หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/84
    ๓๒๗๕. ปกเกล้า  เป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ รัชกาลที่เจ็ด แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๗๖ ในรัชกาลที่ห้า รวม ๗๗ องค์ ทรงมีสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงเป็นพระบรมราชชนนี พระองค์ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อทรงโสกันต์แล้ว ได้เสด็จไปศึกษาวิชาสามัญที่ วิทยาลัยอีตัน จากนั้นพระองค์ทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อย ณ เมืองวูลลิช ประเทศอังกฤษ เมื่อจบแล้วทรงรับสัญญาบัตรเป็นนายร้อยตรี กิติมศักดิ์แห่งกองทัพบก พระองค์เสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ทรงรับราชการในกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้เป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ ต่อมาทรงเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม
                        พระองค์ทรงผนวช และจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร เมื่อทรงลาผนวชแล้วทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัฒนวิศิษฎ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ได้เสด็จไปศึกษาวิชาเสนาธิการทหาร ณ โรงเรียนการสงครามประเทศฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้เลื่อนพระยศ เป็น นายพันเอก และทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ ๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๘ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา
                        เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ
                        ในการปกครองบ้านเมือง พระองค์ต้องเผชิญกับพระราชภารกิจหนัก ในเรื่องรายจ่ายเกินกว่ารายได้ในงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยตัดทอนรายจ่ายแผ่นดินลง เพื่อให้สมดุลกับรายได้ จึงให้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำการดุลยภาพข้าราชการ ตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ยุบบางกระทรวง ตลอดจนกรมกองภาคต่าง ๆ ทั้งหมดและมณฑลบางแห่ง เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นภายหลังดุลยภาพ พ.ศ.๒๔๖๙ แต่ต่อมาก็ได้แสดงอาการตกต่ำไปอีก เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
                        เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ คณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ พระราชทาน "รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕" ตามที่คณะราษฏร์ได้ถวายบังคมทูล คณะกรรมการราษฎร์ได้ตั้งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งได้ทำงานแล้วเสร็จ ครั้นถึง ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๕ พระองค์ก็ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญที่มักเรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวร
                        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๖ ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่องที่ขัดแย้งกับรัฐบาลของ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ พระองค์ทรงสละราชสมบัติ แล้วประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ต่อมาจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔
                        จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้ดำเนินการกราบทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่เจ็ด เพื่อขอพระราชทานพระอนุญาตนำพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ จากประเทศอังกฤษ มาประดิษฐานไว้ในกรุงเทพ ฯ พร้อมกับขอให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฯ เสด็จ ฯ กลับมาประทับที่ประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ทางรัฐบาลได้จัดขบวนแห่สมพระราชอิสริยายศ ไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง และรัฐบาลได้ถวายวังสุโขทัย พร้อมด้วยพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ คืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฯ ด้วย        ๑๗/ ๑๐๗๓๔
                ๓๒๗๖. ปกครอง ๑ - การ  หมายถึง คุ้มครองรักษาดูแลควบคุม ซึ่งก็คือ การคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน การรักษาผลประโยชน์ การดูแลความสงบเรียบร้อย และการควบคุมให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของบ้านเมือง
                        คำว่า การปกครอง ในความหมายด้านการเมือง หมายถึง  อำนาจอันชอบธรรม หรือการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาล ในการสั่งการหรือควบคุมกิจการต่าง ๆ ของประชาชนในประเทศนั้น รวมทั้งการบัญญัติกฎเกณฑ์ในการที่จะควบคุมดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
                        นอกจากนี้ยังอาจใช้ในความหมายของผู้ปกครองระดับต่าง ๆ ได้อีกด้วย และถ้าใช้ในความหมายของผู้ถูกปกครองก็หมายถึงไพร่ฟ้าประชาชน ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของผู้ปกครองประเทศนั่นเอง ๑๗/ ๑๐๗๔๗
                ๓๒๗๗. ปกครอง ๒ - กรมการ  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้มีการปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในระยะแรกได้มีการปรับปรุงส่วนราชการใหม่ออกเป็น ๑๒ กรม คือ มีกรมมหาดไทยอยู่ใน ๑๒ กรมนั้น กรมเหล่านี้มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง เฉพาะกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและหัวเมืองลาว
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะกรมทั้ง ๑๒ กรม ขึ้นเป็นกระทรวง มีกระทรวงมหาดไทยอยู่ใน ๑๒ กระทรวงนั้น และมีกรมมหาดไทยสังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทย และได้วิวัฒนาการมาตามลำดับคือ
                        พ.ศ.๒๔๓๕ เรียกชื่อว่ากรมมหาดไทยฝ่ายพลำภัง
                        พ.ศ.๒๔๕๑ เรียกชื่อว่า กรมพลำภัง
                        พ.ศ.๒๔๕๘ แบ่งออกเป็น กรมปกครองและกรมการเมือง
                        พ.ศ.๒๔๕๙ แบ่งออกเป็น กรมปกครองท้องที่และกรมการเมือง
                        พ.ศ.๒๔๖๐ เรียกชื่อว่า กรมปกครอง
                        พ.ศ.๒๔๖๖ กลับไปใช้ชื่อว่า กรมพลำภัง แบ่งออกเป็นกรมปกครองและกรมการเมือง
                        พ.ศ.๒๔๖๗ แบ่งออกเป็น กรมการภายใน กรมการภายนอก และกรมทะเบียน
                        พ.ศ.๒๔๖๙ แบ่งเป็น กรมการปกครอง กรมทะเบียน และแผนกราชทัณฑ์
                        พ.ศ.๒๔๗๓ แบ่งเป็น กรมปกครอง กรมการเมือง กรมทะเบียน และแผนกราชทัณฑ์
                        พ.ศ.๒๔๗๕ แบ่งเป็น กรมปกครอง กรมการเมือง กรมเจ้าท่า และแผนกราชทัณฑ์
                        พ.ศ.๒๕๐๕ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการปกครอง      ๑๗/ ๑๐๗๔๙
                ๓๒๗๘. ปง  อำเภอขึ้น จ.พะเยา ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนมีป่าและเขา ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบ
                        อ.ปง เดิมเป็นเมืองเล็ก ๆ หลาย ๆ เมือง เช่น เมืองปง เมืองควน เมืองออย เมืองงิม เมืองยอด เมืองสระ มีพ่อเมืองปกครองขึ้นต่อนครน่าน เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๔๓ ทางราชการได้ยุบเมืองเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นตำบล รวมตั้งเป็น อำเภอปง ขึ้น จ.น่าน ชื่อตำบลยังคงเรียกตามชื่อเมืองเดิมอยู่โดยมาก ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านม่วง ครั้นปี พ.ศ.๒๔๘๑ กลับมาใช้ชื่อ อ.ปง อีก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๖ โอน อ.ปง ไปขึ้น จ.เชียงราย ภายหลังปี พ.ศ.๒๕๒๑ ได้จัดตั้ง จ.พะเยา ขึ้นจึงได้โอน อ.ปง ไปขึ้น จ.พะเยา      ๑๗/ ๑๐๗๕๓
                ๓๒๗๙. ปฏาจารา  เป็นพระเถรีผู้เป็นอรหันต์ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคถะ คือ ยอดเยี่ยมในทางทรงจำพระวินัย เหตุที่ได้ชื่อว่าปฏาจารา เพราะกลับความประพฤติได้ หรืออีกนัยหนึ่งว่า เดินไปโดยไม่มีอะไรปกปิดร่างกาย มีประวัติเล่าว่า ท่านเป็นธิดานายธนาคาร ในเมืองสาวัตถี มีรูปร่างสวยงาม ต่อมาได้แอบลอบรักใคร่กับคนรับใช้ในบ้าน แล้วหนีออกจากบ้านไปกับคนรับใช้นั้น เมื่อนางคลอดบุตรคนที่สองในระหว่างทาง ได้เกิดพายุฝนอย่างหนัก สามีถูกงูกัดตาย นางพาลูกทั้งสองเพื่อเดินทางกลับไปบ้านพ่อแม่ ที่เมืองสาวัตถี ระหว่างทางมีแม่น้ำขวางหน้าอยู่ ระหว่างพาลูกข้ามลำน้ำทีละคน ลูกคนหนึ่งถูกเหยี่ยวโฉบไป ลูกอีกคนหนึ่งจมน้ำตาย นางเสียใจมากจึงเดินทางไปหาพ่อแม่ที่เมืองสาวัตถี แต่ก็ทราบข่าวว่าพ่อแม่ของนางพร้อมทั้งพี่ชาย ถูกบ้านพังทับตายทั้งสามคน ในคืนวันฝนตกหนักที่นางเสียสามี และลูกไปนั้น
                        บัดนั้นเอง นางไม่สึกแม้ว่าผ้าที่นุ่งจะหลุด ร้องไห้รำพันกระเซอะ กระเซิง ไปจนถึงพระเชตุวันมหาวิหาร พบพระพุทธเจ้าประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ ประชาชนในที่นั้นพยายามกีดกันไม่ให้นางเข้าไป แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้นางเข้าเฝ้า และตรัสกับนางผู้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว และมีอภินิหารสมบูรณ์ว่า " น้องหญิง จง(ตั้งใจให้) กลับได้สติเถิด " ด้วยพุทธานุภาพ นางจึงกลับได้สติ และรู้ตัวว่าไม่ได้นุ่งผ้า เกิดความละอายจึงทรุดตัวลงนั่งกระหย่ง
                        ขณะนั้น มีชายผู้หนึ่งโยนผ้าห่มไปให้นาง นางจึงเอามานุ่ง แล้วเข้าไปกราบบังคมแทบพระยุคลบาท ของพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลเรื่องของนาง และขอพระพุทธองค์จงเป็นพึ่งของนาง พระพุทธองค์ทรงสดับคำของนางแล้ว จึงตรัสว่า อย่าให้นางคิดถึงเรื่องทั้งหมด ที่เกิดผ่านมาแล้วเลย น้ำตาของเธอผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารนี้ ในเมื่อปิยชนคนซึ่งเป็นที่รักมีบุตร เป็นต้น ตายยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ เหตุไรเธอจึงยังประมาทอยู่เล่า
                        เมื่อนางได้ฟังพุทโธวาทแล้ว ความโศกของนางก็เบาบางลง พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้ว ทรงเตือนต่อไปอีกมีใจความว่า ความตายนั้นใคร ๆ ก็ต้านทานไม่ได้ บัณฑิตทราบดังนี้แล้ว ควรถือศีลให้เคร่งครัด และหาทางที่จะนำตนไปสู่นิพพานโดยเร็ว นางได้ฟังแล้วก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน แล้วทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์จึงส่งนางไปยังสำนักของพวกภิกษุณี เพื่อให้บรรพชาให้ เมื่อนางได้อุปสมบทแล้ว อยู่มาวันหนึ่งนางกำลังเอาหม้อน้ำตักน้ำล้างเท้า เทลงน้ำก็ไหลไปหน่อยหนึ่ง แล้วหยุดเมื่อเทน้ำไปครั้งที่สอง น้ำก็ไหลไปไกลกว่าครั้งแรก ครั้งที่สาม น้ำก็ไหลไปไกลกว่าครั้งที่สอง นางถือเอาน้ำนั้น เป็นอารมณ์ กำหนดวัยทั้งสามแล้วคิดว่า สัตว์ทั้งหลายตายไปแต่ปฐมวัยก็มี ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี และตายในปัจฉิมวัยก็มี
                        พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ คันธกุฎี ทรงแผ่รัศมีไปปรากฎประดุจประทับยืนตรัสอยู่เฉพาะหน้านาง ตรัสว่า ข้อที่เธอคิดนั้นย่อมเป็นอย่างนั้นโดยแท้ เพราะว่าผู้เห็นความเกิด และความเสื่อมของเบญจขันธ์ จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ย่อมประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นความเกิด ความเกิดและความเสื่อม แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ย่อมประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นความเกิด และความเสื่อมซึ่งมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี      ๑๗/ ๑๐๗๕๓
                ๓๒๘๐. ปฎิจสมุปบาท  ตามรูปคำท่านแปลไว้หลายนัย นัยหนึ่งแปลว่า ภาวะที่อาศัยกันเกิดขึ้น นัยหนึ่งแปลว่า หมู่แห่งธรรมที่เป็นเหตุทำให้ธรรมที่เป็นผลเกิดขึ้นสม่ำเสมอ พร้อมกันโดยอาศัยพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุนั้น ๆ นัยหนึ่งแปลว่า การเกิดขึ้นตามลำดับของธรรม ที่อาศัยปัจจัยของตน ๆ และไม่ปราศจากกันกับปัจจัยของตนนั้น ๆ โดยความหมาย หมายถึง อาการแห่งภาวะธรรมที่เป็นปัจจัยแก่สังขตธรรม และภาวะที่ปรากฎชัดของธรรมที่เป็นปัจจัยแก่สังขตธรรม เป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิดขึ้น เนื่องกันไปไม่ขาดสาย เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุให้อีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สืบต่อกันไปเป็นลูกโซ่ ไม่รู้จักจบสิ้น ไม่รู้จักเบื้องต้นเบื้องปลาย เป็นหลักธรรมว่าด้วยการกำเนิดแห่งชีวิต ซึ่งเป็นส่วนวัฎฎะคือ ส่วนที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ ในสงสารและเหตุผล ส่วนวิวัฎฎะ คือ ส่วนที่อยู่เหนือความเวียนว่ายตายเกิดนั้นอันได้แก่ พระนิพพาน
                        ธรรมที่เป็นเหตุปัจจัย หรือเป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิด ซึ่งเรียกว่า ปฎิจสมุปบาท นั้นคือ
                        ๑. อวิชชา  ความไม่รู้ความจริง เป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น
                        ๒. สังขาร  ความปรุงแต่งเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น
                        ๓. วิญญาณ  ความรู้แจ้งอารมณ์ (ปฎิสนธิวิญญาณ) เป็นปัจจัยให้นามรูปเกิดขึ้น
                        ๔. นามรูป  นามขันธ์สาม รูปขันธ์ หนึ่งเป็นปัจจัยให้สฬายตนะเกิดขึ้น
                        ๕. สฬายตนะ อายตนะภายในหก เป็นปัจจัยให้ผัสสะเกิดขึ้น
                        ๖.  ผัสสะ  ความสัมผัสอารมณ์ เป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดขึ้น
                        ๗. เวทนา  ความเสวยอารมณ์เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิดขึ้น
                        ๘. ตัณหา  ความอยากได้เป็นปัจจัยให้อุปาทานเกิดขึ้น
                        ๙. อุปาทาน  ความยึดมั่นถือมั่นเป็นปัจจัยให้ภพเกิดขึ้น
                        ๑๐. ภพ  กรรมภพ และอุปปัติภพ เป็นปัจจัยให้ชาติเกิดขึ้น
                        ๑๑. ชาติ  ความเกิดเป็นปัจจัยให้ชรา มรณะ ความคับแค้นใจเกิดขึ้น
                        ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของชีวิตทุก ๆ องค์อาศัยกันเกิดขึ้น ถ้าตัดอวิชชา และตัณหา ยังไม่ขาดชีวิตก็จะดำเนินไปถึงจุดมรณะ หรือจุติ (ตาย) แล้วก็ต้องปฎิสนธิ (เกิด) ต่อไปอีก เรื่องปฎิสนธิ (เกิด) นี้ เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และระหว่างปัจจุบันกับอนาคต อนาคต แปลว่า "กาลที่ไม่รู้จักมาถึง" ชีวิตก็ดำเนินไปไม่ถึง เมื่อพูดถึงเรื่องปฎิสนธิ จึงควรเพ่งเฉพาะระยะต่อเนื่องกัน ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เหตุในอดีตที่ทำให้เกิดผลในปัจจุบันคือ ทำให้ชีวิตปฎิสนธินั้นได้แก่  อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ทุกชีวิตย่อมหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ จนนับภพนับชาติไม่ถ้วน
                        ปฎิจสมุปบาท ว่าโดยลำดับจากต้นไปหาปลายคือ เริ่มต้นแต่ อวิชชาไปจนถึง ชรา มรณะ เป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของชีวิต จากเหตุไปหาผล ถ้าว่าโดยทวนลำดับนับแต่องค์สุดท้ายสาวเข้าไปหาเหตุว่ามีชรา มรณะก็เพราะมีชาติเป็นปัจจัย มีชาติก็เพราะมีกรรมภพเป็นปัจจัย ฯลฯ มีสังขารก็เพราะมีอวิชชาเป็๋นปัจจัย
                        ปฏิจสมุปบาท อันเป็นระบบการกำเนิดแห่งชีวิต หรือกฎการหมุนเวียนแห่งชีวิต ท่านจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ภวจักร" แปลว่าล้อแห่งชีวิต เพราะชีวิตมีความหมุนเวียนเป็นวงกลมแห่งวงจักร หาเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่ได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สังสารวัฏ" ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ อัทธา (กาล) สามองค์ สองสนธิ สามสังคหะ (สังเขป) สี่อาการ ยี่สิบวัฎ สามมูล สองหมุนไปในภพต่าง ๆ กล่าวโดยย่อคือ กรรมภพและอุบัติภพ
                   ปฏิจสมุปบาทกับอริยสัจ ปฏิจสมุปบาทที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นส่วนวัฎกถาคือ ส่วนที่ว่าด้วยค่าความหมุนเวียนแห่งชีวิตเป็นสมุทยวาร คือส่วนที่ว่าด้วยกระบวนการกำเนิดแห่งชีวิต (ทุกข์) ส่วนวิวัฏกถา คือส่วนที่ว่าด้วยการยุติความหมุนเวียนของชีวิตอันเป็นนิโรธวาร คือส่วนที่ว่าด้วยกระบวนการดับของชีวิต (ทุกข์) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปฏิโลมเทศนา พระพุทธเจ้าตรัสว่าเพราะอวิชชาดับไปโดยสิ้นเชิงด้วยวิราคธรรม (มรรค) สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญาณกับนามรูปจึงดับ ฯลฯ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชรามรณะจึงดับ ทุกข์ทั้งมวลย่อมดับไปด้วยประการดังกล่าวมา เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยใจความ ปฏิจสมุปบาทกับอริยสัจจึงเป็นอันเดียวกัน      ๑๗/ ๑๐๗๕๗
                ๓๒๘๑. ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  มีบทนิยามว่า "การให้คำมั่นสัญญา หรือการแสดงยืนยัน โดยถือเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือความสุจริตเป็นที่ตั้ง" เป็นวัตถุประสงค์ประการหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีอยู่สี่ข้อด้วยกัน กฎบัตรองค์การสหประชาชาติกล่าวถึงสิทธิมนุษย์ชนทั้งหมดในมาตราต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าหกมาตรา ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ประกอบไปด้วยข้อกำหนด ๓๐ ข้อ เป็นการวางแนวอย่างกว้างขวางถือสิทธิมนุษยชน ไม่เพียงแต่สิทธิทางการเมืองและกฎหมายเท่านั้น แต่ยังได้ประกาศถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอีกด้วย      ๑๗/ ๑๐๗๗๒
                ๓๒๘๒. ปฏิทิน  มีบทนิยามว่า "แบบสำหรับดู วัน เดือน ปี" ปฏิทินหมายถึงระบบการจัดแบ่งช่วงเวลาให้เป็นวัน เดือน ปี โดยอาศัยหลักการทางดาราศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับเป็นหน่วยกำหนดนับอายุ และบันทึกเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ปฏิทินที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือ ปฏิทินแบบเกรกรอเรียน
                        เนื่องจากปีหนึ่งมี ๓๖๕.๒๔๒๒๔  วัน  จึงได้มีการวางหลักเกณฑ์และกำหนดขึ้นใหม่ เพื่อจัดทำเป็นปฏิทินขึ้น เริ่มใช้กันมาเป็นหลักฐานเมื่อปี พ.ศ.๔๙๗ และได้มีการแก้ไขใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๕ กำหนดให้ปีหนึ่ง ๆ มี ๓๖๕ วันถ้วนเรียกว่าปีธรรมดา หรือปรกติสุรทิน และปีหนึ่ง ๆ กำหนดให้มี ๑๒ เดือน
                        ปฏิทินแบบเก่าบอกแต่วันทางจันทรคติเป็นข้างขึ้นข้างแรม และบอกชื่อปีเป็นชื่อตามสิบสองนักษัตรคือ ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ การนับวันทางสุริยคติเพิ่งจะมีใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ นี้เอง ศักราชที่ปรากฎในปฏิทินโดยทั่วไปมีอยู่สามอย่างคือ พุทธศักราช (พ.ศ.) มหาศักราช (ม.ศ.) และจุลศักราช (จ.ศ.)
                   พุทธศักราช  กำหนดเอาปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นปีที่หนึ่ง แต่เดิมคำนวณตามจันทรคติขึ้นปีใหม่เมื่อเดือนหก แรมหนึ่งค่ำ ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งศักราชรัตนโกสินทร์ศกขึ้นใหม่ กำหนดวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน ตามระบบปฏิทินเกรกรอเรียน ถึงรัชกาลที่หกเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทร์ศก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ปีปฏิทินมีกำหนด ๑๒ เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม โดยให้ปี พ.ศ.๒๔๘๓ สิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคมและในปี พ.ศ.๒๔๘๔ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม เป็นปีแรก
                   มหาศักราช  กล่าวกันว่าพระเจ้าศาลิวาหะ กษัตริย์อินเดียองค์หนึ่งทรงตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกมีชัยต่อราชศัตรู ในปีเถาะ พ.ศ.๖๒๒ ใช้คำนวณเดือนตามสุริยคติขึ้นปีใหม่ เมื่อดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ
                   จุลศักราช  กษัตริย์พม่าตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๑๘๒ จุลศักราชปีศก ซึ่งหมายถึงจำนวนปีกำกับด้วยชื่อต่าง ๆคือ ถ้าตัวเลขสุดท้ายเป็นเวลาหนึ่งเรียกว่าเอกศก เลขสองเรียกโทศก เลขสามเรียกตรีศก ฯลฯ เลขศูนย์เรียกสัมฤทธิศก
                   ปีนักษัตร  ประเทศไทยรวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีนคือกัมพูชา มอญ เวียตนาม จาม ทิเบต ญี่ปุ่น จีน และชาวเกาะต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย แบ่งปีเป็นสิบสองปี และเรียกชื่อเป็นสิบสองนักษัตร คือกำหนดหมายชื่อปีเป็นชื่อสัตว์ โดยมีรูปสัตว์นั้น ๆ เป็นเครื่องหมาย เฉพาะประเทศไทยมีชื่อสัตว์เป็นเครื่องหมายประจำปีดังนี้คือ ปีที่หนึ่ง ชวดมีรูปหนู ปีที่สองฉลูเป็นรูปวัว ปีที่สามขาลเป็นรูปเสือ ฯลฯ ปีที่สิบสองกุนเป็นรูปหมู
                   ปีและเดือน  ระยะเวลาที่โลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบหรือเป็นระยะเวลาที่โลกโคจรถึงจุดหนึ่งในท้องฟ้าสองครั้งถัดกันไป ถ้าจุดที่กำหนดนั้นใช้จุดราศีเมษเรียกว่า ปีสุริยคติปานกลาง ซึ่งมีระยะเวลา ๓๖๕ วัน ๕ ชั่วโมง ๔๘ นาที ๔๘.๘ วินาที
                       ปีจันทรคติ   กำหนดนับเวลาตามระยะเวลาโคจรของดวงจันทร์รอบโลก ๑๒ ครั้ง หรือ ๑๒ เดือน จันทรคติเป็นเวลานาน ๓๕๔.๓๗ วัน ทางสุริยคติปานกลาง
                       ปีสุริยคติ  คือระยะเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ โดยถือจุดวสันตวิษุวัต เป็นหลักเป็นเวลานานเท่ากับ ๓๖๕.๒๔๒๒๔ วัน ทางสุริยคติปานกลาง
                       วิษุวัต  คือจุดสองจุดอยู่ตรงข้ามกัน เกิดจากวิถีของดวงอาทิตย์ ที่ปรากฎเห็นตัดกับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า จะทำให้เป็นมัธยมกาลคือ กลางวันและกลางคืนเท่ากันทั่วโลก ในรอบปีหนึ่งจะโคจรมาผ่านจุดวิษุวัตสองครั้งคือ ราววันที่ ๒๑ มีนาคม เรียกว่า วสันตวิษุวัต และราววันที่ ๒๒ กันยายน เรียกว่า ศารทวิษุวัต
                       เดือนจันทรคติ  มีสิบสองเดือนเรียกชื่อว่า เดือนอ้าย เดือนยี่  เดือนสาม ฯลฯ เดือนสิบสอง ในเดือนทั้งสิบสองเดือนนี้ มีจำนวนวันไม่เท่ากัน เพราะดวงจันทร์โคจรรอบโลกครั้งหนึ่งเป็นเวลา ๒๙ ๑/๒ วัน จึงต้องนับ ๕๙ วัน เป็นสองเดือน โดยจัดแบ่งให้เดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน อีกเดือนหนึ่งมี ๒๙ วัน เดือนคี่มีเดือนละ ๒๙ วัน เรียกว่า เดือนขาด เดือนคู่ มีเดือนละ๓๐ วัน เรียกว่า เดือนเต็ม เดือนใดเป็นเดือนขาด จะสิ้นเดือนในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑ ไหนเป็นเดือนเต็มจะสิ้นเดือนในวันแรม ๑๕ ค่ำ วันเหล่านี้ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็เป็นแรม ๑๓ ค่ำ เรียกว่า วันโกน เป็นวันที่พระสงฆ์ในเมืองไทยปลงผม วันขึ้น ๘ ค่ำ หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ หรือวันสิ้นเดือน ถ้าเป็นเดือนขาดก็เป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนเต็มก็เป็น แรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่า วันพระ เป็นวันประชุมถือศีลฟังธรรม ในพระพุทธศาสนา
                       อธิกมาส อธิกวาร  โดยเหตุที่ปีจันทรคติน้อยกว่าปีสุริยคติถึง ๑๑ วันเศษ ในสามปีจะมากกว่ากันถึงหนึ่งเดือนเศษ ดังนั้น เพื่อให้ฤดูกาลทางจันทรคติคงที่อยู่ตามสภาพธรรมดาของโลก จึงต้องเพิ่มเดือนจันทรคติอีกหนึ่งเดือน ในปีที่สามบ้าง ปีที่สองบ้าง เดือนที่เพิ่มนี้เรียกว่า อธิกมาส ปีที่มีอธิกมาส จึงมี ๑๓ เดือน ปรกติจะเพิ่มเดือนแปดเข้าอีกเดือนหนึ่ง ปีใดมีอธิกมาส ปีนั้นมีเดือนแปดสองหน นอกจากนี้ ตามแบบโหรไทยมีวันเพิ่มเข้าในเดือนเจ็ดอีกหนึ่งวันเรียกว่า อธิกวาร มีระยะ ๕ ปี ๖ ปี หรือถ้าล่วงมาถึง ๗ ปี ต่อไปอีก ๓ ปี เขาก็วาง จึงเป็นอันว่าปีใดมีอธิกวาร ปีนั้นเดือนเจ็ดมี ๓๐ วัน
                       เดือนสุริยคติ  แบ่งออกได้เป็น ๑๒ เดือน ตามจักรราศี มีชื่อเรียกตามกลุ่มดาวที่อยู่ในราศีนั้น ๆ ราศีหนึ่ง ๆ มีกลุ่มดาวหลายดวง เรียงรายอยู่เป็นรูปต่าง ๆ และะสมมติรูปของกลุ่มดาวเหล่านั้น แล้วบัญญัติชื่อขึ้นไว้ มีความหมายดังนี้คือ ราศีที่หนึ่งเรียก ราศีเมษ มีรูปแกะ หรือแพะ เป็นเครื่องหมาย ราศีที่สองเรียก ราศีพฤกษภ รูปโค ราศีที่สามเรียก ราศีเมถุน รูปคนคู่ (ชาย หญิง) ฯลฯ  ราศีที่สิบสองเรียก ราศีมีน รูปปลาสองตัว
                            ชื่อเดือนสุริยคติ มี เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ฯลฯ มีนาคม ชื่อเดือนดังกล่าว ตั้งจากชื่อกลุ่มดาวในจักรราศีทั้งสิบสอง
                   วัน  คือ ระยะเวลาที่โลกหมุนรอบแกนตัวเอง จากทุกทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ระยะเวลาที่ล่วงไประหว่างที่วัตถุท้องฟ้า ดวงใดดวงหนึ่งผ่านเส้นเมอริเดียนเดียวกันไปจนครบหนึ่งรอบ เรียกว่า วัน มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันแล้วแต่จะใช้วัตถุใดเป็นที่หมาย เช่น ถ้าใช้ดวงอาทิตย์เป็นที่หมาย ก็เรียกว่า วันสุริยคติ ถ้าใช้ดาวฤกษ์ เป็นที่หมายก็เรียกว่า วันดาราคติ ถ้าใช้ดวงจันทร์เป็นที่หมายก็เรียกว่า วันจันทรคติ
                        ความนานของวันจริงแต่ละวันไม่เท่ากัน เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี และโคจรด้วยความเร็วไม่เท่ากัน พื้นวงโคจรของโลกไม่ได้เป็นพื้นเดียวกันกับพื้นเส้นศูนย์สูตรของโลกคือ เอียงเป็นมุมประมาณ ๒๓ องศาครึ่ง เป็นต้น จึงได้กำหนดวันขึ้นใหม่เรียกว่า วันสมมติ คือ เอาความนานของปีสมมติมาเฉลี่ยให้แต่ละวัน มีความนานเท่ากัน หรือจะกล่าวว่า เอาความนานของวันจริงแต่ละวันที่นานไม่เท่ากันตลอดทั้งปีสมมติมาเฉลี่ยให้แต่ละวัน มีความนานคงที่เท่า ๆ กันทุกวันนั่นเอง
                        เมื่อความนานของวันสมมติคงที่แล้ว ก็สามารถสร้างเครื่องจักรกลที่เรียกว่า นาฬิกา สำหรับวัดความนานของแต่ละวันสมมติได้ แบ่งออกเป็น ๒๔ ชั่วโมง ในหนึ่งชั่วโมงแบ่งออกเป็น ๖๐ นาที ในหนึ่งนาที แบ่งออกเป็น ๖๐ วินาที
                        การนับวันสมมติ ณ ที่ใดที่หนึ่งใช้เส้นแวงที่ผ่านตำบลนั้น เป็นหลักในการนับเวลาที่อ่านได้ ก็จะเป็นเวลาของตำบลนั้น ๆ ดังนั้น เพื่อสะดวกแก่การอ้างอิง จึงได้ตกลงให้ถือเอาเส้นแวงที่ผ่านเมืองกรีนิช ในประเทศอังกฤษเป็นหลัก ฉะนั้น วันเวลาที่เมืองกรีนิชจึงเรียกว่า วันสากล และเวลาสากล  สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเมืองกรีนิช จึงมีเวลาเร็วกว่าเมืองกรีนิช ๗ ชั่วโมง
                       อธิกสุรทิน  หมายถึง วันทางสุริยคติที่เพิ่มขึ้น คือ เพิ่มเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ อีกวันหนึ่งเป็น ๒๙ วัน
                       ชื่อวัน  เรียกชื่อตามวันที่ชาวอินเดียเรียกว่า อาทิตย์ จันทร์ อังคาร ฯลฯ เสาร์ โดยมีต้นเค้าคติ ๗ วัน ของเชาวแบบิโลเนียน - กรีก - อียิปต์ - ซีเรียน (อาหรับ) ซึ่งได้แพร่ขยายไปทั่วทั้งสี่ทิศ ในปี พ.ศ.๑๐๔๕ ได้แพร่หลายเข้าไปในอินเดีย แล้วเปลี่ยนชื่อวันเป็นเทวดาอินเดีย จากอินเดียได้แพร่ขยายไปทิเบต แหลมอินโดจีน และหมู่เกาะชวา มลายู
                   เวลา  คือ ความนานที่วัดได้ การวัดเวลาแต่เดิมอาศัยปรากฎการณ์ธรรมชาติ มาตราที่วัดได้แก่ วัน ชั่วโมง นาที และวินาที
                       มาตรากำหนดเวลาของไทย  กำหนดให้วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง เป็นกลางวัน ๑๒ ชั่วโมง กลางคืน ๑๒ ชั่วโมง กลางวันเรียกว่า โมง กลางคืนเรียกว่า ทุ่ม  ในชั่วโมงแบ่งเป็น ๑๐ บาท บาทหนึ่งมี ๖ นาที (เดิมมี ๔ นาที) นาทีหนึ่งแบ่งเป็น ๖๐ วินาที หรือ ๑๕ เพชรนาที ๖๐ นาทีเป็นหนึ่งชั่วโมง
                            ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๐ การขึ้นวันใหม่ เริ่มต้นวันเมื่อย่ำรุ่ง (๐๖๐๐ นาฬิกา) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้การขึ้นวันใหม่ เช่นเดียวกับชาวยุโรปคือ เริ่มต้นวันเมื่อ ๑๒ ชั่วโมง ก่อนเที่ยงวัน (คือเที่ยงคืน) และสิ้นวันเมื่อ ๑๒ ชั่วโมง หลังเที่ยงวัน
                            ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๓ ประเทศไทยใช้เวลาอัตราเร็วกว่าเวลาสมมติกรีนิช ๖ ชั่วโมง ๔๑ นาที ๕๗.๓ วินาที ในปี .ศ.๒๔๖๓ เปลี่ยนเป็นใช้เวลาอัตราเร็วกว่า เวลาสมมติกรีนิช ๗ ชั่วโมง           ๑๗/ ๑๐๗๘๒
                ๓๒๘๓. ปฏิรูป  หมายถึง การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดพลาด ไม่ดีไม่ทันสมัย ไม่เหมาะสมแก่กาลสมัย หรือสิ่งที่เสื่อมลงให้ถูกต้องหรือดีขึ้น โดยวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่เช่น การปฏิรูปศาสนาคริสต์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้น การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งได้มีกาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอย่างใหญ่หลวงเกือบทุกด้านทุกสาขา
                        คำว่าปฏิรูปยังใช้กับคำอื่น ๆ อีก เช่น การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งหมายถึงการที่รัฐจัดสรรที่ดินของประเทศเสียใหม่ ให้กสิกรผู้ประกอบอาชีพการเกษตรทุกคน ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดิน      ๑๗/ ๑๐๘๓๓
                ๓๒๘๔. ปฏิวัติ  หมายถึง การหมุนกลับ การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการปฏิวัติหมายถึง การเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญอย่างรวดเร็ว แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
                        ในความหมายเฉพาะทางการเมืองนั้น ปฏิวัติคือ การกระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง หรือวิธีการบริหารประเทศเสียใหม่ โดยวิธีการรุนแรง ไม่ใช้กระบวนการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่นการปฏิวัติอังกฤษในปี พ.ศ.๒๒๓๒ การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๓๓๒ การปฏิวัติอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ การปฏิวัติโปร์ตุเกสเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ การปฏิวัติสเปนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ และการปฏิวัติอียิปต์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้น
                        ในด้านเศรษฐกิจ มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในประเทศอังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๐๓ - ๒๓๗๓ ด้วยเหตุว่าการประดิษฐ์เครื่องจักรกลไกส่วนมากที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ
                        นอกจากนั้นคำว่า การปฏิวัติอาจใช้กับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงอื่น ๆ ด้วยเช่น การปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นต้น        ๑๗/ ๑๐๘๓๖
                ๓๒๘๕. ปฏิสัมภิทา  ตามรูปคำแปลว่าความแตกฉานโดยความเป็นชื่อของปัญญา หมายความถึงปัญญาแตกฉานมีสี่อย่างคือ
                        ๑. อัตถปฏิสัมภิทา  ปัญญาแตกฉานในอรรถคือ อรรถอย่างหนึ่งหมายความอธิบายแห่งภาษิต ความเข้าใจอธิบายอรรถแห่งภาษิตย่อให้พิสดาร อีกอย่างหนึ่งหมายเอาผล ความเข้าใจ คาดหน้าถึงผลอันจักมีคือ ปรีชาแจ้งในความหมาย เห็นเหตุอย่างหนึ่งก็สามารถคัดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงต่อออกไปจนล่วงรู้ถึงเหตุผล
                        ๒. ธรรมปฏิสัมภิทา  ปัญญาแตกฉานในธรรมคือธรรมอย่างหนึ่งหมายเอาภาษิตอันเป็นกระทู้ ความเข้าใจความแห่งอธิบายนั้น ๆ ตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อขึ้นได้อีกอย่างหนึ่งหมายเอาเหตุความเข้าใจ สาวหาเหตุในหนหลัง คือปรีชาแจ้งในหลักเห็นอรรถาธิบายพิสดาร เห็นผลอย่างหนึ่งก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้
                        ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา  ปัญญาแตกฉานในนิรุตติคือภาษา ความเข้าใจภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำให้คนเข้าใจ อาจรู้จักนำคนให้นิยมตามคำพูด ปรีชาแจ้งในภาษา รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ และภาษาต่าง ๆ
                        ๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา  ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณคือความไหวพริบ ความเข้าใจ ทำให้สบเหมาะทันที ในเมื่อเหตุเกิดขึ้นโดยฉุกเฉินคือ ปรีชาแจ้งในความคิดพันการ มีไหวพริบซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ เอามาเชื่อมโยงเข้า สร้างความคิดและเหตุผลใหม่ ๆ
                        พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เรียกว่าอุทเทสคือตั้งขึ้นเป็นข้อ ๆ และทรงแสดงชี้แจงต่อไปซึ่งเรียกว่านิทเทส คือพรรณาอุทเทสข้อธรรมนั้นออกไปให้กว้างขวาง ถ้ายังไม่พอก็ทรงแสดงต่อไปอีกเรียกว่าปฏินิทเทส   ๑๗/ ๑๐๘๓๙
                ๓๒๘๖. ปฐมเจดีย์ - พระ  เป็นเจดีย์ใน อ.เมือง ฯ จ.นครปฐม สร้างมาตั้งแต่เมื่อแรกตั้งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในประเทศไทย เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งของประชาชน เป็นจอมเจดีย์ในประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย ซึ่งมีอยู่แปดองค์ ดังได้จำลองเป็นภาพจิตรกรรม ไว้ที่ในพระอุโบสถวัดเบญจบพิตร จอมเจดีย์ทั้งแปดได้แก่
                        ๑. พระปฐมเจดีย์ สร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนาประดิษฐานในเมืองไทย
                        ๒. พระมหาธาตุ เมืองละโว้ คือพระปรางค์ที่วัดมหาธาตุ เมืองลพบุรี สร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมาประดิษฐานในเมืองไทย แล้วแพร่หลายไปทางเขมรและเมืองเหนือ
                        ๓. พระธาตุหริภุญชัย ที่เมืองลำพูน เก่าก่อนพระเจดีย์องค์อื่นทั้งหมดในแคว้นล้านนา
                        ๔. พระธาตุพนม ที่เมืองนครพนม เก่าก่อนพระเจดีย์องค์อื่นทั้งหมดในแคว้นอีสาน
                        ๕. พระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง คือพระปรางค์ที่วัดน้อย เมืองสวรรคโลก (อ.ศรีสัชนาลัย) เป็นพระเจดีย์องค์แรกที่ไทยมาสร้างซ่อมของเดิม
                        ๖. พระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช สร้างเมื่อพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แรกมาถึงเมืองไทย
                        ๗. พระมหาาธาตุ เมืองศรีสัชนาลัย วัดช้างล้อม ที่เมืองสวรรคโลกเก่า พระเจ้ารามคำแหง ฯ ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ
                        ๘. พระเจดีย์ชัยมงคล วัดใหญ่ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ
                        โดยเหตุที่พระปฐมเจดีย์สร้างมาแล้วช้านาน จึงมีตำนานอันเป็นนิยายนิทานอยู่เป็นอันมาก ประกอบกับได้ซ่อมแปลงกันมาหลายทอดหลายตอน
                        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงสันนิษฐานว่า พนมจอมกองอิฐใหญ่ ซึ่งปรากฎว่าเป็นชั้นทักษิณพระปรางค์นั้นมิใช่ฐานพระปรางค์ เห็นเป็นองค์พระมหาสถูปารามเจดีย์ของโบราณแรกตั้งพระพุทธศาสนา เหมือนเป็นอย่างเดียวกับพระสถูปารามเจดีย์ในกรุงอนุราชบุรี ในเกาะสิงหลทวีป
                        พระเจดีย์องค์เดิมนั้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ เช่นเดียวกับสาญจิเจดีย์ ซึ่งพระเจ้าอโศกทรงสร้างไว้ ณ เมืองสาญจิ ประเทศอินเดีย ต่อมาก็คงจะได้ซ่อมดัดแปลงมาเป็นระยะ ๆ จนกลายเป็นรูปพระปรางค์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดให้สร้างแบบจำลองไว้ก่อนที่จะสร้างพระเจดีย์ใหม่ครอบพระเจดีย์เดิม   ๑๗/ ๑๐๘๔๓
                ๓๒๘๗. ปฐมเทศนา  เป็นการแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ครั้งแรกของพระพุทธเจ้า เมื่อแรกตรัสรู้ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย สัจธรรมที่ทรงแสดงเรียกว่า "ธรรมจักกัปวัตนสูตร" (ดูธรรมจักร - ลำดับที่ ๒๖๗๙ ประกอบด้วย) ผู้สดับพระธรรมเทศนาคือ พระเบญจวัคคีย์ ใจความคือ ทรงแสดงถึงที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ หรือนิยมยินดีกับ มัชฌิมาปฎิปทา คือทางมีองค์แปด ทำผู้ดำเนินให้เป็นพระอริยะ
                        ที่สุดสองอย่างนั้นได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค คือ ทำตนให้พัวพันด้วยสุขในกามเป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านตั้งเรือน (เป็นเรื่องของชาวบ้าน - เพิ่มเติม) เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่เป็นประโยชน์ อัตกิลมกานุโยค คือ การทำตนให้ลำบากเป็นทุกข์ ไม่ทำเป็นพระอริยะ ไม่เป็นประโยชน์ ทั้งสองอย่างนี้บรรพชิตไม่ควรเสพ หรือนิยมยินดี (ดู ทุกขกิริยา - ลำดับที่ ๒๕๗๘ ประกอบด้วย)
                        มัชฌิมาปฎิปทา คือทางมีองค์แปด ทำผู้ดำเนินให้เป็นพระอริยะนั้นคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ (ดู มรรค - ลำดับที่... ประกอบด้วย )
                        เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปวัตนสูตร จบลง พระอัญญาโกญทัญญะ ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค เป็นพระโสดาบัน และบันดาลให้เอนกนิกร เทพยดาที่มาประชุมฟังธรรมเทศนาอยู่ ได้บรรลุอริยมรรค อริยผลมากมาย (ดู เบญจวัคคีย์ - ลำดับที่ ๓๒๐๗ ประกอบด้วย)
                        อาศัยเค้าเรื่องจากพุทธจริยาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาครั้งนี้ เป็นเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา หรือปางแสดงธรรมจักร พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบท นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลม เป็นกิริยาแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประคอง      ๑๗/ ๑๐๘๕๒
                ๓๒๘๘. ปฐมสมโพธิ  เป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้า หรือคัมภีร์ว่าด้วยพระพุทธศาสนา เรียกเต็มว่า "ปฐมโพธิกถา" ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาบาลี เท่าที่พบต้นฉบับที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ มีสองสำนวน สำนวนหนึ่งมี ๒๒ ปริจเฉท สำนวนที่สองมี ๒๙ ปริจเฉท
                        สำนวนที่สองนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘ หนังสือปฐมโพธิสถาทั้งสองสำนวนได้แปลแล้วทั้งสองสำนวน ยังมีหนังสือปฐมโพธิ แปลร้อยกรอง พบในหอสมุดแห่งชาติอีกสี่สำนวน
                        หนังสืออันกล่าวด้วย พระพุทธประวัติและศาสนประวัติ ที่แต่งและนำสืบ ๆ กันมา มีคติทางมหายาน และเถรวาท ปะปนกัน       ๑๗/ ๑๐๘๕๕
                ๓๒๘๙. ปดุง  เป็นพระนามของกษัตริย์องค์ที่สี่แห่งราชวงศ์อลองพญา ครองอาณาจักรพม่า ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๖๒ พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สี่ ของพระเจ้าอลองพญา พระองค์ได้ครองราชย์โดยทำการปราบดาภิเษก
                        พระเจ้าปดุง ทรงรุกรานประเทศไทยในปี พ.ศ.๒๓๒๘ หลังจากที่ได้ประเทศใกล้เคียงไว้ในอำนาจ พระองค์ทรงเป็นจอมทัพคุมกำลังพล ๑๔๔,๐๐๐ คน โดยจัดแบ่งเป็นเก้าทัพ กำหนดเข้าตีเมืองไทยพร้อมกัน ฝ่ายไทยสามารถต่อสู้พม่าข้าศึก จนพ่ายแพ้ล่าถอยไปได้ด้วยกำลังเพียง ๗๐,๐๐๐ คนเศษ โดยได้รวบรวมกำลังต่อสู้ข้าศึก แต่ในทางสำคัญก่อน เมื่อมีชัยชนะทัพข้าศึกที่สำคัญแล้ว จึงย้ายกำลังไปปราบปรามข้าศึกทางอื่นต่อไป
                        แม้ประสบความพ่ายแพ้ในสงครามเก้าทัพก็ตาม พระเจ้าปดุงก็ได้ยกทัพมาตีไทยอีก ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ โดยให้พระมหาอุปราชายกทัพหน้า ๕,๐๐๐ คน เข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ โดยมีพระเจ้าปดุง คุมทัพหลวงตามมา แต่กองทัพไทยก็สามารถตีกองทัพพม่าแตกยับเยิน ที่ท่าดินแดง และที่สามสบ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน
                        ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ หัวเมืองประเทศราช ไทยใหญ่ เช่น เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงตุง พากันกระด้างกระเดื่องต่อพม่า พระเจ้าปดุงเกรงว่าประเทศราช จะเข้าข้างไทยจึงแต่งทัพมาทางเขตลานนา โดยตีหัวเมืองรายทางได้ เช่น เมืองฝาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรด ฯ ให้เจ้ากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ไปตั้งรับที่เมืองเชียงใหม่ แต่มีกำลังไม่พอจึงไปตั้งที่เมืองป่าซาง ฝ่ายพม่าได้ยกกำลังเข้าล้อมเมืองป่าซาง และเมืองลำปาง พร้อมกัน กรมพระราชวังบวร ฯ คุมทัพ ๖๐,๐๐๐ คน ขึ้นไปขับไล่พม่าแตกพ่ายไปทั้งสองแห่ง
                        ในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงคุมทัพ ๒๐,๐๐๐ คน ไปตีเมืองทวาย แต่กองทัพไทยต้องเผชิญความลำบากในการยกข้ามภูเขาบรรทัด ประกอบกับเสบียงอาหารขาดแคลน จึงต้องยกทัพกลับ
                        ในปี พ.ศ.๒๓๓๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ และกรมพระราชวังบวร ฯ ยกทัพไปตีพม่าทางใต้ โดยจะใช้เมืองมะริด ตะนาวศรี และทวาย เป็นฐานทัพ พระเจ้าปดุงโปรด ฯ ให้พระมหาอุปราชาคุมทัพมาต่อสู้กับไทย ฝ่ายมอญทั้งสามซึ่งได้สามิภักดิ์ต่อไทยอยู่ก่อนได้เปลี่ยนใจไปเข้าด้วยพม่า ไทยต้องปราบทั้งพวกขบถมอญ และรบพม่าไปพร้อมกัน ประกอบกับขัดสนเรื่องเสบียงอาหาร ในที่สุดกองทัพไทยก็ต้องเลิกทัพกลับมา
                        ในปี พ.ศ.๒๓๔๐ พระเจ้าปดุงเกณฑ์กองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพพม่าประกอบด้วยพวกไทยใหญ่จากประเทศราชของตน กรมพระราชวังบวร ฯ คุมทัพกรุงและหัวเมืองในภาคกลางของไทย และมีทัพเวียงจันทน์ รวมประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน ยกไปช่วยพระยากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ต่อสู้ข้าศึก กองทัพไทยตีพม่าที่เมืองลำพูน และเชียงใหม่ แตกพ่ายไปทั้งสองแห่ง
                        ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระเจ้าปดุงทรงขัดเคืองพระยากาลิวะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ได้ยกกองทัพไปตีเมืองสาด ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่า จึงได้ยกกองทัพมาตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งสี่ด้าน กรมพระราชวังบวร ฯ ยกกองทัพไปช่วยพระยากาวิละ แต่พระองค์ได้ประชวรระหว่างทาง จึงโปรด ฯ ให้กรมพระราชวังหลัง คุมทัพแทนพระองค์ กองทัพไทยและกองทัพเชียงใหม่ ยกเข้าตีพม่าพร้อมกัน กองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงโปรด ฯ ให้สถาปนา พระยากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ มีราชทินนามว่า "พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์"
                        ในปี พ.ศ.๒๓๕๑ พระเจ้าปดุง ส่งกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ และหัวเมืองชายทะเล ตะวันตกของไทย เป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฯ เพิ่งทรงครองราชย์ จึงโปรด ฯ ให้ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาภิมุข เป็นจอมทัพ คุมกำลังพล ๒๐,๐๐๐ คน ไปตีเมืองภูเก็ต เมืองถลาง และเมืองชุมพร ได้ กองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป       ๑๗/ ๑๐๘๖๓
                ๓๒๙๐. ปตัญชลี  เป็นชื่อมหาฤาษีผู้ให้กำเนิดลัทธิโยคะ มีชีวิตอยู่ราวกลางพุทธศตวรรษที่สี่ บางมติก็ว่าราวพุทธศตวรรษที่เก้า ท่านทำงานไว้มากเป็นที่ปรากฎ
                        วิธีปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุบรมสุขตามปรัชญาของพราหมณ์ที่สำคัญหกสาย มีเจ้าลัทธิหกคนเป็นผู้ประกาศ และตัวท่านเป็นหนึ่งในหกของเจ้าลัทธิดังกล่าวคือ  ปรัญชาโยคะ
                        วิธีปฏิบัติธรรมของท่านปรากฎในคัมภีร์ชื่อโยคะสูตร เป็นนิกายโยคะ หรือนิกายปตัญชลี โยคะของท่านแยกออกเป็นสองสาย สานหนึ่งเป็นไปทางปรัญชา อีกสายหนึ่งได้แก่การบริกรรม ซึ่งมีการบังคับการหายใจเป็นแก่นสำคัญ ท่านได้แสดงบัญญัติว่า โยคะคือนิโรธแห่งพฤติกรรมของจิต เป็นการควบคุมจิตให้มีภาวะเป็นเอกัคตา ดับเสียจากอารมณ์อันเกิดแก่จิตทุกชนิด มีการปฏิบัติอยู่แปดทาง ท่านไม่ยอมรับเรื่องพระเจ้า (หลายองค์ - เพิ่มเติม) แต่อธิบายว่าต้องมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มุ่งตรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียก่อน โดยวางพื้นฐานแห่งจิตไว้ที่พระเจ้าสูงสุดองค์เดียว เป็นอารมณ์คือ พระอิศวร (หรือศิวะ) เรียกว่า "อิศวรปณิธาน" พระเจ้าองค์นั้นเป็นนิรันดรอยู่คู่กับโลก เป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ปกครองโลก ตัดสินความเป็นไปของโลก อยู่กับทุกแห่งทุกที่ ทุกกาลเวลา เป็น ฯ ผู้สอดส่องรอบรู้ทุกอย่าง เป็นปรมาตมันคือตัวปฐมวิญญาณ เป็นที่เกิดของวิญญาณทั้งหลาย       ๑๗/ ๑๐๘๗๓
                ๓๒๙๑. ปโตเลมี แห่งอะเล็กซานเดรีย  เป็นนักวิทยาศาสตร์สัญชาติกรีก - อียิปต์ มีความเชี่ยวชาญ และผลงานดีเด่นในทางดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และฟิสิกส์ มีชีวิตอยู่ประมาณปี พ.ศ.๖๔๓ - ๗๑๓ ได้เรียบเรียงหนังสือ และชุดหนังสือเกี่ยวกับผลงานที่ได้ศึกษาค้นคว้าไว้เป็นจำนวนมากเล่มคือ
                        ๑. ชุดหนังสือเกี่ยวกับดาราศาตร์ มี ๑๓ เล่ม
                        ๒. ชุดหนังสือที่เป็นตำราภูมิศาสตร์เชิงคณิตศาสตร์ มี ๘ เล่ม
                        ๓. ชุดหนังสือว่าด้วยปรากฎการณ์ของแสงกระจก กฎการสะท้อนแสง มุมตก และมุมหักเห มี ๕ เล่ม
                        ๔. ชุดหนังสือเกี่ยวกับดนตรี มี ๓ เล่ม
                        ๕. ชุดหนังสือเกี่ยวกับโหราศาตร์  มี ๔ เล่ม
                        ๖. หนังสือวตำราเรขาคณิต
                        นอกจากนี้ยังเขียนหนังสืออื่น ๆ ไว้อีกหลายเล่ม     ๑๗/ ๑๐๘๗๙

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch