หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/75
    ๒๙๒๐. นิติภาวะ  หมายถึง การที่บุคคลมีความสามารถตามกฎหมายในภาวะต่าง ๆ แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ภาวะเป็นผู้เยาว์กับภาวะเป็นผู้ใหญ่ ในระหว่างเป็นภาวะผู้เยาว์นั้น กฎหมายให้บุคคลมีความสามารถได้แต่โดยจำกัด จะทำการต่าง ๆ ได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
                    การบรรลุนิติภาวะของบุคคลนั้น มีได้สองทางคือ เมื่อบุคคลมีอายุถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดทางหนึ่ง กับเมื่อบุคคลทำการสมรสอีกทางหนึ่ง            ๑๕/ ๙๗๖๐
                ๒๙๒๑.  นิติศาสตร์  มีบทนิยามว่า "วิชากฎหมาย" ร่องรอยแห่งวิชานิติศาสตร์ ปรากฎมาแต่อดีตเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว
                    นิติศาสตร์ประกอบด้วยกฎหมายสองระบบคือ ระบบคอมมอนลอว์ ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่มิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และระบบประมวลกฎหมายคือ กฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์นั้น ศึกษากฎหมายจากคำพิพากษาของศาลเป็นประการสำคัญ ส่วนในประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายยึดตัวบทกฎหมาย ที่บัญญัติไว้เป็นหลัก คำพิพากษาของศาลสูงเป็นเพียงตัวอย่างประกอบ
                    นิติศาสตร์ ที่ศึกษากันอยู่เวลานี้ ประกอบด้วยกฎหมายสาขาใหญ่ ๆ สามสาขาคือ
                        ๑. กฎหมายมหาชน  เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎร ในฐานะเป็นฝ่ายปกครองราษฎร อันมีกฎหมายดังต่อไปนี้
                            ก.  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายกำหนดโครงสร้างของรัฐ และระบอบการปกครองประเทศ กฎหมายนี้ถือว่าเป็นใหญ่กว่ากฎหมายทั้งปวง บทบัญญัติของกฎหมายอื่นใด หากขัดแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ
                            ข.  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ ซึ่งอาจประกอบด้วย พระราชบัญญัติต่าง ๆ
                            ค.  กฎหมายอาญา  เป็นกฎหมายที่กำหนดลักษณะความผิด และโทษที่ลงแก่ผู้กระทำผิด
                            ง.  กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบ และวิธีดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญา เช่น การสอบสวน อำนาจศาล การยื่นฟ้อง การพิจารณา การรับฟังพยานหลักฐาน การตัดสินคดี และการอุทธรณ์ฎีกา
                            จ.  กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง
                            ฉ.  ธรรมนูญศาลยุติธรรม  เป็นกฎหมายที่จัดวางระเบียบการศาลยุติธรรม เช่น การจัดตั้งและยุบเลิกศาล อำนาจศาล องค์คณะผู้พิพากษา และอำนาจผู้พิพากษาในการพิจารณาตัดสินคดี
                        ๒. กฎหมายเอกชน  หรืออีกนัยหนึ่งว่ากฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนต่อเอกชน ซึ่งมีฐานะทางกฎหมายเท่ากัน มีกฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล ว่าด้วยทรัพย์ ว่าด้วยนิติกรรม ว่าด้วยหนี้ ว่าด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยน ว่าด้วยจำนำจำนองค้ำประกัน ว่าด้วยการรับขน ว่าด้วยการรับฝาก ว่าด้วยการกู้ยืม ว่าด้วยประนีประนอมความ ว่าด้วยเช่าทรัพย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน ว่าด้วยประกัน ว่าด้วยหุ้นส่วน สมาคม ว่าด้วยครอบครัว และว่าด้วยมรดก
                        ๓. กฎหมายระหว่างประเทศ  เป็นกฎหมายว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน แบ่งได้เป็นสามสาขาคือ
                            ก. กฎหมายระหว่างปวระเทศแผนกคดีเมือง  ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ในฐานะที่เป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นการรับรองรัฐ การทูต การปักปันเขตแดน การทำสนธิสัญญา การใช้ทะเลหลวง องค์กรระหว่างประเทศ และหลักเกณฑ์ในการสงคราม
                            ข. กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล  เป็นกฎหมายที่วางหลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐในทางแพ่ง เช่นหลักเกณฑ์ในการใช้กฎหมาย เกี่ยวกับการสมรสของคนต่างด้าว การได้สัญชาติของคนต่างงด้าวกรณีสมรส การได้สัญชาติของบุตรคนต่างด้าว หลักเกณฑ์ในการเลือกกฎหมาย ที่จะพึงใช้บังคับกับสัญญาที่ทำโดยคู่สัญญา ซึ่งอยู่ในประเทศต่างกัน ว่าจะใช้กฎหมายของประะเทศใดบังคับ
                            ค. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา  เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในทางคดีอาญา เช่นกำหนดว่า ความผิดอาญาที่ได้กระทำนอกประเทศลักษณะใดบ้าง ที่จะพึงฟ้องในประเทศได้ ตลอดจนกำหนดวิธีการ และหลักเกณฑ์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ดูคำกฎหมาย - ลำดับที่ ๑๙ ประกอบด้วย)            ๑๕/ ๙๗๖๔
                ๒๙๒๒. นิติสาส์น  เป็นหนังสือวารสารกฎหมายที่เก่าแก่มากเล่มหนึ่ง เริ่มพิมพ์ออกจำหน่าย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ นักเรียนกฎหมายยึดถือหนังสือนี้เป็นคำสอน และเรียกหนังสือนี้ว่า "หนังสือกฎหมาย"            ๑๕/ ๙๗๖๗
                ๒๙๒๓. นิทรา  แปลตามรูปคำว่า "นอนหลับ" หรือ "ความง่วง" ในวรรณคดีสันสกฤต สมัยแรก ๆ คือ สมัยพระเวทไม่มีกล่าวถึงคำนี้ มีปรากฎในสมัยต่อมาคือ สมัยกาพย์ และสมัยปุราณะ ซึ่งมีการสมมติอาการนาม หรือนามธรรมให้เป็นบุคคลมีรูปร่างขึ้น และโดยมากสมมติให้เป็นผู้หญิง
                    คัมภีร์ภาควตปุราณะกล่าวว่า "นิทรา" เป็นภาคหนึ่งของพระพรหมในรูปของผู้หญิงกล่าวคือ ตอนที่พระพรหมสร้างโลกแล้วถึงคราวที่จะต้องพักผ่อน พระองค์ก็ได้แบ่งภาคเป็นสนธยา (เวลาโพล้เพล้) มีรูปเป็นเทวี จากนั้นก็เป็นนิทราเทวี และถึงการหลับสนิทในที่สุด เป็นการยุติภารกิจแห่งการสร้างสวรรค์ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง            ๑๕/ ๙๗๖๙
                ๒๙๒๔. นิทราชาคริต  เป็นกวีนิพนธ์ประเภทลิลิต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ตามเค้าเรื่องนิทานอาหรับเรื่องหนึ่ง ในชุดเรื่องอาหรับราตรี หรือพันหนึ่งราตรี        ๑๕/ ๙๗๗๐
                ๒๙๒๕. นิทาน  หมายถึง เรื่องที่เล่ากันมาแต่โบราณ ตรงกับคำว่า "นิทานกถา" ในภาษาบาลี ส่วนคำว่านิทานของภาษาบาลีแปลว่าเรื่องเดิม เรื่องที่ผูกขึ้น และเรื่องที่อ้างอิง นิทานที่มีในไทย อาจแบ่งตามสมัยได้คือ
                        ๑. นิทานก่อนมีประวัติศาสตร์  ได้แก่ นิทานที่มีอยู่ในพงศาวดารเหนือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของไทย
                        ๒. นิทานประเภทชาดกในนิบาตชาดก  มีอยู่ประมาณ ๕๐๐ เรื่อง สันนิษฐานว่า เข้ามาในไทยพร้อมกับพระพุทธศาสนาคือในสมัยสุโขทัย นิทานชาดกเป็นนิทานพื้นเมืองของอินเดีย บางเรื่องมีเค้าพ้องกับนิทานอีสป ซึ่งเป็นนิทานพื้นเมืองของกรีก
                        ๓. นิทานประเภทคำสอน  ได้แก่ นิทานเก่าแก่ของอินเดียบ้าง ของกรีกบ้าง  นิทานเหล่านี้แทรกคำสอนในการดำเนินชีวิต เช่นนิทานต่าง ๆ ในหิโตประเทศ
                        ๔. นิทานชาดกบอกนิบาตชาดก ได้มาจากเรื่องปัญญาสชาดก สันนิษฐานว่า เป็นนิทานพื้นเมืองของประเทศต่าง ๆ เช่นทิเบต ศรีลังกา เป็นต้น แล้วนำมาแต่งให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเรื่องชาดก มีลักษณะแอบอ้างว่าเป็นพุทธวจนะกลับชาติมาเกิด เป็นต้น บางประเทศเช่นพม่าให้เผาเสียหมด นิทานเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยราว ๆ สมัยอยุธยา ที่แต่งเป็นวรรณคดีก็มี ที่ใช้เล่นเป็นละครก็มีเช่นสมุทรโฆษคำฉันท์ สังข์ทอง สุธน เป็นต้น
                        ๕. นิทานพื้นเมือง  ได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวกับตำนานของสถานที่ตามเมืองต่าง ๆ บอกถึงสาเหตุที่ได้ชื่อนั้น ๆ เช่นเรื่องตาม่องล่าย ตำนานวัดพระเจ้าพระนางเชิง เป็นต้น
                        ๖. นิทานประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ  ได้แก่ นิทานที่ผู้แต่งสร้างโครงเรื่องขึ้นเอง อาจจะใช้แนวเทียบก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ ลักษณะของเรื่องเป็นไปในแบบพรรณา ถึงชีวิตของเจ้าชายองค์หนึ่ง เริ่มตั้งแต่ออกไปแสวงหาวิชากับพระอาจารย์ เมื่อสำเร็จแล้วก็มีการผจญภัย พบคู่ครอง ในที่สุดได้ครองราชย์ มีความสุขตลอดไป
                        ๗. นิทานสุภาษิต  มีแทรกอยู่กับสุภาษิต นักปราชญ์ได้ยกมาอย่างย่อ ๆ เช่น โคลงโลกนิติ มีที่กล่าวถึงเรื่องราวในนิทาน เรื่องหนูพาลกับราชสีห์ ซึ่งมีชื่อว่าสุกรชาดก นิทานเรื่องนกแขกเต้ากับโจร เป็นต้น
                        ๘. นิทานยอพระเกียรติ์  ใช้แต่งรวมกับพฤติกรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ที่กวีต้องการยกย่องเช่นนิทานเวตาล ที่จะแสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของพระเจ้าวิกรมาทิตย์
                ๒๙๒๖. นิพพาน  มีบทนิยามว่า "ความดับกิเลสและกองทุกข์" คำนิพพานเป็นชื่อของปฏิเวธธรรมคือ ผลแห่งการปฏิบัติจนเข้าใจตลอดหรือตรัสรู้ แปลได้เป็นสองนัย
                    นัยหนึ่งว่า หาของเสียบแทงมิได้ ในคำว่า มีลูกศรเครื่องเสียบแทงอันถอนแล้ว เป็นคุณบทของพระอรหันต์ นัยหนึ่งว่า ไม่มีเครื่องร้อยรัดในคำว่า พระผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ พ้นแล้วจากเครื่องร้อยรัด
                    นิพพาน ท่านแสดงว่า มีสองประการคือ
                        ๑. สอุปาทิเสสนิพพาน  นิพพานธาตุ มีอุปทิเหลืออยู่ หรือดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ เรียกเป็นเฉพาะอีกอย่างหนึ่งว่า "กิเลสนิพพาน" คือ ดับเฉพาะกิเลส ผู้หมดกิเลส ยังมีชีวิตอยู่เป็นนิพพานของพระอรหันต์ ผู้ยังเสวยอารมณ์ที่น่าชอบใจ และไม่น่าชอบใจ ทางอินทรีย์ทั้งห้า รับรู้สุขรู้ทุกข์อยู่ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นนิพพานของพระเสขะ
                        ๒. อนุปาทิเสสนิพพาน  นิพพานธาตุมีอุปทิเหลืออยู่ไม่ หรือดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ เรียกเป็นเฉพาะว่า ขันธนิพพาน เป็นนิพพานของพระอรหันต์ ผู้ระงับการเสวยอารมณ์แล้วคือ ดับทั้งกิเลส ดับทั้งขันธ์ห้า อีกนัยหนึ่งเป็นนิพพานของพระอเสขะ
                    นิพพานเป็นปฎิเวธธรรมขั้นสุดยอด เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวว่า นิพพานยอดยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานว่างอย่างยอดยิ่ง โดยสุตตันตนัยว่า เพราะละตัญหาเสีย ท่านกล่าวว่า นิพพาน โดยอภิธรรมนัยว่า พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงพ้นแล้วจากเครื่องร้อยรัด ตรัสบทอันไม่เคลื่อน อันล่วงส่วนสุด อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ หาบทอื่นยิ่งกว่ามิได้ว่านิพพาน ความหมายของคำนี้ที่สูงสุดคือ ดับกิเลส และกองทุกข์ คือ ดับสนิท
                    เมื่อนิพพาน หมายถึง การสิ้นภพสิ้นชาติ เป็นสุขสงบเย็นสนิท เป็นบรมสุข            ๑๕/ ๙๗๗๖
                ๒๙๒๗. นิพัธบท - สมเด็จพระบรม  เป็นกษัตริย์เขมร ขึ้นครองราชย์ ณ พระนครหลวง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๘๙ ครองราชย์ได้ห้าปีก็สวรรคต            ๑๕/ ๙๗๗๙
                ๒๙๒๘. นิมมานนรดี  เป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่ห้า ในสวรรค์หกชั้นฟ้า เป็นแดนที่สถิตของปวงเทพชาวฟ้า ผู้มีความยินดี เพลิดเพลินในกามคุณที่เนรมิตขึ้น ตามความพอใจของตน โดยมีท้าวสุนิมมิตเทวาราชเป็นอธิบดีผู้ปกครอง
                    สวรรค์ชั้นนี้ เป็นเทพนครที่ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไปเบื้องบน ภายในเทพนครมีวิมาน ที่อยู่ของเหล่าเทวดาทั้งหลาย และองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นเดียวกับสมบัติทิพยในสวรรค์ชั้นดุสิต เพียงแต่มีสภาพสวยสดงดงาม และประนีตกว่าทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต            ๑๕/ ๙๗๘๑
                ๒๙๒๙. นิรมานกาย  เป็นกายหนึ่งของพระพุทธเจ้า ตามคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อันเกิดจากความเข้าใจในภาวะของมานุสพุทธเจ้าคือ พระสมณโคดม ตามรูปใหม่ นับเป็นกายที่สามในเรื่อง ตรีกาย ซึ่งแยกเป็น ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมานกาย            ๑๕/ ๙๗๘๒
                ๒๙๓๐. นิรันตราย  เรียกเต็มว่า พระพุทธรูปนิรันตราย หล่อด้วยทองสำริดกาไหล่ทอง ในปางสมาธิ (ขัดสมาธิเพชร) เบื้องหลังมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ มีอักษรขอมจำหลักลงในวงกลีบบัว เบื้องหน้าเก้า เบื้องหลังเก้า พระคุณนาม แสดงพระพุทธคุณตั้งแต่ "อรห ฺ สมฺมา สมฺ พุทโธ จนถึง ภควา"  ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎ ตั้งติดอยู่กับฐานชั้นล่าง รองฐานพระ ซึ่งเป็นที่สำหรับรับน้ำสรงพระ มีท่อเป็นรูปศีรษะโค แสดงเป็นหมายพระโคตร ซึ่งเป็นโคตมะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงพระราชดำริแบบอย่างสร้างขึ้น            ๑๕/ ๙๗๘๒
                ๒๙๓๑. นิราศ  เป็นชื่อที่ใช้เรียกบทประพันธ์เฉพาะตอน และวรรณคดีไทยประเภทหนึ่ง ที่มีลักษณะการแต่งเป็นการพรรณา อารมณ์รัก โศกเศร้า เสียใจ อาลัยอาวรณ์ควบคู่ไปกับการพรรณาธรรมชาติ และการเดินทาง
                    คำว่า นิราศ มีบทนิยามว่า "ไปจาก ระเหระหน ปราศจาก"
                    บทประพันธ์ที่กำหนดเรียกกันว่า "บทนิราศ" มักจะแทรกอยู่ในวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีกล่าวถึงการเดินทางของตัวพระเอกไปสู่ที่ใดที่หนึ่ง กวีก็จะแต่งพรรณาภาพ ที่ตัวละครได้ พบเห็นในการเดินทาง พร้อมทั้งพรรณาความในใจ ซึ่งส่วนมากจะเป็นความเศร้าโศกเสียใจ คิดถึง บางทีอยู่หลังเป็นการคร่ำครวญ
                    วรรณคดีนิราศที่เก่าที่สุดของไทย ได้แก่ เรื่อง "ทวาทศมาศ" แต่เดิมกวีไม่ได้ใช้ชื่อว่า นิราศ เรื่องที่ใช้นิราศเป็นเรื่องแรก ได้แก่ นิราศหริภุญชัย สันนิษฐานว่า แต่งก่อนปี พ.ศ.๒๑๘๑
                    คำประพันธ์ที่นำมาใช้แต่งนิราศมีอยู่ประมาณห้าชนิด เรียงลำดับตามสมัยก่อนหลังคือ นิราศคำโคลง นิราศคำกาพย์ นิราศคำกลอน นิราศลิลิต และนิราศร้อยแก้ว            ๑๕/ ๙๗๘๔
                ๒๙๓๒. นิรุกติศาสตร์  เป็นวิชาว่าด้วยภาษาแบ่งโดยประสงค์เป็นเจ็ดหมวดใหญ่
                    ภาษา เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเรามากที่สุด เพื่อให้รู้เรื่องภาษาว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร จึงได้เกิดมีวิธีค้นคว้าสอบสวน เรื่องภาษาต่าง ๆ นำมาเปรียบเทียบกันดู แล้วจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ แยกแยะลักษณะต่าง ๆ ของภาษา เกิดเป็นตำรานิรุกติศาสตร์
                    นิรุกติศาสตร์ เป็นวิชามีขึ้นในยุโรปเมื่อราวร้อยกว่าปีมาแล้ว ก่อนนี้ขึ้นไปการศึกษาภาษาของชาวยุโรป มุ่งศึกษาไปในทางไวยากรณ์ ซึ่งมีกำเนิดมาจากตำราไวยากรณ์ของภาษากรีก และภาษาละติน ทั้งสองภาษานี้สืบมาจาก ภาษาเฮบรูอีกต่อหนึ่ง
                    ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ เซอร์ วิลเลียม โจนส์ นักปราชญ์ทางภาษาสันสกฤต ชาวอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาษาสันสกฤต กรีก และละติน คล้ายกันมาก จนน่าจะมาจากต้นตระกูลภาษาเดิมเดียวกัน            ๑๕/ ๙๗๘๘
                ๒๙๓๓. นิโรธ  คือ ความดับทุกข์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ นิพพาน อันเป็นธรรมดับกิเลสคือ ตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวง (ดู นิพพาน - ลำดับที่ ๒๘๙๙ ประกอบด้วย)  เรียกเต็มตามศัพท์ธรรมว่า "ทุกขนิโรธ"  ในคัมภีร์ขุทกนิกาย ปฎิสัมภิทามรรค สุตตันตปิฎก และในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ปกรณ์วิเสส กล่าวขั้นตอนแห่งนิโรธ เป็นห้าคือ
                        ๑.  ดับด้วยข่มไว้  คือ ความดับกิเลสของผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌาน ย่อมข่มกิเลสไว้ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในณานนั้น ความดับกิเลสโดยลักษณะนี้เรียกว่า วิกขัมภนนิโรธ
                        ๒. ดับด้วยองค์นั้น ๆ   คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่อริ หรือธรรมที่ตรงกันข้าม เช่น ดับสักกายทิฐิด้วยความรู้ที่กำหนด แยกนามรูปออกมาได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้น ๆ เรียกว่า ตทังคนิโรธ
                        ๓. ดับด้วยตัดขาด  คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาดด้วยโลกุตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้นเรียกว่า สมุจเฉทนิโรธ
                        ๔. ดับด้วยสงบระงับ  คือ อาศัยโลกุตรมรรค ดับกิเลสเด็ดขาดแล้วบรรลุโลกุตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับหมดไปแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้นเรียกว่า ปฏิปัสสัทธินิโรธ
                        ๕. ดับด้วยสลัดออกได้  หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป  คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้วดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสแล้วนั้น ยั่งยืนตลอดไปเรียกว่า นิสรณนิโรธ ได้แก่ อมตธาตุ คือ นิพพาน            ๑๕/ ๙๗๙๒
                ๒๙๓๔. นิลกัณฐ์  เป็นนามฉายาของพระศิวะคือ พระศิวะได้นามว่านิลกัณฐ์นั้น เนื่องมาจากการกวนน้ำอมฤตของพวกเทวดา เพื่อกินแล้วไม่ตาย และเอาชนะพวกอสูรได้ ตามคำแนะนำของพระนารายณ์ ในการกวนน้ำอมฤตครั้งนั้น พญานาควาสุกรีทนความร้อนที่ต้องเสียดสีอยู่กับภูเขาไม่ไหว จึงพ่นพิษออกมาเป็นเพลิงกรดเผาผลาญโลก พระศิวะเกรงโลกจะเป็นอันตรายจึงกลืนพิษร้ายเข้าไป พระศอของพระองค์จึงไหม้เกรียมเป็นรอยดำ จึงได้นามใหม่ว่า นิลกัณฐ์ แปลว่า ผู้มีคอดำ (ดูนารายณ์สิบปาง ตอนว่าด้วยกุรมาวตาร - ลำดับที่ ๕๒๑ ประกอบด้วย)            ๑๕/ ๙๗๙๓
                ๒๙๓๕. นิลขัน  เป็นชื่อเสนาวานรในจำพวกสิบแปดมงกุฎในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นชาวชมพู คือกำเนิดมาจากพระพิเนก หรือพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทวกุมารโอรสพระอิศวร เคยเป็นนายกองปีกซ้ายแห่งทัพพระอิศวร เมื่อปราบตรีบุรัม แล้วต่อมาอวตารเป็นเสนาวานรชื่อ นิลขัน เมื่อพระรามเดินดงไปชุมพลที่เขาคันธมาทน์ ท้าวมหาชมพูทราบว่า พระรามคือ พระนารายณ์จึงถวายพลทั้งกรุงชมพู ตัวนิลขันได้เป็นนายกองของพระราม คุมพลวานรไปร่วมรบในกองทัพพญาสุครีพคู่กับนิลราช    ๑๕/ ๙๗๙๓
                ๒๙๓๖. นิลคีรี เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ที่ฤาษีโคบุตร อาจารย์ของทศกัณฐ์ เอาตัวทศกัณฐ์ไปตั้งพิธีถอดจิตเป็นเวลาเก้าปี เก้าเดือน เก้าวัน เก้านาที จนดวงใจออกจากร่าง         ๑๕/ ๙๗๙๔
                ๒๙๓๗. นิลนนท์ เป็นชื่อพญาวานรในเรื่องรามเกียรติ์ นับเข้าในจำพวกสิบแปดมงกุฎ เป็นชาวชมพูทวีปถือกำเนิดมาจากพระเพลิง เคยเป็นนายกองหลังแห่งทัพพระอิศวร เมื่อปราบตรีบุรัม แล้วต่อมาอวตารเป็นพญาวานรชื่อ นิลนนท์ เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้วได้รับบำเหน็จเป็นอุปราชเมืองชมพู เป็นทูตสื่อสารเมื่อครั้งพระพรตประกาศสงครามกับท้าวจักรวรรดิ์            ๑๕/ ๙๗๙๔
                ๒๙๓๘. นิลปานัน เป็นชื่อเสนาวานรในจำพวกสิบแปดมงกุฎในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นชาวชมพู ถือกำเนิดมาจากพระศุกร์            ๑๕/ ๙๗๙๖
                ๒๙๓๙. นิลพัท  เป็นชื่อพญาวานรชาวชมพู ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นลูกพระกาล เมื่อเสร็จศึกมลิวัลแล้ว ได้เป็นอุปราชเมืองชมพู มีศักดิ์สมญาว่า พระยาอภัยพัทวงศ์ นับเข้าในจำพวกสิบแปดมงกุฏ ได้ผูกใจเจ็บหนุมาน เมื่อครั้งหนุมานพาท้าวมหาชมพู มาทั้งแท่นไปถวายพระราม ในตอนจองถนนไปลงกา นิลพัททะเลาะกับหนุมานได้ต่อสู้กันขนานใหญ่ พระรามกริ้วไล่ให้นิลพัทไปรักษากรุงขีดขิน มีหน้าที่ส่งเสบียงแก่กองทัพเดือนละครั้ง
                    เมื่อเกิดศึกลงกาครั้งหลัง นิลพัทอาสาเป็นทัพหน้าในตำแหน่งหนุมาน ทอดตัวเป็นถนนข้ามน้ำ นิลพัทรบกับตรีกัน ฆ่าตรีกันตาย เมื่อพระสัตรุถูกหอกเมฆพัทของสุริยาภพ นิลพัทเข้ารบกับสุริยาภพจนพลบค่ำ จนสุริยาภพเลิกทัพกลับ แล้วนิลพัทได้อาสาไปเอายาแก้หอกเมฆพัทคือ ไปขอจันทน์แดงจากพระราม ไปเอามูลโคอุสุภราช ซึ่งเป็นอาสน์ของพระอิศวร ที่เขาอินทกาล แล้วเหาะขึ้นไปชั้นพรหมทูลขอศิลาบด แล้วลงไปพิภพบาดาล ทูลขอลูกศิลาบดต่อพญานาค ได้ครบทุกอย่างแล้วก็นำไปรักษาพระพรตได้ทันตามกำหนด
                    เมื่อบรรลัยจักร แผลศรเหราพตไปมัดพระสัตุรุดได้ แล้วนำตัวไปให้ยักษ์ราหูรักษาไว้ นิลพัทกับหนุมาน สุครีพ และองคต ตามขึ้นไปแก้เอาพระสัตรุดคืนมาได้
                    ต่อมา นิลพัทร่วมกับอสุรผัด ฆ่าท้าวไวตาลได้ เมื่อท้าวจักรวรรดิ์ออกรบเอง นิลพัทก็เข้าหักรถท้าวจักรวรรดิ์
                    เมื่อเสร็จศึกมลิวัลแล้ว นิลพัทได้รับบำเหน็จความชอบเป็น พญาอภัยพัทวงศ์ ตำแหน่งอุปราชเมืองชมพู            ๑๕/ ๙๗๙๖
                ๒๙๔๐๖. นิลราช  เป็นชื่อเสนาวานร ในจำพวกสิบแปดมงกุฎ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นชาวชมพู ถือกำเนิดมาจากพระสมุทร เทวดาเจ้าทะเล เมื่อเสร็จศึกแล้วได้ตำแหน่งอุปราชเมืองอัศดงค์
                    เมื่อพระรามให้ท้าวมหาชมพูเกณฑ์พลไปสมทบ โดยให้นิลพัทเป็นผู้บัญชาการไป ได้จัดให้นิลราชกับนิลขัน คุมพลวานรไปห้าสมุทรไท เมื่อคราวหนุมานจองถนน นิลราชได้อาสาช่วยในการจองถนนด้วย คราวหนึ่ง นิลราชไปล้อหลอกฤาษีคาวิน ฤาษีจึงสาปว่า จะทิ้งสิ่งใดลงในน้ำ ให้สิ่งนั้นจมดิ่งอยู่กับที่ เมื่อใดพระรามจองถนนข้ามทะเล พวกวานรขนศิลามาให้นิลราชรับศิลา ทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจนถนนแล้ว จึงพ้นสาปรวมเวลาถึงพันปี             ๑๕/ ๙๘๐๐
                ๒๙๔๑. นิลเอก  เป็นชื่อเสนาวานร ในจำพวกสิบแปดมงกุฎ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นชาวชมพู ถือกำเนิดมาจากพระพินาย เทวกุมาร โอรสพระอิศวร เคยเป็นนายกองปีกขวาแห่งกองทัพพระอิศวร เมื่อปราบตรีบุรัม ต่อมาอวตารเป็นพญาวานรชื่อ นิลเอก            ๑๕/ ๙๘๐๐

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch