หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/58
    ๒๔๒๑. ทรัพย์  คำว่า "ทรัพย์" ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหมายถึงวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาได้และอาจถือเอาได้ และกฎหมายบัญญัติว่า "ทรัพย์สินนั้นท่านหมายความทั้งทรัพย์ทั้งวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาได้และถือเอาได้"  จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน    ๑๓/ ๘๓๒๔
                ๒๔๒๒. ทรัพย์สิทธิ  หมายถึง สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มนุษย์ มีอยู่เหนือทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแต่ตัวทรัพย์สินได้โดยตรง เช่นกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภารจะยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ เป็นต้น
                        ทรัพย์สิทธิ เป็นสิทธิที่ใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วไป ฉะนั้นทรัพย์สิทธิจึงก่อตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยอาศัย อำนาจของกฎหมายเท่านั้น       ๑๓/  ๘๓๒๖
                ๒๔๒๓. ทรัพย์สิน  หมายความถึง วัตถุที่มีรูปร่างก็ได้ หรือไม่มีรูปร่างก็ได้ ซึ่งอาจมีราคาได้และอาจถือเอาได้ ฉะนั้นเมื่อกล่าวคำว่าทรัพย์สินย่อมหมายความรวมถึงคำว่าทรัพย์ด้วย
                        ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งทรัพย์สินออกเป็นแปดประเภทด้วยกันคือ อสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ สังกมะทรัพย์ อสังกมะทรัพย์ โภคยทรัพย์ ทรัพย์แบ่งได้ ทรัพย์แบ่งไม่ได้ และทรัพย์นอกพาณิชย์         ๑๓/ ๘๓๒๘
                ๒๔๒๔. ทรัพยากร  ได้แก่ วัตถุดิบจากธรรมชาติที่เป็นประโยชน์แก่ มนุษย์ จะต้องเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโลก มหาสมุทร และอากาศ อาจจะต้องมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจด้วย จึงเป็นทรัพยากร โดยปรกติสิ่งที่จะถือเป็นทรัพยากรจะต้องอยู่ในหลักใหญ่ ๆ ดังนี้คือ
                        ๑. ต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถนำสิ่งนั้นมาใช้ได้โดยตรง หรือปรับปรุงเพื่อนำมาใช้ได้โดยง่าย เช่นน้ำ
                        ๒. ต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ และใช้ได้อย่างสะดวกและเพียงพอ
                        ๓. ทรัพยากรนั้นต้องมีอยู่เพียงพอที่จะนำไปใช้ได้ โดยลงทุนไม่มากเกินไปนัก
                        ทรัพยากรมีได้ทั้งทรัพยากรมนุษย์กับทรัพยากรกายภาพ    ๑๓/ ๘๓๓๐
                ๒๔๒๕. ทรัมโบน  เป็นชื่อแตรประเภทหนึ่ง มีอยู่สองชนิดคือ เตเนอร์ทรัมโบนกับเบสทรัมโบน ทรัมโบนทั้งสองชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่เบสทรัมโบนมีขนาดใหญ่กว่า และมีเสียงต่ำกว่าเท่านั้น
                        ทรัมโบนมีกำเนิดมาจากแตรโบราณสองชนิด เมื่อได้ปรับปรุงแตรทรัมโบนให้ดีขึ้นแล้ว ก็ได้นำมาใช้ในการแสดงอุปรากร ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ก่อน ต่อจากนั้นก็ได้นำมาใช้ในวงดุริยางค์และใช้กันอยู่เป็นประจำในวงแจซและวงโยธวาทิตจนทุกวันนี้
                        นอกจากทรัมโบนสองชนิดดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันยังมีทรัมโบนอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันอยู่ในวงดุริยางค์คือทรัมโบนลูกผสมระหว่างเตเนอร์กับเบส ซึ่งเรียกว่า "เตรเนอร์ เบสทรัมโบน"      ๑๓/ ๘๓๓๒
                ๒๔๒๖. ทรัมเป็ต  เป็นแตรประเภทหนึ่งซึ่งใช้กันมานานมาก แตรชนิดนี้มีเสียงแหลม ในสมัยโบารณถือว่าแตรชนิดนี้เป็นของสูง หรือนักรบชั้นแม่ทัพเท่านั้น สามัญชนธรรมดาจะมีแตรทรัมเป็ตไม่ได้
                        โดยที่แตรทรัมเป็ตมีเสียงแหลมใส และในสมัยโบราณนิยมใช้เป่าในการรบทัพจับศึก เป็นการปลุกใจให้มีความองอาจกล้าหาญ นอกจากนั้นยังใช้เป่านำขบวนเสด็จ ฯ ตลอดจนเป่าในงานพิธีต่าง ๆ ที่เป็นการโอ่อ่าหรูหรา
                        ยังมีทรัมเป็ตอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ฟันฟาร์ ทรัมเป็ต" แตรชนิดนี้มีเสียงสูงมาก แตรชนิดนี้มีหลายชนิด    ๑๓/ ๘๓๓๔
                ๒๔๒๗. ทราย ๑ - ดิน  เป็นดินชนิดหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อดินหยาบ ดินชนิดนี้ต้องมีส่วนผสมของทรายปนอยู่อย่างน้อย ร้อยละเจ็ดสิบ มีลักษณะเป็นดินร่วน น้ำซึมผ่านได้งาย อากาศผ่านเข้าออกได้สะดวก เมื่อถูกน้ำจะไม่เหนียว เมื่อแห้งจะไม่แข็ง ตามปรกติเป็นดินค่อนข้างแห้ง และขาดความสมบูรณ์
                        ดินทรายแบ่งออกเป็นเจ็ดชนิดคือ ดินทรายปนกรวด ดินทรายหยาบ ดินทรายปานกลาง ดินทรายละเอียด ดินทรายละเอียดมาก ดินทรายร่วน และทราย    ๑๓/  ๘๓๓๗
                ๒๔๒๘. ทราย ๒  หมายถึง วัตถุที่เป็นเศษหินเศษแร่ขนาดเล็ก ไม่เกาะกัน ประกอบด้วยแร่หลายชนิด ได้แก่ แร่เขี้ยวหนุมาน เป็นต้น แร่ที่ประกอบอยู่ในทราย มีปริมาณมากคือ แร่เขี้ยวหนุมาน ซึ่งเกิดจากการผุพังของหินอัคคี หรือหินชนิดอื่นมีธาตุซิลิกา ตกค้างอยู่ หลังจากแร่ธาตุอื่นละลายไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมี
                        เนื่องจากเมล็ดทราย มีขนาดแตกต่างกันจึงนิยมแบ่งทรายออกเป็นห้าชนิดคือ ชนิดละเอียดมาก ชนิดละเอียด ชนิดปานกลาง ชนิดหยาบ และชนิดหยาบมาก เมล็ดทรายอาจมีลักษณะกลม หรือเหลี่ยมก็ได้
                        ทรายที่เกิดจากการกระทำของลม ในเขตแห้งแล้ง จะทำให้เกิดภูมิประเทศ เช่น สันทราย ดินเลิสส์  และแอ่งในทะเลทราย
                      สันทราย  เกิดขึ้นเนื่องจากลมพัดพาเอาทรายมาทับถมไว้ นานเข้าก็มีขนาดใหญ่เป็นสันทราย หรือเนินทรายเตี้ย ๆ สันทรายแบ่งออกเป็นสามประเภทคือ
                       ประเภทแรก  ได้แก่ สันทรายที่เกิดตามบริเวณชายฝั่งทะเล และทะเลสาบ
                       ประเภทที่สอง  ได้แก่ สันทรายตามท้องแม่น้ำ เกิดจากทรายที่แม่น้ำพัดพามาทับถมกัน และตื้นเขิน เป็นดอน ขึ้นในลำน้ำ
                       ประเภทที่สาม  ได้แก่ สันทรายที่เกิดในบริเวณทะเลทราย เกิดขึ้นเนื่องจากทรายถูกลมพัดพาไปทับถมกัน เป็นเนินเตี้ย ๆ รูปร่างลักษณะต่าง ๆ กัน
                      ดินเลิสส์  หรือดินลมหอบ เกิดขึ้นเนื่องจากลมพัดเอาฝุ่นทรายละเอียด จากเขตแห้งแล้งไปทับถมกันในเขตที่มีอากาศค่อนข้างชื้น มีลักษณะเป็นดินสีเหลือง ละเอียดไม่เกาะตัวกัน
                       แอ่งลม หรือหลุมใหญ่ในทะเลทราย  เกิดขึ้นเนื่องจากลมพัดพาเอาฝุ่นทรายไปทีละน้อย ทำให้พื้นที่บริเวณนั้น มีระดับต่ำกว่าบริเวณที่อยู่ใกล้เคียง โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นแอ่งเตี้ย ๆ
                        ทราย  ใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ทำแก้ว ทำกระจก และใช้เป็นส่วนผสมในการทำคอนกรีต และปูนปลาสเตอร์          ๑๓/  ๘๓๓๘
                ๒๔๒๙. ทราย ๓ - เนื้อ (ดู กวาง ตอนว่าด้วยเนื้อทราย - ลำดับที่ ๒๑๗)     ๑๓/ ๘๓๔๐
                ๒๔๓๐. ทราย ๔ - หอย  เป็นหอยสองกาบ มีรูปคล้ายหอยมุกน้ำจืด แม้จะอยู่วงศ์เดียวกับหอยกาบ แต่ต่างสกุลกัน (ดู กาบ - หอย - ลำดับที่ ๓๕๙ ประกอบด้วย )   หอยชนิดนี้อยู่ตามทราย จึงได้ชื่อว่า หอยทราย         ๑๓/  ๘๓๔๐
                ๒๔๓๑. ทวน   ความหมายโดยทั่ว ๆ ไป คือ อาวุธชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายหอก ด้ามยาวมาก ที่ทหารม้าใช้แทงต่อสู้ข้าศึก ในขณะขี่ม้า ตามธรรมดาจะยาวประมาณ ๓ - ๔.๕ เมตร ตรงคอต่อระหว่างด้ามไม้กับปลาย ที่เป็นโลหะจะผูกพู่ทำจากขนสัตว์สีขาว ยาว ๆ ไว้โดยรอบ พู่นี้อาจเปลี่ยนไปใช้แถบแพรสีต่าง ๆ ก็มี           ๑๓/ ๘๓๔๐
                ๒๔๓๒. ทวาทศมาส  เป็นชื่อหนังสือวรรณคดีเล่มหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่า แต่ขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
                        ทวาทศมาส มีเนื้อเรื่องเป็นแบบวรรณคดีนิราศคือ พรรณาถึงความรักสตรีนางหนึ่ง ที่ผิดจากวรรณคดีนิราศก็คือ ผู้แต่งมิได้เดินทางไปไหน แต่พรรณนาถึงนางควบคู่ไปกับพิธีต่าง ๆ ที่มีในแต่ละเดือน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนห้า เป็นต้นไปจนจบลงในเดือนสี่
                        วรรณคดีเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นต้นเค้าของวรรณคดีประเภทนิราศ ในสมัยต่อมาแล้ว ยังมีประโยชน์ในการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับพิธีต่าง ๆ ที่ปฎิบัติกันมาในสมัยโบราณอีกด้วย    ๑๓/  ๘๓๕๑
                ๒๔๓๓. ทวาบรยุค  เป็นชื่อยุคที่สาม แห่งยุคทั้งสี่ตามคติพราหมณ์ (ดู จตุรยุค - ลำดับที่ ๑๒๘๐)    ๑๓/ ๘๓๕๒
                ๒๔๓๔. ทวาย ๑  เป็นชื่อเพลงไทยสำเนียงมอญเพลงหนึ่ง ที่มีความไพเราะเพราะพริ้งมาก เพลงทวายนี้ไม่ทราบว่าผู้ใดแต่ง ในบรรดาเพลงทวายนี้ ยังแบ่งออกเป็นทวายเล็ก ทวายเต็ม และทวายตัด     ๑๓/ ๘๓๕๒
                ๒๔๓๕. ทวาย ๒  - เมือง  เป็นชื่อเมืองหนึ่ง อยู่ทางใต้ของประเทศพม่า มีอาณาเขตทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศไทย ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี ทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน
                        เมืองทวาย เป็นเมืองที่ไทยมาตั้งขึ้นก่อน เมื่อครั้งหลวงจีน หยวนฉ่าง เดินทางมาถึงเมืองนี้โดยทางเรือ ได้จดหมายเหตุไว้ว่า แถบเมืองเมาะตะมะถึงเมืองทวาย มีแว่นแคว้นชื่อ เกียม้อ ลั่งเกีย คือ กามลังคะ เข้าใจว่าหมายถึง เมืองทวาย หรือเมืองรามบุรี แต่เมืองรามบุรีคงเป็นเมืองกษัตริย์ภายหลังเมืองทวาย เมืองทวายเป็นเมืองกษัตริย์มาแต่เดิม กระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า
                        มีคำนิยามคำว่า ทวาย ความตอนหนึ่งว่า "เรียกชนชาติหนึ่งในสาขาชาวยะไข่ ตระกูลธิเบต - พม่า"
                        เมืองทวายอยู่ต่อแดนมอญข้างเหนือเมืองตะนาวศรี พลเมืองเป็นทวายชาติหนึ่งต่างหาก แคว้นยะไข่ที่เรียกว่าอาระกัน ภาษายะไข่ มีภาษาถิ่นที่แยกออกไปคือ ภาษาทวาย ซึ่งเป็นภาษาของชาวยะไข่ไปอยู่ยังเมืองทวาย
                        สมัยกรุงสุโขทัย เมืองทวายเป็นเมืองขึ้นของไทย ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกกำลังมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก ได้ยึดเมืองทวายไปเป็นเมืองขึ้น ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ โปรดให้เจ้าพระยาจักรีและแม่ทัพนายกองต่าง ๆ ไปตีเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เมืองทวายคืนมาเป็นของไทยอีก เมืองทวายตกไปเป็นของพม่า และไทยตีคืนกลับมาได้อีกหลายครั้ง จนกระทั่งพม่าตกไปเป็นของอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ พระยาทวายกับชาวเมืองทวายจำนวน ๕,๐๐๐ คนได้อพยพหนีออกจากเมืองทวาย เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อยู่แถววัดสระเกศ แล้วต่อมาพระราชทานที่ให้อยู่ใหม่ที่ตำบลคอกควายใกล้วัดยานนาวาเรียกกันว่า บ้านหวาย    ๑๓/  ๘๓๕๓
                ๒๔๓๖. ทวารกา  แปลว่ามีประตูมาก เป็นชื่อนครหลวงซึ่งพระกฤษณ์ได้สร้างขึ้นเป็นที่อยู่แห่งกษัตริย์ยาทพจันทรวงศ์ เมื่ออพยพจากเมืองมกุรานครหลวงเก่า เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ริมมทะเลฝั่งตะวันตกแห่งเมืองคุชราฐ ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของแคว้นบอมเบย์ ประเทศอินเดีย (ดูคุชราฐ - ลำดับที่ ๑๐๘๐ ประกอบ)
                        ต่อมาได้เกิดเหตุวุ่นวายในหมู่กษัตริย์ยาทพเอง กระกฤษณ์จึงหนีเข้าป่า ก็ไปถูกนายพรานยิงตาย กล่าวกันว่าต่อมาอีกเจ็ดวันเมืองทวารกาได้จมหายไปในทะเล   ๑๓/  ๘๓๕๗
                ๒๔๓๗. ทวารวดี  คำนี้เป็นภาษาสันสกฤต อาจแบ่งอธิบายได้เป็นสองตอนคือ
                        ๑. เป็นชื่อหนึ่งของเมืองทวารกา ซึ่งเป็นราชธานีของพระกฤษณ์ในแคว้นคุชราฐ นับถือกันว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์เมืองหนึ่ง ในบรรดาเมืองศักดิ์สิทธิ์เจ็ดเมืองในอินเดีย (ดูทวารกา - ลำดับที่ ๒๔๐๔ ประกอบ)
                        ๒. เป็นชื่ออาณาจักรหนึ่งทางตอนกลางของประเทศไทย เดิมได้รู้จักชื่อจากจดหมายเหตุของพระภิกษุจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) และพระภิกษุจีนอี้จิง ซึ่งเดินทางไปสืบศาสนายังประเทศอินเดียในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ว่ามีอาณาจักรหนึ่งชื่อ "โถโลโปตี" ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร (พม่า) และอีศานปุระ (กัมพูชา) คำว่า "โถโลโปตี" นี้นักปราชญ์ฝรั่งเศสสันนิษฐานว่า คงตรงกับคำว่าทวารวดีในภาษาสันสกฤต ต่อมาได้พบเงินเหรียญสองเหรียญที่จังหวัดนครปฐม มีจารึกเป็นภาษาสันสกฤตว่า "ศรีทวารวดีศวรปุณย"
                        อาณาจักรทวารวดี คงตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย แต่ราชธานีจะอยู่ที่ใดยังไม่ทราบแน่นอน ประชาชนอาจเป็นมอญเพราะได้ค้นพบศิลาจารึกภาษามอญโบราณ ทั้งที่นครปฐมและลพบุรี ชาวไทยอาจมีบ้างแล้วแต่ยังคงเป็นส่วนน้อย
                        ศิลปทวารวดี คงมีอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ ส่วนใหญ่อยู่ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีฝ่ายมหายานเข้ามาปะปนบ้าง
                        ประติมากรรมสมัยทวารวดี ส่วนใหญ่สลักด้วยศิลา มีทั้งประติมากรรมลอยตัวสลักเป็นพระพุทธรูป และรูปธรรมจักรที่เป็นภาพนูนต่ำ ประติมากรรมสำริดมักหล่อเป็นขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังนิยมใช้ดินเผา และปูนปั้นตกแต่งสถาปัตยกรรมอีก
                        สำหรับสถาปัตยกรรมมีหลายแห่งที่สำคัญเช่น พระปฐมเจดีย์องค์เดิม เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ศิลปทวารวดียังได้แผ่ขึ้นไปทางเหนือเช่น ที่วัดจามเทวี หรือกู่กุฎิ จังหวัดลำพูน และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธิ์ ทางภาคตะวันออกเช่น ที่ดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี        ๑๓/ ๘๓๕๗
                ๒๔๓๘. ทวิชาหรือทวิชาติ  แปลตามพยัญชนะว่าเกิดสองหน ใช้เรียกชนที่เป็น พราหมณ์ เป็นกษัตริย์ หรือเป็นแพศย์ แต่โดยมากใช้เรียกเฉพาะพราหมณ์ ซึ่งเกิดมีชีวิตครั้งหนึ่ง และเกิดในธรรม (คือบวช) อีกครั้งหนึ่ง          ๑๓/ ๘๓๖๐
                ๒๔๓๙. ทวีป  ๑. หมายถึง เปลือกโลกส่วนที่เป็นพื้นดิน ที่มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางต่อเนื่องกันไป มีอยู่เจ็ดทวีปด้วยกันคือทวีปเอเชีย ซึ่งกว้างใหญ่ที่สุด รองลงไปมีทวีปแอริกา ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอนตาร์กติกา ทวีปยุโรป และทวีปออสเตรเลีย
                        ทวีปต่าง ๆ ประกอบด้วย หินซิอาลิก ส่วนใหญ่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกันคือตอนกลางจะเป็นที่สูง ราบสูง ที่หินมีความแข็งแกร่งมากเรียกว่าหินฐานธรณี" รอบ ๆ ที่ราบสูงเป็นภูเขาและที่ราบสลับกันไป ทวีปรวมถึงส่วนที่เรียกว่าไหล่ทวีป คือส่วนที่อยู่ใต้พื้นน้ำจากแนวชายฝั่งไปจนถึงตอนที่ระดับน้ำลึก ๑๘๐ เมตร ตลอดจนเกาะที่อยู่ใกล้ทวีปด้วย ทวีปต่าง ๆ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย ๘๕๕ เมตร ทวีปเอเชียสูงจากระดับน้ำทะเลมากที่สุดคือ ๙๖๐ เมตร ทวีปยุโรปมีระดับน้ำจากระดับน้ำทะเลน้อยที่สุดคือ ๓๔๕ เมตร
                        ๒. ในคัมภีร์ไตรภูมิโลกสัณฐานหมายถึง ทวีปทั้งสี่คือ ชมพูทวีป อมรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป บุพวิเทหทวีป (ดูจักรวาลตอนว่าด้วยทวีปทั้งสี่ - ลำดับที่ ๑๓๑๕ ประกอบ)           ๑๓/  ๘๓๖๒
                ๒๔๔๐. ทศกัณฐ์  เป็นพญายักษ์ตนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ ทศเศียรอีก เป็นเจ้ากรุงลงกาองค์ที่สาม
                        ทศกัณฐ์ คือนนทุกมาเกิด เป็นโอรสท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เป็นคนหัวปี มีน้องร่วมท้องคือ กุมภกรรณ พิเภก ทูษณ์ ขร ตรีเศียร นางสำมะนักขา
                        เมื่อเป็นกุมารไปเรียนศิลปศาสตร์ ณ สำนักพระฤาษีโคบุตร เมื่อเป็นเจ้าลงกาแล้วมีชื่อเสียงเลื่องลือในความมีฤทธานุภาพ มีสัมพันธมิตรเจ็ดตนคือ อัศกรรณมาราสูร ไพจิตราสูร สัทธาสูร มูลพลัม จักรวรรดิ์กับครอบครัว สัตลุง และมหาบาล เพทาสูร
                        ครั้งหนึ่ง ยักษ์วิรุฬหกเอาสังวาลนาค ฟาดตุ๊กแกที่เขาไกรลาสเขาเอียงทรุด (ดู วิรุฬหก - ลำดับที่ ...ประกอบ) ทศกัณฐ์ไปยกเขาจึงตั้งตรงได้ตามเดิม ด้วยความชอบนี้จึงได้นางมณโฑมาเป็นมเหสี ถูกพาลีชิงไประหว่างทางต้องไปหาพระฤษีอังคต ผู้เป็นอาจารย์พาลี เจรจาขอนางคืน แล้วไปทำพิธีถอดจิตด้วยพระฤษีโคบุตร เพื่อไม่ให้ใครฆ่าได้
                        ทศกัณฐ์ชอบเที่ยวล่วงประเวณีในที่ต่าง ๆ ชั้นแรกแปลงร่างเป็นเทพบุตร ร่วมสมพาสกับนางเทพอัปสรชั้นดาวดึงส์ แล้วแปลงเป็นปลาร่วมกับนางปลา เกิดลูกชื่อ สุวรรณมัจฉา แปลงเป็นช้างสมพาสกับช้างพัง มีลูกชายสองตนชื่อ ทศคีรีธร และทศคีรีวัน ทางมนุษย์ได้ร่วมสมพาสกับสนมหนึ่งพัน มีลูกชายนางละคน รวมเรียกชื่อว่า สหัสสกุมาร กับสนมอื่นมีลูกชื่อว่า สิบรถ อีกสิบตน กับนางกาลอัคคี มีลูกชื่อ บรรลัยกัลป์ กับนางมณโฑ มีลูกชื่อ รณพักตร ภายหลังเปลี่ยนนามเป็น อินทรชิต มีลูกหญิงคนหนึ่งชื่อ นางสีดา ลูกคนสุดท้ายชื่อ ไพนาสุริยวงศ์
                        พวกโหรทายว่า นางสีดาเป็นกาลกิณี ทศกัณฐ์จึงเอานางใส่ผอบลอยไปตามลำน้ำ พระฤษีไปพบเข้าจึงเอามาเลี้ยงไว้จนโต ต่อมาได้สยุมพรกับพระราม เมื่อพระราม พระลักษณ์ และนางสีดา เดินดง ทศกัณฐ์ได้ไปลักนางสีดาไว้ที่ลงกา พระรามยกทัพจองถนนไปลงกาได้รบกันหลายครั้ง หลายหน จนในที่สุดทศกัณฐ์ถูกศรพระรามตาย    ๑๓/ ๘๓๖๔
                ๒๔๔๑. ทศคีรีธร  เป็นลูกทศกัณฐ์กับนางคชสาร มีตัวเหมือนพ่อ หน้าเหมือนแม่ มีน้องชื่อ ทศคีรีวัน พญายักษ์ชื่อ อัสกรรณมาราสูร ขอไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ได้ไปรบกับพระราม ตายด้วยศรพระลักษณ์         ๑๓/ ๘๘๖๙
                ๒๔๔๒. ทศคีรีวงศ์ - ท้าว  เป็นศักด์สมญาของพิเภก เมื่อผ่านพิภพลงกาในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นผู้มีความชอบในการสงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์อย่างมาก เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว พระรามปูนบำเหน็จความชอบ โดยอภิเษกให้เป็นเจ้าลงกา     ๑๓/ ๘๓๗๑
                ๒๔๔๓. ทศคีรีวัน  เป็นลูกทศกัณฐ์กับนางคชสาร มีตัวเหมือนพ่อหน้าเหมือนแม่ เช่นเดียวกับทศคีรีธร เข้าร่วมกองทัพไปรบกับพระราม ตายด้วยศรพระลักษณ์     ๑๓/ ๘๓๗๑
                ๒๔๔๔. ทศชาติ  มีคำนิยามว่า "สิบชาติ ชื่อคัมภีร์ชาดกว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่สิบชาติ"
                         คัมภีร์ที่เรียกกันว่า "ชาดก" นั้น มีสองประเภท ประเภทหนึ่งเรียกว่า นิบาตชาดก อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า ชาดกนอกนิบาต เช่น ปัญญาสชาดก เป็นต้น
                         ประเภทที่เรียกว่า นิบาตชาดก มีอยู่ ๕๕๐ เรื่อง โบราณเรียกว่า เรื่องพระเจ้า ๕๐๐ ชาติ มีหมวดหนึ่งเป็น หมวดสุดท้าย เรียกว่า มหานิบาต มีอยู่สิบเรื่อง โบราณเรียกว่า ทศชาติ หรือเรื่องพระเจ้าสิบชาติ มาในมหานิบาตชาดก ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก
                         ทศชาติ มีชื่อตามชาติดังนี้ พระเตมีย์ พระมหาชนก พระสุวรรณสาม พระเนมิราช พระมโหสถ พระภูริทัต พระจันทกุมาร พระนารท พระวิธูร พระเวสสันดร  เรียกย่อว่า เต. ช.ส.เน.ม.ภู.จ.นา.วิ.เว  แต่ละชาติกล่าวถึงเรื่องพระพุทธเจ้า ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพุทธจริยา ที่เรียกว่า "พุทธการกธรรม"    ๑๓/ ๘๓๗๒
                ๒๔๔๕. ทศนิยม  เป็นคำนามแปลว่า กำหนดด้วยสิบ การที่ใช้สิบเป็นฐานก็เพราะแรกเริ่ม มนุษย์เราอาศัยนิ้วมือทั้งสิบ เป็นเครื่องนับ การใช้ฐานสิบได้กระจายไปทั่วโลก นอกจากในบางแห่งที่ใช้สิบสอง ที่เม็กซิโกและอเมริกากลาง ใช้หลักยี่สิบในทางดาราศาสตร์ และระบบของบาบิโลเนียใช้หลักสิบ เช่นที่เกี่ยวกับมุม และเวลา
                        ระบบทศนิยม  หลังจากได้นำสัญญลักษณ์ของฮินดู - อารบิก มาใช้ก็ทำให้การบวกลบคูณหารสะดวกขึ้น ในระบบนี้เลขทุกจำนวน จะเขียนให้อยู่ในรูปของกำลังสิบได้ทั้งสิ้น
                        จุดทศนิยม   นักประวัติศาสตร์ได้รายงานว่า อัล - คาชี ใช้เลขที่มีจุดทศนิยมแทนเลขเศษส่วน ที่มีส่วนเป็นสิบ ในพุทธศตวรษที่ ๒๐ โดยใช้ . เรียกจุดทศนิยม คั่นไว้ระหว่างตัวเลขสองตัวของเศษ เพื่อทำให้จำนวนตำแหน่งทางขวาของจุดนี้ แสดงถึงกำลังของสิบที่มีอยู่ในส่วนตัวเลขทางซ้ายของจุด แสดงถึงจำนวนเต็มหรือส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม ของเลขจำนวนนั้น และตัวเลขทางขวาของจุดก็คือ เศษของเศษส่วนที่มีส่วนเป็นสิบยกกำลัง เท่ากับจำนวนของตัวเลขที่อยู่ทางขวาของจุดทศนิยม เรียกจำนวนตัวเลขทางขวาของจุดทศนิยมว่า "ตำแหน่งของทศนิยม"  ของเลขจำนวนนั้น
                        การคำนวณเกี่ยวกับทศนิยม  ทำได้เช่นเดียวกับเลขจำนวนเต็ม ในการบวก และลบ ต้องตั้งให้จุดทศนิยมอยู่ตรงกัน การคูณไม่จำเป็นต้องตั้งจุดทศนิยมให้ตรงกัน จำนวนตำแหน่งทศนิยมของผลลัพธ์คือ ผลบวกของจำนวนทศนิยมของตัวตั้งและตัวคูณ การหาร เลื่อนจุดทศนิยมของตัวตั้ง และตัวหารมาทางขวา ให้มากพอที่จะทำให้ตัวหารเป็นจำนวนเต็ม
                        การประมาณการโดยใช้ทศนิยม  ทำได้โดยการหารธรรมดา ค่าคลาดเคลื่อนที่คำนวณได้ อาจทำให้เล็กลงได้ ถ้าใช้ทศนิยมหลายตำแหน่งพอ
                        เลขจำนวนจริงกับเลขทศนิยมไม่รู้จบ  เลขทศนิยม เช่น ๐.๓๓๓... เป็นเลขทศนิยมไม่รู้จบ ๐.๕, ๐.๒๕ เป็นเลขทศนิยมรู้จบ
                        เลขทศนิยมบนเส้นตรงจริง  ถ้าพิจารณาเส้นตรงที่แทนเลขจำนวนโดยกำหนดจำนวนเต็มไว้ทางซ้าย และขวาของจุดกำเนิด ซึ่งถือให้เป็น ๐ เลขทศนิยมที่เป็นส่วนในสิบ ก็จะแบ่งเส้นตรงออกเป็นส่วนเล็ก ๆ เท่า ๆ กัน โดยที่สิบส่วนเหล่านี้ จะอยู่ระหว่างเลขจำนวนเต็มสองจำนวน ที่ใกล้เคียงกันคู่นั้นพอดี
                        เลขทศนิยมซ้ำ คือ เลขทศนิยมที่มีตัวเลขซ้ำกัน รู้จบหรือไม่รู้จบก็ตาม นิยมเขียนขีดไว้ข้างบนกลุ่มของตัวเลข ที่จะต้องเขียนซ้ำต่อๆ ไป เช่น ๐.๒๗๓๒๗๓๒๗๓....=  ๐.๒๗๓
                        การปัดเศษทศนิยม  มีความมุ่งหมายเพื่อที่จะลดค่าเคลื่อนคลาดที่จะเกิดขึ้นในการประมาณ หลักในการปัดที่ใช้กันมากคือ การสังเกตตัวเลขตัวแรกที่จะตัดทิ้ง ถ้าเป็น ๑, ๑, ๒, ๓ หรือ ๔ ตัวเลขตัวสุดท้ายที่เหลือจะมีค่าคงเดิม ถ้าตัวแรกที่ตัดเป็น ๕,๖,๗,๘ หรือ ๙ ตัวเลขตัวสุดท้ายของจำนวนที่เหลือ ก็จะถูกเพิ่มขึ้นอีก ๑            ๑๓/  ๘๓๗๓
                ๒๔๔๖. ทศบารมี  คือ บารมีสิบอย่าง คำว่า บารมี มีคำนิยามว่า "คุณความดี ที่ควรบำเพ็ญสิบอย่างคือ ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิรยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา คุณความดีที่บำเพ็ญมา คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่ เช่นว่า ชมพระบารมี, พระบารมีปกเกล้า, พ่ายแพ้แก่พระบารมี"
                        บารมี สิบอย่าง คือ
                        ๑. ทาน  คือ การให้ เสียสละ
                        ๒. ศีล  คือ การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย หรือความประพฤติที่ดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย
                        ๓. เนกขัมมะ  คือ  การออกบวช หรือการปลีกตัวปลีกใจจากกาม
                        ๔. ปัญญา  คือ ความรอบรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
                        ๕. วิริยะ  คือ ความเพียร ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบุกบั่น อุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไปไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่
                        ๖. ขันติ  คือ ความอดทน สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติที่ตั้งไว้ เพื่อจุดประสงค์อันชอบ ไม่ลุอำนาจกิเลส
                        ๗. สัจจะ  คือ ความจริง ได้แก่ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ
                        ๘. อธิษฐาน  คือ ความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่
                        ๙. เมตตา  คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่น และเพื่อนร่วมโลกทั้งปวง มีความสุขความเจริญ
                        ๑๐. อุเบกขา  คือ ความวางใจเป็นกลาง สงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดี ยินร้าย หรือชอบชัง
                        การบำเพ็ญบารมี แบ่งออกเป็นสามระดับ ระดับต้นเรียกว่า บารมี ระดับกลางเรียกว่า อุปบารมี ระดับสูงสุดเรียกว่า ปรมัตถบารมี
                        กิริยาที่บำเพ็ญบารมีธรรม เพื่อพระโพธิญาณนั้น ท่านจัดเป็นสามระดับคือ บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ (ดู บารมี - ลำดับที่ ...)
                ๒๔๔๗. ทศพร  แปลว่า  พรสิบ เป็นชื่อกัณฑ์ที่หนึ่ง ของมหาชาติว่าด้วยพรสิบประการ  มีพระคาถา ๑๙ พระคาถา พระอินทรเป็นผู้ให้แก่พระนางผุสดี เมื่อเห็นบุรพนิมิตห้าประการ อันเป็นเหตุให้พระนางต้องจุติ ท้าวสักเทวราชได้ประสาทพรให้ ตามที่ขอมาทั้งสิบประการ ที่สำคัญคือ ในประการที่ห้า ที่ขอให้มีพระโอรสซึ่งทรงพระเกียรติยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย และมีพระราชศรัทธาในการกุศล        ๑๓/  ๘๓๘๐
                ๒๔๔๘. ทศพล  แปลว่า กำลังสิบ หมายถึง คุณธรรมที่เป็นกำลังสิบอย่างของพระพุทธเจ้า จึงได้เนมิตกนามว่า พระทศพล คุณธรรมเป็นกำลังของพระพุทธองค์ หมายถึง พระญาณสิบอย่าง (ดู ญาณ - ลำดับที่ ๑๙๓๓ ประกอบ)         ๑๓/  ๘๓๘๓
                ๒๔๔๙. ทศพิธราชธรรม  เป็นกิจวัตร์ที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ เป็นหลักธรรมประจำองค์พระมหากษัตริย์ หรือคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมืองสิบอย่างคือ
                        ๑. ทาน  การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือ สงเคราะห์ อนุเคราะห์ ประชาราษฎรและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
                        ๒. ศีล  ความประพฤติที่ดีงาม คือ สำรวมกาย วาจา ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร มิให้มีใครจะดูแคลนได้
                        ๓. บริจาค  คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์ความสุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
                        ๔. อาชวะ  ความซื่อตรงคือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฎิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน
                        ๕. มัทวะ  ความอ่อนโยนคือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคาย กระด้างถือองค์ มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยา สุภาพนุ่มนวลละมุนละไม ให้ได้ความจงรักภักดี แต่ไม่ขาดยำเกรง
                        ๖. ตบะ  ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่น ในความสุขสำราญและความปรนปรือ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์
                        ๗. อักโกธะ  ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความ และการกระทำต่าง ๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความขุ่นเคือง วินิจฉัยความและการกระทำด้วยจิตราบเรียบ เป็นตัวของตัวเอง
                        ๘. อวิหิงสา  ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณาหาเหตุเบียดเบียน ลงอาชญาแก่ประชาราษฎร เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
                         ๙. ขันติ  ความอดทน คือ ทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกาย น่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วหยันด้วยคำเสียดสี ถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณียที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม
                         ๑๐. อวิโรธนะ  ความไม่คลาดธรรม หรือทำความไม่ผิด คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรมคงที่ ไม่มีความเอนเอียง หวั่นไหวด้วยถ้อยคำดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฎฐารมณ์ และอนิฎฐารมณ์ ใด ๆ สถิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป    ๑๓/  ๘๓๘๓
                ๒๔๕๐. ทศพิน - ท้าว  เป็นศักดิ์สมญาของไพนาสุริยวงศ์ เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าลงกา ในเรื่องรามเกียรติ์ ตามเรื่องว่า เมื่อไพนาสุริยวงศ์อายุได้ ๑๓ ปี พี่เลี้ยงชื่อ วรณีสูร เล่าประวัติทศกัณฐ์ให้ฟัง และยุให้คิดขบถได้ลอบไปหาท้าวจักรวรรดิ์ เจ้ากรุงมลิวัล ผู้เป็นพันธมิตรของบิดา ขอกองทัพไปตีลงกากู้ราชสมบัติคือ จับท้าวทศคีรีวงศ์ (พิเภก) ได้ แล้วตั้งไพนาสุริยวงศ์เป็นเจ้าลงกาแทน ขนานนามว่า "ท้าวทศพิน" พระรามให้พระพรตพระสัตรุตไปปราบ จับทศพินได้ให้ประหารชีวิต แล้วให้ท้าวทศคีรีวงศ์ครองกรุงลงกาตามเดิม (ดูไพนาสุริยวงศ์ - ลำดับที่... ประกอบด้วย)
                ๒๔๕๑. ทศรถ - ท้าว  เป็นกษัตริย์สุริยวงศ์องค์ที่สามแห่งอยุธยา ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นบิดาพระราม พระลักษณ์ พระพรต และพระสัตรุต มีมเหสีสามองค์คือ นางเกาสุริยา นางไกยเกษี และนางสมุทรชา คราวหนึ่งท้าวทศรถไปปราบยักษ์ประทูตัน นางไกยเกษีทำความชอบช่วยท้าวทศรถ จึงได้รับพรจากท้าวทศรถว่า ถ้านางปรารถนาสิ่งใดพระองค์จะยกให้ ท้าวทศรถมีพญานกสดายุ เป็นสัมพันธมิตร
                        ท้าวทศรถได้ตั้งพิธีเพื่อได้โอรส มีฤษีกไลโกฎ เป็นประธาน ได้เป็นเฝ้าพระอิศวรทูลว่า โลกมนุษย์เกิดยุคเข็ญ เพราะพระเจ้าทั้งสามประสาทพรแก่พวกยักษ์ใจทารุณ ขออัญเชิญพระนารายณ์ลงไปปราบ โดยอวตารเป็นโอรสท้าวทศรถ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว มเหสีทั้งสามของท้าวทศรถทรงครรภ์ เมื่อได้กำหนดคลอดนางเกาสุริยาประสูติพระนารายณ์ มีรัศมีเขียว นางไกยเกษี ประสูติกุมารมีรัศมีดังทับทิม นางสมุทรชา ประสูติกุมารมีสีเหลืองดังทาทององค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งสีม่วงอ่อน ได้ขนานนามโอรสทั้งสี่ว่า พระราม พระพรต พระลักษณ์ และพระสัตรุต ตามลำดับ
                        ต่อมานางค่อม ซึ่งผูกใจเจ็บพระรามที่ใช้ลูกกระสุนยิงตนได้รับความอับอาย ได้ไปยุยงนางไกยเกษีให้ทูลขอราชสมบัติแก่พระพรต นางเห็นชอบด้วยจึงได้ทูลของต่อท้าวทศรถ และขอให้พระรามออกไปจากแว่นแคว้นสิบสี่ปี โดยถือเพศเป็นดาบส ท้าวทศรถจำต้องรักษาสัจวาจา และทรงโทมนัสมาก พอพระรามทรงผนวชออกป่าแล้ว พระองค์ก็สิ้นพระชนม์         ๑๓/  ๘๓๘๕
                ๒๔๕๒. ทหาร  มีคำนิยามว่า "ผู้รับราชการป้องกันประเทศชาติ นักรบ"
                        คำว่า ทหาร น่าจะมาจาก "หาญ" ซึ่งเป็นคำไทย แต่บางท่านเห็นว่า อาจมาจากคำ "ทวยหาญ" ซึ่งใช้กันมากในการแต่งกวี ก็เป็นได้
                        คำว่า ทหาร จะใช้กับบุคคลหรือหมู่ชน ที่รวมกันขึ้นเป็นหน่วยที่มีผู้บังคับบัญชาดูแลตามกฎหมาย อยู่ในระเบียบวินัย และมีหน้าที่รับใช้รัฐบาลในการป้องกันประเทศชาติเท่านั้น โดยเหตุนี้ทหารจึงได้รับเกียรติ์จากสังคม และได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศ
                        กิจการทหารไทย ไม่สามารถค้นไปนับเป็นพันปี จึงขอคัดเอาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา ในสมัยนั้นได้กำหนดว่า ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องรับราชการทหารจนอายุ ๖๐ ปี โดยจะมาขึ้นบัญชีไว้เป็นไพร่สม เมื่ออายุ ๑๘ ปี เมื่ออายุ ๒๐ ปี จะมาเป็นไพร่หลวง แล้วเข้าประจำกรมกอง จะต้องมาเข้าเวรเดือนเว้นเดือน ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้ลดการเข้าเวรเหลือเพียงปีละสี่เดือน และลดลงเหลือสามเดือนในรัชกาลที่สอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า ทรงตรา พ.ร.บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ ซึ่งจะทำให้พลเมืองต้องเข้ารับราชการทหารแต่เพียงส่วนน้อย และประจำกรมเพียงสองปี แล้วเป็นกองหนุน จนอายุ ๖๐ ปี ระหว่างนั้นอาจถูกเรียกระดม มารับราชการเพื่อทำสงคราม หรือเพื่อซ้อมรบ
                        จากประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า ทหารได้สนับสนุนรัฐประศาสน์ของประเทศมาตั้งแต่โบราณจนบัดนี้ การเจรจาทางการเมืองระหว่างประเทศจะได้เปรียบ หรือเสียเปรียบขึ้นอยู่กับอำนาจทหารเสมอมา       ๑๓/ ๘๓๘๘

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch