หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/104
    ๓๘๓๗. พระเครื่อง  เป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ที่นับถือกันว่าเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันอันตรายนานาประการ เข้าใจว่าย่อมาจากพระเครื่องราง เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก ซึ่งพกติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก ถือกันว่าเป็นสิริมงคลเป็นมหานิยมคุ้มกันให้แคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ ทั้งให้ประสบโชคลาภความสำเร็จในกิจการทั้งมวล เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้มั่นคงอยู่ในธรรมของพระพุทธศาสนา
                        พระเครื่องรางที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณมีพระภควัน หรือพระมหาอุจ ปิดทวาร พระกริ่ง พระพุทธรูปหล่อ พระพุทธรูปดินเผา และพระผงชนิดแกร่ง แบ่งออกเป็นสี่ประเภทคือ พระเครื่องชนิดพระพุทธรูปขนาดเล็ก พระเครื่องชนิดพระพิมพ์ พระเครื่องชนิดพระกริ่ง และพระเครื่องชนิดเหรียญ         ๒๐/ ๑๒๘๐๗
                ๓๘๓๘. พระตะบอง  เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศกัมพูชาเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของกัมพูชา และเป็นเมืองหลวงของมณฑลพระตะบอง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำพระตะบอง อยู่ใกล้แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของกัมพูชาคือ บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบ จึงเป็นตลาดค้าข้าวที่สำคัญ ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟ ซึ่งเชื่อมเมืองปราสาทของกัมพูชา กับแนวพรมแดนไทย - กัมพูชา
                        พระตะบองเคยเป็นดินแดนของไทยมาก่อนตั้งแต่สมัยอยุธยา และพ้นอำนาจการปกครองของไทยไปเป็นครั้งคราว
                        ในปี พ.ศ.๒๔๐๖ กัมพูชาตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสแต่ฝรั่งเศสยังยอมรับว่าพระตะบองยังเป็นของไทยอยู่ ครั้งถึงปี พ.ศ.๒๔๑๐ ไทยต้องรับรองว่ากัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเขมรนอกหรือดินแดนส่วนใหญ่ของเขมรส่วนพระตะบองยังเป็นของไทย ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๔๙ ไทยต้องโอนพระตะบองเสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส
                        ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ไทยกับฝรั่งเศสได้เปิดเจรจา เพื่อทำสนธิสัญญาไม่รุกรานต่อกัน และไทยได้เสนอขอให้มีการกำหนดแนวพรมแดนในลำน้ำโขงเสียใหม่ ซึ่งไทยกับฝรั่งเศสไม่สามารถตกลงกันได้ กลายเป็นกรณีพิพาทอินโดจีน เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ ญี่ปุ่นได้เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย จนไทยกับฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพกัน ไทยลงนามในอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๓ ไทยได้รับดินแดนที่เสียแก่ฝรั่งเศสส่วนหนึ่งคืนมา รวมพระตะบองด้วย
                        ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ไทยขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ฝรั่งเศสได้คัดค้านโดยกล่าวว่าฝรั่งเศสยังถือว่าอยู่ในสถานะสงครามกับไทย ถ้าไทยไม่คนดินแดนที่ได้มา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ให้ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสไม่สามารถสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกของไทย ไทยจึงต้องยอมคืนดินแดนส่วนนั้นให้แก่ฝรั่งเศสไป         ๒๐/ ๑๒๘๑๓
                ๓๘๓๙. พระตะบอง - กล้วยไม้  ในที่นี้หมายถึงหวายมาดามปอมปาดัวร์ แรกเริ่มการปลูกนั้น เมื่อสั่งต้นมาจากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาใหม่ ส่วนใหญ่ก็แบ่งกันไปปลูก เมื่อกล้วยไม้ออกดอกที่ผู้ใดก็เป็นชื่อต้นของผู้นั้น พระตะบองมีบรรดาศักดิ์ว่าพระตะบะฤทธิรงค์         ๒๐/ ๑๒๘๑๕
                ๓๘๔๐. พระนคร ๑  เดิมเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาห่างจากปากน้ำขึ้นไปทางเหนือ ๒๕ กม. มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.นนทบุรี และจ.ปทุมธานี ทิศตะวันออกจด จ.ฉะเชิงเทรา ทิศใต้จด จ.สมุทรปราการ ทิศตะวันตกจด จ.ธนบุรี เป็นที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศไทย
                        พระนครเรียกกันว่ากรุงเทพ ฯ แต่ในหมู่ชาวต่างประเทศเรียกว่า บางกอก ตามที่ชาวต่างประเทศเรียกเมืองธนบุรีมาแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ
                        พระนครนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ แทนกรุงธนบุรี
                        ในปัจจุบันเมื่อได้จัดการปกครองในรูปพิเศษเรียกว่าการปกครองท้องถิ่นนครหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รวม จ.พระนคร และจ.ธนบุรีเข้าด้วยกันเรียกว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้ปรับปรุงการปกครองใหม่และเรียกว่า กรุงเทพมหานคร โดยรวมราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน มีฐานะเป็นจังหวัดตามกฎหมาย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้ปรับปรุงเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง         ๒๐/ ๑๒๘๑๖
                ๓๘๔๑. พระนคร ๒  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เขตพระนครเดิมเป็น อ.พระนคร เดิมชื่อ อ.ชนะสงคราม ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ รวม อ.พาหุรัด อ.ชนะสงคราม และกิ่งอำเภอพระราชวังเข้าเป็น อ.พระนคร         ๒๐/ ๑๒๘๒๔
                ๓๘๔๒. พระนครศรีอยุธยา ๑  จังหวัดภาคกลางมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ลพบุรี  จ.อ่างทอง และจ.สระบุรี ทิศตะวันออกจด จ.สระบุรี ทิศใต้จด จ.ปทุมธานี และจ.นนทบุรี ทิศตะวันตกจด จ.สุพรรณบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มโดยมาก ไม่มีภูเขามีแม่น้ำลำคลองมากถึงหน้าน้ำ น้ำท่วมทุกปี เหมาะแก่การเพาะปลูก
                        กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นราชธานีของประเทศไทยมาตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงประดิษฐานขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ มาจนถึงเสียกรุงแก่พม่า เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ รวมเวลา ๔๑๗ ปี
                        ในระยะเวลาที่เป็นราชธานีได้ถูกข้าศึกมาประชิดพระนครหกครั้ง
                         ครั้งแรก  เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ พระเจ้าหงสาวดี ตะเบงชะเวตี้ยกเข้ามาตั้งที่ จ.ทุ่งลุมพลี คราวนี้ที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้าง
                         ครั้งที่สอง  เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขอช้างเผือกไม่ได้จึงยกทัพมาตี ฝ่ายไทยออกตั้งป้อมรับข้าศึกนอกเมืองสี่ด้าน คือที่ทุ่งลุมพลีที่ป้อมบ้านดอกไม้หันตรา ที่ป้อมท้ายคู และที่ป้อมจำปาพล ฝ่ายไทยยอมเป็นไมตรีโดยแบ่งช้างเผือกให้ และยอมให้พระราเมศวรไปอยู่หงสาวดี
                         ครั้งที่สาม  เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๑ - ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกมาตั้งประชิดพระนครทุกด้าน ทั้งทัพพม่า และทัพของเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับพม่ามีตองอู เมาะตะมะ อังวะ ไทยใหญ่ เชียงใหม่ แปร คราวนี้พระมหินทราธิราชทรงยอมแพ้เสียกรุงแก่พม่า
                         ครั้งที่สี่  ในปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระบรมราชาพระยาละแวกเห็นว่าไทยหย่อมกำลังลงมาก จึงแต่กองทัพมาตีกรุงศรอยุธยา แต่พระมหาธรรมราชาทรงต่อสู้ และขับไล่เขมรไปได้
                         ครั้งที่ห้า  ในปี พ.ศ.๒๓๐๓ พระเจ้าอลองพญาได้มาตีกรุงศรีอยุธยาแต่เผอิญถูกปืนใหญ่ระเบิดบาดเจ็บสาหัสต้องล่าทัพกลับไป
                         ครั้งที่หก  ในปี พ.ศ.๒๓๐๙ - ๒๓๑๐ พม่าให้กองทัพในบังคับบัญชาของเนเมียวสีหบดีกับมังมหานรธามาตั้งล้อมกรุง พม่าเผากำแพงทะลายลงจึงเข้ากรุงได้ แล้วเผากรุงศรีอยุธยาไหม้หมด         ๒๐/ ๑๒๘๒๕
                ๓๘๔๓. พระนครศรีอยุธยา ๒  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาและทำประมง
                        ประวัติ อ.พระนครศรีอยุธยามีว่า ท้องที่นอกกำแพงพระนครเรียกว่าแขวงทั้งสี่ แขวงรอบกรุงว่าการเฉพาะแต่ในเกาะกรุงเท่านั้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้ตัดเอาแขวงนคร แขวงเสนา แขวงอุทัยที่อยู่ใกล้กรุงยกเป็นเขตแขวงรอบกรุง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.กรุงเก่า และในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พระนครศรีอยุธยา
                        โบราณสถานที่สำคัญของอำเภอนี้ได้แก่
                        ๑. ป้อมเพชร  เป็นป้อมสำคัญทางทิศใต้อยู่ที่ปากน้ำบางกะจะ สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์  เมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๙๒
                        ๒. ถนนรอบกรุง  คือ ฐานกำแพงเมือง ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ พระยาไชยวิชิตได้เกลื่อนลงทำถนน
                        ๓. วัดพนัญเชิง  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๘๖๗ ได้ซ่อมในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ฯ ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระเจ้าพนัญเชิงใหม่หมดทั้งองค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๗ แล้วถวายพระนามว่าพระพุทธไตรรัตนนายก
                        ๔. วัดสุวรรณดาราราม  เดิมเรียกกันว่า วัดทอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาใหม่พระราชทานนามว่าวัดสุวรรณดาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดให้สร้างเจดีย์วิหารเพิ่มเติมพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุวรรณดาราราม
                         ๕. วังจันทรเกษม เดิมสมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ทรงสร้างให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ฯ เวลาเสด็จลงมาจากเมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๕ ครั้งกรุงเก่าเสียแก่พม่าครั้งที่สอง วังแห่งนี้ถูกทำลายรกร้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วังนี้ขึ้นใหม่ เวลานี้เป็นเรือนจำจังหวัดในกำแพงวังมีพระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างตามแนวผังเดิม เคยเป็นศาลากลางจังหวัด มุมวังด้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอสูงสร้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ริมประตูทางเข้ามีศาลาจัตุรมุขเป็นที่ต้งพิพิธภัณฑสถาน
                         ๖. วัดขุนแสน  สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ แต่ยังค้าง อยู่เวลานี้ยังคงเป็นวัดร้าง
                         ๗. ป้อมประตูข้าวเปลือก  ตั้งอยู่สองฝั่งคลองประตูข้าวเปลือก
                         ๘. วัดราชประดิษฐาน  เป็นวัดที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงผนวชก่อนขึ้นครองราชย์และกรมขุนพรพินิจ (ขุนหลวงหาวัด) ได้มาประทับขณะเมื่อทรงผนวช
                         ๙. วัดหน้าพระเมรุ  ตั้งอยู่ริมคลองสระบัว มีพระพุทธรูปสำคัญทรงเครื่องต้นอยู่ในพระอุโบสถกับพระพุทธรูปศิลาประทับห้อยพระบาท
    เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอยู่ในพระวิหาร
                         ๑๐. วัดธรรมิกราช  สร้างก่อนสมัยสร้างกรุงศรีอยุธยาได้พบพระเศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทองขนาดใหญ่ที่วัดนี้
                         ๑๑. วัดราชบูรณะ  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สองทรงสร้างในที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพเจ้าอายี่ และเจ้ายี่พระยา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๗
                          ๑๒. พระเจดีย์ที่เจ้าอายี่พระยากับเจ้ายี่พระยา กระทำยุทธหัตถีสิ้นพระชนม์ทั้งสององค์ที่ ต.ป่าด่าน
                          ๑๓. วัดพระมหาธาตุ  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่งทรงสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๗ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ทรงให้พระมหาเถรคันฉ่องสถิตอยู่วัดนี้
                          ๑๔. วัดพระราม  สร้างขึ้นในที่ถวายพระเพลิง พระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒
                          ๑๕. วัดพระศรีสรรเพชญ์  เดิมเป็นพระราชวังสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง ทรงสร้างแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ถึงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงยกพระราชวังอุทิสให้เป็นวัด
                          ๑๖. พระเจดีย์  ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ สามองค์ จากตะวันออกไปตะวันตกบรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมโตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สาม และสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง
                          ๑๗. พระมงคลบพิตร  เป็นพระพุทธรูปบุทองสำริด สร้างสมัยอยุธยา อยู่ข้างวัดพระศรีสรรเพชญ์
                          ๑๘. พระเจดีย์สุริโยทัย  ตั้งอยู่ที่วัดสบสวรรค์
                          ๑๙. วัดไชยวัฒนาราม  อยู่ริมฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้วัดสบสวรรค์ พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างในที่บ้านพระพันปีหลวง
                          ๒๐. วัดพุทไธสวรรค์  สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้าง ณ ที่ ต.เวียงเหล็ก ซึ่งเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จมาสร้างกรุงศรีอยุธยา
                          ๒๑. วัดเจ้าพระยาไทย  อยู่นอกพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระเจ้าอู่ทองสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ และโปรดให้พระสงฆ์ ซึ่งบวชเรียนในสำนักพระวันรัตมหาเถระ ในลังกาทวีปซึ่งเรียกว่า "คณะป่าแก้ว" อยู่ที่วัดนี้ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ โปรดให้สร้างเจดีย์ใหญ่ เพื่อเฉลิมชัยชนะของพระองค์ ที่ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราช แห่งพม่า และพระราชทานนามว่า เจดีย์ชัยมงคล ราษฎรจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดใหญ่ชัยมงคล
                ๓๘๔๔. พระประแดง  อำเภอ ขึ้น จ.สมุทรปราการ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มต่ำ เหมาะแก่การทำสวน
                        อ.พระประแดง คงจะเป็นเมืองมาแต่ต้นสมัยอยุธยา เพราะปรากฎว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง ให้ขุดคลองสำโรงขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ ได้เทวรูปสำริดโบราณ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ปลูกศาลไว้ที่เมืองพระประแดง
                        เมืองพระประแดง น่าจะร้างในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๗ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้เป็นแม่กองเสด็จลงไปทำเมืองขึ้นที่ปากลัด ได้รับพระราชทานชื่อว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ ให้ย้ายครัวมอญปทุมธานี พวกพระยาเจ่ง มีจำนวนชายฉกรรจ์ ๓๐๐ คน ลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองนี้ แล้วโปรดตั้ง สมิงทอมา บุตรพระยาเจ่งเป็น พระยานครเขื่อนขันธ์ ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ เปลี่ยนเป็นจังหวัดพระประแดง ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ยุบเป็นอำเภอ ขึ้น จ.สมุทรปราการ         ๒๐/ ๑๒๘๓๖
                ๓๘๔๕. พระพุทธเจ้า  คือ พระผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือพระผู้ตรัสรู้อนุตรธรรมจักร หรือพระผู้ตรัสรู้อริยสัจสี่ (หรือผู้ตรัสรู้วิชชาสาม - เพิ่มเติม)
                        พระพุทธเจ้ามีสามประเภทคือ
                            ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตรัสรู้พระอนุตรธรรมแล้ว ทรงแสดงธรรมนั้นแก่มหาชนทั่วไป ยังโลกนี้และโลกอื่น ให้สว่างไสว แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน
                            ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า  ตรัสรู้อนุตรธรรมเฉพาะตัว สั่งสอนคนอื่นไม่ได้
                            ๓. พระอนุพุทธเจ้า  ตรัสรู้พระอนุตรธรรม ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า นำพระธรรมของพระพุทธเจ้า ออกเผยให้แพร่หลายจนถึงปัจจุบัน และสืบต่อไปในอนาคต
                        พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสามประเภทคือ
                            ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นปัญญาธิกะ ยิ่งด้วยปัญญา เช่น พระสักยมุนีโคดม พระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา
                            ๒. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นสัทธาธิกะ ยิ่งด้วยศรัทธา เช่น พระทีปังกรพุทธเจ้า
                            ๓. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นวิริยาธิกะ ยิ่งด้วยความเพียร เช่น พระศรีอริยเมตไตร ซึ่งจะมาตรัสรู้ภายหน้าต่อจากพระสักยมุนี พระพุทธเจ้าของเรา
                        ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องปรารถนา และบำเพ็ญพุทธการธรรมตามขั้นตอนคือ ต้องมีอัฐธรรมสโมธาน แปดประการคือ
                            ๑. ต้องเป็นคนผู้ชายโดยปรกติ
                            ๒. ต้องมีเพศสมบูรณ์ไม่เป็นหมัน
                            ๓. สมบูรณ์ด้วยเหตุคือ สามารถจะบรรลุอรหัตผลได้ในชาตินั้น
                            ๔. ได้พบพระพุทธเจ้า ผู้ยังทรงพระชนม์อยู่ และได้แสดงความปรารถนา
                            ๕. ได้บวชบำเพ็ญเพียรบรรลุอภิญญา และสมาบัติ
                            ๖. สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีฌาน และสมาบัติ เป็นต้น
                            ๗. ต้องบริจาคอันยิ่งใหญ่ เช่น บริจาคชีวิตของตนถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
                            ๘. ต้องตั้งใจจริงแน่วแน่
                        ต่อจากนี้ได้บำเพ็ญพุทธการธรรมอย่างอื่นต่อไปจนเต็มความรู้ ความสามารถเมื่อตรวจพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบแล้ว ย่อมเห็นบารมี ๓๐ ทัศ มี ทารบารมี ทานอุปบารมี  ทานปรมัตถบารมี เป็นต้น มีอุเบกขาบารมี อุเบกขาอุปบารมี อุเบกขาปรมัตถบารมี เป็นต้น
                        พระพุทธเจ้าที่มีมาแล้วในอดีต ในคัมภีร์ชาติกัฎฐกถา ปฐมภาค มี ๒๕ องค์ จากพระทีปังกรพุทธเจ้า ถึงพระโคดมพุทธเจ้า         ๒๐/ ๑๒๘๓๘
                ๓๘๔๖. พระภูมิ  (ดู เจ้าที่ - ลำดับที่ ๑๕๒๗)         ๒๐/ ๑๒๘๔๑
                ๓๘๔๗. พระร่วง  เป็นนามของราชวงศ์ที่ครองกรุงสุโขทัย และพระนามของกษัตริย์ที่ครองกรุงสุโขทัย
                        ราชวงศ์สุโขทัย หรือราชวงศ์พระร่วง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงสถาปนาขึ้นในระยะ พ.ศ.๑๗๑๘ - ๑๘๐๐ ราชวงศ์สุโขทัยได้ครองราชย์สืบต่อมา จนถึงพระมหาธรรมราชาที่สี่ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.๑๙๘๑ กรุงสุโขทัยได้กลายเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๑ ราชธานีของกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัย ได้ย้ายมาตั้งที่เมืองพิษณุโลก ราชวงศ์นี้ได้สร้างความเจริญแก่ชนชาติไทยหลายอย่าง เป็นการวางพื้นฐานให้แก่กรุงศรีอยุธยาในการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนาและสังคม เช่น ทรงริเริ่มใช้ลายสือไทย ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงส่งเสริมการค้าเสรี สร้างถนนพระร่วง
                        พ่อขุนรามคำแหง ทรงสร้างความรุ่งเรืองให้แก่กรุงสุโขทัย ด้วยเหตุว่าทรงเป็นนักปราชญ์ นักปกครอง นักการทหาร นักเศรษฐกิจ และนักการทูต ทรงแบ่งเมืองต่าง ๆ ออกไปเป็นสามชั้นคือ
                            ๑. หัวเมืองชั้นใน อยู่รอบกรุงสุโขทัยราชธานี
                            ๒. หัวเมืองชั้นนอก เรียกกันว่า เมืองพระยามหานคร แต่ละเมืองมีเมืองขึ้นใหญ่บ้าง เล็กบ้าง
                            ๓. หัวเมืองประเทศราช
                        พ่อขุนรามคำแหง ทรงแผ่อาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับอาณาเขตลานนา ที่เมืองลำปาง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตคลุมถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว (อ.ปัว ใน จ.น่าน ปัจจุบัน) และหลวงพระบาง ทางทิศตะวันออกมีอาณาเขตไปถึงฝั่งแม่น้ำโขง จนถึงเวียงจันทน์ และเวียงคำ ทางทิศใต้ได้ปกครองเมืองพระบาง (นครสวรรค์)  ลงไปถึงเมืองสุพรรณบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ตลอดปลายแหลมมลายู ทางทิศตะวันตกแผ่ไปถึงเมืองตะนาวศรี ทวาย เมืองฉอด และเมืองหงสาวดี
                ๓๘๔๘. พระราม - วัด  เป็นวัดร้าง มีอายุกว่า ๕๐๐ ปี ตั้งอยู่นอกบริเวณพระราชวังโบราณ อยู่ริมบึงพระราม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงให้สร้าง ณ ที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๒         ๒๐/ ๑๒๘๔๖
                ๓๘๔๙. พระลอ  (ดู เพื่อนและแพง - ลำดับที่ ๔๐๓๔, ๔๐๓๕)         ๒๐/ ๑๒๘๕๑
                ๓๘๕๐. พระลือ  เป็นพระนามพระพุทธปฎิมากร ฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ในราชวงศ์สุโขทัย เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ ปางห้ามสมุทร พระเศียรสวมพระมาลา ทำเป็นจอม ขึ้นไปคล้ายฝาละมี
                        พระลือ เป็นนามเดียวกันกับ พระเจ้าลือไทย พระองค์ได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ เป็น พระมหาธรรมราชาธิราช          ๒๐/ ๑๒๘๕๑
                ๓๘๕๑. พระวิหาร - ปราสาท  ตั้งอยู่บนทิวเขาดงรัก ซึ่งกั้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศกัมพูชา กับภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย เป็นศาสนสถานขอม สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ มีประตูซุ้ม (โคปุระ) และบันไดศิลาเดินขึ้นไปยังศาสนสถานหลังกลาง ซึ่งเป็นเทวาลัยที่สร้างถวายพระอิศวร มีอายุเก่าแก่กว่าปราสาทนครวัด ในประเทศกัมพูชา และยังคงอยู่ค่อนข้างดี
                        ปราสาทเขาพระวิหาร ประกอบด้วยประตูซุ้ม และบันไดขึ้นบนลาดเขาไปยังเทวาลัยที่อยู่ปลายสุด ทางเดินนี้ค่อนข้างแคบและยาวมาก ตั้งต้นจากลาดเขาทางทิศเหนือ ไปยังยอดเขาทางทิศใต้ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๖๕๗ เมตร ความยาวของทางเดิน ๘๖๖.๕ เมตร
                        ปราสาทพระวิหารนี้ คงสร้างขึ้นเพื่อดินแดนเขมรสูง ซึ่งปัจจุบันเป็นจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ โดยปรกติปราสาทขอมมักหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสมอ แต่ปราสาทเขาพระวิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือ ก็เพื่อต้อนรับประชาชนที่มาจากดินแดนเขมรสูงในขณะนั้น สระใหญ่คือ สระตราว ก็สร้างขึ้นทางทิศเหนือ ไม่ห่างจากเชิงปราสาทพระวิหารนัก เพื่อให้ประชาชนที่มาจากทางทิศเหนือสามารถใช้น้ำได้         ๒๐/ ๑๒๘๕๕
                ๓๘๕๒. พระแสง  อำเภอ ขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศเป็นที่ดอนสูง ๆ ต่ำ ๆ
                        อ.พระแสง เดิมชาวบ้านเรียกว่า อ.ไทรขึง ขึ้น จ.นครศรีธรรมราช โอนมาขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ ยุบเป็นกิ่งอำเภออยู่คราวหนึ่ง แล้วยกฐานะเป็นอำเภออยู่คราวหนึ่ง แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑         ๒๐/ ๑๒๘๖๓
                ๓๘๕๓. พระอภัยมณี  เป็นชื่อบุคคลสำคัญที่สุดฝ่ายชาย หรือตัวพระเอก ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ซึ่งแต่งเรื่องนี้ในรัชกาลที่สอง จนถึงตอนปลายรัชกาลที่สาม
                        พระอภัยมณี มีลักษณะต่างจากตัวพระเอกในวรรณคดีไทยในสมัยก่อนสุนทรภู่ แม้แต่เรื่องประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ ในสมัยสุนทรภู่ คือ ตัวพระเอกในหนังสืออื่น ๆ ดังกล่าวล้วนมีลักษณะเป็นไปทำนองเดียวกันหมดคือ พระเอกเป็นชายรูปงามที่มีฝืมือในการรบ แต่พระอภัยมณีกลับเป็นศิลปินประเภทคีตศิลปิน และมีความสามารถยอดเยี่ยมในการเป่าปี่
                        พระอภัยมณีเป็นพระเอกศิลปิน เจ้าชู้มีชายาหลายคนมีลูกกับนางผีเสื้อสมุทร เป็นชายชื่อ สินสมุทร มีลูกกับนางเงือก เป็นชายชื่อ สุดสาคร มีลูกกับนางสุวรรณมาลี เป็นธิดาแฝดคือ สร้อยสุวรรณ กับจันทรสุดา และมีลูกกับนางละเวงชื่อ มังคลา
                        บทบาทของพระอภัยมณี โดยเฉพาะตอนผจญภัย ตั้งแต่ต้นเรื่อยมาจนเสร็จศึกนางละเวง ได้นางละเวงเป็นชายานั้น มีลักษณะเด่นและชวนอ่าน แต่ตอนต่อจากนั้น บทบาทของพระอภัยมณีเริ่มลดน้อยถอยลงตามลำดับ ทั้งนี้เพราะเดิมที่เดียวสุนทรภู่ แต่งเรื่องพระอภัยมณีไว้เพียง ๔๙ เล่มสมุดไทย แต่ต่อมากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โปรดปรานมาก โปรด ฯ ให้สุนทรภู่แต่งต่อโดยแต่งเดือนละหนึ่งเล่มสมุดไทย สุนทรภู่จึงต้องแต่งต่อไปจนถึงเล่มสมุดไทยที่ ๙๔ จึงจบ ตอนท้าย ๆ เรื่องสำนวนอ่อนไป แสดงว่ามีผู้ช่วยแต่งเติม และเนื้อเรื่องก็กระจัดกระจาย เพราะตัวบุคคลในเรื่องมีมากขึ้น        ๒๐/ ๑๒๘๖๓
                ๓๘๕๔. พรานกระต่าย  อำเภอ ขึ้น จ.กำแพงเพชร ภูมิประเทศเป็นที่ดอน ตอนกลางทำนาได้ นอกนั้นเป็นป่าแดงโดยมาก ตอนใต้เป็นดงทึบ
                        อ.พรานกระต่าย เป็นเมืองโบราณเรียกว่า เมืองพราน มีสิ่งสำคัญคือ ถนนพระร่วง ภายหลังยุบเป็นอำเภอ         ๒๐/ ๑๒๘๖๗
                ๓๘๕๕. พรานบุญ  เป็นผู้พบรอยพระพุทธบาท บนไหล่เขาเมืองสระบุรี ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑         ๒๐/ ๑๒๘๖๗
                ๓๘๕๖. พรานผึ้ง - นก  เป็นนกที่อยู่ในสกุลใกล้ ๆ กับพวกโพระดก หรือนกตีทอง ประเทศไทยทางปักษ์ใต้มีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ นกพรานผึ้งมลายู เป็นนกขนาดเล็กกว่านกเอี้ยงปากหนา นกพวกนี้มีนิสัยชอบร้องและบินล่อแขกดำพื้นเมือง หรือนำสัตว์พวกที่ชอบแหกรังผึ้ง เพื่อกินน้ำผึ้งหรือผึ้งตัวอ่อน นกนี้ก็ได้กิน         ๒๐/ ๑๒๘๖๙
                ๓๘๕๗.  พราย  มีบทนิยามว่า "ผีพวกหนึ่ง (มักกล่าวกันว่า เป็นผีผู้หญิงและเด็กที่ตายทั้งกลม)"  ตามคติชาวบ้านเรื่องเชื่อผีสางเทวดาว่า หญิงที่ตายทั้งกลมคือ ตายทั้งแม่และลูกที่อยู่ในท้อง เรียกว่า ตายโหง คือ ตายผิดธรรมดาโดยอาการร้าย แล้วไปเกิดเป็นผีจำพวกหนึ่ง เรียกว่า ผีพราย อยู่ตามป่าช้าซึ่งเป็นที่ที่ฝังซากศพของตน
                       เมื่อกล่าวในแง่ภาษา คำว่า "พราย" เป็นภาษาไทยใหญ่ พายัพ และอีสาน คำนี้เป็นไปในทางข้างผี คำพูดในทางเรือก็มี พรายน้ำ         ๒๐/ ๑๒๘๖๙
                ๓๘๕๘. พรายทะเล  หรือพรายน้ำ หรือผีน้ำ เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ มีลักษณะเป็นแสงลุกเป็นเส้น ๆ อย่างแปรง ออกจากยอดแหลมต่าง ๆ หรือจากวัตถุมีมุมแหลม ในระหว่างเกิดพายุฟ้าคะนอง หรือพายหิมะ ปรากฎการณ์นี้เกิดมากในที่สูง ตามยอดเขาและเกิดในระยะต่ำเป็นครั้งครา เวลาเกิดแสงนี้จะมีเสียงดังซีด ๆ บางทีมีกลิ่นประหลาด และมักเกิดก่อนฟ้าแลบเล็กน้อย
                    ปรากฎการณ์นี้มีสาเหตุเช่นเดียวกับฟ้าแลบคือ มีความต่างศักย์ไฟฟ้าในระหว่างพื้นโลก กับในอากาศทำให้เกิดดประกายไฟฟ้าเข้าหากัน         ๒๐/ ๑๒๘๗๓
                ๓๘๕๙. พร้าว  อำเภอ ขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา ตอนอื่น ๆ เป็นป่าและภูเขาล้อมรอบตลอด
                        อ.พร้าว เดิมตั้งที่ว่าการที่ บ.กลางเวียง ต.เวียง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ บ.กู่เฮือง ต.เวียง          ๒๐/ ๑๒๘๗๕
                ๓๘๖๐. พราหมณ์ - ศาสนา  นับว่าเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด ปัจจุบันยังมีผู้นับถืออยู่หลายร้อยล้านคน ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาโบราณของอินเดียมาก่อน อินเดียเป็นแหล่งให้กำเนิดศาสนา ปรัชญา และวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย
                        ศาสนาพราหมณ์ เป็นศาสนาของพวกอารยัน หรืออริยะ ที่เข้ามาสู่อินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ก่อนพุทธศักราชหลายพันปี เข้ามาตั้งตัวเป็นนายปกครองประชาชนชาวพื้นเมือง ถือตนว่าเจริญกว่า จึงเห็นว่าควรสงวนความบริสุทธิ์ของเชื้อสายพวกตนไว้ ด้วยการออกบทบัญญัติ ห้ามพวกตนสมสู่กับชาวพื้นเมือง และสงวนอาชีพที่สำคัญ ๆ ไว้ให้พวกตน ซึ่งต่อมาเรียกว่า "วรรณะ"  เป็นสามวรรณะ และจัดพวกเจ้าของถิ่นไว้เป็นอีกวรรณะหนึ่ง รวมเป็นสี่วรรณะคือ
                        ๑. วรรณะพราหมณ์  หรือนักบวช นักปราชญ์ ครูบาอาจารย์ มีหน้าที่สั่งสอน และประกอบพิธีทางศาสนาต่าง ๆ เปรียบเสมือนศีรษะ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดสติปัญญา
                        ๒. วรรณะกษัตริย์  หรือพวกนักรบ นักปกครอง เปรียบเสมือนอก อันเป็นบ่อเกิดแห่งกำลังแห่งสังคม
                        ๓. วรรณะแพศย์  ได้แก่ พวกที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการค้าขาย การทำไร่ทำนา ถือว่าเป็นพวกที่กุมการเศรษฐกิจของชาติ จึงเปรียบเสมือนขา ซึ่งเป็นส่วนที่พยุงกายให้คงอยู่
                        ๔. วรรณะศูทร  เป็นเจ้าของถิ่นเดิม ถูกเหยียดหยามว่าเป็นทัสยุ คือ เป็นคนที่ต้องคอยรับใช้พวกอารยันดุจเป็นทาส เปรียบเสมือนเท้า อันเป็นอวัยยะต่ำสุด
                        ศาสนาพราหมณ์ ไม่มีศาสดาผู้ให้กำเนิดเหมือนศาสนาอื่น แต่นับถือเทพเจ้า เป็นที่เคารพสักการบูชา เดิมนับถือพระอินทร์เพียงองค์เดียว ต่อมานับถือพระพรหม พระอิศวร หรือพระศิวะ พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ สามองค์นี้เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ และยังมีเทพอื่น ๆ ที่มีความสำคัญลดหลั่นลงมาอีกมาก ทำให้เกิดเป็นสามนิกายคือ
                        ๑. นิกายพรหม  ได้แก่ นิกายที่นับถือพระพรหมเป็นใหญ่
                        ๒. นิกายไศวะ  ได้แก่ นิกายที่นับถือพระอิศวร หรือพระศิวะ เป็นใหญ่
                        ๓. นิกายไวษณพ  ได้แก่ นิกายที่นับถือพระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เป็นใหญ่          ๒๐/ ๑๒๘๗๖
                ๓๘๖๑. พราหมณ์โต (ดู กุมภัณฑ์ - ลำดับที่ ๔๙๙ )         ๒๐/ ๑๒๘๘๖

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch