หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/81
    ๓๑๔๓. บายศรี  มีบทนิยามว่า "ข้าวอันเป็นสิริ ข้าวขวัญ ภาชนะใส่เครื่องสังเวย" คำบายศรีเป็นคำภาษาเขมรปนคำภาษาสันสกฤต คือบายแปลว่า ข้าว ศรี แปลว่า ขวัญ บายศรีจึงแปลรวมว่า ข้าวขวัญ
                        บายศรีนี้ในชั้นเดิมคือ สำรับกับข้าวที่จัดเลี้ยง หรือให้ผู้รับสมโภช หรือทำขวัญกิน แต่ย่อลงมาเหลือเพียงพิธีการ และเป็นอันเดียวกันกับเรื่องข้าวบิณฑ์
                        เมื่อพิธีบายศรีได้ย่นย่อมาเหลือแต่พิธีที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณ พิธีบายศรีจึงมักอยู่ทั้งในราชสำนัก และในหมู่ประชาชนด้วยกันทุกจำพวกไม่ว่าทางภาคเหนือ ทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก          ๑๖/ ๑๐๓๑๘
                ๓๑๔๔. บารนี  มีชื่อเต็มว่า กัปตันหันตรี บารนี ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (หันตรี บารนี)  รัฐบาลอังกฤษในอินเดียได้ส่งเขามาทำสนธิสัญญากับไทย ขอความสะดวกในการค้า เขาเกิดที่เมืองกัลกัตดา ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ ได้เป็นนักเรียนนายร้อยในกองทหารอังกฤษของบริษัทอินเดียตะวันออก เขาเรียนภาษาฮินดูสตานีจนมีความรู้ เป็นล่ามประจำกรมทหารของเขา ในปี พ.ศ.๒๓๖๑ เขาได้เลื่อนขั้นเป็นเลขานุการฝ่ายทหารของผู้ว่าราชการอังกฤษประจำเกาะหมาก (ปีนัง) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับรัฐต่าง ๆ ในแหลมมลายู และประเทศไทย เขาเรียนภาษามลายูและไทย จนใช้การได้
                         ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียได้แต่ตั้งให้ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เป็นทูตเข้ามากรุงเทพ ฯ เพื่อเจรจาตกลงกับไทยโดยทางไมตรี และขอให้ทำหนังสือสัญญากับไทยด้วย การเจรจาบรรลุผลสำเร็จในปี พ.ศ.๒๓๖๙ ได้ทำสนธิสัญญาต่อกัน นับว่าเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างไทยกับอังกฤษ มีข้อความรวม ๑๔ ข้อ ตัวอย่าง เช่น
                        ข้อ ๑ อังกฤษกับไทยเป็นไมตรีโดยความสัจสุจริตซื่อตรงต่อกัน
                        ข้อ ๒ ถ้าเมืองขึ้นของอังกฤษและของไทยทำการล่วงเกินต่อกัน ต่างฝ่ายก็จะแจ้งให้กันทราบ และจะพิจารณาความผิดตามกรณี
                        ข้อ ๕ ทั้งไทยและอังกฤษจะแต่งเรือไปมาค้าขายต่อกันได้โดยปฏิบัติตามธรรมเนียมบ้านเมืองของแต่ละฝ่าย
                        ข้อ ๑๒ ไทยไม่ขัดขวางการค้าขายของอังกฤษที่เมืองตรังกานู และเมืองกลันตัน
                        ข้อ ๑๓ อังกฤษสัญญาว่าไทยเป็นผู้ปกครองเมืองไทรบุรี ชาวจีนและแขกไปมาค้าขายกับเมืองไทรบุรีได้
                        ข้อ ๑๔ ไทยและอังกฤษจะให้เจ้าเมืองเประ พิจารณาเอาเองว่าจะถวายเครื่องราชบรรณาการ ดอกไม้ทองและเงินแด่พระมหากษัตริย์ไทยหรือไม่
                        นอกจากนี้ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีได้ลงนามในสนธิสัญญาอีกฉบับหนึ่งรวม ๖ ข้อ ว่าด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับการค้าขายกับไทย เช่น ปืน และกระสุนปืน ต้องขายแก่รัฐบาลไทย เรืออังกฤษที่บรรทุกสินค้าเข้ามาขาย ต้องเสียค่าธรรมเนียม (ภาษีปากเรือ)  วาละ ๑,๗๐๐ บาท ฯลฯ      ๑๖/ ๑๐๓๒๗
                ๓๑๔๕. บารพตี  เป็นชื่อหนึ่งของพระอุมาผู้เป็นพระมเหสีของพระอิศวรในภาคข้างดี นอกจากเรียกว่า พระบารพตี แล้ว ยังเรียกว่า พระมหาเทวี      ๑๖/ ๑๐๓๓๗
                ๓๑๔๖. บารมี  คือคุณธรรมอันประเสริฐสุด หรือคุณธรรมที่ต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์ ท่านแสดงบารมีไว้สิบประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา บารมีธรรมนี้ต้องเรียงลำดับ เพราะแต่ละอย่างเกี่ยวเนื่องกันโดยเหตุผล จึงสับลำดับกันไม่ได้
                        บารมีธรรมนี้ต้องบำเพ็ญเป็นสามชั้น ชั้นต้นเรียกว่า บารมี ชั้นที่สองเรียกว่า อุปบารมี ชั้นสูงสุดเรียกว่า ปรมัตถบารมี
                        การบำเพ็ญบารมี ต้องมุ่งความบริสุทธิ์ หรือมุ่งทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือมุ่งโพธิญาณ เป็นสาวกภูมิ ปัจเจกพุทธภูมิ เมื่อบำเพ็ญบารมีด้วยความมุ่งหมายอย่างนี้ ย่อมจะมีอานิสงส์ทำให้เป็นผู้มีอภินิหาร  ๑๖/ ๑๐๓๓๗
                ๓๑๔๗. บารอมิเตอร์  เป็นเครื่องมือสำหรับวัดความดันของบรรยากาศ ในการวัดนั้น ใช้ระดับของลำปรอทสูง ๓๐ นิ้ว เป็นมาตราฐานโดยกำหนดว่าความดัน ๑ บรรยากาศคือ ความดันที่มีค่าเท่ากับความดันของลำปรอทซึ่งสูง ๓๐ นิ้ว ที่ศูนย์องศาเซลเซียส ณ ระดับน้ำทะเลที่เส้นรุ้ง ๔๕ องศา และมักกล่าวสั้น ๆ ว่า "อากาศมีความดัน ๓๐ นิ้วของปรอท" หรือ อากาศมีความดัน ๑ บรรยากาศ      ๑๖/ ๑๐๓๔๐
                ๓๑๔๘. บาเรียม  เป็นชื่อปืนใหญ่สมัยโบราณชนิดหนึ่ง ที่คนไทยใช้เรียกอยู่ระหว่างกรุงธนบุรี ถึงสมัยรัตนโกสินทร์
                ๓๑๔๙. บาลาไลกา  เป็นชื่อเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายซึ่งใช้กันอยู่ในประเทศรุสเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๔๓ พวกตาดซึ่งส่วนหนึ่ง อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ทางตอนใต้ของประเทศรุสเซีย เป็นผู้ให้กำเนิดเครื่องดนตรีชนิดนี้ แต่เดิมบาลาไลกาเป็นเพียงเครื่องดนตรีพื้นเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น เพื่อจะมาได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยและเล่นรวมเป็นวงได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑
                        บาลาไลกา มีห้าขนาดด้วยกันคือ มีตั้งแต่ขนาดเล็กเสียงแหลมขึ้นไปจนถึงขนาดใหญ่เสียงทุ้มต่ำมาก บาลาไลกาทุกขนาด มีรูปร่างเหมือนกันคือ มีกระพุ้งเสียงเป็นรูปสามเหลี่ยม เอาฐานลงล่างเอาส่วนแหลมขึ้นข้างบน ตรงส่วนแหลมสุดคือ ส่วนที่เชื่อมต่อกัน คันของมันซึ่งมีลักษณะเรียงยาว มีนมโลหะติดอยู่ ๑๙ นมด้วยกัน บาลาไลกาเป็นเครื่องสายที่ใช้นิ้วดีด จึงใช้สายเอ็นโดยทั่วไปมีอยู่สามสาย       ๑๖/ ๑๐๓๖๐
                ๓๑๕๐. บาลี  มีบทนิยามว่า "ภาษาที่ใช้เป็นหลักในพระพุทธศาสนาแต่เดิมมา" คำนี้เดิมที่เขียนเป็นรูปบาฬี ร่วมกับบาลีเป็นสองรูปด้วยกัน เมื่อเริ่มมีโรงเรียนหนังสือไทยในต้นรัชกาลที่ห้า ก็ยังตั้งชื่อพยัญชนะ ฬ ว่า ฬบาฬี
                        ภาษาที่ใช้เรียกกันว่า บาลี เดิมเรียกว่า ภาษามคธบ้าง ตันติภาษาบ้าง มูลภาษาบ้างคำว่าบาลีนี้แรกเข้ามาในเมืองไทยมาในรูปของบาฬี มาใช้รูปบาลีเมื่อคราวตีพิมพ์คัมภีร์อรรถกถาเป็นเล่มสมุดใช้อักษรไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ และได้เปลี่ยนชื่อ ฬ บาฬี เป็น ฬ จุฬาตั้งแต่นั้นมา
                        ภาษาที่เรียกว่าบาลี ในบัดนี้น่าจะได้ชื่อนี้มาแต่เดิมแล้ว  เพราะยอมรับกันว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมของพระองค์ด้วยภาษานี้ นักปราชญ์ทางภาษาทั้งฝ่ายตะวันตก และตะวันออกยอมรับกันว่า ภาษาบาลีเป็นแม่ของภาษาอารยัน ชนชาติที่อยู่ในยุโรปอเมริกา และแถบมหาสมุทรอินเดียตลอดลงไปถึงอินโดนีเซีย ออกเสียงภาษานี้ได้ใกล้เคียง หรืออีกนัยหนึ่งชนชาติที่ใช้เครื่องหมายแทนเสียงด้วยตัวหนังสือ ที่ใช้ระบบอักษรใช้อักษรของตนเขียนภาษาบาลีได้ทุกคำได้ทั้งรูปทั้งเสียง เช่น หนังสือไทย เขียนภาษาบาลีได้ครบทุกอย่าง แต่ชนชาติที่อยู่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก หรือชนชาติที่ใช้เครื่องหมายแทนเสียงด้วยระบบลายลักษณ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น จีนมาถึงญวนใช้หนังสือเขียนภาษาบาลีไม่ได้ แม้เสียงก็เพี้ยนไปมากจนใช้ไม่ได้ ทำให้ชนชาติเหล่านี้ต้องแปลคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาของตนหมด เลยทำให้คลาดเคลื่อนไปได้บ้าง
                       ภาษาบาลีมีความแปลกพิเศษคือ ไม่มีตัวหนังสือของตนเองโดยเฉพาะ ใครจะเรียนภาษาบาลี ผู้นั้นรู้หนังสืออะไรอยู่ก็ใช้หนังสือนั้นเขียนภาษาบาลี เว้นแต่ชนชาติที่อยู่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น เช่น ไทยเรียนภาษาบาลีก็ใช้หนังสือไทยเขียนภาษาบาลี และอ่านตามสำเนียงของไทยได้ด้วย ปัจจุบันภาษาบาลีในยุโรปและอเมริกา ใช้อักษรโรมันเขียน ในอินเดียใช้อักษรเทวนาครี ในลังกาใช้อักษรสิงหฬ ในพม่าใช้อักษรพม่า ชาวรามัญใช้อักษรรามัญ ในลาวใช้อักษรลาว ในเขมรใช้อักษรเขมร
                       ภาษาบาลีในปัจจุบันถือกันว่า เป็นภาษาตาย คือคงตัวอยู่เท่าเดิม เป็นภาษาโบราณตะวันออก เคยเป็นภาษาที่ใช้พูดประจำวัน เป็นภาษาพื้นเมืองในอินเดีย แถบมัธยมประเทศครั้งพุทธกาล หรือ ก่อนนั้น ต่อมาไม่ใช้พูดคงเป็นเป็นภาษาตำรา เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไปนอกอินเดียไปยังประเทศใด ภาษานี้ก็ตามไปด้วย ในประเทศไทยใช้เป็นภาษาตำราฝ่ายพระพุทธศาสนา และยังเอามาใช้เขียนประวัติศาสตร์บ้าง ตำราโหราศาสตร์บ้าง ตำราคำนวณบ้าง เขียนนิยายนิทานบ้าง และนำเอาภาษานี้มาใช้เป็นคำบัญญัติในภาษาไทย คือ ภาษาธรรม ภาษาศาสนา ภาษาวิสามานยนาม ชื่อคน ชื่อบ้าน ชื่อเมือง ใช้พูดสนทนากันได้ ใช้แสดงปาฐกถา หรือเทศน์ก็ได้ หรือจะใช้บันทึกข้อความโต้ตอบกัน ปัจจุบันภาษานี้ยังมีประโยชน์แก่ภาษาไทยอย่างมาก       ๑๖/ ๑๐๓๖๑
                ๓๑๕๑. บ่าว  หมายถึง ข้าคือคนรับใช้ทั้งหญิงและชาย มีลักษณะแตกต่างจากทาสและต่ำกว่าไพร่ ในสมัยสุโขทัยมี "ข้าเจ้าบ่าวนาย" หรือมี "ข้ามีเจ้าบ่าวมีนาย"       ๑๖/ ๑๐๓๗๐
                ๓๑๕๒. บ่าวขุน   เป็นวิธีนุ่งผ้าในการพิธีอย่างหนึ่งในสมัยโบราณ คือนุ่งห้อยชายข้างหนึ่ง       ๑๖/ ๑๐๓๗๒
                ๓๑๕๓. บาสเกตบอล  เป็นกีฬาที่มีผู้คิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ เพื่อให้ใช้เล่นในร่มได้ ผู้คิดประดิษฐ์กีฬานี้เป็นครูพละศึกษาที่เมืองสปริงฟิลด์ มลรัฐแมสซาซูเสดส์ สหรัฐอเมริกา
                        การเล่นกีฬานี้ตอนแรกไม่มีกฎ กติกาอะไรมากนัก โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละเก้าคน ผู้เล่นในแต่ละฝ่ายพยายามที่จะพาลูกไปยิงประตู เพื่อทำคะแนนด้วยการถือไปส่งไป หรือเลี้ยงไปก็ได้ ประตูใช้ตะกร้าผลไม้สำหรับใส่ลูกพีชแขวนไว้ข้างฝาข้างละใบ การใช้ตะกร้าเป็นประตูในการเล่นนี้ กีฬาชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า "บาสเกตบอล"  สมาคม ไว.เอ็น.ซี.เอ. นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเผยแพร่กีฬานี้ไปในประเทศต่าง ๆ  เกือบทั่วโลก ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลง และดัดแปลงกติกาให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
                        บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่เล่นระหว่างผู้เล่นสองฝ่าย ฝ่ายละห้าคน ผู้เล่นแต่ละฝ่ายพยายามพาลูกบอลเพื่อไปยิงประตูอีกฝ่ายหนึ่ง อาจจะด้วยการส่ง การโยน การตี การกลิ้ง หรือเลี้ยงลูกไปก็ได้       ๑๖/ ๑๐๘๗๓
                ๓๑๕๔. บาสซูน  เป็นเครื่องมือดนตรีสากลประเภทเครื่องเป่าลม มีผู้คิดสร้างขึ้นจากปี่โบราณชนิดหนึ่ง  เมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๘๒
                        ปี่บาสซูนมีรูปร่างผิดแผกจากปี่ชนิดอื่นมาก เพราะใช้ท่อลมทั้งหมดยาวถึง ๒.๗๒๕ เมตร เอามาทบกันเข้า เพื่อให้ลำตัวปี่สั้นลงเหลือเพียง ๑.๒๐ เมตร
                        โดยเหตุที่ท่อลมยาว บาสซูนจึงเป็นปี่ที่มีเสียงค่อนข้างต่ำ แหบ และกร้าว ไม่แจ่มใสเหมือนปี่อื่น ๆ            ๑๖/ ๑๐๓๗๗
                ๓๑๕๕. บ้าหมู ๑  มีบทนิยามว่า "ลมชนิดหนึ่งมักหอบเอาของเป็นวงกลมขึ้นไปทำให้มองเห็นเป็นลำได้ ลมนี้มีอาณาบริเวณแคบ ๆ มักเกิดได้บ่อยในฤดูร้อน มีความรุนแรงไม่มากนัก ไม่มีความแน่นอนในเรื่องทิศทาง เกิดอยู่ในระยะเวลาไม่นาน        ๑๖/ ๑๐๓๘๐
                ๓๑๕๖. บ้าหมู ๒  เป็นชื่อโรคชนิดหนึ่ง เรียกว่า "โรคลมบ้าหมู" รู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่ได้รับพุทธานุญาตให้บวชในพระพุทธศาสนา
                        แพทย์แผนโบราณของไทยได้กล่าวถึง โรคลมบ้าหมูไว้โดยย่อดังนี้ คือ โรคลมชนิดนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายคนเป็นบ้า มีอาการหัวหมุน ชัก น้ำลายไหลเป็นฟอง มือเท้ากำแน่น กัดฟันแน่น วิธีรักษาต้องใช้ยามีรสร้อน
                        แพทย์แผนปัจจุบัน กล่าวถึงโรคลมบ้าหมูว่า เป็นความผิดปรกติเกี่ยวกับหน้าที่ของสมองใหญ่เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ และเป็นซ้ำ ๆ  มีลักษณะคือ อาการเกิดขึ้นทันที ผู้ป่วยหมดความรู้สึกตัวเป็นระยะเวลาสั้น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความรู้สึกการเคลื่อนไหว หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งผิดปรกติ       ๑๖/ ๑๐๓๘๑
                ๓๑๕๗. บาหลี  หนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย จัดอยู่ในกลุ่มหมู่เกาะซุนดาน้อย เกาะบาหลีอยู่ห่างจากเกาะชวาไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง ๑.๖ กม. ชาวฮอลันดาได้มาที่เกาะบาหลีเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๐ แต่ได้เข้ามาปกครองอย่างเป็นทางการเต็มที่ในปี พ.ศ.๒๔๕๑
                        เกาะบาหลีมีพื้นที่ ๕,๖๒๓ ตารางกิโลเมตร มีภูเขาไฟหลายลูก ชาวบาหลีมีอาชีพทางการเพาะปลูก มีพลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ชาวบาหลีส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๙๐ อยู่ในวรรณะศูทร พวกที่นับถือศาสนาอิสลามมีอยู่บ้างทางภาคเหนือ และภาคตะวันตกของเกาะ ชาวบาหลีมีภาษาของตนโดยเฉพาะ แต่ในภาษาของหมู่ชั้นวรรณะสูง มีภาษาสันสกฤตปนอยู่ด้วย       ๑๖/ ๑๐๓๘๔
                ๓๑๕๘. บำราบปรปักษ์  เป็นพระราชทินนาม ของเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นสอง เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นนักปราชญ์ราชกวีบัณฑิต ทรงเชี่ยวชาญในราชการใหญ่น้อยทั้งปวงมาหลายรัชกาล ในรัชกาลที่ห้าได้เป็นผู้สำเร็จราชการ ในพระราชสำนักและว่าพระคลังทั้งปวง ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการในกรมมหาดไทย หรืออัครมหาเสนาบดีที่ สมุหนายก ทรงเป็นต้นสกุลวงศ์ "มาลากุล ณ อยุธยา"
                        สมเด็จ ฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ประสูติ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๕ ในรัชกาลที่สอง สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๔๒๙       ๑๖/ ๑๐๓๘๖
                ๓๑๕๙. บำรุงเมือง - ถนน  เป็นถนนสายหนึ่งในกรุงเทพ ฯ เริ่มตั้งแต่ถนนสนามไชยไปจนถึงสะพานกษัตริย์ศึก รวมความยาว ๒,๕๔๐ เมตร สร้างในปีรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว       ๑๖/ ๑๐๓๙๑
                ๓๑๖๐. บำเหน็จณรงค์  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศตอนตะวันตก และตอนเหนือเป็นที่ราบสูง  และที่ดอนปนหินมีป่าดงและภูเขา ตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม หน้าน้ำน้ำท่วมถึง มีโคก และสันเขาบ้าง
                        อ.บำเหน็จณรงค์ เดิมเป็นด่าน แล้วตั้งเป็นเมืองบำเหน็จณรงค์ รัชกาลที่สามขึ้นเมืองนครราชสีมา ถึงรัชกาลที่ห้ายุบเป็นอำเภอพร้อมกับยุบเมืองจตุรัส แล้วกลับตั้งเป็น กิ่ง อ.บำเหน็จณรงค์ ขึ้น อ.จตุรัสเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านชวน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่ง อ.บำเหน็จณรงค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙           ๑๖/ ๑๐๓๙๒
                ๓๑๖๑. บิชอบ  เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์ในคริสต์ศาสนา นิกายโปรเตรแตนก์ ลัทธิแองกลิกัน ในนิกายโรมันคาทอลิก และในนิกายออร์โทดอกซ์
                       ในคริสต์จักรอังกฤษมีอาร์ชบิชอบแห่งแคนเตอร์เบอรี่ เป็นประมุข และได้รับแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์อังกฤษ รองประมุขได้แก่ อาร์ชบิชอบแห่งยอร์ก ถัดลงมามีบิชอบประจำเมืองใหญ่ ๆ หรือ เมืองที่มีความสำคัญทางคริสต์จักรอังกฤษ เช่น กรุงลอนดอน เมืองวินเชสเตอร์ เบอร์มิงแฮม บริสตอล อีลีเดอราม ออกซฟอร์ด ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์เป็นต้น ในดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ และปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศอิสระแต่ยังรวมอยู่ในจักรภพ เช่น แคนาดา และออสเตรเลีย ก็มีบิชอบเช่นเดียวกัน ในประเทศไทยไม่มีบิชอบคริสต์จักรอังกฤษ เพราะมีผู้นับถือน้อย
                       ในนิกายโรมันคาทอลิก บิชอบเป็นประมุขบาทหลวง ในเขตคาทอลิกได้รับแต่งตั้งจากสำนักวาติกัน และตามปรกติโดยผ่านการเห็นชอบของรัฐบาลในประเทศ ที่รับตำแหน่งมีหน้าที่ปกครองเขตคาทอลิกที่ได้รับตำแหน่งประจำอยู่ ในเขตคาทอลิกใหญ่ ผู้ปกครองก็จะมีตำแหน่งเป็นอาร์บิชอบ บิชอบทุกรูปในประเทศหนึ่ง ๆ รวมกันเป็นสภาบิชอบมีหน้าที่วางแผนนโยบาย และตัดสินปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนาในประเทศของตน
                       ปัจจุบันคริสต์จักรคาทอลิกแบ่งเขตปกครองในประเทศไทยออกเป็นสองเขตคาทอลิกใหญ่ และแปดเขตคาทอลิก มีอาร์ชบิชอบสองรูป และบิชอบแปดรูปเป็นชาวไทยเก้ารูป และชาวอิตาเลียนหนึ่งรูป
                       นิกายออร์โทดอกซ์แบ่งออกเป็นหลายสาขา เช่น กรีก ออร์โทดอกซ์ ซึ่งเป็นศาสนาประจำประเทศกรีก โดยมีการแต่งตั้งประมุขศาสนานี้ เป็นอาร์ชบิชอบแห่งกรุงเอเธนส์ และมีบิชอบทำหน้าที่เกี่ยวกับศาสนกิจเป็นผู้ช่วยประมุข       ๑๖/ ๑๐๓๙๓
                ๓๑๖๒. บิด - โรค  เป็นโรคของระบบทางเดินอาหารส่วนลำไส้ใหญ่ แบ่งได้เป็นสองประเภทคือ โรคบิดชนิดมีตัว และโรคบิดชนิดไม่มีตัว
                       ๑. โรคบิดชนิดมีตัว  เกิดจากพยาธิชนิดหนึ่งจำพวกอะมีบา เมื่อคนบริโภคซิสต์ (ตัวบิดมีเกราะที่มีอยู่ในอาหารหรือน้ำซึ่งปนเปื้อนด้วยอุจจาระของผู้ป่วยหรือพาหะเข้าไป ซิสต์จะแตกออกในลำไส้เล็กกลายเป็นโตรโฟชอยด์แล้วเคลื่อนที่ต่อไปยังลำไส้ใหญ่ มีการเจริญและแบ่งตัวที่นั่น แล้วจะเคลื่อนที่ผ่านเยื่อเมือกที่บุลำไส้ใหญ่ลงไป ขณะที่เชื้อบิดมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือความต้านทานต่อโรคของผู้นั้นลดลง ทำให้เกิดอาการท้องเดินอย่างอ่อนจนถึงกับเป็นบิด
                       โรคแทรกซ้อนหรือผลจึงสืบเนื่องมาจากโรคบิดมีตัวมีหลายประการได้แก่ ตับอักเสบจากเชื้อบิด เกิดฝีที่ตับ อาจเกิดอาการดีซ่านอย่างอ่อน
    การรักษาได้แก่การรักษาตามอาการให้น้ำ และเกลือแร่ให้เลือดและยา
                       ๒. โรคบิดชนิดไม่มีตัว  เกิดจากเชื้อแบคทีเรียพวก "ซิเกลลา" พบบ่อยเป็นพิเศษในเด็กเล็ก ส่วนผู้ใหญ่มีความต้านทานต่อโรคนี้ได้ดีกว่า
                       โรคบิดไม่มีตัวอาจทำให้ผู้ป่วยขาดน้ำและเกลือแร่อย่างมาก เป็นเหตุให้การไหลเวียนของเลือดลมและผู้ป่วยถึงแก่กรรมได้
                       วิธีการรักษามีหลักคือให้น้ำและเกลือแร่ตามความเหมาะสม รักษาตามอาการให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย       ๑๖/ ๑๐๓๙๔
                ๓๑๖๓. บิน - การ  จากหลักฐานปรากฏว่ามนุษย์ใฝ่ฝันในเรื่องการบินมาประมาณ ๔,๐๐๐ ปี ก่อน พ.ศ. จนกระทั่งราวปี พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลีโอนาโด ดาวินซี  ชาวอิตาลีได้ศึกษาถึงการบินของนก ได้ออกแบบโดยการเขียนภาพกลไก การใช้กำลังแขนขาสำหรับกระพือปีก เพื่อติดกับร่างกายของมนุษย์ไว้หลายแบบ มีผู้สนใจและทดลองทำแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาจึงหันไปสนใจที่จะไปในอากาศด้วยบอลลูน แต่บอลลูนต้องอาศัยกระแสลมพัดพาไปเท่านั้น ไม่สามารถบังคับให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการได้ หลังจากนั้น บอลลูนได้วิวัฒนาการเป็นโพยมนาวา มีรูปร่างแบบบุหรี่ซิการ์ มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อน และมีหางเสือสามารถบังคับให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้แต่ไม่สะดวกและปลอดภัย
                       ในปีพ.ศ.๒๓๔๑ มีชาวอังกฤษสองคนได้สร้างเครื่องบินจำลองติดเครื่องจักรไอน้ำเล็ก ๆ สามารถบินได้ไกล ๔๐ เมตร นับว่าเป็นอากาศยานหนักกว่าอากาศ ติดเครื่องยนต์เครื่องแรกที่บินได้จริง
                       พี่น้องสกุลไรต์ชาวอเมริกันประสบความสำเร็จในการบินด้วยอากาศยาน ที่หนักกว่าอากาศเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ รัฐบาลอเมริกันได้เปิดแผนกการบินขึ้นในกรมสื่อสารทหารบก  และส่งเสริมให้นักประดิษฐ์ ส่งเครื่องบินเข้าประกวด ซึ่งพี่น้องสกุลไรต์ได้รับรางวัลอีก ต่อมาไม่นานเขาได้จัดตั้งบริษัทไรต์แอโรเพลนซึ่งทำให้นักประดิษฐ์รายอื่น ๆ สนใจและผลิตงานของตนออกมา ทำให้บริษัทการบินแพร่หลายไปทั่วทั้งยุโรปและอเมริกา
                       ในระยะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๗๑) การพัฒนาเครื่องบินดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เครื่องบินบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น และมีสมรรถนะการบินสูงขึ้นตามลำดับ เครื่องบินทหารแบบขับไล่บินได้เร็วถึง ๕๕๐ กม.ต่อชั่วโมง แบบทิ้งระเบิดบรรทุกลูกระเบิดได้หลายตัน มีรัศมีการบินเป็นพันกิโลเมตร ในด้านพลเรือนประเทศในยุโรป ต่างก็จัดตั้งบริษัทสายการบินบางประเทศบินมาทางตะวันออกไกล มีอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เครื่องบินต้องแวะลงที่ ดอนเมือง ซึ่งขณะนั้นเป็นสนามหญ้าไม่มีทางวิ่งคอนกรีตอย่างปัจจุบัน
                        ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘)  การบินทหารคงใช้เครื่องบินแบบก่อนสงครามคือ แบบขับเคลื่อนด้วยใบพัด เครื่องยนต์ลูกสูบ และได้มีการประดิษฐ์และสร้างเครื่องยนต์ไอพ่นขึ้น ในประเทศอังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา
                       หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้านการบินทหารมีการสร้างเครื่องบินรบแบบต่าง ๆ ติดเครื่องยนต์ไอพ่นกันมากมาย มีสมรรถนะสูง บินได้สูงกว่า ๒๐ กม. ก็มีความเร็วเหนือเสียงเป็นสามเท่าความเร็วเสียงก็มี
                       ด้านการบินพลเรือนพอสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เครื่องบินดักลาสแบบดีซี ๔ สีเครื่องยนต์ก็บินขนส่งคนโดยสาร และสินค้าทันที คือปรับปรุงจากแบบ ซี ๕๔ ที่ใช้ทำการบินขนส่งทหารในสงคราม
                      การบินของประเทศไทย  มีประวัติอันงดงาม และยาวนานทั้งการบินทหารและการบินพลเรือน เริ่มจากทางการจัดส่งนายทหารไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับมาเป็นเจ้าหน้าที่แผนกการบิน ซึ่งกระทรวงกลาโหมจัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ มีเครื่องบินปีกชั้นเดียวสี่เครื่อง และปีกสองชั้นอีกสี่เครื่อง ใช้พื้นที่บริเวณราชกรีทาสโมสร เวลานี้เป็นสนามบิน ต่อมาได้ย้ายมาที่ดอนเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ และกระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ยกฐานะแผนกการบินขึ้นเป็นกองการบินทหารบก ได้ขยายกำลังเป็นกรมอากาศยานทหารบกในปี พ.ศ.๒๔๖๑ เป็นกรมอากาศยานในปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นกรมทหารอากาศในปี พ.ศ.๒๔๗๘ และเป็นกองทัพอากาศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐
                      ประเทศไทยมีกิจการบินโดยสารพลเรือนก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๐ กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงเศรษฐการในสมัยนั้น ได้จัดตั้งบริษัทเดินอากาศขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ทำการบินขนส่งคนโดยสาร และไปรษณียภัณฑ์ภายในประเทศ เมื่อเลิกสงครามโลกแล้วในปี พ.ศ.๒๔๘๙ กองทัพอากาศได้เริ่มกิจการขึ้นใหม่ ใช้เครื่องบินเหลือใช้สงครามแบบขนส่งปี ๔๗ มาปรับปรุงเป็นแบบโดยสารดีซี ๓ มีที่นั่งโดยสาร ๒๘ ที่นั่ง และได้โอนกิจการให้บริษัทเดินอากาศไทย ดำเนินการโดยทำการบินเฉพาะภายในประเทศ และไปประเทศใกล้เคียง ส่วนการบินระหว่างประเทศ และข้ามทวีปนั้น มอบให้บริษัทการบินไทย จำกัด ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๓       ๑๖/ ๑๐๓๙๗
                ๓๑๖๔. บิญดิญ  เป็นเมืองตั้งอยู่บนฝั่งทะเลทางภาคใต้ของประเทศเวียดนาม เคยเป็นที่ตั้งราชธานีของ ชนชาติจามในสมัยโบราณ คือ เมืองวิชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๔๓๑
                        ในปี พ.ศ.๑๖๘๘ เมืองวิชัยถูกกองทัพขอม สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่สองยืดไว้ได้จนถึงปี พ.ศ.๑๖๙๒ ต่อมาปรากฏว่าพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดของขอม เมื่อก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ยกทัพมาตีเมืองวิชัยอีก ต่อมาเจ้าชายจาม ทรงนามว่า วิทยานันทมะ ซึ่งไปรับราชการอยู่กับพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดยึดเมืองวิชัยไว้ได้ แล้วไปครองภาคใต้ของประเทศจัมปา ที่เมืองปาณฑรังค์ ทรงนามสุรยวรรนเทพ ต่อมาเกิดจลาจลที่เมืองวิชัย พระองค์ต้องกลับไปยังประเทศกัมพูชา และเจ้าชายจามคือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๕ ขึ้นครองราชย์แทน ต่อมาพระองค์ก็สามารถรวบรวมประเทศจัมปา เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในที่สุดก็ถูกกองทัพขอม สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดเข้าปราบปรามได้อีกในปี พ.ศ.๑๗๔๖ ในระยะนี้อิทธิพลขอม ก็มีปรากฏแก่ศิลปะจามที่เมืองบิญดิญด้วย
                        ต่อจากนั้นประเทศจัมปาก็ต้องต่อสู้กับพวกเวียดนาม (ญวน)  และในปี พ.ศ.๑๙๘๙ เมืองวิชัยก็ถูกกองทัพเวียดนามยึดได้ แม้กองทัพจามจะยึดคืนมาได้ แต่ในปี พ.ศ.๒๐๑๔ กองทัพเวียดนามก็เข้ายึดเมืองวิชัยได้อีกโดยเด็ดขาด ปัจจุบันยังคงมีชนชาติจามเหลืออยู่ทางทิศใต้ของแหลมวาเรลลา บนฝั่งทะเลทางทิศใต้ของประเทศเวียดนาม
                        คำว่า บิญดิญ ยังใช้เป็นชื่อศิลปะของจาม ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ อีกระยะนี้อิทธิพลของศิลปะขอมเข้ามาปะปนมาก และศิลปะจามเริ่มจะเสื่อมแล้ว          ๑๖/ ๑๐๔๑๐
                ๓๑๖๕. บิลเลียด  เป็นคำที่สันนิษฐานว่า มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณ ซึ่งแปลว่า ไม้เรียว ในเวลาต่อมาอาจจะหมายถึง ไม้คิวที่ใช้เล่นบิลเลียดกันในปัจจุบัน บิลเลียดนี้เข้าใจว่ามีต้นกำเนิดจากการเล่นเกมส์โบลิงสนาม ในประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อย้ายมาเล่นในที่ร่มหรือในห้อง จึงหันมาใช้ไม้ดันหรือผลักลูกแทน และต่อมาก็ได้หาทางดัดแปลงวิธีการเล่นให้มีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น การเล่นครั้งแรกจะมีเพียงสองหลุมเท่านั้น และต่อมาได้เพิ่มเป็นสี่หลุม และหกหลุมดังปัจจุบัน       ๑๖/ ๑๐๔๑๒
                ๓๑๖๖. บิสมัท  เป็นธาตุลำดับที่ ๘๓ มีผู้ค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๖ บิสมัทธาตุที่มีปรากฏในธรรมชาติทั้งในภาวะอิสระ และในภาวะรวมตัวกับธาตุอื่น นอกจากนี้ยังมีปะปนอยู่กับแร่ดีบุก แร่ตะกั่ว แร่ทองแดงอีกด้วยการผลิตบิสมัทมาใช้นั้น ส่วนใหญ่เป็นผลพลอยได้มาจากอุตสาหกรรมการถลุงให้ได้ตะกั่ว และทองแดงบริสุทธิ์
                       บิสมัทเป็นโลหะลักษณะเป็นของแข็งสีขาวอมแดง เปราะหลอมละลายที่ ๒๗๑.๓ องศาเซลเซียส มีจุดเดือดที่ ๑๕๖๐ องศาเซลเซียส เป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าที่เลว มีสมบัติพิเศษคือ เมื่อทำให้ร้อนจนหลอมเหลวแล้ว ทิ้งให้เย็นจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อแข็งตัว คุณสมบัติประการนี้ มีประโยชน์มากสำหรับนำไปทำโลหะเจือ เพื่อใช้ในการหล่อแบบโลหะลวดลายต่าง ๆ        ๑๖/ ๑๐๔๑๕
                ๓๑๖๗. ปีก - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดจำพวกปลาดุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวยาว ด้านข้างแบนเล็กน้อย หัวใหญ่ยาว ลูกตาเล็ก ปากค่อนข้างใหญ่ไม่มีฟัน ยาวประมาณ ๓ เมตร และพบในแม่น้ำโขงเท่านั้น       ๑๖/ ๑๐๔๑๘
                 ๓๑๖๘. บึง  มีบทนิยามว่า "แอ่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งจากแม่น้ำในแม่น้ำลำธารไหลท่วมขังอยู่เพราะระบายได้ช้า หรือเกิดขึ้นใกล้ปากแม่น้ำซึ่งเป็นที่ราบลุ่มมาก" หรือ "แอ่งน้ำขนาดใหญ่มีน้ำขังตลอดปี"       ๑๖/ ๑๐๔๒๕
                ๓๑๖๙. บึ่ง - ตัว  แมลงพวกหนึ่งมีขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ ๑.๕ - ๒.๐ มม. หรือเทียบเท่าแมลงหัวกัดและดูดเลือดคนหรือสัตว์กินเป็นอาหาร มีอยู่ชุกชุมตามบริเวณชายน้ำ ชายทะเลหรือป่าทึบ ที่มีความชื้นสูง บางครั้งเรียกว่า ตัวริ้น เมื่อมีขนาดเล็กมาก        ๑๖/ ๑๐๔๒๖
                ๓๑๗๐. บึ้ง - ตัว  เป็นแมงมุมขนาดใหญ่ ซึ่งมีลำตัวยาวตั้งแต่ ๓ ซม. ขึ้นไป ตั้งบึ้งบางชนิดมีต่อมน้ำพิษ เมื่อกัดคนทำให้เกิดเจ็บปวดอย่างรุนแรง       ๑๖/ ๑๐๔๒๗
                ๓๑๗๑. บึงกาฬ  อำเภอขึ้น จ.หนองคาย มีอาณาเขตทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตกแม่โขง ภูมิประเทศทางแถบแม่น้ำโขงเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตอนกลางเป็นที่ราบสูง มีดงใหญ่และป่าทึบ ทางตะวันออกเป็นดงใหญ่และภูเขา
                        อ.บึงกาฬเดิมชื่อ อ.ชัยบุรี มีชื่อปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่สาม เมื่อก่อนปี พ.ศ.๒๔๕๖ ตั้งที่ว่าการอยู่ที่บ้านชัยบุรี เมื่อย้ายมาตั้งที่บ้านบึงกาฬ ก็ยังนำเอาชื่อชัยบุรีมาเรียกอยู่ตามเดิม และยังขึ้น จ.นครพนม ครั้นปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้โอนไปขึ้น จ.หนองคาย และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บึงกาฬ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗       ๑๖/ ๑๐๔๒๙
                ๓๑๗๒. บุก  เป็นพันธุ์ไม้เมืองร้อนของทวีปเอเชีย ที่มีหัวอยู่ใต้ดินแบบเผือก บอน ในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิด หัวบุกทุกชนิดมีแป้งมากใช้บริโภคได้       ๑๖/ ๑๐๔๒๙
                 ๓๑๗๓. บุคคลาธิษฐาน  มีบทนิยามว่า " วิธีเทศน์ยกบุคคลเป็นที่ตั้งคู่ดับธรรมาธิษฐาน ซึ่งยกธรรมเป็นที่ตั้ง
                         บุคคลาธิษฐาน มีบุคคลเป็นที่ตั้ง ขยายความว่า เทศนาแสดงโดยสมมติ กล่าวถึงบุคคลเป็นตัวอย่าง
                         อีกนัยหนึ่ง ท่านแสดงว่า พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดงโดยบุคคลาธิษฐาน พระอภิธรรมปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดงโดยธรรมาธิษฐาน     ๑๖/ ๑๐๔๓๐
                 ๓๑๗๔. บุคคลิกภาพ  คำนี้มีความหมายกว้างมาก เคยมีผู้รวบรวมความหมายของคำนี้จากศาสตรสาขาต่าง ๆ ไว้ว่ามีมากเกินกว่า ๕๐ ความหมาย คำสอนที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพมากที่สุดในปัจจุบันคือ จิตวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ที่มุ่งอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง และความหมายของบุคคลิกภาพคือ รูปแบบของลักษณะท่าทีการแสดงออกอันเป็นเฉพาะตัวของบุคคล
                         ผลการศึกษาวิจัยทางบุคลิกภาพได้ยืนยันถึงอิทธิพลของทั้งพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมที่มีต่อบุคลิกภาพของบุคคล ข้อมูลแสดงว่าคนเราเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่แรกเกิด เริ่มด้วยลักษณะเฉพาะตัว จากพื้นฐานทางสรีระ และพันธุกรรม ได้แก่ รูปร่าง หน้าตา ระดับ ความรู้สึกไว การรับรู้ สภาพอารมณ์ และการแสดงออกตลอดจนการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้น สิ่งแวดล้อมก็จะเริ่มมีบทบาทในการหล่อหลอมบุคคลิกภาพ ในแง่ของการอบรม เลี้ยงดู และการศึกษา
                         ในปัจจุบันได้เริ่มมีผู้สนใจนำหลักพุทธธรรม มาศึกษาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ และประยุกต์กับวิชาการด้านจิตวิทยา บุคลิกภาพและจิตบำบัดในระดับต่าง ๆ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต       ๑๖/ ๑๐๔๓๑
                 ๓๑๗๕. บุ่ง  (ดูบึง - ลำดับที่ ๓๑๘๗)        ๑๖/ ๑๐๔๔๑
                 ๓๑๗๖. บุ้ง ๑ - ตัว  เป็นหนอนของผีเสื้อซึ่งมีขนตามลำตัว ขนเหล่านี้อาจไม่มีพิษหรืออาจมีพิษภัยเมื่อไปถูกเข้า อาจจะหักตำอวัยวะมาทำให้เจ็บเหมือนถูกแก้วแทง หรืออาจมีน้ำพิษซึ่งอยู่ตามต่อมโคนผมพ่นผ่านขนขึ้นมา ทำให้เกิดอาการแสบร้อน คัน เมื่อถูกผิวหนัง       ๑๖/ ๑๐๔๔๑
                 ๓๑๗๗. บุ้ง ๒ - ผัก  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง มีลำต้นกลวงโต ผ่ากลวง ราว ๑.๑.๕ ซม. เป็นผักที่คนทั่วไปชอบบริโภคเป็นอาหารประจำวันกันมาก จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่พบปลูกทั่วไป       ๑๖/ ๑๐๔๔๒
                 ๓๑๗๘. บุญธรรม - บุตร  เป็นบุตรของบุคคลอื่น ซึ่งบิดาหรือมารดาบุญธรรมรับมาเลี้ยงเป็นบุตร บุตรบุญธรรมมีมาตั้งแต่สมัยกรีก และสมัยโรมัน
                         การรับบุตรบุญธรรมนี้แต่ละประเทศได้วางหลักเกณฑ์ไว้ค่อนข้างรัดกุม ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในความมุ่งหมาย คือคุ้มครองเด็ก ซึ่งจะเป็นบุตรบุญธรรม
                         สำหรับประเทศไทยกฎหมายว่าด้วยบุตรบุญธรรมบัญญัติไว้ในบรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘ วางข้อกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะเป็นบิดา หรือมารดาบุญธรรมได้นั้น ต้องมีอายุ ๓๐ ปี เป็นอย่างต่ำ และจะต้องแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี กับจะต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมด้วย จึงจะมีผลตามกฎหมาย       ๑๖/ ๑๐๔๔๓
                 ๓๑๗๙. บุญฑริก  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก และทิศใต้จดทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับลาว ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ส่วนมากเป็นป่าโปร่ง และทุ่งกว้าง มีทิวเขาพนมดงรักกั้นเขตแดนกับประเทศลาว และมีลำน้ำโดมน้อยไหลผ่าน
                         อ.บุณฑริก แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.เดชอุดม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑       ๑๖/ ๑๐๔๔๗
                 ๓๑๘๐. บุณโณวาท, ปุณโณวาท - หนังสือ  เรียกเต็มว่าบุณโณวาทคำฉันท์ เป็นวรรณคดี ไทยเรื่องหนึ่ง พระมหานาคบวชอยู่วัดท่าทรายในพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้แต่งในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ อาศัยเค้าเรื่องในปุณโณวาทสูตรมาแต่งขึ้น โดยประพันธ์เป็นฉันท์เป็นหนังสือที่นับถือกันมาว่าแต่ดี โดยกระบวนฉันท์ พรรณนาว่าด้วยลักษณะการสมโภชน์พระพุทธบาทตามราชประเพณีครั้งอยุธยา ถ้วนถี่จัดส่งเป็นฉันท์ตำราเรื่องหนึ่ง       ๑๖/ ๑๐๔๔๗
                 ๓๑๘๑. บุด หรือบุก หรือกัง  เป็นลิงชนิดหนึ่ง มีหางสั้นกว่าครึ่งจากจมูกถึงโคนหาง ชาวบ้านทางปักษ์ใต้ชอบหัดลิงนี้ไว้ให้ขึ้นปลิดลูกมะพร้าว       ๑๖/ ๑๐๔๕๑
                 ๓๑๘๒. บุตร  ลูกคือลูกชาย ลูกหญิงหรือลูกสาว ตามกฎหมายไทยปัจจุบันมีบุตรอยู่สามประเภท คือ บุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกสมรส และบุตรบุญธรรม
                         เรื่องบุตรนี้ในติปุตตสูตร ตติยวรรค ติกนิบาตร อิติวุตก สุตตันตปิฏก เล่ม ๒๕ อรรถกกาเรียก ตโยปุตตสุตร มีข้อความว่า บุตรมีสามประเภทคือ อภิชาตบุตร บุตรที่เก่งยิ่งกว่าบิดามารดา อนุชาติบุตร บุตรที่เก่งเสมอกับบิดามารดา และอวชาติบุตร บุตรที่เก่งต่ำกว่าบิดามารดา        ๑๖/ ๑๐๔๕๒
                 ๓๑๘๓. บุนนาก - ต้น  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เห็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๒๐ - ๓๐ เมตร เรือนยอดมีรูปทรงสวยแบบกรวย ใบสวย ดอกสวยและหอม นิยมนำไปปลูกเป็นต้นไม้ริมถนนและในสวนทั่ว ๆ ไป
                        ใบแบบธรรมดาออกตรงข้ามกันรูปใบมนรี ปลายใบแหลม กว้าง ๑ - ๒.๕ ซม. ยาว ๘ - ๑๒ ซม. ดอกออกเคียง ๆ ตามง่ามใบ มีกลิ่นหอม ก้านดอกสั้นมาก ผลทรงแหลม โตราว ๒ ซม. เปลือกเข็ง แก่นของต้นบุนนากสีแดงเข้ม มีความแข็งแรง และทนทานดีมาก นิยมใช้ในการก่อสร้างและทำเครื่องเรือน       ๑๖/ ๑๐๔๕๔
                 ๓๑๘๔. บุปผาราม - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองวัดบุปผาราม เขตบุปผาราม กรุงเทพฯ ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้าง ทราบกันแต่ว่าเป็นวัดโบราณ ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดดอกไม้
                         ผู้ปฏิสังขรณ์วัดนี้มีสองท่านคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาก)  ขณะยังเป็นจหมื่นไวยวรนาถ กับเจ้าพระยาทิพากรวงค์ (ขำ บุนนาก)  ขณะยังเป็นจหมื่นราชามาตย์ดังกล่าวแล้ว เมื่อปฏิสังขรณ์เรียบร้อยแล้ว พระราชทานนามว่าวัดบุปผาราม
                         ตามประวัติของวัดนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงแต่งตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ยังมีขอบเขตอยู่เพียงในวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อได้แยกสาขาออกไปยังวัดอื่น วัดบุปผารามเป็นวัดหนึ่งในระยะแรกที่คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ขยายตัวเรียกว่า ออกวัดใหม่ ในตอนแรกและที่วัดนี้         ๑๖/ ๑๐๔๕๕
                 ๓๑๘๕. บุพพาราม  เป็นวัดครั้งพุทธกาล เป็นวัดครั้งพุทธกาลตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดพระเชตะวัน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงสาวัตถี นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้สร้าง มีถาวรวัตถุในวัดที่สำคัญคือ โลหะปราสาท มีตำนานดังนี้
                         วันหนึ่งนางวิสาขาแต่งเครื่องมหาลดาประสาทไปช่วยงานแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี เสร็จงานแล้ว ขากลับผ่านวัดพระเชตวันเป็นเวลาฟังธรรมพอดี จึงแวะเข้าไปฟังธรรมก่อนเข้าพระวิหารได้ถอดเครื่องแต่งตัวให้นางทาสีอยู่ข้างนอก เมื่อเทศน์จบแล้วกลับออกจากวิหารลืมเครื่องประดับ จึงให้คนใช้กลับไปเอา แต่สั่งว่าถ้าพระเก็บไว้แล้วก็อย่าขอคืนเลย เมื่อทราบว่าพระอานนท์เก็บไว้ให้จึงไม่รับคืน พระอานนท์จึงต้องเก็บเอาไว้ในคลังพัสดุของพระสงฆ์ วันต่อมานางวิสาขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ให้ไวยาวัจกรประกาศผาติกรรมเครื่องลดามหาประสาท แต่ไม่ใครกล้าซื้อ นางวิสาขาจึงต้องขอซื้อคืนตามราคาตัวสร้างเดิมเก้าโกฏิ เมื่อวัดได้เงินเก้าโกฏิ นางวิสาขาก็กราบทูลว่า จะขอให้เอาเงินนี้สร้างวัดบุพพาราม โดยมีพระมหาโมคคัลนะคุมการก่อสร้าง อาคารที่สร้างเมื่อสำเร็จแล้วเป็นตึกใหญ่สองชั้น หลังคาเป็นโคม หรือเป็นแบบกูฏาคาร มียอดโดม ๖๐ ยอด ที่ยอดมีหม้อน้ำทำด้วยทองสีสุกทุกยอด มีห้องชั้นละ ๕๐๐ ห้อง จัดแบ่งเป็นส่วน ๆ ส่วนหนึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ มีห้องพระโรงเป็นที่ประชุมฟังธรรม มีที่พักทั้งกลางวัน และกลางคืน มีที่จงกรม ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของ พระผู้ทรงอภิธรรม ทรงพระวินัย ทรงพระสูตร พระผู้เล่าเรียนทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ส่วนหนึ่งเป็นที่พักของคณะอาคันตุกะพร้อมทั้งญาติโยมผู้ติดตามมา ส่วนหนึ่งเป็นห้องพักพระภิกษุอาพาธ รอบบริเวณมีต้นไม้ปลูกเป็นแถว มีสระน้ำสรง สระน้ำฉัน ใช้เวลาก่อสร้างรวมเก้าเดือน ค่าก่อสร้างเก้าโกฏิ ค่าใช้จ่ายในการฉลองตึกเก้าโกฏิ อาคารหลังนี้ต่อมาเรียกกันว่า โลหะปราสาท
                         พระพุทธเจ้าประทับที่วัดนี้เป็นครั้งคราวในระหว่าง ๒๕ ปี ที่ประทับอยู่กรุงสาวัตถีนั้น ได้ประทับที่วัดบุพพารามรวมหกปี          ๑๖/ ๑๐๔๖๐

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch