หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/71

    ๒๗๘๐. นวังคสัตถุศาสน์  เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ มีองค์เก้าคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม  และเวทัลละ
                        ๑. สุตตะ  ได้แก่  ระเบียบคำที่ยกข้อธรรมขึ้นแสดง แล้วบรรยายข้อธรรมนั้นๆ ให้ประจักษ์
                        ๒. เคยยะ  ได้แก่  ระเบียบคำที่เป็นไวยากรณ์ เป็นคาถาบ้าง ปนกัน จะกล่าวว่าเป็นคำร้อยแก้วบ้าง ร้อยกรองบ้างปนกันก็ได้
                        ๓. เวยยากรณะ  ได้แก่ ระเบียบคำที่เป็นร้อยแก้วล้วน ไม่มีคาถาปน
                        ๔. คาถา ได้แก่ ระเบียบคำที่ผูกขึ้นให้งาม และไพเราะด้วยอักขระอันประกอบด้วยลักษณะคำเป็นคณะ จำกัดด้วย ครุ ลหุ ทั้งที่เป็นวรรณพฤติ และมาตราพฤติ เป็นคาถาล้วน
                        ๕. อุทาน  ได้แก่ ระเบียบคำที่ทรงเปล่งออกเป็น ไวยากรณ์ ก็มี แต่ส่วนมากเป็นคาถา
                        ๖. อิติวุตตกะ  ได้แก่ ระเบียบคำที่ทรงยกธรรมบทใดบทหนึ่งขึ้น ตั้งเป็นประธานไว้แล้วตรัสอธิบายความในข้อธรรมนั้น ๆ สุดท้ายตรัสเป็นคำนิคม (คำสรุปท้าย) กำกับไว้อีก
                        ๗. ชาดก  ได้แก่ ระเบียบคำที่ทรงแสดงถึงบุรพจริยาคือ ความประพฤติที่เคยทรงทำมาแต่ปางก่อน รวมถึงบุรพจริยาของพระสาวกด้วย
                        ๘. อัพภูตธรรม  ได้แก่ ระเบียบคำอันแสดงถึงเหตุที่อัศจรรย์อันไม่เคยมี
                        ๙. เวทัลละ  ได้แก่ ระเบียบคำถามและคำตอบ ซึ่งผู้ถามและผู้ตอบให้ความรู้แจ้ง ซึ่งผู้ถามและผู้ตอบให้ความรู้แจ้ง และความยินดีเป็นลำดับขึ้นไป           ๑๕/ ๙๔๖๒
                ๒๗๘๑. น่อง - ยาง  เป็นไม้ขนาดใหญ่สูงถึง ๔๐ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม หรือรูปกระสวยกลาย ๆ ค่อนข้างแน่นทึบ ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวติดเวียนสลับตามกิ่ง ใยรูปขอบขนานหรือมน ดอกเพศตัวผู้ดอกเล็ก รวมกันเป็นก้อนกลม ออกตามง่ามใบ อาจเป็นช่อเดี่ยว ๆ  หรือเป็นกระจุก ๆ ละ ๑ - ๓ ช่อ ดอกเพศเมียออกตามง่ามใบเช่นกัน และมักอยู่สูงกว่าดอกเพศผู้ในกิ่งเดียวกัน รูปทรงรี ๆ แล้วจะเจริญกลายเป็นผลต่อไป
                เนื่องจากยางน่องมีสารบางอย่างที่เป็นพิษถึงกับทำให้เสียชีวิตได้ ชาวพื้นเมืองสมัยก่อนจึงนิยมไปชุปปลายลูกธนู หรือหอก ไว้ยิงสัตว์หรือศัตรู           ๑๕/ ๙๔๖๕
                ๒๗๘๒. นอต  เป็นหน่วยแสดงอัตราเร็ว หรือความเร็วของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามระบบการเดินเรือซึ่งเท่ากับหนึ่งไมล์ทะเล (๑.๘๕๒ กิโลเมตร ) ต่อชั่วโมง            ๑๕/ ๙๔๖๗
                ๒๗๘๓. น้อย ๑ - พระยา  เป็นชื่อของกษัตริย์แห่งเมืองพะโค (หงสาวดี) พระยาน้อย เมื่อปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว ได้รับเฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าราชาธิราช" มีเรื่องกล่าวอยู่ในหนังสือ "ราชาธิราช"  ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)            ๑๕/ ๙๔๖๗
                ๒๗๘๔. น้อย ๒ แม่น้ำ เป็นชื่อแม่น้ำแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปากแพรกในท้องที่ อ.เมือง ฯ จ.ชัยนาท แล้วไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวาในท้องที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยกว้าง ๘๐ เมตร ยาว ๑๔๕ กม. มีน้ำตลอดปี   ตัวแม่น้ำน้อยนี้ ตอนผ่านเขต อ.ผักไห่ บางทีก็เรียกว่าแม่น้ำแควผักไห่ และตอนผ่าน ต.เสนา อ.เสนา มาแล้ว บางทีก็เรียกว่าคลองสีกุก   

    มีคลองขนาดใหญ่มาเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาคือ         

    ๑.คลองโพธิประจักษ์ไปร่วมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี ยาว ๕ กม.

    ๒. คลองกระทุ่มโพรง ไหลผ่านบ้านกระทุ่มโพรงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ยาว ๕ กม.

    ๓.  คลองไชโย ไปร่วมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตลาดไชโย ต.ไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ยาว ๕ กม.

    ๔.  คลองศาลาแดง มาออกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่วัดสนามชัย ต.ตลาดหลวง อ.เมือง จ.อ่างทอง ยาว ๑๒ กม.

    ๕.  คอลงบางปลากด ออกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.บางปลากด อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ยาว ๑๐ กม.

    ๖.  คลองโผงเผง ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ยาว ๑๒ กม.        ๑๕/ ๙๔๗๑
                ๒๗๘๕. น้อยหน่า  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๒ - ๓ เมตร ใบบางยาวรี ประมาณ ๕ - ๑๕ ซม. กว้าง ๓ - ๖ ซม. ดอกมักออกเดี่ยว แต่อาจออกเป็นกระจุก ๑ - ๔ ดอก ก็ได้สีเหลืองแกมเขียว
                    ผลเกือบกลม โตเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ - ๑๐ ซม. สีเขียวด้าน ๆ ผิวนูนเป็นตา ๆ เวลาสุกจะน่วม เนื้อในผลหนา หยาบ สีขาวแกมเหลือง รสหวาน เมล็ดมีมาก สีดำ ฝังจมในเนื้อ            ๑๕/ ๙๔๗๒
                ๒๗๘๖. น้อยโหน่ง  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง สูง ๔ - ๖ เมตร ใบออกเรียงสองข้างกิ่ง สลับกัน รูปใบมนยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. กว้าง ๔ - ๗ ซม. ดอกสีเหลืองแกมเขียว มักออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ๑ - ๔ ดอก
                    ผลเกือบกลมโต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ - ๑๒ ซม. เปลือกบางแต่เหนียว ผิวเปลือกเรียบ สีเขียวจาง ๆ มีแดงเรื่อ ๆ ปน เนื้อในผลหนา สีขาว หยาบ รสหวาน เมล็ดมีมาก สีดำ ฝังจมในเนื้อ           ๑๕/ ๙๔๗๓
                ๒๗๘๗. นอร์ติก  เป็นชื่อของชนเผ่าหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะยาว ผมสีแดง ตาสีทอง และผิวขาว ส่วนใหญ่อยู่ในคาบสมุทรสแกนดิเนีเวีย และเขตใกล้เคียงของทวีปยุโรป ชนเผ่านี้ถือกันว่าเป็นพวกบริสุทธิ์ ได้แก่ ชาวสวีเดน ฟินแลนด์ ถัดมาชาวนอร์เว เดนมาร์ก ชาวอังกฤษ ในภาคเหนือของประเทศ และหมู่เกาะตะวันตก ของสกอตแลนด์            ๑๕/ ๙๔๗๓
                ๒๗๘๘. นอร์มัน  เป็นพวกนอร์ส ที่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสทรงมอบให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นนอร์มังดี ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในปี พ.ศ.๑๔๕๔ พวกนอร์สใช้ภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศส ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๗ ได้ยกกองทัพไปตีอังกฤษ และส่วนหนึ่งของเวลส์ และไอร์แลนด์ ดังปรากฎในปี พ.ศ.๑๖๐๙ พระเจ้าวิลเลียม วิชิตราชตีอังกฤษได้และสถาปนาราชวงศ์ปกครองประเทศนั้นสืบต่อมา พวกนอร์มันยังได้กระจายไปอยู่ในสกอตแลนด์ และตีได้ภาคใต้ของอิตาลี ซิซิลี และมอลตา นอกจากนี้ยังได้แสดงบทบาทเด่นพวกหนึ่งในสงครามครูเสด ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พวกนอร์มันที่ตั้งหลักแหล่งในประเทศใด ก็กลายเป็นพลเมืองของประเทศนั้น            ๑๕/ ๙๔๗๔
                ๒๗๘๙. นอร์สหรือนอร์สเมน  เป็นพวกไวกิง สังกัดชนเผ่านอร์ดิกในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย  ถิ่นเดิมของพวกนอร์สคือนอร์เว ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๗ ได้แล่นเรือไปปล้นสะดมหรือตั้งถิ่นฐานในอังกฤษ ไอร์แลน ฝรั่งเศสและไอซ์แลนด์ บางพวกได้อพยพไปอยู่ในรุสเซีย และกรีนแลนด์           ๑๕/ ๙๔๗๔
                ๒๗๙๐. นักขัตฤกษ์ มีบทนิยามว่า "งานรื่นเริงตามฤดูกาล" คำนี้หมายความว่าการเล่นรื่นเริง ที่ประชาชนในถิ่นนั้น ๆ กำหนดขึ้นในฤดูกาลนั้น ๆ ที่เหมาะแก่ถิ่นนั้น ๆ แล้วถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมาไม่ขาดสาย           ๑๕/ ๙๔๗๔
                ๒๗๙๑. นักคุ้ม  เป็นชื่อนายทหารคนหนึ่ง มีลักษณะเป็นคนซื่อตรง ใจกล้า รักษาวาจา มีชื่อปรากฎในหนังสือพงศาวดารเหนือ ของพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ว่า "นักคุ้ม คุมเกวียน ๕๐ เล่ม กับไพร่ ๑,๐๐๐ มาบรรทุกน้ำเสวยพระเจ้าพันธุมสุริยวงศ์"
                    ชื่อนักคุ้มนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ ได้ทรงนำมาใช้ในเรื่องพระร่วงหรือขอมดำดิน ให้เป็นข้าหลวงของพระเจ้าพันธุมสิริยวงศ์ไปทวงส่วยน้ำที่เมืองละโว้ ในราวปี พ.ศ.๑๗๘๐           ๑๕/๙๔๗๕
                ๒๗๙๒. นักธรรม  มีบทนิยามว่า "ผู้รู้ธรรม ผู้สอบความรู้ได้ตามหลักสูตรที่กำหนดสามชั้นคือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก" คำนักธรรมเดิมหมายถึงนักบวชทั่วไปซึ่งมีมาแต่ก่อนพุทธกาลที่รู้จักกันว่าฤษีชีไพร ฤาษีถ้าได้สำเร็จณานก็เรียกว่านักสิทธิวิทยาธร ที่เรียกกันว่าเพทยาธร ก็เป็นนักบวชทั้งนั้น           ๑๕/ ๙๔๗๖
                ๒๗๙๓. นักษัตร ๑  เป็นคำสันสกฤต แปลว่ากลุ่มดาวหรือดวงดาว แต่ในที่นี้นักษัตรเป็นคำเรียกเวลารายปี โดยมีกำหนด ๑๒ ปีเป็นหนึ่งรอบ แต่ละปีมีรูปสัตว์เป็นเครื่องหมายประจำเช่น นักษัตร หรือปีชวดมีหนูเป็นเครื่องหมาย เป็นต้น
                    ประเทศต่าง ๆ ในเอเซียหลายประเทศ มีวิธีนับปีหรือกำหนดปี โดยมีสัตว์เป็นเครื่องหมาย เครื่องหมายเหล่านี้มีสิบสองเหมือนกัน เป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน (หรือใกล้เคียงกัน) และมีลำดับก่อนหลังอย่างเดียวกัน ประเทศและชนชาติดังกล่าวได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา มอญ เวียดนาม จาม จีน ญี่ปุ่น และทิเบต
                    มีหลักฐานว่าไทยใช้ปีนักษัตรมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ ด้านที่ ๓,๔ มีกล่าวถึงปีมะโรง ปีกุน และปีมะแม
                    วิธีคำนวณว่า พ.ศ.ใด จะตรงกับปีนักษัตรใด ให้เอาปี พ.ศ.ตั้งหารด้วย ๑๒ แล้วเอาเศษมาเทียบดังนี้ เศษ ๑ ปีนั้นตรงกับปีมะเมีย เศษ ๒ ปีมะแม เศษ ๓ ปีวอก เศษ ๔ ปีระกา เศษ ๕ ปีจอ เศษ ๖ ปีกุน เศษ ๗ ปีชวด เศษ ๘ ปี ฉลู เศษ ๙ ปีขาล เศษ ๑๐ ปีเถาะ เศษ ๑๑ ปีมะโรง ลงตัวไปเหลือเศษปีมะเส็ง
                    คนโบราณใช้วิธียึดรอบ ๑๒ ปีนี้ออกไปโดยอาศัยรอบ ๑๐ ปี มาประกอบกับรอบ ๑๒  ปี จะทำให้การนับปีไม่ซ้ำกันจนครบรอบ ๖๐ ปี พงศาวดารไทยใช้วิธีนับรอบ ๑๒ ปี คู่กับ ๑๐ ปี อย่างนี้มานาน วิธีเรียกชื่อปีนักษัตร ตามแบบของไทยนั้น เอาปีนักษัตรขึ้นต้นแล้วตามด้วยเลข ๑ ถึง ๐ ซึ่งในกรณีของไทยนั้น ได้เอามาจากเลขสุดท้ายของปีจุลศักราช ชื่อเลขสุดท้ายของจุลศักราชที่ใช้ในการเรียกชื่อปีนั้น ใช้ศัพท์บาลี สันสกฤต ดังต่อไปนี้ เอกศก โทศก ตรีศก จัตวาศก เบญจศก ฉศก สัปตศก อัฐศก นพศก และสัมฤทธิศก           ๑๕/ ๙๔๗๗
                ๒๗๙๔. นักษัตร ๒  ได้แก่ กลุ่มดาวที่อยู่ตามเส้นทางโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งมีอยู่ ๒๗ กลุ่มด้วยกันอย่างหนึ่ง และตามวิชาโหราศาตร์ของอินเดีย ซึ่งหมายถึงระยะของจักรราศีในท้องฟ้าที่มีอยู่ ๒๗  ช่วงด้วยกัน เรียงตามลำดับจากตะวันออก แต่ละช่วงกว้าง ๑๓ องศา ๒๐ ลิบดา อีกอย่างหนึ่งตามความหมายหลังนี้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ต่าง ๆ จะโคจรผ่านระยะต่าง ๆ เหล่านี้ในอัตราความเร็วต่าง ๆ กันไป
                    รายขื่อกลุ่มดาวนักษัตรที่สมบูรณ์เท่าที่ทราบในปัจจุบันมีอยู่สามรายชื่อด้วยกันได้แก่ของอินเดีย ของอาหรับ และของจีน
                    ชาวอินเดียโบราณนั้นเห็นว่าดวงจันทร์โคจรไปจากกลุ่มดาวนี้ในคืนนี้และไปอยู่ในบริเวณของกลุ่มดาวกลุ่มต่อไปในวันรุ่งขึ้น จึงเกิดความคิดว่า กลุ่มดาวหรือนักษัตรแต่ละกลุ่ม ควรจะมีพื้นที่หรือขอบเขตขยายออกไปให้กว้างขวางกว่าเดิม จึงได้มีการแบ่งจักรราศีของท้องฟ้าออกเป็นส่วน ๆ แต่ละส่วนให้ชื่อเรียกว่า นักษัตรทั้งหมด มี ๒๗ ส่วนด้วยกัน เหตุที่มี ๒๗ ช่วงนั้น เพราะว่าดวงจันทร์โคจรรอบจักรราศีครบ ๓๖๐ องศา ในเวลา ๗ วัน นั้นประการหนึ่ง และเพราะว่าการแบ่งจักรราศีออกเป็น ๒๗ ส่วน ย่อมทำให้แต่ละส่วนมีระยะกว้างคิดเป็นมุมได้ลงตัวพอดี (คือ ๘๐๐ หรือ ๑๓ องศา ๒๐ ลิบดา) นั้นอีกอย่างหนึ่ง
                    ดวงจันทร์โคจรผ่านนักษัตรต่าง ๆ ทั้ง ๒๗ นักษัตร (๓๖๐ องศา ของจักรราศี) ในเวลา ๒๗ วัน ๗ ชั่วโมง ๔๓ นาที ๑๑.๕ วินาที เมื่อเป็นเช่นนี้ดวงจันทร์ในเวลาแต่ละปีจึงไม่เต็มดวง ในนักษัตรที่เป็นชื่อของเดือน แต่จะล้าหลังตามไม่ทันปีละ ๑๐.๗ องศา ซึ่งจะห่างเพิ่มขึ้นตามลำดับในแต่ละปี กว่าจะกลับมาครบรอบก็ต้องใช้เวลาถึง ๓๐ ปีเศษ           ๑๕/๙๔๙๕
                ๒๗๙๕. นั่งเกล้า  (ดูเจษฎาบดินทร์    ลำดับที่ ๑๕๑๓)           ๑๕/ ๙๔๙๕
                ๒๗๙๖. นันทบุเรง - พระเจ้า  มีพระนามเดิมว่ามังชัยสิงห์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง และดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชา ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๔ พระองค์ทรงตั้งมังกะยอชวา พระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราชา
                    ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ เมื่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพไปตีพม่า ณ กรุงหงสาวดี ครั้งที่สอง พระเจ้าตองอู ทูลเชิญพระเจ้านันทบุเรงหนีไปเมืองตองอู สมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพตามไปเมืองตองอู แต่ตีหักเอาเมืองไม่ได้ ครั้นเสบียงอาหารขาดแคลนจึงยกทัพกลับ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๓
                    ฝ่ายพระสังกะทัต (นัตจิงหม่อง) ราชบุบตรและรัชทายาทพระเจ้าตองอู เห็นว่าตราบใดที่พระเจ้านันทบุเรงประทับอยู่ ณ เมืองตองอู สมเด็จพระนเรศวร ฯ คงจะกลับมาตีเมืองตองอูอีก จึงหาทางกำจัดพระองค์โดยลอบวางยาปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรง ในปี พ.ศ.๒๑๔๓ ภายหลังจากที่ได้เสด็จไปอยู่เมืองตองอูได้แปดเดือน          ๑๕/ ๙๔๙๕
                    หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้านันทบุเรง เจ้านายพม่าที่เคยเป็นประเทศราชก็ได้เป็นอิสระรบชิงอำนาจกัน ในที่สุดเจ้าชายนะยองสาม ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้านันทบุเรง สามารถปราบคู่แข่งได้หมดแล้ว ทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พระเจ้าสีหสุธรรมราชา           ๑๕/ ๙๕๑๐
                ๒๗๙๗. นันทวัน  เป็นชื่อสวนสวรรค์ของพระอินทร์ในชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกในสวนนั้นมีสระโบกขรณีใหญ่ ชื่อ นันทาโบกขรณี สวนนันทวันเป็นสวนสวรรค์คู่บารมีของสุนันทาเทพธิดา ผู้เป็นมเหสีองค์ที่สามของพระอินทร์           ๑๕/ ๙๔๙๙
                ๒๗๙๘. นันทะ  เป็นชื่อราชวงศ์อินเดีย มีกษัตริย์สืบวงศ์เก้าองค์ครองราชย์ ณ กรุงปาฏลีบุตร (ปัตนะในปัจจุบัน) เป็นใหญ่อยู่ในชมพูทวีป เมื่อประมาณก่อน พ.ศ.๒๒๐
                    ประวัติของราชวงศ์นันทะเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์โมริยะอันเป็นราชวงศ์ยิ่งใหญ่ของราชาจันทรคุปต์ พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช
                    ความมีว่า มีผู้กล้าหาญคนหนึ่งชื่อมหานันทิน เป็นใหญ่อยู่ในขอบเขตกรุงปาฏลีบุตร มีลูกน้องคู่ใจชื่อมหาปัทมะมาจากตระกูลต่ำ แต่เป็นคนฉลาดและมีฝีมือ ต่อมาเกิดมีโจรมาปล้นทรัพย์เศรษฐีในกรุงปาฏลีบุตร มหาปัทมะได้แสดงความสามารถปราบโจรได้ ประชาชนพากันยกย่อง ในที่สุดก็ได้ประกาศยกตนขึ้นเป็นกษัตริย์เปลี่ยนนามใหม่ว่ามหาปัทมานันทะ ตั้งราชวงศ์นันทะขึ้นมาแต่ครั้งนั้น ได้ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง กษัตริย์มหาปัทมานันทะครองราชย์จนพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ทรงเห็นภัยในราชสมบัติอันเกิดจากความรังเกียจของพวกพราหมณ์ ที่เห็นว่าพระองค์มาจากตระกูลต่ำ และไปยกย่องนักพรตเชนซึ่งเป็นข้าศึกของพราหมณ์ จึงทรงสละราชสมบัติออกเป็นสันยาสีแสวงธรรม พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ได้ไม่นานก็ถูกชิงบัลลังก์ โดยน้ำมือของจันทรคุปต์ แล้วตั้งวงศ์โมริยาขึ้นใหม่          ๑๕/ ๙๕๐๐
                ๒๗๙๙. นันทา  เป็นชายาท้าวคนธรรม์นุราช เจ้าเมืองดิศศรีสินในเรื่องรามเกียรติ์มีโอรสชื่อท้าววิรุฬพัท           ๑๕/๙๕๐๓
                ๒๘๐๐. นันโทปุนันทสูตร  เป็นชื่อวรรณคดีเรียกเต็มว่า นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระราชนิพนธ์เล่มหนึ่งของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ฯ (กุ้ง) เป็นวรรณคดีเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เนื้อเรื่องเดิมอยู่ในคัมภีร์อรรถกกา แห่งเถรคาถา (ปรมัตถทีปนีของธรรมปาล) พระองค์แต่งจบเมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๙ ในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่ ณ วัดโคกแสง วิธีแต่งทรงเลียนแบบมหาชาติคำหลวง คำประพันธ์ที่ทรงใช้เป็นร่ายยาวโดยตลอด
                    เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า เช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันตสาวก จำนวน ๕๐๐ องค์ เสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยเหาะข้ามศรีษะพญานาคที่มีชื่อว่า นันโทปนันทนาคราช ทำให้พญานาคโกรธจึงเนรมิตกายให้มีขนาดใหญ่โตเข้าพันเขาพระสุเมรุปิดกันทางไปยังดาวดึงส์เสีย พระโมคคัลลานะอาสาต่อสู้กับพญานาคด้วยฤทธิ์จนในที่สุดพญานาคยอมแพ้แล้วพามาเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังคำสอนแล้วยอมตนเป็นสาวก และตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ตั้งแต่นั้นมา          ๑๕/ ๙๕๐๓
                ๒๘๐๑. นา  มีบทนิยามว่า "พื้นที่ราบทำเป็นคันสำหรับปลูกข้าว" โดยนัยนี้นาก็คือพื้นที่ราบมีคันดินกั้นไว้โดยรอบเป็นกระทง ๆ สำหรับขังน้ำไว้หล่อเลี้ยงต้นข้าว
                    แต่เดิมนา หมายถึง ที่ปลูกข้าวอย่างเดียว ในปัจจุบัน คำ "นา" ได้ขยายความหมายออกไปและใช้กันแพร่หลายว่า นากุ้ง นาผักกระเฉด และนาอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
                    นามีหลายอย่าง เช่น นาคู่โค นาดำ นาปรัง นาปี นาฟางลอย นาเมือง นาสวน นาหว่าน        ๑๕/ ๙๕๐๔
                ๒๘๐๒. นาก ๑ เป็นโลหะผสมสีทองปนแดง เกิดจากการเอาโลหะทอง เงิน และทองแดง มาผสมเข้าด้วยกัน ประโยชน์ของนากใช้ทำรูปพรรณเครื่องประดับต่าง ๆ             ๑๕/ ๙๕๐๖
                ๒๘๐๓. นาก ๒  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ชอบอยู่และหากินในน้ำ นากชอบอยู่ในโพรงดินตามริมฝั่ง นากรู้จักย้ายถิ่นไปหากินตามลำน้ำใกล้เคียง ส่วนมากชอบอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ระหว่างพ่อแม่และลูก ๆ
                    นากในประเทศไทยมีอยู่สี่ชนิดคือ นากเล็กเล็บแบน นากใหญ่ธรรมดา นากใหญ่ขนเรียบ และนากใหญ่ขนหนวด          ๑๕/ ๙๕๐๖
                ๒๘๐๔. นากลาง  อำเภอขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาประมาณร้อยละ ๔๐ นอกนั้นทำไร่
                    อ.นากลาง แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ขึ้น อ.หนองบัวลำภู ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒           ๑๕/ ๙๕๐๗
                ๒๘๐๕. นาแก  อำเภอ ขึ้น จ.นครพนม ภูมิประเทศลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นโคกหินแร่มีป่าและเขา เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.หนองสูง ขึ้นเมืองมุกดาหาร ครั้นยุบเมืองมุกดาหารเป็นอำเภอไปขึ้น จ.นครพนม จึงย้ายอำเภอนี้จาก ต.หนองสูง ไปตั้งที่ ต.นาแก แล้วเปลี่ยนชื่อตำบลตามที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ         ๑๕/ ๙๕๐๗
                ๒๘๐๖. นาค ๑  เป็นชื่อมนุษย์เผ่าหนึ่ง อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาชื่อเดียวกัน อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นอัสสัม
                    มนุษย์เผ่านาค มีอยู่หลายสาขา มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน มีจำนวนทั้งหมดไม่เกินหนึ่งล้านคน แผ่นดินที่ชนชาวเผ่านาคเข้าครอบครอง ได้รับการยกฐานะจากรัฐบาลอินเดีย ขึ้นเป็นรัฐที่ ๑๔ เรียกว่านาคาแลนด์ มีอำนาจปกครองตนเองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕          ๑๕/ ๙๕๐๘
                ๒๘๐๗. นาค ๒ - มหา  เป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ที่วัดภูเขาทอง และมีบทบาทในการช่วยทำนุบำรุงการป้องกันกรุงศรีอยุธยาให้แข็งแรงมั่นคงยิ่งกว่าแต่ก่อน
                    ในระหว่างที่กองทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๐๙๑ มหานาคได้ลาสิกขาออกมาช่วยราชการ โดยชักชวนญาติโยมและศิษย์ เป็นกำลังร่วมมือกันขุดคลองคูพระนครทางด้านเหนือเพื่อให้ไกลจากระยะปืนใหญ่ ที่ข้าศึกอาจใช้ยิงวังหลวง คนทั่วไปเรียกคลองนั้นว่า คลองมหานาค พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ขุดคลองเหนือวัดสระเกศ มีชื่อว่า คลองมหานาคเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา ได้เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ คน มาขุดคอลงคูพระนคร ด้านตะวันออกตั้งแต่บางลำพู มาออกแม่น้ำข้างใต้เหนือวัดสามปลื้ม ยาว ๘๕ เส้น  ๑๓ วา กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก พระราชทานชื่อว่า คลองรอบกรุง  (คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่าง) ด้านแม่น้ำตั้งแต่ปากคลองรอบกรุงข้างใต้ ไปถึงปากคลองข้างเหนือยาว ๙๑ เส้น ๑๖ วา รวมทางน้ำรอบพระนคร ๑๗๗ เส้น ๙ วา แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิมสองคลอง ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่      

    คลองมหานาคเป็นที่สำหรับชาวพระนคร ได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลง และสักรวาในฤดูน้ำ เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา      ๑๕/ ๙๕๑๐
                ๒๘๐๘. นาค ๓  เป็นสัตว์ในนิยาม บางท่านกล่าวว่า นาคเป็นตัวเดียวกับเงือก เพราะในภาษาไทยอาหมแปลคำเงือกว่า นาคน้ำ ภาษาไทยขาวแปลว่า งู ตามนิยายอยู่ตามห้วย ภาษาไทยปายีในประเทศจีนแปลว่ามังกร แต่ภาษาไทยภาคอีสานคำว่าเงือกเป็นบริวารของนาคซึ่งจำแลงแปลงตัวได้ต่าง ๆ เช่นเดียวกับนาคซึ่งเป็นใหญ่ ทางภาคพายัพถือว่าเงือกคือ งูหงอน           ๑๕/ ๙๕๑๒
                ๒๘๐๙. นาคทวีป  เป็นดินแดนตอนเหนือของประเทศศรีลังกา เคยเป็นราชธานีของพวกชนเผ่านาค ซึ่งเป็นชาวศรีลังกาดั้งเดิมมาก่อน ประเทศศรีลังกาดั้งเดิมเรียกกันโดยทั่วไปว่า เกาะลังกา ประชาชนชาวลังกาดั้งเดิมมีเผ่าสำคัญสองเผ่าคือ เผ่ายักษ์ เผ่าหนึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในที่สูงจึงมักอยู่ข้างตอนกลางของเกาะ มีราชธานีที่ผู้เป็นใหญ่ของพวกยักษ์ปกครองเรียกว่า ลังกาบุรี อีกพวกหนึ่งเรียกว่าพวกนาค นิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ต่ำ เรียกชื่อราชธานีว่านาคทวีป           ๑๕/๙๕๑๓
                ๒๘๑๐. นาคบาศ  เป็นชื่อศรของอินทรชิตในเรื่องรามเกียรติ์ และชื่อบ่วงของพาณาสูรราชาแห่งโสณิต ศรนาคบาศเป็นศรที่พระพรหมประทานให้อินทรชิต เมื่อยังเป็นท้าวรณพักตร์            ๑๕/ ๙๕๑๖
                ๒๘๑๑. นาคปรก  เป็นชื่อปางพระพุทธรูปางหนึ่ง เรียกว่า "ปางนาคปรก" พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอยู่เบื้องบนพระเศียรมีอยู่สองแบบคือ แบบหนึ่ง ประทับนั่งสมาธิบนขนดพญานาค แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิภายในขนดพญานาค
                    พระพุทธรูปปางนี้มีตำนานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธเจ็ดวันแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุติสุขยังร่มไม้จิก ชื่อว่ามุจลินท์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศอาคเนย์ของต้นมหาโพธิ์ที่ได้ตรัสรู้ บังเอิญในเวลานั้นเกิดมีฝนตกพรำตลอดเจ็ดวัน พญามุจลินท์นาคราชออกจากพิภพมาทำขนดล้อมพระวรกายเจ็ดชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกันฉัตรถวาย ครั้นฝนหายขาดแล้วจึงคลายขนดออกแล้วจำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนอัญชลีกราบนมัสการพระพุทธองค์ ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงเปล่งอุทานเป็นใจความว่า
                    "ความสงัดเป็นสุขของบุคคล ผู้มีธรรมอันสดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวง ตามความเป็นจริงอย่างไรความเป็นคนไม่เบียดเบียนคือ ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลก ความนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ คือความถือตัวคนให้หมดได้นี้เป็นสุขในโลก"
                    พระพุทธรูปปางนาคปรกนี้นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปที่สักการบูชาประจำวันของคนเกิดวันเสาร์        ๑๕/๙๕๑๖
                ๒๘๑๒. นาคปุระ  เป็นชื่อเมืองศูนย์กลางการปกครองของเขตนาคปุระ และสาขาอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์ ตอนกลางของประเทศอินเดีย เป็นนครโบราณที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนาค         ๑๕/ ๙๕๒๐
                ๒๘๑๓. นาคราช  เป็นชื่อที่ใช้เรียกเฟิน หลายชนิดซึ่งมีลักษณะลำต้นเลื้อยเป็นเถา เกาะติดตามต้นไม้ตามหิน ตามดิน ฯลฯ และมีเกล็ดรอบลำต้น ดูคล้ายเกล็ดงู           ๑๕/ ๙๕๒๑
                ๒๘๑๔. นาคเสน  เป็นชื่อพระเถระรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ปรากฎชื่อในประวัติศาสตร์อินเดีย ระหว่างปี พ.ศ.๔๕๐ - ๕๕๐
                    ในคัมภีร์มิลินทปัญญากล่าวว่า พระนาคเสนเกิดที่บ้านกชังคลคามเป็นบุตรพราหมณ์ เมื่อเรียนจบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์อิติหาสะและนิคัณฑุศาสตร์ และได้ศึกษาศิลปะสิบแปดประการมีความรู้ความชำนาญแต่ยังหนุ่ม เมื่ออายุ ๑๖ ปี ได้ช่วยบิดามารดาทำกิจการ ประพฤติตนเรียบร้อย มีอัธยาศัยใจคอกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเพื่อแผ่แก่คนทั่วไป เป็นที่รักใครของบิดา มารดาญาติมิตร เป็นผู้สติปัญญาเฉียบแหลมว่องไว พูดจาไพเราะชอบแสดงลัทธิของตน ต่อมาได้พบกับพระโรหนเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์ได้ถามปัญหาในเรื่องไตรเพทเวทางคศาสตร์ ท่านแก้ได้ไม่ติดขัด พระโรหนเถระถามปัญหาในพุทธมนต์ นาคเสนกุมารตอบไม่ได้จึงขอเรียน พระโรหนเถระว่าต้องบวชจึงจะสอนให้ได้ เมื่อบวชเป็นสามเณรพระโรหนเถระฝึกหัดเบื้องต้นให้ เมื่ออายุครบบวชเป็นพระภิกษุได้อุปสมบทในสำนักพระโรหนเถระ เมื่อได้เรียนรู้ในคันถธุระแล้ว ก็ได้ฝึกสอนในวิปัสนาภูมิต่อไป พระนาคเสนพยายามฝึกตนจนได้บรรลุอรหันต์แล้ว อาจาย์และอุปัชฌายะได้ส่งไปพบพระยามิลินท์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ชาติอินโด - กรีก (ดูเรื่อง มิสินท์ - ลำดับที่....) ยกเข้ารุกรานอินเดีย จะเอาอินเดียทั้งหมดไว้ในปกครอง แต่จะไม่ใช้วิธีรบ จะใช้วิธีทำลายลัทธิโปรดให้ประชุมนักปราชญ์ในที่ต่าง ๆเข้ามาถึงเมืองปาฏลีบุตร ไม่มีผู้ใดจะแก้ได้ ในที่สุดได้เสด็จมาพบพระนาคเสน ได้ปุจฉาวิสัชนากันในปัญหาพระพุทธธรรม ทรงพอพระทัยและเลื่อมใสในพระนาคเสน ยอมมอบพระองค์เป็นศิษย์ ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกคนสำคัญพระองค์หนึ่ง ทรงเป็นธรรมราชาทรงปกครองโดยธรรม ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้า
                    ในหนังสือชินกาลมาลินี ฉบับหอพระสมุดกล่าวว่า พระนาคเสนกับพระยามิสินท์เป็นผู้เริ่มสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่าแบบคันธารราฐ เป็นศิลปะอินเดียยุคแรก         ๑๕/ ๙๕๒๒
                ๒๘๑๕. นาคารชุน เป็นพระมหาเถรรูปหนึ่ง ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง หนึ่งในจำนวนสิบสี่รูป ในประวัติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นผู้ประกาศธรรมสายกลางตามชื่อของนิกายว่า มัธยามิกะ ซึ่งอยู่ในสายของปรัชญาสุญวาท (ดูคำสุญวาท - ลำดับที่... ประกอบ...)
                    พระนาครชุนเกิดในวรรณะพราหมณ์ ชาวเมืองวิทรรพ์, ในอินเดียตอนใต้ ตามตำราฝ่ายจีนเล่าว่า ตระกูลของท่านเป็นชาวอินเดียตะวันตก เกิดเมื่อราวปี พ.ศ.๗๐๐ ได้เล่าเรียนคัมภีร์พระเวทจนจบ ต่อมาได้ศึกษาวิชาพระพุทธศาสนากับท่านกษิมาลา ผู้เป็นศิษย์คนโปรดของท่านอัศวโฆษ ปฐมาจารย์ฝ่ายมหายาน บำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ต้นพญางูและได้นามว่า "นาคารชุม" เพราะนิมิตนี้ ท่านได้อุปสมบทในสำนักของอาจารย์ และมีชื่อเสียงมากในการโต้ปัญหาปรัชญา สุญวาทกับบรรดาพราหมณาจารย์ในอินเดียภาคใต้เป็นพระเถระองค์แรก ที่ประกาศทิฐิว่าด้วยอมิตาภพุทธเจ้า และเป็นปฐมาจารย์ผู้ตั้งทรรศนะมัธยามิกะ  (ดูมัธยามิกะ-ลำดับที่ ...ประกอบ)
                   พระนาคารชุนปฏิเสธคำสอนในศาสนาพราหมณ์อันเกี่ยวกับสุญตาข้างสุดโต่งทั้งสองข้าง เป็นฝ่ายประนีประนอมตามสายกลาง โดยแสดงทรรศนะว่า วิญญาณสูญหรือไม่สูญไม่ใช่ทั้งสองอย่าง วิญญาถาวรหรือไม่ถาวรไม่ใช้ทั้งสองอย่าง เมื่อความตายเกิดขึ้นและจะว่าวิญญาณดับ หรือไม่ดับก็ไม่ใช้ทั้งสองอย่าง ท่านอธิบายถึงความไร้แก่นสารของสิ่งทั้งหลาย แม้แต่อาตมันตามคติของพราหมณ์ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นนามหรือรูปจึงตกอยู่ที่สูญ (สุญตา) ทั้งหมด สุญตาจึงไม่ใช้ทั้งภาวะและอภาวะ
                    พระนาคารชุนรจนาคัมภีร์พุทธศาสนาไว้ไม่น้อยกว่าร้อยเล่มที่สำคัญ และมีชื่อเสียงมากได้แก่ อรรถกกาแห่งคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร และอรรถกกาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร (ดูสัทธรรมปุณฑริกสูตร-ลำดับที่... ประกอบ)
                    ประวัติเกี่ยวกับพระนาคารชุนในตอนหลังยกย่องเป็นทางอิทธิปาฏิหาริย์ถึงกับยกย่องว่าท่านเป็นมหาโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
                    ตำนานฝ่ายจีนกล่าวว่า ท่านมีศิษย์สำคัญองค์หนึ่งชื่อ อารยเทพ ศิษย์คนต่อมาชื่อพุทธปาลิต เป็นผู้สืบต่อปรัชญาของอาจารย์            ๑๕/ ๙๕๒๔
                ๒๘๑๖. นาคาวโลก  เป็นชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง เรียกว่า "ปางนาคาวโลก" อยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยยื่นมาข้างหน้า ประทับไว้ที่พระเพลาข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้างพระองค์ตามปรกติ เอี้ยวพระกายผินพักตร์เหลียวไปข้างหลัง เป็นกิริยาทอดพระเนตรนครไพศาลีผิดปรกติ ตามสามัญชอบพวกว่า "ดูสั่ง"
                    ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธองค์รับสั่งกับพระอานนท์ว่า การเห็นเมืองไพศาลีของพระองค์เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จไปประทับยังกูฎาคารศาลา ไปป่ามหาวันสถานที่เสด็จประทับยืนทอดพระเนตร พร้อมกับรับสั่งเป็นนิมิตรเช่นนั้น เป็นเจดียสถานอันสำคัญ เรียกว่า "นาคาวโลกเจดีย์"
                    คำว่า นาคาวโลก แปลว่าดูอย่างช้าง       ๑๕/ ๙๕๒๖
                ๒๘๑๗. นาคู่โค  (ดูคู่โค-ลำดับที่ ๑๑๐๗)           ๑๕/ ๙๕๓๐
                ๒๘๑๘. นางกวัก  เป็นไม้ล้มลุกต้นเตี้ย ใบงอกเป็นกระจุกรอบโคนแบบต้นบุกขอน ทั่วไปก้านใบหนา ตัวใบรูปไข่เกือบกลม ช่อดอกเป็นก้านชูขึ้นไป มีดอกที่ปลายดอกทำนองชีร่ม จำนวน ๒ - ๑๕ ดอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อนรูปไข่หรือเกือบกลม
                    ส่วนพรรณไม้ที่ทางกรุงเทพฯ เรียกว่า "ว่านนางกวัก"นั้น หาใช่ชนิดเดียวกับต้นนางกวักไม่          ๑๕/ ๙๕๓๐
                ๒๘๑๙. นางนพมาศ  เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง เชื่อกันว่าผู้แต่งคือ นางนพมาศ มีตำแหน่งเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ พระสนมเอกของพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย หนังสือเรื่องนี้สันนิฐานว่า เนื้อเรื่องบางตอนคงจะเป็นของเดิมที่แต่งมาแต่สมัยสุโขทัย เช่น ตอนที่กล่าวถึงพิธีพราหมณ์ต่าง ๆ และมีข้อความที่แสดงว่าเป็นสำนวนใหม่ ที่แต่งซ่อมแซมขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ความตอนที่กล่าวถึงชนชาติต่าง ๆ มีกล่าวถึงชนชาติฝรั่ง มะริกันและบางตอนกล่าวถึงปืนใหญ่ ซึ่งในสมัยสุโขทัยยังไม่มีใช้
                    เนื้อเรื่องมีความตอนต้นกล่าวถึงมนุษย์ชาติต่าง ๆ ต่อมาเป็นประวัติศาสตร์สมัยพระร่วง โดยสังเขป ประวัตินางนพมาศตั้งแต่ก่อนถวายตัว และความตอนท้ายกล่าวถึงพิธีพราหมณ์ต่าง ๆ ที่ทำในแต่ละเดือนเริ่มตั้งแต่พิธีจองเปรียง ซึ่งทำในเดือนสิบสองและไปจบลงในพิธีอาศยุธเดือนสิบเอ็ด          ๑๕/ ๙๕๓๒
                ๒๘๒๐. นางนวล - นก  แบ่งออกเป็นสองวงศ์ย่อย คือ พวกนกนางนวลใหญ่ และพวกนกนางนวลชนิดเล็กลงมา ซึ่งมักเรียกกันว่านกนางนวลแกลบ นกในวงศ์นี้มีกระจัดกระจายอยู่ในท้องทะเล และมหาสมุทรแทบทั่วไปทุกแห่งในโลก
                    นกนางนวลใหญ่มีในโลกนี้ ๔๓ ชนิด ในน่านน้ำไทยมีเพียงสองชนิด ส่วนนกนางนวลแกลบมีในโลกนี้ ๓๙ ชนิด มีในน่านน้ำไทย ๑๒ ชนิด           ๑๕/ ๙๕๓๒
                ๒๘๒๑. นางนูน  เป็นไม้เถาพบขึ้นปกคลุมต้นไม้ตามป่าชื้น และป่าดิบทั่วไป รากเป็นหัว และโคนเป็นเถามักมีเนื้อแข็ง ใบเป็นแบบธรรมดา รูปใบมักเปลี่ยนแปลงตามอายุของต้นไม้ ช่อดอกสั้นมีดอกหนึ่งถึงหลายดอก ปลายช่ออาจกลายเป็นมือยึดเกาะได้ ดอกแยกเพศอยู่ต่างดอกกัน ผลมีเปลือกหนาแข็ง เวลาแก่แตกออกเป็นสามซีก เมล็ดสีดำ ช่อดอกและผลอ่อนบริโภคได้           ๑๕/ ๙๕๓๗
                ๒๘๒๒. นางพระกำนัล คือกุลสตรีสาวที่ยังไม่ได้สมรส ถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทรับใช้ใกล้ชิด และมีหน้าที่ตามเสด็จ ฯ องค์พระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์ มีมาแต่โบราณกาล เป็นราชประเพณีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาล           ๑๕/ ๙๕๓๘
                ๒๘๒๓. นางไม้  เป็นเจ้าผีผู้หญิงที่สิงอยู่ตามต้นไม้ คตินี้ถือร่างต้นไม้ใหญ่ในป่าเป็นที่อยู่ของผีสางเทวดาที่เรียกกันว่ารุกขเทวดา หรือนางไม้  และว่าผีจำพวกนางไม้นั้นเป็นสาวสวยมาก ไว้ผมยาวปะบ่า ห่มผ้าสะฟักเฉวียงบ่า นุ่งผ้าจีบอย่างละคร        ๑๕/ ๙๕๓๙
                ๒๘๒๔. นางแย้ม  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑ - ๑.๕ เมตร กิ่งสี่เหลี่ยมมีปลูกตามบ้านทั่วไป ใบออกตรงข้ามกัน รูปไข่อย่างกว้างปลายใบแหลม โคนใบเว้าแบบหัวใจ ช่อดอกสั้นแน่น กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอนโคนเป็นหลอดสั้น ๆ สีขาวหรือสีชมพูเรื่อ ๆ กลิ่นหอม           ๑๕/ ๙๕๔๐
                ๒๘๒๕. นางรอง  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศทางตอนใต้เป็นที่ราบสูงมีป่า และเขามาก ตอนกลางและตอนเหนือเป็นที่ราบสูง มีห้วยลำธารหลายสาย
                    อ.นางรองเป็นเมืองเก่าสมัยขอม มีโบราณสถานสมัยนั้นปรากฏอยู่หลายแห่ง มีปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงธนบุรีว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ พระยานางรองเป็นกบฏไปคบคิดกับเจ้าอินเจ้าโอเมืองจำปาศักดิ์ถึงต้องยกทัพไปปราบ เป็นเหตุให้ได้เมืองจำปาศักดิ์มาเป็นของไทย และเกลี้ยกล่อมได้เขมรป่าดง เมืองตะลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ด้วย            ๑๕/ ๙๕๔๑
                ๒๘๒๖. นางรำ  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๕๐ - ๑๒๐ ซม. บางท้องถิ่นเรียกว่า ช้อยนางรำ ช้องนางรำ (กลาง) ว่านมีดพับ (ลำพูน) ฯลฯ
                    โดยที่ใบข้างของไม้ชนิดนี้เคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา จึงได้ชื่อดังกล่าว ใบเป็นแบบใบผสมมีสามใบ ช่อดอกสั้นออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง แตกแขนงยาว รูปดอกแบบดอกถั่วขนาดเล็ก กลีบดอกสีม่วงอ่อน เปลี่ยนเป็นสีส้มเวลาแก่ ฝักเล็ก ยาว ๑ - ๔ ซม.งอโค้ง           ๑๕/ ๙๕๔๒
                ๒๘๒๗. นางเล็ด  เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำเป็นแผ่นกลมโรยน้ำตาลจัดเป็นขนมแห้งมีรสหวานมันกรอบ           ๑๕/ ๙๕๔๒
                ๒๘๒๘. นางสนองพระโอษฐ์  เป็นสตรีอันมีศักดิ์ที่พระอัครมเหสี ทรงโปรดเกล้าให้มีหน้าที่รับพระราชเสาวนีย์ไปปฎิบัติ หรือเชิญพระราชเสาวนีย์ไปติดต่อข้อราชการตามพระราชประสงค์ แจ้งต่อข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้า เพราะตามราชประเพณีโบราณนั้น นางพระกำนัลจะติดต่อหรือแจ้งพระราชเสาวนียแก่ข้าราชการฝ่ายหน้านั้นไม่ได้

    นางสนองพระโอษฐ์นี้มีกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาท้าวนางผู้ใหญ่ที่โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง          ๑๕/ ๙๕๔๔
                ๒๘๒๙. นางสิบสอง  เป็นชื่อลูกสาวเศรษฐีและเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ารถสิทธิราช แห่งเมืองกุตารนคร ในเรื่องนิทานชาดกส่วนปัญญาสชาดก
                    เรื่องนางสิบสองนี้ในตำนานเมืองพระรถ มีนิทานพื้นบ้านคล้ายกับในนิทานชาดกนี้            ๑๕/ ๙๕๔๖


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch