  มีบทนิยามว่า "หน่วยงานในกองทัพบก เรือ อากาศ และกรมตำรวจ มีหน้าที่ควบคุม การจัดที่พัก จัดเครื่องใช้ จัดอาหาร ฯลฯ (โบ) หัวหน้ากรมในกองทัพบกซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการนี้ "
                          พลาธิการทหารบก  เป็นชื่อกรมหนึ่งในกองทัพบก ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ โดยกระทรวงกลาโหมได้ยุบเลิก กรมยกระบัตรทหารบก กรมเกียกกายทหารบก และกรมสรรพยุทธ แล้วจัดตั้ง กรมพลาธิการทหารบกขึ้น มีหน้าที่จัดซื้อ สร้าง ซ่อมอาวุธ เก็บรักษาและแจกจ่ายครุภัณฑ์ เครื่องใช้ในสำนักงาน ยานพาหนะ อาคารโรงเรือนต่าง ๆ มีหน่วยขึ้นตรงสี่หน่วยคือ กรมช่างแสงทหารบก กรมช่างยุทธภัณฑ์ทหารบก กรมยกกระบัตรทหารบก และกรมยุทธโยธาทหารบก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๓ มีหน่วยขึ้นตรงเพิ่มขึ้นคือ กรมปลัดบัญชีทหารบก และแผนกเสบียงสัตว์
                        ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ยุบกรมพลาธิการทหารบก แล้วจัดตั้งกรมยกกระบัตรทหารบก และกรมช่างแสงทหารบก เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก
                        และได้มีการปรับปรุงการจัดในปี พ.ศ.๒๔๗๗, ๒๔๗๘, ๒๔๘๐, ๒๔๘๓, ๒๔๘๔, ๒๔๘๖, ๒๔๘๘ และ ๒๔๙๑
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้มีการปรับปรุงการจัดหน่วยขึ้นใหม่ โดยถือเอาแบบอย่างการจัดหน่วยทหารของสหรัฐอเมริกา เป็นแนวทาง
                        พลาธิการทหารเรือ  มีความหมายแบ่งออกได้เป็นสองประการคือ ประการแรก หมายถึง ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมพลาธิการทหารเรือ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น เจ้ากรมพลาธิการทหารเรือ ประการที่สอง ใช้รวมกับคำว่า กรม เป็น กรมพลาธิการทหารเรือ
                          คำว่า พลาธิการทหารเรือ มาจากคำที่เคยใช้กันอยู่แต่เดิมคือ ยกกระบัตร ซึ่งหมายถึง เจ้าหน้าที่ในการจัดหาเครื่องใช้ของทหาร กับคำว่า เกียกกาย ซึ่งหมายถึง การจัดการเกี่ยวกับการเลี้ยงดูทหาร การเสบียง ภาชนะ การสหโภชน์
                          พลาธิการทหารอากาศ  เป็นชื่อกรม กรมหนึ่งในกองทัพอากาศ มีประวัติความเป็นมาคือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ กระทรวงกลาโหมได้เริ่มวางรากฐานการบินขึ้นเป็นครั้งแรก ในประเทศไทยมีฐานะเป็นแผนกการบินกิจการพลาธิการทหารอากาศ ก็ได้เริ่มมาพร้อมกัน โดยเป็นแขนงงานเล็ก ๆ น้อย ๆ)
                        ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ กรมอากาศยาน ได้ยกฐานะเป็นกองทัพอากาศ กิจการพลาธิการมีชื่อในขณะนั้นว่า สมุหบัญชีกรมอากาศยานทหารบก ก็เปลี่ยนชื่อเป็น สมุหบัญชีกองทัพอากาศ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกพลาธิการทหารอากาศ และในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้ยกฐานะเป็น กรมพลาธิการทหารอากาศ
                        พลาธิการตำรวจ  เริ่มใช้คำนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๑ การที่เรียกชื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัสดุ โดยตรงว่า พลาธิการตำรวจ ก็เพื่อให้เหมือนกับการเรียกชื่อหน่วยงานของสามเหล่าทัพ ที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน
                        พลาธิการตำรวจ จัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับกอง ขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑         ๒๐/ ๑๒๙๕๓
                ๓๘๘๙. พลาสติก  มาจากคำในภาษากรีก ซึ่งแปลว่า ทำให้เป็นรูปร่างได้ ในปัจจุบันพลาสติกมีความหมายว่า เป็นสารอินทรีย์สังเคราะห์ ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น ซึ่งในขณะที่กำลังอยู่ในกรรมวิธีสังเคราะห์ และยังร้อนอยู่จะมีลักษณะเป็นของเหลวข้น สามารถนำไปหล่อหรืออัด ในแบบให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ หรืออัดฉีดให้เป็นเส้นมีขนาดต่าง ๆ กันได้ เมื่อปล่อยให้เย็นลง จะแข็งตัวคงรูปร่างอยู่ได้
                        พลาสติก เป็นสารประเภทพอลิเมอร์ ที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่มาก ซึ่งประกอบด้วยสารย่อยที่เรียกว่า มอนอเมอร์ ชนิดที่มีโมเลกุลขนาดเล็กจำนวนมาก มาเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องเข้าด้วยกัน
                        พลาสติก เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวัน และในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมากมาย เหลือที่คณานับ และจะยิ่งมีบทบาทสำคัญทวียิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะก็คือ พลาสติกชนิที่มีสมบัติแข็งแรง ทุนทานต่อการสึกกร่อนยิ่งกว่าโลหะหลายชนิด
                        ในปี พ.ศ.๒๔๑๒ ได้มีผู้ค้นพบพลาสติกชนิดหนึ่ง เรียกโดยทั่วไปว่า เซลลูลอยด์  ได้มีผู้นำไปทำลูกบิลเลียด หัวและฟิล์มถ่ายรูป
                        ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ มีผู้ค้นพบและสังเคราะห์พอลิเมอร์ ชนิดซูเปอร์พอลิเมอร์ได้สำเร็จ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ไนลอน จากนั้น ก็ได้นำวิธีการสังเคราะห์ไปประยุกต์ เพื่อผลิตพลาสติกชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์มากมาย
                        หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการค้นคว้าและสังเคราะห์มอนอเมอร์ ขึ้นได้มากชนิด
                        ในบรรดาพลาสติกชนิดต่าง ๆทั้งหมดนั้น จัดแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ
                        ๑. เทอร์โมพลาสติก คือ พลาสติกประเภทที่เมื่อทำสำเร็จรูปแล้ว ทิ้งให้เย็นก็จะแข็งตัวคงรูปร่างอยู่ได้ และถ้าทำให้ร้อนก็จะอ่อนตัวที่สุด จะเป็นของเหลวข้นหนืด ซึ่งนำไปหล่อ อัดหรือรีด ให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้อีก พลาสติกประเภทนี้มีหลายชนิด เช่น ไนลอน
                        ๒. เทอร์โมเซตติงพลาสติก คือ พลาสติกประเภทที่เมื่อทำสำเร็จรูปแล้ว ทิ้งให้เย็นก็จะแข็งตัวคงรูปร่างได้อย่างถาวร และถ้าให้ความร้อนสูงก็จะไม่อ่อนตัวอีกเลย
                        โดยที่พลาสติกเป็นสารที่เสื่อมสลายและแปรสภาพไปได้ยาก จึงเป็นปัญหายุ่งยากมาก ในการทำลาย          ๒๐/ ๑๒๙๗๔
                ๓๘๙๐. พลำภัง - กรม  เป็นส่วนราชการในอดีต มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับหัวเมือง มีผู้สันนิษฐานว่า กรมนี้เห็นจะตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา มีหน้าที่เกี่ยวกับปืนใหญ่ ผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล มักเป็นเจ้ากรมนี้มาก่อน กรมพลำภังในอดีตคือ กรมการปกครองในปัจจุบัน
                        เมื่อแรกตั้งกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ กระทรวงมหาดไทยแบ่งออกเป็นกรมใหญ่สามกรมคือ กรมมหาดไทยกลาง กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ และกรมพลำภัง ในสมัยนั้น กระทรวงกลาโหมก็แบ่งออกเป็นกรมใหญ่ ๆ มีชื่อเรียกด้วยกันคือ กรมกลาโหมกลาง  กรมกลาโหมฝ่ายเหนือ และกรมพลำภัง
                        ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เปลี่ยนชื่อ กรมพลำภัง เป็นกรมการปกครองบ้าง กรมพลำภังบ้าง สลับกันอยู่หลายครั้ง และได้มีการปรับปรุงแก้ไขส่วนราชการภายในกรมอยู่เสมอตลอดมา ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๗๖ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมมหาดไทย จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๕ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมปกครอง           ๒๐/ ๑๒๙๘๔
                ๓๘๙๑. พลิกหิน - นก  เป็นที่ย้ายถิ่นมาจากประเทศแถบหนาวเหนือ ตั้งแต่ปลายฤดูฝน ชอบหากินตามดินชายเลนริมทะเล โดยใช้ปากอันสั้น พลิกก้อนกรวด ก้อนหินหรือเศษไม้เล็ก ๆ เพื่อจิกสัตว์เล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ก้อนกรวด ก้อนหิน เหล่านั้นมากิน นกชนิดนี้ที่หัวมีสีขาว มีลายดำที่หน้า ข้างคอและอก บนหลังสีน้ำตาล เวลาบินจะเห็นแถบขาวสองแถบบนปีก และแถบขาว ๆ บนตะโพก ปลายหางมีแถบดำ พอถึงเดือนเมษายน ก็พากันบินย้ายถิ่นกลับไป ผสมพันธุ์วางไข่ทางประเทศหนาวเหนือ เช่นนี้ทุกปี         ๒๐/ ๑๒๙๘๙
                ๓๘๙๒. พลุ  มีบทนิยามว่า "ดอกไม้เพลิงชนิดหนึ่ง บรรจุดินปืนในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อจุดมีเสียงระเบิดคล้ายเสียงปืน โดยอนุโลมเรียกดอกไม้เพลิง อย่างอื่นที่จุดมีเสียงระเบิดดังเช่นนั้นว่า พลุ"  ดังนั้น พลุในที่นี้จะกล่าวถึงดอกไม้เพลิงชนิดที่จุด แล้วที่เสียงระเบิดดังเท่านั้น
                        พลุ มีกำเนิดมานานนับเป็นพันปีแล้ว สันนิษฐานว่า จีนเป็นชาติแรก ที่คิดค้นพลุขึ้นใช้ในงานพิธีทางศาสนาและอื่น ๆ เริ่มจากทำประทัดแล้วจุดในงานพิธีมงคล บางคนเชื่อว่าพลุมีจุดกำเนิดในประเทศอินเดีย แล้วแผ่ขยายมาทางซีกโลกตะวันออก ต่อมามีผู้นำพลุไปในประเทศอาหรับและยุโรป         ๒๐/ ๑๒๙๘๙
                ๓๘๙๓. พลู - ไม้เถา  เป็นพรรณไม้เถาที่มีปลูกทั่วไปในเขตร้อน เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นเกลี้ยง เลื้อยพันต้นไม้อื่น ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปไข่โคนใบรูปหัวใจ ใบมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ด ดอกสีขาวออกเป็นช่อแน่นบนแกนยาวเป็นช่อ ผลเป็นผลสด มีเนื้อนุ่ม ค่อนข้างกลม
                        ใบพลูผสมกับปูน และหมากใช้เคี้ยว ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด จึงใช้ทำเป็นยาอม กลั้วคอแก้เจ็บคอ และทำให้ลมหายใจมีกลิ่นหอม  นิยมใช้ใบพลูขยี้ผสมกับเหล้าโรง ทาผิวหนังเมื่อมีอาการคัน เนื่องจากลมพิษ นอกจากนี้ใบพลูยังเป็นยากระตุ้นน้ำลาย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้ปวดท้อง ปวดท้องเพราะพยาธิ         ๒๐/ ๑๒๙๙๙
                ๓๘๙๔. พลูแก  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะฟอร์โมซา และญี่ปุ่น เป็นไม้ล้มลุก มีหัวในดิน ต้นสูงประมาณ ๕๐ ซม. ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นคาวปลา ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปไข่โคนใบรูปหัวใจกึ่งรูปไต ดอกเล็กออกเป็นช่อ ผลค่อนข้างกลม
                        พลูแก เป็นยาสมุนไพรคือ ทั้งต้นใช้ในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ส่วนบนฝีหนองในปอด ปอดบวม ไข้มาลาเรีย โรคบิด ขับปัสสาวะ ลดการบวมน้ำ นิ่ง ขับระดูขาว ริดสีดวงทวาร โรคผิวหนัง ผื่นคัน ฝี แผลเปื่อย เป็นยาพอกในรายกระดูกหัก ใช้ใบแก้บิด หัด หนองใน รากขับปัสสาวะ กินเป็นผัก          ๒๐/ ๑๓๐๐๐

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch