หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/57

    ๒๓๘๔. ถังซัมจั๋ง  เป็นสมญานามพระภิกษุจีนชื่อ หยวนจั้ง ในสมัยราชวงศ์ถัง คำว่า ซัม แปลว่า สาม คำว่า จั๋ง แปลว่า ปิฎก ซัมจั๋ง จึงแปลว่า "ไตรปิฎก"
                        พระถังซัมจั๋ง เกิดเมื่อปี พ.ศ.๑๑๓๙ ในสมัยราชวงศ์สุย เป็นชาวมณฑลเห่อหนัน เมื่อเยาว์วัยได้ติดตามพี่ชายคนที่สอง ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุในเมืองลั่วหยังไปศึกษาธรรม เนื่องจากท่านเป็นคนฉลาดหลักแหลมเป็นพิเศษ จึงได้รับเลือกให้เป็นนาคหลวง บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๓ ปี ท่านเป็นผู้แตกฉานในธรรม และมีความสามารถในการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก จนเป็นที่ยกย่องจากพุทธบริษัทโดยทั่วไป เมื่อสิ้นราชวงศ์สุย และเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ถังแล้ว ท่านรู้ว่าตนเองยังต้องใฝ่หาความรู้อีกมาก จึงตัดสินใจเดินทางไปแสวงธรรมในประเทศอินเดีย ได้ออกเดินทางเมื่อปี พ.ศ.๑๑๗๒
                        เมื่อท่านเดินทางไปถึงประเทศอินเดียแล้ว ได้ไปศึกษาที่วัดนาลันทา มีพระภิกษุชาวอินเดียผู้มีชื่อเสียงหลายรูป ในสมัยนั้นเป็นอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านศีลภัทร ท่านได้ศึกษาอยู่เป็นเวลาสิบกว่าปี จึงเดินทางกลับประเทศจีน พร้อมทั้งนำพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤตกลับมาด้วย ท่านเดินทางถึงเมืองหลวงของจีนคือ เมืองฉังอัน ในปี พ.ศ.๑๑๘๘
                        กษัตริย์จีนในสมัยนั้นคือ พระเจ้าถังไท่จง พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงทรงอุปถัมภ์การแปลพระไตรปิฎก จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน ท่านได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ในด้านพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และฝ่ายเถรวาท ในด้านภาษาสันสกฤตและด้านภาษาจีน พระเจ้าถังไท่จงได้ทรงอาราธนาพระถังซัมจั๋งให้เขียนบันทึกการเดินทางไปอินเดีย จึงปรากฎหนังสือเรื่อง ต้าถังซีวีจี้
                        เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าถึงไท่จง พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าถังเกาจง พระองค์ทรงรับอุปถัมภ์งานแปลพระไตรปิฎกต่อ พระถังซัมจั๋งซึ่งเป็นแม่กองในงานแปลนี้ ดำเนินงานต่อไปจนมรณภาพในปี พ.ศ.๑๒๐๗ ผลงานแปลที่ท่านสร้างไว้อย่างมากมายนี้ นับเป็นการวางรากฐานอันมั่นคง และทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เจริญรุ่งเรืองในประเทศจีนในกาลต่อมา      ๑๓/ ๘๒๐๖
                ๒๓๘๕. ถั่ว  มีคำนิยามว่า "ถั่ว เป็นไม้จำพวกหนึ่งซึ่งใช้ฝัก หรือเมล็ดเป็นอาหาร" นอกจากนั้นยังหมายถึง การพนันชนิดหนึ่งที่ใช้เบี้ยแจง และเป็นชื่อขนมชนิดหนึ่งด้วย
                        โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ถั่ว หมายถึง พันธุ์พืชชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นต้น หรือเป็นเถา มีฝัก (ผล) และเมล็ดใช้บริโภคเป็นอาหารได้ นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในทางอื่น ๆ ได้อีก เช่น เลี้ยงสัตว์ บำรุงดินในการกสิกรรม และเป็นไม้ประดับ
                        พืชในวงศ์ถั่ว มีหลายชนิดที่ไม่มีคำว่า ถั่วนำหน้า และมีอีกหลายชนิดที่ไม่อยู่ในพวกถั่ว หรือวงศ์ถั่ว แต่ก็มีคำว่า ถั่วนำหน้า
                        ลักษณะโดยทั่ว ๆ ไป คือ เป็นต้นไม้ใหญ่ก็มี เป็นไม้พุ่มเล็ก ๆ และไม้ล้มลุกก็มี ที่เป็นไม้เลื้อยเป็นเถาใหญ่และเถาเล็กก็มี
                        ถั่วชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย มีอยู่ ๓๒ ชนิดด้วยกันได้แก่
                        ถั่วกินหัว (มีเรียกอีกหลายชื่อด้วยกันเช่น มันลาว มันแกงลาว มันแกว ละแวก ภาคกลางมักเรียกมันแกว)
                        ถั่วกระด้าง (ใช้เมล็ดแก่เป็นอาหารเช่น ถั่วขาว ถั่วดำเมล็ดเล็ก ถั่วแดง)
                        ถั่วขาว (ลักษณะเช่นเดียวกับถั่วฝักยาว)
                        ถั่วเขียว (ปลูกได้ในทุกสถานที่ ให้ผลเร็ว มีหลายพันธุ์ด้วยกัน)
                        ถั่วแขก (มีสองชนิด ฝักอ่อนใช้บริโภคเป็นผักสด)
                        ถั่วคร้า (ฝักอ่อนใช้บริโภคได้)
                        ถั่วจิงจ้อ (มีลักษณะคล้ายคลึงกับถั่วคร้ามาก)
                        ถั่วแดง (มีหลายชนิดด้วยกัน)
                        ถั่วดำ ถั่วคอ ถั่วทอง ถั่วบุ้ง ถั่วปี ถั่วแปบ ถั่วผี ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม ถั่วพู ถั่วยาว ถั่วแระ ถั่วราชมาษ ถั่วโลมา ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ถั่วลาย ถั่วเสี้ยนป่า ถั่วหอม ถั่วหลา ถั่วหัวช้าง ถั่วหรั่ง ถั่วเหลือง
                        สรุปได้ว่าพืชวงศ์ถั่ว นับตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ ดอก ฝัก และเมล็ดให้คุณประโยชน์หลายประการ     ๑๓/ ๘๒๑๐
                ๒๓๘๖. ถ่าน - โค้กและหิน  ถ่านโค้กไม่เกิดในธรรมชาติ แต่ผลิตได้จากถ่านหิน โดยวิธีกลั่นแห้ง ในทำนองคล้ายคลึงกันกับวิธีเผาไม้ให้เป็นถ่านไม้
                        ถ่านโค้ก มีประโยชน์ใช้เป็นเชื้อเพลิงและลดออกซิเจนในการถลุงโลหะต่าง ๆ
                        ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการแปรรูปของพืชบนผิวโลกที่ถูกทับถมกันเป็นเวลานาน การแปรรูปเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ ความร้อน และความกดทำให้เนื้อไม้ซึ่งมีธาตุถ่าน ธาตุไฮโดรเจน และธาตุออกซิเจน เป็นส่วนประกอบสำคัญค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพไปตามลำดับคือ ไม้ถ่านพีต ถ่านลิกไนต์ ถ่านบิทูมินัส ถ่านแอนทราไซต์
                        การที่ไม้จะแปรรูปไปเป็นถ่านหินชนิดไหนนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาและอายุ ยิ่งนานยิ่งแปรรูปมาก ยิ่งถ่านหินมีอายุมากเท่าไรปริมาณของธาตุถ่านก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น และปริมาณของสารระเหยก็จะลดลงตามส่วน
                        ในประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบ มีแต่ถ่านหินชนิดลิกไนต์ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปางและที่จังหวัดกระบี่ ลิกไนต์ที่ดีที่สุดปรากฎว่ามีอยู่ที่อำเภอลี้ จังหวัดเชียงใหม่  ๑๓/  ๘๒๒๙
                ๒๓๘๗. ถ่ายรูป  เป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ในการถ่ายทอดภาพ โดยอาศัยการทำปฏิกิริยาของแสงสว่างกับตัวยาเคมีบางชนิดที่ไวต่อแสงสว่าง และเคลือบลงบนวัสดุบางอย่างเช่น กระจก หรือสารจำพวกเซลลูลอส อาซิเตต เรียกว่าเยื่อไวแสง เมื่อตัวยานี้ได้รับแสงและนำไปล้างในน้ำยาสร้างภาพ จะก่อตัวขึ้นเป็นภาพตามความเข้มของแสงสว่างที่ได้รับจากการถ่าย
                        หลังจากลงน้ำยาสร้างภาพแล้ว เงินโปรไมต์ที่ไม่ได้รับจะละลายออกไป โดยสารละลายบางชนิดที่ไม่ละลายภาพเงินในโลหะ แต่ละลายเงินโบรไมต์เช่นไฮโป หลังจากนั้นภาพที่ปรากฎขึ้นก็จะคงทนถาวรอยู่เช่นนั้นตลอดไป เรียกน้ำยานี้ว่าน้ำยาคงสภาพ ภาพที่ปรากฎนั้นเรียกว่าเนกะตีฟคือส่วนสว่างที่ถูกถ่ายจะเป็นสีดำ และส่วนดำเป็นสีอ่อน
                        เมื่อต้องการภาพโปสิตีฟ ซึ่งเป็นภาพตรงความเป็นจริงก็จะต้องนำเนกะตีฟไปพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง คือนำไปวางลงบนวัตถุไวแสงอีกชิ้นหนึ่ง เพื่อให้แสงผ่านเนกะตีฟไปยังวัตถุไวแสง และนำไปล้างในน้ำยาสร้างภาพและน้ำยาคงสภาพตามกรรมวิธี ก็จะได้ภาพโปสิตีฟตรงตามความจริง
                        ปัจจุบันมีวัสดุไวแสงประเภทเนกะตีฟ โปสิตีฟ และรีเวอร์เซิล (เมื่อนำไปล้างแล้วจะได้ภาพโปสิตีฟเลย)
                       การถ่ายรูปสี  ได้มีผู้ประดิษฐ์ฟีล์มสีโกดาโครมออกสู่ท้องตลาดในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ฟีล์มสีชนิดนี้เป็นต้นแบบของฟีล์มชนิดต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน ฟีล์มสีจะบันทึกแสงสีต่าง ๆ ลงบนเยื่อไวแสงสามชั้นด้วยกัน แต่ละชั้นจะรับแสงสีน้ำเงิน แสงสีเขียว และแสงสีแดงตามลำดับ เมื่อนำฟีล์มที่ถ่ายแล้วไปล้าง ตัวยาคู่สีในแต่ละชั้นของเยื่อไวแสงจะทำปฏิกิริยากับน้ำยาสร้างภาพสีเกิดเป็นสีย้อนทางเคมีขึ้น
                      การถ่ายรูปแบบโปลารอยด์  มีผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น และนำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๙๑ กล้องถ่ายรูปแบบนี้สามารถถ่ายและอัดรูปสำเร็จในตัวกล้อง ภายในเวลาไม่กี่วินาที ฟีล์มถ่ายรูปแบบโปลาลอยด์ประกอบด้วยเยื่อไวแสงสองชั้น และมีตัวยาเคมีบรรจุอยู่ในสิ่งห่อหุ้มตรงกลางระหว่างเยื่อไวแสงทั้งสองนั้น หลังจากถ่ายภาพแล้ว จะดึงฟีล์มส่วนหนึ่งออกมา ลูกกลิ้งในกล้องจะมีตัวยาเคมีให้แตกออก ตัวยามีลักษณะคล้ายวุ้น จะแผ่กระจายไปทั่วผิวหน้า ด้านเนกะตีฟและโปสิตีฟ และทำปฏิกิริยาเปลี่ยนเงินโปรไมด์ที่ได้รับแสงในเนกะตีฟเป็นภาพเงินโลหะ ภาพเงินโลหะนี้จะถูกถ่ายทอดลงบนกระดาษโพสิตีฟ
                        นอกจากนี้ยังมีฟีล์มถ่ายรูปโปลาลอยด์แบบภาพโปร่งใส และยังมีฟีล์มถ่ายรูปสีโปลารอยด์อีกด้วย ได้เริ่มผลิตออกจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๖
                       การถ่ายรูปแบบสามมิติ  ศาสตราจารย์วีตสโตน ชาวอังกฤษ เป็นผู้คิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๘๑ แต่เป็นการดูภาพแบบสะท้อนแสง ต่อมามีผู้ปรับปรุงให้ทันสมัย เช่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน     ๑๓/ ๘๒๓๒
                ๒๓๘๘. ถ้ำ  คือช่องที่เป็นโพรงลึกเข้าไปในที่ทึบ โดยมากเป็นภูเขาหรือหินใต้พื้นดินที่มีระดับสูง
                         ถ้ำในหินภูเขาไฟเกิดจากการที่ลาวาตอนที่ยังคงสภาพเป็นกึ่งของเหลวไหลออกไป จะทำให้เกิดเป็นโพรง หรือถ้ำขึ้น นอกจากนี้ ถ้ำยังปรากฎอยู่ตามหน้าผาของชายฝั่งทะเล ที่จมตัวลงเป็นถ้ำที่เกิดจากการกระทำของคลื่น อย่างไรก็ตามถ้ำขนาดใหญ่ และพบมากที่สุดได้แก่ ถ้าหินปูน
                      ถ้ำหินปูน  พบอยู่ในชั้นหินปูนที่หนามาก ๆ และต้องเป็นหินปูนที่มีเนื้อแน่น ซึ่งน้ำฝนจะไหลจำกัดอยู่เฉพาะตามระนาบชั้นหิน และตามรอยแยกในหิน นาน ๆ เข้าน้ำฝนซึ่งมีคาร์บอนไดออกไซด์ปนอยู่ จะค่อย ๆ ละลายหินตามแนวที่ผ่านให้เป็นช่องกว้างออกไปทุกที จนกระทั้งเป็นโพรงใหญ่       ๑๓/ ๘๒๔๑
                ๒๓๘๙. ถ้ำมอง  คือ ตู้สำหรับดูภาพยนต์ ถ้ำมองนั้นเป็นทั้งเครื่องฉาย และที่สำหรับดูภาพยนต์ พร้อมกันไปในตัว ดูได้ทีละคน โทมัส เอ เอดิสัน เป็นผู้ประดิษฐ์ถ้ำมองขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒         ๑๓/ ๘๒๔๓
                ๒๓๙๐. ถีบจักร - หนู  ส่วนมากหมายถึง หนูตัวเล็ก ๆ สีขาว ที่บางคนชอบเลี้ยงและทำเครื่องหมุนให้ถีบเล่น     ๑๓/ ๘๒๔๔
                ๒๓๙๑. ถือน้ำ  เป็นคำย่อมาจากคำว่า "ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา"  ซึ่งเรียกในทางราชการว่า "พระราชพิธีศรีสัจปานกาล"  อันเป็นพระราชพิธีเกี่ยวด้วยเรื่อง ดื่มน้ำที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้ทำพิธีแช่งน้ำเสร็จแล้ว (ดู แช่งน้ำ - ลำดับที่ ๑๗๙๑ ประกอบ) เพื่อเป็นการสาบาน ยืนยันถึงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน หน้าที่นั่ง
                        การถือน้ำ เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณอย่างหนึ่งของไทย ถือว่าเป็นพระราชพิธีใหญ่ของแผ่นดิน กำหนดมีปีละสองครั้ง
                        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นใจความว่า การถือน้ำในกรุงเทพ ฯ มีห้าอย่างคือ
                        ๑. พระเจ้าแผ่นดิน แรกได้รับราชสมบัติต้องถือน้ำ
                        ๒. ผู้ที่ได้รับราชการอยู่แล้ว ต้องถือน้ำปีละสองครั้ง
                        ๓. ผู้ซึ่งแต่เมืองปัจจามิตร เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารต้องถือน้ำ
                        ๔. ทหารผู้ซึ่งถืออาวุธอยู่เสมอ ต้องถือน้ำทุกเดือน
                        ๕. ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการ ต้องถือน้ำพิเศษในเวลาแรกเข้ารับตำแหน่ง
                        ธรรมเนียมแต่เดิมมา พระเจ้าแผ่นดินมิได้เสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพิธีด้วย เพิ่งมาเกิดธรรมเนียมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ      ๑๓/ ๘๒๔๕
                ๒๓๙๒. ถูปาหารหบุคคล  คือ บุคคลที่ควรนำกระดูกบรรจุสถูปไว้บูชา เมื่อว่าตามตำนานทางพระพุทธศาสนา บุคคลที่ได้ถือว่า ถุปาหารบุคคลนี้ได้แก่ บุคคลสี่จำพวกคือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระเจ้าจักรพรรดิ์
                        ในชั้นเดิม การนำกระดูกบุคคลทั้งสี่จำพวก บรรจุสถูปไว้บุชานี้ นิยมสร้างไว้ในที่ชุมทางใหญ่สี่แห่ง บรรจบกันซึ่งเรียกว่า ทางใหญ่สี่แพร่ง เพื่อให้ผู้สัญจรไปมาจากสี่ทิศ ได้กราบไหว้สักการบูชา      ๑๓/ ๘๒๔๘
                ๒๓๙๓. ถุปาราม  เป็นชื่อพระเจดีย์เก่าแก่ของประเทศศรีลังกา ตั้งอยู่ในเมืองอนุราธบุรี สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยดิษ เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) ข้างขวาของพระพุทธเจ้า      ๑๓/ ๘๒๔๙
                ๒๓๙๔. เถรขวาด  เป็นเถรในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นผู้ชำนาญในเรื่องเวทมนต์ คาถากฤตยาคม มีชื่อเสียงในการทำเสน่ห์ ฝังรูปฝังรอย มีอิทธิฤทธิ์สะเดาะโซ่ตรวนได้ ตลอดจนแปลงร่างเป็นนก เป็นจระเข้ และอื่น ๆ อีกได้เป็นอันมาก
                        ตามเรื่องมีว่า สร้อยฟ้า และศรีมาลา สองภรรยาของพระไวย เกิดความหึงหวงทะเลาะเบาะแว้งกัน นางสร้อยฟ้าจึงไปหาเถรขวาด ขอให้ช่วยทำเสน่ห์ให้ตน เพื่อพระไวยจะได้หลงรัก ขุนแผนรู้ความจึงกราบทูลพระพันวสา ถึงเรื่องพระไวยถูกทำเสน่ห์ พลายชุมพลน้องพระไวยอาสาขอจับผู้ทำเสน่ห์ จับเถรขวาดไว้ได้ แต่พอตกกลางคืน เถรขวาดก็สะเดาะโซ่ตรวนหลุดแล้ว แปลงตัวเป็นจระเข้หนีไป
                        พระพันวสาโปรดให้ชำระคดีความทำเสน่ห์ นางสร้อยฟ้าใส่ความศรีมาลาจึงให้พิสูจน์กันด้วยการลุยไฟ นางสร้อยฟ้าแพ้ นางศรีมาลาขอพระราชทานชีวิตนางไว้ แล้วนางจึงเดินทางกลับเชียงใหม่บ้านเกิด ได้พบกับเถรขวาดจึงกลับไปเชียงใหม่ด้วยกัน
                        ต่อมา เถรขวาดคิดแค้นพลายชุมพล  จึงแปลงกายเป็นแร้ง บินมุ่งไปอยุธยา พอถึงเมืองอ่างทองก็ร่อนลงแปลงเป็นจระเข้ใหญ่ ณ บ้านจระเข้ร้อง แล้วอาละวาดมาตามลำน้ำจนถึงอยุธยา พลายชุมพลอาสาปราบจระเข้เถรขวาด จับเถรขวาดได้ เถรขวาดถูกตัดสินให้ประหารชีวิต      ๑๓/ ๘๒๕๓
                ๒๓๙๕. เถรคาถา  เป็นคาถา (คำฉันท์ภาษาบาลี)  ที่พระเถระ มีพระสุภูติเถระ เป็นต้น กล่าวไว้คือ พระเถระแต่ละองค์ได้พิจารณาความสุขอันเกิดแต่อริยมรรค และความสุขในอริยผล ตามที่ตนได้ประสบแล้วกล่าวไว้ บางคาถาก็กล่าวเป็นอุทานวาจา  บางคาถาก็กล่าวด้วยอำนาจการพิจารณาผลสมาบัติ ที่เป็นธรรมเครื่องอยู่ของตน บางคาถาก็กล่าวเป็นคำถาม บางคาถาก็กล่าวสำแดงความแห่งพระศาสนา ในสมัยที่จะปรินิพพาน คาถาเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อคราวทำสังคายนาพระธรรมวินัย พระธรรมสังคาหกาจารย์รวบรวมร้อยกรองไว้ โดยชื่อว่า "เถรคาถา"
                        เถรคาถานั้น มาในพระไตรปิฎก โดยนับเนื่องอยู่ในสุตตันตปิฎก ขุทกนิกาย และในองค์ ๙ ของพระพุทธสาสนาที่เรียกว่า "นวังคสัตถุศาสน์" คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
                        ว่าโดยปริมาณ เถรคาถานี้มี ๒,๐๐๐ นับเป็นธรรมขันธ์      ๑๓/ ๘๒๕๗
                ๒๓๙๖. เถรวาท  คือ ลัทธิทักษิณนิกาย หรือนิกายฝ่ายใต้ ถือตามมติที่พระเถระพุทธสาวก ได้ทำสังคายนาไว้ ปัจจุบันคือ
    ลัทธิพุทธสาสนาฝ่ายหินยาน ซึ่งได้ชื่อตามโวหารของลัทธิฝ่ายเหนือคือ อาจริยวาท หรือลัทธิมหายาน ในปัจจุบัน
                        นิกายเถรวาท เกิดขึ้นเมื่อคราวพระเถระพุทธสาวก กระทำทุติยสังคายนา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ประมาณ ๑๐๐ ปี  เนื่องจากมีภิกษุคณะหนึ่งเรียกกันว่าพวกวัชชบุตร อยู่ที่เมืองเวสาลี ได้แก้ไขพระวินัยบัญญัติเป็นวัตถุสิบประการ มีเลิกสิกขาบทที่ห้ามมิให้ฉันอาหารนอกเพลและห้ามมิให้รับทรัพย์เงินทองเป็นต้น พระยสเถระเป็นหัวหน้าพวกที่ไม่เห็นด้วย จึงนิมนต์พระมหาเถระผู้เป็นคณาจารย์อยู่สำนักอื่น ๆ มีพระสัพพกามีและพระเรวัตเป็นต้นกับคณะสงฆ์อีกเป็นอันมากมาประชุมกันที่เมืองเวสาลี วินิจฉัยวัตถุสิบประการของพวกถิกษุวัชชีบุตร เห็นพ้องกันว่าการแก้ไขพระวินัยนั้นไม่สมควรการถือพระวินัย จึงแตกต่างกันขึ้นเป็นสองลัทธิ ลัทธิที่พระสงฆ์พวกพระยสเถระถือได้ชื่อเรียกว่า "เถรวาท" ส่วนลัวทธิที่พระสงฆ์พวกวัชชีบุตรถือนั้นได้ชื่อว่า "อาจริยวาท" เพราะถือตามลัทธิอาจารย์แก้ไข
                        พระสงฆ์ฝ่ายข้างพระยสเถระได้พร้อมมกันทำสังคยนาพระธรรมวินัยที่เมืองเวสาลี เรียกในวตำนานว่า"ทุติยสังคายนา" ต่อมาพระสงฆ์ก็เกิดแตกต่างกันเป็นสองนิกาย พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทได้ชื่อเรียกว่า "สถวีระ" พระสงฆ์ฝ่ายอาจริยวาทได้ชื่อเรียกว่า "มหาสังฆิกะ" ฝ่ายสถวีระลงมาทางใต้ ฝ่ายมหาสังฆิกาขึ้นไปทางเหนือ ฝ่ายนี้เป็นมูลแห่งฝ่ายมหายาน  ๑๓/ ๘๒๖๐
               ๒๓๙๗. เถรีคาถา  เป็นคาถาที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ แสดงอุทิศพระเถรีทั้งหลาย รวบรวมร้อยกรองไว้ มาในพระไตรปิฎกอยู่ในสุตตันตปิฎก ขุทกนิกาย ในลำดับเถรคาถา จัดเป็นนิบาตเดียวกับเถรคาถารวม ๑๖ นิบาต
                ๒๓๙๘. เถ้าแก่ (ดู เฒ่าแก่ - ลำดับที่ ๑๙๕๐)       ๑๓/ ๘๒๖๓
                ๒๓๙๙. เถาคัน  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ลำต้นเป็นเถามีมือสำหรับเกาะ ออกตรงข้ามกับก้านใบ ใบเป็นชนิดใบประกอบเรียงสลับกัน รูปใบเป็นรูปไข่ หรือรูปรี ดอกมีขนาดเล็กมากสีขาว ออกเป็นช่อกระจายตามง่ามใบ ผลรูปกรวยคว่ำ
                        พันธุ์ไม้นี้บางทีเรียกว่า เถาคันแดง เป็นสมุนไพร ใช้เถาเป็นยาแก้ลมวิงเวียน ขับเสมหะ ขับลม ฟอกโลหิต แก้ฟกช้ำ ใบนำมาอังไฟปิดฝี และถอนพิษปวดบวม   ๑๓/ ๘๒๖๓
               ๒๔๐๐. เถาดาน  เป็นโรคหนึ่ง ซึ่งเป็นลำแข็งอยู่ในท้อง ตามตำราแพทย์แผนโบราณเป็นโรคจำพวกกษัยชนิดหนึ่ง มีลักษณะตั้งขึ้นที่ยอดอกแข็งเหมือนแผ่นหิน ถ้าลามลงไปถึงท้องน้อยแล้ว ทำให้เจ็บปวดร้องครางอยู่ทั้งวันทั้งคืน ถูกความเย็นมิได้ ถูกความร้อนอาการค่อยสงบลงเล็กน้อย  แล้วกลับปวดต่อไปจนทำให้จุกเสียดแน่นหน้าอก บริโภคอาหารไม่ได้ ถ้าลามไปถึงหัวเหน่าเมื่อใด  เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ ให้รีบรักษา แต่อย่างเป็นอ่อน ๆ อยู่นี้เรียกว่า กษัยดาน ถ้าเป็นกษัยเถา ทำให้เป็นเส้นพองแข็งขวางอยู่ที่หัวเหน่า เสียดไปตามชายโครงถึงยอดอก  ปวดขบในอกเสียงถึงลำคอ  บางทีทำให้อาเจียนเป็นนานรักษาไม่ได้ แก้ได้แต่เมื่อเป็นอ่อน ๆ อยู่
                ๒๔๐๑. เถาวัลย์  เป็นพันธุ์ไม้ที่เป็นเถาคือ ไม้เลื้อย คำภาษาพื้นเมืองของไทยเอาคำว่า เถาวัลย์ ไปประกอบกับคำอื่นใช้เรียกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ หลายชนิด เช่น เถาวัลย์ย่านาง เถาวัลย์ยอดด้วน ฯลฯ            ๑๓/ ๘๒๖๕
                ๒๔๐๒. เถาวัลย์เปรียง - ต้น  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้เถาเลื้อย เป็นเถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๓๐ เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗ ซม. ไม่ผลัดใบ ใบเป็นใบประกอบยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. ช่อดอกยาวประมาณ ๑๐ - ๓๐ ซม.  ออกตามง่ามใบ แต่ละช่อมีดอกเป็นจำนวนมาก ติดเป็นกระจุก ดอกคล้ายดอกถั่วขนาดเล็ก สีขาว หรือสีชมพูอ่อน
                        พันธุ์ไม้ชนิดนี้ทางจังหวัดนครราชสีมา เรียกว่า เครือตาปลา น้ำเลี้ยงภายในลำต้นใช้ทำยาเบื่อปลา รากใช้เป็นยาฆ่าแมลง เถาใช้เข้ายากลางบ้าน เช่น ยาแก้ปวดเมื่อย และยาขับปัสสาว    ๑๓/ ๘๒๖๕
                ๒๔๐๓.  เถิดเทิง หรือเทิ้งบ้อง  เป็นชื่อวงกลองยาว ซึ่งประกอบด้วยกลองยาวขนาดต่าง ๆ หลายลูก มีกลองเอกเป็นกลองนำหนึ่งลูก ต้องมีเครื่องให้จังหวะคือ ฉิ่ง กรับ ฉาบเล็ก และโหม่ง
                        การเล่นเถิดเทิง ต้องมีรำเข้าประกอบ นักเล่นกลองยาวในวงเถิดเทิง ส่วนมากเป็นชาย และมักแต่งตัวให้ละม้ายไปทางพม่าคือ นุ่งโสร่ง และโพกหัว หัวเป็นผ้าสีสันต่าง ๆ
                        กลองยาวเป็นกลองหน้าเดียว แต่ตีได้หลายเสียง จึงผสมวงเป็นวงเถิดเทิงได้อย่างน่าฟัง
                        วงเถิดเทิง มักใช้ตีเข้าขบวนแห่ ในงานที่ต้องการความครึกครื้นต่าง ๆ เช่น แห่นาคไปวัด แห่สงกรานต์ แห่กฐิน ผ้าป่า ชักพระ เหล่านี้เป็นต้น     ๑๓/ ๘๒๖๖
                ๒๔๐๔. เถิน  อำเภอ ขึ้น จ.ลำปาง ภูมิประเทศตอนกลาง และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม ตอนเหนือ ตะวันออก และตะวันตก เป็นที่ดอนมีป่าทึบและภูเขา
                        อ.เถิน เดิมเป็นเมืองขึ้นนครเชียงใหม่ ต่อมายุบเป็นอำเภอ ขึ้น จ.ลำปาง    ๑๓/ ๘๒๗๑
                ๒๔๐๕. แถง - เมือง  อยู่ทางภาคตะวันตกของเวียดนามตอนเหนือ ปัจจุบันเรียกว่า เมืองเดียนเบียนฟู หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพฝรั่งเศสได้ยึดเมืองนี้เป็นป้อมปราการสุดท้าย ก่อนที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะยินยอมให้มีการเจรจา สงบศึกกับพวกเวียดมินห์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗
                        เมืองแถง เป็นเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบ และมีแม่น้ำหลายสายผ่าน ภายในวงล้อมของภูเขาเป็นที่ราบ ทำมาได้อย่างกว้างขวาง ในสมัยก่อนเมืองแถงมีเมืองขึ้นถึง ๑๑ เมือง
                        ประวัติเมืองเริ่มเรื่องในทำนองนิยายว่า มีเทพบุตรเทพธิดา อย่างละห้าองค์ ตกลงกันว่าจะมาเอากำเนิดในโลกมนุษย์ จึงเข้าไปอยู่ในน้ำเต้า ผลน้ำเต้าลอยลงมาบนยอดเขาเรียกว่า เขาเต้าปุง แล้วเทพบุตร เทพธิดา ออกจากน้ำเต้าเป็นคู่ ๆ สี่คู่ที่ออกมาทีหลัง กลายเป็นบรรพบุรุษของ ไทย ลาว ฮ่อ และญวน ส่วนคู่แรกกลายเป็นบรรพบุรุษของพวกข่า เนื่องจากไม่ยอมอาบน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เหมือนสี่คู่หลัง
                        พวกไทยมีชื่อเรียกว่า ผู้ไทย เมื่อมีผู้คนมากขึ้น และกษัตริย์คือ ขุนลอคำ จึงพากันสร้างบ้านเรือนขึ้นที่บ้านสามหมื่น ขยายบ้านเมืองใหญ่โต มีชื่อว่า เมืองแถง เมื่อขุนลอคำสิ้นพระชนม์ ขุนบรม (ขุนบูลม ก็เรียก)  หรือพีล่อโก๊ะ ได้เป็นเจ้าเมืองแทน พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีอานุภาพมาก มีราชโอรสเจ็ดองค์ โปรดให้ไปสร้างเมืองใหม่หกองค์ ส่วนองค์สุดท้ายมีนามว่า เจ็ดเจือง โปรดให้อยู่เมืองแถง
                        ประวัติเมืองแถง ต่อจากขุนบรมลงมา ออกจะสับสนมาก สรุปว่าเป็นเชื้อสายขุนลอคำ ผลัดเปลี่ยนกันมาครองเมืองแถง แต่ความจริงนั้น เมืองแถงถูกเปลี่ยนมือไปมา ระหว่างไทย บ้าง ล้านช้าง บ้าง พม่า บ้าง ญวน บ้าง ตลอดเวลาหลายร้อยปี มาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๙ ซึ่งเป็นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงมีเรื่องว่า สิบสองจุไทย ขึ้นอยู่กับกรุงเทพ ฯ และเจ้าเมืองแถง ได้ราชทินนามว่า "พระสวามิภักดิสยามเขต"  ต่อมาเมืองแถงตกไปเป็นของญวน และต่อมาญวนได้ตกไปเป็นเมืองอาณานิคม ของฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ห้า ตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖
                ๒๔๐๖. ไถ ๑ - ดาว  ดาวไถ เป็นหมู่ด่าวฤกษ์ ซึ่งปรากฎเด่นชัดบนท้องฟ้า และอาจเห็นได้จากทุกแห่งบนพื้นโลก มนุษย์ในโลกทุกแห่ง ได้สนใจสังเกตและเอาใจใส่หมู่ดาวนี้มาแต่สมัยโบราณ ในพื้นเพวัฒนธรรมไทยก็เรียกดาวหมู่นี้ว่า ดาวเต่า อีกชื่อหนึ่ง ดาวไถยังนับเป็นกนักษัตรที่ห้าชื่อ มฤคศิรฺษ ด้วย
                ๒๔๐๗. ไถ ๒  เป็นเครื่องมือกสิกรรมชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติสำคัญคือ การพลิกกลับหน้าดิน เพื่อให้ดินเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช ไถเป็นเครื่องมือช่วยงานมนุษย์ ให้เตรียมดินได้รวดเร็วกว่าจอบ เพราะใช้แรงงานสัตว์ฉุดลาก
                        ในการไถเพื่อเตรียมดินเพาะปลูกพืชนั้น ยังแบ่งออกไปเป็นไถดะ และไถแปร ไถดะ เป็นการไถพลิกหน้าดินลง และเอาดินข้างล่างขึ้นมาตาก เป็นการกลบฆ่าวัชพืช เมื่อไถดะเสร็จแล้ว จะทิ้งช่วงเวลานานพอสมควรก็ไถอีกครั้ง หรือสองครั้ง การไถหลังการไถดะนี้ เรียกกันว่าไถแปร เพื่อฆ่าต้นอ่อนวัชพืช และย่อยดินให้ร่วนซุย การไถพรวนถือเป็นการไถแปรอย่างหนึ่ง
     
     

     

                ๒๔๐๘. ท พยัญชนะตัวที่ยี่สิบสามของพยัญชนะไทย  นับเป็นพวกอักษรต่ำเป็นตัวที่สี่ของวรรคสี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด ในคำที่มาจากบาลี และสันสกฤต จัดเป็นพยัญชนะพวกอโฆษะคือ มีเสียงไม่ก้อง แต่ในด้านภาษาศาสตร์ เรามักจะพูดถึงเสียง ไม่ใช่ตัวอักษร ดังนั้น ท ในภาษาบาลี และสันสกฤต จึงจัดเป็นพยัญชนะพวกสิถิล - โฆษะ คือ มีเสียงเบาและก้อง
                         ท  เป็นพยัญชนะเกิดจากฐานฟัน เรียกว่า ทันตชะ เมื่อประสมกับ ร จะออกเสียงเป็น ท และ ซ (ที่เรียกว่า อักษรควบไม่แท้) ก็ได้
                ๒๔๐๙. ทนายความ  ๑. ได้แก่ ผู้ที่จดทะเบียนและรับใบอนุญาตจากเนติบัณฑิตยสภา ให้มีสิทธิว่าความในศาล ทนายความแบ่งเป็นสองชั้นคือ ทนายความชั้นหนึ่ง และทนายความชั้นสอง ทนายความชั้นหนึ่ง มีสิทธิว่าความในศาลทั่วราชอาณาจักร ทนายความชั้นสอง มีสิทธิว่าความในศาลในเขตจังหวัดรวมสิบจังหวัด ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และมีสิทธิว่าความในศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เฉพาะคดีที่ศาลชั้นต้นในเขตจังหวัดดังกล่าว ได้พิพากษาหรือสั่ง และมีสิทธิตามประเด็นไปว่าความในศาลอื่นได้ด้วย
                        ๒. เมื่อบุคคลมีข้อพิพาทไม่ว่าจะเป็นในทางอาญา หรือทางแพ่งเกิดขึ้นก็ดีหรือไม่มีข้อพิพาท แต่มีความประสงค์จะใช้สิทธิทางศาล เช่น จะยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เป็นต้นก็ดี แต่บุคคลนั้นไม่มีความรู้กฎหมาย จึงไม่สามารถเขียนคำฟ้อง คำให้การ หรือคำร้อง หรือซักถามพยานในศาลให้ถูกต้อง ตามที่กฎหมายต้องการได้ จึงอาจแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในทางกฎหมายที่ได้จดทะเบียน และรับใบอนุญาตจากเนติบัณฑิตยสภา ให้มีสิทธิว่าความในศาลได้ ซึ่งเรียกกันว่า ทนายความ นั้นให้ดำเนินคดีแทนตน    ๑๓/  ๘๒๘๕
                ๒๔๑๐. ทบวงการเมือง  คือ ทบวงและกรมในรัฐบาล เทศาภิบาลปกครองท้องที่ และประชาบาล ทั้งหลาย
                        ๑. กระทรวงและกรมในรัฐบาล อยู่ในความหมายเป็น "ราชการส่วนกลาง"
                        ๒. เทศาภิบาลปกครองท้องที่ ปัจจุบันอยู่ในความหมายเป็น "ราชการส่วนภูมิภาค"
                        ๓. ประชาบาลทั้งหลาย ปัจจุบันอยู่ในความหมายเป็น "ราชการส่วนท้องถิ่น"     ๑๓/  ๘๒๙๔
                ๒๔๑๑. ทมิฬ  เป็นชนชาติทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ต่อจากแคว้นอันธระ ตั้งแต่แคว้นมัทราช ลงไปตามชายฝั่งทะเล ที่เรียกว่า โจฬมณฑล จนสุดใต้ของอินเดียที่เรียกว่า แหลมกุมารี และตอนเหนือของเกาะลังกาด้วย
                        โดยเหตุที่ทมิฬเป็นชาติที่มีความเจริญยิ่งกว่าพวกอื่นในฝ่ายใต้ของพวกอินเดียด้วยกัน บางทีก็ใช้คำทมิฬเป็นชื่อรวม สำหรับเรียกชนชาติอินเดียตอนใต้ทั้งหมด ชาติทมิฬเป็นชนชาติที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศต่าง ๆ ในภาคเอเซียอาคเนย์ มาแต่โบราณ เหตุนี้วัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามาสู่ดินแดนเหล่านี้ จึงมีอยู่มากที่มาจากทมิฬ ราชวงศ์ปัลลวะซึ่งมาเกี่ยวข้องกับศิลปะ มีสถาปัตยกรรม เป็นต้น ในประเทศเขมรสมัยโบราณ ก็เป็นราชวงศ์ทมิฬ
                        ภาษาทมิฬ เป็นภาษาที่รุ่งเรืองมานาน มีวรรณคดีที่สำคัญอยู่มาก ยกเว้นวรรณคดีในภาษาสันสกฤตแล้ว ก็ไม่มีภาษาใดในอินเดียจะมีวรรณคดีเป็นจำนวนเท่าเทียมของทมิฬได้
                        ชาวทมิฬ มีอยู่ในประเทศไทย อินโดนิเซีย (ชวามลายู)  และมาเลเซีย  โดยมากเป็นคนชั้นกรรมกร เฉพาะพวกนี้เรียกว่า เป็นแขกกลิงค์      ๑๓/  ๘๒๙๗
                ๒๔๑๒. ทยอย  เป็นชื่อเพลงประเภทหนึ่ง ที่ใช้บรรเลงในวงดนตรีไทย มีความหมายเป็นการแสดงความเศร้าโศก ในเวลาเดินทาง อาจใช้บรรเลงเป็นเพลง "หน้าพาทย์" หรือ "เพลงเรื่อง"  หรือ "เพลงรับร้อง"  ที่เรียกกันว่า "ส่งเสภา" ก็ได้
                        เพลงที่ใช้เป็นหน้าพาทย์ ประกอบอากัปกิริยาของตัวโขน ละคร นั้น มีชื่อว่า ทยอย
                        ส่วนคำว่า " เพลงเรื่องทยอย" นั้น เป็นชื่อของเพลงอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกกันว่า "เพลงเรื่อง"  เพลงประเภทนี้ประกอบด้วยเพลงหลาย ๆ เพลง ซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันนำมาร้อยกรองเข้าเป็นเรื่อง ส่วนมากก็จะนำเอาชื่อของเพลงแรก ในเรื่องนั้นมาเป็นชื่อของเพลงเรื่องดังกล่าว เช่น "เพลงเรื่องทยอย" ก็ขึ้นต้นด้วย เพลง "ทยอย" แล้วต่อด้วยเพลงอื่น ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเศร้า และเย็น เช่นเดียวกับเพลงทยอย    ๑๓/ ๘๒๙๘
               ๒๔๑๓. ทรงกระทียม  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งในวงศ์กก เป็นไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกระจุก ตามหนอง บึง ที่มีน้ำสะอาด ในที่โล่งทั่วไป สูง ๔๐ - ๑๒๐ ซม. ลำต้นเป็นหลอดกลวง ภายในมีผนังกั้นเป็นปล้อง ๆ ไม่มีใบ มีกาบบาง ๆ หุ้มที่โคนของลำต้น ดอกเป็นช่อยาว ๑ - ๒ ซม.  เกิดที่ปลายสุดของลำต้น ช่อดอกตั้งตรงในแนวเดียวกับลำต้น ตามปลายรากที่อยู่ใต้ดิน มีหัวซึ่งเป็นที่สะสมอาหาร รูปร่างคล้ายแห้ว เป็นอาหารรสอร่อย บริโภคได้ทั้งสด ๆ และทำให้สุกแล้ว      ๑๓/  ๘๓๐๐
                ๒๔๑๔. ทรงธรรม - สมเด็จพระเจ้า  เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา องค์ที่ ๒๑ ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๔ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ประสูติแต่พระสนม เมื่อเสวยราชย์แล้วทรงพระนามว่า "สมเด็จพระอินทราชาธิราช" แต่อาจเนื่องมาจากก่อนเสวยราชย์ ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ และในระหว่างครองราชย์ พระองค์ได้ทรงทำนำบำรุงบ้านเมือง และการศาสนามาก ทั้งได้พบรอยพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรีอีกด้วย ประชาชนจึงได้ถวายพระนามเป็นการยกย่องว่า "สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม"  พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๑ ครองราชย์ได้ ๑๙ ปี
                      ทหารญี่ปุ่นขบถ  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ครองราชย์ได้ไม่นานกำลังทหารญี่ปุ่น ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของออกญากรมนายไวย ได้รวบรวมกำลังประมาณ ๑๘๐ คน ยกจู่โจมเข้าไปในพระราชวัง จับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไว้ แต่เมื่อเห็นกองทหารกรุงศรีอยุธยารวบรวมกำลังกัน  เตรียมจะขับไล่พวกตน  จึงลงเรือสำเภาล่องลงไปจากกรุงศรีอยุธยา  และได้นำพระสงฆ์สี่รูปไว้เป็นตัวประกัน  ระหว่างทางได้ขึ้นปล้นบ้านริมแม่น้ำ แล้วไปยึดเมืองเพชรบุรีไว้ และขึ้นครองเมืองอยู่หนึ่งปีเต็ม
                        ต่อมา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมส่งกองทหารออกไปขับไล่ได้ในปี พ.ศ.๒๑๕๔ แต่พวกญี่ปุ่นกลับมายึดเมืองบางกอก (ต่อมาเรียก เมืองธนบุรี)  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดให้ชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยา  ออกไปเจรจาให้พวกที่ยึดบางกอกอยู่ออกไปได้
                      การสงคราม  ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยาต้องทำสงครามถึงห้าครั้งด้วยกันคือ
                            ๑. การขับไล่กองทัพล้านช้าง พ.ศ.๒๑๕๕  ในระหว่างที่พวกชาวญี่ปุ่นได้จับกุมสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้ากรุงล้านช้างทราบข่าว จึงยกทัพเข้ามานัยว่าจะมาช่วยขับไล่พวกญี่ปุ่นออกไป ได้เคลื่อนทัพมาดูชั้นเชิงอยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี)  ถึงสี่เดือน เมื่อทราบว่าเหตุการณ์ภายในกรุงศรีอยุธยาสงบลงแล้ว จึงทรงส่งราชทูตเชิญพระราชสาสน์ มาถวายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีความว่าที่ยกทัพลงมาครั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยขับไล่พวกญี่ปุ่น แต่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่ทรงเชื่อ จึงทรงเคลื่อนทัพจากพระนครไปยังเมืองละโว้ แต่กองทัพล้านช้างได้ชิงถอยหนีไปก่อนแล้วถึงสี่วัน จึงทรงส่งกองทหารออกไล่ติดตามไปทัน แล้วเข้าโจมตีทัพล้านช้างแตกกลับไป
                            ๒. การแย่งเมืองทวาย พ.ศ.๒๑๕๖  พระเจ้าอังวะ ยกกองทัพมีกำลัง ๔๐,๐๐๐ มาตีเมืองทวายได้ และยกทัพเลยลงมาจะตีเมืองตะนาวศรี แต่เมื่อพบกองทัพไทยสองกองทัพ ตั้งสกัดอยู่ที่ท่าจะข้ามไปเมืองตะนาวศรีก็ชะงักอยู่ พอดีถูกกองทัพพระยาสวรรคโลก กับกองทัพพระยาพิไชย ยกอ้อมมาล้อมด้านหลัง พระเจ้าอังวะจึงถอยหนีไปยังเมืองเมาะตะมะ
                            ๓. การเสียเมืองเชียงใหม่ให้กับพม่า พ.ศ.๒๑๕๘  พระเจ้าอังวะพักพลอยู่ที่เมาะตะมะได้ไม่นาน ก็ทรงทราบข่าวว่า เมืองเชียงใหม่ได้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นภายใน ทรงเห็นว่าชาวเชียงใหม่คงจะแตกกันเป็นสองฝ่าย จึงยกทัพจากเมืองเมาะตะมะไปยังเมืองเชียงใหม่ ในปลายปี พ.ศ.๒๑๕๗ เมื่อยกมาถึงเมืองลำพูน ทรงทราบว่า พระเจ้าเชียงใหม่ได้กวาดต้อนผู้คนไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองลำปาง จึงยกทัพติดตามไปล้อมเมืองไว้ ชาวเมืองเชียงใหม่และลำปางรักษาเมืองอยู่ได้นาน จนกองทัพพม่าขาดเสบียง เกือบจะถอยทัพกลับ พอดีพระยาน่านคุมเสบียงมาส่งทัน และพระเจ้าเชียงใหม่พิราลัยลง ชาวเมืองจึงยอมอ่อนน้อมแก่พม่า พระเจ้าอังวะตั้งให้พระยาน่าน เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ต่อมาไทยกับพม่าได้ทำสัญญาเลิกสงครามต่อกันในปีต่อมา ในสัญญานั้น มีข้อความสำคัญว่า เมืองเชียงใหม่เป็นของไทย และเมืองเมาะตะมะเป็นของพม่า
                            ๔. การสงครามกับเขมร พ.ศ.๒๑๖๔  ในปี พ.ศ.๒๑๖๒ สมเด็จพระไชยเชษฐา กษัตริย์เขมรองค์ใหม่ ได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองอุดมลือไชย ทรงคิดแข็งเมืองไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ไทย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงให้เตรียมกองทัพบก และกองทัพเรือไปตีเขมร กองทัพเรือขาดเสบียงและน้ำต้องถอยกลับก่อน สมเด็จพระไชยเชษฐายกทัพเข้าโจมตีทัพบกไทยแตก กรุงศรีอยุธยาต้องปล่อยให้เขมรเป็นอิสระภาพ อยู่ตลอดรัชกาลของพระองค์
                            ๕. สงครามเสียเมืองทวาย พ.ศ.๒๑๖๕  พม่าส่งกองทัพมาตีเมืองทวาย ทางกรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพไปป้องกันไม่ทัน จึงเสียเมือง
                      ด้านสังคมและวัฒนธรรม  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงดำรงตำแหน่งศาสนูปถัมภกทุกศาสนา ที่มีผู้นำเข้ามาในพระราชอาณาจักรตามพระราชประเพณี เฉพาะพระพุทธศาสนาได้ทรงส่งเสริมไว้หลายอย่างคือ ในปี พ.ศ.๒๑๕๖ โปรดให้ชักชลอพระมงคลบพิตรจากที่ตั้งเดิม ด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง มาไว้ด้านตะวันตกแล้วสร้างพระมณฑปขึ้นครอบ และในปี พ.ศ.๒๑๖๑ มีผู้พบรอยพระพุทธบาทอยู่บนไหล่เขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี จึงทรงถวายที่ดินเป็นพุทธมณฑล กว้าง ๑ โยชน์ โดยรอบพระพุทธบาท
                        นอกจากนั้น ยังโปรดให้แต่งมหาชาติคำหลวงและทรงสร้างพระไตรปิฎกขึ้นไว้
                ๒๔๑๕. ทรงบาดาล  เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ใบเป็นใบประกอบ ยาว ๑๐ - ๓๐ ซม. ดอกเป็นช่อ ๆ ยาว ๖ - ๑๓ ซม. ออกตามง่ามใบใกล้ยอด ฝักแบน ยาว ๑๐ - ๑๕ ซม.    ๑๓/  ๘๓๑๓
                ๒๔๑๖.ทรงประพาส ๑  ชื่อฉลองพระองค์มีรูปเป็นเสื้อกั๊ก มีชายคู่กับ "พระกรน้อย" ซึ่งเป็นเสื้อชั้นในที่แขนต่อแถบรัด มีสายรัดกับฉลองพระองค์ทรงประพาส       ๑๓/  ๘๓๑๔
                ๒๔๑๗. ทรงประพาส ๒  เป็นชื่อหมวก เครื่องยศรูปเป็นกลีบ ๆ มีชายปกข้างและหลัง    ๑๓/ ๘๓๑๕
                ๒๔๑๘. ทรพา  เป็นพญากาสร (กระบือ)  สีสำลาน (สีเหลืองปนแดง)  ในเรื่องรามเกียรติ์ ว่าเดิมเป็นยักษ์ชื่อ นนทการ นายทวารเขาไกรลาสของพระอิศวร เห็นนางอัปสรชื่อ มาลี ในสวนดอกไม้สวรรค์ เกิดความปฎิพัทธ์เด็ดดอกไม้ปาไปยังตัวนาง เป็นเชิงเกี้ยว นางมาลีตกใจนำความไปฟ้องพระอิศวร พระองค์ทรงกริ้วจึงสาปให้เป็นกระบือชื่อ ทรพา เมื่อใดมีลูกชื่อ ทรพี และถูกลูกฆ่าแล้ว จึงพ้นสาป กลับไปเป็นนายทวารดังเดิม
                        เมื่อเป็นกระบือทรพาแล้ว ถ้ามีลูกออกมาเป็นตัวผู้ ก็ฆ่าเสียเพราะเกรงจะมาฆ่าพ่อ คราวหนึ่งนางกระบือชื่อนีลาหนีไปตกลูกในถ้ำเป็นตัวผู้ จึงออกปากฝากฝังเทวดาในถ้ำแล้วกลับไป เทวดาช่วยกันเลี้ยงรักษาเขาข้างละองค์  ขาข้างละองค์ และให้ชื่อทรพี ครั้นเจริญวัยทรพีไปถ้าพ่อรบ ทรพาแพ้ถูกทรพีขวิดตาย    ๑๓/
               ๒๔๑๙. ทรพิษ - ไข้  เกิดจากไวรัสพวกหนึ่ง เชื้อพวกนี้อาจพบในน้ำเหลืองหรือหนองตามผิวหนังของผู้เป็นโรค และพบในน้ำมูกน้ำลายของผู้เป็นโรค โรคจะเกิดขึ้นหลังจากรับเชื้อราว ๘ - ๑๒ วัน เมื่อเริ่มต้นเป็นโรคจะปวดศีรษะ ไข้สูงมาก หน้าแดง หนาวสั่น ปวดตามแขนขาและหลัง กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย เพ้อ จนอาจมีชักและหมดสติ
                        ในวันที่สอง จะมีผื่นขึ้นเป็นจุดแดงบริเวณหน้าท้องและหน้าขา ลักษณะคล้ายกับผื่นหัด วันที่สาม สี่ จะเกิดเม็ดพองใสทั้งตัว และจะค่อย ๆ ขุ่นเข้า ไข้ลดลงบ้าง แต่จะกลับสูงขึ้นเมื่อมีพวกเชื้อหนองต่างๆ แทรกลงไป ต่อมน้ำเหลืองตามที่ต่าง ๆ จะโตบวมและอักเสบด้วย
                       ในวันที่แปด เม็ดผื่นพวกนี้จะขึ้นเต็มหมดทั้งตัวแล้วจะค่อย ๆ ฝ่อลงไปและตกสะเก็ดแห้งร่วงไปหมดใน ๑๐ - ๑๔ วัน เมื่อหายแล้วมักจะเหลือเป็นแผลเป็นตามตัวและใบหน้า ถ้าฝีนั้นขึ้นที่ตาดำจะทำให้ตาบอด
                       คนไข้ตายเพราะโรคนี้ ส่วนมากมักจะเกิดจากโรคแทรกเช่น ปอดบวม ไตอักเสบ และเลือดเป็นพิษ ยังไม่มียาใดที่รักษาโรคนี้ได้โดยตรง การรักษาส่วนมากคือระวังรักษา รักษาโรคแทรกและรักษาตามอาการ
                       การป้องกันคือ ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การปลูกฝีในประเทศไทยเริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๓ โดยนายแพทย์ แดนบีช บรัดเลย์ ทุกคนควรปลูกฝีซ้ำทุกระยะ ๕ ปี ในระหว่างที่เกิดมีผู้ป่วยเป็นไข้ทรพิษหรือไข้ทรพิษระบาด ควรปลูกฝีทุกครั้งไป สำหรับเด็กทารกนั้นควรได้ปลูกฝีครั้งแรกก่อนอายุหกเดือน ๑๓/ ๘๓๑๘
              ๒๔๒๐. ทรพี เป็นลูกของทรพาและนางกระบือชื่อนีลา เมื่อเกิดแม่กระบือพาไปเกิดในถ้ำแก้วสุรกานต์ แล้วฝากฝังให้เทวดาเลี้ยงไว้ในถ้ำ ครั้นเติบใหญ่ขึ้นมีความฮึกเหิมอหังการเที่ยวเสี่ยวขวิดหินผาคอยวัดตีนพ่อ ครั้นเห็นว่าตีนโตเท่าพ่อแล้ว ก็ไปท้าพ่อให้มาขวิดกัน ได้ฆ่าพ่อแล้วกำเริบฤทธิ์ ไปท้าเทวดาที่เขาหิมาลัย ที่เขาเบญจกูฏ ท้าพระสมุทร จนไปถึงท้าพระอิศวร พระองค์บอกให้ไปสู้กับพยาพาลีก่อน แล้วให้ไปเกิดเป็นลูกพญาขร ชื่อมังกรกัณฐ์ให้ตายด้วยศรพระราม เมื่อทรพีไปรบกับพาลีก็ได้รับผลตามคำสาปของพระอิศวรทุกประการ   ๑๓/ ๓๒๒


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch