หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/102
    ๓๗๗๐. พญาสัตบรรณ  บางทีก็เรียกว่าตีนเป็ดและชบา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ ๒๐ - ๓๐ เมตร ลำต้นตรง เปลา ใบประกอบแบบตีนนก ช่อใบเรียงสลับเวียนกันตามปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมี ๕ - ๗ ใบ ดอกสีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ผลเป็นฝักคู่เรียงยาว ห้อยลงยาว ๑๕ - ๒๐ ซม. เนื้อไม้ละเอียดสีขาว นิยมใช้ทำกระดานดำและไม้แบบ ยางมักนำไปผสมกับน้ำยางพารา เพื่อให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น         ๒๐/ ๑๒๖๐๒
                ๓๗๗๑. พดด้วง - เงิน  เป็นเงินตราที่ใช้ในสมัยสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่ที่พบทำด้วยเงินบริสุทธิ์ มีเนื้อเงินประมาณร้อยละ ๙๐ - ๙๕ พดด้วงที่ทำด้วยทองคำนั้นพบในสมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้น
                        เงินพดด้วงมีสัณฐานกลมปลายทั้งสองข้างงอเข้าหากันเหมือนตัวด้วงขด ด้านบนประทับตราประจำแผ่นดิน ด้านหน้าประทับตราประจำรัชกาล ที่บริเวณโคนขามีรอยบากและรอบเมล็ดข้าวสาร ด้านหลังปล่อยว่าง ด้านข้างประทับรอยเมล็ดข้าวสาร (บางสมัย) ด้านข้างรอยค้อน
                        ในปี พ.ศ.๒๔๐๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ผลิตเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรแทนการผลิตพดด้วง และในปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประเทศเลิกใช้พดด้วงเป็นเงินตรา         ๒๐/ ๑๒๖๐๓
                ๓๗๗๒. พนม  อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงประกอบไปด้วยภูเขา และป่า
                        จ.พนม เดิมชื่อ อ.คลองชะอุ่น ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๕๓ ลดฐานะเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.คีรีรัฐนิคม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔         ๒๐/ ๑๒๖๑๑
                ๓๗๗๓. พนมทวน  อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีป่าและเขาบ้าง อ.พนมทวน อยู่ตรงทางที่กองทัพพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดีเดินทางผ่าน คราวสงครามยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวร ฯ เดิมเรียกว่า อ.เหนือ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านทวน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.พนมทวน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๐/ ๑๒๖๑๑
                ๓๗๗๔. พนมเปญ  เป็นเมืองหลวงของประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง กล่าวกันว่ากรุงพนมเปญได้ชื่อมาเนินเขาเล็ก และสตรีผู้หนึ่งที่ใจกลางเมืองนี้ มีเนินเขาเล็กแห่งหนึ่ง คำว่าเขา หรือเนินเขาตรงกับคำว่า พนมในภาษาเขมร บนเนินเขานี้มีโบสถ์ทางพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ ผู้สร้างเป็นสตรีชื่อเพ็ญ สร้างเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว         ๒๐/ ๑๒๖๑๒
                ๓๗๗๕. พนมไพร  อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศทางทิศเหนือและตะวันตกเป็นที่ลุ่มทางทิศใต้เป็นดอนและป่า อ.พนมไพรเดิมเป็นเมืองตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖ โดยพระดำรงฤทธิ์ไกร ได้รับมอบอำนาจ ให้จัดตั้งบ้านเมืองแสนขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า เมืองพนมไพรแดนมฤด ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิถึงปี พ.ศ.๒๔๔๒ ยุบลงเป็นอำเภอ พ.ศ.๒๔๔๔ โอนมาขึ้น อ.ร้อยเอ็ด เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พนมไพร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖         ๒๐/ ๑๒๖๑๓
                ๓๗๗๖. พนมรุ้ง - ปราสาท  เป็นศาสนสถานในศิลปะสมัยลพบุรี ตั้งอยู่ในเขต อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ บนเขาพนมรุ้ง คำว่าพนมรุ้งอาจแปลได้ว่า ภูเขาใหญ่ ด้านหน้าของปราสาทอยู่ทางทิศตะวันออกที่ตระพักเขาชั้นล่างทางด้านทิศตะวันออกมีบันไดต้นทางที่จะขึ้นไปสู่ปราสาท กว้าง ๒๒ เมตร เป็นชั้น ๆ สี่ชั้น ถัดบันไดขึ้นไปเป็นชาน มีฐานศิลาอย่างมีร่องน้ำมนต์ขนาดใหญ่ ขนาด ๕ เมตร สำหรับตั้งรูปประติมาอยู่ริมชานซ้ายขวาข้างละหนึ่งฐาน ถัดจากฐานเป็นบันไดไปสู่เนินดินรูปสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าเป็นฐานของพลับพลาหรือมณเฑียรเป็นรูปกากบาทขนาดกว้าง ๕.๕ เมตร ยาวจากทิศเหนือไปใต้ ๔๐ เมตร จากตะวันออกไปตะวันตก ๓๐ เมตร ตั้งอยู่บนฐานดินขนาด ๑๕๐ x ๑๕๐ เมตร
                        ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และเป็นที่เคารพนับถือมาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘
                         มณเทียร  มุมตะวันออกเฉียงเหนือมักเรียกกันว่าโรงช้างเผือก เดิมคงเป็นศาสนสถานคงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖
                        ห่างจากมณเทียรตรงไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๕๐ เมตร มีสระน้ำขนาดเล็กขนาดใหญ่อยู่สามสระขังน้ำได้ตลอดปี
                         ซากปรางค์อิฐสององค์  เพิ่งขุดพบใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออาจสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ หลังศิลปะขอมสมัยบาเค็งไม่นานนัก
                         ปรางค์น้อย  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คงสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เพราะภาพสลักแสดงถึงศิลปะขอมสมัยคลัง (พ.ศ.๑๕๐๐ - ๑๕๕๐) และสมัยบาปวน (พ.ศ.๑๕๕๐ - ๑๖๕๐) ปะปนกันอยู่
                         ปรางค์องค์ใหญ่ และระเบียงที่ล้อมรอบ คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ คือในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะขอมสมัยบาปวนตอนปลายกับสมัยนครวัด
                         ถนนสะพานนาคราช และบันไดศิลาหน้าปราสาททางทิศตะวันออก มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมสมัยนครวัดตอนต้น (พ.ศ.๑๖๕๐ - ๑๖๗๕)
                         วิหารสองหลัง  อยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือหนึ่งหลัง และตะวันออกเฉียงใต้หนึ่งหลัง คงจะก่อเพิ่มเติมขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรขอม ตรงกับศิลปะสมัยบายน (ราว พ.ศ.๑๗๐๐ - ๑๗๕๐)
                        ศาสนสถานบนเขตพนมรุ้ง เป็นเทวาลัยสำคัญ คงเป็นเพราะตั้งอยู่บนเส้นทางเดินที่สำคัญจากเมืองนครในอาณาจักรขอม มายังปราสาทตาเมืองธม อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ต่อชายแดนระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย ปราสาทเมืองต่ำ อ.ประโคมชัย จ.บุรีรัมย์ ขึ้นไปยังปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมาทางทิศเหนือนั่นเอง ปราสาทพนมรุ้งคงทิ้งร้างไปเมื่อชนชาติไทยเข้ามามีอำนาจ เพราะไม่เคยค้นพบพระพุทธรูป ณ ศาสนสถานแหล่งนี้เลย         ๒๐/ ๑๒๖๑๔
                ๓๗๗๗. พนมวัน - ปราสาทหิน  ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านโพธิ์  อ.เมือง ฯ จ.นครราชสีมา ในจารึกเรียกว่า เทวาศรม สร้างเป็นปรางค์ และวิหารมีฉนวน (ทางเดิน) ตัดต่อตลอดถึงกัน ภายในคูหาปรางค์ และวิหารมีพระพุทธรูปศิลาปางต่าง ๆ ขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่หลายองค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยสูง ๑.๕๒ เมตร มีลักษณะแบบอู่ทองผสมทวารวดี ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีในการศึกษาทางศิลปกรรม
                        ถัดตัวปราสาทหินออกมาเป็นบริเวณลาน มีระเบียงคดก่อด้วยศิลาล้อมรอบ กว้าง ๔๕ เมตร ยาว ๖๓.๓๐ เมตร ที่ลานระหว่างองค์ปรางค์กับประตูระเบียงคดด้านใต้ มีอาคารก่อด้วยหินทรายเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งทำด้วยหินทรายสีแดงทำวางอย่างตะแคงเหมือนอย่างเดียวกันในนครวัด
                        ที่ปราสาทหินแห่งนี้มีอักษรจารึกอยู่ตามหินกรอบประตู และเสาหลายแห่ง มีหลักหนึ่งเป็นจารึกของพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่สอง (พ.ศ.๑๕๙๓ - ๑๖๐๙) เป็นภาษาสันสกฤตและเขมร
                        ถ้าจะพิจารณาจากทางด้านศิลปะจะเห็นว่า ปราสาทนี้คงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ เข้าใจว่าสร้างเป็นเทวสถาน ครั้นต่อมาซึ่งอาจเป็นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๓) จึงได้ดัดแปลงเป็นพุทธสถานพระพุทธรูปที่มีอยู่ในปราสาทก็ตกอยู่สมัยอู่ทอง ซึ่งอยู่หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด         ๒๐/ ๑๒๖๒๙
               ๓๗๗๘. พนมสวรรค์  เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามชายป่า ใบเดี่ยว โคนใบกว้างหยักเว้าเป็นรูปหัวใจ ใบเรียงตรงข้ามกันคนละระนาบ ดอกสีแดงเป็นช่อใหญ่ออกตามยอด
                        พันธุ์ไม้ชนิดอื่นในสกุลนี้มักจะเรียกกันว่า นมสวรรค์เหมือนกัน เช่น นมสวรรค์เขา เป็นไม้พุ่มสูง ๒ - ๓ เมตร ดอกสีขาว เป็นช่อแน่นตามยอด
                         พนมสวรรค์ต้น  เป็นไม้ยืนต้นสูง อาจถึง ๑๐ เมตร ดอกสีขาวเป็นหลอดยาวปลายผาย ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง ผลกลม
                         พนมสวรรค์ป่า  เป็นไม้พุ่ม อาจสูงถึง ๒ เมตร ใบสีเขียวเทามีขนนุ่มทั้งสองด้าน ดอกสีขาวออกเป็นช่อโปร่งตามยอด บางทีก็เรียกว่า นางแย้มป่า และพวงพีแดง         ๒๐/ ๑๒๖๓๔
                ๓๗๗๙. พนมสารคาม  อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มบ้าง ดอนบ้าง มีป่าดงและเขาบ้าง
                        อ.พนมสารคาม เดิมเป็นเมือง ชื่อพนมสารคามตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่า แล้วยุบเป็นอำเภอ ย้ายไปตั้งที่ ต.พนมสารคาม         ๒๐/ ๑๒๖๓๕
                ๓๗๘๐. พนัง  เป็นสิ่งที่ก่อสร้างขึ้นเป็นคัน มีแนวขนานหรือเกือบขนานไปกับแนวทางน้ำหรือฝั่งทะเล เพื่อป้องกันน้ำจากทางน้ำนั้น หรือทะเลไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่เป็นการป้องกันอุทกภัยแบบหนึ่ง         ๒๐/ ๑๒๖๓๕
                ๓๗๘๑. พนัญเชิง - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใน ต.คลองสวนพลุ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายในเขต อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
                        ชื่อวัดก่อนมี พ.ร.ฎ.กำหนดให้เรียกชื่อนี้ได้มีการเรียกกันหลายอย่างคือ วัดพระนางเชิง วัดพระเจ้าพระนางเชิง วัดพระนางเอาเชิง วัดพระนงเชิง วัดพระเจ้าพระแนงเชิง ครั้นมีประกาศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เกี่ยวกับชื่อวัดนี้แล้วเรื่องจึงยุติ และพระองค์ได้ทรงถวายพระนามพระพุทธรูปสำคัญองค์ใหญ่ ในพระวิหารของวัดนี้ ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าพนัญเชิงว่า พระพุทธไตรรัตนนายก
                        เขตและอุปจารวัด ปัจจุบันได้รวมพื้นที่ของวัดร้างอีกสี่วัดเข้าไว้ด้วยกันคือ วัดมณฑป วัดรอ วัดโคก และวัดขอมหรือวันสวนพลู
                       จากข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ว่า "จุลศักราช ๖๘๖ (พ.ศ.๑๘๖๗) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง" เมื่อเทียบกับปีที่สร้างพระนครศรีอยุธยา วัดพนัญเชิง โดยเฉพาะพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้นสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี แต่ไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้สร้าง ในพงศาวดารเหนือกล่าวเป็นตำนานว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งกษัตริย์กรุงอโยธยา เสด็จไปกรุงจีนโดยทางชลมารค ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางสร้อยดอกหมาก พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน แล้วพากันเสด็จกลับมาโดยขบวนสำเภา เกิดความไม่เข้าใจกันในเรื่องการเชิญพระนางเข้าเมือง พระนางจึงกลั้นพระทัยสิ้นพระชนม์ถึงปี จ.ศ.๔๐๖ (พ.ศ.๑๕๘๗) พระเจ้าสายน้ำผึ้งโปรดให้เชิญพระศพระนางสร้อยดอกหมากมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอาราม และพระราชทานนามว่าวัดพระเจ้าพระนางเชิง
                         พระพุทธไตรรัตนายก หรือพระเจ้าพนัญเชิง เป็นพระพุทธปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย สมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง ๗ วา ๑๐ นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี ๙ วา ๒ ศอก
                         ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก  เป็นศาลเจ้าแบบจีน ชาวจีนเรียกว่า ศาลเจ้าแม่อาเนี้ย มุขด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนายกจำลอง มุขด้านหลังเป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนตั้งแท่นบูชา และรูปพระนางสร้อยดอกหมาก ชั้นล่างตั้งแท่นบูชากวนอู ใกล้ ๆ ศาล มีสมอเรืออันหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านงมขึ้นมาได้จากหน้าวัด         ๒๐/ ๑๒๖๔๕
                ๓๗๘๒. พนัน  เป็นการเล่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเอาเงิน หรือเอาทรัพย์สินอย่างอื่น การเล่นที่จัดเป็นการพนันจะต้องมีผู้เล่นอย่างน้อยสองฝ่าย ผู้เล่นจะเข้าทำการเสี่ยงโดยตกลงกันว่า ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายทำนายได้ถูกต้อง ถึงปรากฎการณ์ที่จะมีขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้ แต่ขณะที่ทำการตกลงนั้น ยังไม่บังเกิดผลเป็นที่ประจักษ์
                        การตกลงกันดังกล่าวจะต้องมีการเสี่ยงด้วยกันทุกฝ่าย
                        การพนันมีมาแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนสมัยพุทธกาลคำสอนของศาสนาต่าง ๆ ได้สอนถึงโทษของการพนันไว้         ๒๐/ ๑๒๖๕๓
                ๓๗๘๓. พนัสนิคม  อำเภอขึ้น จ.ชลบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา ตอนกลางเป็นที่ลุ่มปนที่ดอนเหมาะแก่การทำสวนและทำนา ตอนใต้เป็นที่ดอนมีป่า และเขาโดยมาก
                        อ.พนัสนิคม เดิมเป็นเมืองโบราณเรียกกันว่า เมืองพระรถ ปัจจุบันนี้ปรากฏว่า มีเนินดินทำนองเป็นกำแพงเมืองโบราณอยู่สี่ด้าน ภายในเขตกำแพงนั้น มีเมืองด้านตะวันออก และตะวันตก กว้างราว ๖๐๐ เมตร ด้านเหนือและใต้ยาว ๑,๒๐๐ เมตร ทางด้านตะวันตกนอกกำแพงเมืองออกไปราว ๒๐๐ เมตร มีกำแพงดินเป็นแนวยาวจากเหนือไปใต้กั้นอยู่อีกชั้นหนึ่ง ยาวราว ๓๐๐ เมตร และที่ตอนเหนือของแนวกำแพงดินนี้มีเนินสูงรูปกลม ชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุ
                        ในรัชกาลที่สาม ชาวเมืองนครพนมมีพระอินทอาสาเป็นหัวหน้า ได้ไปโค่นถางป่าในอำเภอนี้ตั้งเป็นนิคม จึงโปรดให้ยกขึ้นเป็นเมือง และตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี และเมืองฉะเชิงเทรามารวมขึ้นอยู่ด้วยเรียกว่า เมืองพนัสนิคม ต่อมาในรัชกาลที่ห้ายุบเป็นอำเภอขึ้น จ.ชลบุรี         ๒๐/ ๑๒๖๖๒
                ๓๗๘๔. พนัสบดี  แปลว่าเจ้าป่า หรือเดิมหมายถึงต้นไม้ใหญ่แห่งป่า แต่ในทางโบราณคดีได้นำเอานามนี้มาใช้กำหนดเรียกรูปภาพประติมากรรมแบบหนึ่ง ซึ่งทำเป็นส่วนประกอบฐานพระพุทธรูปบางองค์ที่สร้างแต่สมัยทวารวดี
                        รูปแบบประติมากรรมดังกล่าวที่ปรากฎมีลักษณะเห็นได้เฉพาะ ส่วนใบหน้าคล้ายสัตว์ชนิดหนึ่งทำปากเป็นจะงอยดังปากครุฑ ดวงตาคล้ายตานกมีเขา และหูอยู่สองข้างศีรษะคล้ายเขาและหูวัว ข้างกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างมีปีกดังปีกนกคลี่กางออก
                        รูปภาพประติมากรรมแบบที่เรียกว่า พนัสบดีได้นำมาประดิษฐานพระพุทธรูปบางองค์ที่สร้างขึ้นแต่สมัยทวารวดีมีจำนวนไม่มากนักและไม่แพร่หลายให้เห็นได้ทั่วไป         ๒๐/ ๑๒๖๖๓
                ๓๗๘๕. พนา  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี ภูมิประเทศเป็นโคกปนนา เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ตระการพืชผล ยกฐานะเป็นอำเภอ ปี พ.ศ.๒๕๐๑         ๒๐/ ๑๒๖๖๖
                 ๓๗๘๖. พม่า ๑  ประเทศพม่าตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจดประเทศอินเดีย ทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดต่อกับประเทศจีน ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศจีน ประเทศลาวและประเทศไทย ทิศใต้จดทะเลอันดามัน และอ่าวเมาะตะมะ ทิศตะวันตกเฉียงใต้จดทะเลอันดามัน ทิศตะวันตกจดอ่าวเบงกอล และบังคลาเทศ
                        ลักษณะพื้นดินของพม่าเป็นเทือกเขาที่ขนานกันอยู่ในแนวเหนือ - ใต้ ระหว่างเทือกเขาต่าง ๆ เป็นแม่น้ำคือ แม่น้ำอิรวดี และสาขา แม่น้ำสาลวิน และสาขา และแม่น้ำสะโตง แม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสาลวิน มีต้นน้ำอยู่ที่ที่ราบสูงทิเบต ลุ่มแม่น้ำอิรวดีแบ่งออกได้เป็นสามตอนคือ ตอนต้นน้ำจากที่ราบสูงทิเบต มาถึงบริเวณที่อยู่เหนือเมืองมัณฑเลขึ้นไปประมาณ ๘๐ กม. เป็นที่ราบแคบ ๆ มีพลเมืองเบาบาง แม่น้ำตอนนี้ได้รับน้ำจากลำธารต่าง ๆ ที่ไหลมาจากเหนือเขาต่าง ๆ มาสมทบด้วย ตอนกลางของลุ่มน้ำมีที่ราบกว้างขวางขึ้น แต่ปริมาณฝนตกน้อย จัดเป็นเขตแห้งแล้ง ที่ตอนกลางของลุ่มน้ำมีแม่น้ำชินดวิน ไหลมาสมทบด้วย ตอนปากน้ำซึ่งเป็นดินดอนสามเหลี่ยมนั้น เป็นบริเวณที่กว้างขวางที่สุดคือ กว้างประมาณ ๒๔๐ กม. และยาวจากทะเลขึ้นไปประมาณ ๒๗๐ กม. ลุ่มน้ำตอนปากน้ำเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เทือกเขาที่อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีคือ เทือกเขาพะโค เป็นเทือกเขาเตี้ย ๆ ถัดเทือกเขาพะโคไปทางตะวันออกเป็นแม่น้ำสะโตง ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ของลุ่มน้ำอิรวดีเป็นเทือกเขาอยู่ในแนวเหนือ - ใต้ เป็นแนวพรมแดนของพม่า ตอนใต้สุดของเทือกเขามีชื่อว่า เทือกเขายะไข่ เป็นตอนที่สูงที่สุดคือ สูงระหว่าง ๒,๔๐๐ - ๓,๙๐๐ เมตร ทางตะวันตกของเทือกเขายะไข่ เป็นที่ราบชายฝั่งแคบ ๆ ขนานไปกับอ่าวเบงกอล มีชื่อว่า ที่ราบยะไข่
                        ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของพม่าเป็นที่ราบสูงคือ ที่ราบสูงฉาน หรือที่ราบสูงไทยใหญ่ สูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๙๐๐ เมตร แม่น้ำสาลวินไหลผ่านที่ราบสูงนี้ โดยไหลมาในหุบเขาที่ลึกและแคบ แม่น้ำสาลวินนี้ใช้ในการเดินเรือได้ เฉพาะตอนปลายของแม่น้ำมีระยะทางประมาณ ๓ - ๕ กม. เท่านั้น ต่อจากที่ราบสูงลงไปทางใต้เป็นส่วนที่ยื่นล้ำออกไปจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของพม่า มีลักษณะแคบและยาวคือ ส่วนที่เรียกว่า ตะนาวศรี ยาวประมาณ ๘๐๐ กม.
                        เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ พม่ามีพลเมือง ๓๕ ล้านคน บรรพบุรุษของพม่าเป็นเชื้อชาติมองโกล อพยพมาจากภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว พลเมืองพม่ามีหลายกลุ่ม มีวัฒนธรรมบางอย่างแตกต่างกัน เช่น ภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี บางอย่าง กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดคือ พม่า มีจำนวนประมาณร้อยละ ๖๕ พวกพม่าตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มน้ำอริวดีตอนกลาง และบริเวณดินดอนสามหลี่ยมของแม่น้ำกลุ่มอื่น ๆ มีไทยใหญ่ประมาณร้อยละ ๗ อยู่ที่ราบสูงฉาน กะเหรี่ยงมีประมาณร้อยละ ๗ อยู่ที่บริเวณเนินเขาทางตะวันออก นอกจากนี้ก็มี มอญ กะฉิ่น ฉิ่น แต่ละกลุ่มมีประมาณร้อยละ ๒ และยังมีชาวเขาอีกมากมายหลายกลุ่ม พลเมืองพม่าพูดภาษาต่าง ๆ กันตามกลุ่ม ส่วนชาวจีนและชาวอินเดียในพม่า เป็นชนกลุ่มน้อยที่สำคัญที่อพยพเข้ามาอยู่ในพม่า ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕
                        พม่ารวมกันเป็นประเทศได้ในรัชสมัยของพระเจ้าอนุรุทธ ซึ่งปกครองพม่าระหว่างปี พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๒๐ มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจการปกครอง ระหว่างพวกพม่ากับพวกมอญ จนถึงปี พ.ศ.๒๓๖๗ พม่าทำสงครามกับอังกฤษ และเป็นฝ่ายแพ้จึงต้องเสียแคว้นอัสสัม ยะไข่ และตะนาวศรี ให้แก่อังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ ต่อมามีสงครามระหว่างพม่ากับอังกฤษอีกหกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๐๕ อังกฤษจัดให้พม่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย อังกฤษได้แยกพม่าออกจากอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ และได้รับสิทธิในการปกครองตนเองในขอบเขตที่กว้างขวาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองพม่าอยู่สามปี พม่าได้ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่อินเดีย ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ พม่าได้เป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์
                        ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เกิดรัฐประหารในพม่า ประธานสภาปฎิวัติคือ นายพลเนวิน
                        พม่าประกอบด้วยรัฐเจ็ดรัฐคือ รัฐกะฉิ่น ฉาน ยะไข่ คยาห์  กะเหรี่ยง มอญ และหน่วยการปกครองเจ็ดหน่วยคือ สะแกง มัณฑเล แมกเว อิรวดี พะโค ย่างกุ้ง และตะนาวศรี         ๒๐/ ๑๒๖๖๗
                ๓๗๘๗. พม่า ๒  เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานประเทศหนึ่ง หลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตอนต้นไม่สมบูรณ์  ราวพุทธกาลพวกมองโกลได้แผ่ขยายลงมาทางทิศใต้จากประเทศจีนเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำอิรวดีและแยกออกเป็นหลายสาขา บางสาขามาจากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของดินแดนแถบภูเขาทิเบตที่ลาดลงทางใต้มีชื่อว่าพวกทิเบต - พม่า แล้วแยกออกเป็นหลายชนเผ่า รวบรวมกันอยู่เป็นเมือง แล้วกลายเป็นนครรัฐได้แก่พวกปยุ พวกมอญ และพวกพม่า พวกปยุตั้งอาณาจักรศรีเกษตร ตามตำนานพื้นเมืองกล่าวว่าศรีเกษตรมีศูนย์กลางตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเมืองแปรในพม่า ส่วนพวกมอญตั้งเป็นอาณาจักรสุธรรมวดี ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอาณาจักรศรีเกษตร
                        พระเจ้าอโนรธามังช่อหรืออนุรุทธ์ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๒๐ เป็นกษัตริย์องค์แรกที่ได้รวมพม่าทางการเมือง ทรงแผ่อาณาจักรพุกามออกไปอย่างกว้างขวาง      ๒๐/ ๑๒๖๗๓
                ๓๗๘๘. พยัคฆภูมิพิสัย  อำเภอ ขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นทุ่งหญ้า บางแห่งทำนาได้ เดิมชาวบ้านเรียกว่า อ.ปะหล่าน เดิมเป็นเมือง ยุบเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖        ๒๐/ ๑๒๖๗๖
                ๓๗๘๙. พยัญชนะ  มีบทนิยามว่า "ตัวหนังสือตั้งแต่ ก ถึง ฮ..." มีผู้ให้ความหมายพยัญชนะไว้ว่า "กระทำเสียงให้ปรากฎชัดเจน, ในภาษาพูด หมายถึง สำเนียงชัดเจนที่เกิดจากพยัญชนะประสมกับสระ แต่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ ในภาษาหนังสือ หมายถึง เครื่องหมายหรือตัวอักษรที่สำหรับใช้ประสมกับสระ เพื่อใช้แทนภาษาพูด หรือจารึกคำพูดไว้มิให้สูญ..."
                        ตามหลักภาษาไทย พยัญชนะจะออกเสียงตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสระประสมอยู่ด้วย จึงจะออกเสียงได้ ดังนั้น ในภาษาบาลีจึงเรียกชื่อ พยัญชนะว่า นิสิต หมายความว่า ต้องอาศัยสระ จึงออกเสียงได้ สระกับพยัญชนะจึงต้องใช้คู่กันเสมอ จะเขียนสระโดยตามลำพังโดยไม่มีพยัญชนะ กำกับไม่ได้ เว้นแต่รูปสระบางตัว ที่ไทยรับถ่ายแบบมาจากภาษาสันสกฤตคือ ฤ ฤา ฦ ฦา เท่านั้น ที่เขียนลำพังได้โดยไม่ต้องมีสระกำกับ เนื่องจากรูปและเสียงพยัญชนะในภาษาไทย มีความสัมพันธ์กับรูป และเสียงพยัญชนะในภาษาบาลี และสันสกฤต จึงควรรู้เรื่องนี้โดยย่อคือ
                        พยัญชนะในภาษาบาลี และสันสกฤตมี ๓๓ ตัว แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
                        ก. พยัญชนะวรรค  คือพยัญชนะที่มีฐานเกิดร่วมกัน และจัดเข้าเป็นพวกเป็นหมู่ได้ ๒๕ ตัวคือ
                        ๑. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฐานคอ มีห้าตัวคือ ก ข ค ฆ ง เรียกว่า วรรค กะ
                        ๒. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฐานเพดาน มีห้าตัวคือ จ ล ช ฌ ญ เรียกว่า วรรค จะ
                        ๓. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฐานปุ่มเหงือก มีห้าตัวคือ ฎ ฐ ฑ ฒ น เรียกว่า วรรค ฎะ
                        ๔. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฟัน มีห้าตัวคือ ต ถ ท ธ น เรียกว่า วรรค ตะ
                        ๕. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฐานริมฝีปาก มีห้าตัวคือ ป ผ พ ภ ม  เรียกว่า วรรค ปะ
                        ข. เศษวรรค  คือพยัญชนะที่จัดเข้าวรรคไม่ได้ มีอยู่แปดตัวคือ ย ร ล ว ส ห ฬ อ ํ
                         ภาษาสันสกฤต มีเศษวรรคมากกว่าภาษาบาลีอยู่สองตัวคือ ศ ษ
                         พยัญชนะไทย  มี ๔๔ ตัว จัดเรียงลำดับโดยถือเอาเสียงเป็นหลัก จากเสียงเบาไปหาเสียงหนัก และเรียงตามเสียงที่เกิดจากข้างในออกมาข้างนอก ตามฐานที่เกิด
                         พยัญชนะไทย ถ้าไม่กำหนดเสียงสูงเสียงต่ำแล้ว จะมีเสียงอยู่เพียง ๒๐ เสียง ถ้าไม่นับเสียง "อ" ถ้านับก็จะมี ๒๑ เสียง
                         การใช้พยัญชนะ  ถือหลักว่าพยัญชนะตัวใดใช้เขียนคำที่มาจากภาษาใดบ้าง แบ่งออกเป็นสามชนิดคือ
                         ๑. พยัญชนะกลาง  ใช้เขียนทั่ว ๆ ไป ทั้งคำไทย คำบาลี และคำสันสกฤต ตลอดจนใช้เขียนคำที่มาจากภาษาอื่น เช่น เขมร มอญ ชวา อังกฤษ มีอยู่ ๒๑ ตัว คือ  ก ข ค ง จ ฉ ช ต ถ ท น ป ผ ท ม ย ร ล ง ส ห
                         ๒. พยัญชนะเดิม  ใช้เขียนเฉพาะคำบางคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต และภาษายุโรป บางคำ มี ๑๓ ตัว คือ ย ณ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฬ ในภาษาไทยมีที่ใช้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ใช้เป็นคำไทยที่เขียนติดมาแต่โบราณ จนกลายเป็นความนิยม ซึ่งเป็นข้อยกเว้นพิเศษ มีอยู่เก้าตัวคือ ฆ ณ ญ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ เช่น ฆ้อง ฆ่า เฆี่ยน เฌอ ญี่ปุ่น หญ้า หญิง ใหญ่ ผู้เฒ่า ณ (ใน, ที่) ธง เธอ ภาย สำเภา เสภา  อำเภอ ศอก ศึก เศร้า ดาษ เดียรดาษ
                         ๓. พยัญชนะเติม  นอกจากจะใช้เขียนคำในภาษาไทยแล้ว ยังใช้เขียนคำบางคำที่แผลงมาจากภาษาบาลี และสันสกฤต ตลอดจนภาษาอื่น ๆ มีทั้งหมดสิบตัวคือ ฑ ค ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ           ๒๐/ ๑๒๖๗๗
                ๓๗๙๐. พยับเมฆ - ต้น  เป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี ต้นสูงประมาณ ๕๐ ซม. ลำต้นเป็นเหลี่ยม ใบคล้ายใบโหระพา ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ออกดอกตลอดปี ดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวปนม่วงอ่อน หรืออมฟ้า มีอีกชื่อว่า หญ้าหนวดแมว
                        พยับเมฆ มีสรรพคุณเป็นยา          ๒๐/ ๑๒๖๘๔
                ๓๗๙๑. พยับหมอก - ต้น  เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า เจตมูล เพลิงฝรั่ง เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบออกเรียงสลับกัน รูปไข่กลับ หรือรูปรี ดอกไม่มีก้าน ออกเป็นช่อสั้น ๆ ที่ปลายกิ่งตลอดปี สีฟ้าอมม่วงอ่อน ตอนโคนเป็นหลอดเรียว          ๒๐/ ๑๒๖๘๕
                ๓๗๙๒. พยากรณ์ ๑ (อากาศ)  ต้องอาศัยหลักวิชาอุตุนิยมวิทยา ซึ่งนอกจากวิชาฟิสิกส์ แล้ว วิชาคณิตศาสตร์ ก็ได้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการสร้างสูตรต่าง ๆ ที่ควบคุมบรรยากาศ
                        การพยากรณ์อากาศของไทย มีกำเนิดขึ้นในกองทัพเรือ และได้มีการพัฒนาวิชาการ และกิจการจนถึงปัจจุบัน และเข้าเป็นสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเป็นลำดับที่ ๑๙
                         กรรมวิธีการพยากรณ์  แบ่งออกได้เป็นสามขั้นตอนคือ
                         ๑. การตรวจอากาศ  แบ่งออกเป็นสองอย่างคือ การตรวจอากาศผิวพื้น และการตรวจอากาศชั้นบน ในเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น และความกดอากาศ
                         ๒. การสื่อสาร  เป็นตัวกลางประสานงานระหว่างการตรวจอากาศ และการพยากรณ์อากาศ ทำหน้าที่ทั้งการรวบรวม การส่ง และการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวอากาศทุกชนิด ข้อมูลผลการตรวจสารประกอบ อุตุนิยมวิทยา จะถูกน้ำเข้ารหัสตามสากลที่กำหนด และจะต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศด้วย
                         ๓. การพยากรณ์อากาศ  แบ่งออกได้เป็นสามอย่างโดยถือเอาช่วงเวลาที่พยากรณ์คือ พยากรณ์อากาศระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว          ๒๐/ ๑๒๖๘๕

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch