หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/61

    เล่ม ๑๔ ทะเบียน - ธรรมราชา      ลำดับที่  ๒๔๙๔ - ๒๖๖๘       ๑๔/ ๘๕๑๓ - ๙๑๗๒

                ๒๔๙๔. ทะเบียน  ชื่อบัญชีจดลักษณะ จำนวนคน จำนวนสัตว์ และจำนวนสิ่งของ ตลอดจนการงานต่าง ๆ ที่รัฐบันทึกไว้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับประชาชนพลเมือง
                       คำ "ทะเบียน" คงใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ถึงสมัยอยุธยาจึงปรากฎในกฎหมาย ลักษณะพยานที่ออกในปี พ.ศ.๑๘๙๔
                        คำทะเบียนในกฎหมายนี้ดูจะเป็นครั้งแรกที่มีในหนังสือไทยและเขียนเป็น "เกษียน" และยังมีคำ "หางว่าว" อีกคำหนึ่ง คำนี้ใช้กับทะเบียนเป็น "ทะเบียนหางว่าว"            ๑๔/ ๘๕๑๓
                ๒๔๙๕. ทะแย  เป็นชื่อเพลงไทยเพลงหนึ่ง แต่เดิมเป็นเพลงในอัตราสองชั้น มีมาแต่สมัยอยุธยา นับว่าเป็นเพลงเก่าแก่มากเพลงหนึ่ง
                        เพลงในอัตราสองชั้นนี้ ถ้าใช้เป็นหน้าพาทย์แสดงโขนละครแล้วเรียกว่า "ทะแยกลองโยน" นอกจากนี้ยังใช้เพลงนี้สำหรับปี่กลองชนะ บรรเลงประกอบขบวนเสด็จพยุหยาตราทางสกลมาร์คอีกด้วย เครื่องดนตรีที่ใช้ในการนี้ประกอบด้วยปี่ชวา เปิงมาง และกลองชนะ
                        เพลงทะแยสามชั้น มีผู้แต่งขึ้นในราวต้นรัชกาลที่สาม เดิมแต่งขึ้นสำหรับใช้ร้อง และบรรเลงในตับมโหรี  โดยที่ท่วงทำนองของเพลงทะแยสามชั้น มีลักษณะเป็นสำเนียงมอญปนไทยอันไพเราะ ประกอบกับใช้เสียงครบเจ็ดเสียง จึงนิยมเอามาใช้เป็นเพลงสำหรับเดี่ยวด้วยเครื่องมือต่าง ๆ           ๑๔/ ๕๘๑๘
                ๒๔๙๖. ทะเล  ๑. มีความหมายและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับมหาสมุทร
                        ๒. ทะเลคือส่วนย่อย หรือส่วนหนึ่งของมหาสมุทร ทะเลโดยธรรมชาติจะมีความเกี่ยวพันกับส่วนต่าง ๆ ของระบบน้ำเค็มของโลกทั้งหมด ทั้งนี้ยกเว้นทะเลภายใน ทะเลแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ชนิดทะเลเมดิเตอเรเนียน และชนิดข้างเคียง
                        ทะเลชนิดเมดิเตอเรเนียน เป็นทะเลที่ปรากฎเป็นหมู่ ๆ แยกออกต่างหากจากพื้นน้ำของโลก ส่วนใหญ่เป็นทะเลเกิดขึ้นโดด ๆ อยู่ในแผ่นดินและเป็นทะเลน้ำเค็ม อาจมีอาณาเขตแยกออกไปอยู่โดดเดี่ยวก็ได้ ส่วนทะเลชนิดข้างเคียงคือทะเล ซึ่งติดต่อเกี่ยวข้องกับทะเล หรือมหาสมุทรที่ใหญ่กว่า และมักจะอยู่รอบนอก ๆ ของพื้นแผ่นดิน
                        คำว่ามหาสมุทร คือบริเวณน้ำเค็มที่ต่อเนื่องกันเป็นพื้นที่ร้อยละ ๘๐.๘ ของพื้นที่ผิวโลก เป็นพื้นน้ำใหญ่ ๆ ที่อยู่ระหว่างทวีป และส่วนย่อยลงมาเรียกว่าทะเล ส่วนทะเลน้ำเค็มที่ไม่มีทางให้น้ำเค็มไหลซึมออกสู่มหาสมุทร ก็เรียกว่าทะเลเช่นกัน แต่เป็นทะเลชนิดเมดิเตอเรเนียนเช่น ทะเลเดดซี และทะเลแคสเบียน
                        น้ำทะเลมีรสเค็ม เกลือในทะเลเกิดจากหินของเปลือกโลกที่แตกออกมานานเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี บางชนิดก็เป็นสารที่ละลายได้ บางชนิดก็ไม่ละลาย สารที่ละลายได้ก็เป็นพวกเกลือ ความเค็มที่ใกล้ผิวน้ำทะเล เปลี่ยนแปลงไปตามเส้นรุ้งที่ศูนย์สูตรเค็มน้อยที่สุด
                        น้ำทะเลมีสีฟ้า (สีฟ้าทะเล) เหมือนกับสีท้องฟ้า ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการกระจายแสงโมเลกุลของน้ำทะเล และจากผลเน่าเปื่อยของพืชทำให้เกิดสีเหลืองขึ้น ดังนั้นน้ำทะเลตามชายฝั่งจึงมักมีสีเขียว
                        การเคลื่อนที่ของน้ำในทะเลหรือมหาสมุทร มีทั้งในทิศทางตามแนวตั้งคือ กระแสน้ำไหลขึ้น และกระแสน้ำไหลลง และเคลื่อนที่ตามแนวระนาบเรียกว่า "กระแสน้ำ" ซึ่งจะไหลติดต่อกันทั่วโลก มีทั้งกระแสน้ำอุ่น และกระแสน้ำเย็น
                        กระแสน้ำใกล้ผิวพื้นทะเล เกิดจากแรงลม และแรงกดดันภายใน ลมที่พัดยังทำให้เกิดการม้วนตัวของผิวน้ำด้วยเรียกว่า "คลื่น" คลื่นในทะเลเคลื่อนที่ไปได้ไกล ๆ หลายร้อยหลายพันไมล์ มียอดสูงสุดถึง ๑๕ เมตร        ๑๔/ ๘๕๑๙
                ๒๔๙๗. ทะเลทราย  คือที่รกร้างกันดาร มีสิ่งมีชีวิตอยู่น้อยมาก ได้แก่ พื้นที่แผ่นดินกว้างใหญ่ ที่มีอากาศหนาวจัด หรือร้อนจัด สภาพทางธรรมชาติยากแก่การดำรงชีวิต โดยทั่วไปเป็นที่โล่ง พืชขึ้นอยู่น้อยมาก ท้องฟ้าโปร่ง เมฆน้อย ทำให้อุณหภูมิของอากาศในเวลากลางวัน และกลางคืนแตกต่างกันมาก ความแห้งแล้งในทะเลทราย เกิดจากภาวะที่มีปริมาณการระเหยของน้ำ มากกว่าปริมาณของน้ำที่ได้รับ ในเขตร้อนที่มีอัตราการระเหยของน้ำสูง ถ้าปริมาณฝนที่ตกมีน้อยกว่า ๒๕๐ มม. (ต่อปี - เพิ่มเติม) ก็มักจะเป็นเขตทะเลทราย
                        ภูมิประเทศของทะเลทรายที่เป็นบริเวณที่สูง จะมีลักษณะเป็นภูเขาเกลี้ยง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของกรวดทราย แต่พื้นที่ประมาณสามในสี่ส่วนของทะเลทราย ที่มีอยู่ทั่วโลกมีลักษณะเป็นที่ราบ สวนมากเป็นลานก้อนหินใหญ่ ๆ หรือกรวด ทะเลทรายทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ มีพื้นที่เป็นทรายอยู่เพียงร้อยละสอง ในทะเลทรายสะฮารา มีทรายอยู่เพียงร้อยละสิบเอ็ด ส่วนฝนเมื่อตกลงบนที่ราบมักจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว น้ำจะไหลไปรวมในที่ต่ำ เกิดเป็นทะเลสาบชั่วคราวขึ้น บริเวณที่ต่ำนี้เรียกว่า "พลายา" ถ้าเป็นที่ต่ำมากจนมีระดับน้ำใต้ดิน รากพืชสามารถหยั่งถึงเรียกว่า "โอเอซิส"
                        ทะเลทรายแบ่งออกเป็นสามประเภทตามที่ตั้งของภูมิศาสตร์ ประเภทแรก ได้แก่ ทะเลทรายแถบขั้วโลก อยู่ในเขตอาร์กติกและแอนตาร์กติก เป็นเขตอากาศเย็นจัด น้ำเป็นน้ำแข็งตลอดปี เนื่องจากความทุรกันดารเขตเหล่านี้จัดว่าเป็นทะเลทรายประเภทหนึ่ง ประเภทที่สอง ได้แก่ ทะเลทรายแถบละติจูดกลาง ความแห้งแล้งเกิดจากตั้งอยู่ในใจกลางทวีปเช่น ทะเลทรายเตอร์กิสถาน  หรือเนื่องจากอยู่ในเขตอับลมของภูเขาเช่น ทะเลทรายในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และทะเลทรายในภาคตะวันออกของเทือกเขาแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ ประเภทที่สาม ได้แก่ ทะเลทรายในเขตละติจูดต่ำ เป็นเขตอยู่ใต้อิทธิพลลมสินค้า ซึ่งเป็นลมประจำตะวันออก พัดจากเขตอากาศเย็นไปสู่เขตอากาศอุ่นกว่าอากาศเก็บไอน้ำได้มากโดยไม่กลั่นตัว ทำให้อากาศมีความแห้งแล้ง นอกจากนี้ยังอยู่ในเขตฮอสละติจูด ซึ่งเป็นเขตที่มีความกดอากาศสูง อากาศลอยตัวต่ำลง ทะเลทรายในเขตละติจูดต่ำนี้มักมีขนาดใหญ่ และตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทวีปต่าง ๆ ได้แก่ทะเลทรายสะฮารา ทะเลทรายวิกตอเรีย ทะเลทรายอาหรับ เป็นต้น
                         สิ่งมีชีวิตในทะเลทรายสามารถปรับปรุงตัวให้เข้ากับความแห้งแล้งของทะเลทรายได้         ๑๔/ ๘๕๒๕
                ๒๔๙๘. ทะเลสาบ คือ พื้นน้ำที่มีแผ่นดินล้อมรอบ บริเวณน้ำขังมีลักษณะเป็นแอ่งใหญ่ จะมีทางน้ำไหลออก หรือไม่มีก็ได้ แต่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลสาบมาได้หลายทาง เช่น ฝน แม่น้ำ หิมะละลาย และน้ำใต้ดิน
                        ทะเลสาบ แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ทะเลสาบน้ำเค็ม และทะเลสาบน้ำจืด ทะเลสาบน้ำเค็มเกิดในบริเวณที่มีภูมิอากาศแห้งแล้ง และไม่มีทางน้ำไหลออก น้ำระเหยตัวออกไปอย่างรวดเร็ว เหลือพวกแร่ธาตุต่าง ๆ ตกค้างอยู่ เมื่อนาน ๆ เข้าน้ำในทะเลสาบจึงมีความเค็ม เช่น ทะเลสาบเกรตซอลต์เลค ในสหรัฐอเมริกา ส่วนทะเลสาบน้ำจืดเกิดในบริเวณที่มีภูมิอากาศชุมชื้น และมีทางน้ำไหลออก น้ำที่ไหลออกไปนั้น นำเอาพวกเกลือแร่ต่าง ๆ ออกไปด้วย น้ำจึงไม่เค็ม เช่น ทะเลสาบสุบีเรีย         ๑๔/ ๘๕๒๖
                ๒๔๙๙. ทะเลสาบเขมร  เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของทวีปเอเชีย ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศกัมพูชา ยาวประมาณ ๑๔๐ กม. กว้างที่สุดประมาณ ๔๐ กม. ในฤดูน้ำหลากจะมีอาณาบริเวณถึง ๒๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และมีน้ำลึก ๑๐ - ๑๓ เมตร แต่ในฤดูแล้งจะเหลือเพียง ๒,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่ของน้ำในทะเลสาบได้มาจากแม่น้ำโขง ซึ่งไหลเข้ามาตามแม่น้ำทะเลสาบ ยาวประมาณ ๑๑๐ กม.         ๑๔/ ๘๕๒๘
                ๒๕๐๐. ทักทิน  มีคำนิยามว่า "วันชั่วร้าย" คำนี้มีใช้ในตำราหมอดู เนื่องในการประกอบการหาฤกษ์มงคลต่าง ๆ จำนวนวันทักทินอันเป็นวันห้าม มิให้ทำการมงคล นับตามสูตรที่ท่านแสดงไว้ รวมมีอยู่เก้าวัน         ๑๔/ ๘๕๒๙
                ๒๕๐๑. ทักษ์ หรือทักษะ  คือ ฤษีปชาบดี เป็นบิดานางสตี ซึ่งในชาติหลังไปเกิดเป็นพระอุมา มีเหตุวิวาทกับพระอิศวร เป็นเรื่องใหญ่โต พระทักษมุนีเป็นมานสบุตร (บุตรเกิดแต่ใจ) ของพระพรหม พระทักษะไม่ชอบพระอิศวร ครั้งหนึ่งได้จัดการยัญกรรมใหญ่ เชิญเทวดามาชุมนุมหมด แต่ไม่เชิญพระอิศวร นางสตีไปต่อว่าบิดา แต่ไม่เป็นผล จึงโทมนัสกลั้นใจหาย ความทราบถึงพระอิศวรก็กริ้ว ยิงพระแสงธนูถูกพระทักษะ หัวขาดไป และยิงเทวดาบาดเจ็บไปมาก เมื่อหายพิโรธแล้ว จึงประทานพรให้เทวดากลับคืนดีดังเดิม แต่พระทักษะนั้น ทรงเอาหัวแพะต่อให้แทน ฝ่ายนางสตีนั้น ได้ไปเกิดใหม่เป็นธิดาท้าวหิมวัต มีพระนามว่า อุมา เหมวดี ได้เป็นพระมเหสี พระอิศวร        ๑๔/ ๘๕๓๐
                ๒๕๐๒. ทักษา  เป็นชื่อเรียก อัฐเคราะห์ คือ พระเคราะห์แปดหมู่ ซึ่งประกอบกันเข้าเป็นองค์สมบัติของบุคคล ผู้ที่เกิดมาทุก ๆ คน นับแต่เวลาขณะคลอดจากครรภ์มารดา ที่เรียกกันว่า "ตกฟาก" ไปจนถึงกาลอายุขัย เป็นที่สุด
                        พระเคราะห์แปดหมู่นั้น ภาษาโหราศาสตร์ กำหนดคุณลักษณะเรียกว่า บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี กาลกิณี คนเกิดวันใดพระเคราะห์นามวันนั้น เป็นบริวารแล้ว นับเรียงกันไปโดยทักษาวรรต ตามแผนผังที่พระเคราะห์เดิน
                        คำว่า ทักษา แปลความว่า เวียนขวา ทักษาแปดหมู่นี้ เรียกอีกนัยหนึ่งว่า "ภูมิ" หรือ "เหย้า"  คือ เมื่อได้อัตภาพมาเป็นคนแล้ว ต้องอาศัยพระเคราะห์ทั้งแปดหมู่ ปรุงแต่งเป็นตัวกรรม พระเคราะห์นั้น ๆ จึงเข้าครองรักษาผู้นั้น ผลัดเปลี่ยนกันไปเป็นองค์ละหนึ่งปี นับเริ่มแต่พระเคราะห์นามวันเกิดแล้ว เรียงกันไปโดยเวียนขวา       ๑๔/๕๘๓๐
                ๒๕๐๓. ทักษิณาจาร  เป็นชื่อลัทธิพุทธตันตระแบบหนึ่ง เป็นแบบขวาหรือฝ่ายขวาคู่กับวามาจาร คือ แบบซ้ายหรือฝ่ายซ้าย (ดู ตันตระยาน - ลำดับที่ ๒๒๐๘  ประกอบ)  พุทธตันตระทั้งสองแบบนี้ แตกต่างกันที่หลักการคือ หลักพิธีกรรมและหลักปรัชญา ซึ่งยิ่งและหย่อนกว่ากัน หลักการของฝ่ายทักษิณาจาร มีดังนี้
                         ๑. หลักพิธีกรรม  อันดับแรกเรียกชื่อว่า อภิเษก คือ พิธีรับเข้าหมู่ หรือรับเป็นศิษย์ของพุทธตันตระ เป็นการครอบวิชาให้ เพราะในคติลัทธินี้ แม้พระโพธิสัตว์ก็จะต้องผ่านอภิเษก จากบรรดาพระพุทธเจ้าก่อนจึงจะบรรลุภูมิได้
                        พิธีกรรมอันดับที่สอง เรียกว่า มันตระ หรือ ธารณี คือ การสังวัธยายมนตร์ หรือการบริกรรมคาถา ต้องออกเสียงให้ถูกต้อง อักขรวิธี อย่าให้อักขรวิบัติ
                        การเชื่อถือเวทมนตร์คาถาอาคมขลังของไทย ก็คงมาจากพุทธตันตระนี้เอง แต่เรียกรวมว่า พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ พุทธตันตระนั้น ดึงเอาวิธีการของไสยศาสตร์ทางศาสนาพราหมณ์มา แต่เปลี่ยนเทพเป็นพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์แบบมหายาน
                        พิธีกรรมอันดับที่สามชื่อ มุทรา คือ แสดงท่าต่าง ๆ ด้วยนิ้วมือ หรือแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นเครื่องหมายประจำองค์พระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เช่น สมาธิมุทรา ธรรมจักรมุทรา วิตรรกมุทรา วัชระมุทธา เป็นต้น ที่เรียกว่า ปาง เช่น ปางสมาธิ ปางแสดงธรรมจักร ปางประทานอภัย เป็นต้น
                        พวกตันตระถือว่าผู้ใดทำรูปกายของตน ให้มีอาการดุจอาการ หรือมุทราของพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ หรือเทพองค์ใดก็เท่ากับเชิญท่านดังกล่าวนั้น ให้มาอยู่กับตน ท่ามุทรานี้เดิมเป็นของฮินดูตันตระ ต่อมาพุทธตันตระฝ่ายซ้ายนำมาใช้
                        พิธีกรรมถัดไปชื่อ สมาธิ คือ กำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง จนปรากฎว่าเรากลายเป็นพระ หรือเทพ นั้น ๆ นี้คือ จุดหมายสูงสุดของพุทธตันตระ
                        คำว่า "ความว่าง" ก็คือ ศูนยตา ซึ่งเป็นหลักปรัชญาของสำนักพุทธปรัชญามาธยมิกะ และคำว่า พีชะในอาลัยวิญญาณ ก็คือ หลักปรัชญาของสำนักพุทธปรัชญาโยคาจาร
                         ๒. หลักปรัชญา  มีใจความว่า พระไวโรจนพุทธะ เป็นมูลธาตุของสากลจักรวาล สรรพสิ่งทั้งหลายในสากลจักรวาล จึงมีภาวะอย่างเดียวกับรูปกาย และนามกายของพระไวโรจนพุทธ จะเห็นได้ว่าพระไวโรจนพุทธะของพุทธตันตระนี้เป็นอย่างเดียวกับพรหมันของฮินดูนั่นเอง นับเป็นสัทธรรมปฏิรูปคือของแปลกปลอมในพระพุทธศาสนา ทำให้พระสัทธรรมเดิมอันตรธานจากความเข้าใจของชาวพุทธ        ๑๔/ ๘๕๓๔
               ๒๕๐๔. ทักษิณานุปทาน  มีคำนิยามว่า "ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย" คำว่าทักษิณา แปลว่าเครื่องเจริญสมบัติ หมายความว่าของทำบุญ ซึ่งประสงค์ให้ผู้ตายต่างจากของทำทาน ซึ่งประสงค์ให้คนเป็นเรียกกันเป็นสามัญว่าทำบุญทำทาน
                        ธรรมเนียมนี้มีมาแต่ดึกคำบรรพ์ก่อนพุทธกาล ตกมาถึงพุทธสมัยพระพุทธเจ้าทรงอนุมัติการทำทักษิณา แต่โปรดให้เพ่งประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ กำหนดให้ไทยธรรมคือ ของทำบุญนั้นต้องบริสุทธิ์โดยสามส่วนคือ ต้องเป็นธรรม ต้องได้มาโดยธรรม และต้องเป็นของควรแก่ผู้รับ        ๑๔/ ๘๕๓๘
                ๒๕๐๕. ทักษิโณทก  มีคำนิยามว่า "น้ำที่หลั่งเวลาทำทาน น้ำกรวดหรือเอาน้ำแทนสิ่งของที่ให้ซึ่งใหญ่โต หรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้เช่น วัด ศาลา หรือบุญกุศลเป็นต้น"
                         วิธีใช้น้ำแทนสิ่งของที่ให้นี้มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาลแล้ว ในครั้งพุทธกาลมัชฌิมโพธิกาล การให้ถือเสนาสนะนั้น มีภิกษุเจ้าหน้าที่แจกเสนาสนะ มอบเสนาสนะให้ถือด้วยใช้น้ำแทน
                         การกรวดน้ำที่เรายังทำอยยู่ในบัดนี้ในเวลาพระสงฆ์อนุโมทนา ใช้ภาชนะเช่นเต้า ขวด หรือจอก หรือภาชนะอื่นใดที่ควรกัน มีภาชนะอีกใบหนึ่งเช่นขันหรือถาดรับน้ำกรวดแล้วเอาไปเทที่พื้นดินหรือกรวดลงพื้นดินเลยทีเดียว ขณะกรวดเปลี่ยนความนึกให้ส่วนบุญ    ๑๔/ ๘๕๔๒
                ๒๕๐๖. ทังสเดน  เป็นธาตุโลหะชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติที่มีจุดหลอมตัวสูงมาก (๓๔๐๐ ซ) จึงมีประโยชน์ในการนำไปใช้ในกิจการด้านไฟฟ้าหลายอย่าง ใช้ทำไส้หลอดไฟฟ้าอื่น ๆ ใช้เป็นโลหะที่ต้องการความต้านทานสูง เครื่องมือที่ต้องการรอบหมุนสูง ทำลำกล้องปืน รถถัง         ๑๔/ ๘๕๔๔
                ๒๕๐๗. ทัณฑก - ป่า  เป็นป่าดงใหญ่ระหว่างแม่น้ำโคทาวารีกับแม่น้ำนรรมทา ในดงนี้มีสำนักดาบสอยู่หลายแห่ง เป็นที่ที่พระราม พระลักษณ์ และนางสีดา ไปท่องเที่ยวอยู่สิบปี        ๑๔/ ๘๕๔๔
                ๒๕๐๘. ทัณฑิมา เป็นชื่อนกในตำราสัตว์หิมพานต์ มีหัวเป็นนก ตัวเป็นครุฑ มีมือถือไม้เท้า        ๑๔/ ๘๕๔๕
                ๒๕๐๙. ทัตตเตรย, ทัตตไตรย - ฤาษี  เป็นบิดาพระทุรวาส (ดูทุรวาส - ลำดับที่ ๕๙๕๓)        ๑๔/ ๘๕๔๗
                ๒๕๑๐. ทันตแพทย์  คือผู้ที่มีอาชีพดูแลรักษาโรคทางฟัน เหงือก ขากรรไกร และโรคภายในช่องปาก       ๑๔/ ๘๕๔๗
                ๒๕๑๑. ทันตแพทย์ศาสตร์  เป็นแขนงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับฟันและเรื่องในช่องปาก        ๑๔/ ๘๕๔๙
                ๒๕๑๒. ทับทาง - งู  เป็นงูที่ชาวบ้านใช้เรียกงูสามเหลี่ยม เป็นงูอยู่ในจำพวกงูเห่า มีลักษณะเป็นปล้อง สีเหลืองสลับดำ ท้องแบน และสันหลังเป็นสัน ทำให้เป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดยาวประมาณ ๗๐ - ๑๐๐ ซม. ชอบนอนและไม่เคลื่อนไหวในเวลากลางวัน ไม่ชอบแสงสว่าง มีพิษร้ายแรง กัดสัตว์และคนตายได้ พิษมีคุณสมบัติในทางทำลายเส้นประสาท และมีพิษทางโลหิตด้วย การรักษาเซรุ่มแก้พิษเฉพาะชนิด        ๑๔/ ๘๕๔๙
                ๒๕๑๓. ทับทิม  เป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง เนื้อข้างในเป็นเม็ดสีแดงคล้ายพลอย ทับทิม
                        ทับทิมเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น ตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๑.๘๐ - ๓.๐๐ เมตร ตามกิ่งมีหนามแหลมคม ใบมีขนาดเล็ก รูปร่างของใบเป็นแบบขอบขนาน ด้านใบสั้นติดกับกิ่งเป็นคู่ ๆ ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศคือมีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน มักออกดอกตอนปลายกิ่ง ส่วนมากมีสีแดงแสด ผลกลมคล้ายผลฝรั่ง ขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยง เปลือกค่อนข้างแข็งและเหนียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมากอยู่เต็ม เมล็ดมีเนื้อใส ๆ หุ้มอยู่ภายนอก หนาใส มีสีชมพูอ่อนถึงแก่จนถึงสีแดง
                        ทับทิมในด้านเป็นสมุนไพรใช้รักษาโรคต่าง ๆ คือ
                        ๑. เปลือกของผลใช้แก้โรคบิดได้
                        ๒. ชาวอาหรับใช้รากต้มกับน้ำเป็นยาขับตัวตืด ส่วนคนจีนใช้แก้โรคฤดูขาวและขับปัสสาวะ
                        ๓. พวกฮินดูใช้น้ำและดอกเป็นเครื่องปรุงยาธาตุ เป็นยาสมานลำไส้ และแก้ท้องเสีย
                        ๔. เมล็ดในใช้เป็นยาบำรุงหัวใจและแก้ท้องเสีย
                ๒๕๑๔. ทับทิม ๒  เป็นชื่ออาหารหวานชนิดหนึ่งได้แก่ ทับทิมกรอบ ทำด้วยแห้วหรือมันแกว หั่นเป็นชิ้นเล็กขนาดเท่าเมล็ดทับทิม คลุกด้วยแป้งมัน และสีชมพูแก่ ต้มให้สุก จะมีลักษณะเหมือนเมล็ดทับทิม บริโภคกับน้ำเชื่อมใส่กระทิสด       ๑๔/ ๘๕๕๔
                ๒๕๑๕. ทับทิม ๓  เป็นชื่อสิ่งเคารพบูชาได้แก่ เจ้าแม่ทับทิม        ๑๔/ ๘๕๕๔
                ๒๕๑๖. ทับทิม ๔ - หอย  เป็นหอยชนิดหนึ่งประเภทหอยฝาเดียว หอยจูงนางเข้าห้องก็เรียก เป็นหอยขนาดเล็กมีสีแปลก ๆ แตกต่างกัน โดยมากเป็นสีชมพู เหมือนทับทิมจึงเรียกกันว่าหอยทับทิม        ๑๔/ ๘๕๕๔
                ๒๕๑๗. ทับทิม ๕ - พลอย  ได้แก่ พลอยที่เรียกว่าทับทิม ในบรรดาหินมีค่าด้วยกันแล้วทับทิมเป็นที่สองรองจากเพชร เป็นพลอยที่มีสีแดงสด ทับทิมมีสองชนิดด้วยกัน ชนิดที่เป็นพลอยสีแดงขุ่น เป็นทับทิมพม่า อีกชนิดหนึ่งเป็นพลอยสีแดงสด เนื้อใส เจียระไนเป็นเหลี่ยมเรียกทับทิมสยาม        ๑๔/ ๘๕๕๔
                ๒๕๑๘. ทับปุด  อำเภอขึ้น จ.พังงา ภูมิประเทศตอนใต้ เป็นที่ราบต่ำ ตอนกลางและตอนเหนือเป็นที่ราบสูง เป็นป่าและเขา เดิมเรียกว่า บ้านทับปุด ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐        ๑๔/ ๘๕๕๖
                ๒๕๑๙. ทับสมิงคลา - งู  เป็นงูในเครือเดียวกับงูสามเหลี่ยม เป็นงูจำพวกงูเห่า ลักษณะทั่ว ๆ ไป เหมือนงูสามเหลี่ยม ผิดกันที่ปล้องนั้นมีสีดำ และสีเทาค่อนข้างขาวสลับกันแทนที่จะเป็นเหลืองดำ พิษงูเหมือนกับพิษงูสามเหลี่ยม        ๑๔/ ๘๕๕๖
                ๒๕๒๐. ทับสะแก  อำเภอขึ้น จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาณาเขตทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตกจดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นที่ราบ
                        อ.ทับสะแก เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑         ๑๔/ ๘๕๕๘
                ๒๕๒๑. ทัพ - ทหาร  คำว่า "ทหาร" และ "ทัพ"  ได้เริ่มใช้ในสมัยอยุธยา ปรากฎสองคำนี้อยู่ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งได้ตราขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
                        บรรดา "กองทัพ"  ที่ปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดาร หรือในตำนานไทย แต่โบราณจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ คงมีลักษณะตรงกับกองทัพสนาม เพราะเป็นหน่วยกำลังรบที่จัดขึ้น เพื่อจะส่งออกไปทำการรบ เมื่อเกิดสงครามขึ้นเท่านั้น มิได้จัดไว้เป็นกองทัพประจำ กองทัพประจำเพิ่งมาจัดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ที่เริ่มนำการจัดทหารแบบยุโรปมาใช้อย่างสมบูรณ์แบบ นับตั้งแต่การตรากฎมายเกณฑ์ทหาร จัดตั้งกองทัพประจำการทั้งทหารบก และทหารเรือ         ๑๔/ ๘๕๕๘
                ๒๕๒๒. ทัพทัน  อำเภอขึ้น จ.อุทัยธานี ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกเป็นป่า และเขา โดยมาก นอกจากนั้นเป็นที่ราบลุ่ม        ๑๔/ ๘๕๖๕
                ๒๕๒๓. ทัพนาสูร  เป็นชื่อพญายักษ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ บางทีเรียก เทพาสูร เป็นลูกท้าวลัสเตียนกับนางจิตรมาลา เป็นพี่ชายทศกัณฐ์ สีหงส์ดิน ครองเมืองจักรวาล ตายด้วยศรพระราม         ๑๔/ ๘๕๖๖
                ๒๕๒๔. ทาก ๑  สัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง เป็นพวกสัตว์ดูดเลือดที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวเป็นวงแหวนต่อกันเป็นข้อ ๆ รวมกับพวกปลิง รวมกับพวกปลิง ทากกินเลือดเป็นอาหารเท่านั้น โดยคูดกินเลือดจากคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การหาเหยื่อทากใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างเช่นอุณหภูมิ กลิ่น การสั่นสะเทือน และเงาที่ทอดจากวัตถุ ปรกติทากอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น มีมากในหุบเขาที่มีทางน้ำไหลผ่าน มีความชื้นสูง จะมีชุกชุมมากมายภายหลังฝนตก        ๑๔/ ๘๕๖๖
                ๒๕๒๕. ทาก ๒ - หอย  หอยทากยักษ์ เป็นศัตรูพืชที่สำคัญหลายชนิด หอยชนิดนี้เป็นหอยบกมีเปลือก ยาวเฉลี่ย ๕.๕ - ๑๐ ซม. เปลือกสีน้ำตาลแกมแดง ออกหากินเวลากลางคืน ฤดูระบาดอยู่ระหว่างฤดูฝน        ๑๔/ ๘๕๖๙
                ๒๕๒๖. ท่าคันโท  อำเภอขึ้น จ.กาฬสินธุ์ ภูมิประเทศตอนกลางเป็นป่าเขา ทิศเหนือและใต้ เป็นที่ราบสูง
                        อ. ท่าคันโท แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น อ.สหัสขันธ์ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘         ๑๔/ ๘๕๗๓
                ๒๕๒๗. ทาง  ความหมายดั้งเดิม หมายถึง แนวหรือช่องสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ ใช้สัญจร ต่อมาได้หาวิธีปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น จึงเกิดเป็นถนน
                        ตามประวัติศาสตร์พวกการ์เทจ เป็นพวกที่ได้เริ่มสร้างทางที่ได้ลงหิน หรือวัตถุอื่นเป็นพื้นทาง เมื่อ ๒๑๐๐ - ๒๕๐๐ ปี มาแล้ว ภายหลังพวกโรมันได้นำไปใช้
                        การสร้างทางในประเทศไทย ได้เริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่ห้า ก่อนนั้นมีแต่ทางเดิน ทางต่าง ทางเกวียน
                        งานก่อสร้างทางหลวงของประเทศไทย ปรากฎว่าได้มีการก่อสร้างเป็นครั้งแรก ในสมัยสุโขทัย ถนนสายแรกเรียก "ถนนพระร่วง" สร้างเป็นคันดินถมสูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร กว้างประมาณ ๓ เมตร ในสมัยพญาลิไท โดยสร้างจากสวรรคโลกถึงสุโขทัย ไปกำแพงเพชรระยะทาง ๒๕๐ กิโลเมตร และจากสุโขทัยไปศรีสัชนาลัย ปัจจุบันแนวคันทางยังปรากฎให้เห็นอยู่
                        สำหรับทางสายแรก ที่สร้างขึ้นตามแบบแผนสมัยใหม่คือ "ถนนรับเสด็จ" จากสงขลาไปเมืองไทรบุรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองไทรบุรี ไปสงขลาโดยพาหนะและม้า เป็นครั้งแรก        ๑๔/ ๘๕๗๓
                ๒๕๒๘. ทางช้างเผือก  เป็นชื่อเรียกแถบเรืองบนท้องฟ้า ซึ่งมองเห็นได้ในคืนเดือนมืด ที่ท้องฟ้าปราศจากเมฆ แสงเรืองของทางช้างเผือกมาจากดาวฤกษ์จำนวนมากมาย กับทั้งกลุ่มกาซมหึมาที่ลุกเรืองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรียงรายสลับซับซ้อนกันไกลออกไป ทางช้างเผือกคือ กาแลกซี หรือระบบดาวฤกษ์ ซึ่งดวงอาทิตย์เป็นสมาชิกหน่วยหนึ่ง กาแลกซีนี้ได้ชื่อว่า กาแลกซีทางน้ำนม หรืออาจเรียกแบบไทยว่า กาแลกซีทางช้างเผือก        ๑๔/ ๘๕๘๒
                ๒๕๒๙. ท่าจีน - แม่น้ำ  แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท แล้วไหลผ่าน จ.ชัยนาท จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร ลงทะเลในอ่าวไทยที่ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง ฯ จ.สมุทรสาคร ยาว ๓๑๕ กม. ที่ปากน้ำมีสันดอน ยื่นออกไปในทะเลไกล ๗ กม.
                        แม่น้ำนี้ยังมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันเป็นตอน คือ ตอนที่อยู่ในเขต จ.ชัยนาท เรียกแม่น้ำมะขามเฒ่า ตอนที่อยู่ในเขต จ.สุพรรณบุรี เรียกแม่น้ำสุพรรณบุรี ตอนที่อยู่ในเขต จ.นครปฐม เรียกแม่น้ำนครชัยศรี และตอนที่อยู่ในเขต จ.สมุทรสาคร เรียกแม่น้ำท่าจีน
                ๒๕๓๐. ท่าฉาง  อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี อาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ทางทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูง และป่า         ๑๔/ ๘๕๘๓
                ๒๕๓๑. ท่าชนะ  อำเภอ ขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี อาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบ
                        อ.ท่าชนะ เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ไชยา ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙         ๑๔/ ๘๕๘๖
                ๒๕๓๒. ท่าช้าง  อำเภอขึ้น จ.สิงห์บุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖        ๑๔/  ๘๕๘๖
                ๒๕๓๓. ท่าแซะ  อำเภอขึ้น จ.ชุมพร อาณาเขตทางทิศตะวันตก จดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นป่าและเขา
                         อ.ท่าแซะ เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ปะทิว ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓
                ๒๕๓๔. ท่าดินแดง  เป็นชื่อสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ อยู่ในเขต อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗ พระยายมราช (แขก) คุมกำลังไปขัดตราทัพพม่าคอยรับครัวมอญอพยพ พ.ศ.๒๓๒๒ ราชบุตรพระเจ้าปดุงยกกองทัพที่หก มาตั้งที่ตำบลนี้ในครั้งสงครามเก้าทัพของพม่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๙ พม่ายกเข้ามาตั้งอีก ได้ทำค่ายใหญ่น้อยหลายอย่างชักปีกกาติดต่อกันถึงค่ายสามสบ ถูกกองทัพรัชกาลที่หนึ่งตีแตกพ่ายไป        ๑๔/ ๘๕๘๙
                ๒๕๓๕. ท่าตะโก  อำเภอขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ลุ่ม ตอนอื่น ๆ ลุ่มบ้าง ดอนบ้าง         ๑๔/ ๘๕๘๙
                ๒๕๓๖. ท่าตูม  อำเถอขึ้น จ.สุรินทร์ ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง มีอ่างเก็บน้ำโครงการลุงปุง
                        อ.ท่าตูม เดิมชื่อ อ.สุรพินนิคม เปลี่ยนชื่อเป็นท่าตูม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐         ๑๔/ ๘๕๙๐
                ๒๕๓๗. ทานกัณฑ์  เป็นชื่อกัณฑ์ที่สามในมหาชาติ เป็นเนื้อความตอนหนึ่งของเรื่องเวสสันดรชาดก ในกัณฑ์นี้มี ๒๐๙ คาถา มีลีลาของคาถาต่างกับกัณฑ์อื่น ๆ ในกัณฑ์นี้แสดงเนื้อความว่า เมื่อพระเวสสันดรถูกเนรเทศให้ไปอยู่เขาวงกต ก่อนที่จะเสด็จออกจากกรุงพิชัยเชตุดร พระองค์ทรงขอโอกาสพระราชทานมหาทานก่อน เป็นของรวมเจ็ดสิ่งเรียกว่า สัตตสดกมหาทาน        ๑๔/ ๘๕๙๒
                ๒๕๓๘. ทานตะวัน - ต้น  เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือ นำเข้ามาในประเทศไทย รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทานตะวันเป็นพืชล้มลุกมีอายุปีเดียว ใบชนิดใบเดี่ยว ออกสลับกัน ตัวใบรูปไข่หรือรูปหัวใจ ดอกออกที่ปลายกิ่ง เห็นเป็นดอกใหญ่ดอกเดี่ยว ๆ แต่ความจริงเป็นดอกประเภทดอกกลุ่ม รูปคล้ายจาน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ ซม.
                        ปัจจุบันนิยมปลูกทานตะวันกันแพร่หลาย เพราะใช้ประโยชน์ได้เอนกประการ        ๑๔/ ๘๕๙๓
                ๒๕๓๙. ทานบารมี มีคำนิยามว่า "จรรยาอย่างเลิศคือทาน" นับเป็นบารมีคือคุณความดีที่ควรบำเพ็ญประการแรกในบารมีสิบประการ (ดูบารมี ๑๐ - ลำดับที่ ...ประกอบ) และเป็นขั้นแรกของการบำเพ็ญในสามวัน (ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถบารมี)
                        ลักษณะของทานที่ถือว่าเป็นบารมีนั้นได้แก่การให้สมบัตินอกกาย โดยผู้ให้ตั้งใจให้อย่างจริงใจ เพื่อให้เป็นไปตามควารมปรารถนา หรือเพื่อให้บรรลุจุดหมายอันสูงส่งที่ได้ตั้งปณิธานไว้ เรียกการให้ชนิดนี้ว่าทานเจตนา คือความจงใจให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านแสดงลักษณะเจตนาไว้สามอย่างคือ
                        ๑. ก่อนให้ก็จงใจว่าจะให้
                        ๒. เวลาให้ก็ให้ด้วยความจริงใจ
                        ๓. เมื่อให้แล้วก็มิได้แคลงใจในสิ่งที่ได้ให้และในผู้นั้นรับ แต่กลับยินดีว่าได้ทำสมจงใจแล้ว
                ๒๕๔๐.ท่านผู้หญิง  เป็นคำนำหน้าสตรี ดังมีหลักฐานเท่าที่พบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงประกาศ พ.ร.บ.ให้ใช้คำนำหน้าชื่อชนต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ภรรยาหลวงข้าราชที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการที่ถือศักดินาตั้งแต่นา ๑๐,๐๐๐ ลงมาจนถึง ๔๐๐ ก็ดี ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์ ก็มีคำว่าท่านผู้หญิง ว่าท่านนำหน้าชื่อ ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องหมายยศบรรดาศักดิ์ก็ดีเป็นอนุภริยา มิใช่ทาสภริยาที่มีบุบตรด้วยกันก็ดีหญิง บุตรหลานข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ก็ดี หญิงยังไม่มีผัวก็ดี ไม่ต้องมีคำนำหน้าชื่อทั้งสิ้น
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ มีปรากฎอยู่ในพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ว่า "สตรีที่มีสามีบรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยาและเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศด้วยแล้ว ให้ใช้คำว่า "ท่านผู้หญิง" เป็นคำนำ ประกอบด้วยราชทินนามของสามี..."
                        หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ รัฐบาลมีนโยบายไม่ขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่ข้าราชการ ทางการจึงได้วางหลักเกณฑ์การใช้คำนำหน้านามสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป สามีจะมีบรรดาศักดิ์หรือไม่ก็ตาม ใช้คำนำหน้าว่าท่านผู้หญิงทั้งหมด        ๑๔/ ๘๓๙๕
                ๒๕๔๑. ท่าบ่อ  อำเภอขึ้น จ.หนองคาย มีอาณาเขตด้านเหนือและด้านตะวันออกตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศเป็นที่ดอนสูง มีป่าทึบและภูเขามาก
                        อ.ท่าบ่อ เดิมเป็นหมู่บ้าน เมื่อเมืองเวียงจันทน์ตกไปเป็นของฝรั่งเศสแล้ว จึงตั้งเมืองขึ้นที่บ้านท่าบ่อราวปี พ.ศ.๒๔๓๗ เรียกว่าเมืองท่าบ่อ ขึ้นมณฑลหมากแข้ง (มณฑลอุดร) ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๓ เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพานพร้าว ครั้นยุบเป็นอำเภอ จึงให้ชื่อตามตำบลที่ตั้งเป็น อ.ท่าบ่อ        ๑๔/ ๘๕๙๙
                ๒๕๔๒. ท่าปลา  อำเภอขึ้น จ.อุตรดิตถ์ ภูมิประเทศทางทิศเหนือและตะวันออกส่วนมากเป็นภูเขา มีที่ราบเล็กน้อย ทางทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นป่าเสียมาก
                         อ.ท่าปลา เดิมขึ้น จ.น่าน โอนมาขึ้น จ.อุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖        ๑๔/ ๘๖๐๐
                ๒๕๔๓. ท่าม่วง  อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบทั่ว ๆ ไป ทางทิศตะวันตกมีป่าและเขาบ้าง
                         อ.ท่าม่วง เดิมเรียกว่า อ.ใต้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการไปตั้งที่ ต.ม่วงชุม ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำแม่กลอง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.วังขนาย และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าม่วง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑        ๑๔/ ๘๖๐๐


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch