หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/70

     ๒๗๔๒. นพพวง  เป็นวิธีฝึกหัดเลขโบราณอย่างหนึ่ง ก่อนจะไปเรียนโคศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีหารเลขของไทย ( ดู โคศัพท์ - ลำดับที่ ๑๒๑๑)            ๑๕/ ๙๓๖๒
                ๒๗๔๓. นพพัน  เป็นวิธีฝึกหัดเลขโบราณอย่างหนึ่ง ก่อนจะไปเรียนโคศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีหารเลขอย่างหนึ่งของไทย  (ดู โคศัพท์... ลำดับที่ ๑๒๑๑)           ๑๕/ ๙๓๖๒
                ๒๗๔๔. นพมาศ - นาง  เป็นชื่อสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระสนมของพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัย นางเป็นธิดาของพราหมณ์ มีตำแหน่งเป็นที่พระศรีมโหสถ ได้รับการศึกษาอบรมอย่างดีจากบิดา จนนับได้ว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดรู้ ปราชญ์ ทั้งคดีโลกและคดีธรรม
                นางได้เป็นพระสนม เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญ เดือนสิบสอง เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคม ลอยโคม นางนพมาศคิดทำโคมลอยตกแต่งให้งามกว่าของผู้อื่น เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระราชดำรัสว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า ถึงกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะพระพุทธบาท ที่นัมมนานที ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ลอยกระทงทรงประทีป           ๑๕/ ๙๓๖๐
                ๒๗๔๕. นพรัตน์  คือ แก้วเก้าอย่าง อันได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดาหาร เพทาย ไพฑูรย์  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งมีชื่อเรียกเต็มว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตน์ราชวราภรณ์ (ดู เครื่องราชอิสิรยาภรณ์ – ลำดับที่ ๑๑๒๘)           ๑๕/ ๙๓๖๔
                ๒๗๔๖. นม ๑  เป็นคำนำมาใช้ผสมกับคำอื่นแล้ว ใช้เรียกชื่อพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ สุดแต่ละท้องถิ่นในประเทศไทย แยกได้เป็นสองนัยด้วยกันคือ พันธุ์ไม้มีดอก หรือผล ลักษณะสัณฐานคล้ายเต้านมของมนุษย์ หรือสัตว์ อย่างหนึ่ง กับพันธุ์ไม้เถา ที่มีใบค่อนข้างใหญ่ เป็นมัน หรือไม่ก็ใบหนาค่อนข้างจะอวบน้ำ แล้วน้ำยางสีขาวคล้ายสีน้ำนม อีกอย่างหนึ่ง            ๑๕/ ๙๓๖๔
                ๒๗๔๗. นม ๒  อวัยวะของร่างกายอยู่บริเวณหน้าอก มีสองเต้า เรียกเต้านม เมื่อเข้าวัยหนุ่มสาวเด็กหนุ่มนมจะตีขึ้น เรียกว่า นมแตกพาน เด็กสาวเมื่อเริ่มมีประจำเดือน นมจะมีการเจริญเติบโตขึ้นจนเห็นได้ชัด เมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เต้านมจะมีขนาดเล็กลง           ๑๕/ ๙๓๖๔
                ๒๗๔๘. นมควาย  เป็นพันธุ์ไม้พุ่มรอเลื้อย เมื่อเลื้อยแล้วกลายเป็นไม้เถาใบใหญ่ ดอกออกเป็นช่อ ตามซอกใบ หรือตามกิ่งใกล้ ๆ ใบ รูปร่างดอกคล้ายนมสัตว์            ๑๕/ ๙๓๖๗
                ๒๗๔๙. นมชะนี  เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาใหญ่ เป็นพันธุ์ไม้จำพวกกระดังงาจีน และการะเวก  (ดู การะเวก - ลำดับที่... และกระดังงาจีน – ลำดับที่ ๗๘) เป็นไม้เถามีหนามแข็ง ใบเป็นมัน ดอกเวลาตูม มีรูปคล้ายเต้านมเล็ก ๆ            ๑๕/ ๙๓๖๗
                ๒๗๕๐. นมช้าง  เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาใหญ่ และอยู่ในสกุลเดียวกับนมควาย แต่ใบใหญ่กว่านมควายมาก ดอกค่อนข้างโต มองดูคล้ายเต้านมเต่ง ๆ ผลเป็นช่อเวลาสุก ดูคล้ายกล้วยหวีเล็ก ๆ บริโภคได้            ๑๕/ ๙๓๖๗
                ๒๗๕๑. นมตำเรีย  (ดู นมตำเลีย - ลำดับที่ ๒๗๕๑)           ๑๕/ ๙๓๖๘
                ๒๗๕๒. นมตำเลีย  เป็นไม้เถา ลำเถากลม ใบหนาอวบน้ำเกิดตรงกันข้าม มีน้ำยางสีขาว ดอกออกเป็นช่อ ตามซอกใบ ช่อคล้ายดอกผักชี           ๑๕/ ๙๓๖๘
                ๒๗๕๓. นมนาง - หอย  ใหญ่กว่าหอยนมสาว เปลือกเป็นมุกงามมาก นิยมทำทำเป็นเครื่องประดับ           ๑๕/ ๙๓๖๘
                ๒๗๕๔. นมพิจิตร  เป็นพันธุ์ไม้เถา เอามาปลูกเก็บผลบริโภคได้           ๑๕/ ๙๓๖๘
                ๒๗๕๕. นมแมว  เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง แตกกิ่งก้านมากจนทึบ ใบยาวรี ออกเฉลียงกัน ดอกออกเดี่ยว ๆ ใกล้ ๆ ช่อใบ หรือซอกใบสีน้ำตาลอ่อนเกือบนวล รูปคล้ายเต้านมเล็ก ๆ บานเวลาเย็นมีกลิ่นหอม            ๑๕/ ๙๓๖๘
                ๒๗๕๖. น.ม.ส.  เป็นนามปากกาของกวีเอก นักประพันธ์และปาฐก ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย คำว่า น.ม.ส.ย่อจากพระนามของพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ผู้เป็นต้นสกุล "รัชนี"  มีพระอิสริยศักดิ์เป็น พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๒๒ ในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ห้า ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙  สิ้นพระชนม์ปี พ.ศ.๒๔๘๘
                    น.ม.ส. โดยเสด็จรัชกาลที่ห้า ในการเสด็จประพาสยุโรป ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ และได้ศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อเสด็จกลับในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้มาช่วยราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตามเดิม ได้รับเลื่อนชั้นสูงขึ้นตามลำดับที่สำคัญคือ ปลัดกรมธนบัตร ต่อมาทรงเป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ทรงย้ายไปเป็นอธิบดีกรมตรวจและกรมสารบาญชี (ต่อมาเปลี่ยนเป็น กรมบัญชีกลาง)
                    ในรัชกาลที่หก ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าทรงกรม เป็นพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ศักดินา ๑๑,๐๐๐ พ.ศ.๒๔๕๘ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพาณิชยและสถิติพยากรณ์ ได้ทรงตั้งการสหกรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น รองเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ.๒๔๖๔
                    ในรัชกาลที่เจ็ด ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอุปนายกกรรมการ หอพระสมุด สำหรับพระนคร ต่อมาได้รวมเข้ากับกรมศิลปากร เปลี่ยนชื่อเป็น ราชบัณฑิตสภา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ทรงได้รับเลือกให้เป็น นายกสภาองคมนตรี รวมเวลารับราชการ ๔๐ ปี
                    พระนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายอันนับว่าเป็นผลงานดีเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของ น.ม.ส.คือ กวีวัจนะเรื่อง สามกรุง เป็นงานร้อยกรองที่รวมประเภทต่าง ๆ ของคำประพันธ์ร้อยกรองทุกชนิดเข้าไว้ในเล่มเดียวกัน นิพนธ์จบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗           ๑๕/ ๙๓๖๙
                ๒๗๕๗. นมสวรรค์  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑ - ๒ เมตร ใบใหญ่ ออกตรงข้ามกัน ช่อดอกออกทางยอด ตั้งตรงยาว ๑๕ - ๓๐ ซม. มีรูปทรงแบบสามเหลี่ยม แตกกิ่งแขนงโปร่งสีแดง ตัวดอกเป็นหลอดเรียงยาว ๑.๕ - ๒ ซม. ผลเล็กมีเนื้อหนาเล็กน้อย           ๑๕/ ๙๓๗๖
                ๒๗๕๘. นมสาว - หอย  มีรูปร่างม้วนเป็นวง ตอนปากใหญ่ปลายแหลม ขนาดเล็กกว่าหอยนมนาง เปลือกเป็นมุก ใช้ทำกระดุม           ๑๕/ ๙๓๗๗
                ๒๗๕๙. นฺยายะ  เป็นชื่อปรัชญาอินเดียสาขาหนึ่ง จัดอยู่ในปรัชญาสายพระเวท หกสำนัก
                    คำว่า นฺยายะ แปลว่า นำไปสู่ธรรม คือ ความแท้จริง หมายถึง วิธีการหาเหตุผล เพื่อพิสูจน์ความแท้จริง ชื่อและเนื้อหาของปรัชญานี้ มาจาก "นฺยายสูตร"  ของมหาฤาษีโคดม ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นผู้ก่อตั้งปรัชญานี้ขึ้น เมื่อราวต้นพุทธกาล หรือก่อนนั้นเล็กน้อย  ปรัชญานยายะ พัฒนามาพร้อม ๆ กับปรัชญาไวเศษิกะ พยายะพัฒนาไปทางญาณวิทยาและตรรกศาสตร์ ส่วนไวเศษิกะพัฒนาไปทางอภิปรัชญา และปรัชญาทั้งสองนี้ก็รับเอาทรรศนะของกันและกัน เมื่อกล่าวเฉพาะปรัชญาสำคัญของนยายะก็อาจบ่งออกเป็นสี่สาขาคือ ญาณวิทยา ตรรกศาสตร์ อภิปรัชญา และจริยศาสตร์         ๑๕/ ๙๓๗๗
                ๒๗๖๐. นรก  มีบทนิยามว่า "โลกเป็นที่ลงโทษผู้ทำบาปเมื่อตายไปแล้ว" ในพระพุทธศาสนาจัดเป็นอบายภูมิ ข้อที่หนึ่ง ในอบายภูมิสี่ (นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน) ลักษณะนามเรียกว่า ขุม นรกมี ๔๕๗ ขุม คือ มหานรก ๘ ขุม อุสสุทนรก ๑๒๘ ขุม ยมโลกนรก ๓๒๐ ขุม โลกันตนรก ๑ โลกันตนรกเป็สนนรกขุมพิเศษอยู่นอกจักรวาล อยู่ระหว่างกลางโลกจักรวาลสามโลก (โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ โลกนรก)  ๑๕/ ๙๓๘๖
                ๒๗๖๑. นรกาสูร  อสูร ชื่อ "นรก"  เป็นพญาอสูรที่ร้ายกาจตนหนึ่ง มีเรื่องปรากฎทั้งในมหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ ตลอดจน หริว ํศ           ๑๕/ ๙๓๘๙
                ๒๗๖๒. นรรมทา  เป็นชื่อแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของอินเดีย ถือกันว่าเป็นแม่น้ำที่แบ่งเขตแดนระหว่างอินเดียภาคเหนือ หรือฮินดูสตาน กับอินเดียภาคใต้ ตั้งแต่ที่ราบสูงเดคกันลงมา ต้นกำเนิดจากทิวเขาไมกลา ในมัธยมประเทศ แล้วไหลผ่านหุบผาระหว่างทิวเขาวินธัย กับทิวเขาสัตปุระ มุ่งไปทิศตะวันตกลงสู่อ่าวบอมเบย์ รวมความยาว ๑,๒๘๐ กม.
                    แม่น้ำนี้ได้รับความนับถือจากชาวฮินดู ว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อันดับสองรองจากแม่น้ำคงคา ในวรรณคดีบาลีแม่น้ำนัมมทา จัดอยู่ในประเภทกุนนที หรือแม่น้ำน้อย แต่มีความสำคัญเพราะบนพื้นทรายแห่งหนึ่ง ที่ท้องน้ำมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ มีกล่าวอ้างถึงในหนังสือเรื่องนางนพมาศ           ๑๕/ ๙๓๙๐
                ๒๗๖๓. นรสิงห์  เป็นบุรุษครึ่งคนครึ่งสิงห์ เป็นอวตารปางที่สี่ของพระนารายณ์ ในสมัยกฤดายุค ซึ่งเป็นยุคแรกในสี่ยุคของโลก เพื่อปราบพญาอสูรชื่อ หิรัญยกศิปุ            ๑๕/ ๙๓๙๓
                ๒๗๖๔. นรสิงหาวตาร  อวตารปางที่สี่ของพระนารายณ์  (ดู นรสิงห์ - ลำดับที่ ๒๗๖๐)           ๑๕/ ๙๓๙๔
                ๒๗๖๕. นราธิปประพันธ์พงศ์ - พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ  เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๖ ในรัชกาลที่ห้า และเจ้าจอมมารดาเขียน ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ ทรงมีพระนามว่า พระองค์เจ้าชายวรวรรณากร ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ ได้ทรงรับราชการสืบต่อมา จนได้ดำรงตำแหน่งรองเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ
                    ในรัชกาลที่หก พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็น กรมพระ ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐  พระองค์ทรงมีโอรส และธิดา รวม ๓๔ พระองค์  ทรงเป็นต้นสกุล "วรวรรณ" และสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ พระชนมายุ ๖๙ พรรษา ทรงเชี่ยวชาญในการประพันธ์หนังสือ บทความเรื่องสั้น และบทละครทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง รวมทั้งที่เป็นสารคดี และบรรเทิงคดี นอกจากนี้ยังทรงแปลและดัดแปลงหนังสือภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยอีกด้วย รวมทั้งสิ้นราวร้อยเรื่อง           ๑๕/ ๙๓๙๔
                ๒๗๖๖. นราธิปพงศ์ประพันธ์ - พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่น  ทรงเป็นบุคคลสำคัญของเมืองไทยและของโลก ทรงเป็นนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักการทูต และนักเขียน
                    พระองค์มีพระนามเดิม หม่อมเจ้า วรรณไวทยากร ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ เป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในรัชกาลที่สี่ ได้เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ในวิชาการทูต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการทูตที่วิทยาลัยรัฐศาสตร์ ณ กรุงปารีส เสด็จกลับมารับราชการ ณ กระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นองคมนตรี รับปรึกษาราชการในส่วนพระองค์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ
                    ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๓  พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ในเวลาเดียวกัน ทรงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ไปร่วมประชุมสมัชชาสันนิบาตชาติ ที่นครเจนีวา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ทรงกลับเข้ารับราชการ ในกระทรวงการต่างประเทศดังเดิม
                    พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า และในปี พ.ศ.๒๔๘๖ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร
                    หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงประสบผลสำเร็จในการเจรจาให้ประเทศไทย ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ทรงกลับเข้ารับราชการตามเดิม ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน และผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ
                    พ.ศ.๒๔๙๕  ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระองค์เป็น เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า "พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และในปีต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น พลตรี
                    พ.ศ.๒๔๙๕  ได้ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
                    พ.ศ.๒๔๙๙ - ๒๕๐๐ ทรงรับตำแหน่งเป็นประธานสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ
                    พ.ศ.๒๕๐๒ - ๒๕๑๐ ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพระองค์ทรงมีพระชนมายุเกือบ ๘๐ พรรษา พระองค์ก็ยังทรงรับใช้ประเทศชาติอยู่ตลอดมา พระองค์ทรงเป็นนายกราชบัณทิตยสถานคนแรก และได้เป็นต่อมาอีกหลายสมัย จนพระชนมายุได้ ๘๔ พรรษา และสิ้นพระชนมม์เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๑๙ พระชนมายุได้ ๘๕ พรรษา           ๑๕/    ๙๓๙๘
                ๒๗๖๗. นราธิวาส  จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ปัตตานี ทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้จดรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกจด จ.ยะลา ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีป่าและเขา
                    จังหวัดนี้เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอบางนรา ขึ้นเมืองสายบุรี แล้วโอนไปขึ้นเมืองระแงะ ครั้นปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้ย้ายศาลากลางเมืองระแงะ ไปตั้งที่ อ.บางนรา เรียกว่า เมืองบางนรา แล้วตั้งเมืองระแงะเป็นอำเภอ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเมืองนราเป็นนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘           ๑๕/   ๙๔๐๙
                ๒๗๖๘. นรินทร์ธิเบศร์ - นาย  เป็นบรรดาศักดิ์ของมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวร นายนรินทร์ธิเศร์ ผู้นี้มีนามเดิมว่า "อิน" อยู่ในรัชกาลที่สอง ได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพร นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ได้แต่งโคลงที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ "โคลงนิราศนรินทร์" แต่งขึ้นเมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่า ซึ่งยกมาตีเมืองถลางและเมืองชุมพร เมื่อต้นรัชกาลที่สอง           ๑๕/ ๙๔๑๐
                ๒๗๖๙. นริศรานุวัตติวงศ์ - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระยา  เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๒ ในรัชกาลที่สี่ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ภายหลังลาผนวชสามเณรในปี พ.ศ.๒๔๑๙ แล้วได้เข้ารับราชการเป็น "คะเด็ดมหาดเล็ก" หรือนักเรียนนายร้อยในกรมทหารมหาดเล็ก สำเร็จการศึกษาออกรับราชการเป็นนายทหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ต่อมาทรงเป็นเสนาบดีสี่กระทรวง ทรงเป็นนักการทหาร นักการโยธาและก่อสร้าง ผู้นำและวางรากฐานกิจการรถไฟของชาติ นักการคลัง และผู้นำทางวัฒนธรรมและระเบียบประเพณี อภิรัฐมนตรี ที่ปรึกษาสูงสุด อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบุรุษผู้ทรงพระปรีชาสามารถยอดเยี่ยม นักวิชาการหลายด้านทั้งอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ยอดศิลปิน ปรมาจารย์และจอมปราชญ์แห่งศิลปะหลายสาขา
                   พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการเป็นพระองค์แรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ทรงเลื่อนขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทรงริเริ่มสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ ฯ - นครราชสีมา พระองค์ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๓๗) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม (พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๓๙)  แล้วย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ทรงกลับมาเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมอย่างเดิม แล้วทรงย้าายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๘ จึงย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง (พ.ศ.๒๔๔๘ - ๒๔๕๓)
                    พ.ศ.๒๔๔๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระศักดินา ๕๐,๐๐๐
                    ในรัชกาลที่เจ็ด พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี และทรงดำรงตำแหน่งนี้ จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕
                    หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เสด็จไปประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ตอนปลายปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จ ฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ พระองค์ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นสมเด็จ ฯ พรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ พระชนมายุได้ ๘๓ พรรษา           ๑๕/ ๙๔๑๑
                ๒๗๗๐. นเรศวร - สมเด็จพระ  ทรงเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรี ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘ ณ เมืองพิษณุโลก
                    สงครามคราวขอช้างเผือกในปี พ.ศ.๒๑๐๖ ซึ่งเป็นสงครามกับพม่าครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์ ไทยต้องยอมรับเป็นไมตรีกับพม่า ครั้งนั้นพระเจ้าบุเรงนองได้ขอพระนเรศวรไปอยู่ ณ กรุงหงสาวดี เพื่อทรงเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม พระนเรศวรต้องประทับ ณ กรุงหงสาวดีเป็นเวลา ๖ ปี จึงได้กลับมาเมืองไทย ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครังแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระองค์มีพระชันษาได้ ๑๕ ปี
                    เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว พระเจ้าบุเรงนอง โปรดให้ทำพิธีปราบดาภิเษกพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แทนสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้นสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงประกาศอิสระภาพของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทรงครองราชย์ ต่อมาจนสวรรคตในปี  พ.ศ.๒๑๓๓ สมเด็จพระนเรศวร ฯ จึงได้ขึ้นครองราชย์ และได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช โดยทรงยกย่องให้มีเกียรติเสมอพระเจ้าแผ่นดิน
                    สมเด็จพระนเรศวร ฯ ต้องเผชิญสงครามกับพม่าหลายครั้ง แต่พม่าพ่ายแพ้ไปทุกครั้งคือในปลายปี พ.ศ.๒๑๒๗ ไทยรบชนะพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณบุรี
                    พ.ศ.๒๑๒๘ ไทยรบชนะพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ
                    พ.ศ.๒๑๒๙ พระเจ้านันทบุเรงยกกองทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่ต้องล่าถอยกลับไป ในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงดาบพระแสงดาบคาบค่าย นำทหารเข้าตีค่ายพระเจ้าหงสาวดี
                    พ.ศ.๒๑๓๓ พระมหาอุปราชาคุมทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงดักซุ่มตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป
                    พ.ศ.๒๑๓๕ พระเจ้านันทบุเรงให้พระมหาอุปราชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ที่บริเวณหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี พระองค์ได้จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์           ๑๕/ ๙๔๒๐
                    เพื่อเป็นอนุสรณ์ในชัยชนะครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวร ฯโปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง ณ ที่นั้น ปัจจุบันเรียกว่า อนุสรณ์ดอนเจดีย์ ณ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
                    ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ จะยกทัพไปตีพม่าเป็นการตอบแทนพร้อมกับขยายอาณาเขตของไทย พระองค์โปรดให้กลับตั้งหัวเมืองเหนือขึ้นดังเดิม และปราบเสี้ยนหนามศัตรูให้ราบคาบ ทรงเห็นว่าเขมรเป็นศัตรูที่ลอบยกกองทัพมาเบียดเบียนบุกรุกหัวเมืองไทยหลายครั้ง ในขณะที่ไทยต้องทำศึกสงครามด้านอื่น ๆ พระองค์จึงยกทัพไปตีเมืองละแวกราชธานีเขมรในเวลานั้น เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองมั่นคงแล้ว สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกทัพไปตีพม่าสองครั้งคือ
                    ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๑๓๘ พระองค์ทรงยกทัพไปตีกรุงหงสาวดี ตั้งล้อมอยู่สามเดือนแต่ตีไม่ได้ ต้องเลิกทัพกลับ
                    ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ ในเวลานั้นพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อ ซึ่งเป็นราชบุบตรพระเจ้าบุเรงนอง ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ ฝ่ายเมืองยะไข่และเมืองตองอูตกลงกันที่จะสกัดกั้นกองทัพสมเด็จพระนเรศวร ฯ มิให้ยกไปยังกรุงหงสาวดี พระเจ้าตองอูถือโอกาสเก็บทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คน พร้อมทูลเชิญพระเจ้านันทบุเรงหนีไปเมืองตองอู ส่วนพวกยะไข่ ภายหลังที่ค้นคว้าสมบัติที่เหลืออยู่และเผาปราสาทราชวัง วัดวาอารามไฟไหม้ไปทั่วเมือง แล้วหลบหนีไปก่อนที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ จะเสด็จยกทัพไปถึงกรุงหงสาวดีแปดวัน สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงขัดเคืองจึงนำทัพติดตามไปยังเมืองตองอู ซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทาง ๒๔๐ กม. มีภูเขาเป็นเขตคั่นมั่นคง กองทัพไทยได้ล้อมเมืองตองอู แล้วขุดเหมืองไขน้ำในคูเมืองให้ไหลออกลงสู่แม่น้ำสะโตง ซึ่งชาวเมืองเรียกว่า "เหมืองอโยธยา" หรือ "เหมืองสยาม" แต่ก็ตีหักเอาเมืองไม่ได้ ครั้นเสบียงอาหารขาดแคลนจึงต้องเลิกทัพกลับไปเมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๓
                    ในตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงคุมทัพกลับจากเมืองตองอูมาทางเมืองเมาะตะมะ ทรงตั้งพระยาทะละเป็นเจ้าเมืองนี้ให้ปกครองหัวเมืองมอญทั้งปวง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้แบ่งกองทัพยกมาทางเมืองเชียงใหม่ เพื่อระงับเหตุวิวาทระหว่างเจ้าเมืองเชียง
    ใหม่กับพระยารามเดโช ข้าหลวงไทยที่เมืองเชียงแสน ในระหว่างนั้นบรรดาเจ้าเมืองไทยใหญ่เช่น เมืองนาย เมืองแสนหวี มาสวามิภักดิ์ขึ้นอยู่แก่ไทย
                    ในปี พ.ศ.๒๑๔๖ พระเจ้าอังวะ ฟื้นตัวได้ทำพิธีราชาภิเษกทรงพระนามว่า พระเจ้าสีหสุธรรมราชา แล้วแผ่อำนาจออกไปทางแคว้นไทยใหญ่จนถึงเมืองนายและจะตีเมืองแสนหวี สมเด็จพระนเรศวร ฯ จึงยกทัพไปตีเมืองอังวะทางเมืองเชียงใหม่ และทรงให้พระเอกาทศรถยกทัพขึ้นไปทางเมืองฝาง ครั้นพระองค์ยกทัพไปถึงเมืองหางก็ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา
                    สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงแผ่พระเดชานุภาพไปในแหลมอินโดจีน สามารถปราบข้าศึกได้ทุกสารทิศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้น ที่ยกกองทัพไปตีพม่า           ๑๕/ ๙๔๒๐
                ๒๗๗๑. นโรดม  เป็นพระนามของกษัตริย์เขมร มีทั้งสิ้นสามองค์คือ นโรดม นโรดม สุรามริต และนโรดม สีหนุ
                    นโรดม  (พ.ศ.๒๓๗๘ - ๒๔๔๗)  เป็นพระโอรสของนักองค์ด้วง ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๔๐๒ พระองค์ต้องลี้ภัยมาอยู่ประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๔๐๔ เนื่องจากนักองค์ ศรีวัตถา พระอนุชา ก่อการจลาจลและได้กลับไปครองเขมรใหม่ ปี พ.ศ.๒๔๐๕ โดยการช่วยเหลือของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสในเขมร
                    ระหว่างนั้น เขมรยังเป็นประเทศราชของไทย แต่ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองอินโดจีนได้แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๕ มีนโยบายที่จะยึดครองเขมร เพื่อเป็นบันไดก้าวไปสู่การยึดครองลาว และหาทางไต่เต้าไปตามลำแม่น้ำโขง เพื่อแข่งขันกับอังกฤษชิงตลาดการค้าในยูนนานของจีน ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๐๖ ฝรั่งเศสจึงได้ใช้กำลังบังคับให้เจ้านโรดม ลงนามในสนธิสัญญามอบเขมร ให้เป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส โดยที่ประเทศไทยไม่มีส่วนรู้เห็น เจ้านโรดมตกลงที่จะเดินทางมาประกอบพิธีบรมราชาภิเษก ที่ประเทศไทยตามประเพณี แต่โบราณแต่ฝรั่งเศสพยายามขัดขวาง โดยส่งทหารเข้ายึดพระราชวังที่เมืองอุดรมีชัยไว้ แล้วฉวยโอกาสสวมมงกุฎให้เจ้านโรดม ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๐๗ แม้ทางไทยจะประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศส ในเรื่องนี้ก็ตาม ในที่สุดไทยจำต้องลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ รับรองว่าเขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีน บังคับให้เจ้านโรดมลงพระนามสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ให้เขมรเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดจลาจลต่อต้านฝรั่งเศสในปีต่อมา การเคลื่อนไหวนี้ดำเนินไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ผู้แทนฝรั่งเศสในเมืองพนมเปญ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาเสนาบดีเขมร เป็นการริดรอนอำนาจและอิทธิพล ของพระเจ้านโรดม และพระองค์ได้สวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๔๗
                    นโรดม สุรามริต  เป็นพระราชบิดาของเจ้านโรดม สีหนุ ขึ้นครองเขมรแทนเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งเป็นโอรส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ทรงครองเขมรอยู่จนสวรรคตในปี พ.ศ.๒๕๐๓
                    นโรดม สีหนุ  (พ.ศ.๒๔๖๕ - )  หลังจากพระเจ้านโรดมองค์แรกสวรรคต ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ แล้ว เจ้าชายศรีสวัสดิ์ พระอนุชาต่างมารดาของพระองค์แรกสวรรคต ทรงพระนามว่า กษัตริย์โสวาส จนถึง พ.ศ.๒๔๗๐ จากนั้น เจ้าชายมณีวงศ์ ซึ่งเป็นพระโอรสได้ขึ้นครองเขมรสืบต่อมา จนสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ผู้เป็นกษัตริย์ต่อมาคือ นโรดม สีหนุ
                    พระเจ้านโรดม สีหนุ ทรงพระราชสมภพที่เมืองพนมเปญ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้านโรดมองค์แรก พระราชบิดาคือ เจ้านโรดม สุรามริต
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๘  เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นจึงล้มอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส ในอินโดจีนโดยสิ้นเชิง พระเจ้านโรดม สีหนุ จึงฉวยโอกาสนี้ ปลดแอกฝรั่งเศสและประกาศเขมร เป็นเอกราชระหว่างนั้น นักการเมืองเขมรแตกแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีพระเจ้านโรดม สีหนุ ทรงเป็นผู้ดำเนินนโบายร่วมมือกับฝรั่งเศสต่อไปก่อน อีกกลุ่มหนึ่งคือ ขบวนการเขมรอิสระมี ซันง๊อก ทันห์ เป็นผู้นำ มีนโยบายเป็นปฎิปักษ์ กับฝรั่งเศสและต่อต้านการกลับมา มีอำนาจของฝรั่งเศสในเขมร
                    ครั้นฝรั่งเศสกลับมามีอำนาจใหม่ในเขมรภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสก็บังคับให้พระเจ้านโรดม สีหนุ ลงพระนามในสนธิสัญญารอมชอมกับตน ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ยอมรับว่าเขมรเป็นเพียงรัฐอิสระ ในสหภาพฝรั่งเศส พระเจ้านโรดม สีหนุ จึงถูกเขมรอิสระโจมตีว่าเป็นเครื่องมือของฝรั่งเศส และในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ กองทหารเขมรอิสระได้ปะทะกับทหารฝรั่งเศส ใกล้เมืองเสียมราฐ ฝรั่งเศสจึงกล่าวหาว่าไทยให้การสนับสนุน และใช้เป็นข้อบังคับไทยให้คืนเสียมราฐและพระตะบอง ให้ฝรั่งเศสไปในปลายปีนั้น พวกผู้นำเขมรอิสระจึงหนีเข้ากรุงเทพ ฯ และประกาศตั้งรัฐบาลเขมรอิสระขึ้นที่กรุงเทพ ฯ
                    ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ พระเจ้านโรดม สีหนุ ประกาศยุบสภาแล้วเสด็จมาอยู่ประเทศไทย และทรงเรียกร้องของความเห็นใจจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเอกราชของเขมร ในที่สุด ๑๔ ประเทศ ที่เกี่ยวข้องเสนอให้เปิดการประชุมที่นครเจนีวา ที่ประชุมได้ลงมติให้ฝรั่งเศส มอบเอกราชโดยสมบูรณ์ให้แก่เขมร เวียดนาม และลาว พระเจ้านโรดม สีหนุ ทรงถือว่าพระองค์เป็นผู้ให้กำเนิดเอกราชแก่เขมร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
                    ต่อมาได้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้พระองค์ต้องสละราชบัลลังก์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ เจ้านโรดม สุรามริต ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรแทน เจ้านโรดม สีหนุ ตั้งพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นนายกรัฐมนตรี รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
                    เมื่อพระเจ้านโรดม สุรามริต สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ เจ้านโรดม สีหนุ ได้กลับมาเป็นประมุขแห่งรัฐอีก และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย แล้วเริ่มเรียกร้องความเป็นกลางให้นานาชาติรับรอง เขตแดนเขมรซึ่งนำไปสู่การพิจารณาตัดสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ถึงสองครั้งจนในที่สุดไทยต้องเสียเขาพระวิหารให้แก่เขมร ตามคำตัดสินของศาลโลก ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เจ้านโรดม สีหนุ หันไปผูกไมตรีกับจีน  และตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐ ในปี พ.ศ.๒๕๐๘
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๓ รัฐสภาเขมรได้ปลดกพระองค์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง นายเชงเอง ประธานรัฐสภา เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งประมุขของรัฐ และแต่งตั้ง นายพลลอนนอล เป็นนายกรัฐมนตรี เจ้านโรดม สีหนุ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศจีน ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มคอมมิวนิสต์อีก ๑๘ ประเทศ รับรองต่อจากจีน และประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลลอนนอล เขมรได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐเขมร ลอนนอลได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ในปี พ.ศ.๒๕๑๕
                    กองทัพเขมรแดงยึดอำนาจการปกครองเขมรได้ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เจ้านโรดมได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขของรัฐตลอดชีพ แต่อำนาจแท้จริงคือ นายเขียว สัมพันธ หัวหน้าเขมรแดง ทำให้เจ้านโรดม สีหนุ ต้องลาออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ ในปี พ.ศ.๒๕๑๙            ๑๕/ ๙๔๓๑
                ๒๗๗๒. นล ๑  เป็นกษัตริย์องค์หนึ่งแห่งนิษัธ มีเรื่องใน นโลปาขยานัม อันเป็นเรื่องแรกในกาพย์มหาภารตะ เรื่องนี้เป็นนิทานสอนใจให้กล้าหาญไม่ย่อท้อสิ้นหวัง จนสามารถกอบกู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เสียไปให้กลับคืนมาได้ทั้งหมด เป็นเรื่องราวที่ฤาษีพฤหทัศวะ เล่าให้กษัตริย์ปาณฑพและนางเทราปทีฟังเป็นตัวอย่าง ในคราวที่กษัตริย์ปาณฑพเสียบ้านเสียเมือง ให้แก่ทุรโยชน์ และถูกเนรเทศถึง ๑๓ ปี            ๑๕/ ๙๔๓๙
                ๒๗๗๓. นล ๒  เป็นพญาลิง ทหารเอกผู้หนึ่งของพระราม ในรามายณะมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็นพระราม เพื่อปราบพญายักษ์ชื่อ ราวณะ (ทศกัณฐ์) เทพต่าง ๆ ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ก็ให้โอรสของตน มาช่วยพระรามทำศึก
                    นล เป็นโอรสของพระวิศวกรรมเทพศิลปิน ได้เป็นกำลังช่วยเหลือพระราม ในการสร้างถนนจากแผ่นดินใหญ่ ทอดไปถึงเกาะลงกา ถนนนั้นได้ชื่อว่า รามเสตุ  (ถนนพระราม) นลได้ชื่อว่า มีฤทธิ์มาก           ๑๕/ ๙๔๔๓
                ๒๗๗๔. นวด  เป็นวิธีรักษาโรคอย่างหนึ่ง ในแขนงวิชากายภาพบำบัด หมดนวดที่ดีจะต้องทราบและเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในเรื่องกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิสภาพ ตลอดจนการดำเนินของโรค
                    สำหรับการนวดแผนโบราณของไทยนั้น รู้จักกันทั่วไปว่า "จับเส้น" เพื่อให้เลือดลมเดินได้สะดวก ซึ่งตรงกับการแพทย์แผนปัจจุบัน   วิธีการนวดได้รับการศึกาค้นคว้าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการนวดอีกหลายชนิดนอกจากใช้มือนวดแล้วยังใช้สิ่งอืนสำหรับนวด คือการใช้แสง ความร้อน คลื่อนไฟฟ้า และเครื่องมือนวด ฯลฯ     ๑๕/ ๙๔๔๓
                ๒๗๗๕. นวนิยาย  หมายถึง เรื่องที่ผู้เขียนแต่งขึ้นเพื่ออ่านให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน รูปแบบของนวนิยายสมัยนี้ได้มาจากประเทศฝ่ายตะวันตก เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ แต่เดิมมามีเพียงนิทานที่ได้มาจากที่ต่าง ๆ เช่น นิทานชาดก นิทานอิงพงศาวดารจีน มอญ และนิทานพื้นเมือง พื้นบ้าน ที่มีรูปแบบเหมือนฟังการเล่านิทาน

    เรื่องที่นำมาเขียนเป็นนวนิยาย แบ่งเป็นที่มาได้ดังนี้

    ·         นวนิยายที่มีความจริงเป็นมูลฐาน

    ·         นวนิยายที่ใช้โครงเรื่องเลียนแบบนิทานพื้นเมือง

    ·         นวนิยายที่ใช้โครงเรื่องอิงวิชาการด้านต่าง ๆ

    ·  นวนิยายที่ประดิษฐ์โครงเรื่องขึ้นใหม่จากจินตนาการ ประสบการณ์ แล้วนำมาปรุงแต่งขึ้นใหม่          ๑๕/ ๙๔๕๐
                ๒๗๗๖. นวรัตนกวี  หมายถึง นักปราชญ์เก้าคนในราชสำนักของท้าววิกรมาทิตย์ จักรพรรดิ์องค์หนึ่งของอินเดีย สมัยโบราณผู้ครองราชย์ ณ กรุงอุชเชนี
                    ในจำนวนนักปราชญ์เก้าคนนี้ ถ้าจะนับที่เป็นกวีจริง ๆ ก็น่าจะมีเพียงสองคนคือ กาลิทาส และฆฎกรรบร นอกจากนั้นเป็นนักแต่งตำรา เช่น นักไวยากรณ์ นักดาราศาสตร์ ฯลฯ แต่ละคนล้วนอยู่ต่างยุคต่างสมัยกันแทบทั้งสิ้น           ๑๕/ ๙๔๕๒
                ๒๗๗๗. นวลจันทร - ปลา  เป็นปลามีเกล็ด ในวงศ์ปลาตะเพียน อยู่ในน้ำจืดเป็นปลาขนาดกลาง มีอยู่ด้วยกันสามสกุล            ๑๕/ ๙๔๕๖
                ๒๗๗๘. นวโลหะ  คือ โลหะเก้าชนิดหลอมให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว มีบทนิยามว่า "โลหะเก้าชนิดคือ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน ทองคำ เพียงนี้เรียกว่า  เบญจโลหะ ถ้าเติมอีกสองชนิดคือ เจ้า (เจ้าน้ำเงินว่าเป็นแร่ชนิดหนึ่ง) และสังกะสี เรียกว่า สัตตโลหะ ถ้าเติมอีกสองชนิดคือ ชิน บริสุทธิ (ทองแดงบริสุทธิ) เรียกว่า นวโลหะ"           ๑๕/ ๙๔๕๗
                ๒๗๗๙. นวอรหาธิคุณ, นวารหาธิคุณ  คำว่า นวอรหาธิคุณ แปลว่า พระคุณของพระพุทธเจ้าเก้าประการ มีบทว่า "อรหํ" เป็นต้น คำว่า นวารหาธิคุณ แปลว่า พระคุณอันยิ่งของพระอรหันต์เก้าบท
                    พระพุทธคุณเก้าบทนั้น มีโดยย่อดังนี้
                        ๑. อรห ํ  เป็นผู้ไกลจากข้าศึกคือ กิเลส คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม
                        ๒. สมฺมาสมฺ พุทฺโธ  เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
                        ๓. วิชฺชา จรณสมฺปนฺโน  เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ
                        ๔. สุคโต  เป็นผู้เสด็จไปดูแล้ว
                        ๕. โลก วิทู  เป็นผู้รู้แจ้งโลก
                        ๖. อนุตฺตโร ปุริสทมมสารถิ เป็นสารถีแห่งบุรุษ พึงฝึกได้ไม่มีบุรุษอื่นยิ่งไปกว่า
                        ๗. สตฺถา เทวมนุสฺสาน ํ  เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
                        ๘. พุทฺโธ  เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว
                        ๙. ภควา  เป็นผู้มีโชค              ๑๕/ ๙๔๕๙


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch