หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/103
    ๓๗๙๓. พยากรณ์ ๒  มีบทนิยามว่า "ทำนาย, คาดการณ์  ชื่อคัมภีร์โหราศาสตร์ ว่าด้วยการทำนาย"
                        การพยากรณ์ มีขึ้นภายหลังที่นักปราชญ์รู้แผนที่ดาว และรู้วิธีทางของดาว ตลอดจนนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณนับวัน เดือน ปี ดีแล้ว มูลเหตุที่จะเกิดการพยากรณ์ ก็โดยผู้รู้วิถีทางของดาวมาพิเคราะห์ และตั้งข้อสังเกตในส่วนดิน ฟ้า อากาศ ความเป็นอยู่ของชุมชน ความตาย ความไข้ ควมปรกติสุข แห่งชาวเมือง ประวัติของบุคคลเริ่มแต่เกิดจนตาย ยิ่งนานปีก็ยิ่งทวีข้อสังเกต และได้นำหลักการที่จะถือเป็นแนวทางแห่งการพยากรณ์มากขึ้น ในที่สุดก็เกิดเป็นแบบพยากรณ์
                        ดวงชะตาเป็นฐานอันสำคัญยิ่งในการพยากรณ์         ๒๐/ ๑๒๖๘๙
                ๓๗๙๔. พยาธิ  โดยทั่วไปแล้วหมายถึง ตัวพยาธิ หรือหนอน พยาธิที่อาศัยอยู่ในร่างกายคนหรือสัตว์ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคหรือไม่ทำให้เกิดโรคก็ตาม ถ้าจะจำแนกออกไปตามรูปลักษณะของพยาธิ ก็จะแบ่งออกได้เป็นสองชนิดคือ
                        ๑. พยาธิตัวกลม  ถ้าแบ่งตามที่อยู่อาศัยจะได้สองพวกคือ พยาธิตัวกลมในลำไส้ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย และพยาธิแส้ม้า พยาธิตัวกลมในเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้แก่พยาธิตัวจี๊ด เป็นต้น
                        ๒. พยาธิตัวแบน  มีอยู่ด้วยกันสองกลุ่มใหญ่ ๆคือ พยาธิตัวตืด ตัวแก่ มักอยู่ในลำไส้ พยาธิใบไม้ มักอยู่ในลำไส้ ตับ ปอด และในเลือด         ๒๐/ ๑๒๖๙๕
                ๓๗๙๕. พยาธิวิทยา  เป็นสาขาหนึ่งของแพทย์ศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะเกี่ยวกับสาเหตุกลไลของการเกิดโรค และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกาย หรืออวัยวะที่เกิดโรคขึ้น เป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญยิ่งที่ทำให้เข้าใจถึงเหตุ และผลของโรคชนิดต่าง ๆ เพื่อนำเอาไปใช้ประยุกต์ในการบำบัด และป้องกันโรค เป็นวิชาที่เชื่อมโยงระหว่างวิชากายวิภาคศาสตร์กับสรีรวิทยา ซึ่งกล่าวถึงรูปร่างลักษณะ และกลไกลการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายคนกับวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการ และอาการแสดงที่ผิดปรกติในตัวผู้ป่วย รวมทั้งวิธีปฏิบัติรักษา และป้องกันโรคเช่นวิชาอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ ฯลฯ            ๒๐/ ๑๒๖๙๗
                ๓๗๙๖. พยาธิสภาพ  คือลักษณะที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยเจ็บ หรือเป็นโรคเปลี่ยนแปลงผิดปรกติไป ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ผิดปรกติไปด้วย เกิดมีการและอาการแสดงการเป็นโรคต่าง ๆ กันไปตามชนิดและตำแหน่งของพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น             ๒๐/ ๑๒๖๙๘
                ๓๗๙๗. พยาบาล  มีบทนิยามว่า "ดูแลคนไข้ ปรนนิบัติคนไข้ (โบ) เอื้อเฟื้อเลี้ยงดู ผู้ดูแลคนไข้"
                        การพยาบาล เป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ และความปลอดภัยของสังคม ซึ่งมีมาแต่โบราณ วิชาการพยาบาลนับเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องศึกษาชั้นสูง ทำนองเดียวกันกับแพทย์และเภสัชกร       ๒๐/ ๑๒๗๐๒
                ๓๗๙๘. พยุหยาตรา  หมายถึง การยกพหลพลพยุหเสนาไปเป็นกระบวนทัพ นิยมใช้กับกองทัพ ซึ่งพระมหากษัตริย์หรือพระมหาอุปราชทรงเป็นจอมทัพ
                        กระบวนพยุหยาตรา แต่โบราณท่านจัดแยกเป็นกระบวนช้าง กระบวนม้า กระบวนเดินเท้า แต่บางครั้งก็จัดเป็นกระบวนผสม เมื่อยกกระบวนไปทางบกเรียกว่า พยุหยาตราสถลมารค ถ้ายกไปทางน้ำโดยเรือเรียกว่า พยุหยาตราชลมารค
                        การจัดกระบวนพยุหยาตราเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ นั้นจัดทำนองเดียวกับการจัดกระบวนทัพ แต่จำนวนไพร่พลอาจน้อยลง ส่วนเครื่องเฉลิมพระเกียรติ์อาจเพิ่มขึ้น      ๒๐/ ๑๒๗๐๔
                ๓๗๙๙. พยุหคีรี  อำเภอขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประะทศเป็นที่ราบดอน มีเขาทั่ว ๆ ไป ตามที่ราบทำนาน้ำฝนได้
                        อ.พยุหคีรี เดิมเป็นเมืองภายหลังยุบเป็นอำเภอ            ๒๐/ ๑๒๗๐๗
                ๓๘๐๐. พร  มีบทนิยามว่า "คำแสดงความปรารถนาดี สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์" คำนี้แต่เดิมท่านกำหนดรากคำในภาษาบาลี สันสกฤตว่า "วร" แปลได้หลายนัยคือ แปลว่า ระวังป้องกันเช่น ทางหวงห้าม ผู้เดินผ่านต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงไปได้ การขออนุญาตก่อนทำก็เรียกว่าขอพร         ๒๐/ ๑๒๗๐๘
                ๓๘๐๑. พรเจริญ  อำเภอขึ้น จ.หนองคาย ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เป็นป่า และป่าทึบ เป็นบางตอน
                    อ.พรเจริญ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ขึ้น อ.บึงกาฬ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔         ๒๐/ ๑๒๗๑๓
                ๓๘๐๒. พรต  มีบทนิยามไว้หลายนัย จะยกมากล่าวแต่บางนัยเท่านั้น คำว่าพรต หมายความว่า กิจวัตรคือ ข้อวัตรที่ทำเป็นประจำเช่นสวดมนต์เช้า สวดมนต์เย็น การสมาทาน หรือการประพฤติตามลัทธิทางศาสนา การจำศีลเพื่อข่มกายข่มใจ เรียกกันว่า บำเพ็ญพรต ทรงพรต ถือพรต ถ้าบวชเรียกว่านักพรต
                        กล่าวโดยสรุปพรหมจรรย์ทุกอย่างถือว่าเป็นพรต การประพฤติพรหมจรรย์ทุกอย่างเรียกว่าประพฤติพรต         ๒๐/ ๑๒๗๑๔
                ๓๘๐๓. พรม ๑  เป็นสิ่งทอที่ใช้ตกแต่งภายในอาคาร โดยทั่วไปใช้ปูพื้นห้องหรือทำเป็นผืนขนาดต่าง ๆ กัน สำหรับปูพื้น นอกจากนี้ยังใช้ตกแต่งผนังห้อง
                        จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าชนเผ่าที่อยู่ในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพวกเลี้ยงแกะ และมีชีวิตเร่ร่อน มีบ้านเป็นกระโจม เป็นพวกที่รู้จักการทำพรมตั้งแต่พันปีก่อนคริสต์กาล พรมที่ทำเป็นพรมผืนเล็ก ใช้เป็นเครื่องประดับ และให้ความอบอุ่นภายในกระโจม นอกจากนี้พวกที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็มีส่วนในการวิวัฒนาการทำพรมผืนเล็ก ซึ่งจะใช้พรมนี้นั่งสวดมนตร์ เมื่อไปจาริกแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ดังนั้นพรมจึงเป็นสัญญลักษณ์แสดงถึงความร่ำรวยของพวกมุสลิม
                        ศิลปะการทำพรม ได้แพร่หลายเข้าไปในยุโรป เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ยี่สิบ และในกลางพุทธศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ชาวอังกฤษได้คิดค้นวิธีทอพรมด้วยเครื่องจักร
                        ชนชาติไทยมีประวัติการทำพรมตั้งแต่ ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยอ้ายลาว คาดว่าเป็นพรมขนาดเล็ก ชนิดผูกปมทำด้วยมือ ซึ่งยังคงทำอยู่บ้างเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนโดยทั่วไปในปัจจุบัน        ๒๐/ ๑๒๗๑๔
                ๓๘๐๔ พรม ๒ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดอยู่ในวงค์ปลาตะเพียน รูปร่างยาวรีคล้ายปลาจีนชนิดหนึ่งคือปลาลิ่น แต่ปลาลิ่นตัวสั้นกว่า         ๒๐/ ๑๒๗๑๘
                ๓๘๐๕. พรม ๓ - ต้น  เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศอินเดีย เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ ๔ - ๕ เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก มียางสีขาว ลำต้นมีหนามแหลม ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันรูปไข่ กลีบดอกสีขาวมีกลิ่นหอมออกเป็นช่อที่ยอด
                        ต้นพรมมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร คือ เนื้อไม้เป็นยาบำรุงกำลัง         ๒๐/ ๑๒๗๒๐
                ๓๘๐๖. พรมคต  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๒๐ เมตร ตามกิ่งก้านเกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเวียนสลับกัน มีรูปหอกกลีบดอกสีขาวมีกลิ่นหอม โดยเชื่อมติดกันเป็นหลอด ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์เป็นผลเดือนมิถุนายน
                        ประกาศเป็นไม้หวงห้ามตาม พ.ร.ฎ. กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.๒๕๐๕         ๒๐/ ๑๒๗๒๑
                ๓๘๐๗. พรมแดน  ๑. พรมแดน หมายถึง ขีดกั้นเขตแดน หรือแดนต่อแดนมีการใช้คำว่าพรมแดนกันในสามความหมาย ความหมายแรกหมายถึง จุดแบ่งพื้นที่ระหว่างสองประเทศ หรือระหว่างเขตกั้นที่ขนาดใหญ่ ความหมายที่สองหมายถึง ส่วนของพื้นที่ หรืออาณาเขตบริเวณที่ติดกับเส้นเขตแดน อีกความหมายถึงใช้ในกรณีการสัญจร หรือผ่านแดนเข้า หรือออกจากประเทศ
                         ๒. ใบสนธิสัญญาที่ไทยทำไว้กับอังกฤษกำหนดเขตแดนไทยกับมลายูของอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ และในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทย กับฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๘๔ มีการใช้คำว่าพรมแดนอยู่หลายแห่งด้วยกัน
                         ๓. พรมแดนระหว่างประเทศเป็นผลจากการยอมรับของประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน โดยทั่วไปมักจะยึดถือลักษณะพิเศษทางธรรมชาติที่แลเห็น เช่น ภูเขา หรือแม่น้ำ แต่ไม่เป็นการจำเป็นเสมอไป ในกรณีที่ใช้ทิวเขาเป็นพรมแดนเส้นกำหนดเขตแดนมักจะใช้สัมปันน้ำ หรือยอดเขา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นเดียวกันเสมอไป กรณีที่ใช้แม่น้ำเป็นพรมแดน ถ้าเป็นแม่น้ำที่ใช้เดินเรือได้เส้นเขตแดนมักใช้ร่องน้ำลึก ถ้าใช้เดินเรือไม่ได้ ก็มักจะถือเส้นกึ่งกลางระหว่างสองฝั่งเป็นเส้นเขตแดน
                        พรมแดนระหว่างประเทศอาจจะถูกกำหนดขึ้น โดยไม่ใช้สถานะพิเศษทางภูมิศาสตร์เป็นหลักก็ได้ โดยใช้เส้นสมมติที่คำนวณกำหนดลงไปบนพื้นที่ก็ได้
                         ๔. พรมแดนยังอาจหมายถึงพื้นที่ของอาณาเขตที่ติดกับเส้นเขตแดนอีกด้วย
                         ๕. คำว่าพรมแดน เมื่อใช้กับคำว่าเปิดหรือปิด หมายความถึงการเปิดให้มีการสัญจรข้ามแดนไปมา         ๒๐/ ๑๒๗๒๒
                ๓๘๐๘. พรมมิ  เป็นชื่อพันธุ์ไม้สองชนิดด้วยกัน เป็นไม้ล้มลุกทอดเลื้อยไปตามดินขึ้นทั่วไปตามที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะดินเค็มใกล้ชายฝั่งทะเล ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน รูปไข่ กลีบดอกออกเดี่ยวตามง่ามใบสีม่วงอ่อน โดยเชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลเป็นชนิดแห้งแตกเมื่อแก่
                        พรมมิ มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรทั้งต้นใช้รักษาโรคหืด ลมบ้าหมู วิกลจริต อาการเสียงแหบ บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย         ๒๐/ ๑๒๗๒๕
                ๓๘๐๙. พรมหัวเหม็น - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดมีอยู่สองชนิด มีผู้นิยมบริโภคเพราะเนื้อ มีรสดีและปลามีขนาดค่อนข้างโต ชอบอยู่ในแม่น้ำลำคลอง และทะเลสาบที่มีน้ำไหลอยู่บ้าง         ๒๐/ ๑๒๗๒๗
                ๓๘๑๐. พรรคกลิน  เป็นชื่อพรรคแหล่งของทหารเรือพรรคหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยกับเครื่องจักรกลภายในเรือ คำนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับคำว่า พรรคนาวิกโยธิน และพรรคนาลิน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ โดยได้ปรากฏอยู่ในข้อบังคับทหารเรือว่าด้วยการจำแนกพรรคเหล่า จำพวกและประเภททหารเรือที่กระทรวงทหารเรือสมัยนั้นได้ตราขึ้น
                        ตามระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการกำหนดหน้าที่ของทหารพรรคและเหล่าต่าง ๆ ซึ่งประเทศใช้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ระบุไว้ว่าพรรคกลินแบ่งออกเป็นสามเหล่า และมีหน้าที่ดังนี้
                         เหล่าเครื่องไอน้ำ  มีหน้าที่ในการจักรไอน้ำในเรือ
                         เหล่าเครื่องยนต์   มีหน้าที่ในการจักรน้ำมันก๊าซและอากาศในเรือ
                         เหล่าเครื่องไฟฟ้า  มีหน้าที่ในการไฟฟ้าในเรือ         ๒๐/ ๑๒๗๒๙
                ๓๘๑๑. พรรคการเมือง  โดยรากศัพท์แล้วหมายถึง การที่มีกลุ่มคนภายในสังคมแบ่งแยกออกเป็นส่วน ๆ เป็นพวก ๆ ไปเพราะมีความแตกต่างกันหกประการ ปัจจับสำคัญที่มีผลทำให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองนี้ได้แก่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความรวมไปถึงการมีอาชีพ แหล่งรายได้และการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม การที่คนในสังคมเกิดการแบ่งเป็นพรรคเป็นพวกนี้ มิใช่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว หากมีปัจจัยอื่น เช่น เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา และความเชื่อทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
                        เงื่อนไขสำคัญที่สุดของการมีสภาพเป็นพรรคการเมืองก็คือ ผู้ที่มารวมกลุ่มกันนั้นมารวมกันเพราะมีหลักการรวมกัน และสิ่งที่มีร่วมกันนั้นเอง ซึ่งแต่ละคนตระหนักว่า มีความแตกต่างไปจากบุคคลอื่น หรือกลุ่มคนอื่น
                        เอ็ดมันด์ เบิร์ก อธิบายว่า พรรคการเมืองเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมารวมกันเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ โดยมีหลักการที่เฉพาะเจาะจงที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน
                        นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่มีความเห็นว่า พรรคการเมืองในปัจจุบันได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มากกว่าที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ         ๒๐/ ๑๒๗๓๑
                ๓๘๑๒. พรรคนาวิกโยธิน (ดูนาวิกโยธิน - ลำดับที่ ๒๘๖๕)         ๒๐/ ๑๒๗๓๘
                ๓๘๑๓. พรรคนาวิน  เป็นชื่อพรรคเหล่าทหารเรือพรรคหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานบนดาดฟ้าเรือ
                        ตามระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการกำหนดหน้าที่ของทหารพรรคและเหล่าต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ รวมไว้ว่า ทหารพรรคนาวินมีหน้าที่ดังนี้
                        เหล่าปืนใหญ่  มีหน้าที่ในการปืนใหญ่ ปืนกล ปืนเล็ก การอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการปืนและการปราบเรือดำน้ำ
                        เหล่าตอร์ปิโด  มีหน้าที่ในการตอร์ปิโดและการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการตอร์ปิโดและการปราบเรือดำน้ำ
                        เหล่าทุ่นระเบิด  มีหน้าที่ในการทุ่นระเบิด เครื่องกวาดทุ่นระเบิด อาวุธปราบเรือดำน้ำและการอื่น ๆ เกี่ยวกับการทุ่นระเบิดแล้วอาวุธปราบเรือดำน้ำ
                        เหล่าสามัญ  มีหน้าที่ในการเรือ การเดินเรือ และทางธุรการในเรือ
                        เหล่าสัญญาณ  มีหน้าที่ในการใช้เรดาร์ การใช้โซนาร์ทางสัญญาณและการสื่อสาร
                        เหล่าอุทกศาสตร์  มีหน้าที่ในทางอุทกศาสตร์         ๒๐/ ๑๒๗๓๘
                ๓๘๑๔. พรรณานิคม  อำเภอขึ้น จ.สกลนคร ภูมิประเทศเป็นที่ราบโดยมากมีเขาป่าดง และห้วยหนองทั่ว ๆ ไป
                        อ.พรรณานิคมมีประวัติว่า พระมหาสงคราม รองแม่ทัพไทยคนหนึ่งได้คุมกำลังไปกวาดต้อนเอาราษฎรภูไทในเขตนครเวียงจันทร์ทางทิศตะวันออก คือ เมืองรัง เมืองกะปอง  เมืองเซโปน เมืองทิน เมืองนอง และเมืองมหาไชยกองแก้วได้ข้ามแม่น้ำโขง เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ในบรรดาชาวภูไทเหล่านี้ มีพวกชาวภูไทพวกหนึ่งมีท้าวโรงกลางเป็นหัวหน้า เมื่ออพยพข้ามแม่น้ำโขงมาแล้ว ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าเมืองสกลนคร ขณะนั้นเจ้าเมืองสกลนคร จึงให้ตราภูมิแก่ท้าวโรงกลาง ให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านพันดา (บ.พันนา อ.สว่างแดมดิมปัจจุบัน) ระหว่างทางเมื่อเดินทางมาถึงริมฝั่งห้วยอูนเห็นว่าเป็นทำเลดี จึงตัดสินใจตั้งภูมิลำเนาในที่นั้น แล้วเรียนให้เจ้าเมืองสกลนครทราบ ต่อมาท้าวโรงกลาง ได้ขอตั้งเมืองต่อเจ้าเมืองสกลนคร โดยขอใช้ชื่อพันนาดามตราภูมิ และต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตัวหนังสือเป็นพรรณานิคม เจ้าเมืองสกลนครเห็นชอบจึงได้มีใบบอกขอตั้งเมืองไปกรุงเทพ ฯ เรียกว่าไปเปลี่ยนเมือง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๗ รัชกาลที่สาม ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมืองพรรณานิคมขึ้น และตั้งท้าวโรงกลางเป็นพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณานิคม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้ยุบเมืองพรรณานิคมเป็นอำเภอพรรณานิคม         ๒๐/ ๑๒๗๔๑
                ๓๘๑๕. พรรษา (ดูเข้าพรรษา - ลำดับที่ ๘๑๑)         ๒๐/ ๑๒๗๔๓
                ๓๘๑๖. พรวด ๑ - ต้น  เป็นไม้พุ่มสูง ๑ - ๒ เมตร ใบออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรี ดอกเป็นช่อออกตลอดปีลักษณะดอกคล้ายดอกฝรั่ง หรือดอกชมพู่มีสีชมพูอมม่วง ผลกลมคล้ายผลฝรั่งอ่อน เมื่อแก่มีสีม่วงแดงกินได้         ๒๐/ ๑๒๗๔๓
                ๓๘๑๗. พรวด ๒ - ปลา  เป็นปลาขนาดเล็ก ลำตัวยาวคล้ายงู อาศัยอยู่ในน่านน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำที่ติดต่อกับทะเล และบริเวณชายฝั่งทะเล ที่มีพื้นดินเป็นโคลนเหลว โดยจะขุดรูอยู่         ๒๐/ ๑๒๗๔๓
                ๓๘๑๘. พรวด ๓ - แมลง  คือผึ้งโพรง ชอบทำรังอยู่ในที่มืด ๆ ซึ่งเป็นที่ปกปิดมิดชิด เป็นผึ้งขนาดกลางด้วยนิสัย และความเป็นอยู่ของพรวด เป็นที่ทำให้สามารถนำมาเลี้ยงในรังได้ และชาวบ้านตามชนบทรู้จักเสียงผึ้งชนิดนี้เพื่อเอาน้ำหวานและขี้ผึ้ง บางแห่งขยายเป็นการเลี้ยงแบบอาชีพ         ๒๐/ ๑๒๗๔๕
                ๓๘๑๙. พรวน (ดูเงาะ - ลำดับที่ ๑๒๕๘)         ๒๐/ ๑๒๗๔๙
                ๓๘๒๐. พรหม ๑ - พระ  เป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีขึ้นในตอนปลายสมัยพระเวท ถือว่าเป็นปฐมบุรุษของพราหมณ์
                        การที่พวกพราหมณ์พระพรหม... นี้มีผลใหญ่หลวงมาก ไม่เฉพาะแต่ลัทธิศาสนาพราหมณ์เท่านั้นยังมีผลต่อไปถึงศาสนาอื่นด้วย คือ
                        ๑. ทำให้เกิดเพศพิเศษของมนุษย์ คือเพศพรหมจรรย์
                        ๒. ทำให้เกิดลัทธิอาตมัน ซึ่งเป็นลัทธิสูงยิ่งในทางศาสนา
                        ๓. ทำให้เกิดลัทธิอุปนิษัท ซึ่งเป็นงานชิ้นเอกของศาสนาพราหมณ์
                        ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึง พรหมไว้ในความหมายถึง ผู้ที่ได้ฌานแล้วตายไปเกิดเป็นพรหมโลก ถ้าได้รูปฌานก็จะไปเกิดในรูปพรหม ถ้าได้อรูปฌานก็จะไปเกิดในอรูปพรหม (ดูพรหมโลก - ลำดับที่ ๓๘๐๕)         ๒๐/ ๑๒๗๔๙
                ๓๘๒๑. พรหม ๒ - พระเจ้า  เป็นกษัตริย์องค์หนึ่งที่ครองอาณาจักรโยนกเชียงแสน เป็นโอรสของพระเจ้าพังคราช ประมาณกันว่าเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๔๒ ที่ครองอาณาจักรโยนกเชียงแสน ซึ่งมีโยนกนาคนคร หรือเชียงแสนเป็นราชธานี
                        พระเจ้าพรหมประสูติเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๔๕ ต่อมาทรงคิด อ่านที่จะกระทำการแข็งเมืองต่อขอม ทรงขอให้พระราชธิดาเลิกส่งส่วยแก่ขอม ฝ่ายขอมถือว่าพระเจ้าพังคราชเป็นขบถ จึงแต่งกองทัพไปปราบพระองค์ คุมกองทัพออกตีกองทัพขอมแตกพ่ายกลับไป และชิงเอาเมืองเชียงแสน หรือโยนกนาคนคร กลับคืนมาได้แล้ว รุกลงมาทางใต้ตีได้เมืองเชลียง จนถึงเมืองกำแพงแพชร และได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปถึงเมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ ตลอดถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนเหนือ ยังผลให้ขอมต้องล่าถอยลงมาทางตอนใต้ของดินแดน พระองค์ได้เป็นกษัตริย์ และเชิญพระราชธิดากลับไปครองเมืองเชียงแสน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองชัยบุรี ส่วนพระองค์ได้นำผู้คนพลเมืองมาสร้างราชธานีทางทิศใต้ ทรงขนานนามว่า เมืองชัยปราการ (คือ เมืองฝางหรือ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่) พระองค์ครองเมืองชัยปราการจนสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชันษา ๗๗ พรรษา         ๒๐/ ๑๒๗๕๔
                ๓๘๒๒. พรหมคีรี  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศเป็นที่ราบและภูเขา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔  ๒๐/ ๑๒๗๕๖
                ๓๘๒๓. พรหมจรรย์  ตามพยัญชนะแปลว่าความประพฤติอันประเสริฐ มีบทนิยามให้ไว้หลายนัยว่า "การศึกษาปรมัตถ์ การศึกษาพระเวท, การถือพรตบางอย่าง เช่น เว้นเมถุน เป็นต้น การบวชซึ่งเว้นเมถุน เป็นต้น"
                        ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี กล่าวว่า สมณธรรม คือคุณความดีของผู้สงบ หรือผู้บำเพ็ญคุณความดีเพื่อสงบกิเลส โดยเฉพาะนักบวชในพระพุทธศาสนา จัดเป็นพรหมจรรย์การประพฤติพรหมจรรย์นั้นจัดเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุบรรลุคุณพิเศษ ๆ ละสูงขึ้นไปตามลำดับสมควรแก่ผู้ประพฤตินั้น         ๒๐/ ๑๒๗๕๖
                ๓๘๒๔. พรหมจารี  คำว่าพรหมจารีมีความหมายหลายอย่างในศาสนาพราหมณ์หมายถึง นักศึกษา คือ ผู้ศึกษาคัมภีร์พระเวท เป็นขั้นแรกแห่งชีวิต ซึ่งมีสี่ขั้นด้วยกันเรียกว่า อาศรมสี่ ได้แก่ พรหมจารี คฤหัสถ์ สันยาสี และวานปรัสถ์ ตามศัพท์พรหมจารีแปลว่า "ผู้ไปสู่พรหมันหรือตามพรหมันคือคำศักดิ์สิทธิ์" และยังหมายถึงนักบวชทั่ว ๆ ไปในศาสนาหรือลัทธิต่าง ๆ ที่ถือพรตบางอย่าง เช่น งดเว้นจากเมถุนธรรม เป็นต้นด้วย
                        ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีเว้นจากเมถุนธรรม เป็นต้น เช่น ภิกษุ สามเณร
                        นอกจากนั้นในภาษาไทยยังหมายถึง หญิงที่ยังบริสุทธิ์ยังไม่เคยถูกชายร่วมประเวณีด้วย และเรียกเยื่อที่แสดงว่าผู้หญิงนั้น ยังเป็นพรหมจารีอยู่ว่าเยื่อพรหมจารี         ๒๐/ ๑๒๗๖๑
                ๓๘๒๕. พรหมชาลสูตร  เป็นชื่อพระสูตร ซึ่งเป็นสูตรต้นวรรคใน ๑๓ พระสูตร ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรคแห่งพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ ในจำนวน ๒๕ เล่มด้วยกัน
                        บรรดาพระสูตรที่เป็นพระพุทธภาษิต พรหมชาลสูตรยาวกว่าสูตรอื่น ๆ ส่วนสูตรอื่นที่ยาวกว่าพรหมชาลสูตรก็มี เช่น สังคีติสูตร แต่เป็นภาษิตของพระสารีบุตร
                        ในพรหมชาลสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงพิธีต่าง ๆ ของสมณพราหมณ์ว่ามี ๖๒ อย่าง แปลว่าข่ายอันประเสริฐคือ ทรงแสดงธรรมครอบคลุมทุกลัทธิในครั้งนั้น และตรัสถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล         ๒๐/ ๑๒๗๖๘
                ๓๘๒๖. พรหมทัต  คำว่าพรหมทัตเป็นพระปรมาภิไธยพระราชาแคว้นกาสี ใครเป็นพระราชาแคว้นนี้จะต้องมีพระปรมาภิไธยว่าพรหมทัตทุกพระองค์
                        ในที่นี้จะกล่าวถึงพระเจ้าพรหมทัตองค์สุดท้ายที่ครองราชในกรุงพาราณสี แคว้นกาสี ท่านเล่าไว้ในเรื่องที่ฆาวุกุมาร พระองค์ได้รับพระบรมราโชวาทจากพระราชบิดาว่า อย่าเห็นยาวดีกว่าสั้น อย่าเห็นสั้นดีกว่ายาว เพราะเวรยอมไม่ระงับด้วยเวร แต่เวรย่อมระงับได้ด้วยไม่จองเวร" ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัต ได้ทรงฟังอรรถาธิบายพระบรมราโชวาทของพระเจ้าโกศลทีฆีติราชที่ทีฆาวุกุมารอธิบายเป็นที่พอพระทัยแล้วทรงสถาปนา
    ทีฆาวุกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองโกศลรัฐสืบแทนพระเจ้าโกศลทีฆีติราชผู้เป็นพระราชธิดาต่อไป         ๒๐/ ๑๒๗๗๐
                ๓๘๒๗. พรหมบุตร  เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาไกรลาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของทิเบต แม่น้ำนี้ไหลมาทางทิศตะวันออกเหนือแนวเทือกเขาหิมาลัย และใต้เมืองลาสาเมืองหลวงของทิเบต ผ่านที่ราบสูงทิเบต แม่น้ำส่วนที่ผ่านที่ราบสูงทิเบตมีชื่อเรียกว่า แม่น้ำซังโป ยาวประมาณ ๑,๑๓๐ กม. เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญของทิเบต ที่ประมาณเส้นแวง ๙๕ องศาตะวันออก ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบตแม่น้ำ จะเปลี่ยนทิศทางการไหล คือไหลลงมาทางใต้ตัดผ่านเทือกเขาหิมาลัย ช่วงสุดทางตะวันออก เข้ามาในรัฐอัสสัมของอินเดีย ช่วงที่ไหลผ่านอินเดียจึงเรียกว่า แม่น้ำพรหมบุตร ไหลผ่านที่ราบอัสสัมอันสมบูรณ์ และกว้างขวางเป็นระยะ ๗๒๕ กม. จากนั้นจึงไหลเข้าบังคลาเทศ แล้วแยกออกเป็นสายย่อย ๆ หลายสาย สายประธานมีชื่อว่า ยมุนา แม่น้ำพรหมบุตรไหลไปบรรจบแม่น้ำคงคา ที่ไหลมาจากอินเดีย แล้วไหลผ่านดินดอนสามเหลี่ยมปากน้ำคงคา - พรหมบุตรลงสู่อ่าวเบงกอลความยาวทั้งสิ้น ๑,๙๐๐ กม. เป็นแม่น้ำที่ชาวอินเดียถือว่า เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์จากปากน้ำขึ้นไป ๑,๒๙๐ กม. ใช้เดินเรือขนาดใหญ่ได้         ๒๐/ ๑๒๗๗๓
                ๓๘๒๘. พรหมบุรี  อำเภอขึ้น จ.สิงห์บุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป อ.พรหมบุรี เดิมขึ้นเป็นเมืองพรมบุรี ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๙ ยุบเป็นอำเภอขึ้น จ.สิงห์บุรีถึงปี พ.ศ.๒๔๗๒ เปลี่ยนเป็นชั้นนายอำเภอสามัญ ก่อนหน้านั้นนายอำเภอเป็นผู้ว่าราชการอำเภอ         ๒๐/ ๑๒๗๗๔
                ๓๘๒๙. พรหมพักตร์  มีบทนิยามว่า "ยอดเครื่องสูงหรือยอดสิ่งก่อสร้างที่เป็นหน้าพรหมสี่ด้าน" เป็นรูปคำประกอบลักษณะส่วนหน้าของเทพองค์หนึ่ง นามว่า "พรหม" เป็น "พรหมทักตร์"
                        พรหมเป็นเทพอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามตามคัมภีร์ลัทธิศาสนาพราหมณ์มีสรรญาว่า ตรีมุรติ ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมา เทพเจ้าทั้งสามองค์นี้มีอิทธิบารมี อภินิหารและคุณธรรมต่าง ๆ กัน มีกล่าวไว้หลายตำรา เช่น ตำนานเทวกำเนิดพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์และสวรรค์ ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมมีน้ำพระทัยเย็นเปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา ด้วยลักษณะคุณธรรมนี้ ศาสนาพราหมณ์จึงให้พระพรหมมีสี่หน้าเรียกกันว่าพรหมพักตร์
    และยังมีนิกายอื่นใช้คำว่า จัตุรมุขเป็นนามหมายถึง พระพรหมก็ได้        ๒๐/ ๑๒๗๗๔
                ๓๘๓๐. พรหมพิราม อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศตามลำแม่น้ำน่านเป็นที่ราบลุ่มทางทิศตะวันออก ใกล้เขต อ.วัดโบสถ์ เป็นที่ดอนชายเขา
                        อ.พรหมพิราม เดิมเป็นเมืองแล้วยุบเป็นอำเภอ
                ๓๘๓๑. พรหมโลก  เป็นสถานที่อยู่อาศัยของพวกพรหมตามคติฝ่ายพระพุทธศาสนาท่านว่ามีหลายชั้น ชั้นต้นตั้งอยู่เบื้องบนสูงกว่าสวรรค์เทวโลกชั้นสูงสุดคือ สวรรค์ชั้นปรนิม มิตวสวดี พรหมโลกมีสองประเภท คือ รูปพรหมกับอรูปพรหม รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น
                            ๑. พรหมปาริสัชชาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุปฐมฌานอย่างสามัญมีอายุหนึ่งในสายของมหากัป
                            ๒. พรหมปุโรหิตาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุปฐมฌานอย่างกลางมีอายุครึ่งมหากัป
                            ๓. มหาพรหมภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุปฐมฌานอย่างประณีตมีอายุหนึ่งมหากัป
                                พรหมโลกทั้งสามชั้นนี้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่กันอาณาเขตออกเป็นสามเขต
                            ๔. ปริตตาภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุทุติยฌานอย่างสามัญมีอายุสองมหากัป
                            ๕. อัปปมาณาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุทุติยฌานอย่างกลางมีอายุสี่มหากัป
                            ๖. อาภัสราภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุทุติยฌานอย่างประณีตมีอายุแปดมหากัป
                                พรหมโลกทั้งสามชั้นนี้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่กันอาณาเขตแยกออกจากัป
                            ๗. ปริตตสุภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุตติยฌารอย่างสามัญมีอายุสิบหกมหากัป
                            ๘. อัปปมาณสุภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุตติยฌานอย่างกลางมีอายุสามสิบสองมหากัป
                            ๙. สุภกิณหาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุตติยฌานอย่างประณีตมีอายุหกสิบสี่มหากัป
                                พรหมโลกทั้งสามชั้นนี้อยู่ในระดับเดียวกันแต่แยกออกเป็นสามเขต
                                พรหมโลกทั้งเก้าชั้นนี้ย่อมวิบัติในคราวต่างกัป เช่นคราวน้ำล้างโลก ไฟสร้างโลก ลมล้างโลก พรหมทั้งเก้าชั้นนี้ย่อมถูกล้างไปด้วยในคราวนั้น ๆ
                            ๑๐. เวหัปผลาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตถฌานโดยทั่วไปมีอายุห้าร้อยมหากัป
                            ๑๑. อสัญญีสัตตาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตุกฌาน อธิษฐานจิตมิให้มี เพราะเห็นว่าจิตนี้เป็นทุกข์ให้โทษมากนัก คำนึงอยู่ว่าขออย่ามีสัญญาเลย ครั้นแตกกายทำสายขันธ์จึงไปเกิดเป็นอสัญญีสัตว์ มีแต่รูปไม่มีสัญญาที่เรียกว่า พรหมลูกฟักมีอายุห้าร้อยมหากัป
                                พรหมโลกสองชั้นนี้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่แยกเขตกัน
                            ๑๒. อวิหาสุทธาวาสภูมิที่หนึ่ง  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตกฌานแล้วเจริญวิปัสนาบรรลุพระอนาคามิผล เป็นพระอนาคามี ประเภทลัทธินทรีย์แกกล้ามีอายุหนึ่งพันมหากัป
                            ๑๓. อตัปปาสุทธาวาสภูมิที่สอง  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตกฌาน และได้บรรลุอนาคามิผลเป็นพระอนาคามีประเภทวิริยินทรีย์แก่กล้ามีอายุสองพันมหากัป
                            ๑๔. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิที่สาม  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตกฌาน และได้บรรลุอนาคามิผลเป็นพระอนาคามีประเภทสตินทรีย์แก่กล้ามีอายุสี่พันมหาภัป
                            ๑๕. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิที่สี่  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุทุติยฌาน และได้บรรลุอนาคามิผลเป็นพระอนาคามีประเภทสมาธินทรีย์แก่กล้ามีอายุแปดกันมหาภัป
                            ๑๖. อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตกฌาน และได้บรรลุอนาคามิผลเป็นพระอนาคามีประเภทปัญญินทรีแก่กล้ามีอายุหนึ่งหมื่นหกพันมหาภัป
                            ๑๗. อากาสานัญอายตนภูมิที่หนึ่ง  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอรูปฌานชั้นอากาสามัญจายตนะมีอายุสองหมื่นมหากัป
                            ๑๘. วิญญาณัญอายตนะภูมิที่สอง  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอรูปฌานชั้นวิญญามันัญจายตนะมีอายุสี่หมื่นมหากัป
                            ๑๙. อากิญจัญญายตนะภูมิที่สาม  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอรูปฌานชั้นอากิญจัญญายตนะมีอายุหกหมื่นหมากัป
                            ๒๐. เนวสัญญานาสัญญายตนะภูมิที่สี่  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอรูปฌานชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะมีอายุแปดหมื่นสี่พันมหาภับ         ๒๐/๑๒๗๗๑
                ๓๘๓๒. พรหมวิหาร  เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระพรหมกำหนดไว้สี่ประการคือ
                        ๑. เมตตา  ความคิดปรารถจะให้เป็นสุข
                        ๒. กรุณา  ความคิดปรารถนาจะช่วยให้พ้นทุกข์
                        ๓. มุทิตา  ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
                        ๔. อุเบกขา  ความวางเฉยเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ         ๒๐/ ๑๒๗๘๔
                ๓๘๓๓. พรหมสี่หน้า  เป็นชื่อท่ารำไทยท่าหนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในการรำเพลงช้า และตำรารำเช่นเดียวกับท่าผาลาเพียงไหล่เป็นท่าที่ที่สาม ทั้งแม่บทใหญ่และแม่บทเล็ก
                        ท่ารำพรหมสี่หน้านี้สำคัญอยู่ที่แขนและมือ ส่วนเท้านั้นสามารถจะยักเยื้องไปได้
                        ท่ารำที่ชื่อพรหมสี่หน้านี้มีทั้งท่ารำไหว้ครู กระบี่ กระบอง และรำไหว้ครูมวยไทย         ๒๐/ ๑๒๗๙๘
                ๓๘๓๔. พรหมาสตร์ - ทุ่ง  ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ลพบุรี อยู่ติดกับทะเลชุบศร ทุ่งพรหมาสตร์กว้างมาก หน้าน้ำน้ำท่วมทุกปี ราษฎรใช้ทำนา หน้าแล้งเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีนิยายว่า เมื่อพระรามแผลงศรให้หนุมานคาบไปได้สั่งว่า ถ้าลูกศรตกที่ใดจะสร้างเมืองให้ลูกศรมาตกในทะเลนี้ น้ำทะเลแห้งหมดด้วยอำนาจศร แผ่นดินสุกกลายเป็นดินสอพอง จึงเรียกว่าทะเลท้องพรหมาสตร์         ๒๐/ ๑๒๗๙๙
                ๓๘๓๕. พระโขนง - เขต  ขึ้นกรุงเทพ ฯ มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา
                        เขตพระโขนงเดิมเป็นอำเภอเรียก อ.พระโขนง ตั้งที่ว่าการที่ริมคลองพระโขนง ตรงข้ามหน้าวัดมหาบุศย์ แล้วย้ายไปตั้งที่วัดสะพาน ต.พระโขนง เมื่อตัดถนนสุขมวิทผ่านท้องที่ อ.พระโขนงจึงย้ายมาตั้งที่ ต.บางจาก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗
                        เขตนี้มีท่าเรือใหญ่เรียกว่าท่าเรือกรุงเทพ ฯ ที่แขวงคลองเตย         ๒๐/ ๑๒๗๙๙
                ๓๘๓๖. พระคลัง  เป็นชื่อที่นิยมเรียกเสนาบดีจตุสดมภ์กรมคลัง เดิมเจ้าพระคลังมีหน้าที่ทางการคลัง การต่างประเทศและการพาณิชย์ รวมกันเป็นที่รู้จักกันดีแก่ชาวต่างประเทศ ซึ่งเรียกเสนาบดีผู้นี้ว่าพระคลัง ตลอดสมัยอยุธยา และสมัยธนบุรี
                        ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดให้มีการปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ เริ่มแต่ปลดเปลื้องภาระทางการต่างประเทศของพระคลัง โดยตั้งกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๓๕ โปรดให้ตั้งกระทรวงต่าง ๆ ๑๒ กระทรวง เสนาบดีที่ดำรงตำแหน่งพระคลัง ก็เปลี่ยนเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ         ๒๐/ ๑๒๘๐๐

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch