หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/79
    ๓๐๓๑. บังทอง  เป็นชื่อบุคคลในสมัยสามก๊กของจีน (พ.ศ.๗๖๓ - ๘๐๙)  เป็นชาวเมืองเชียงหยง ในมณฑลฮูเป เล่าปี่เคยแต่งตั้งให้ปกครองเมืองลอยเอียง ในมณฑลฮูสำ ต่อมาเล่าปี่จึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองจากขงเบ้ง คอยให้คำปรึกษาในการทัพทั้งปวง อย่างใกล้ชิด ได้ช่วยออกอุบายให้ฝ่ายเล่าปี่มีชัยในการรบหลายครั้งหลายคราว ได้เสียชีวิตในสนามรบ เมื่ออายุเพียง ๓๐ ปี         ๑๖/ ๑๐๑๖๙
                ๓๐๓๒ .บังแทรก  เป็นเครื่องสูงสำหรับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ ประเภทหนึ่งซึ่งจัดไว้เป็นลำดับที่สามในเครื่องสูงแปดประเภท ตัวบังแทรกเป็นแผ่นผ้าปักหักทองขวางรูปแบบกลม มีขอบรูปจัก ๆ เหมือนใบสาเกโดยรอบ มียอดแหลม และมีด้ามสำหรับถือ สำรับหนึ่งมีหกคัน เชิญระหว่างฉัตรห้าชั้นทั้งหน้าและหลัง ใช้สำหรับพระราชอิสริยยศพระบรมราชินี และสมเด็จพระยุพราชด้วย แต่ถ้าใช้สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า ซึ่งเป็นพระราชโอรส และพระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดิน ตัวบังแทรกปักทองแผ่ลวดลายฉลุลาย สำรับหนึ่งมีหกคันเช่นกัน (ดูเครื่องสูง - ลำดับที่ ...ประกอบด้วย ๑๑๓๒)         ๑๖/ ๑๐๑๗๐
                ๓๐๓๓. บังสุกุล  ความหมายดั้งเดิมหมายถึงกองฝุ่นหรือกองขยะ ซึ่งมีของที่เขาทิ้งไว้หรือของที่เขาทิ้งแล้ว ไม่มีเจ้าของหวงแหนในกองฝุ่นนั้น ต่อมาเมื่อมีพระบรมพุทธานุญาต ให้พระภิกษุสงฆ์เที่ยวเก็บผ้าที่ผู้อื่นทิ้งเสียแล้วเรียกว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น มาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม ผ้าที่เขาใช้ห่อศพ หรือคลุมศพที่เขาทิ้งเสีย เมื่อเผาศพแล้ว อยู่ในจำพวกผ้าบังสุกุลด้วย จึงเนื่องไปกับศพทีหลังมาถือเอาการที่พระภิกษุเก็บผ้าบังสุกุลนั้น มาประกอบในการกุศลที่บำเพ็ญให้แก่ผู้ตาย เอาผ้าที่ดีไปทอดที่ศพ แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปชักเรียกว่า มหาบังสุกุล จึงเรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ และเรียกกิริยาที่พระภิกษุทำพิธีชักผ้าจากศพ ด้วยการปลงกรรมฐานว่า "ชักบังสุกุล"  การบังสุกุลรวมอยู่ในเรื่องชักผ้าทุกสถาน เช่นเดียวกับเรื่องผ้าป่า จึงนับอยู่ในจำพวกเดียวกัน
                        บังสุกุล ในพิธีเกี่ยวกับศพนี้ มีต่อท้ายในงานอวมงคลคือ งานเกี่ยวกับเรื่องการตาย พิธีบังสุกุลจะมีต่อท้ายหลังจากพระภิกษุสงฆ์ สวดมาติกา หรือสดับปกรณ์ เจ้าภาพจะลากสายโยง หรือภูษาโยง แล้วทอดผ้า พอทอดถึงรูปสุดท้าย พระภิกษุสงฆ์ก็ตั้งพัดพร้อมกันทุกรูป แล้วเริ่มว่าคาถาชักบังสุกุล พร้อมกันจบแล้วชัาผ้าออกจากสายโยง หรือภูษาโยง        ๑๖/ ๑๐๑๗๒
                ๓๐๓๔. บังสูรย์  เป็นเครื่องสูงสำหรับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งจัดไว้เป็นลำดับที่เจ็ด ในเครื่องสูงแปดประเภท ตัวบังสูรย์เป็นเครื่องบังแดดขนาดใหญ่ รูปใบโพธิ์มีด้าม ทำด้วยผ้ากำมะหยี่ ปักหักทองขวาง เชิญอยู่ข้างพระที่นั่งราชยานคนละข้าง ควบกับพระกลดและพัดโบก ใช้สำหรับพระราชอิสริยยศสมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระยุพราชด้วย แต่ถ้าใช้สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า และพระองค์เจ้า ซึ่งเป็นพระราชโอรส และพระราชธิดา ในพระเจ้าแผ่นดิน ตัวบังสูรย์ปักทองแผ่ลวดลายฉลุลาย (ดูเครื่องสูง - ลำดับที่ ๑๑๓๒ ประกอบด้วย)         ๑๖/ ๑๐๑๗๕
                 ๓๐๓๕. บัญชี  คือเอกสารที่บันทึกรายการประเภทใดประเภทหนึ่งไว้ในหน่วยของเงินตรา รายการที่บันทึกไว้ในแต่ละบัญชี จะจัดแยกประเภทไว้เป็นหมวดหมู่ ตามลักษณะของรายการ โดยรายการในบัญชีหนึ่งก็จะรวบรวมรายการที่มีลักษณะเช่นเดียวกันไว้ในบัญชีนั้น
                        ประเภทบัญชีที่แยกตามลักษณะของรายการอาจแบ่งออกได้เป็นห้าประเภทคือ บัญชีประเภททรัพย์สิน หนี้สิน ส่วนของเจ้าของกิจการบัญชีรายได้และบัญชีรายจ่าย ในแต่ละประเภทยังแยกออกเป็นบัญชีย่อย ๆ ได้อีก
                        หลักการบัญชีที่นิยมใช้ในการบันทึกรายการบัญชีกันโดยทั่วไปคือ หลักการบัญชีคู่ ซึ่งเป็นหลักที่ถือว่าทุกรายการที่มีมูลค่าเป็นเงินนั้น จะต้องมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องสองด้านคือ ผู้รับกับผู้ให้ และในการบันทึกทางการบัญชีสำหรับรายการแต่ละรายการก็จะบันทึกความเกี่ยวข้องกับรายการนั้นทั้งสองด้าน
                        การบันทึกรายการในบัญชีดังกล่าวมาเรียกว่า การบัญชี ซึ่งหมายถึงการจดบันทึกรายการหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเงินไว้ในหน่วยของเงินตรา มีการจัดหมวดหมู่แยกประเภทของรายการ แล้วสรุปผลการบันทึกของรายงานการเงิน ซึ่งจะแสดงให้ทราบถึงผลของการดำเนินงาน สำหรับระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง และฐานะการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง         ๑๖/ ๑๐๑๗๗
                ๓๐๓๖. บัญญัติไตรยางค์   เป็นวิธีเลขอย่างหนึ่ง ซึ่งกำหนดส่วนสัมพันธ์ของเลขสามจำนวนเป็นเกณฑ์ มาจากคำว่า บัญญัติ แปลว่า การตั้งขึ้น ข้อที่ตั้งขึ้น ข้อบังคับ และไตรยางค์ แปลว่า สามส่วน
                       ความมุ่งหมายสำคัญในการทำบัญญัติไตรยางค์คือ การหาเลขจำนวนที่สี่ โดยนำเลขจำนวนทั้งสามที่กำหนดให้ และที่ให้หามาคูณหารกัน เป็นสามชั้น
                       โดยทั่วไป ถ้าปริมาณเปลี่ยนแปลงตามกันไป ตามขั้นต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้แล้ว ก็เรียกว่า บัญญัติไตรยางค์ตรง ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ทำให้ได้ปริมาณตรงกันข้าม เช่น ในเรื่องแรงงานกับเวลาที่ใช้ในการทำงาน ก็เรียกว่า บัญญัติไตรยางค์กลับ        ๑๖/ ๑๐๑๗๙
                ๓๐๓๗. บัณฑิต  มีบทนิยามว่า "ผู้มีปัญญา นักปราชญ์" ตามบทนิยามนี้ ขยายความออกไป ได้แก่ ผู้ประพฤติตามกุศลกรรมบถสิบ (ดู กรรมบท - ลำดับที่... ประกอบ ) ผู้มีปัญญาและใช้ปัญญาคือ คิดด้วยปัญญา พูดด้วยปัญญา ทำด้วยปัญญา กล่าวสรุปว่า บัณฑิตนั้นประพฤติสุจริตทางกาย วาจาและใจ
                        ท่านแสดงเหตุที่ทำให้เป็นบัณฑิต หรือนักปราชญ์ คือ
                        ๑. ตั้งใจเล่าเรียนศึกษาให้รู้เท่า รู้ทัน รู้แท้
                        ๒.  คิดตามความรู้ที่ได้เรียนนั้นให้แจ่มแจ้ง
                        ๓.  สอบถามความรู้ที่ได้เล่าเรียนนั้น เพื่อหาความรู้ใหม่ต่อไป
                        ๔.  จดบันทึกความรู้ที่ได้เล่าเรียน หรือประสบการณ์นั้น ๆ ไว้ด้วยสมอง หรือด้วยตัวหนังสือ
                       บัณฑิต นั้น มีปรกติรู้ผิดรู้ชอบ ทำผิดก็รู้ว่าผิด และรับผิดในการกระทำของตน แล้วเตือนตนไม่ให้ทำผิดต่อไป        ๑๖/ ๑๐๑๘๑
                ๓๐๓๘. บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์  เป็นพระแท่นที่ประทับของพระอินทร์ ลักษณะเป็นแท่นหินใหญ่สีเหลืองอ่อน คล้ายดอกชัยพฤกษ์ เวลานั่งจะยุบลงประมาณครึ่งตัวผู้นั่ง กลับนูนขึ้นได้เมื่อเวลาลุกขึ้น คล้ายเก้าอี้นวม ตั้งอยู่ใต้ต้นปาริฉัตกะ ในส่วนสวรรค์นันทวัน ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
                        เมื่อมีเหตุพิเศษ พระแท่นนี้แข็งกระด้างก็ได้ หรือร้อนเป็นไฟ นั่งไม่ได้ก็ได้        ๑๖/ ๑๐๑๘๒
                ๓๐๓๙. บัณเฑาะว์  เป็นชื่อกลองเล็กชนิดหนึ่ง ซึ่งพราหมณ์ใช้ขับ โดยวิธีแกว่งลูกตุ้ม ให้กระทบหน้ากลองทั้งสองข้าง         ๑๖/ ๑๐๑๘๓
                ๓๐๔๐. บัดกรี การบัดกรี  หมายถึง วิธีการที่นำโลหะตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไป มาทำให้ต่อติดกัน โดยอาศัยการหลอมตัวของโลหะเจือ ซึ่งมีจุดหลอมตัวต่ำกว่าจุดหลอมตัวของโลหะ ที่นำมาต่อให้ติดกันนั้น โลหะที่มักนำมาต่อให้ติดกัน โดยวิธีบัดกรี ได้แก่ เหล็ก ตะกั่ว ทองแดง ทองเหลือง เหล็ก ชุบสังกะสี และเรียกโลหะเจือที่ใช้เป็นตัวทำให้ชิ้นโลหะต่อติดกันว่า โลหะบัดกรี
                        เนื่องจากการบัดกรี ต้องใช้อุณหภูมิสูง ดังนั้น ผิวของโลหะตรงที่จะนำมาต่อติดกัน จึงแปรสภาพเป็นโลหะออกไซด์ได้ง่าย อันเป็นสาเหตุให้โลหะบัดกรี จับผิวโลหะได้ไม่แน่น จึงจำเป็นต้องกำจัดโลหะออกไซด์ ออกโดยใช้น้ำยาบัดกรีเป็นตัวกำจัด
                        การที่ชิ้นโลหะ ต่างชิ้นต่อติดกันได้ด้วยการบัดกรีนั้น เป็นเพราะว่าโลหะบัดกรีที่ใช้มีจุดหลอมตัวต่ำกว่าจุดหลอมตัวของโลหะ ที่นำมาบัดกรี เมื่อให้ความร้อนสูงพอแล้ว โลหะบัดกรีก็จะหลอมละลายเป็นชิ้นบาง ๆ อยู่ระหว่างผิวรอยต่อของชิ้นโลหะทั้งสอง ขณะเดียวกันก็เกิดกรรมวิธีทางเคมีขึ้นตรงบริเวณนั้น ผิวโลหะของชิ้นโลหะทั้งสองจะละลายลงมาบ้าง และผสมกับโลหะบัดกรีที่กำลังหลอมละลาย เกิดเป็นโลหะเจือใหม่ขึ้น เมื่อเย็นลงก็จะแข็งตัวเชื่อมกันแน่นสนิท          ๑๖/ ๑๐๑๘๓
                ๓๐๔๑. บัตรพลี  มีบทนิยามว่า "เครื่องเซ่น สรวงสังเวย ถ้าทำเป็นรูปสามเหลี่ยมคางหมูเรียกว่า บัตรคางหมู ถ้าทำเป็นรูปตั้งแต่สี่เสาขึ้นไป เรียกว่า บัตรพระเกตุ ถ้าทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมมียอดเรียกว่า บัตรพระเคราะห์"
                        บัตรทั้งสี่อย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องทำทั้งสี่อย่าง สุดแต่ความต้องการเป็นเรื่องที่ทำกันอยู่ตามประเพณี และมักทำในงานใหญ่ที่มีฤกษ์ หลักการพลีบูชามีว่า ต้องจัดเนื้อสัตว์ และอาหารเป็นเครื่องพลี ส่วนที่เหลือนอกนั้นคนกินได้ อย่างเครื่องไหว้ของจีน         ๑๖/ ๑๐๑๘๘
                ๓๐๔๒. บั้น   เป็นมาตราตวงข้าวเปลือก และข้าวสารสมัยโบราณ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่สี่ แยกออกเป็นมาตราตวงข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเกิดมีโรงสีไฟของฝรั่งขึ้นเป็นครั้งแรก จึงเกิดมีมาตราใหม่ขึ้นเป็นสองแบบแยกกัน แบบหนึ่งใช้สำหรับตวงข้าวเปลือก อีกแบบหนึ่งสำหรับใช้ตวงข้าวสาร
                       มาตราตวงข้าวเปลือก       ๑๐๐  เมล็ดข้าว = ๑ ใจมือ     ๔ ใจมือ = ๑ กำมือ     ๔ กำมือ = ๑ แล่ง     ๒ แล่ง = ๑ ทะนาน     ๔๐ ทะนาน =  ๑ ถัง     ๔๐ ถัง = ๑ บั้น     ๒ บั้น = ๑ เกวียน
                       มาตราตวงข้าวสาร       ๑๐๐ เมล็ดข้าว  =   ๑ ใจมือ     ๔ ใจมือ = ๑ กำมือ     ๔กำมือ =  ๑ จังออน     ๒ จังออน =  ๑ ทะนาน     ๒๐ ทะนาน =  ๑ สัด     ๒๐ สัด =  ๑ ตะล่อม     ๕ ตะล่อม =  ๑ เกวียน        ๑๖/ ๑๐๑๙๔
                ๓๐๔๓. บันตู  เป็นชื่อของตระกูลภาษาหนึ่ง ในทวีปแอฟริกาและรวมไปถึงกลุ่มชนแอฟริกันนิโกร
                        กลุ่มชนบันตู  แต่เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ทางภูมิภาคตอนบนของแม่น้ำไนล์ ภายหลังได้ค่อย ๆ อพยพลงทางใต้ และกระจายกันอยู่ทั่วไปในแอฟริกากลางและแอฟริกาใต้ โดยมีเส้นสมมติที่เรียกว่า เส้นบันตู เป็นแนวกำหนดเขตเหนือสุดของดินแดนพวกบันตู เส้นสมมตินี้ ลากผ่านทวีปแอฟริกาจากชายฝั่งตะวันตก ที่อ่าวคาเมรูน ไปตามสันปันน้ำของแม่น้ำเวเล และแม่น้ำคองโก ผ่านทะเลสาบอัลเบิร์ด และชายฝั่งตอนเหนือของทะเลสาบวิกตอเรียก จนถึงชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย ใกล้กับปากแม่น้ำทานา
                        กลุ่มชนบันตู  อาจแบ่งออกเป็นเผ่าต่าง ๆ รวมห้ากลุ่ม ตามลักษณะชาติพันธุ์ และสถานที่ตั้งถิ่นฐาน
                        ต้นกำเนิดของภาษาบันตู  ยังไม่ทราบกันเป็นที่แน่ชัด เชื่อกันว่าเป็นภาษาผสมกันระหว่างตระกูลซูดานิกกับภาษาเซมิติก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดกันในเขตใกล้เคียง ประมาณกันว่าภาษาในตระกูลภาษาบันตุมีอยู่ร่วม ๒๐๐ ภาษา
                       ความเชื่อถือทางศาสนาของกลุ่มชนบันตุแบ่งออกได้เป็นสองแบบด้วยกัน พวกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนกลาง และตอนใต้ของทวีป มักจะนับถือบูชาบรรพบุรุษ ส่วนชนเผ่าที่อยู่ตามแถบทะเลสาบ และทางตะวันตกของทวีปมักจะนับถือบูชาผิสางเทวดา และบรรพบุรุษควบคู่กันไป        ๑๖/ ๑๐๑๙๕
                ๓๐๔๔. บันนังสตา  อำเภอขึ้น จ.ยะลา มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจดทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย ภูมิประเทศส่วนมากเป็นภูเขา ลำธาร และป่าดง มีที่ราบน้อย
                        อ.บันนังสตา  ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ตั้งที่การที่ ต.บาเจาะ อยู่ทางฝั่วขวาของแม่น้ำยะลา ต่อมาได้ย้ายไปตั้ง ต.บันนังสตา ฝั่งซ้ายแม่น้ำยะลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗      ๑๖/ ๑๐๑๙๗
                ๓๐๔๕. บัพพาชนียกรรม  เป็นวิธีการลงโทษแก่ผู้มีความผิดขั้นอุกฤษฎ์อย่างหนึ่งคือ ขับออกจากหมู่ ให้อยู่ในเขตจำกัด ขับออกนอกประเทศอย่างหนึ่ง ขับไล่ออกจากถิ่นเดิม แต่โบราณนิยมให้ขับออกจากประเทศที่ผู้นั้นอยู่อาศัย
                        ในวินัยทางพระพุทธศาสนากำหนดเรื่องนี้ไว้คือ คำบัพพาชนียกรรมแปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงกระทำแก่ภิกษุ อันจะพึงไล่เสีย          ๑๖/ ๑๐๑๙๗
                ๓๐๔๖. บัว  เป็นชื่อพันธุ์ไม้น้ำ เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุยืนขึ้นอยู่ในน้ำ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า รากบัว ใบเป็นแผ่นรูปกลม ก้านใบยาว ชูใบขึ้นพ้นผิวน้ำ หรือลอยอยู่บนผิวน้ำ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดใหญ่มีสีต่าง ๆ กัน ก้านดอกยาว ดอกตูมอยู่ใต้น้ำ ดอกบัวเป็นดอกสมบูรณ์ เพศมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย อยู่ในดอกเดียวกัน ภายในทุก ๆ ส่วนของบัวมีน้ำยางสีขาว เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัว เป็นเส้นยาว ๆ และเปลี่ยนเป็นสีตากุ้งเรียกว่า ใยบัว
                       จำแนกบัวในประเทศไทยได้เป็นสามสกุลคือ
                       ๑. ปทุมชาติหรือบัวหลวง  เป็นบัวพันธุ์พื้นบ้านของไทย ใบและดอกชูขึ้นพ้นผิวน้ำ ก้านใบและก้านดอกเป็นหนาม คายมือ ดอกมีขนาดใหญ่ กลีบดอกซ้อนกัน ๓ - ๔ ชั้น สีชมพูหรือสีขาว รังไข่เป็นจำนวนมากแยกจากกันฝังอยู่ในฐานรองดอก ซึ่งยื่นขึ้นมาเป็นแท่น รังไข่แต่ละอันเจริญเป็นผล มักจะเรียกกันว่า เม็ดบัว ส่วนฐานรองดอกก็เจริญใหญ่ขึ้น มีสีเขียว รวมเรียกว่า ฝักบัว
                        บัวหลวงบานตอนกลางวัน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จำแนกออกได้เป็นพันธุ์ต่าง ๆ ตามสีรูปร่างและขนาดของดอก มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ออกไปเช่น สัตตบงกช สัตตบุษย์ พันธุ์แคระเรียกว่า บัวปักกิ่ง
                        ๒. อุบลชาติหรือบัวสาย  ใบลอยอยู่ปริ่มน้ำ รูปกลม ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ก้านใบ และก้านดอกอ่อนไม่มีหนาม ก้านดอกบัวสายบริโภคได้ เป็นฝักเรียกว่าสายบัว ดอกมีสีต่าง ๆ กัน ขาว ชมพู แดง ม่วงคราม และเหลือง มีกลิ่นหอม มีทั้งที่บานกลางวัน และบานกลางคืน มีอยู่หลายชนิดหลายพันธุ์ด้วยกันเช่นบัวสาย บัวเผื่อน บัวผัน บัวขาบ ป้านคำหรือนิอุบล
                        ๓. บัววิกตอเรีย หรือบัวกระด้ง  เป็นพันธุ์ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ มีใบใหญ่ ขอบใบยกสูงขึ้นมาคล้ายกระด้ง       ๑๖/ ๑๐๑๙๙
                ๓๐๔๗. บัวแก้ว - ตรา  เป็นเครื่องหมายประจำกระทรวงต่างประเทศ แต่เดิมเป็นตราประจำตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังที่โกษาธิบดี ครั้นต่อมาเมื่อจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในรัชกาลที่ห้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๗ แล้วยกกรมพระคลังมหาสมบัติ แยกออกจากกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘ ตราบัวแก้วจึงตกไปเป็นตราประจำเสนาบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยลำดับ           ๑๖/ ๑๐๒๐๑
                ๓๐๔๘. บัวคลี่ - นาง  ชื่อตัวละครหญิงตัวหนึ่งในเรื่องขุนช้างขุนแผน นางเป็นภริยาคนหนึ่งของขุนแผน มีลูกชายคนหนึ่งชื่อกุมารทอง (ผีที่ขุนแผนเลี้ยงไว้)    ๑๖/ ๑๐๒๐๒
                ๓๐๔๙. บัวตูม  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ป่าชนิดหนึ่ง เป็นพันธุ์ไม้ประเภทกาฝาก บัวตูมไม่มีรากและใบ ส่วนที่เป็นลำต้นสั้นมาก จะเห็นพันธุ์ไม้ชนิดนี้ก็เมื่อตอนมีดอก ดอกสีแดงเข้ม เป็นดอกเดี่ยวมีขนาดใหญ่ ดอกบานมีขนาด ๒๔ - ๗๐ ซม. ดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกันอยู่คนละดอก บัวตูมพบในป่าดงดิบ ออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่ากระโถนฤาษี       ๑๖/ ๑๐๒๐๒
                ๓๐๕๐. บัวบก  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้สองชนิด ชนิดหนึ่งเป็นไม้ล้มลุก ชอบขึ้นตามดินทีแฉะ ๆ ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีรากออกตามข้อใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตามข้อประมาณ ๒ - ๑๐ ใบ ก้านใบยาวตั้งตรง รูปร่างของใบคล้ายรูปไต ดอกมีขนาดเล็ก ออกเป็นช่อสั้น ๆ ที่ซอกใบ ผลขนาดเล็กเป็นสัน ใบและต้นใช้เป็นอาหารประเภทผัก บัวบกยังเป็นสมุนไพรเป็นยาบำรุง เจริญอาหาร ลดความอ้วน ขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ ใช้พอกแก้โรคผิวหนัง เมล็ดใช้เป็นยาแก้บิด และแก้ปวดศีรษะ
                        บัวบกอีกชนิดหนึ่งเป็นไม้เลื้อย รากพอกออกเป็นหัวใต้ดิน หัวขนาดใหญ่หนักได้ถึง ๔ - ๕ กก. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อ คล้ายช่อดอกมะเขือพวง ช่อดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกันอยู่คนละต้น บัวบกชนิดนี้พบขึ้นในป่าผลัดใบ กล่าวกันว่าเป็นของขลัง ใช้หัวใต้ดิน เอามาเป็นแป้งผัดหน้า ชื่ออื่น ๆ ที่เรียกกันคือโกฐหัวบัวและบัวเดื่อ       ๑๖/ ๑๐๒๐๓
                ๓๐๕๑. บัวลอย ๑  เป็นชื่อเพลงชนิดหนึ่งที่ใช้บรรเลงในงานศพ โดยทั่วไปนักดนตรีจะทำบัวลอย เมื่อลงมือจุดศพ เรื่อยไปจนจบ
                        เพลงบัวลอยมีหลายลำนำติดต่อกัน ทั้งทำนองของบีและจังหวะหน้าทับของกลองมหายูที่ตีประกอบไป ทำให้ฟังได้เศร้าเย็นและไพเราะอย่างยิ่ง
                ๓๐๕๒. บัวลอย ๒  เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง แบ่งออกเป็นบัวลอยแก้ว หรือฝักบัวลอยแก้ว บัวลอย บัวลอยญวน บัวบาน           ๑๖/ ๑๐๒๐๖
                ๓๐๕๓. บัวใหญ่  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง มีป่าไม้ใหญ่น้อยทุกด้าน
    เดิมตั้งที่ว่าการที่บ้านทองหลางน้อย ต.ดอนตาหนิน เรียกชื่อว่า อ.นอก ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๙ ย้ายไปตั้งที่ ต.บัวใหญ่ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บัวใหญ่      ๑๖/ ๑๐๒๐๗
                ๓๐๕๔. บ้า ๑  คือผู้ป่วยโรคจิตซึ่งเป็นโรคทางจิตใจ ที่มีความผิดปรกติมากกว่าโรคทางจิตเวชประเภทอื่น ๆ อาการสำคัญที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคจิตคือ
                        ๑. ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง แต่อยู่ในโลกของความเพ้อฝัน เชื่อผิด เห็นผิด มีอาการประสาทหลอน
                        ๒. บุคคลิกภาพเปลี่ยนไปมาก
                        ๓. ไม่รู้ว่าตนเองผิดปรกติ
                        โรคจิตจำแนกออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น โรคจิตที่เกิดจากความเสื่อมของสมองผู้ป่วยมีอาการทางอารมณ์เป็นอาการสำคัญ      ๑๖/ ๑๐๒๐๘
                ๓๐๕๕. บ้า ๒ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ใช้บริโภคได้แต่ไม่แพร่หลายจัดอยู่ในพวกเดียวกับปลาตะเพียน ปลากะโห้และปลายี่สก         ๑๖/ ๑๐๒๐๙
                ๓๐๕๖. บาเกง  เป็นชื่อของเนินเขาสูงประมาณ ๖๐ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของทางเข้าด้านตะวันตกของปราสาทนครวัด ๑,๓๐๐ เมตร ทางทิศใต้ของประตูด้านใต้ของเมืองนครหลวง ๔๐๐ เมตร ในจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
                       บนเขาพนมบาเกงนี้เป็นที่ตั้งของปราสาทบาเกง และเชื่อกันว่า เป็นศูนย์กลางของเมืองพระนคร หรือยโศธรปุระซึ่งมีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวประมาณด้านละ ๔ กม.
                       ปราสาทพนมบาเกงสร้างขึ้นราวปี พ.ศ.๑๔๔๐ โดยพระเจ้ายโสวรมันที่หนึ่งเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย เป็นที่ประดิษฐานเทวราชคือ ศิวลึงค์ เป็นครั้งแรกที่มีการสร้างปราสาทห้าหลังด้วยศิลาทราย ขึ้นบนยอดฐานเป็นชั้นและยังมีปราสาทชั้นรองลงมาตั้งอยู่บนชั้นต่าง ๆ  อีก
                       ปราสาทพนมบาเกงตั้งอยู่บนฐานห้าชั้น ฐานนี้ไม่ได้ต่อขึ้นแต่ดัดแปลงตบแต่งฐานยอดเขาธรรมชาติ โดยเอาศิลาทราย มาประกบข้างนอก บนฐานชั้นบนสุดมีปราสาทศิลาทรายห้าหลัง หลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีกสี่หลังอยู่ที่สี่มุมมีปราสาทเล็ก ๆ อยู่บนฐานเป็นชั้น ๖๐ หลัง มีบันไดขึ้นสี่ทิศ และยังมีปราสาทอิฐตั้งอยู่ล้อมรอบฐานเป็นชั้นอีก ๔๔ หลัง รวมด้วยกันทั้งหมดเป็นจำนวน ๑๐๙ หลัง ส่วนใหญ่หักพังหมดแล้ว
                       ยังมีอีกชื่อหนึ่งคือ พระกริ่งอุบาเกง พบที่ปราสาทบาเกงเป็นครั้งแรก เป็นพระกริ่งสำริดเล็ก ๆ หล่อเป็นพระพุทธรูปนั่งแบบทิเบต เข้าใจว่าหล่อขึ้นในสมัยประเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔ - หลัง พ.ศ.๑๗๔๔)       ๑๖/ ๑๐๒๑๑
                ๓๐๕๗. บาง ๑  เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สูงประมาณ ๑ เมตร หล่อด้วยโลหะผสมลงรักปิดทองเรียกกันว่า พระบาง นับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศลาว มีตำนานทางพื้นเมืองนั้นว่า พระบางเดิมสร้างที่เมืองปาตลีบุตร มีผู้นำมาถึงประเทศกัมพูชาก่อนแล้ว จึงเชิญมาสู่ประเทศลาวประดิษฐานไว้ ณ เมืองเวียงจันทน์ ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกรีธาทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของประเทศนั้นมาด้วยหลายองค์ มีพระแก้วมรกต และพระบางด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สร้างหอประดิษฐ์เป็นพิเศษเรียกว่า หอพระแก้ว ในพระราชวังกรุงธนบุรี
                        ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้อันเชิญพระแก้วมรกต และพระบาง มาประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาเจ้านันทเสนบุตรพระเจ้าล้านช้างกราบทูลว่า พระแก้วมรกตกับพระบางไม่ควรจะอยู่ใกล้กัน โดยอ้างคติโบราณของล้านช้างและประวัติความเป็นมาตามคตินั้น พระองค์จึงโปรดให้ส่งพระบางคืนไปยังเมืองเวียงจันทน์
                        ในรัชกาลที่สามเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) ขึ้นไปติดตามเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ครั้งหลัง ได้พระบางกับพระแซกดำ พระฉันสมอ ลงมากรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โปรดให้เชิญไปประดิษฐานไว้ตามวัดนอกพระนคร ถึงรัชกาลที่สี่ทรงสร้างพระอารามขึ้นใหม่หลายพระอาราม โปรดให้สืบหาพระพุทธรูปโบราณทางแขวงล้านช้างได้มาหลายองค์ แต่คนทั้งหลายยังรังเกียจตามคติชาวล้านช้างอยู่ จึงโปรดให้อัญเชิญพระบางขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบางแต่นั้นมา    ๑๖/ ๑๐๒๑๓
                ๓๐๕๘. บาง ๒  มีบทนิยามว่า "ทางน้ำ ตำบลริมน้ำ ไม่หนา" ที่ว่าทางน้ำและตำบลริมน้ำนั้น ในหนังสือสาส์นสมเด็จ มีคำอธิบายว่า บาง คือ คลองตัน ทำขึ้นเพื่อจะชักน้ำในแม่น้ำเข้าไปในที่ทำกิน มีเรือกสวนไร่นาเป็นต้น เกิดแต่มีผู้คนมากขึ้นจะตั้งทำกินกันอยู่แต่ริมแม่น้ำหาพอกันไม่
                        ชื่อของบางนั้นก็เป็นชื่อง่าย ๆ อาศัยเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะสำเหนียกกันได้ง่าย ต่อมาชื่อบางก็ขยายออกไปกลายเป็นชื่อย่าน ชื่อตำบล นับแต่บางหนึ่งไปจนถึงอีกบางหนึ่ง      ๑๖/ ๑๐๒๑๕
                ๓๐๕๙. บ่าง เป็นสัตว์ที่มีแผ่นพังผืดขึงรอบตัวคือ จากข้างคอไปที่ปลายนิ้วตีน มีแผ่นพังผืดระหว่างนิ้วตีน จากขาหน้าตลอดไปถึงขาหลังระหว่างนิ้วตีน และมีไปจนสุดปลายหาง ผิดจากกระรอกบิน ซึ่งไม่มีพังผืดระหว่างขากับหาง ซึ่งบางทีชาวบ้านก็เรียกกันว่า บ่างกระรอก
                        หากบ่างมีลูกตัวเล็ก ๆ ลูกมักเกาะติดหน้าอกแม่ไปไหน ๆ กับแม่ด้วย     ๑๖/ ๑๐๒๑๗
                ๓๐๖๐. บางกรวย  อำเภอขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศทั่ว ๆ ไป อ.บางกรวยเดิมชื่อ อ.บางใหญ่ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางกรวย           ๑๖/ ๑๐๒๑๙
                ๓๐๖๑. บางกระทุ่ม  อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศทั่ว ๆ ไปเป็นที่ราบลุ่ม บางตอนเป็นป่าเขา อ.บางกระทุ่มเดิมเป็นกิ่งอำเภอ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙      ๑๖/ ๑๐๑๙
                ๓๐๖๒. บางกอก  เป็นชื่อที่ชาวต่างประเทศเรียกกรุงเทพ ฯ ตามที่เคยเรียกเมืองธนบุรี มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ว่าบางกอก
                       แต่เดิมเขตธนบุรี เป็นพื้นแผ่นดินเดียวกับฝั่งกรุงเทพ ฯ และเป็นที่ตั้งหมู่บ้านประมงค์ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (อู่ทอง) ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปี พ.ศ.๑๘๙๓ ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ.๒๐๗๗ - ๒๐๘๙)  เขตธนบุรีถูกแยกออกจากฝั่งกรุงเทพ ฯ ปัจจุบันต่อมาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงยกฐานะขึ้นเป็นเมืองธนบุรี
                       เมืองธนบุรีกลายเป็นเมืองสำคัญยิ่ง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเป็นราชธานีของไทยระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๕          ๑๖/ ๑๐๒๒๐
                ๓๐๖๓. บางกอกน้อย  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางกอกน้อย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้จัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ให้รวม จ.พระนคร และจ.ธนบุรี เป็นจังหวัดเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ให้แบ่งพื้นที่กรุงเทพ ฯ ออกเป็นเขต (อำเภอ) และแขวง (ตำบล)        ๑๖/ ๑๐๒๒๕
                ๓๐๖๔. บางกอกใหญ่  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำสวนผลไม้ยืนต้น เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางกอกใหญ่ เป็นที่ตั้งเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ครั้งเป็นราชธานี มีป้อมอยู่ที่ปากคลองบางกอกน้อยฝั่งซ้ายหน้า พระราชวังเดิมอยู่ป้อมหนึ่ง ชื่อป้อมวิชัยประสิทธิ์ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้นายช่างฝรั่งเศสสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๘ เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สองได้ทำลายป้อมนี้เสียในปี พ.ศ.๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ (ครั้งยังเป็นเจ้าตาก) ขับไล่พม่าไปจากธนบุรีแล้วจึงให้สถาปนาป้อมนี้ให้ดีดังเดิม
                       ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้ตั้งอำเภอขึ้นที่ปากคลองบางไส้ไก่ริมคลองบางกอกใหญ่ ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๕๒ ย้ายอำเภอมาตั้งที่วัดหงส์รัตนาราม เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า อ.บางกอกใหญ่ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ ยุบเป็นกิ่งอำเภอบางกอกใหญ่ ขึ้น อ.ธนบุรี แล้วยกฐานะเป็นอำเภออีกในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเขตบางกอกใหญ่     ๑๖/ ๑๐๒๒๕
                ๓๐๖๕. บางกะปิ  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางกะปิ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนเป็นเขตบางกะปิ      ๑๖/ ๑๐๒๒๗
                ๓๐๖๖. บางขุนเทียน   เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางขุนเทียน เปลี่ยนชื่อเป็นเขตบางขุนเทียนในปี พ.ศ.๒๕๑๕      ๑๖/ ๑๐๒๒๘
                ๓๐๖๗. บางเขน เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาและสวนผัก เดิมเป็นอำเภอ เรียกว่า อ.บางเขน เปลี่ยนเป็นเขตบางเขนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕      ๑๖/ ๑๐๒๒๙
                ๓๐๖๘. บางคณที  อำเภอขึ้น จ.สมุทรสงคราม ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ส่วนมากเป็นที่สวน เดิมตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.สี่หมื่นเรียก อ.สี่หมื่น ต่อมายกไปขึ้น อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จึงย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ ต.กระดังงา ใกล้คลองบางคณที ตั้งชื่อว่า ต.สี่หมื่น อ.บางคณที      ๑๖/ ๑๐๒๓๐
                ๓๐๖๙. บางคล้า  อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาและทำสวน ทางตะวันออกเป็นสวนสัปะรด โดยมากมีป่าบ้าง
                       อ.บางคล้า เดิมตั้งอยู่ที่ บ.หัวไทร ต.คูมอญ เรียกว่า อ.หัวไทร แล้วย้ายไปตั้งที่ปากคลองบางคล้าจึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางคล้า           ๑๖/ ๑๐๒๓๐
                ๓๐๗๐. บางซ้าย  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม เดิมเป็นกิ่งอำเภอยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑           ๑๖/ ๑๐๒๓๑
                ๓๐๗๑. บางไทร  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนาและทำประมง อำเภอนี้ในสมัยอยุธยารวมการปกครองอยู่ในแขวงขุนเสนาซึ่งต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นแขวงเสนา ถึงรัชกาลที่สาม แยกแขวงเสนาเป็นแขวงเสนาใหญ่ และแขวงเสนาน้อย ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๘ แขวงเสนาน้อยได้เป็น อ.เสนาน้อย แต่ชาวบ้านยังคงเรียก อ.บางไทรด้วย ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเข้าไปตั้งที่ฝั่งขวาลำน้ำบางไทร (แม่น้ำน้อย) ที่ ต.ราชคราม เมื่อราว พ.ศ.๒๔๖๗ จึงเรียกว่า อ.ราชคราม ถึง พ.ศ.๒๔๘๑ กลับเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางไทรอีก      ๑๖/ ๑๐๒๓๒
                ๓๐๗๒. บางน้ำเปรี้ยว   อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศเป็นนาตลอดไป ทางทิศเหนือเป็นที่ดอนบ้าง
    ที่เรียกว่า บางน้ำเปรี้ยว นั้น น่าจะเป็นด้วยน้ำในเขตนั้นเปรี้ยวทุกปี     ๑๖/ ๑๐๒๓๓
                ๓๐๗๓. บางบ่อ อำเภอขึ้น จ.สมุทรปราการ ภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำ แบ่งออกเป็นสองตอน ในระหว่างตอนเหนือกับตอนใต้มีบริเวณกว้างใหญ่ หน้าน้ำน้ำท่วมตลอด ตอนใต้เป็นป่าไม้แสม อ.บางบ่อ เดิมเรียกว่า อ.บางเหี้ย เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางบ่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓      ๑๖/ ๑๐๒๓๓
                ๓๐๗๔. บางบัวทอง  อำเภอขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ทำนาเป็นพื้น สินค้ามีอิฐบางบัวทอง     ๑๖/ ๑๐๒๓๓
                ๓๐๗๕. บางบาล  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ทำนาได้ดี
                        อำเภอนี้สมัยกรุงศรีอยุธยารวมการปกครองอยู่ในท้องที่แขวงขุนเสนา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแขวงเสนา ในรัชการที่สามโดยยกแขวงเสนาเป็นแขวงเสนาใหญ่ และแขวงเสนาน้อย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๘ แบ่งแขวงเสนาใหญ่ตอนเหนือเป็น อ.เสนาใหญ่ ตอนใต้เป็น อ.เสนากลาง แบ่งแขวงเสนาน้อยตอนเหนือกับแขวงเสนาใหญ่ตอนตะวันออกเป็น อ.เสนาใน ตั้งที่ว่าการที่ ต.ผีมด ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ ต.บางบาล ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ต.บางบาล ต่อมาย้ายที่ว่าการมาตั้งที่ ต.มหาพราหมณ์     ๑๖/ ๑๐๒๓๔
                ๓๐๗๖. บางปลาม้า  อำเภอขึ้น จ.สุพรรณบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีคลอง หนองบึงอยู่ทั่วไป
                        อ.บางปลาม้า เดิมตั้งที่ว่าการอยู่ที่ ต.บางปลาม้า ฝั่งขวาแม่น้ำสุพรรณแล้วย้ายไปตั้งที่ ต.โคกคราม ฝั่งซ้ายแม่น้ำสุพรรณ       ๑๖/ ๑๐๒๓๔

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch