หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/64
    ๒๖๒๓. เทวนาครี เป็นชื่ออักษรที่ใช้สำหรับเขียนภาษาสันสกฤต และภาษาอินเดียบางภาษาเช่น ฮินดี บางทีเรียกว่านาครี
                       คำว่านาครี เป็นคำคุณศัพท์มาจากคำนามว่า นคร (หรือนครี) "เมือง" นาครีจึงแปลว่า "เกิดในเมืองเกี่ยวกับเมือง"
                       คำว่าเทวนาครี อาจวิเคราะห์ความหมายได้สองทางคือ "อักษรที่เกิดในเมืองเทวดา อีกษรที่ใช้ในเมืองเทวดา" อีกทางหนึ่งอาจแปลได้ว่า "อักษรแห่งทวยเทพ"
                       อักษรเทวนาครี เป็นอักษรที่วิวัฒนาการจากอักษรพราหมีฝ่ายเหนือ ปรากฎในจารึกเก่าแก่ที่สุดที่ใช้อักษรชนิดนี้ล้วน ๆ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และต้นฉบับตัวเขียนเก่าแก่ที่สุด มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗
                       ตัวเลขที่ใช้ในระบบอักษรเทวนาครี เป็นต้นเค้าของเลขอารบิก ซึ่งพ่อค้าอาหรับได้ถ่ายทอดจากอินเดียไปสู่ยุโรป จนเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วโลก หลักการเขียนตัวเลขระบบเทวนาครีนี้ เหมือนกับหลักของเลขอารบิกฐานสิบ        ๑๔/ ๘๘๐๑
                ๒๖๒๔. เทวยานี  เป็นชื่อธิดาของพระศุกร์ ผู้เป็นครูของอสูรทั้งปวง นางมีประวัติเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ แห่งจันทรวงศ์ อย่างพิสดาร
                        ในกาลต่อมา นางเทวยานีได้ออกบวช กระทำความเพียรตามภักติมารค มุ่งเฉพาะพระวิษณุ ก็ได้บรรลุความหลุดพ้นในที่สุด         ๑๔/ ๘๘๐๓
                ๒๖๒๕. เทวรูป  คือ รูปของเทวะ หรือ เทพ ที่สร้างขึ้นด้วยการแกะสลัก ปั้นหรือหล่อ ใช้เป็นเครื่องหมายที่ระลึก หรือเป็นตัวแทนของเทพ เพื่อเป็นที่สักการบูชา หรือเซ่นสรวง เทวรูปขนาดเล็ก อาจใช้เป็นเครื่องรางคุ้มกันอันตราย หรือใช้เป็นเครื่องประดับกาย ส่วนขนาดใหญ่ใช้ตั้งบูชาในบ้านเรือนและโบสถ์วิหาร การสร้างหรือประดิษฐ์เทวรูป มีความเป็นมาแสดงวิวัฒนาการ ตามลำดับรวมสี่ขั้นด้วยกันคือ
                         ขั้นที่หนึ่ง  เป็นรูปสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายแทนเทพ เป็นระยะเริ่มแรกที่สุดที่มนุษย์คิดสร้าง สิ่งที่ใช้แทนเทพที่ตนเกรงกลัว และเคารพนับถือ โดยทำเป็นเครื่องหมายง่าย ๆ เช่น ชาวอียิปต์ เมื่อ ๗,๐๐๐ ปี มาแล้ว สมมติเอาเสาหินรูปร่างแปลก ๆ แทนเทพโอสิริส
                         ขั้นที่สอง  สร้างเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่ามีอำนาจ หรือมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมัน จึงสร้างรูปสัตว์ขึ้นเคารพบูชาแทนองค์เทพ เช่น ชาวอียิปต์โบราณสร้างรูปจรเข้ขึ้น สมมติว่าเป็นองค์เทพซีเบก แม้ในคัมภีร์ไบเบิลตอนแรก ที่เรียกว่า คัมภีร์เดิมของศาสนายิว และศาสนาคริสต์ ก็มีเรื่องเล่าว่า ชาวยิวเคยสร้างรูปลูกวัวทองคำขึ้น เป็นที่เคารพบูชาแทนพระยะโฮวา และสร้างรูปงูทองเหลือง แทนบริวารของพระยะโฮวา
                         ขั้นที่สาม  สร้างเป็นรูปครึ่งสัตว์ครึ่งมนุษย์ ชาวอียิปต์โบราณเชื่อกันว่า เทพรา หรือ อาเมนรา คือ ผู้ให้กำเนิดแก่ราชาและราชินีของอียิปต์  และสร้างเทวรูปอาเมนราขึ้นให้มีกายเป็นมนุษย์ แต่มีศีรษะเป็นนก
                         ขั้นที่สี่ อันเป็นขั้นสุดท้าย แสดงความเจริญสูงสุด ทั้งในด้านความรู้สึกนึกคิด และฝีมือการช่าง เทวรูปจึงมีลักษณะที่เป็นอุดมคติ และเป็นความจริงผสมผสานกันอย่างสนิท ระหว่างความเป็นเทพกับมนุษย์ มนุษย์ได้สร้างเทวรูปขึ้น จากรูปร่างของมนุษย์ แต่ได้เสริมแต่งความงามที่นับว่า เป็นพิเศษแทรกเข้าไว้ด้วยฝีมือช่าง ประกอบด้วยจินตนาการอันสูงส่ง รูปที่ปรากฎจึงมิใช่รูปของมนุษย์ธรรมดา แต่มีสุนทรียะ และศักดิ์เหนือกว่ามนุษย์ รูปของเทพจึงนับเป็นจุดยอดแห่งการสร้างสรรค์ สิ่งที่เป็นตัวแทนของรูปร่าง ทวยเทพให้เข้ากับรสนิยมของมนุษย์ที่มีความเจริญถึงที่สุด
                         เทวรูป ดังกล่าวจะเห็นได้จากเทวรูปต่าง ๆ ของอียิปต์รุ่นหลัง ซึ่งมีรูปร่างเป็นคนโดยสมบูรณ์ แต่มีเครื่องประดับตกแต่งศีรษะเป็นรูปแปลกๆ อันเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นเทพโดยเฉพาะ เช่น ชายหนุ่มสวมรองเท้ามีปีก และถือไม้เท้ามีรูปงู หมายถึง เฮอร์เมส หรือเมอร์คิวรี
                         การสร้างเทวรูปแบบนี้ของกรีก ประมาณว่าเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สอง เป็นต้นมา
                         ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามไม่มีเทวรูป เพราะพระเจ้าของศาสนาทั้งสองถือว่า มีอยู่เพียงองค์เดียวในสากลจักรวาล และไม่นิยมสร้างรูปใด ๆ ขึ้นแทนองค์พระเจ้า จะมีก็แต่เฉพาะรูปของเอนเจลต่างๆ ซึ่งแปลว่า ทูตสวรรค์ ไม่ใช่พระเจ้า
                         ศาสนาพราหมณ์ของพวกอารยันอินเดีย ก็ไม่เคยมีเทวรูป แต่ในสมัยต่อมาเมื่อล่วงพุทธกาลมาแล้วเล็กน้อย ศาสนาพราหมณ์ได้แปลงรูปเป็นศาสนาฮินดู ความนิยมสร้างเทวรูปจึงมีขึ้น ส่วนศาสนาพุทธ แม้จะมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นครั้งแรก ที่แคว้นคันธาราษฎร์ และนิยมสร้างในสมัยต่อ ๆ มา ไม่ถือว่าเป็นเทวรูปในทรรศนะของชาวพุทธ เพราะพระพุทธเจ้ามิใช่เทพ         ๑๔/ ๘๘๐๘
                ๒๖๒๖. เทวสถาน  เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป บางทีก็เรียกว่า เทวาลัย ถ้าเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะเรียกว่า "โบสถ์พราหมณ์"
                        เทวสถานมีอยู่หลายศาสนา แต่ที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทย เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ เทพเจ้าที่สำคัญยิ่งของศาสนาพราหมณ์ ตามคัมภีร์ปุราณะ มีอยู่สามองค์คือ พระพรหม พระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระศิวะ (พระอิศวร)         ๑๔/ ๘๘๑๕
                ๒๖๒๗. เทวะวงศ์วโรปการ - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา  พระองค์ทรงเป็นนักการทูตที่ปรากฎพระนาม เป็นที่ยกย่องอย่างสูงในวงการทูต ตลอดสมัยที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีดกระทรวงการต่างประเทศ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ (พ.ศ.๒๔๒๖ - ๒๔๖๖)  พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ องค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ทรงเป็นผู้ทูลเสนอให้ตั้งทูตไทยไปประจำอยู่ในราชสำนักต่างประเทศเป็นครั้งแรก ไทยจึงเริ่มตั้งกงสุลขึ้นในอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๒๕ แล้วจึงตั้งในประทศฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ ต่อมาทำให้นานาประเทศเริ่มยกย่องเกียรติยศของประเทศไทย และจัดตั้งราชทูตมาประจำในเมืองไทยเป็นการตอบแทน
                        กรมหมื่นเทวะวงศ์ ฯ ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้เสด็จไปร่วมงานฉลองในการที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ครองราชย์ครบ ๕๐ ปี แทนพระองค์ ในขณะเดียวกันทรงเป็นผู้แทนไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศ สวีเดน ฝรั่งเศส และเยอรมัน เมื่อเสด็จกลับจากยุโรป เมื่อเสด็จถึงญี่ปุ่นได้เป็นผู้เจรจาทำหนังสือแสดงทางไมตรีกับญี่ปุ่น
                        ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ มีการตั้งเสนาบดีสภาขึ้น ๑๒ ตำแหน่ง กรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ทรงเป็นหัวหน้าเสนาบดี มาทั้งสองรัชกาล ตลอดพระชนมายุ รวม ๓๑ ปี ระหว่างเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ หรือ "เหตุการณ์ที่ปากน้ำ" กรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ทรงใช้สติปัญญาอันเฉลียวฉลาด พระราชดำริอันสุขุมรอบครอบ ในการเจรจากับผู้แทนฝรั่งเศส แก้ไขสถานการณ์อันตึงเครียดลงได้
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ  และทรงดำรงตำแหน่งผู้รักษาราชการพระนคร เมื่อไม่ทรงประทับอยู่ เป็นนายกสภาการคลัง นายกกรรมการตรวจร่างประมวลกฎหมาย ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และราชการในพระองค์เป็นประจำ
                        สมเด็จ ฯ กรมพระยาเทวาวงศ์วโรปการ สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ เสด็จดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเป็นเวลา ๓๘ ปี นานที่สุดเท่าที่เคยปรากฎมาคือ พระองค์ทรงรับราชการสืบเนื่องในสองรัชกาลรวม ๔๙ ปี           ๑๔/ ๘๘๒๔
                ๒๖๒๘. เทวาลัย  (ดูเทวาสถาน - ลำดับที่ ๒๖๒๖)         ๑๔/ ๘๘๓๔
                ๒๖๒๙. เทศบัญญัติ  หมายถึง ข้อบังคับที่เทศบาลตราออกใช้บังคับ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ตราเทศบัญญัติขึ้น เป็นองค์กรที่มีอำนาจลดหลั่นรองลงมา จากอำนาจของสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ เทศบัญญัติจึงมีฐานะต่ำกว่าพระราชบัญญัติ หรือรัฐบัญญัติ
                        สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนเทศบัญญัตินั้น สากลนิยมถือกันว่าให้กำหนดได้เพียงโทษปรับ มิให้กำหนดโทษจำคุก ร่างเทศบัญญัติก่อนมีผลใช้บังคับ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือตัวแทนของรัฐมนตรีนั้นเสียก่อน โดยปรกติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เทศบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบแล้วให้ใช้บังคับได้ เมื่อประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลแล้วเจ็ดวัน         ๑๔/ ๘๘๓๔
                ๒๖๓๐. เทศบาล  มีบทนิยามว่า "ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น" ตามความหมายสากลหมายถึงเมืองหรือนคร ที่มีเอกสิทธิ์บางประการในการปกครองตนเอง ทั้ง ๆ ที่เมืองหรือนครนั้น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศหรือรัฐและอยู่ในอำนาจปกครองของรัฐบาลกลาง จึงมีผู้เรียกเทศบาลว่า "รัฐบาลท้องถิ่น"
                        ระบบเทศบาล มีการนำมาใช้กันอย่างจริงจังในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ นี้เอง หลักการในเรื่องอำนาจของเทศบาลในโลกเสรีมีอยู่ข้อหนึ่งที่ตรงกันคือ ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความต้องการของท้องถิ่นเท่านั้น
                        ความเป็นมาของการเทศบาลในประเทศไทย ได้มี พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นกฎหมายว่าด้วยเทศบาลฉบับแรก เทศบาลในประเทศไทยมีสามระดับคือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล         ๑๔/ ๘๘๓๙
                ๒๖๓๑. เทศมนตรี  คือผู้บริหารงานในท้องถิ่นเป็นตำแหน่งในฝ่ายบริหารของเทศบาล ปฏิบัติตามนโยบายของสภาเทศบาล ตำแหน่งเทศมนตรีนี้เรียกชื่อต่าง ๆ กันในแต่ละประเทศ ตามปรกติเทศมนตรีเป็นสมาชิกของสภาเทศบาล เทศมนตรีมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ตามความหมายของกฎหมายลักษณะอาญา (ประมวลกฎหมายอาญา)         ๑๔/ ๘๘๔๙
                ๒๖๓๒. เท้า  เป็นอวัยวะที่ใช้ยืน เดิน วิ่ง และกระโดด ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด ๒๘ ชิ้นด้วยกัน เรียงตัวประกอบเป็นรูปสะพานโค้ง ขวางจากด้านหัวแม่เท้ามายังส้นเท้า และโค้งขวางจากด้านหัวแม่เท้าไปสู่ด้านนิ้วก้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องรับแรงกระแทกแบบเดียวกับแหนบรถ การที่กระดูกเหล่านี้จะทรงอยู่ในรูปสะพานโค้งดังกล่าวได้ ก็ด้วยมีกล้ามเนื้อ เอ็นและพังผืด หุ้มข้ออีกมากมายเป็นตัวช่วยยึด         ๑๔/ ๘๘๕๑
                ๒๖๓๓. เท้าช้าง - โรค  คืออาการที่มีหนังหนา หยาบคล้ายหนังช้าง และมีขนาดโตขึ้นของวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งมักจะพบบ่อยที่เท้า หรือขาจึงได้ชื่อว่า "โรคเท้าช้าง" หรือ "โรคขาช้าง" ความจริงนอกจากจะเกิดขึ้นกับขาแล้ว ยังอาจเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่นเช่น ถุงอัณฑะ ปากช่องคลอด เด้านม ฯลฯ ก็ได้ ซึ่งก็รวมเรียกว่า "โรคเท้าช้าง" ทั้งนั้น
                        อาการโรคเท้าช้างนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากมีอาการอุดตันของท่อทางเดินน้ำเหลืองของวัยวะนั้น ๆ ทั้งนี้เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดมีขึ้น ภายหลังจากการที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ของต่อมน้ำเหลือง และท่อทางเดินน้ำเหลืองของวัยวะมาก่อน ซึ่งต่อมาจะมีเยื่อพังผืดเกิดขึ้นแทนที่บริเวณอักเสบเหล่านั้น จนทำให้การไหลเวียนของน้ำเหลืองไม่สะดวกและมากขึ้น ๆ จนในที่สุดถึงกับมีการอุดตันเป็นผลให้อวัยวะนั้นบวมโต มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งผิวหนังบริเวณนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยมีลักษณะหนา หยาบ มองดูคล้ายหนังบริเวณขาช้าง ดังกล่าวมาแล้ว         ๑๔/ ๘๘๕๕
                ๒๖๓๔. เท้ายายม่อม  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้สองชนิดที่พบขึ้นอยู่ในประเทศไทย เป็นพืชล้มลุก หัวหรือ เหง้า มีสัณฐานกลมแบน ใบมีจำนวน ๑ - ๓ ใบ งอกตรงขึ้นจากหัวโคนใบ มีกาบหุ้ม ตัวใบเป็นรูปไข่กลับรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ดอกขนาน ๖ - ๑๗ มม. ห้อยลง สีเหลืองอ่อน เหลืองแกมเขียว กลีบดอกหนาขอบบาง ผลกลม วัดผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ - ๒.๕ ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีเหลือง
                        เนื่องจากหัวมีแป้งมาก ที่เรียกกันว่า แป้งเท้ายายม่อม ใช้เป็นอาหารได้ดี
                        ส่วนอีกชนิดหนึ่ง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๖๐ - ๑๕๐ ซม. ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวเรียงเป็นวงรอบ กิ่ง ๓ - ๕ ใบ ตัวใบรูปหอกแคบ ๆ ยาว ๘ - ๒๐ ซม. ช่อดอกออกปลายกิ่ง ยาว ๒๐ - ๓๐ ซม. แยกแขนงสั้น ๆ โดยรอบ ผลกลม สุกสีดำ กล่าวกันว่าใช้ใบสูบแทนกัญชาได้         ๑๔/ ๘๘๕๘
                ๒๖๓๕. เทิง  อำเภอขึ้น จ.เชียงราย มีอาณาเขตทิศตะวันออกจดประเทศลาว ภูมิประเทศเป็นที่ราบ เป็นทุ่งนาบ้าง เป็นป่าบ้าง มีทุ่งกว้างเรียกว่า ทุ่งเทิง
                        อ.เทิง เคยเป็นอำเภอขึ้น อ.เชียงคำ เมื่อครั้งยังขึ้นกับ จ.น่าน ครั้นโอน อ.เชียงคำมาขึ้น จ.เชียงราย จึงยกฐานะกิ่ง อ.เทิง เป็น อำเภอ         ๑๔/๘๘๕๗
                ๒๖๓๖. เทียกากิม  เป็นชาวเมืองจี้จิว มณฑลซัวตัง ประเทศจีน เกิดในปลายสมัยราชวงศ์สุย มีนิสัยห้าวหาญแต่เล็ก ในวัยหนุ่มได้รวบรวมสมัครพรรคพวกหลายร้อยคน ทำหน้าที่ป้องกันตำบลของตนให้ปลอดพ้นจากโจรภัย ต่อมาได้เป็นนายทหารสมุนเอกของหลีมิก หัวหน้าขบถ ๑ ใน ๑๘ คน สมัยนั้น เทียกากิมเป็นผู้มีฝีมือในการรบ ภายหลังหันไปเข้าเป็นฝักฝ่ายกับเห่งซี่ซง หัวหน้าขบถอีกคนหนึ่ง ต่อมาไปสวามิภักดิ์หลีซีมิ้ง เมื่อบิดาของหลีซีมิ้งขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าถังเถาโจ้ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ถัง ต่อมาเมื่อหลีซีมิ้งได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ เทียกากิม ได้รับแต่งตั้งจนถึงขั้นเทียบเท่าสมเด็จเจ้าพระยา และมียศทางทหารเป็นจอมพล บุตรของเขาได้เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าถังไท่จง         ๑๔/   ๘๘๕๙
                ๒๖๓๗. เทียน  เป็นชื่อเรียกพืชล้มลุกสกุลหนึ่ง เป็นพืชที่ลำต้นอุ้มน้ำ เปราะ หักง่าย ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับกันหรือตรงข้ามกัน ดอกสีสด ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ลำต้นอวบ สูงประมาณ ๕๐ ซม.
                ๒๖๓๘. เทียนชาน  เป็นเทือกเขาในเอเชียกลาง ทิศเหนือจดเทือกเขาอัลไต ทิศใต้จดเทือกเขาคุนลุน เทือกเขานี้มีบริเวณอยู่ในรัฐเดอร์กิเซีย ประเทศรัสเซีย และทางตอนเหนือของมณฑลซินเกียงของจีน
                        คำว่าเทียนชาน ในภาษจีนปลว่า "ภูเขาสวรรค์" เพราะเทือกเขานี้สูงมาก ยอดเขาสูงสุดชื่อเดงกรีข่าน อยู่ในตอนกลางของเทือกเขา สูงประมาณ ๗,๒๐๐ เมตร หินที่ประกอบกันเป็นภูเขานี้ส่วนใหญ่เป็นหินแกรนิต นอกจากนี้ยังมีธารน้ำแข็งปกคลุมอีกมาก ป่าไม้บริเวณนี้เป็นป่าสน ต้นสนบางต้น ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๑.๕ เมตร
                        ประชาชนที่อาศัยในบริเวณเทือกเขานี้ ทางด้านประเทศจีนเป็นพวกเร่ร่อน เลี้ยงสัตว์ ทางด้านประเทศรัสเซียเป็นพวกชาวนา และผู้อาศัยในเมือง         ๑๔/ ๘๘๖๑
                ๒๖๓๙. เทียนสิน  เป็นชื่อเมืองอยู่ในมณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑๕๐ กม. เนื่องจากใกล้กับที่แม่น้ำหลายสายไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำไห่แล้วไหลลงสู่ทะเลเหลือง เทียนสินจึงเป็นทางผ่านออกสู่ทะเลของกรุงปักกิ่งและเป็นเมืองท่าของเมืองอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน รองจากเมืองเซี่ยงไฮ้
                        ในอดีตเมืองเทียนสินเป็นสถานที่ลงนามสนธิสัญญาในปี พ.ศ.๒๔๐๑ ระหว่างจีนฝ่ายหนึ่งกับฝรั่งเศส อังกฤษ รุสเซีย และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง สนธิสัญญาฉบับนี้เรียกว่า "สนธิสัญญาเทียนสิน" เป็นเหตุให้จีนต้องเปิดเมืองท่า ๑๑ แห่ง เพื่อการค้ากับต่างประเทศ เทียนสินเคยถูกฝรั่งเศส และอังกฤษยึดครองในปี พ.ศ.๒๔๐๑ และ พ.ศ.๒๔๐๓ เป็นสมรภูมิระหว่างขบถนักมวย และเป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน และยุโรปชาติต่าง ๆ ในการบุกกรุงปักกิ่ง ในสมัยต่อมา เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในจีน ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ยึดเมืองนี้ไว้ได้ในปี พ.ศ.๒๔๙๒         ๑๔/ ๘๘๖๒
                ๒๖๔๐. เทียรราชา  (ดูเทียรราชา - ลำดับที่ ๑๙๔๘)         ๑๔/ ๘๘๖๓
                ๒๖๔๑. แทงทวย  เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะรูปไข่ ขนาดกว้าง ๓ - ๘ ซม. ยาว ๗ - ๑๕ ซม. ดอกออกเป็นช่อยาวที่ยอดหรือใกล้ยอด ดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย แยกกันอยู่คนละต้น ผลกลม มีสามพู ขนาดกว้าง ๕ - ๑๐ ซม. ยาว ๕ - ๗ ซม.         ๑๔/ ๘๘๖๓
                ๒๖๔๒. แทงวิลัย - การเล่น  เป็นการเล่นในงานโสกันต์ เดิมเป็นของผู้ชายเล่น ต่อมาการเล่นแทงวิลัยส่วนมากเล่นเฉพาะผู้หญิง
                        การเล่นใช้คนสองคน แต่งตัวดูลักษณะเหมือนเสี้ยวกางถืออาวุธยาวเป็นทวน หรือหอก วิธีเล่นเอาปลายอาวุธแตะกัน ข้างบนบ้างข้างล่างบ้าง เต้นเวียนไปทางซ้ายแล้วย้ายไปทางขวา เหมือนงิ้วรบกัน แต่งิ้วเคลื่อนไหวเร็วกว่า         ๑๔/ ๘๘๖๔
                ๒๖๔๓. แทตย์  เป็นคำในภาษาสันสกฤตแปลว่า "ลูกของนางทิติ" หรือเหล่ากอของนางทิติ ที่มีความหมายว่า ลูกของนางทิติได้แก่แทตย์รุ่นแรกแท้ ๆ ที่เป็นลูกของนางทิติกับพระทัศยปฤษีเทพบิดร มีอยู่สามตน สองตนแรกเป็นฝาแฝดชายชื่อหิรัณยกศิปุและหิรัณยากษะ น้องคนสุดท้องเป็นหญิงชื่อสิงหิกา
                        หิรัณยกศิปุ ได้รับพระจากพระอิศวรให้ได้เป็นใหญ่ในสามโลกคือสวรรค์ โลกมนุษย์ และบาดาล เป็นเวลาหลายล้านปี มีความกำเริบทะนงตนไม่นับถือพระวิษณุ แต่โอรสชื่อประหลาทกับนับถือบูชาพระวิษณุอย่างเคร่งครัด ในที่สุดพระวิษณุได้อวตารลงมาเป็นนรสิงห์คือ ครึ่งคนครึ่งสิงห์ และฆ่าหิรัณยกศิปุเสีย
                        ส่วนแทตย์ผู้น้องคือ หิรัณยากษะ (หิรันตยักษ์) ได้ม้วนแผ่นดินโลกแล้วหนีลงไปอยู่ใต้มหาสมุทร พระวิษณุต้องอวตารลงมาเป็นหมู ตามไปฆ่าหิรัณยากษะ แล้วเอาเขี้ยวช้อนแผ่นดินโลกให้ขึ้นมาลอยอยู่เหนือน้ำดังเดิม (ดูวราหาวตาร - ลำดับที่... ประกอบ)
                        นางสิงหิกา เป็นชายาของพญาทานพ (อสูรพวกหนึ่งเป็นเหล่ากอของนางทนุกับพระกัศยปฤษ์เทพบิดร) ชื่อวิประจิตติ มีลูกชื่อราหู
                        ในกาลต่อมาพวกแทตย์กับพวกทานพได้แต่งงานกันมากมายมีเผ่าพงศ์วงศ์วานสืบมา พวกนี้จะเรียกว่าแทตย์ก็ได้ ทานพก็ได้           ๑๔/ ๘๘๖๕
                ๒๖๔๔. แทนนิน  เป็นอนุพันธ์ของฟีนอล ไม่มีไนโตรเจนในโมเลกุล เป็นสารที่พบได้มากในส่วนต่าง ๆ ของพืชหลายชนิด
                         แทนนิน มีประโยชน์หลายอย่างเช่น
                         ๑. ป้องกันพืชจากการสลายเน่าได้
                         ๒. ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง
                         ๓. ใช้ทางการแพทย์ได้แก่เป็นยาห้ามเลือด เมื่อใช้เฉพาะที่ ใช้ในรายท้องเดิน และรายที่มีการอักเสบของลำไส้อย่างเรื้อรัง ใช้ผสมกับกลีเซอรีน ทาหัวนมหญิงมีครรภ์แก่ ป้องกันความเจ็บปวดตอนทารกดูดนม ใช้ผสมกับยาบางอย่างทาผิวหนัง ป้องกันแดดเผาตัวได้ ทำเป็นยาอมแก้อาการเจ็บคอ ทำเป็นขี้ผึ้งทาริดสีดวงทวารหนัก ใช้เฉพาะที่เช่นแต่งแผลไฟไหม้ ใช้เป็นยาแก้พิษ          ๑๔/ ๘๘๖๘
                ๒๖๔๕. โทง  เป็นเครื่องมือจักรสานชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายขวด สูง ๑.๖ เมตร กว้าง ๑ เมตร คอกว้าง ๒๗ ซม. ปากกว้าง ๓๐ ซม. ที่ก้นมีช่องปลาเข้าหนึ่งช่อง กว้าง ๑๖ ซม. ทำด้วยไม้ไผ่สาน ช่องตาถี่มาก วิธีใช้ผูกกับต้นไม้ไผ่ปักลงในน้ำ หรือผูกแขวนกับหลัก ซึ่งทำด้วยไม้ปักเป็นสามขา ให้ปากโทงอยู่พ้นน้ำ ก้นโทงอยู่สูงจากพื้นดินใต้น้ำประมาณ ๕๐ - ๘๕ ซม. ใช้ส่าเหล้าเป็นเหยื่อจับได้ปลาเทโพ ปลาสวาย มีใช้ในจังหวัดริมแม่น้ำโขง         ๑๔/ ๘๘๗๐
                ๒๖๔๖. โทงเทง - กระโทงเทง  เป็นปลาทะเลขนาดใหญ่ ลำตัวแบนข้าง ริมฝีปากยื่นยาวออกเป็นรูปดาบ และแหลมจึงเรียกว่า ปลาดาบ ไม่มีฟัน ปลาชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันว่า บางคราวก็ทำอันตรายเรือในมหาสมุทรอินเดีย ปากแหลมของมันได้แทงเรือให้ทะลุได้ คนไทยเรียกปลาเหล่านี้ เป็นสามัญว่า "ปลาโทงเทง" พบอยู่ในทะเลเขตร้อน
                        ปลาโทงเทง พอจะแบ่งออกได้เป็นสองวงศ์คือ วงศ์ปลาดาบ และวงปลาใบเรือ         ๑๔/ ๘๘๗๑
                ๒๖๔๗. โทณพราหมณ์  เป็นพราหมณาจารย์คนหนึ่งในสมัยพุทธกาล เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในไตรเพท มีลูกศิษย์มากมาย กล่าวกันว่าบรรดากษัตริย์และผู้ครองนครทั้งหลาย ทั่วชมพูทวีปในสมัยนั้น ต่างยกย่องนับถือว่า เป็นอาจารย์ตน แต่เมื่อพบพระพุทธเจ้าก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส กลับใจมายนับถือพระพุทธศาสนา และได้ทำประโยชน์แก่พระศาสนาคือ ระงับศึกแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุกัน
                        ครั้งหนึ่ง เมื่อโทณพราหมณ์เดินทางอยู่ระหว่างเมืองอุกกัฎฐะ กับเมืองเสตัพยะ พร้อมหมู่ศิษย์ได้พบรอยพระพุทธบาท และได้เห็นรอบกงจักรในรอยพระพุทธบาท จึงรำพึงว่า รอยเท้านี้คงไม่ใช่ของมนุษย์ธรรมดาแน่นอน คิดแล้วจึงเดินตามรอยพระพุทธบาทนั้นไป จนพบพระพุทธเจ้าก็เกิดความเลื่อมใส จึงเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ว่าเป็นใคร พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ไม่ใช่เทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ หรือมนุษย์ เพราะทรงละอาสวกิเลส ที่เป็นต้นเหตุให้เป็นอย่างนั้นหมดสิ้นแล้ว แล้วตรัสบอกให้โทณพราหมณ์ เรียกพระองค์ว่า พระพุทธเจ้า
                        โทณพราหมณ์ ได้ฟังแล้วก็บรรลุสามัญผลสามคือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล และอนาคามิผล สามารถแต่งคำประพันธ์สรรเสริญพระพุทธคุณ เรียกว่า "โทณคัชชิตะ" ได้ถึง ๑,๒๐๐ บท ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา หลังถวายพระเพลิงแล้ว บรรดากษัตริย์และผู้ครองเมืองเจ็ดเมือง ได้ส่งราชทูตมาขอแบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์เสนอให้แบ่งออกเป็นแปดส่วน ส่วนละ ๑๖ ทะนาน ให้แก่บรรดากษัตริย์และผู้ครองนครดังกล่าว ส่วนโทณพราหมณ์ได้ทูลขอทะนานตวงพระบรมธาตุคือ ตุมพะ ไปสักการะบูชา         ๑๔/ ๘๘๗๓

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch