หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/85
    ๓๒๙๒. ปทานุกรม  ตามพยัญชนะแปลว่าลำดับบท แต่เดิมมาหมายความถึงหนังสือสำหรับค้นคว้าความหมายของคำที่เรียงลำดับตามตัวอักษร แล้วนิยามความหมายของคำนั้น ๆ รวมทั้งบอกที่มาของคำ ตลอดจนบอกเสียงอ่านด้วยเท่าที่จำเป็น หนังสือประเภทนี้ในภาษาไทยสมัยก่อนเรียกชื่อเป็นติด ๆ กัน
                        เมื่อกระทรวงธรรมการ ได้ตีพิมพ์หนังสือปทานุกรมออกใช้ในราชการ และจำหน่ายในปี พ.ศ.๒๔๗๐ แล้ว ต่อมาได้พบข้อบกพร่อง จึงตั้งกรรมการขึ้นเพื่อชำระข้อบกพร่อง และแก้ไขเพิ่มเติมให้ดีขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "พจนานุกรม"      ๑๗/ ๑๐๘๘๑
                ๓๒๙๓. ปทุมธานี  จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สระบุรี ทิศตะวันออกจด จ.นครนายก ทิศใต้จด จ.นนทบุรี และกรุงเทพ ฯ  ทิศตะวันตกจด จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป
                        จ.ปทุมาธานี น่าจะได้ตั้งขึ้นภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่เชิงราก (เชียงราก) บริเวณวัดพระยาเมือง (ร้าง) ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองนี้ร้างเพราะกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่หนึ่ง ถึงปี พ.ศ.๒๒๐๓ สมิงเปอกับพวกคุมมอญ ๕,๐๐๐ คน เผาเมืองเมาะตะมะ แล้วจับมังนันทมิตร อาพระเจ้าอังวะ คุมตัวเข้ามากรุงศรีอยุธยา โปรด ฯ ให้อยู่ที่ บ.สามโคก ซึ่งต่อมาเรียกเมืองสามโคก ตั้งอยู่ใกล้บริเวณวัดสิงห์ จ.ปทุมธานี
                        ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ พระยาเจ่ง ตะละเส่ง กับพญากลางเมือง พร้อมด้วยมอญที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วนั้น เมื่อพม่าตีกรุงแตกครั้งที่สองก็ถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า พอได้โอกาสก็พากันกลับหนีมาอีก โปรด ฯ ให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองสามโคก และเมืองนนทบุรี และให้จัดชายฉกรรจ์ไว้ ๓,๐๐๐ คน ให้หลวงบำเรอศักดิ์ครั้งกรุงเก่าเป็นเชื้อรามัญเป็นพระยารามัญวงศ์ (เรียกว่า จักรีมอญ) ควบคุมกองมอญทั้งสิ้น
                        ในปี พ.ศ.๒๓๕๘ สมิงรามัญ เมืองเมาะตะมะ และพวกได้ไปรับพม่าผู้รักษาเมืองฆ่าเสีย แล้วอพยพยครอบครัวประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน เข้ามาทางเมืองอุทัยธานี เมืองกาญจนบุรี และเมืองตาก โปรด ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่เมืองสามโคก เมืองนนทบุรี และเมืองนครเขื่อนขันธ์
                        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชทานเมืองสามโคกใหม่ว่าเมืองปทุมธานี โดยเหตุที่มีดอกบัวอยู่ทั่วไป ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ย้ายเมืองไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ บ.โคกชะพลูใต้ ปากคลองทราย ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้ย้ายไปตั้งที่ ต.บางปรอท อ.เมืองปทุมธานี          ๑๗/ ๑๐๘๘๓
                ๓๒๙๔. ปทุมรัตต์ อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง พื้นดินเป็นดินปนทรายและศิลาแลง
                        อ.ปทุมรัตต์ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ขึ้น อ.เกษตรวิสัย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘         ๑๗/ ๑๐๘๘๓
                ๓๒๙๕. ปทุมวัน  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบ เดิมเป็นอำเภอ เปลี่ยนเป็นเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖           ๑๗/ ๑๐๘๘๕
                ๓๒๙๖. ปปัญจธรรม  คือธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้าต่อการบรรลุถึงคุณความดี หมายเอาความเนิ่นช้าต่อการบรรลุโลกุตรธรรมของผู้บำเพ็ญกรรมฐาน กล่าวโดยหลักใหญ่ ๆ มีสามอย่างคือ ตัณหา มานะ ทิฐิ
                        การปฏืบัติเพื่อละปปัญจธรรม ต้องปฏิบัติธรรมอันเป็นข้าศึกหรือธรรมที่ลบล้างกันได้      ๑๗/ ๑๐๘๘๖
                ๓๒๙๗. ปรก  มีบทนิยามว่า "เรียกผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเศก เช่น พุทธาภิเษกว่า คณะปรก "ในพิธีดังกล่าวพระภิกษุสงฆ์ ผู้นั่งปรกจะขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ ที่จัดไว้โดยเฉพาะในท่านั่งขัดสมาธิ วางมือซึ่งถือสายสิญจน์แบบสมาธิ เพ่งกระแสจิตไปยังโลหะที่จะหล่อหุ่น และพระอื่น ๆ หรือวัตถุมงคลที่อยู่ในพิธีนั้น ๆ เพื่อให้เกิดพลังเป็นของขลัง และของศักดิ์สิทธิ์
                        การนั่งปรกนี้ มีมาแต่โบราณ ในชั้นเดิมคณะนั่งปรกเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ นั่งภาวนา ต่อมาจึงเป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสนาธุระ นั่งภาวนา เพราะการนั่งปรกเดิมคือ การนั่งอ่านหนังสือทานคำที่พระพิธีธรรมสวดภาณวาร ซึ่งสวดด้วยปากเปล่า เนื้อความสำคัญในพุทธาภิเษก ก็คือ แจงพระพุทธคุณอย่างพิสดาร และบรรยายมหาปุริสลักษณะ ๓๑ หรือ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ อย่าง       ๑๗/ ๑๐๘๙๐
                ๓๒๙๘. ปรง  เป็นชื่อพันธุ์ไม้หลายชนิด มีรูปร่างลักษณะคล้ายต้นปาล์ม หรือมะพร้าว ลำต้นตั้งตรงไม่แยกสาขา บางชนิดต้นเตี้ย ลำต้นมักโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน แต่บางชนิดอาจสูงถึง ๗ เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เกิดเป็นกระจุกที่ยอด ปรงเป็นพืชที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น เมล็ดเกิดบนต้นตัวเมีย เช่น ปรงทะเล หรือมะพร้าวเต่า
                        ในประเทศไทย มีปรงอยู่หลายชนิด มีมากตามดินทรายชายทะเลภาคใต้ ปรงป่า หรือมะพร้าวสีดา มีตามป่าดงดิบทั่ว ๆ ไป        ๑๗/ ๑๐๘๙๖
                ๓๒๙๙. ปรบไก่  คำนี้มีความหมายเป็นสองนัยคือ หมายถึง เพลงพื้นเมืองที่นิยมเล่นกัน ทางภาคกลางของประเทศไทย เรียกกันว่า เพลงปรบไก่ อย่างหนึ่ง กับหมายถึง จังหวะหน้าทับของเครื่องหนัง (กลอง) ที่เรียกกันว่า หน้าทับปรบไก่ อีกอย่างหนึ่ง
                        เพลงปรบไก่ ดูเหมือนจะเป็นเพลงประเภทที่เก่าแก่ที่สุดในจำพวกเพลงที่ว่าแก้กันในภาคกลาง วิธีเล่นเพลงปรบไก่ ก็มีผู้หญิง ผู้ชายที่เรียกว่า แม่เพลง และพ่อเพลง ร้องว่ากันหรือแก้กัน ส่วนจังหวะนั้นก็ใช้วิธีปรบมือ ผู้ร้องจะต้องใช้ปฎิภาณคิดด้นกลอนสด และว่ากันหรือแก้กันให้ถึงใจ
                        สำหรับในความหมายทางด้านที่เป็นหน้าทับ สำหรับเครื่องหนัง (กลอง) ตีประกอบจังหวะดนตรีไทย ก็๋เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันจากเพลงพื้นเมืองเช่นเดียวกัน กล่าวคือ จังหวะสำหรับลูกคู่ลงท้ายเพลงปรบไก่นั้น โบราณาจารย์ท่านเห็นว่า เหมาะที่จะนำมาดัดแปลงเป็นจังหวะเครื่องหนัง สำหรับใช้กับดนตรีไทย ท่านจึงได้ถอดสำเนียงลูกคู่ดังกล่าวออกมา เป็นเสียงตะโพน หน้าทับตะโพนที่เรียกว่า หน้าทับปรบไก่สองชั้น ซึ่งนับว่าเป็นหน้าทับสำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับดนตรีไทย ต่อมาภายหลังได้มีการถอดเอาหน้าทับนี้ไปใช้กับเครื่องหนังอีกหลายอย่าง เช่น โทน รำมะนา และกลองแขก เป็นต้น
                ๓๓๐๐. ปรมัตถ์  มีบทนิยามว่า "ประโยชน์อย่างยิ่ง เนื้อความอย่างยิ่ง ชื่ออภิธรรมปิฎก ความจริงอันเป็นที่สุด"
                        กล่าวโดยสรุป ปรมัตถ์ คือ เนื้อความในพระอภิธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสังขตธรรม และอสังขตธรรม สี่ประการคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นั้น จิต เจตสิก รูป เป็นส่วนสังขตธรรม นิพพานเป็นส่วนอสังขตธรรม สังขตธรรมและอสังขตธรรม ล้วน ๆ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เท่านั้นเอง         ๑๗/ ๑๐๙๐๐
                ๓๓๐๑. ปรมาตมัน  เป็นคำสนธิ ที่เกิดจาก ปรม กับ อาตมัน แปลว่า อาตมะ (วิญญาณ) อันยิ่งใหญ่ ความหมายตามธรรมปรมาตมัน เป็นพลังอย่างหนึ่ง หรือธรรมชาติอย่างหนึ่ง เกิดคู่อยู่ประจำโลก เป็นพลังสูงสุดกว่าพลังใด ๆ เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งหลาย ถ้าเชื่อว่าทุกสิ่งในโลกนี้ มีวิญญาณปรมาตมัน ก็เป็นฐานเกิดของวิญญาณ หากกล่าวตามความเชื่อของชาวอารยัน ผู้เป็นต้นคิดคำนี้ ปรมาตมัน คือ มหาเทพ ไม่มีเทพใด ในสากลยิ่งกว่า
                        มีคำเรียกแทนคำ "ปรมาตมัน" อยู่หลายคำเช่น มหาพรหม อาทิพรหม ปรพรหม และกาลาหังส    ๑๗/ ๑๐๙๒๙
                ๓๓๐๒. ปรมานุชิตชิโนรส  เป็นพระนามของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า องค์แรกของไทย นับเป็นพระสังฆราชองค์ที่เจ็ด แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ประสูติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๓ และสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๓๙๖ พระองค์ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ได้ผนวชเป็นสามเณร แล้วเสด็จมาประทับ ณ วัดพระเชตุพน ฯ ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๙ ได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งเจ้าต่างกรม มีพระราชทินนามว่า กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ฯ ในรัชกาลที่สี่ พระองค์ทรงรับมหาสมณุตตมาภิเษก ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศสูงสุดของเจ้านาย คือ ตำแหน่ง "สมเด็จกรมพระ"
                        พระองค์ทรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และอักษรศาสตร์ เป็นอย่างยิ่งจนสามารถรจนาหนังสือ วรรณคดีบาลีไว้ถึงสามเล่ม ผลงานทางการประพันธ์ของพระองค์ พอประมวลได้ดังนี้
                   พระนิพนธ์ประเภทร้อยกรอง ได้แก่ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สรรพสิทธิคำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ ฉันท์สังเวยดุษฎีสังเวยกล่อมช้างพังหงสาสวรรค ตำราฉันท์วรรณพฤติ และมาตราพฤติ ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตกระบวนแห่พระกฐิน พยุหยาตราทางสถลมารค และชลมารค โคลงดั้นเรื่องการปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ฯ โคลงภาพคนต่างภาษา กลโคลงมหาชาติ เวสสันดรชาดก กลอนเทศน์ ๑๑ กัณฑ์ เว้นกัณฑ์ชูชก และกัณฑ์มหาพน ร่ายทำขวัญนาค เพลงยาวเจ้าพระ จักรทีปนี
                   พระนิพนธ์ประเภทร้อยแก้ว ได้แก่ ปฐมสมโพธิกถา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตำราสร้างพระพุทธรูป พระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป คำฤษฎี           ๑๗/ ๑๐๙๓๒
                ๓๓๐๓. ปรศุราม  เป็นอสูรเทพบุตร ในเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับวาลมิกิ และในเรื่องรามเกียรติ์ฉบับไทย มีชื่อว่า รามสูร แปลว่า รามขวาน หรือรามผู้ถือขวาน นับเป็นโอรสองค์ที่ห้า ของพระชมัทอัคคี กับนางเรณุกา เผ่าพราหมณ์ เป็นอวตารปางที่หก ของพระนารายณ์มีฤทธิ์มาก มีนิสัยทารุณร้ายกาจ เหตุที่อวตารมาเป็นปรศุราม   ก็เพื่อช่วยเหลือชาติพราหมณ์ผู้ถูกชาติกษัตริย์ทำร้ายและข่มเหง      ๑๗/ ๑๐๙๔๓
                ๓๓๐๔. ปรอดหรือกรอด - นก  นกในวงศ์นี้ทั้งหมดมีรูปร่างคล้ายคลึงกันคือ คอสั้น เกาะกิ่งไม้แบบเดียวกัน ส่วนมากร้องเพราะ ชอบอยู่เป็นฝูง ทำรังเป็นรูปจานด้วยใบหน้า และเรียวไม้เล็ก ๆ บนกิ่งไม้ ทั่วโลกมีอยู่ ๑๑๙ ชนิด มีในประเทศไทย ๓๕ ชนิด ล้วนแต่เป็นนกประจำถิ่น      ๑๗/ ๑๐๙๔๙
                ๓๓๐๕. ปรอท  เป็นธาตุลำดับที่ ๘๐ ชาวจีนและชาวฮินดูในสมัยโบราณได้รู้จักปรอทมาแล้ว ทั้งยังพบธาตุนี้ในที่ฝังศพโบราณ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ประมาณ ๙๕๐ ปี ก่อนสมัยพุทธกาล ในประเทศอียิปต์
                        ธาตุปรอทในธรรมชาติปรากฎอยู่ตามาผิวโลก มีปริมาณเฉลี่ยราวครึ่งกรัมต่อหิน ๑ ตัน ส่วนใหญ่พบอยู่ในลักษณะเป็นแร่ซีนนาบาร์ นอกจากนี้ยังพบในลักษณะอยู่เป็นธาตุอิสระ ซึ่งเป็นของเหลวตามบริเวณภูเขาไฟหรือน้ำพุร้อน
                        ปรอทเป็นของเหลว ณ อุณหภูมิธรรมดา มีสีขาวเป็นเงาคล้ายเงิน เมื่อสัมผัสอากาศชื้น ผิวจะหมองลงอย่างช้า ปรอทเป็นโลหะไหลไปมาได้รวดเร็วไม่ติดผิวแก้ว เป็นธาตุที่เสถียรมากที่อุณหภูมิธรรมดา เป็นตัวนำความร้อนที่ดีและนำไฟฟ้าที่ดี
                        ปรอทและสารประกอบของปรอทมีประโยชน์อย่างมากมาย สำหรับปรอทนั้นใช้นำไปทำเทอร์โมมิเตอร์ บารอมิเตอร์ เครื่องมือวัดความดันโลหิต หลอดไฟฟ้าบางชนิด เซลล์ไฟฟ้าบางชนิด สวิตซ์ไฟฟ้า อิเล็กโตรดที่ใช้ในกระบวนการแยกสลายด้วยไฟฟ้า  ใช้นำไปผสมกับโลหะเงินเป็นโลหะเจือชนิดหนึ่งเรียกว่า อมัลกัม ใช้อุดฟัน
                        ไอของปรอทเป็นพิษร้ายแรง สารประกอบของปรอทหลายสารเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อ และระบบการทำงานของร่างกาย      ๑๗/ ๑๐๙๕๖
                ๓๓๐๖. ปรอทวัดไข้  เป็นเทอร์โมมิเตอร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้วัดอุณหภูมิของร่างกาย ที่ใช้ในทางการแพทย์ ทำด้วยหลอดแก้วขนาดเล็ก รูภายในมีขนาดโตสม่ำเสมอโดยตลอด มีปรอทบรรจุอยู่ ปลายด้านหนึ่งปิดตัน ปลายอีกข้างหนึ่งโป่งเป็นกระเปาะ เป็นที่เก็บปรอท มีรอยคอดที่หลอดแก้ว ในส่วนที่อยู่เหนือกระเปาะ เพื่อกันมิให้ปรอทที่ขยายตัวออกจากประเปาะไป แล้วกลับเข้าสู่กระเปาะได้อีก เมื่อถูกกับความเย็น นับเป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากเทอร์โมมิเตอร์ ที่ใช้วัดอุณหภูมิชนิดอื่น ๆ หลอดแก้วที่บรรจุปรอทนี้ติดอยู่ในแท่งแก้ว ซึ่งมีมาตราส่วนสำหรับบอกอุณหภูมิอยู่      ๑๗/ ๑๐๙๖๓
                ๓๓๐๗. ประกัน  ตามรูปคำแปลว่าทำให้เป็นหลักฐานมั่นคง หรือกันไม่ให้เสียหาย ประกันมีที่ใช้ทั้งในความหมายทั่วไป และในความหมายทางกฎหมาย
                        ประกันในความหมายทั่วไปเช่น เป็นคัวประกัน มอบของให้เป็นประกัน เป็นต้น
                        ส่วนความหมายทางกฎหมายนั้น มีที่ใช้อยู่หลายแห่ง ที่ไม่ใช้คำว่าประกันตรง ๆ ก็มีเช่น ของหมั้น การยึดหน่วง และมัดจำ คำที่กฎหมายเรียกตรง ๆ ว่าประกันเช่น ประกันผู้ต้องหา ประกันภัย ประกันชีวิต ประกันสังคม ค้ำประกัน และประกันทัณฑ์บน เป็นต้น           ๑๗/ ๑๐๙๖๗
                ๓๓๐๘. ประกันชีวิต  เป็นประกันภัยชนิดหนึ่ง ทำให้โดยสัญญาเหมือนประกันภัย วินาศภัย โดยผู้รับประกันสัญญาว่าจะจ่ายเงินที่ระบุให้แก่ผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ของเขา ในการนี้ผู้เอาประกันมีหน้าที่ส่งเงินเบี้ยประกัน
                        สัญญาประกันชีวิตและสัญญาประกันภัย มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรมธรรม์ ซึ่งแปลว่าสัญญา
                        การประกันชีวิต เกิดขึ้นภายหลังการประกันภัยประเภทอื่น ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามีมาแต่สมัยโรมัน สัญญาประกันชีวิตฉบับแรก น่าจะเกิดจากการประกันชีวิตชาวเรือมากกว่า พวกอื่น การประกันชีวิตเริ่มที่อังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๖ ส่วนในยุโรปนั้น ในประเทศฝรั่งเศสเริ่มเป็นปึกแผ่น เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒ ประเทศเยอรมันปี พ.ศ.๒๓๗๑ กิจการประกันชีวิตในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปงอกงามขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับสหรัฐอเมริกาบริษัทอังกฤษ ได้เข้าไปประกอบการประกันชีวิตในปี พ.ศ.๒๓๐๒
                        การประกันชีวิตในประเทศไทย เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ หลังจากพระองค์เสด็จกลับจากประพาสประเทศอินเดีย แต่ความนิยมมีน้อยจึงล้มเลิกไปในปลายรัชสมัยของพระองค์ และมาเริ่มอีกครั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บริษัทประกันชีวิตของคนไทยดำเนินธุรกิจประกันชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ คือบริษัทไทยประกันชีวิต
                        อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ประกันชีวิตนั้นเป็นวิธีออมทรัพย์ ที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองและครอบครัวอย่างหนึ่ง      ๑๗/ ๑๐๙๗๒
                ๓๓๐๙. ประกันภัย  ตามรูปคำแปลว่าวิธีการทำให้บุคคลมีความมั่นคง ไม่วิบัติไปกับความเสียหายหรือภยันตรายที่เกิดขึ้นแก่ตน
                        วิธีประกันภัย ทำได้โดยสัญญาต่างตอบแทนระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย โดยผู้รับประกันภัยสัญญาว่า จะชดใช้ค่าเสียหายเมื่อเกิดมีภัยขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัย ในการนี้ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ส่งเงินให้แก่ผุ้รับประกันที่เรียกว่า ส่งเบี้ยประกันภัย เป็นการตอบแทน
                        วิวัฒนาการล่าสุดของการประกันภัยได้แก่ การประกันสังคม ประเทศเยอรมนีได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีระบบประกันสังคมระดับชาติเป็นประเทศแรก ต่อมานานาประเทศได้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้นำไปใช้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ ส่วนประเทศไทยได้ตรา พ.ร.บ. ประกันสังคมตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗           ๑๗/ ๑๐๙๘๐
                ๓๓๑๐. ประกายพรึก - ดาว  หมายถึง ดาวเคราะห์ที่ปรากฎสว่างสุกใสทางทิศตะวันออกในเวลาใกล้รุ่งอรุณ ซึ่งอาจจะเป็นดาวเคราะห์ดวงใดดวงหนึ่งก็ได้ แต่ดวงที่เห็นสุกใสที่สุดและเห็นอยู่นานที่สุดคือ ดาวศุกร์ เห็นได้แม้เวลาเช้าถึงเก้านาฬิกา       ๑๗/ ๑๐๙๘๘
                ๓๓๑๑. ประคำ - ลูก  มีบทนิยามว่า "ลูกกลม ๆ ที่ร้อยด้วยเชือกเป็นวงสำหรับชักเป็นคะแนน ในเวลานั่งบริกรรมภาวนา เรียกเครื่องประดับที่ใช้คล้องคอทำด้วยทอง หรือไข่มุก เป็นต้นว่า ลูกประคำ"
                        จำนวนลูกประคำมี ๑๐๕, ๑๐๗, ๑๐๘ และ ๑๑๕ เม็ด พวงลูกประคำนี้ว่ามีสายทิ้งเป็นสายทองหรือสายไหม มีลูกประคำสามเม็ดขนาดเล็ก ลดหลั่นดังรูปเจดีย์ ลูกประคำของหลวงแต่ละชนิดใช้พระราชทานเมื่อไปทัพ ส่วนลูกประคำราษฎร์มีจำนวนอย่างมาก ๑๐๔ เม็ด ใช้บริกรรมภาวนา หรือปลุกเสกลงเลขยันต์คาถา ลูกประคำของลัทธิศาสนาอื่นว่ามีจำนวนนถึง ๑๐๐๘ เม็ด มีใช้กันแพร่หลายทั้งในศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาซิก      ๑๗/ ๑๐๙๙๔
                ๓๓๑๒. ประคำไก่ หรือมะคำไก่  เป็นไม้ย้นต้นสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีสีขาวนวล ใบยาวหนาเป็นมัน ขอบใบมีจักละเอียด เหมือนฟันเลื่อย ใบยาว ๘ - ๑๐ ซม. กว้าง ๑.๕ - ๓ ซม.  ดอกตัวผู้เป็นกระจุกกลมหรือยาว มีขนาดเล็ก ผลลักษณะกลมรี หัวท้ายแหลม สีขาวอมเทาเกลี้ยง
                        เปลือกใบ และผล ใช้แก้โรคปวดตามข้อ ใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ทำน้ำมันนวด แก้ช้ำบวม และนวดแก้อัตพาต น้ำมันที่บีบจากเมล็ดใช้จุดตะเกียงได้      ๑๗/ ๑๑๐๐๙
                ๓๓๑๓. ประคำดีควาย  เป็นไม้ยืนต้นสูง ๑๕ - ๒๐ เมตร เปลือกลำต้นสีเทา ใบเป็นใบประกอบ ออกสลับกัน ใบประกอบมีใบย่อย ๆ ๖ - ๑๒ คู่ ใบย่อยรูปยาวรีปลายแหลม ช่อดอกประกอบด้วยดอกกลม ๆ เล็ก ๆ เป็นช่อกระจาย ดอกสีขาวหรือเหลือง ผลกลมมีเนื้อหุ้ม
                        เมล็ดและเนื้อแห้ง เมื่อชงกับน้ำร้อนจะเป็นฟอง ใช้ซักผ้าไหม ล้างเครื่องเพชร และใช้สระผมได้ ถ้าปริมาณเข้มข้นใช้ฆ่าแมลงและใช้เบื่อปลาได้ เมล็ดทำยาชงใช้แก้โรคผิวหนังบางชนิด      ๑๗/ ๑๑๐๑๐
                ๓๓๑๔. ประคำร้อย - ฝี  เป็นฝีชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นบริเวณลำคอ เป็นหัวๆ เรียงกันรอบคอ เกิดจากเชื้อวัณโรค เมื่อแตกเป็นแผล จะมีน้ำเหลืองและหนองไหลออกมา แผลที่แตกจะหายช้ามาก เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นกลม ๆ บุ๋มลงไป จากผิวหนังปรกติ แล้วก้อนอื่น ๆ ก็จะโตขึ้นแล้ว แตกเป็นแผลทำให้เกิดเป็นแผลเช่นก้อนแรก ๆ จนรอบลำคอ
                        ฝีชนิดนี้มักเกิดในเด็กเล็ก ๆ เชื้อวัณโรคเข้าร่างกายทางต่อมทอมซิล และแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ซึ่งมีต่อมน้ำเหลืองมากมาย ทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง      ๑๗/ ๑๑๐๑๑
                ๓๓๑๕. ประโคนชัย  อำเภอ ขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศเป็นที่ราบทั่วไป เหมาะแก่การเพาะปลูก
                        อ.ประโคนชัย เดิมชื่อ ตะลุง เป็นเมืองเก่า ปรากฎชื่อในพระราชพงศาวดารเมื่อครั้งกองทัพกรุงธนบุรี ยกออกไปปราบเมืองจำปาศักดิ์ ในปี พ.ศ.๒๓๑๙ ภายหลังเปลี่ยนเป็นเมืองประโคนชัย แล้วยุบเป็น อ.ประโคนชัย ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ตะลุง ปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ประโคนชัย อีก
                        อ.ประโคนชัย มีโบราณสถานเรียกว่า ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่บางส่วนสร้างด้วยหิน และศิลาแลง ผนังสร้างด้วยอิฐดินเผา
                ๓๓๑๖. ประจำเมือง - ดาว  (ดู ประกายผลึก - ลำดับที่ ๓๓๑๐)       ๑๗/ ๑๑๐๑๓

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch