หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/101

    ๓๗๓๙. ฝิ่นหนาม  เป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับฝิ่น แต่ต่างสกุลกัน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเม็กซิโก เป็นพืชล้มลุก มีน้ำยางสีเหลือง สูง ๓๐ - ๖๐ ซม. ใบเดี่ยว ไม่มีก้านใบ ดอกคล้ายฝิ่น แต่ขนาดใหญ่กว่า สีเหลืองหรือสีส้ม ผลรูปร่างค่อนข้างยาว
                        ฝิ่นหนามชอบแดดจัด นอกจากใช้เป็นไม้ประดับแล้ว น้ำมันจากเมล็ดยังใช้ทำสบู่แและเป็นเชื้อเพลิงสำหรับจุดตะเกียงได้ด้วย        ๒๐/ ๑๒๕๓๘
                ๓๗๔๐. ฝี  เป็นการอักเสบเนื่องจากโรคติดเชื้อ แล้วทำให้เกิดหนองซึ่งเกิดจากการสลายของเนื้อเยื่อ และตัวเชื้อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุอยู่ในโพรงหนอง ล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อที่ดี เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ อาจเป็นตัวปรสิต เชื้อรา บัคเตรีหรือไวรัสก็ได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายคนล้วนทำให้เกิดฝีขึ้นได้ทั้งนั้น
                        เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้สามทางด้วยกันคือ
                        ๑. เข้าทางบาดแผลที่ผิวหนัง หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาก็จะเกิดเป็นฝีขึ้นตรงตำแหน่งนั้น ๆ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีอาการและอาการแสดงเด่นชัด
                        ๒. เข้าทางอากาศหายใจ ทำให้เกิดฝีขึ้นได้ โดยเฉพาะแถวต่อมทอนซิล และฝีในปอด เป็นต้น
                        ๓. เข้าทางระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะพวกปรสิต เชื้อบิดอะมีบา นอกจากทำให้เกิดแผลในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดบ่อย ๆ แล้วเชื้อบิดอะมีบา ยังไปทำให้เกิดเป็นฝีในตับได้อีกด้วย        ๒๐/ ๑๒๕๓๘
                ๓๗๔๑. เฝือก ๑  คือเครื่องกั้นน้ำดักปลา เป็นเครื่องจับสัตว์น้ำ ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าและเหลาเป็นซีก ขนาดใหญ่เท่ากับก้านตับจากมุงหลังคา หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย แล้วถักด้วยหวายให้เป็นแผง ตามปรกติแผงหนึ่งยาวประมาณ ๘ - ๑๐ เมตร ขนาดสูงของเฝือกนั้นสุดแท้แต่จะใช้ในน้ำลึกเท่าใด
                        วิธีการใช้เฝือกนี้ ใช้ทำการตั้งกั้นลำคลอง หรือใช้ล้อมรุกสัตว์น้ำเป็นตอน ๆ เพื่อสดวกแก่การจับ บางคราวใช้ประกอบกับเครื่องจับสัตว์น้ำบางชนิดเช่นลอบ ใช้ทำเป็นปีกเพื่อกั้นสัตว์น้ำให้ลงสู่ตัวลอบ มีใช้ทั่วไปทั้งในน่านน้ำจืดและน้ำเค็ม
                        เฝือกกางกั้น  มีลักษณะคล้ายคลึงกับเฝือกรัง ชาวประมงกางเฝือกนี้ออกเมื่อเวลาน้ำขึ้น เพื่อกั้นไม่ให้ปลาหนีออก และจะจับสัตว์น้ำขณะน้ำลดต่ำ
                       เฝือกโขด  เป็นอย่างเดียวกับเฝือกล้อม แต่เรียกเพี้ยนไปอีกชื่อหนึ่ง
                       เฝือกตานี  เหมือนกับเฝือกรัง แต่มีชื่อเรียกเพี้ยนไปอีกชื่อหนึ่ง
                       เฝือกรัง  แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งทำเป็นวงซ้อนกันเรียกว่า สุก หรือก้นขัง ใช้เฝือกทำปีกตั้งกางออกไปจากปากสุกเป็นมุมประมาณ ๖๐ - ๙๐ องศา ไปจดริมตลิ่งใช้จับปลาเมื่อน้ำลด
                       เฝือกล้อม  ใช้เมื่อเวลาน้ำลง ชาวประมงจะนำเฝือกชนิดนี้ไปล้อมเป็นรูปวงกลมตามชังหรือกร่ำที่ปักไว้ รอให้น้ำลงจึงทำการจับสัตว์น้ำที่ตกขังอยู่ภายใน
                ๓๗๔๒. เฝือก ๒  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพทย์ เพื่อดามกระดูกและข้อมีหลายชนิดตามแต่วัสดุที่ใช้ ปัจจุบันเผือกปูนเป็นเฝือกที่ได้รับความนิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุด         ๒๐/ ๑๒๕๔๒
                         เฝือกปูน  ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ วิวัฒนาการของเฝือกปูนเริ่มมาก่อน ๑,๐๐๐ ปี คือ มีการใช้แคลเซียมออกไซด์ผสมไข่ขาวทำเป็นเฝือกในปี พ.ศ.๒๓๔๑ มีผู้ใช้ปูนปลาสเตอร์หล่อหุ้มเท้าเพื่อเป็นเฝือกรักษาโรคเท้าปุก วิธีเคลือบผงเฝือกให้ติดกับโครงผ้าโปร่ง เพิ่งเริ่มทำเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ นี้เอง
                         เฝือกสังเคราะห์  ทำด้วยสารสังเคราะห์มีหลายชนิด ชนิดเป็นแผ่นเวลาใช้จึงตัดให้เป็นรูปที่ต้องการไว้จนเฝือกแข็งตัวคงรูป ขอดีคือ มีน้ำหนักเบาและแข็งกว่าเฝือกปูน เวลาถูกน้ำจะไม่ยุ่ยตัวเหมือเฝือกปูน
                         เฝือกลม  เป็นถุงพลาสติกมีที่เก็บลม เมื่อเป่าถุงลมจะพองตัวรัดแขน ขาโดยรอบเป็นการดามชั่วคราว ใช้ในการปฐมพยาบาลและขนย้ายผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุ เมื่อเลิกใช้ปล่อยลมพับเก็บได้
                         เฝือกผ้าใบ  ทำด้วยผ้าใบแข็งถอดและใส่ได้ เพื่อทำให้ส่วนที่เป็นอยู่ในท่าที่ต้องการ เช่น เฝือกผ้าใบที่ใช้กับข้อมือ ถ้าเป็นเฝือกผ้าใบขนาดใหญ่ใส่กระชับเอว หรือสันหลังเสริมความแข็งด้วยแผ่นโลหะหรือพลาสติก
                         เฝือกโลหะ  ทำด้วยโลหะเบา เช่น อะลูมิเนียมบางชนิดเป็นเฝือกสำเร็จรูปที่ใส่และถอดได้ เช่น เฝือกทางไหล่ เฝือกโลหะบางอย่างทำเป็นโครงสำหรับใส่แขน ขาในการดึงถ่วงกระดูกหักเพื่อการรักษา
                         เฝือกไม้  ทำด้วยไม้เป็นซี่แล้วถักเป็นเชือกให้ต่อกัน มีลักษณะคล้ายมู่ลี่ หรือลูกระนาดใช้ดามกระดูกหักในการแพทย์แผนโบราณ
                ๓๗๔๓. แฝก  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ประเภทหญ้าชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายหญ้าคา หรือตะไคร้ แต่ขนาดใหญ่กว่า เป็นหญ้าอายุยืนขึ้นเป็นกอแน่นและขนาดใหญ่ ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในอินเดีย และศรีลังกา ใบยาวแคบและแข็งยาว ๗๕ ซม. ก้วาง ๘ มม. ช่อดอกยาว ๑๕ - ๓๐ ซม. แตกแขนงได้
                        เนื่องจากมีน้ำมันระเหยหอม จึงเรียกว่า น้ำมันแฝกหอมใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมต่าง ๆ นอกจากนั้นรากแฝกมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นไม้จันทร์ใช้ทำเสื่อ กระเป๋า ม่าน และพัด ใช้อบผ้าให้มีกลิ่มหอมและกันแมลง
                        แฝกอีกชนิดหนึ่งพบในแอฟริกาใบกระด้างใช้ทำเป็นตับมุงหลังคาและทำฝาบ้านแบบใบจาก แฝกชนิดนี้ไม่มีในประเทศไทย         ๒๐/ ๑๒๕๔๕
                ๓๗๔๔. แฝด  เป็นคำคุณศัพท์ประกอบนาม นามอาจเป็นผลไม้หรือสัตว์ ผลไม้ที่พบบ่อยคือ กล้วย ถ้ามีลูกติดกันเรียกว่า กล้วยแฝด สัตว์บางชนิดที่ปรกติออกลูกมากกว่าหนึ่งตัว ไม่เรียกว่ามีลูกแฝด คงเรียกลูกแฝดเฉพาะในสัตว์พวกไพรเมต ซี่งมี มนุษย์ ลิง และลิงใหญ่คือ ลิงไม่มีหาง (เอพ) รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากสัตว์พวกนี้รวมทั้งมนุษย์ด้วยมีลักษณะพิเศษผิดกับสัตว์ชั้นต่ำ คือ
                        ลักษณะประการที่หนึ่ง มีมดลูกเหมาะสำหรับเป็นที่เจริญเติบโตของลูกตัวเดียว ฉะนั้นถ้าเกิดมากกว่าหนึ่งตัว หรือหนึ่งคน จึงเรียกว่า มีลูกแฝด
                        ลักษณะประการที่สอง คือ จะมีนมเพียงคู่เดียวอยู่ที่บริเวณหน้าอกจึงเหมาะที่จะเลี้ยงลูกทีละตัวหรือคน         ๒๐/ ๑๒๕๔๖
                ๓๗๔๕. แฝดน้ำ  คือ ภาวะที่มีจำนวนน้ำคร่ำ (น้ำหล่อทารก) มากกว่าปรกติ คือ เกิน ๒,๐๐๐ มล. เมื่ออายุครรภ์ประมาณ ๓๖ สัปดาห์ จะมีน้ำคร่ำปรกติเพียง ๑ ลิตร หลังจากนั้นปริมาตรจะค่อย ๆ ลดลง เมื่อครรภ์เกินกำหนดปริมาตรจะลดเหลือเพียง ๒๐๐ - ๓๐๐ มล. การเพิ่มปริมาตรของน้ำคร่ำที่ค่อยเป็นค่อยไปเรียกว่า แฝดน้ำเรื้อรัง
                        เมื่อปริมาตรของน้ำคร่ำเพิ่มขึ้นมากทันทีทันใดมดลูกจะขยายมากภายในเวลา ๒ - ๓ วัน เรียกว่า แฝดน้ำเฉียบพลัน         ๒๐/ ๑๒๕๕๕
                ๓๗๔๖. แฝดเลือด  คือ การมีเลือดออกมากหรือการตกเลือด (ทางช่องคลอด) ก่อนการคลอดลูก สาเหตุของแฝดเลือดที่พบได้บ่อย ๆ คือ ภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ป่วยตั้งครรภ์มาแล้วหลาย ๆ ครั้ง (ครรภ์หลัง ๆ ) เมื่อเกิดแฝดเลือดขึ้นคราวใดก็จะเป็นผลให้ทั้งมารดา และทารกเป็นอันตรายได้มาก
                        นอกจากนี้ในมารดาที่มีภาวะรกลอกตัวก่อนเวลาชนิดรุนแรงก็จัดอยู่ในเรื่องของแฝดเลือด เช่นกัน นับเป็นภาวะที่ทำให้อัตราตายทั้งในมารดาและทารกเพิ่มสูงขึ้น         ๒๐/ ๑๒๕๕๙
                ๓๗๔๗. ไฝ  เป็นจุดหรือตุ่มนูนที่ปรากฏบนผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของเซลล์ที่มีการแบ่งตัวและมีพฤติกรรมที่ผิดไปจากเซลล์ปรกติ การเรียกชื่อ เรียกตามสีที่ปรากฏ คือ
                        ไฝดำ เกิดจากการที่มีการรวมกลุ่มของเซลล์ที่สร้างสี แต่ยังสร้างสีเมลานินได้ เมื่ออยู่รวมกันมากๆ ทำให้เป็นสีดำ
                         ไฝแดง เกิดจากการที่มีการรวมกลุ่มของเซลล์เป็นส่วนประกอบของผนังหลอดเลือด ทำให้มีหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น มีเลือดไหลผ่านมากไป ซึ่งเห็นเป็นตุ่มสีแดง
                       การเกิดไฝยังไม่มีใครทราบว่ามีภาวะใดที่กระตุ้นให้เกิดได้ ดังนั้นไฝจะปรากฏเมื่อไรก็ได้        ๒๐/ ๑๒๕๖๐

     

                ๓๗๔๘. พ  พยัญชนะตัวที่ ๓๐ ของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรต่ำเป็นตัวที่ห้าของวรรคที่ห้าใช้เป็นตัวสะกดในแม่กบในคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต เช่น บรรพ  สรรพ  ภาพ ชีพ ในภาษาไทยจัดเป็นพยัญชนะพวกอโฆษะ คือ มีเสียงไม่ก้อง
                       ในอักขรวิธีภาษาไทย พ จัดอยู่ในพวกอักษรคู่ มีเสียงคู่กับอักษร ผ เมื่อนำไปผันรวมกันและเรียงเสียงให้เข้าระดับกันแล้วจะได้เสียงวรรณยุกต์ครบห้าเสียง        ๒๐/ ๑๒๕๖๑
                ๓๗๔๙. พกาพรหม  เป็นชื่อพระพรหมองค์หนึ่งสถิตอยู่ในพรหมโลกชั้นมหาพรหม คนทั่วไปเรียกว่า ท้าวผกาพรหม เป็นผู้ที่ยึดมั่นในมิจอาทิฐิ ฝ่ายสัสตทิฐิ คือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยงแท้ไม่แปรผัน ขัดแย้งต่อหลักสัจธรรมของพระพุทธศาสนา ครั้นพระพุทธเจ้าทรงทรมานแล้วตรัสสอนให้ใช้วิจารณญาณหยั่งเห็นความจริงว่า ทุกสิ่งเป็นไปตามอำนาจของบุญกรรม และบาปกรรมที่ทำให้คนมีฐานะสูงต่ำตามควรแก่เหตุ แล้วตรัสกำชับให้ใช้ปัญญาสังเกตุความไม่จีรังยั่งยืนของสมบัติ และความสุขทุกสถาน ซึ่งแม้แต่อารมณ์ทางใจก็ไม่ยืนนานในที่สุดพกาพรหมได้ใช้วิจารณญาณหยั่งรู้ความจริงทำลายมิจฉาทิฐิที่ยังฝังใจมานาน ให้กลับกลายเป็นสัมมาทิฐิ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมจบลง พกาพรหมได้สำเร็จโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลมอบตนเป็นสาวก
                        เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในพรหมนิมันตสูตร มัชฌิมนิกาย สุตตันตปิฎก
                        อาศัยเค้าเรื่องแห่งพุทธจริยาปางนี้ คนโบราณถอดความมาเล่าเป็นนิทานตั้งเรื่องว่าพกาพรหมเล่นซ่อนหาข้าว พระพรหมเล่นซ่อนหาบ้าง และนิยมสร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่งเรียกว่า "ปางโปรดพกาพรหม" พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถยีนทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ พระหัตถ์ทั้งสองประสานอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในอาการสังวร จงกรมอยู่บนเศียรพกาพรหม     ๒๐/ ๑๒๕๖๒
                ๓๗๕๐. พง ๑ - หญ้า  ใช้เรียกชื่อหญ้าสามชนิด คือ
                         ๑. หญ้าพง  อาจมีชื่อเรียกทั่วไปว่าแขม หญ้าแซง หรือหญ้าระกำ ลักษณะทั่วไปคล้ายอ้อยป่า เป็นหญ้าข้ามฤดู ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. สูงประมาณ ๒ เมตร ใบขนาดประมาณ ๕๕ x ๒ ซม. ขอบใบคม ช่อดอกแคบมีกิ่งก้านแตกออกจากที่ที่เดียวกันรอบแกนกลางของช่อดอก
                         ๒. หญ้าพง อาจมีชื่อเรียกทั่วไปว่า เลา แขมดอกขาว คาหลวง (ภาคเหนือ) อ้อยเลา (ลพบุรี) ลักษณะทั่วไปคล้ายอ้อยขึ้นเป็นกอแน่น ใบยาวแคบปลายแหลม ช่อดอกยาวมีกิ่งก้านแตกออกจากที่เดียวกันรอบแกนกลางของช่อดอก
                         ๓. หญ้าพง อาจมีชื่ออื่นว่า หญ้าปง (ภาคเหนือ) เป็นหญ้าข้ามฤดูคล้ายต้นข้าวฟ่าง งอกจากเหง้าที่เลื้อยอยู่ใต้ดิน ใบออกสลับกัน ใบมีขนาดประมาณ ๒๐ - ๖๐x ๐.๕ - ๕ ซม. ช่อดอกเป็นช่อกระจายรูปพีรามิด เมื่อแก่เป็นสีม่วง         ๒๐/ ๑๒๕๗๐
                ๓๗๕๑. พง ๒ - ป่า  ทุ่งหญ้าที่เกิดขึ้นในป่ามีหญ้าหลายชนิด บางครั้งก็พบไม้ไผ่ขึ้นปะปนอยู่ดัวย ชาวบ้านเรียกว่า ป่าพง         ๒๐/ ๑๒๕๗๒
                ๓๗๕๒. พง ๓ - นก  เป็นนกที่ชอบอยู่ตามต้นไม้เตี้ย ๆ หรือตามป่าหญ้าที่ขึ้นสูง ๆ ตามริมบึงหรือในบึง นกพงชนิดที่อยู่บนต้นไม้เตี้ย ๆ เป็นนกพงใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น ยาวจากปลายปากถึงปลายหางราว ๒๐ ซม. ชนิดที่อยู่ตามพงหญ้ามักมีขนาดเล็กกว่านกกระจอก นกพงนี้บนตัวสีน้ำตาล ไม่มีลายมาก          ๒๐/ ๑๒๕๗๔
                ๓๗๕๓. พงตึก เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ในเขตจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันเป็นตำบลขึ้น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มีการค้นพบโบราณสถานวัตถุที่น่าสนใจคือ
                        ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ชาวบ้านได้ขุดค้นพบพระพุทธรูปสำริดสมัยทวารวดีหลายองค์มีผู้สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ และได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบหลังคุปตะ
                        โบราณวัตถุที่น่าสนใจมากคือ ตะเกียงน้ำมันหล่อด้วยสำริดคล้ายกับตะเกียงที่ขุดพบในเมืองปอมเปอี เป็นตะเกียงแบบกรีก - โรมัน มีจะงอยสำหรับจุไส้ช่องกลมข้างบน สำหรับเทน้ำมัน และด้ามสำหรับถือ ด้ามทำเป็นรูปลายใบปาล์มอยู่ระหว่างปลาโลมาสองตัว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นลวดลายเครื่องประดับตกแต่งของกรีกโรมัน ปลาโลมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่อยู่ริมทะเล ตะเกียงนี้คงมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่หก คงมาจากเมืองอะเล็กซานเดรียในสมัยปโตเลมี
                        จากการสำรวจและขุดค้น ณ ต.พงตึก ยังได้พบซากโบราณสถานหลายแห่ง ซึ่งนักปราชญ์สันนิษฐานว่า เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ได้พบซากฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๘ เมตร สร้างด้วยศิลาแลง ตัวอาคารที่หักพังไปแล้วคงสร้างด้วยอิฐใกล้ ๆ กับตัวอาคารพบดอกไม้ทำด้วยทองคำแผ่นบาง ๆ สันนิษฐานว่าอาจเป็นของที่ฝังอยู่ใต้ฐานศาสนสถานและยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่ง นักโบราณคดีลงความเห็นว่าคงมีอายุราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ คือ สมัยทวารวดี
                        ต่อมามีผู้ขุดพบเทวรูปพระนารายณ์สี่กร ทรงสังข์ จักร ดอกบัว และคธา กำหนดอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ หรือ ๑๔
                        จากหลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ต.พงตึกในปัจจุบัน เคยเป็นแหล่งชุมชนในสมัยโบราณ ที่อาจจะเป็นแหล่งชุมทางที่ตั้งอยู่ ในเส้นทางการค้าขายระหว่างอาณาจักรโรมันกับประเทศจีน ตั้งแต่ราวก่อนพุทธศตวรรษที่หก ต่อมาในสมัยทวาราวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ บริเวณนี้คงกลายเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้น มีการนับถือพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ด้วย         ๒๐/ ๑๒๕๗๕
                ๓๗๕๔. พงศาวดาร  มีบทนิยามว่า "เรื่องราวของเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศชาติหรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น" คำนี้เป็นคำเก่า ใช้สืบต่อมาเป็นเวลาช้านาน บรรดาหนังสือพงศาวดารหลายฉบับ มีพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลางประเสริฐ พงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาส พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ห้าของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พงศาวดารโยนก และประชุมพงศาวดารภาคต่างๆ เป็นต้น
                        ต่อมาระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๕ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เริ่มนิยมใช้คำประวัติศาสตร์แทนคำพงศาวดาร เพราะพงศาวดารนั้นโดยศัพท์ "เรื่องราวของพระอวตาร" หรือพระนารายณ์ซึ่งคนไทยเคลมเอาเป็นเกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดิน ประวัติศาสตร์ได้รับความนิยมกันทั่วไป ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕        ๒๐/ ๑๒๕๗๘
                ๓๗๕๕. พจนานุกรม  แปลตามพยัญชนะว่า "ลำดับคำ" ใช้เป็นชื่อหนังสือชนิดหนึ่งสำหรับค้นคำ ความหมายของคำซึ่งโดยปรกตินำมาเรียงตามลำดับอักษร
                        หลักการทำพจนานุกรมจะต้องรวบรวมคำทั้งหมดที่มีใช้อยู่ในภาษานั้น ตลอดจนให้ความรู้เรื่องอักขรวิธี การบอกเสียงอ่าน ความหมายและประวัติของคำ
                        เรื่องบจำนวนคำในภาษาไทย นักปราชญ์ฝรั่งคนหนึ่งคำนวณว่า ถ้าจะเขียนแต่ไทยแท้ ๆ และไม่นับเสียงต่ำตามวิธีผันไม้เอก โท ตรี จัตวา ก็มีเพียง ๑,๘๕๑ คำ เท่านั้น หลักที่ใช้คำนวณถือว่าภาษาไทยเป็นภาษาซึ่งมีคำพยางค์เดียว คำไหนมีกว่าพยางค์เดียวคำนั้นไม่ใช่ภาษาไทย เว้นแต่เป็นคำผสมเช่น ตะวัน (ตาวัน) มะพร้าว (หมากพร้าว) เป็นต้น อักษรสยามมีพยัญชนะเท่านั้นตัว มีสระเท่านั้นตัว และผสมกันทุกทางที่จะผสมได้ แล้วจะมีทางผสมได้ ๑,๘๕๑ ทาง ที่เป็นคำไทยแท้ ซึ่งอาจเขียนได้      ๒๐/ ๑๒๕๘๑
                ๓๗๕๖. พญาดาบหัก - ต้น  เป็นไม้พุ่มต้นสูงประมาณ ๑๐ เมตร ใบประกอบมีลักษณะแบบขนนก ช่อใบยาว ๒๐ - ๕๐ ซม. เรียงสลับกัน ดอกสีแดงขนาดเล็ก ออกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายกิ่ง ผลกลมเล็ก เมื่อแก่จัดสีดำ
                        ผลเป็นยาสมุนไพรใช้รักษาโรคบิด ท้องร่วง และแก้ไข้         ๒๐/ ๑๒๕๘๔
                ๓๗๕๗. พญาเดโช  (ดูเดโช - ลำดับที่ ๒๐๕๖, ๒๐๕๗)         ๒๐/ ๑๒๕๘๔
                ๓๗๕๘. พญาเดิน  เป็นชื่อเพลงดนตรีไทยประเภทเพลงหน้าพาทย์ สำหรับบรรเลงประกอบการไปมา ด้วยการเดินอย่างไม่รีบร้อนของผู้มีเกียรติศักดิ์ เช่น พระมหากษัตริย์เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชยานใด ๆ ปี่ชวาที่เป่านำขบวนกลองชนะจะเป่าเพลงทะแยกลองโยน แต่ถ้าทรงพระดำเนินด้วยพระบาทปี่ชวาจะเป่าเพลงพญาเดิน
                        การบรรเลงปี่พาทย์เพลงพญาเดิน ซึ่งเป็นแบบแผนประเพณีบัญญัติไว้สืบต่อมา คือ การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบเทศน์มหาชาติ ท่านได้กำหนดเพลงสำหรับบรรเลงเวลาพระเทศน์จบลงแต่ละกัณฑ์ไว้เป็นแบบฉบับ โดยถือเนื้อเรื่องของกัณฑ์นั้น ๆ เป็นหลัก โดยเฉพาะเมื่อเทศน์จบกัณฑ์ วนประเวศน์ปี่พาทย์จะต้องบรรเลงพญาเดิน เพราะเนื้อเรื่องในกัณฑ์นี้ พระเวสสันดรและพระนางมัทรีต้องทรงพระดำเนินอุ้มพระกุมารชาลีและกัณหาเข้าสู่ป่า         ๒๐/ ๑๒๕๘๔
                ๓๗๕๙. พญาไท ๑  วัดเจ้าพญาไทหรือวัดเจ้าพระยาไทย เรียกกันเป็นสามัญว่า วัดใหญ่บ้าง วัดไชยมงคลบ้าง วัดป่าแก้วบ้าง ในปัจจุบันยุติว่าวัดใหญ่ชัยมคล
                        คำว่าพญาไทยังใช้ในความหมายอื่นอีก เช่น ทุ่งหญ้า ทุ่งนา เรียกกันว่าทุ่งพญาไท ต่อมาเป็นชื่อถนน เรียกว่า ถนนพญาไท เป็นชื่อ อำเภอพญาไทย และเปลี่ยนเป็นเขตพญาไท
                        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวังพญาไทขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๒ เพื่อเป็นที่เสด็จประพาส และใช้เป็นที่ปลูกทดลองธัญพืชต่าง ๆ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างตำหนัก คือ ตำหนักพญาไท
                        เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ สวรรคตในปีพ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จมาประทับที่วังพญาไท จนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๖๓ หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรด ฯ ให้สร้างพระราชมณเทียรสถานขึ้นใหม่ สำหรับเป็นที่ประทับในวังพญาไท และได้ประทับอยู่ที่วังพญาไทย จนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๔๖๘
                        ต่อจากนั้นกรมรถไฟหลวงได้เข้าถึงวังพญาไท จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงวังพญาไทเป็นโรงแรมพญาไท
    และได้ตั้งสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก
                        ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้พระราชทานวังพญาไทแก่กองทัพบก กองเสนารักษ์จังหวัดทหารบก กรุงเทพ ฯ ได้ย้ายมาตั้งที่วังพญาไท และเปิดสถานพยาบาลแห่งนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ และตั้งเป็นโรงพยาบาลทหารบก ขึ้นตรงกรมการแพทย์ทหารบก ได้รับพระราชทานชื่อว่า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า         ๒๐/ ๑๒๕๘๕
                ๓๗๖๐. พญาไท ๒  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙         ๒๐/ ๑๒๕๙๒
                ๓๗๖๑. พญาไฟ - นก  เป็นนกในสกุลหนึ่ง ตัวผู้มักเป็นสีแดง ตัวเมียมักเป็นสีเหลืองสด บางชนิดเป็นสีขาวดำเท่านั้น เช่น นกพญาไทสีเทา มีตามป่าดงทั่วไปในประเทศไทย มีอยู่แปดชนิด แต่เป็นนกย้ายถิ่นเข้ามาเฉพาะฤดูหนาวสองชนิดที่พบบ่อยมีสองชนิดคือ นกพญาไฟใหญ่กับนกพญาไฟเล็ก         ๒๐/ ๑๒๕๙๓
                ๓๗๖๒. พญามือเหล็ก - ต้น  เป็นต้นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร พบขึ้นในป่าดิบชื้นภาคใต้ ใบเดี่ยวรูปมน ๆ เรียงตรงข้ามกันในระนาบเดียวกัน ดอกสีเขียว ๆ ขาว ๆ รูปหลอดขนาดเล็ก  ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ผลกลมเมื่อแก่จัดสีดำ เมล็ดมีสารจำพวกสตริกนิน ทำให้เกิดอาการเบื่อเมา และอาเจียน
                        มีพันธุ์ไม้สกุลเดียวกันทางภาคกลางเรียกว่า พญามูลเหล็ก หรือพญามือเหล็ก เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบและดอกคล้ายคลึงกับชนิดแรกแต่ผลใหญ่กว่า เนื้อไม้นิยมทำเขียงหั่นกันชา         ๒๐/ ๑๒๕๙๔
                ๓๗๖๓. พญามุตติ - ต้น  เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กแผ่ราบไปตามพื้นดินเป็นแผ่นกว้างประมาณ ๑๕ - ๓๐ ซม. กิ่งก้านมีขนปุกคลุม ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกเล็กออกชิดกันแน่นเป็นกระจุกเล็ก ๆ สีเหลืองอ่อน มีก้าน... อยู่ตรงข้ามกันกับใบหรือปลายกิ่ง พบขึ้นทั่วไปตามทุ่งนา         ๒๐/ ๑๒๕๙๔
                ๓๗๖๔. พญามูดิน - ต้น  เป็นไม้ล้มลุกต้นตรงอาจสูงถึง ๑ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีขนหยาบ ๆ ปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ปลายกิ่งช่อหนึ่งมี ๑ - ๒ ดอก ผลเป็นฝักพองเกลี้ยง แก่จัดสีดำ          ๒๐/ ๑๒๕๙๕
                ๓๗๖๕. พญาเย็น  เป็นดงใหญ่ระหว่าง จ.เพชรบูรณ์ จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี กับ จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา และจ.บุรีรัมย์ เป็นดงใหญ่ที่สุด มีเทือกเขาเป็นพืด ต่อมาจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาแห่งที่ราบสูงกับที่ราบต่ำ เดิมเรียกดงพญาไฟ เพราะมีไข้ร้ายแรง ต่อมาถึงรัชกาลที่สี่ได้เรียกว่าดงพญาเย็น และทิวเขาดงพญาไฟก็คงจะได้เปลี่ยนเป็นทิวเขาดงพญาเย็นด้วย         ๒๐/ ๑๒๕๙๕
                ๓๗๖๖. พญารากดำ - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดเล็ก อาจสูงถึง ๕ เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ใบเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่งรูปขอบขนาน หรือรูปหอก ดอกเล็กสีขาวออกเป็นกระจุกหรือเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ผลรูปรี ๆ โคนกว้างปลายแหลม         ๒๐/ ๑๒๕๙๕
                ๓๗๖๗. พญาไร้ใบ - ต้น  เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกา ไม่มีใบ ดอกออกตามกิ่งมีสีเขียว ๆ ขาว ๆ รูปจานขนาดเล็ก         ๒๐/ ๑๒๕๙๖
                ๓๗๖๘. พญาลอ  ปรกติจะเรียกว่า ไก่ฟ้าพญาลอ จัดเป็นสัตว์จำพวกนกชนิดหนึ่ง ในอันดับไก่ วงศ์ไก่ฟ้า ซึ่งวงศ์นี้มีวงศ์ย่อยห้าวงศ์ด้วยกันได้แก่ วงศ์ย่อยนกกระทา และนกคุ่ม วงศ์ย่อยนกยูง วงศ์ย่อยนกหว้าและนกแว่น เฉพาะพญาลอจัดอยู่ในวงศ์ย่อยไก่ป่าและไก่ฟ้า
                        พญาลอเป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ วัดจากปลายจงอยปากถึงปลายหางประมาณ ๖๐ - ๘๐ ซม. ตัวผู้บริเวณลำตัวด้านบนตอนท้ายสีเนื้อแกมทอง ตะโพกและขนปกคลุมหางด้านบนสีแดงเลือดนกปนน้ำตาลขนหางสีดำเหลือบเขียวยาวมาก กว้างและโค้งลงลำตัวด้านบนส่วนที่เหลือสีเทา ลำตัวด้านล่างส่วนที่เหลือสีดำ เดือยยาวและแหลมคม  ตัวเมียบริเวณหัว คอ และคอหอยสีน้ำตาลไม่มีขนยาวยื่นออกไปจากหัวเหมือนตัวผู้ไม่มีเดือย
                        พญาลอปรกติจะพบอยู่โดดเดี่ยวเฉพาะตัวผู้ หรือพบอยู่เป็นคู่ ๆ หรือเป็นครอบครัวคือ พ่อ แม่ และลูก ๆ เป็นไก่ฟ้าที่บินได้ดีพอสมควร และบินได้ในระยะไกลแต่ไม่สูงมากนัก         ๒๐/ ๑๒๕๙๖
                ๓๗๖๙. พญาโศก  เป็นชื่อเพลงไทยที่ร้องหรือบรรเลงประกอบในอารมณ์โศกเศร้าเพลงหนึ่ง จะร้องในบทที่ตัวละครโศกเศร้าอยู่กับที่เท่านั้น เพลงร้องที่ใช้ในอารมณ์โศกแบบเดียวกันนี้ ยังมีอีกหลายเพลง และมีชื่อคล้ายคลึงกัน เช่น เพลงพญาครวญ พญาฝัน พญารำพึง และพญาตรีก
                        บทที่จะร้องด้วยเพลงพญาโศก โดยมากจะต้องใช้กับตัวที่เป็นกษัตริย์ เจ้านายหรือ ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูง
                        ในการบรรเลงดนตรีมีทั้งอัตราสองชั้น สามชี้น         ๒๐/ ๑๒๖๐๐


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch