หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/82
    เล่ม ๑๗ บุพเพนิวาสานุสติญาฯ - ประตูสามยอด     ลำดับที่ ๓๑๘๖ - ๓๓๔๐          ๑๗/ ๑๐๕๐๕ - ๑๑๑๖๑
                ๓๑๘๖. บุพเพนิวาสานุสติญาณ  เป็นวิชชาที่หนึ่งในหมวดวิชชาสาม วิชชาที่สี่ในหมวดวิชชาแปด อันเป็นองค์แห่ง "พระสัมมาสัมโพธิญาณ" แปลว่าความรู้ระลึกชาติหนหลังได้ ในนิทเทสแห่งญาณนี้ที่กล่าวถึงในสามัญผลสูตรทีฆนิกาย สีลขันธุวรรค สุตตันตปิฎก ความรู้นี้คือ เมื่อจิตบริสุทธิ์ สะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมอง เป็นจิตผ่องใสไม่หวั่นไหว เกิดปัญญาน้อมไปเพื่อระลึกชาติถอยหลังเข้าไปได้ ตั้งแต่ชาติหนึ่ง สองชาติ จนถึงหลาย ๆ กัป และหลายสังวัฎวิวัฎกัป และรู้ว่าในชาติที่เท่านั้นมีชื่ออย่างนั้น มีสกุลอย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น ๆ ได้เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีรูปพรรณสัณฐานอย่างนั้น ๆ มีอายุเท่านั้น จุติจากชาตินั้นแล้วได้ไปเกิดในชาติที่เท่าโน้น ได้เป็นอย่างนั้น ๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้ ดังนี้ (ดูญาณ - ลำดับที่ ๑๙๓๓ ประกอบด้วย)    ๑๗/ ๑๐๕๐๕
                ๓๑๘๗. บุพวิเทห์  เป็นชื่อทวีปใหญ่ทวีปหนึ่งในทวีปทั้งสี่แห่งในคัมภีร์ไตรภูมิ เป็นทวีปของชนชาววิเทหะทางตะวันออก มีสัณฐานกลม เป็นปริมณฑลขนาดเท่ากับอมรโคยานทวีป มนุษย์ชาวทวีปนี้สูงหกศอก มีผิวกายเหมือนชาวชมพูทวีป และอมรโคยานทวีปคือ ผิวเนื้อสองสี (ขาว - ดำ) (ดูจักรวาล - ลำดับที่ ๑๒๑๕ ประกอบ)        ๑๗/ ๑๐๕๐๖
                ๓๑๘๘. บุริมสิทธิ์  แปลตามรูปว่าสิทธิ์ที่จะได้ก่อน เป็นคำในกฎหมายหมายถึง สิทธิ์ที่เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่มาตรา ๒๕๑ - ๒๘๙     ๑๗/ ๑๐๕๐๖
                ๓๑๘๙. บุรีรัมย์  จังหวัดทางภาคอีสาน มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ทิศตะวันออกจด จ.สุรินทร์ ทิศใต้จด จ.ปราจีนบุรี และทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันตกจด จ.นครราชสีมา อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ โดยทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ๓๗๖ กม. ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ทางใต้เป็นพืดเขาลาดต่ำไปทางทิศเหนือจนจดแม่น้ำมูล มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย หน้าแล้งในที่ดอนกันดารน้ำ ประชากรทำนา ทำประมงค์ เลี้ยงสัตว์ ทำเกลือสินเธาว์ เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม
                        ที่ตั้งตัวเมือง ปัจจุบันเป็นเมืองโบราณเรียกว่า เมืองแปะ จังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบันรวมเมืองเก่าเข้าไว้หลายเมืองคือ เมืองแปะ เมืองนางรอง เมืองตาลุง เมืองพุทไธสง มีเจ้าเมืองปกครองทุกเมือง มารวมตั้งเป็นเมืองบุรีรัมย์ราวปี พ.ศ.๒๔๔๑ ลดเมืองต่าง ๆ ดังกล่าวลงเป็นตำบล
                        สถานที่สำคัญคือ  ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง และปราสาทหินเมืองต่ำ นอกจากนี้ยังมีปรางค์ขนาดย่อมในที่ต่าง ๆ อีกมาก           ๑๗/ ๑๐๕๑๑
                ๓๑๙๐. บุรุษโทษ  เป็นลักษณะร่างกายอันชั่วร้ายของคน ร่างกายที่เป็นอัปลักษณ์ ในอรรถกาชาดก มหานิบาต เวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร กล่าวว่าบุรุษโทษมีสิบแปดประการ เช่นตีนแปหรือตีนคด ปลีแข้งทู่โปออกทั้งข้างบนข้างล่าง ริมฝีปากบนยาวยื่นปิดช่องปากมิด จมูกหักฟุบลง ท้องป่องเป็นกะเปปาะดังหม้อ หลังหักโค้งค้อมลง ตาเหล่ใหญ่ข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่ง หนวดเคราสีแดง เหมือนทองแดง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งทั้งตัว ตาเหลือกเหลือง หลังโกงเอวคด ฯลฯ         ๑๗/ ๑๐๕๑๓
                ๓๑๙๑. บุเรงนอง  เป็นพระนามของกษัตริย์ที่ครองพม่า ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๙๔ - ๒๑๒๔ ทำพิธีราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๖ มีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทย ในตำแหน่งแม่ทัพของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ยกมาตีเมืองไทย คราวสมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนหลังช้างในปี พ.ศ.๒๐๙๑ ต่อมาพระเจ้าบุเรงนอง ทรงทำสงครามขอช้างเผือกในปี พ.ศ.๒๑๐๖ และสงครามครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๑๑๒
                       ก่อนเป็นกษัตริย์พม่า บุเรงนองเป็นแม่ทัพชั้นเยี่ยมของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่ง "บุเรงนอง" (แปลว่าพระเชษฐาธิราช) เพราะได้เป็นพี่พระมเหสีของพระเจ้าหงสาวดี    ๑๗/ ๑๐๕๑๓
                ๓๑๙๒. บุโรพุทโธ  เป็นศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ก่อด้วยศิลาจากภูเขาไฟตั้งอยู่บนเนินดิน และตั้งอยู่ทางภาคกลางของเกาะชวา ประมาณ ๔๐ กม.ทางทิศเหนือของเมืองยกยาการ์ตา ราชวงศ์ไศเลน ซึ่งกำลังปกครองภาคกลางของเกาะชวาอยู่ในเวลานั้น ได้สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.๑๓๕๐
                        บุโรพุทโธ เป็นเจดีย์หรือสถูปที่มีฐานขนาดใหญ่มหึมา แบ่งออกเป็นหลายชั้น ฐานชั้นล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม กว้างยาวด้านละ ๑๒๓ เมตร และองค์เจดีย์รวมทั้งยอดสูงจากพื้นดินประมาณ ๔๒ เมตร
                        บนยอดฐานชั้นล่างสี่ชั้น มีพระธยานีพุทธเจ้าสี่พระองค์ ประทับนั่งประจำอยู่ในซุ้มแต่ละทิศตามชั้นทั้งสี่ บนยอดฐานชั้นที่ห้ามีพระพุทธรูปปางวิตรรกะ (แสดงธรรม) ประทับนั่งอยู่ภายในซุ้ม บนลานวงกลมชั้นบนสามชั้นมีพระเจดีย์เป็นเจดีย์รายล้อมรอบ เจดีย์องค์กลางสามแถว ล้วนสลักโปร่ง พระเจดีย์แถวล่างสองแถว มีรอยสลักโปร่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แต่แถวบนมีรอยสลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เจดีย์องค์กลางทึบมองไม่เห็นภายใน คงหมายถึงพระอาทิพุทธเจ้าผู้สร้างโลก หรือพระวัชรสัตว์สรุปแล้วพุทโธสร้างขึ้นเพื่อแสดงว่าพุทธอำนาจของพระอาทิพุทธเจ้าได้แผ่ครอบคลุมทั่วทั้งจักรวาล    ๑๗/ ๑๐๕๒๓
                ๓๑๙๓. บุษกร  เป็นตำบลที่พระวิศวามิตร ราชฤาษี กับสานุศิษย์ย้ายไปอยู่เพื่อบำเพ็ญบารมี     ๑๗/ ๑๐๕๒๖
                ๓๑๙๔. บุษบก  มีบทนิยามว่า "เรือนยอดขนาดเล็ก ซึ่งอาจย้ายเคลื่อนที่ได้"
                        ตามบทนิยามนี้บุษบก เดิมเป็นอันเดียวกันกับมณฑปและปราสาท เป็นแต่ดัดแปลงตบแต่งรูปทรงเล็กใหญ่ให้แตกต่างกันบ้างเท่านั้น สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นสูง หรือสำหรับเป็นที่ประดิษฐานสิ่งคารพสูงสุด     ๑๗/ ๑๐๕๒๗
                ๓๑๙๕. บุษบกตามประทีป - ตรา (ดูตรา - ลำดับที่ ๒๐๙๙ ประกอบด้วย)      ๑๗/ ๑๐๕๓๒
                ๓๑๙๖. บุษบา ๑  เป็นชื่อนางเอกในวรรคดีเรื่องอิเหนา เป็นธิดาท้าวดาหา ได้หมั้นกับญาติผู้พี่ของนางคือ อิเหนา โอรสท้าวกุเรปัน ตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อเจริญวัยขึ้น อิเหนาไม่ยอมอภิเษกสมรสกับบุษบา เพราะไปหลงไหลนางอื่น ทำให้ท้าวดาหากริ้วมาก ยกบุษบาให้แก่ระตูต่ำศักดิ์องค์หนึ่ง แต่เมื่ออิเหนากับบุษบาได้พบกันเป็นครั้งแรก อิเหนาก็หลงรักนางทันที และมุ่งชิงนางไปเป็นคู่ครอง บุษบาต้องพลัดพรากจากเมือง และจากอิเหนาเป็นเวลาหลายปี เนื่องด้วยคำสาปของปะตาระกาหลาเทวดาต้นวงศ์ ผู้ประสงค์จะลงโทษอิเหนาที่ทำผิดไว้ เมื่อพ้นสาปบุษบาก็ได้เป็นมเหสีของอิเหนา ซึ่งได้เสวยราชย์สืบต่อจากท้าวกุเรปัน      ๑๗/ ๑๐๕๓๒
                ๓๑๙๗. บุษบา ๒  เป็นชื่อภริยาเจ้าเมืองพิจิตร ในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เป็นผู้มีใจเมตตาอารี ดุจเดียวกับสามี ทั้งสองได้ให้ความอุปการะแก่ขุนแผน และนางวันทอง ในคราวที่ขุนแผนพานางวันทองซึ่งกำลังตั้งครรภ์ออกจากป่า ไปขอพึ่งใบบุญ เมื่อขุนแผนขอเข้ามอบตัวเพื่อไปต่อสู้คดีที่อยุธยา บุษบาได้ให้เงินจำนวนสามชั่ง พร้อมเครื่องกินเครื่องใช้ให้ขุนแผน และนางวันทอง นำติดตัวไปใช้ระหว่างทาง
                        บุษบามีลูกสาวกับพระพิจิตรชื่อ ศรีมาลา เมื่อขุนแผนพ้นโทษ และพาพลายงามลูกชายซึ่งเกิดจากนางวันทองไป แวะเมืองพิจิตร ก่อนจะเดินทางไปทำศึกที่เชียงใหม่ ขุนแผนได้สู่ขอศรีมาลาให้พลายงาม     ๑๗/ ๑๐๕๓๕
                ๓๑๙๘. บุษปนคร  (ดู ปาฎลีบุตร - ลำดับที่.๓๕๑๖)       ๑๗/ ๑๐๕๓๖
                ๓๑๙๙. บุษมาลี ๑  ชื่อนางฟ้าในวรรณคดี บทละครทำเรื่องรามเกียรติ์ เป็นข้าของพระอินทร์ ได้กระทำความผิดโดยรับเป็นสื่อชักให้ท้าวตาวัน ผู้ครองเมืองมายัน ติดต่อรักใคร่กับนางฟ้ารัมภา พระอินทร์กริ้วมากบันดาลให้เมืองตาวัน กลายเป็นเมืองร้างกลางป่า และสาปให้บุษมาลีทนทุกข์ทรมานอยู่ในเมืองร้าง ตามลำพังอยู่สามหมื่นปี จนพระนารายณ์อวตารเป็นพระราม นางได้บอกทิศทางไปเมืองลงกาแก่หนุมานแล้ว ก็พ้นสาป     ๑๗/ ๑๐๕๓๖
                ๓๒๐๐. บุษมาลี ๒  เป็นชื่อนางงามในนิทานคำกลอน และบทละครรำ เรื่องพระสมุทร     ๑๗/ ๑๐๕๓๖
                ๓๒๐๑. บุษยมิตร  เป็นพระนามกษัตริย์องค์หนึ่งของอินเดียโบราณ ปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์ ณ กรุงปาฎลีบุตร นครหลวงของแคว้นมคธ สืบแทนราชวงศ์โมริยะ ของพระเจ้าจันทรคุปต์ ผู้เป็นพระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อราวปี พ.ศ.๓๕๙
                        พระองค์ทรงตั้งราชวงศ์ศุงคะ ต่อจากราชวงศ์โมริยะ มีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อสิบองค์  ๑๗/ ๑๐๕๓๗
                ๓๒๐๒. บุษยรัตน์  เป็นพระนามพระพุทธรูปสำคัญ เรียกพระนามเต็มว่า "พระพุทธบุษยรัตน์" ทำด้วยแก้วผลึก ที่เรียกว่า เพชรน้ำค้าง หรือบุษยน้ำขาว ไม่ปรากฎมีตำนานการสร้าง ทราบแต่เพียงว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีผู้พาหนีอันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อย บ้านนายวน แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เห็นกันว่าจะเป็นองค์เดียวกับพระแก้วขาว ซึ่งมีกล่าวไว้ ในตำนานโยนก พระแก้วขาวองค์นี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่กรุงละโว้ เป็นกาลเวลาจนถึงกาลที่ฤษีสุเทพ สร้างเมืองหริภุญชัย และเชิญพระนางจามเทวี ราชธิดากรุงละโว้ ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย จนถึงแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๑ ได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ กับพระแก้วมรกตด้วยกัน ถึงปี พ.ศ.๒๐๙๔ พระเจ้าชัยไชยเชษฐา เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระแก้วขาวไปเมืองหลวงพระบาง ด้วยกันกับพระแก้วมรกต ต่อมาเมื่อพระองค์ไปอยู่เมืองจันทน์ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย แต่ไม่ได้อัญเชิญพระแก้วขาวไปด้วย ทำนองมีเหตุจลาจลมีผู้พาหนีไปซ่อนไว้ดังกล่าว ต่อมาเจ้าเมืองนครนครจำปาศักดิ์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ในเมืองนครจำปาศักดิ์ ในปี พ.ศ.๒๓๕๔ ได้อัญเชิญมาถึงกรุงเทพ ฯ อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราลัยพิมาน     ๑๗/ ๑๐๕๓๙
                ๓๒๐๓. บุษยสนาน หรือบุณยสนาน  เป็นคำเรียกพิธีสนานกาย ตามพิธีของพราหมณ์ชาวอินเดียทำทุกเดือนในวันเพ็ญ ส่วนศราวณี เป็นพิธีใหญ่สำคัญมาก ทำในเดือนสิบของปีพราหมณ์
                        พิธีบุษยสนาน คนในวรรณะศูทรเกี่ยวข้องไม่ได้ เพราะถือว่าคนในวรรณะศูทร เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อใด เมื่อนั้นไม่หมดบาปบุษยสนาน        ๑๗/ ๑๐๕๔๔
                ๓๒๐๔. บุษยะ - ดาว  เป็นดาวนักษัตรที่หก ตามตำราของฮินดู  ซึ่งเริ่มนักษัตรที่หนึ่งตรงดาวลูกไก่ (กัตติกา)        ๑๗/ ๑๐๕๔๘
                ๓๒๐๕. บุษราคัม  เป็นรัตนชาติชนิดหนึ่ง เป็นแร่โทแปซ สีเหลือง เป็นรัตนชาติ ที่อาจใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้นได้
                        เดิมทีคำว่า บุษราคัมนี้ ตามตำรานพรัตน์ของไทย หมายถึง พลอยสีเหลืองทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ในประเทศไทย ได้แก่ รัตนชาติ ตระกูลคอรันดัม ที่มีสีเหลือง เรียกกันว่า พลอยน้ำบุษ หรือพลอยน้ำบุษย์ และส่วนน้อย ได้แก่ แร่ครอร์ต สีเหลือง ซึ่งในภาคเหนือของไทยเรียกว่า โป่งข่าม     ๑๗/ ๑๐๕๔๙
                ๓๒๐๖. บุหงา ๑  เป็นคำชวาแปลว่า ดอกไม้ เป็นคำสามัญทั่วไป ในความหมายทั้งที่เป็นดอกไม้จริง และดอกไม้เทียม บุหงามีชื่อเรียกตามประเภทดอกไม้คือ
                        บุหงาตันหยง - ดอกพิกุล บุหงาปะกัน - ดอกมะลิป่า บุหงาปะหนัน - ดอกลำเจียก บุหงามาหลอ - ดอกมะลิ บุหงารำไป - เป็นชื่อชนิดการจัดดอกไม้ตรงกับคำว่า ดอกไม้พุ่ม หรือพุ่มดอกไม้          ๑๗/ ๑๐๕๕๕
                ๓๒๐๗. บุหงา ๒  เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาลทราย น้ำนมแมว กวนให้ขึ้นเป็นเส้นยาว โรยแป้ง ตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ ห่อด้วยกระดาษแก้ว แล้วหุ้มด้วยกระดาษสีต่าง ๆ จักหัวท้ายกระดาษให้เป็นฝอย      ๑๗/ ๑๐๕๕๖
                ๓๒๐๘. บุหรี่  คือ สิ่งที่มีลักษณะเป็นมวนยาว ประกอบด้วยใบยาสูบที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ม้วนพันด้วยกระดาษบาง สำหรับใช้จุดสูบ ความยาวปรกติ ๗๐ มม.
                        ตามประวัติ ในปี พ.ศ.๒๐๖๑ นักสำรวจชาวสเปน ได้พบชาวอินเดียนแดงเผ่าหนึ่ง นิยมสูบบุหรี่กันมาก ชนเผ่านี้มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศเมกซิโก จึงได้นำวิธีการสูบบุหรี่ไปเผยแพร่ ในประเทศของตน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๐๒ มีผู้นำเมล็ดยาสูบจากเมืองแซนโตโดมิงโก เข้าไปปลูกในประเทศสเปน และแพร่หลายเข้าสู่กรุงโรม และมีผู้นำเส้นยาสูบจากเมืองฟลอริดา เข้าไปในประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๘ ระหว่างสงครามไครเมีย (พ.ศ.๒๓๙๗ - ๒๓๙๙)  ทหารอังกฤษและฝรั่งเศส ติดการสูบบุหรี่จากทหารตุรกี และนำไปเผยแพร่ในประเทศของตน ปัจจุบันการสูบบุหรี่ได้เป็นที่นิยม แพร่หลายไปทุกประเทศทั่วโลก
                        ได้มีการสร้างโรงงานผลิตบุหรี่จำหน่ายเป็นอุตสาหกรรมที่เมืองปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรุสเซีย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓ ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มผลิตบุหรี่ออกจำหน่ายในปี พ.ศ.๒๔๐๗ ถึง ๒๐ ล้านมวน
                        ปัจจุบันการผลิตบุหรี่ออกจำหน่าย ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ มีรายได้มหาศาล ประเทศที่ผลิตบุหรี่ออกจำหน่ายมากที่สุดในโลก เรียงตามลำดับคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น บัลกาเรีย และอังกฤษ
                ๓๒๐๙. บุหรี่พระราม - ต้น  เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง พบขึ้นทั่วไปในประเทศไทย มีมือเป็นเส้นเรียวยาว สำหรับใช้เกาะยึดพันสิ่งต่าง ๆ ใบเป็นแบบธรรมดา กว้างราว ๕ ซม. ยาวราว ๘ ซม. ช่อดอกออกในง่ามใบเป็นช่อยาว ผลเป็นรูปเรียวยาวคล้ายทรงกระบอกกลม หรือเป็นสามเหลี่ยม เมล็ดมีมากสีดำแบนและมีปีกบาง ๆ ที่ปลายเมล็ด          ๑๗/ ๑๐๕๕๘
                ๓๒๑๐. บุหลัน  เป็นชื่อเพลงไทยสองเพลงด้วยกันคือเพลง "บุหลัน (เถา)" กับ "บุหลันเลื่อนลอยฟ้า"
                        เพลงบุหลัน (เถา)  เดิมเป็นเพลงในอัตราสองชั้นมีชื่อว่า "ชกมวย" แต่งขึ้นราวต้นรัชกาลที่ห้า โดยทำเป็นเพลงสองท่อนสั้น ๆ สำหรับใช้ประกอบการแสดงละคร ต่อมาได้มีผู้นำสองท่อนมารวมเป็นท่อนเดียว แล้วแต่งยึดขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้นให้ชื่อว่าเพลง "บุหลันสามชั้น" คนในสมัยนั้นมักเรียกติดปากว่าเพลง "บุหลันชกมวย" ต่อมาพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)  ได้นำมาตัดเป็นอัตราสองชั้นและชั้นเดียว เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๗๕ จึงกลายเป็นเพลงบุหลัน (เถา) ซึ่งหมายความว่าเป็นเพลงที่บรรเลงได้ตั้งแต่สามชั้น สองชั้น จนถึงชั้นเดียว ติดต่อกันนั่นเอง
                        คำว่า "บุหลัน" เป็นภาษามลายู แปลว่าพระจันทร์     ๑๗/ ๑๐๕๕๙
                ๓๒๑๑. บู่ -ปลา  ส่วนใหญ่อยู่ในทะเลและหลายชนิดอยู่ในน้ำจืด ส่วนมากตัวเล็ก กินสัตว์เล็กเป็นอาหาร อยู่ตามก้นทะเล ตามริมอ่าว และปากแม่น้ำ บางครั้งก็อยู่ในลำธาร ทะเลสาบ และหนองบึง แอ่งน้ำ ตามก้นแม่น้ำเชี่ยว
                        ลักษณะแปลกของปลาบู่คือ ครีบท้องที่อก อยู่หน้าครีบอก และไม่มีเส้นข้างตัว รูปครีบท้องเป็นลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกวงศ์ สกุลและชนิด ประกอบกับรูปร่างและลักษณะของครีบ ฟัน และเกล็ด          ๑๗/ ๑๐๕๖๑
                ๓๒๑๒. บูชายัญ  มีบทนิยามว่า "การบูชาของพราหมณ์อย่างหนึ่ง การบวงสรวงเพื่อบูชา" การบูชายัญนี้มีมาก่อนพุทธกาล วิธีบูชายัญสรุปได้เป็นสองวิธีคือ
                        ๑. วิธีของพรามหณ์  ต้องฆ่าคนและสัตว์เป็นจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง ตามลัทธิของพระอาจารย์ผู้เป็นเจ้าพิธี และต้องเกณฑ์คนให้ตัดหญ้า และไม้มากมาย ขุดหลุมล้อมหลุม ก่อไฟในหลุมยัญ ประกอบในพิธียัญนั้น เพื่อบูชาเทพเจ้า
                        ๒. วิธีของพระพุทธศาสนา  ต้องสละทรัพย์สมบัติออกทำบุญ ประพฤติในศีลธรรม ฝึกตนให้เป็นคนบริสุทธิ์ ฝึกจิตให้หมดกิเลสอาสวะ ถึงความสงบ ไม่กำเริบอีกต่อไป
                        การบูชายัญมีวัตถุประสงค์สี่อย่างคือ
                            ๑. เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตน และบ้านเมืองของตน
                            ๒. เพื่อระงับภัยที่จะเกิดแก่ตน และครอบครัว ตลอดจนถึงบ้านเมือง
                            ๓. เพื่อใช้บนหรือแก้บน
                            ๔. เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสงบแก่ชนหมู่มาก       ๑๗/ ๑๐๕๙๖
                ๓๒๑๓. บูชิโด  เป็นภาษาญี่ปุ่น มีความหมายตามตัวอักษรว่า "ยุทธกริยา" หรือบรรดาของนักรบเป็นวินัย และธรรมจรรยาของนักรบญี่ปุ่น มีรากฐานมาจากธรรมจรรยาในลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื้อของจีน เชื่อว่าจะมีหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติ ในภายหลังบางประการ เช่นหลักของนิกายเซนผสมผสานอยู่ด้วย
                        นักปราชญ์ของญี่ปุ่นแต่โบราณรับว่า "บูชิโด" มีหลักกำเนิดจากหลักทางศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่นเองคือ ศาสนาชินโตส่วนหนึ่ง และกำเนิดจากหลักธรรมในศาสนาอื่นที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง หลักธรรมเหล่านี้เข้าหลอมให้ "บูชิโด" กลายมาเป็นบทอบรมสั่งสอน และปฏิบัติกันมาในหมู่คนญี่ปุ่น จนกลายเป็นรูปวิญญาณ และสายเลือด
                        การอบรมและการปฏิบัติตามยุทธจริยา "บูชิโด" มีกันดังนี้คือ ให้รู้จักค่าของชาติและธรรมชาติ ให้มีเมตตากรุณา ให้กล้าหาญ ให้เป็นสุภาพบุรุษ ให้รักษาสัจจะความจริง ให้ข่มใจตนเอง ให้รักตายเสมอชีวิต ให้รักครอบครัว ให้เคารพภักดีบรรพบุรุษ - จักรพรรดิ์ ให้แก้ไข - แก้แค้น ให้รักษาเกียรติยศ (ด้วยวิธียอมตาย - ฮาราคีรี) และฐานะสตรีกับบูชิโด  ๑๗/ ๑๐๕๘๑
                ๓๒๑๔. บูรณภาพ  แปลว่าความครบถ้วนบริบูรณ์เช่น บูรณภาพแห่งดินแดน หรืออาณาเขต เป็นที่ทราบดีแล้วว่าแต่ละรัฐ หรือประเทศ ย่อมประกอบด้วยดินแดน หรืออาณาเขต ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ดั้งเดิมตามประวัติศาสตร์ และอยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศนั้น ๆ หรือได้เป็นที่ยอมรับนับถือโดยสนธิสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ ดินแดนหรืออาณาเขตดังกล่าวผู้ใดจะละเมิด ล่วงล้ำ บุกรุก รุกราน ยึดครอง หรืออ้างกรรมสิทธิ์โดยพละการมิได้ นอกจากจะมีการเจรจา ทำความตกลงปรับปรุงดินแดนระหว่างทวิภาคี หรือพหุภาค ตามกระบวนการแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ จึงจะสามารถปรับปรุงเขตแดนได้โดยสันติวิธี แต่ถ้าหากปรับปรุงเขตแดนอุบัติขึ้นจากผลแห่งสงคราม ซึ่งประเทศผู้แพ้สงคราม ตกอยู่ในสภาพต้องจะยอมต่อการเรียกร้องทุกอย่างของประเทศผู้ชนะสงครามแล้ว หากการปรับปรุงดินแดน ได้กระทำไปโดยความไม่เป็นธรรม ก็ย่อมเป็นชนวนของสงครามครั้งต่อไป
                        บูรณภาพแห่งดินแดนหมายถึง อำนาจอธิปไตยอันสมบูรณ์ของรัฐเหนือพื้นดิน ใต้ดิน น่านน้ำ และน่านฟ้า         ๑๗/ ๑๐๕๘๗
                ๓๒๑๕. เบเกไลต์  เป็นสารอินทรีย์สังเคราะห์ประเภทเรซิน ปลาสติก สังเคราะห์ขึ้นได้โดยใช้ฟีนอลทำปฏิกิริยากับฟอร์มาลดีไฮด์ในภาวะที่เหมาะสม
                        เบเกไลต์เป็นของแข็ง หลอมละลายไม่ได้ ไม่ติดไฟ ทนต่อฤทธิ์ของสารเคมีเกือบทุกชนิดได้ดี เมื่อบริสุทธิ์จะไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อน ๆ ในอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์ นำไปทำเป็นเครื่องประดับ ลูกปัด กระดุม ด้ามดินสอ ด้ามปากกา ด้ามร่ม ท่อ ปากพูด - หูฟัง โทรศัพท์ ตัวกล้องถ่ายรูป สวิตซ์ไฟฟ้า ฉนวนไฟฟ้า         ๑๗/ ๑๐๕๘๙
                ๓๒๑๖. เบญกานี  เป็นเม็ดลักษณะกลม เกิดจากการขับถ่ายของแมลงเพศตัวเมียชนิดหนึ่ง ขนาด ๐.๘ - ๒.๕ ซม.ใช้ประโยชน์ทางยา มีรสฝาดจัด ใช้สมานแผล ลูกเบญกานี เป็นสินค้านำเข้ามาจากต่างประเทศ ผู้จำหน่ายคือ ประเทศแถบเอเชียไมเนอร์ และเปอร์เชีย ไม่เกิดลูกเบญกานีในประเทศไทย     ๑๗/ ๑๐๕๙๒
                ๓๒๑๗. เบญกาย - นาง  เป็นชื่อตัวละครหญิงในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นภริยาหนุมาน เมื่อคราวทศกัณฐ์ให้แปลงเป็นนางสีดา ตายลอยไปติดอยู่ที่ท่าสรงของพระราม แล้วหนุมานจับได้ แต่พระรามยกโทษให้แล้ว ให้หนุมานไปส่งนางที่ลงกา ก็ได้นางเป็นภริยา ภายหลังมีลูกด้วยหนุมานหนึ่งคนชื่อ อสุรผัด           ๑๗/ ๑๐๕๙๔
                ๓๒๑๘. เบญจกัลยานี  (ดู กัลยาณี - ลำดับที่ ๓๒๕)        ๑๗/ ๑๐๕๙๖
                ๓๒๑๙. เบญจกามคุณ  (ดู กามคุณ - ลำดับที่...)        ๑๗/ ๑๐๕๙๖
                ๓๒๒๐. เบญจกูล  เป็นชื่อ พิกัดยา (ตัวยาหลายอย่างรวมกัน)  ซึ่งประกอบด้วยยามีรสร้อนห้าอย่างคือ
                        ๑. ดีปลี (ดอก)  เป็นยาประจำปฐวีธาตุ (ธาตุดิน)  มีสรรพคุณแก้ไอ แก้เสมหะ มีรสเผ็ดร้อน ขมเล็กน้อย ใช้แก้ลม อัมพฤกษ์ อัมพาต ดับพิษปัตคาด แก้ตัวร้อน แก้คุดทะราด
                       ๒. ชะพลู  (ราก)  เป็นยาประจำอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)  มีสรรพบำรุงธาตุ แก้คูณเสมหะ แก้ปวดเมื่อย รากชะพลู ใช้แก้ธาตุพิการ ระงับคูณเสมหะ
                        ๓. สะค้าน (เถา)  เป็นยาประจำวาโยธาตุ (ธาตุลม)  มีสรรพคุณบำรุงธาตุในกองธาตุ ใช้ขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลมและเรอ แก้จุกเสียดแน่น
                        ๔. เจตมูลเพลิง (ราก)  เป็นยาประจำเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)  มีสรรพคุณบำรุงธาตุ แก้ลม แก้โลหิต รากเจตมูลเพลิง ใช้บำรุงไฟธาตุ กระจายลม กระตุ้นลำไส้ และกระเพาะ อาหารให้ทำงานเรียกน้ำย่อย และช่วยย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายอบอุ่น ใช้ทำเคลื่อนฝี แก้ริดสีดวง แก้คุดทะราด ฆ่าพยาธิ
                        ๕. ขิงแห้ง (เหง้า)  เป็นยาประจำอากาศธาตุ (ธาตุลม)  มีสรรพคุณบำรุงธาตุ แก้ไขพรรดึก แก้ลมจุกเสียด แก้อาเจียน แก้ไข้จับ แก้ลมพานไส้
                        โดยปรกติใช้น้ำหนักของตัวยา แต่ละอย่างเท่า ๆ กัน     ๑๗/ ๑๐๕๙๖
                ๓๒๒๑. เบญจขันธ์  (ดู ขันธ์ - ลำดับที่ ๗๒๘)        ๑๗/ ๑๐๕๙๗
                ๓๒๒๒. เบญจคัพย์   คือ เต้าน้ำมีลักษณะเป็นเต้าปากกว้าง ภายในเต้ากันเป็นห้าช่อง ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน มีบทนิยามว่า "เต้าน้ำ อยู่ในหมู่ของใช้ในการพระราชพิธี ตามราชประเพณีของไทย ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ทรงรับน้ำอภิเษก หรือใส่น้ำเทพมนตร์ ซึ่งจะรดถวายให้แก่ พระมหากษัตริย์ หรือพระมหากษัตริย์ ทรงรดพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้า ซึ่งมีพระชนนี เป็นเจ้า บางแห่งเรียกว่า เบญจครรภ"      ๑๗/ ๑๐๕๙๗
                ๓๒๒๓. เบญจโครส  นมโค สกัดได้ห้าอย่างคือ นมสด นมส้ม เนยใส นมข้น และเปรียง คล้ายน้ำมันเนย ใช้ทอดผัก ทอดเนื้อ ทอดปลาก็ได้ ใช้เป็นอาหารคือ นมสด นอกนั้นใช้ประกอบอาหาร ใช้เป็นเภสัชได้ คือ นมส้ม เนยใส เนยข้น      ๑๗/ ๑๐๕๙๘
                ๓๒๒๔. เบญจดุริยางค์  เบญจ แปลว่า ห้า ส่วนดุริยางค์ ตามความหมายถึงดั้งเดิม แปลว่า เครื่องประเภทตีและเป่า ก็คือ เครื่องปี่พาทย์นั่นเอง
                        คำว่า เบญจดุริยางค์ มีความหมายว่า วงดุริยางค์เครื่องห้า หรือดนตรี เครื่องห้า แต่เดิมคงใช้บรรเลงประกอบการแสดงโขน และหนังใหญ่ หรือบรรเลงเป็นเอกเทศ เท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการหัดละครผู้หญิงของหลวงขึ้น จึงได้ใช้ปี่พาทย์ เข้ามาบรรเลงประกอบ     ๑๗/ ๑๐๕๙๘
                ๓๒๒๕. เบญจเพศ  มีบทนิยามว่า "ยี่สิบห้า เช่นอายุถึงเบญจเพศ"
                        คติของพระภิกษุสงฆ์ ท่านกำหนดเอาห้าพรรษา เป็นนิสัยมุตกะ ถ้าบวชเมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ถึงห้าพรรษาก็ครบยี่สิบห้าปีพอดี พระภิกษุที่บวชใหม่ระหว่างหนึ่ง ถึงห้าพรรษาเรียกว่า นวกะ ต้องอยู่ในปกครองของพระอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ผู้แทน จะอยู่ตามลำพังไม่ได้จะไปไหนต้องบอกลา ถ้าไม่ทำเป็นความผิด ในระหว่างนี้ต้องเล่าเรียนศึกษา ให้รู้พระธรรมวินัยเบื้องต้น ให้รู้ผิดรู้ถูกรู้ควร และไม่ควร พ้นห้าพรรษา เป็นนิสัยมุตกา แล้วจึงอยู่ตามลำพังได้ และปกครองผู้อื่นได้         ๑๗/ ๑๐๖๐๔
                ๓๒๒๖. เบญจมบพิตร - วัด  เรียกเต็มว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนนครปฐม และคลองเปรมประชากร ฝั่งตะวันตก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ เดิมเป็นวัดราษฎร เรียกว่า วัดแหลม และอีกชื่อหนึ่งว่า วัดไทรทอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้พระราชทานนามว่า วัดเบญจมบพิตร          ๑๗/๑๐๖๐๗
                ๓๒๒๗. เบญจมาศ  เป็นไม้พุ่มยืนต้นสูง ๖๐ ซม. - ๑ เมตร ใบออกสลับกัน รูปใบมีต่าง ๆ แบบรูปไข่ ถึงรูปปลายหอก ช่อดอกออกใกล้ปลายกิ่ง หรือที่ปลายกิ่ง เป็นก้านยาว ชูขึ้นไปที่ปลายก้านจะพองโตเป็นฐานรองรับดอกเล็ก ๆ จำนวนมาก ตัวดอกเล็กมีฐานสีเหลือง และกลีบขาว
                        ต้นเบญจมาศ เป็นพันธุ์ไม้ดอกที่รู้จักกันทั่วโลก     ๑๗/ ๑๐๖๑๕
                ๓๒๒๘. เบญจรงค์  เป็นคำช่าง เรียกสีหลักห้าสี ได้แก่ สีดำ สีขาว สีเหลือง สีแดง และสีเขียว (คราม) แม่สีทั้งห้าสีนี้ เป็นต้นกำเนิดของสีต่าง  ๆ
                        การใช้เบญจรงค์ ในงานศิลปกรรมของไทยนั้น สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย หลักฐานที่เก่าที่สุด ที่พบในปัจจุบัน ได้แก่ ภาพพระบฏ สมัยเชียงแสน ซึ่งพบอยู่ในหม้อดินเผา ในกรุพระเจดีย์วัดดอกเงิน ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานการใช้เบญจรงค์ ในงานศิลปกรรมของไทยสมัยต่าง ๆ แยกตามประเภทดังนี้
                        ๑. งานจิตรกรรม  ส่วนใหญ่เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังของศาสนสถาน ยังมีหลักฐานปรากฎอยู่ในปัจจุบัน เช่น สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้น ยังมีการเขียนลงบนผ้า เช่น ภาพพระบฏ เขียนลงบนผ้านุ่งเรียกว่า ผ้าถมปัก หรือผ้าสมปัก
                        ๒. งานประติมากรรม  ได้แก่ การทำเครื่องถ้วยที่เรียกกันทั่วไปว่า เครื่องถ้วยเบญจรงค์ นอกจากนี้ยังมีการทำเครื่องถม ใช้เบญจรงค์ตกแต่งเรียกว่า เครื่องถมปัก เครื่องถมชนิดนี้ใช้ลูกปัดสีต่าง ๆ ห้าสีนำมาบดละเอียด แล้วติดลงบนภาชนะโลหะ ทองแดงที่ขึ้นรูปไว้ แล้วนำเข้าเตาอบความร้อนจนลูกปัดสีละลายกลายเป็นเคลือบภาชนะนั้น เครื่องถมปักใช้เป็นเครื่องยศ สำหรับพระ ขุนนาง และของใช้ของคหบดี ทำเป็นภาชนะแบ่งต่าง ๆ เช่น หีบบุหรี่ ฝาบาตร คนโทน้ำ ปิ่นโต จอก โถ ขันน้ำพานรอง ฯลฯ (ดู เครื่องถม - ลำดับที่... ประกอบด้วย)
                        ๓. งานศิลปะตกแต่งอื่น ๆ  เช่น การใช้เบญจรงค์เขียนลวดลายที่เรียกว่า ลายเชิง ผนังของโบสถ์ วิหารหรืออาคารต่าง ๆ การใช้กระจกสีต่าง ๆ ห้าสี ประดับอาคาร ซึ่งนิยมใช้มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
                ๓๒๒๙. เบญจโลหะ  หมายถึง โลหะห้าชนิด ได้แก่ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน และทองคำ ซึ่งนำมาเป็นสวนผสมสำคัญในการหล่อพระพุทธรูป และทำอาวุธของนักรบในสมัยก่อน อัตราส่วนของเบญจโลหะ ที่ใช้หล่อพระพุทธรูปคือ ๑ ; ๒  ; ๓ ; ๔  ;  ๕ ตามลำดับ
                        การใช้เบญจโลหะทำอาวุธเป็นเรื่องของความขลัง ฉะนั้นโลหะที่จะเลือกมาใช้ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ  ๑๗/ ๑๐๖๒๐
                ๓๒๓๐. เบญจวรรณ  เป็นชื่อทางจังหวัดเชียงใหม่ เรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่บางท้องถิ่นเรียกว่า กะทกรก (กลาง)  กะโปงทอง (ใต้)  ผักแคฝรั่ง (เหนือ)
                        ต้นเบญจวรรณ เป็นไม้เถาที่ชอบขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ลำต้นเล็ก ตามง่ามใบ จะมีมือเรียวเล็ก ใช้เกาะพันยึดสิ่งต่าง ๆ ตัวใบบาง กว้าง ๕ - ๖ ซม. ยาว ๕ - ๑๐ ซม. รูปไข่อย่างกว้าง ดอกออกเดี่ยว หรือเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกสั้น เฉพาะกลีบนอกและกลีบในของดอกเชื่อมติดกัน วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ - ๓ ซม. สีขาว ภายในกลีบดอกนี้มีเส้นสีม่วงเรียวยาว งอกล้อมรอบเกสรตัวผู้เป็นชั้น ๆ คล้ายซี่รั้ว ผลสีเหลืองส้มโตราว ๑.๕ ซม. และถูกหุ้มด้วยร่างแหของกลีบรองดอก      ๑๗/ ๑๐๖๒๒
                ๓๒๓๑. เบญจวัคคีย์  แปลตามรูปว่า "พวกห้าคน"  โดยความหมายเป็นคำเรียกพระภิกษุสงฆ์ห้ารูปคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ติดตามพระพุทธเจ้าออกบวชและได้รู้ตามก่อนพวกอื่น ทั้งห้าท่านเมื่อทราบว่า พระสิทธัตถ กุมารเสด็จออกบรรพชาก็ออกติดตามพระมหาบุรุษ ไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ที่พระมหาบุรุษเสด็จประทับอยู่ เพื่อบำเพ็ญทุกขกิริยา เฝ้าปฎิบัติพระองค์อยู่โดยหวังว่า เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง ต่อมาเมื่อพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกขกิริยา ทั้งห้าท่านก็พากันหลีกไปจากที่นั้น แล้วไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
                        ครั้น พระมหาบุรุษได้ตรัสรู้ ทรงระลึกถึงพระเบญจวัคคีย์ ว่าเป็นผู้มีอุปนิสัยในอันตรัสรู้ธรรม จึงเสด็จไปแสดงธรรมแก่พระเบญจวัคคีย์ ด้วยการประกาศธรรมจักกัปวตนสูตร ประทานปฐมเทศนาโปรดพระเบญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณทัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก แล้วขอบวชในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ได้ประทานให้โดยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมา พระเบญจวัคคีย์อีกสี่ท่าน ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และทูลขออุปสมบท ครบทุกท่าน พระพุทธองค์ได้แสดงอนัตลักขณสูร พระเบญจวัคคีย์ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมกัน
                        ด้วยเหตุที่พระอัญญาโกณทัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม และสำเร็จเป็นพระโสดาบันนี้ ถือว่ามีสังฆรัตนะเกิดขึ้นในโลก ครบเป็นสามรัตนะคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ถือเป็นวันอาสาฬบูชา     ๑๗/ ๑๐๖๒๓

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch