หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/63
     ๒๕๗๒. ทึดทือ - นก  เป็นนกเค้าแมวพวกหนึ่ง อยู่ในจำพวกนกแสก (ดู เค้าแมว - นก - ลำดับที่ ๑๑๔๑)         ๑๔/ ๘๖๙๑
                ๒๕๗๓. ทุก - ปลา  เป็นปลาในวงศ์ปลาค้าว  (ดู ค้าวดำ - ลำดับที่ ๑๐๗๑)        ๑๔/ ๘๖๙๒
                ๒๕๗๔. ทุกขนิโรธ  โดยรูปคำแปลว่า "ความดับทุกข์"  เป็นชื่อของอริยสัจที่สาม (ดู จตุราริยสัจ - ลำดับที่ ๑๒๘๑)         ๑๔/ ๘๖๙๒
                ๒๕๗๕. ทุกขสมุทัย  โดยรูปคำแปลว่า "เหตุให้เกิดทุกข์"  เป็นชื่อของอริยสัจที่สอง  (ดู จตุราริยสัจ - ลำดับที่ ๑๒๘๑)        ๑๔/ ๘๖๙๒
                ๒๕๗๖. ทุกฎ  โดยรูปคำแปลว่า "ความชั่ว" โดยความเป็นชื่ออาบัติจำพวกหนึ่ง  ในอาบัติเจ็ดพวก ในวินัยบัญญัติไว้ว่า ที่เรียกว่า "อาบัติ" นั้น คือ โทษที่เกิดเพราะความละเมิด ในข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ว่าโดยชื่อมีเจ็ดอย่างคือ ปาราชิก สังฆาทิเสส กุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฎิเทสนียะ ทุกฎ ทุพภาษิต
                        ทุกฎ เป็นอาบัติเล็กน้อย หรืออาบัติเบา เรียกว่า "ลหุกาบัติ" ภิกษุต้องเข้าแล้ว ต้องแสดงต่อหน้าสงฆ์หรือคณะ หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเรียกว่า " แสดงอาบัติ" หรือ " ปลงอาบัติ" จึงจะพ้นได้
                       เมื่อจัดตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ซึ่งยกขึ้นเป็นสิกขาบท มีที่มาในพระปาติโมกข์ และไม่ได้มาในพระปาติโมกข์ แล้ว ทุกฎจัดอยู่ในจำพวกสิกขาบทที่ไม่ได้มาในพระปาฎิโมกข์สิกขาบทที่มาในพระปาฎิโมกข์ ได้แก่ ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสัสคศัยปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฎิเทสนียะ ๔ เสขีย ๗๕ รวมเป็น ๒๒๐ นับทั้ง อธิกรณสมถะ ๗ ด้วย เป็น ๒๒๗
                        ทุกฎ เป็นสิกขาบทที่ยกขึ้นเป็นอาบัติส่วนย่อย และอาบัติพวกปาจิตตีย์ ๙๒        ๑๔/ ๘๖๙๒
                ๒๕๗๗. ทุกนิบาต  เป็นชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ที่กำหนดธรรม หรือคาถาอย่างละสองข้อ นับเนื่องอยู่ในคัมภีร์อังคุตุรนิกาย ที่จัดหมวดธรรมไว้เป็นองค์ ๆ เป็นข้อ ๆ  หรือเป็นหมวด เรียกว่า นิบาต แปลว่า ที่รวม          ๑๔/ ๘๖๙๓
                ๒๕๗๘. ทุกขกิริยา  โดยรูปคำแปลว่า การกระทำกิจที่ทำได้โดยยาก โดยความ ได้แก่ การกระทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ        ๑๔/ ๘๖๙๔
                ๒๕๗๙. ทุกัง , กด - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลากดทะเล ซึ่งไม่มีเกร็ด มีหนวดยาว รูปร่างค่อนข้างยาว ยาวราว ๕๐ ซม. ปลาชนิดนี้มีมาก และเป็นสินค้าสำคัญของเมืองไทย ตามปรกติมักจะไปเป็นฝูงใหญ่ จับได้เป็นจำนวนมาก ตามชายฝั่งแต่ไม่สม่ำเสมอ        ๑๔/ ๘๗๐๐
                ๒๕๘๐. ทุงงะ, แช่แป้ง - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน อาศัยอยู่ตามลำธารบนภูเขา ขนาดยาว ๑๒.๕ - ๑๕.๕ ซม.        ๑๔/ ๘๗๐๑
                ๒๕๘๑. ทุ่งช้าง  อำเภอขึ้น จ.น่าน  มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันออก จดประเทศลาว ภูมิประเทศทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีเขาขนานขึ้นไปทั้งสองข้าง ระหว่างกลางเป็นที่ราบลุ่ม ทางใต้กว้าง และค่อย ๆ เรียวขึ้นไปทางทิศเหนือ
                        อ.ทุ่งช้าง เดิมชื่อ อ. และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทุ่งช้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔         ๑๔/ ๘๗๐๒
                ๒๕๘๒. ทุ่งยั้ง  เคยเป็นชื่อเมืองเก่า ปรากฎในพงศาวดารเหนือว่า บาธรรมราช เจ้าเมืองสวรรคโลก เป็นผู้สร้าง และว่าเดิมชื่อ เมืองกำโพชนคร ในกฎหมายเก่าสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง บ่งชื่อเมืองนี้ว่า คู่กับเมืองบางยม เป็นเมืองขึ้นของเมืองสวรรคโลก
                        สมัยสุโขทัย เมืองทุ่งยั้ง ยังเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันขอม ทางด้านตะวันออก
                        ปัจจุบันเมืองทุ่งยั้ง เป็นตำบลขึ้น อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ มีโบราณสถานหลายแห่งคือ เวียงท้าวสามล เวียงเจ้าเงาะ วัดมหาธาตุ และพระแท่นศิลาอาสน์        ๑๔/ ๘๗๐๒
                ๒๕๘๓. ทุ่งสง  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบสูง ลาดลงสู่แม่น้ำตาปี ทางทิศเหนือ และลาดลงสู่แม่น้ำตรัง ทางทิศใต้ มีภูเขามาก
                        อ.ทุ่งสง เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.ทุ่งสง ต่อมาย้ายมาตั้งที่ ต.ปากแพรก ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟสายใต้ และสายแยกไปกันตัง         ๑๔/ ๘๗๐๔
                ๒๕๘๔. ทุ่งเสลี่ยม  อำเภอขึ้น จ.สุโขทัย ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบและป่าไม้
                         อ.ทุ่งเสลี่ยม แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ขึ้น อ.สวรรคโลก ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒         ๑๔/ ๘๗๐๔
                ๒๕๘๕. ทุ่งหว้า  อำเภอขึ้น จ.สตูล มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก จดทิวเขาบรรทัด จ.พัทลุง ทางทิศตะวันตก ตกมหาสมุทรอินเดีย ภูมิประเทศทิศตะวันออกเป็นที่ราบสูง เต็มไปด้วยภูเขา ทางด้านทิศตะวันตก และทิศเหนือ เป็นป่าชายเลน
                         อ.ทุ่งหว้า เดิมเป็นที่ตั้ง อ.สุไหงอุเป ต่อมาเมื่อราว พ.ศ.๒๔๖๕ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทุ่งหว้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ถูกยุบลงเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ละงู ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖         ๑๔/ ๘๗๐๕
                ๒๕๘๖. ทุ่งใหญ่  อำเภอ ขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีภูเขามาก
                        อ.ทุ่งใหญ่ เดิมเป็นกิ่ง อ.ท่ายาง ขึ้น อ.ทุ่งสง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ในชื่อเดิม และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทุ่งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔        ๑๔/ ๘๗๐๕
                ๒๕๘๗. ทุน  ความหมายทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง ปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่ง ในบรรดาปัจจัยการผลิตทั้งหลาย อันได้แก่ แรงงาน ที่ดิน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทุนและผู้ประกอบการ        ๑๔/ ๘๗๐๖
                ๒๕๘๘. ทุนดรา  เป็นภูมิอากาศแบบหนึ่งของโลก ซึ่งมีอยู่ในเขตเส้นรุ้งสูงใกล้ขั้วโลก ในซีกโลกเหนือ บริเวณที่มีภูมิอากาศแบบนี้ได้แก่ เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอาร์คติก ชายฝั่งอาร์คติกของอะแลสกา และแคนาดา  ตอนเหนือของเกาะไอซแลนด์ และชายฝั่งของเกาะกรีนแลนด์ ส่วนในซีกโลกใต้จะมีอยู่ตามบริเวณบางเกาะ ในย่านแอนตาร์กติก
                       ในเขตภูมิอากาศแบบทุนดรา มักมีอุณหภูมิเฉลี่ยประจำเดือนต่ำกว่าขีดเยือกแข็งราว ๘ - ๙ เดือน ในรอบหนึ่งปี และอุณหภูมิระหว่างเดือนที่ร้อนที่สุด กับเดือนที่หนาวที่สุดก็แตกต่างกันมาก พื้นดินปกคลุมด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี มีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นทุกเดือน ฝนตกน้อยคือ น้อยกว่า ๓๗๐ มม. ต่อปี และมักตกในฤดูใบไม้ร่วง และฤดูใบไม้ผลิ
                        พืชพันธุ์ธรรมชาติ ในเขตภูมิอากาศทุนดรา แบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่ ทะเลทรายทุนดรา อยู่ในเขตติดต่อกับทุ่งน้ำแข็ง อุณหภูมิต่ำกว่า ๕ ํ ซ. ไม่มีพืชขึ้น ประเภทที่สอง ได้แก่ ทุ่งหญ้าทุนดรา อุณหภูมิของเดือนที่ร้อนที่สุดอยู่ระหว่าง ๔.๔๕ ํซ. ถึง ๑๐ ํ ซ. มีหญ้ามอส และตะไคร่น้ำไลเคน ขึ้นได้ ประเภทที่สาม ได้แก่ ไม้พุ่มทุนดรา อยู่ในเขตอบอุ่นกว่าสองประเภทแรก พืชที่ขึ้นเป็นไม้พุ่มเล็ก ๆ หรือสนขนาดเล็ก
                ๒๕๘๙. ทุนทรัพย์  หมายถึง ทุนทำการของกิจการ คือ "สินทรัพย์ หมุนเวียน" ที่มากกว่า "หนี้สินหมุนเวียน" ทุกขณะ
                         สินทรัพย์หมุนเวียน คือ เงินสด และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อาจเปลี่ยนหรือหมุนเวียนเป็นเงินสดได้ ภายในระยะเวลาที่ดำเนินการ โดยปรกติ ซึ่งมักถือเอาระยะเวลาหนึ่งปีเป็นเกณฑ์
                         หนี้สินหมุนเวียน หมายถึง หนี้สินหรือพันธะทั้งหมดที่เกิดจากการดำเนินงานตามปรกติ และครบกำหนดชำระภายในรอบระยะเวลา การดำเนินงานตามปรกติของกิจการ และหนี้สิน หรือพันธะอื่น ซึ่งจะถึงกำหนดชำระภายในระยะเวลาหนึ่งปี        ๑๔/ ๘๗๐๘
                ๒๕๙๐. ทุพภิกขันดรกัป  มีคำนิยามว่า "ระยะเวลาที่กำหนดไว้ว่า เป็นตอนที่ขาดแคลนอาหาร คู่กับสัตถันดรกัป คือ ระยะเวลาที่ฆ่ากันไม่หยุดหย่อน "จัดเป็นช่วงเวลาหนึ่งของอันตรกัป"         ๑๔/ ๘๗๐๘
                ๒๕๙๑. ทุรบท - ท้าว  เป็นชื่อผู้ครองแคว้นปัญจาละ ในเรื่องมหาภารตะของอินเดีย เป็นบิดาของนางเทราปที (กฤษณา) เป็นผู้ได้สู้รบขับเคี่ยวกับกษัตริย์ปาณฑพทั้งห้า โดยบัญชาของโทรณาจารย์ (ดู เทราป ที่ - ลำดับที่ ๒๕๘๙ ประกอบด้วย)        ๑๔/ ๘๗๐๙
                ๒๕๙๒. ทุรโยชน์  เป็นชื่อของกษัตริย์ฝ่ายตรงข้ามกับกษัตริย์ปาณฑพ ในสงครามกุรุเกษตรในเรื่องมหาภารตยุทธ เป็นโอรสของท้าวธฤตราษฎร (กษัตริย์บอด) เป็นลูกผู้พี่ของกษัตริย์ปาณฑพทั้งห้า (ดู เทราปที - ลำดับที่ ๒๕๘๙ ประกอบด้วย)        ๑๔/ ๘๗๑๒
                ๒๕๙๓. ทุรวาส  เป็นชื่อฤาษีสำคัญ ผู้ "นุ่งห่มปอน"  เป็นคนโทโสร้าย เป็นต้นเหตุแห่งกุรมาวตาร ในเรื่องนารายณ์สิบปาง เมื่อใดใครทำให้ขัดใจ แม้เล็กน้อยก็มักจะสาปเสียทันที ครั้งหนึ่งพระกฤษณ์ได้นิมนต์ฤษีทุรวาสฉัน แต่ลืมเช็ดเศษอาหารที่ได้ตกเปื้อนเท้าฤษีตนนั้น ฤษีโกรธจึงทำนายว่า พระกฤษณ์จะตายโดยอาการเลวทราม เป็นการแช่งให้พระกฤษณะ ต้องตายด้วยมือพรานผู้หนึ่ง        ๑๔/ ๘๗๑๘
                ๒๕๙๔. ทุเรียน - ต้น  เป็นพันธุ์ไม้ผล ที่ปลูกเก็บผลบริโภคกันมากมายทั่วทั้งภาคเอเชียอาคเนย์ มีหลายพันธุ์ต่างกันตามลักษณะ เป็นต้นไม้ใหญ่ดอกออกเป็นกระจุกตามกิ่ง ผลมีหนามแข็งเต็มทั่วทั้งลูก มองเห็นเป็นพู ๆ ห้าพูด้วยกัน ภายในมีเมล็ดซึ่งมีเนื้อเยื่อหุ้มอยู่ เนื้อนี้ใช้บริโภค มีรสหวานมัน และมีกลิ่น          ๑๔/ ๘๗๑๙
                ๒๕๙๕. ทุษยันต์  เป็นกษัตริย์จันทรวงศ์ สกุลโปรพ ในเรื่องศกุนตลา ครองนครหัสตินปุระ เป็นพระสวามีนางศกุนตลา เป็นพระราชบิดาพระภรต จันทรวงศ์ ผู้เป็นปฐมจักรพรรดิ์ เป็นตัวเอกในละครเรื่อง ศกุนตลา ของกาลิทาส         ๑๔/ ๘๗๒๐
                ๒๕๙๖.  ทู - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาอินทรีย์ มีเกล็ดละเอียด ปลาสกุลนี้ว่ายน้ำเก่ง ในอ่าวไทยมีพอแยกออกเป็นสองชนิดคือ
                        ๑. ปลาทู  มักอยู่รวมกันเป็นฝูง ตามชายฝั่งทะเล เคยมีข่าวว่าเมื่อว่างไข่ที่เกาะไหหลำ เมื่อถึงฤดูลมหนาวพัดเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งในเวลานั้นจะมีเรือสำเภาจากจีนเข้ามา กระแสน้ำก็จะพัดพาปลาตัวเล็ก ๆ จากเกาะไหหลำ เข้าสู่อ่าวไทย และแตกออกเป็นสองสาย ตรงแหลมมลายูตอนตรังกานู สายหนึ่งแยกออกทางซ้ายมือ  ส่วนอีกสายหนึ่งแยกออกทางขวามือ กระแสน้ำไหลเลาะตามฝั่ง ผ่านสุราษฎรธานี ขึ้นมาสู่อ่าวไทย ที่ท่าจีน สมุทรปราการ และชลบุรี เป็นต้น
                        ๒. ปลาทูหัวโม่ง  มีขนาดใหญ่กว่าประเภทแรก ตัวยาวประมาณ ๒๕ ซม. พบที่ จ.ระยอง เป็นส่วนใหญ่
                        มีปลาอีกชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า "ปลาทูนา" ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกันสองสกุล ที่จัดอยู่ในวงศ์ปลาโอ อยู่ตามทะเลเขตอบอุ่น มีขนาดโตมาก พบอยู่ในอ่าวไทยตอนใน
                        นอกจากนี้ ยังมีปลาทุกัง ซึ่งมีที่มาจากภาษามลายู เฉพาะปลาทูน้ำจืด คงเป็นคำกลางใช้เรียกปลา ซึ่งมีรูปร่างคล้ายปลาทู จึงเรียกว่า ปลาทูน้ำจืด        ๑๔/ ๘๗๒๑
                ๒๕๙๗. ทูต ๑ - กบ  เป็นกบใหญ่ หรือกบยักษ์ ก็เรียก มีอยู่มากมายหลายชนิด มีขนาดยาว ๒๗ ซม. น้ำหนัก ๑.๖ กก. รูปร่างเหมือนกบทั่วไป มีเสียงร้องค่อนข้างดังมาก         ๑๔/ ๘๗๒๔
                ๒๕๙๘. ทูต ๒  ได้แก่ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการให้เป็นผู้แทนของประมุข หรือรัฐบาลของตน ในการติดต่อเจรจากับรัฐบาลต่างชาติ
                        การส่งทูตไปติดต่อเจรจากันนั้น มีมาแต่โบราณกาลแล้ว แต่การส่งทูตไปประจำอย่างถาวรนั้น เริ่มขึ้นโดยรัฐต่าง ๆ ในอิตาลี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และแพร่หลายทั่วยุโรปในระยะต่อมา พร้อมกันนั้นก็มีการพัฒนาระเบียบแบบแผนขึ้น ซึ่งถือปฎิบัติเป็นสากลในปัจจุบัน เช่น การใช้กิริยาวาจาที่สุภาพต่อกัน
                        ระเบียบแบบแผนในการทูต ที่สำคัญ ได้แก่ พิธีทางการทูต อภิสิทธิและสิทธิคุ้มกัน และการไม่แทรกแซงในการกิจการภายใน
                         หน้าที่และบทบาทของทูต  ที่สำคัญที่สุดคือ การติดต่อเจรจากับอีกรัฐบาลหนึ่ง เพื่อให้เกิดการตกลงที่จะสนองผลประโยชน์ของประเทศ ตามนโยบายที่รัฐบาลของตนได้วางไว้ นอกจากนั้น ทูตยังมีหน้าที่สร้างภาพลักษณ์และความรู้สึกที่ดีต่อรัฐบาล และประเทศของตน การดูแลพิทักษ์คนในชาติของตน ที่พำนักอยู่ในประเทศที่ตนประจำอยู่ รวมทั้งการรายงานสถานการณ์ในประเทศนั้น ไปยังรัฐบาลของตน
                         การทูตไทย  ประวัติการทูตไทย เป็นเรื่องของความพยายามที่จะรักษาเอกราช และความมั่นคงของประเทศ  ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของการทูตไทย ที่ช่วยรักษาเอกราชของประเทศมาได้คือ ความยืดหยุ่นหรือการดำเนินนโยบายแบบลู่ลม โดยพร้อมที่จะปรับตัวและนโยบายให้เข้ากับสถานการณ์         ๑๔/ ๘๗๒๔
                ๒๖๙๙. ทูษณ์  เป็นชื่อพญายักษ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นน้องร่วมครรภ์กับทศกัณฐ์ เกิดด้วยนางรัชฎา ผู้เป็นมเหสีคนที่ห้าของท้าวลัสเตียน มีพี่น้องร่วมครรภ์เดียวกันหกตน ทูษณ์ เป็นองค์ที่ห้า ครองกรุงจารึก แคว้นชนบท เมื่อทราบข่าวว่าพญาขร ผู้พี่ชายถูกพระรามฆ่า ก็ยกทัพไปรบพระราม ถูกศรพระรามตาย         ๑๔/ ๘๗๓๑
                ๒๖๐๐. เทคโนโลยี  เราอาจให้ความหมายของคำนี้อย่างกว้าง ๆ ว่า "วิทยาการ" หรือ "วิชาความรู้" ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำ สร้างประดิษฐ์หรือผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์
                    เทคโนโลยีอาจนับได้ว่า มีมาแต่โบราณ วิทยาศาสตร์ซึ่งเริ่มเมื่อประมาณ ๓๕๐ ปีมานี้ และเพียงร้อยปีที่แล้วมานี้ ที่วิทยาศาสตร์เริ่มให้ประโยชน์อย่างมากทางเทคโนโลยี ปัจจุบันเทคโนโลยีแทบทุกชนิด ได้ใช้หรืออาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์         ๑๔/ ๘๗๓๒
                ๒๖๐๑. เทนนิส  เป็นกีฬาอย่างหนึ่ง ซึ่งเล่นกันเป็นที่แพร่หลายทั่วโลก อาจจัดให้เล่นทั้งกลางแจ้งและในร่ม คำว่า เทนนิส มีความเข้าใจเป็นสองอย่างคือ
                       ๑. ลอนเทนนิส  หรือเทนนิส ที่เรียกกันโดยทั่วไป เป็นการเล่นกลางแจ้ง
                       ๒. เทนเบิลเทนนิส หรือปิงปอง  เป็นการเล่นในร่ม
                       ลอนเทนนิส  เป็นกีฬาที่เล่นข้างหนึ่งคน หรือสองคน โดยใช้ไม้แร็กเกตตีลูกบอลกลมข้ามตาข่าย เล่นข้างละคนเรียกว่า ประเภทเดี่ยว เล่นข้างละสองคน เรียกว่า ประเภทคู่ การเล่น จะเล่นบนพื้นเรียกว่า คอร์ต แบ่งกึ่งกลางมีตาข่ายขึง แต่ละครึ่งของสนามแบ่งออกเป็นสองแดน ซ้ายกับขวา ผู้เล่นพยายามตีลูกไปยังฝ่ายตรงข้าม และเมื่อฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตีลูกกลับได้ หรือตีลูกออกก็เสียแต้ม
                        เชื่อกันว่า กีฬาเทนนิสได้เริ่มเล่นมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยเล่นกันในรชวงศ์ของประเทศฝรั่งเศส ใช้มือตีลูกบอลข้ามเชือก ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้เปลี่ยนจากการใช้มือ มาเป็นใช้ไม้แร็กเกตตี
                       เทเบิลเทนนิส  (ปิงปอง)  เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๓ ใช้เล่นกับพื้นโต๊ะ เล่นด้วยลูกกลมทำด้วย เซลลูลอย ใช้ไม้ตีเรียกว่า แร็กเกต เหมือนกัน วิธีเล่นใช้แร็กเกตตีลูกข้ามตาข่าย จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะทำเสีย ก็นับเป็นคะแนนได้ การเล่นมีทั้งประเภทเดี่ยว และประเภทคู่          ๑๔/ ๘๗๓๒
                ๒๖๐๒. เทพ  เป็นชื่อตำแหน่งพระราชาคณะ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานแก่พระภิกษุผู้บริหารหมู่คณะสงฆ์ ฝ่ายพระพุทธศาสนา
                        คำว่า "เทพ"  เป็นเครื่องกำหนดชั้นของพระราชาคณะ นับแต่สมเด็จพระราชาคณะลงมา ชั้นเทพเป็นชั้นที่สี่ ในจำนวนหกชั้น พระราชาคณะชั้นเทพ เพิ่งมาปรากฎในสมัยอยุธยา พระราชาคณะชั้นนี้มีราชทินนามกำกับ คำว่า เทพ โดยเฉพาะอีก เช่น พระเทพกวี พระเทพโมลี พระเทพมุนี และเพิ่มพระเทพเมธี ขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่งในรัชกาลที่ห้า ประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๗         ๑๔/ ๘๗๓๔
                ๒๖๐๓.  เทพกษัตรี - พระ  เป็นพระราชธิดาองค์ที่สอง ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
                        พระชัยเชษฐา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต หลังจากถูกพม่าตีเมืองเวียงจันทน์ได้ และกวาดต้อนผู้คนรวมทั้งพระมเหสี ไปยังกรุงหงสาวดี จึงได้ให้ทูตเชิญพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ขอพระราชทานพระเทพกษัตรีไปเป็นมเหสี แต่กองทัพพม่าชิงพระเทพกษัตรี ระหว่างเดินทางไปเวียงจันทน์ไปได้         ๑๔/ ๘๗๓๖
                ๒๖๐๔. เทพทาโร - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๔๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียว สลับรูปรี ป้อม ยาว ๕ - ๘ ซม. กว้าง ๓ - ๕ ซม. ดอกเล็กสีขาว หรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อเรียว ๆ ตามง่ามใบ ผลรูปกลมรี
                        เนื้อไม้ละเอียดสีชมพู แกมน้ำตาล มีกลิ่นหอมน้ำหนักเบา ใช้ในการก่อสร้างภายใน และหีบศพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ทางการได้กำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ห้ามมิให้ตัดฟันนำออก เว้นแต่จะได้อนุมัติเป็นกรณีพิเศษ         ๑๔/ ๘๗๓๙
                ๒๖๐๕. เทพธิดาราม - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ภายในกำแพงพระนคร ถนนมหาไชย แขวงสำราษฎร์  เขตพระนคร
                        วัดเทพธิดาราม เดิมคงเป็นวัดราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรด ฯ ให้สถาปนาวัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง ซึ่งสร้างจากวัดเก่าเดิม เสร็จในปี พ.ศ.๒๓๘๒ เมื่อเสร็จแล้วได้เสด็จ ฯ มาในพิธีผูกพัทธสีมา และพระราชทานนามวัดว่า วัดเทพธิดาราม ด้วยทรงมีพระราชดำริจะเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
                        ถาวรวัตถุที่สร้างในวัดนี้ มีอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ การก่อสร้าง และเครื่องประดับเป็นศิลปะแบบจีน
                        มีกุฏิหลังหนึ่ง ที่คณะ ๗ ข. เป็นกุฎิที่สุนทรภู่ กวีเอกของไทย เคยมาจำพรรษาอยู่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๓ - ๒๓๘๕         ๑๔/ ๘๗๔๐
                ๒๖๐๖. เทพนม, เทพประนม  มีคำนิยามว่า "ชื่อรูปหรือลาย มีเทวดาประนมมือ, ชื่อท่ามวยท่าหนึ่ง, ชื่อท่ารำท่าหนึ่ง
                        ชื่อรูปหรือลาย มีเทวดาประนมมือ จะเป็นการเขียนเพียงครึ่งองค์ หรือเต็มองค์ ถ้าเป็นแต่เฉพาะโดด ๆ ก็เรียก "ภาพเทพนม"  แต่ถ้าประกอบลวดลายเข้าเป็นทรงพุ่มเมื่อใด ก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ลายพุ่มข้าวบิณฑ์เทพนม" ถ้าเป็นภาพเขียนทั้งองค์ในท่านั่งประนมมืออยู่ตามผนัง ภายในพระอุโบสถหรือหอพระ โดยเขียนนั่งเรียงกันเป็นแถวเรียกว่า "เทพชุมนุม" ถ้าเป็นภาพเทพนมท่ายืนที่บานหน้าต่างพระอุโบสถ พระที่นั่ง หอพระ หอไตร อันหมายถึงเทพารักษ์ ซึ่งมีหน้าที่อภิบาลรักษาสถานที่ หรือปูชนียวัตถุนั้นเรียกว่า "เทพนมทวารบาล"
                        ชื่อท่ามวยท่าหนึ่ง หมายถึงนักมวยไทย (รำไหว้ครู และชกแบบมวยไทย) ก่อนจะเริ่มการชกมวยแบบไทย ในการไหว้ครูนี้มีท่ารำเทพนมของท่ามวยด้วยท่าหนึ่ง
                        ชื่อท่ารำท่าหนึ่ง หมายถึงรำแม่บทของโขน ละครไทย ในกระบวนท่ารำหลายท่า         ๑๔/ ๘๗๔๓
                ๒๖๐๗. เทพฤาษี  เป็นฤาษีพวกหนึ่งในจำนวนฤาษีสี่เหล่า ที่จำแนกไว้ในศาสนาพราหมณ์ และในวรรณคดีสันสกฤตคือ มหาฤาษี ราชฤาษี เทพฤาษี และพรหมฤาษี
                       เทพฤาษี เป็นฤาษีที่จัดว่าสูงสุดโดยชาติกำเนิด กล่าวคือเป็นเทพมาตั้งแต่เกิด แล้วบำเพ็ญพรตถือเพศเป็นฤาษีภายหลัง แม้พระศิวะก็เป็นเทพฤาษี
                        เทพฤาษี รุ่นเก่าแก่ที่สุดนับย้อนไปถึงสมัยพระเวทคือ พระพฤหัสบดีถือว่าเป็นเทวปุโรหิตของทวยเทพคู่กับพระอัคคี จนถึงสมัยมหากาพย์ และปราณะจึงกลายเป็นฤาษีโดยสมบูรณ์ เทพฤาษีแต่ยุคพระเวทคู่เคียงกับพระพฤหัสบดีคือ พระศุกร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของพวกอสูรทั้งมวล ส่วนพระพฤหัสบดีเป็นอาจารย์ของทวยเทพทั้งหลาย         ๑๔/ ๘๗๕๐
                ๒๖๐๘. เทพสตรี - ท้าว  เป็นนามบรรดาศักดิ์วีรสตรีไทยท่านหนึ่ง มีนามเดิมว่าจันทร์ เป็นภริยาพระยาถลางภูธร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เป็นที่รู้จักในนามคุณหญิงจันทร์ ท่านมีความดีความชอบในราชการ ด้วยการเป็นหัวหน้าร่วมกับกรมการเมืองถลาง ต่อสู้ศึกพม่าที่ยกมาตีเมืองถลาง เมื่อเสร็จงานพระราชสงครามครั้งนี้แล้ว ท่านได้รับโปรปดเกล้า ฯ ให้เป็นท้าวเทพสตรี         ๑๔/ ๘๗๕๑
                ๒๖๐๙. เทพศิรินทราวาส - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบ กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงสร้างอุทิศถวายสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนี พระบรมราชชนี เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙         ๑๔/ ๘๗๕๓
                ๒๖๑๐. เทพอัปสร  โดยรูปคำแปลว่านางฟ้า เกิดเป็นคู่บุญบารมีของเทพบุตร เทพธิดา และเกิดเป็นหมู่พร้อมกัน ผู้ที่ได้ทำบุญกุศลไว้ในมนุษย์โลก ท่านว่ามีวิมานผุดรออยู่ในเมืองฟ้าแล้ว นางเทพอัปสรก็เกิดพร้อมกับวิมานนั้น และเฝ้าวิมานไว้คอยท่าคนที่ทำบุญ ซึ่งจะเป็นเจ้าของวิมานนั้น นางเทพอัปษรนี้เกิดเป็นคู่บุญบารมีของเทพบุตรเทพธิดาและเกิดเป็นหมู่พร้อมกัน        ๑๔/ ๘๗๕๘
                ๒๖๑๑. เทพา ๑  อำเภอขึ้น จ.สงขลา มีอาณาเขตทิศเหนือ และทิศตะวันออก ตกทะเลอ่าวไทย ภูมิประเทศตามชายทะเลตอนทิศตะวันออกเป็นที่ราบทำนาได้ ตอนเหนือเป็นที่สูง ทางใต้และทางตะวันตกเป็นที่สูงมีป่า และเขาโดยมาก
                        อ.เทพาเดิมเป็นเมืองขึ้นเมืองปัตตานี ต่อมาถูกยุบเป็นอำเภอ เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล         ๑๔/ ๘๗๕๙
                ๒๖๑๒. เทพา ๒ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง และมีขนาดใหญ่กว่าปลาอื่นในเมืองไทย เท่าที่สำรวจพบมีขนาดยาว ๓ เมตร มีขนาดใกล้เคียงกับปลาบึกของแม่น้ำโขง         ๑๔/ ๘๗๖๐
                ๒๖๑๓. เทพี - ต้น  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ลำต้นเป็นเถาใหญ่ ตามกิ่งก้าน มีหนามแหลมปลายงองุ้ม ใบเป็นแบบใบประกอบสองชั้น ยาว ๒๐ - ๓๐ ซม. ดอกออกตามยอดหรือตามง่ามใบ ตอนปลาย ๆ กิ่ง เป็นช่อกลมยาว ๑๔ - ๒๒ ซม. มีดอกดกสีเหลืองอ่อน ๆ กลิ่นหอม ผลเป็นฝักแบน ๆ มีปีกบางยาวหนึ่งปีก         ๑๔/ ๘๗๖๒
                ๒๖๑๔. เทพี ๒  มีคำนิยามว่า "เรียกหญิงที่นำหน้าที่โปรยพืชธัญญาหารในพิธีแรกนาว่านางเทพี"
                        เทพีในพิธีแรกนา เริ่มต้นมีการกำหนดจำนวนจริงจังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลบจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้โปรดให้มีนางเเทพีขึ้นด้วยสี่คน นางเทพีแรกนาขวัญมีหน้าที่นั่งรับศีล ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ อยู่ในพระฉากหลังพระแท่น พร้อมกับพระยาแรกนา         ๑๔/ ๘๗๖๓
                ๒๖๑๕. เทโพ - ปลา  เป็นปลาอยู่ในสกุลเดียวกับปลาเทพา และในวงศ์ปลาสวาย ได้ตั้งชื่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๙ ได้กระจายพันธุ์อยู่ตามลำน้ำเจ้าพระยา และเขตติดต่อกับลุ่มน้ำนี้         ๑๔/ ๘๗๖๗
                ๒๖๑๖. เทราปที  เป็นชื่อเจ้าหญิงองค์หนึ่งในมหากาพย์เรื่องมหาภารตะของอินเดีย นามจริงคือ "กฤษณา" ซึ่งแปลว่าดำ เพราะนางมีผิวคล้ำ แต่มีความงามยอดยิ่งชื่อเทราปที แปลว่าธิดาธิดาแห่งท้าวทุรบท ท้าวทุรบทแห่งแคว้นปัญจา และให้พราหมณ์ทำพิธีชุบลูกให้เแก่พระองค์ บังเกิดเป็นกุมารองค์หนึ่งขึ้นกลางกองไฟ พระองค์รับมาเป็นโอรส ต่อมาเกิดกุมารีขึ้นกลางเวที พระองค์ให้นามว่าเทราปที นอกจากนี้นางยังได้นามอื่น ๆ อีกหลายนาม และเมื่อเวลาปลอมตนเป็นนางพนักงานของราชินีแห่งแคว้นจิราฎใช้นามว่า "ไสรินธรี"
                        เมื่อนางเจริญวัยถึงคราวควรจะมีคู่ ท้าวทุรบทได้ประกาศพิธีสยุมพรให้แก่นาง โดยเชิญหน่อกษัตริย์ทั้งหลายมาประชุมแข่งขัน แสดงฝีมมือยิงธนู ปรากฎว่าเจ้าชายอรชุน ผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่เจ้าชายปาณฑพห้าองค์ได้ชัยชนะ จึงได้รับเลือกให้เป็นสามีของนางเทราปที เมื่อพานางกลับมายังตำหนักในป่า อันเป็นที่หลบภัยของเจ้าชายทั้งห้าและมารดา อรชุนได้ทูลพระนางกุนดี ผู้เป็นพระมารดาว่าตนได้ลาภมา พระนางกุนดีจึงตรัสว่า "จงแบ่งกันระหว่างพี่น้องเถิด" เลยเกิดมีปัญหา ฤาษีวยาสต้องมาจัดการให้เรียบร้อย ตกลงนางจำต้องมีสามีทั้งห้าคน แต่นางก็รักอรชุนมากว่าคนอื่น
                        เมื่อยุธิษเฐียร แพ้พนันสกาแก่ทุรโยชน์ เทราปทีต้องตกเป็นทาสของผู้ชนะถูกประจาน และถูกทำให้อับอาย ในที่สุดท้าวธฤตราษฎร์ราชาพระเนตรบอด ผู้เป็นพระชนกของทุรโยชน์ต้องเข้ามาไกล่เกลี่ย โดยให้เนรเทศเจ้าปาณฑพทั้งห้า กับนางเทราปทีไปอยู่ป่ามีกำหนด ๑๒ ปี และในปีที่ ๑๓ ให้ซ่อนตัวมิให้ใครจำได้ พ้นจากนั้นแล้ว จึงให้กลับมาเอาบ้านเมืองคืน
                        เมื่อครบ ๑๓ ปี เจ้าชายปาณฑพกับนางเทราปนีกลับบ้านเมือง ทุรโยชน์ไม่ยอมคืนเมืองอินทรปรัสถ์ให้ จึงเกิดสงครามใหญ่ระหว่างฝ่ายเการพ (ทุรโยชน์กับพวกพ้อง) กับฝ่ายปาณฑพ เป็นมหาสงครามรบกัน ๑๘ วัน และฝ่ายเการพเเป็นฝ่ายปราชัย
                        ในบั้นปลายแห่งชีวิต กษัตริย์ปาณฑพทั้งห้า และนางเทราปที ยุธิษเฐียรได้มอบราชสมบัติให้เจ้าชายปรีกษิตครอบครอง (หลานอรชุน) แล้วออกเดินป่าพร้อมด้วยภราดาทั้งสี่ และเทราปที มีสุนัขติดตามไปด้วยตัวหนึ่ง มุ่งสู่ภูเขาหิมาลัย เพื่อไปสู่สวรรค์ของพระอินทร์ ระหว่างทางทุกคนทะยอยกันล้มตายไปหมด เหลือแต่ยุธิษเฐียรเดินทางไปถึงประตูสวรรค์ พร้อมกับสุนัขตัวนั้น ซึ่งปรากฎภายหลังว่าเป็นธรรมเทพ (ลูกพี่ลูกน้อง)          ๑๔/ ๘๗๖๙
                ๒๖๑๗. เทวกี  เป็นราชธิดาของราชาเทวะ และมีศักดิ์เป็นน้องสาวของพญากงส์ โอรสของอุครเสน แห่งนครมถุรา พญากงส์ คือ อสูรกาลเนมิ มาเกิดเป็นคนโหดเหี้ยมทารุณ และไม่นับถือพระวิษณุ ได้แย่งราชสมบัติจากบิดาของตน แล้วคบพวกอสูรชั่วร้าย ทำความเดือดร้อนแก่คนทั้งหลาย บรรดาเทพจึงพากันไปอ้อนวอนพระวิษณุ ขอให้อวตารลงไปปราบพญากงส์ และพรรคพวก พระวิษณุโปรดให้พระอทิติเทพมารดร ชายาพระกัศยปฤษีเทพบิดร ลงไปเกิดเป็นนางเทวกี เพื่อจะได้เป็นมารดาของพระองค์ ในคราวอวตารไปเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อจะปราบพญากงส์
                        เมื่อนางเทวกี เจริญวัยได้เป็นชายาของวสุเทพ ผู้เป็นเจ้าชายเผ่ายาทพ แห่งจันทรวงศ์ แต่พระองค์ไร้ฝีมือทางอาวุธ ต่อมาพญากงส์ทราบว่าลูกของนาวเทวกี จะเป็นผู้ฆ่าตนเสีย จึงตกใจและโกรธแค้น จะฆ่านางเทวกีแต่วสุเทพ ขอชีวิตนางไว้ โดยสัญญาว่าเมื่อไรนางคลอดบุตร ตนจะเอาลูกของนางมาให้พญากงส์ฆ่าแทน
                        ต่อมานางเทวกีคลอดบุตรรวม ๖ คน พญากงส์ก็เอาไปฆ่าเสียสิ้น เมื่อนางตั้งครรภ์บุตรคนที่เจ็ดคือ พระกฤษณะ พระวิษณุก็ทำอุบายจนพญากงส์เอาตัวมาฆ่าไม่ได้ เมื่อพระกฤษณะเจริญวัยขึ้น มีอานุภาพหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ได้กลับมาฆ่าพญากงส์ และประหารอสูรร้าย อันเป็นพวกพญากงส์เสียสิ้น         ๑๔/ ๘๗๗๓
                ๒๖๑๘. เทวดา ๑ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดสวยงาม ที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลาย ถิ่นเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แถบลุ่มแม่น้ำอเมซอน และออริโนโด
                        ลักษณะทั่วไปของปลาเทวดาคือ มีลำตัวแบนข้างมาก ครีบหลัง และครีบก้นแผ่ตัวสูง ครีบท้องมีก้านครีบยื่นออกไปเส้นยาวมาก ครีบหางตัดตรง ลำตัวมีสีผิดกันไปตามพันธุ์ โดยปรกติเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ขนาดโตเต็มที่ยาว ๑๒ .๕ - ๑๕ ซม.         ๑๔/ ๘๗๗๖
                ๒๖๑๙. เทวดา ๒   มีคำนิยามว่า "หมู่เทพ  พวกชาวสวรรค์"  ผู้เป็นเทวดาคือ ผู้มีแสงสว่างซ่านออกจากตัว ผู้เกิดเป็นเทวดาต้องทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา ที่อยู่ของเทวดาเรียกว่า สวรรค์
                        คำว่า "เทวดา"  โดยรูปคำเป็นเพศหญิง แต่โดยความหมายเป็นได้ทุกเพศ โดยปรกติมักหมายถึง เพศชาย ถ้ามุ่งถึงเพศชายใช้ว่า เทวบุตร หรือเทพบุตร ถ้ามุ่งถึงเพศหญิงใช้ว่า เทวธิดาหรือเทพธิดา
                        ในคัมภีร์จูฬนิทเทส ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก แบ่งเทวดาออกเป็นสามประเภทคือ
                        ๑. สมมติเทพ ได้แก่ พระราชา พระเทวี และพระกุมาร
                        ๒. อุปปัติเทพ ได้แก่ เทวดา ชาวสวรรค์
                        ๓. วิสุทธิเทพ ได้แก่ พระอรหันต์ สาวกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า
                        ส่วนพระพุทธเจ้าเป็นอติเทพ นับเข้าในวิสุทธิเทพ ในพระสูตรหลายแห่งกล่าวถึง ความสูงต่ำของเทวดาไว้ว่า เป็นอำนาจของบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญไว้ต่างกัน         ๑๔/ ๘๗๗๙
                ๒๖๒๐. เทวทัต  เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นโอรสของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งโกลิยวงศ์ ในนครเทวทหะ กับพระนางอมิตา พระภคินีของพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา  มีพระภคินีองค์หนึ่งคือ เจ้าหญิงพิมพา หรือยโสธรา ซึ่งได้สมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ
                        หลังจากบรรพชาอุปสมบทแล้ว พระเทวทัตกับพระภิกษุอีกหกรูปได้พักจำพรรษา เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย อยู่กับพระบรมศาสดา ณ อนุปิยอัมพวัน และในระหว่างพรรษานั้น พระภัททิยะได้สำเร็จวิชชาสาม พระอนุรุทธ์ได้ทิพจักษุ ต่อมาได้ฟังมหาปุริสวิตักกสูตร จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระอานนท์ได้สำเร็จพระโสดาบัน พระภคุ พระกิมพิละ ได้สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนพระเทวทัตได้ฌานสี่ และมีฤทธิ์ขั้นปุถุชน สามารถนิรมิตตน ให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้
                        ต่อมาประมาณแปดปี ก่อนพุทธปรินิพพาน พระเทวทัตได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปยังนครโกสัมพี พร้อมกับเถระผู้ใหญ่ แปดสิบรูป มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะ เป็นต้น ปรากฎว่าชาวเมืองพากันนำภัตตาหาร ผ้าและเภสัช ไปถวายพระพุทธองค์ และพระเถระผู้ใหญ่วันละมาก ๆ แต่ไม่มีผู้ใดถามหาพระเทวทัตเลย ทำให้ท่านน้อยใจมาก
                        วันหนึ่ง พระเทวทัตเกิดความคิดว่า ทำไมจึงไม่มีใครรู้จักตนบ้าง จะหาผู้ใดดีให้เป็นผู้อุปัฎฐาก จึงจะมีลาภสักการะเช่นพระเถระรูปอื่น ๆ แล้วก็คิดถึงยุพราช แห่งมคธรัฐ คือ เจ้าชายอชาติศัตรู ราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระเยาว์ ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา จึงได้เดินทางไปยังนครราชคฤห์ พอได้โอกาสจึงนิรมิตตน เป็นกุมารน้อย มีงูพิษพันอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แล้วเหาะไปปรากฎตัวบนพระเพลาของเจ้าชายอชาติศัตรู แล้วคลายฤทธิ์กลับเป็นพระภิกษุ เจ้าชายทรงเลื่อมใสในอิทธิฤทธิ์นั้นมาก ถึงกับปวารณาตนเป็นผู้อุปถัมภ์พระเทวทัต และทรงให้สร้างวิหารถวายที่ตำบลคยาสีสะ
                       เมื่อได้รับลาภสักการะและได้รับคำสรรเสริญมาก พระเทวทัตก็หลงลืมตัวเกิดความปรารถนาว่า ต่อไปจะปกครองสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้จากพระมหาโมคคัลลานะ จึงตรัสว่าการกระทำของเทวทัตจักปรากฎผลออกมาเอง แล้วตรัสเทศนาเรื่องศาสดาห้าจำพวกให้ฟัง ต่อมาพระพุทธองค์ได้เสด็จไปถึงพระเวฬุวันได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า สักวันหนึ่งพระเทวทัตจักเสื่อมลาภสักการะ และจักเสื่อมจากกุศลกรรมทั้งหลาย และตรัสเปรียบเทียบว่าผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ และลูกม้าอัสดรย่อมฆ่าแม่ม้า ฉันใด ลาภสักการะ และสรรเสริญที่เกิดแก่เทวทัตย่อมฆ่าพระเทวทัตฉันนั้น
                        ต่อมาวันหนึ่งพระเทวทัตไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลขอปกครองสงฆ์แทนพระพุทธองค์ โดยอ้างว่าพระพุทธองค์ทรงชรามากแล้ว แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต พระเทวทัตโกรธจัดจึงผูกอาฆาตพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้สงฆ์ทำปกาสนียกรรมแก่พระเทวทัต ได้รับสั่งให้พระสารีบุตร เป็นตัวแทนสงฆ์ไปประกาศในกรุงราชคฤห์แทนสงฆ์ ตามความเป็นจริงว่า แต่ก่อนพระเทวทัตเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้กลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใด พูดอย่างใด ไม่พึงเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเป็นเรื่องเฉพาะตัวพระเทวทัตเท่านั้น
                        พระเทวทัตคิดว่าตนถูกพระพุทธเจ้าทอดทิ้งแน่แล้ว จึงวางแผนจะสร้างความพินาศแก่พระพุทธเจ้า แล้วเข้าไปเฝ้าเจ้าชายอชาติศัตรู ทูลยุยงให้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชย์เสียเอง ส่วนตนเองก็จะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า แล้วขึ้นทำหน้าที่แทน เจ้าชายอชาติศัตรู ได้ดำเนินการตามจนเป็นผลสำเร็จ จากนั้นพระเทวทัตก็เริ่มดำเนินการให้คนไปยิงพระพุทธเจ้า แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงดำเนินการขั้นที่สองคือ ขึ้นไปบนเขาคิชกูฎ แล้วกลิ้งก้อนหินให้ตกมาทับพระพุทธเจ้า แต่ไม่เป็นผล เพียงแต่มีเศษหินกระเด็นไปถูกพระบาทพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดห้อพระโลหิตขึ้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายที่ติดตามว่า การกระทำดังกล่าวจัดเป็นอนันตริยกรรมคือ บาปหนักยิ่งประการหนึ่ง
                        พระเทวทัตได้พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าต่อไปอีก โดยให้ช้างนาฬาคีร์ของพระเจ้าอชาติศัตรูที่กำลังตกมัน มาทำรายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงปราบช้างนั้นได้ ประชาชนผู้ประสบเหตุการณ์ต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการ และเลื่อมใสในพุทธานุภาพ ในขณะเดียวกันก็กล่าวโจษขานกันว่า เรื่องนี้พระเทวทัตเป็นตัวการ และตำหนิพระเจ้าอชาติศัตรู ที่ยังบำรุงพระเทวทัตอยู่ พระเจ้าอชาติศัตรูจึงงดการบำรุงพระเทวทัต และชาวกรุงก็ไม่ยอมใส่บาตรให้ด้วย
                        เมื่อเสื่อมลาภสักการะแล้ว พระเทวทัตกับเพื่อคู่ใจอีกสี่รูปก็เที่ยวกล่าวอวดตนให้ประชาชนเลื่อมใส แต่ประชาชนก็มิได้หลงเชื่อ วันหนึ่งพระเทวทัตไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอให้ทรงบัญญัติวัตถุห้าประการคือ ให้ถือการอยู่ป่า ถือการบิณฑบาตร ถือผ้าบังสุกุล ถือการอยู่ตามโคนไม้ และถือมังสวิรัติ เป็นวัตรตลอดชีวิต แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต พระเทวทัตจึงพาคณะเที่ยวโฆษณาชวนเชื่อในกรุงราชคฤห์ว่า วัตถุห้าประการเป็นของดี มีประชาชนหลงเชื่อเป็นจำนวนไม่น้อย พระพุทธองค์ทรงทราบจึงเรียกพระเทวทัตมาตรัสเตือน แต่พระเทวทัตไม่ยอมเชื่อ
                        เช้าวันหนึ่งพระเทวทัตพบพระอานนท์ จึงสั่งให้มากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า นับแต่วันนั้นไปท่านจะทำอุโบสถสังฆกรรมแยกจากพระพุทธเจ้า แยกจากสงฆ์ แล้วชักชวนพระภิกษุบวชใหม่ชาววัชชี ๕๐๐ รูป ให้เข้าเป็นพวกและนำไปอยู่ที่วิหารคยาสีสะ กล่าวสอนลัทธิของตนว่า สิ่งที่พระสมณโคดมทำ ไม่ใช่ธรรม สิ่งที่ตนทำเท่านั้นคือ ธรรม
                        เนื่องจากพระภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้น เป็นสานุศิษย์ของพระสารีบุตร พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้พระสารีบุตรติดตามาไปนำกลับมา เมื่อพระเทวทัตรู้เข้า ก็ล้มป่วยอยู่เก้าเดือน เกิดสำนึกตน ก่อนตายขอให้ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขอขมาโทษ แต่เมื่อเดินทางมาถึงหน้าพระเชตุวัน ก็ถูกแผ่นดินแยกตัวพระเทวทัตตกจมลงไป ขณะจมถึงแค่คางได้กล่าวคำสรรเสริญพระพุทธคุณ และขอถึงพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง         ๑๔/ ๘๗๘๓
                ๒๖๒๑. เทวทูต  โดยรูปคำแปลว่า ผู้ที่เทวดาส่งมาหรือส่งไป มีบทนิยามว่า "ชื่อคติแห่งธรรมดาสามประการคือ ชรา พยาธิ มรณะ"
                        คำว่าเทวทูตนี้สันนิษฐานได้เป็นสองนัย นัยหนึ่งเป็นบุคคลาธิษฐานคือ ภาพที่ปรากฎแก่ตาที่สมมติเรียกกันว่าคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย หรือภาพต่าง ๆ ที่ใช้เป็นนิมิตรหมาย  อีกนัยหนึ่งเป็นธรรมาธิษฐาน คือสภาวธรรมที่ได้นามบัญญัติว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือภาพลักษณ์อันปรากฎแก่ใจ ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจ ได้สติแล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทำให้ชีวิตมีประโยชน์ควรแก่ภาวะนั้น ๆ            ๑๔/ ๘๗๙๕
                ๒๖๒๒. เทวธรรม  มีบทนิยามว่า "ธรรมสำหรับเทวดา ธรรมสำหรับทำบุคคลให้เป็นเทวดา คือหิริ และโอตคัปปะ ธรรมหมวดนี้ในคัมภีร์ทุกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก เรียกชื่อว่า ธรรมเป็นโลกบาลคือคุ้มครองโลก" ได้แก่หิริ - ความละอายใจ และโอตตัปปะ - ความเกรงกลัวบาป        ๑๔/ ๘๗๙๗

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch