หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/46
    ๑๙๘๒. ดักแด้  เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีการเจริญเติบโต ตั้งแต่วางไข่และเปลี่ยนแปลงไปจนตัวเต็มวัยนั้น นับว่าเป็นวิธีการที่แปลก และแตกต่างไปจากสัตว์อื่นมาก
                        ส่วนใหญ่ของแมลงนั้น เริ่มต้นแต่วางไข่ ซึ่งภายหลังจะกลายเป็นหนอนเรียกว่า ตัวอ่อน ตัวอ่อนนี้ก็เจริญเติบโตจนถึงวัย ที่ชักใยห่อหุ้มตัวเปลี่ยนรูปเป็นดักแด้ เรียกว่า ตัวแก้ว เมื่อตัวแก้วเจริญก็จะเปลี่ยนรูปร่างเป็นตัว เหมือนอย่างเต็มวัย        ๑๑/ ๗๐๒๓
                ๑๙๘๓. ดั้ง - จมูก  คือ ส่วนของกระดูกที่ติดต่อกับหน้าผากตรงแสกหน้า ระหว่างหัวคิ้วทั้งสอง และหัวตาทั้งสอง มีกระดูกเนสัล เป็นโครงร่างสำคัญ        ๑๑/ ๗๐๒๔
                ๑๙๘๔. ดัดผม  คือ การเปลี่ยนสภาพเส้นผมให้เป็นไปตามที่ต้องการ มีผู้คิดเครื่องดัดผมด้วยไฟฟ้าขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๙ มีการดัดผมถาวรด้วยน้ำยาเคมีเป็นครั้งแรก        ๑๑/ ๗๐๒๔
                ๑๙๘๕. ดันดัน  เป็นชื่อเมืองเล็กแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากเมืองกัลกัตตา  ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๑๑ กม. การขบถครั้งใหญ่ในอินเดียได้เริ่มต้น ณ เมืองนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐ แล้วแผ่ขยายไปยังเมืองอื่น ๆ        ๑๑/ ๗๐๒๖
                ๑๙๘๖. ดา - แมลง  เป็นแมลงซึ่งชอบเล่นไฟ มีผู้จับไปดองน้ำปลา หรือใช้ตำน้ำพริก เพราะตัวผู้มีกลิ่นรุนแรง        ๑๑/ ๗๐๒๔
                ๑๙๘๗. ด่าง - น้ำ  ด่าง คือ เบสที่ละลายน้ำได้ ได้แก่ สารประกอบจำพวกไฮดรอกไซด์ของโลหะอัลกาไล ซึ่งละลายน้ำได้ดี น้ำด่างมีรสฝาด ถูกมือลื่นคล้ายสบู่ ผสมกับไขมันได้สบู่ เปลี่ยนสีอินติเกเตอร์ เช่น ลิสมัส จากสีแดงเป็นสีน้ำเงิน ทำปฎิกิริยากับกรด ได้เกลือกับน้ำ เป็นตัวนำไฟฟ้า        ๑๑/ ๗๐๒๕
                ๑๙๘๘. ดาดตะกั่ว  ๑ - ต้น  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ประเภทที่ใบมีสีพื้นเป็นสีหนึ่ง แล้วมีสีฉาบหน้าอยู่สีหนึ่ง เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยตามผิวดิน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับประเภทไม้ใบ        ๑๑/ ๗๐๒๘
                ๑๙๘๙. ดาดตะกั่ว ๒   เป็นชื่อของไข้ทรพิษแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบที่ออกเป็นผืนหนา ติดกันเป็นพืด มองดูเหมือนเป็นสีดำ นับเป็นชนิดที่รุนแรงมาก        ๑๑/ ๗๐๒๘
                ๑๙๙๐. ด่าน  หมายถึง สถานที่ซึ่งไปตั้งอยู่ปากทาง สำหรับคอยกัก ตรวจตรา คอยระวังเหตุ และป้องกันช่องทางที่จะผ่านเข้ามา ในสมัยโบราณมีหัวหน้าผู้รักษาด่านเรียกว่า ขุนด่าน ปัจจุบันได้แยกด่านตรวจคน กับด่านตรวจของออกจากกันคือ ด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากร
                        ในแง่ความหมายของคำ ด่านในความหมายเดิม แปลว่า แดน เช่น ด่านช้าง ไปตรวจด่านคือ ไปตรวจแดน           ๑๑/ ๗๐๓๐
                ๑๙๙๑. ด่านขุนทด  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศทางด้านตะวันออกเป็นที่ลุ่ม ทางด้านตะวันตกเป็นป่าโคก ไปถึงเขาพังเพย เดิมอำเภอนี้เรียก อ.พันชนะ         ๑๑/ ๗๐๓๓
                ๑๙๙๒. ด่านซ้าย  อำเภอขึ้น จ.เลย ภูมิประเทศเป็นที่ราบกว้าง เป็นป่าดงและเขาบ้าง มีพื้นที่ราบตามช่องเขา ยืดยาวอยู่สองแห่ง เรียกว่า ร่องทึง และร่องหมัน
                    อ.ด่านซ้าย เดิมเป็นเมืองแล้วลดเป็นอำเภอ แต่มีฐานะคล้ายจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ดินแดนที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ตกไปเป็นของฝรั่งเศส ต้องย้ายที่ว่าการไปตั้งที่บ้านนาขามป้อม และลดลงเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.หล่มสัก เมื่อฝรั่งเศสคืนดินแดนแล้ว จึงกลับตั้งเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙  อำเภอนี้มีโบราณสถานอยู่แห่งหนึ่งคือ พระธาตุศรีสองรัก สร้างในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ สมัยอยุธยา        ๑๑/ ๗๐๓๓
                ๑๙๙๓. ดาบลาว ท้องพล ฝักพร้า - ปลา  จัดอยู่ในวงศ์ย่อยที่มีท้องเป็นสัน ไม่มีหนวด ตัวยาว เกร็ดละเอียด ปลานี้อยู่ที่ชวา สุมาตรา บอร์เนียวและอินโดจีน อย่างเดียวกับเมืองไทย อาศัยอยู่ตามแม่น้ำใหญ่ เป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดของวงศ์ ย่อยนี้ ยาวกว่าครึ่งเมตร        ๑๑/ ๗๐๓๕
                ๑๙๙๔. ดาบส  โดยรูปคำแปลว่า ผู้บำเพ็ญตบะคือ การเผากิเลส เป็นเนมิตกนามของพวกฤาษี
                        นักบวชพวกฤาษี มีการถือเพศโดยขมวดผมมวยเป็นกลุ่มสูง เรียกว่า ชฎา และไว้หนวดเครายาวรุงรัง มีการบำเพ็ญเพียรคือ ตบะ โดยทรมานกาย ใช้จิตเพ่งวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ เรียกว่า กรรมฐาน เพื่อให้จิตแน่วแน่เป็นสมาธิ จนสามารถบรรลุฌานสมาบัติ และอภิญญาหกประการ        ๑๑/ ๗๐๓๖
                ๑๙๙๕. ดามพนรก  เป็นชื่อยมโลกนรกขุมที่สี่ ในยมโลกนรกสิบขุม ที่เรียกชื่อนี้ด้วยมีหม้อเหล็กต้มน้ำทองเแดง อยู่มากมายกับมีก้อนกรวดก้อนหินอยู่ด้วย สัตว์นรกใดตกมาอยู่ในขุมนี้ จะถูกให้นอนหงายบนแผ่นเหล็ก อันโชติช่วงด้วยเปลวไฟ แล้วเอาน้ำทองเแดงพร้อมทั้งก้อนกรวด ก้อนหินที่ร้อนจัดนั้นกรอกปาก        ๑๑/ ๗๐๔๓
                ๑๙๙๖. ดายัก  เป็นชื่อที่ใช้เรียกคนพื้นเมืองดั้งเดิม ของเกาะบอร์เนียว แบ่งออกเป็นดายักบก และดายักน้ำ         ๑๑/ ๗๐๔๔
                ๑๙๙๗. ดารา  เป็นชื่อที่ผู้นับถือพุทธสาสนาฝ่ายมหายานส่วนใหญ่ หมายถึง ศักติ หรือเทวี หรือชายา คู่พระบารมีของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ในจีนเรียกว่า โตโล (ตาลา) บ้าง กวนอิม บ้าง กวนซีอิม บ้าง กวนอิมเนี้ย บ้าง
                ๑๙๙๗. ดารารัศมี - เจ้า  ทรงเป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงเป็นพระธิดา ของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่องค์ที่เจ็ด ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ ได้โดยเสด็จพระชนกลงมากรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ และทรงอยู่รับราชการฝ่ายใน เป็นเจ้าจอมมาแต่บัดนั้น ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นพระราชชายา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ และเสด็จกลับเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖        ๑๑/ ๗๐๔๙
                ๑๙๙๙. ดาราศาสตร์  เป็นวิชาวิทยาศาสตร์สาขาที่กล่าวถึง สภาวะในธรรมชาติซึ่งปรากฎต่ออายตนะ และอุปกรณ์ของมนุษย์ นับตั้งแต่ในบรรยากาศชั้นสูง เหนือโลก จนถึงไกลออกไปสุดเท่าที่จะกระทำสังเกตุการณ์ได้
                        สิ่งที่ศึกษากันในดาราศาสตร์ มีเป็นต้นว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาวกาแลคซีเอกภพ ฯลฯ มีการพิจารณาถึงสภาพวิวัฒนาการกำเนิดดั้งเดิม และอนาคตของสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว กับทั้งกฎเกณฑ์ของการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในสิ่งเหล่านี้
                        การสังเกตุการณ์ในทางดาราศาสตร์จากโลก กระทำโดยการตรวจสอบวิเคราะห์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ซึ่งวัตถุในเอกภพแผ่รังสีออกจากตัว และเดินทางมาถึงอุปกรณ์ที่อยู่บนโลก        ๑๑/ ๗๐๕๕
                ๒๐๐๐. ดาไล ลามะ  คำ ดาไล เป็นภาษามองโกล แปลว่า กว้างใหญ่ มหาสมุทร คำ ลามะ เป็นภาษาทิเบต แปลว่า ทรงศักดิ์ ยิ่งใหญ่ เป็นชื่อของนักบวชในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อันเนื่องด้วยลัทธิพุทธตันตระ (ดู พุทธตันตระ - ลำดับที่ ๒๒๐๕, ๒๒๐๖) คำว่า ดาไล ลามะ เป็นคำเรียกนามนักพรต ผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ในประเทศทิเบต
                        องค์ดาไล ลามะ ทรงมีฐานะทางศาสนาเท่ากับสกลมหาสังฆปรินายก และฐานะทางอาณาจักรเท่ากับ พระราชา จึงทรงดำรงศักดิ์เป็นทั้งพระสังฆราช และพระราชา
                        ความเป็นไปทางศาสนา มีพระเถระชาวอินเดียรูปหนึ่งชื่อ คุรุปัทมสมภพ เป็นอาจารย์ ฝ่ายนิกายพุทธตันตระโยคาจาร อยู่ในมหาวิทยาลัยนาลันทา เดินทางเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนา ณ ประเทศทิเบต ตามคำอาราธนาของพระเจ้าแผ่นดินทิเบต เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๒๙๐ ได้นำหลักคำสอนเกี่ยวกับสาธยายเวทมนต์ ไล่ภูตผีปีศาจ การบำเพ็ญญาณ ใช้อำนาจลึกลับทางจิตแสดงอิทธิอำนาจ นอกระบบพุทธศาสนาดั้งเดิม เข้าผสมกับลัทธิชามาน หรือลัทธิบอนปะ คือ การนับถือภูตผีปีศาจ อันเป็นลัทธิพื้นเมือง กลายเป็นลัทธิลามะ ขึ้นในครั้งนั้น
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๑๗๔๙  เจงกิสข่าน มหาราช ชาวมองโกล มีอำนาจในแผ่นดินจีน และทิเบต เลื่อมใสในลัทธิลามะ และค้ำชูนักบวชในนิกายนี้ ลัทธิลามะมาความเจริญเฟื่องฟูมากขึ้นในสมัยกุบไลข่าน (พ.ศ.๑๘๐๓ - ๑๘๓๗)  ได้ทรงเลือกเอาพุทธศาสนานิกายลามะ ยกขึ้นเป็นสรณะ ยกย่องลามะไว้ในตำแหน่งอาจารย์ทางศาสนา และมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ทำพิธีราชาภิเษก ให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน (มองโกลต่อมา)
                        นิกายลามะ ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในสมัยนั้นคือ นิกายเกลุกปะ แปลว่า ธรรมนิกาย ได้แก้ไขลัทธิเดิมคือ นิกายกาดัมปะ แปลว่า วินัยนิกาย เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๐ เศษ  นิกายนี้รวมอำนาจการปกครอง และการปฎิบัติธรรมไว้ได้ทั่วประเทศ
                        เดิมชาวทิเบต เรียกประมุขลามะของตนว่า กยัลวา รินโปเจ สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน จนถึงปี พ.ศ.๒๑๙๓  นักวันโลสัง ลามะ ประมุขลามะนิกายเกลุกปะ ได้รับพระราชทานฐานะและศักดิ์ จากพระเจ้ากรุงจีนว่า ดาไล ลามะ มีพระราชวังโปตาละ เป็นที่ประทับ ณ กรุงลาซา เมืองหลวงของทิเบต ดาไล ลามะ ได้รวบรัดเอาวัดวาอารามของนิกายอื่น เข้ามาไว้ในครอบครอง แล้วประกาศคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์ และลึกลับขึ้นใหม่ว่า ดาไล ลามะ เป็นอวตารจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือกวนอิม
                        ดาไล ลามะ ได้มอบให้ลามะชั้นผู้ใหญ่ ในเมืองทาษิ มณชิกัตเส ดำรงตำแหน่ง ปันเชน ลามะ มีอำนาจอยู่ในมณฑลอื่น เป็นที่สองรองลงมา ต่อมา ปันเชนลามะ ได้ยกตนเองเป็นอวตารของพระอมิตาภะโพธิสัตว์ อันเป็นพระโพธิสัตว์สำคัญ อีกองค์หนึ่งของลัทธิมหายาน        ๑๑/ ๗๐๕๗
                ๒๐๐๑. ดาว  เราเรียกจุดสว่าง ที่ปรากฎบนท้องฟ้าเวลากลางคืนว่า ดาว ดาวมีอยู่หลายชนิด จำแนกตามลักษณะที่ปรากฎและธรรมชาติที่แท้จริงของมันคือ ดาวฤกษ์ เป็นกลุ่มกาซร้อนจัดมีความร้อน และแสงสว่างในตัวเอง เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ หากแต่ว่าดวงที่อยู่ไกลออกไป จนปรากฎเป็นจุด ดาวเคราะห์ เป็นก้อนวัตถุทรงกลมที่มีคุณภาพต่ำ พื้นผิวเป็นของแข็ง อาจมีบรรยากาศห่อหุ้ม ถ้าขนาดและมวลใหญ่พอที่จะดึงดูดโมเลกุล ของกาซไว้ได้ ดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ โลกของเราก็เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ในจำนวนเก้าดวงที่โคจรรอบดวงอาทิตย์
                       โดยสาเหตุที่ดาวฤกษ์ต่าง ๆ เหมือนดวงอาทิตย์ จึงอาจมีดาวเคราะห์เป็นบริวาร เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ อยู่อีกเป็นจำนวนมาก แต่มนุษย์ยังไม่มีอุปกรณ์ ซึ่งสามารถตรวจพบดาวเคราะห์ ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหลายได้
                       ดาวตกหรือผีพุ่งใต้  ปรากฎบนท้องฟ้าเป็นแนวสว่างวาบชั่วขณะ คล้ายกับว่าดาวที่อยู่บนท้องฟ้านั้น ล่วงลงสู่พื้นดิน แท้จริงสิ่งที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์นี้ เป็นก้อนวัตถุขนาดต่าง ๆ ที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ เมื่อถูกโลกดึงดูดก็เคลื่อนที่ พุ่งเข้าหาโลก เมื่อผ่านเข้ามาในบรรยากาศ เกิดการเสียดสีกับโมเลกุลของกาซจนร้อนจัด ระเบิดกลายเป็นไอสว่างจ้า ถ้ามีขนาดใหญ่อาจเหลือชิ้นส่วนตกถึงพื้นดินเรียกว่า อุกาบาต        ๑๑/ ๗๐๖๔
                ๒๐๐๒. ดาวกระจาย  เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ดอกเล็กสีม่วงอ่อน และดอกใหญ่ สีเหลืองส้ม เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกประดับกันมาก ใบแตกเป็นแฉกมาก มีกลิ่นคล้ายช่อมะม่วง อาจใช้บริโภคได้ โดยเฉพาะชนิดดอกสีม่วง         ๑๑/ ๗๐๖๕
                ๒๐๐๓. ดาวดึงษาราม -  วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่ ต.บางยี่ขัน อ.บางกอกน้อย จ.กรุงเทพ ฯ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ  เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า วัดขรัวอิน        ๑๑/ ๗๐๖๕
                ๒๐๐๔. ดาวดึงส์  เป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่สองของสวรรค์หกชั้น เป็นสวรรค์ที่พระอินทร์ครอง (ดู ฉกามาพจร - ลำดับที่ ๑๕๔๐ ประกอบด้วย)  สวรรค์ชั้นนี้เดิมเป็นที่อยู่ของพวกอสูร มีท้าวเวปจิตติเป็นผู้ครอง ต่อมาท้าวสักเทวราช คือพระอินทร์ กับเทพสหจร รวมสามสิบสามองค์ ไปเกิด ณ ที่นั้น จึงเป็นสถานที่รุ่งเรือง เรียกตามจำนวนพระอินทร ผู้ครองและทวยเทพ รวมทั้งสามสิบสามองค์ นั้นว่า ดาวดึงส์ ตรัยตรึงษ์ หรือไตรตรึงษ์ ไตรทศ มีเวชยันต์ตปราสาท มีสุธรรมาเทวสถาน ที่ประชุมเทวดา มีสวนนันทวัน สวนจิตรลดาวัลย์ และมีสระสุนันทาโบกขรณี เกิดด้วยบุญญานุภาพของท้าวสักเทวราช และพระมเหสีสามองค์คือ พระนางสุธรรมา พระนางสุจิตรา พระนางสุนันทา ส่วนพระนางสุชาดาในชั้นแรกว่า ไม่ได้ทำกุศลไว้ จึงไม่มีทิพยสมบัติเช่นเทพธิดาอื่น
                        นอกจากนี้สวรรค์ชั้นนี้ยังมี พระจุฬามณีเจดีย์ ที่บรรจุพระเมาฬี พระเวฐนพัสตร์ และพุทธทักษิณฑาฒธาตุของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ ดาวดึงส์ เป็นที่ตั้งเมืองสวรรค์ชื่อ เทพนคร มีกำแพงล้อมมีเชิงเทินและหอรบพร้อม มีช้างเอราวัณสามเศียร เป็นพระคชาธาร เป็นช้างที่เอราวัณเทพบุตร จำแลงขึ้น มีเวชยันต์ราชรถ มีพระมาตุลีเทพบุตร เป็นสารถี มีต้นปาริฉัตตกะ เป็นต้นไม้ประจำพิภพ มีพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลา        ๑๑/ ๗๐๗๐
                ๒๐๐๕. ดาวเรือง ๑  เป็นพรรณไม้ล้มลุกของอเมริกา ซึ่งมีคนไปปลูกแพร่หลายทั่วโลก ดอกออกตามปลายกิ่งสีเหลือง สีส้มหรือส้มอมแดง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ  ต้นมีเนื้ออ่อนขนาดเล็ก แต่แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบแตกเป็นแฉกมาก มีกลิ่นฉุน        ๑๑/ ๗๐๗๕
                ๒๐๐๖.. ดาวเรือง ๒  เป็นพระนามเดิมของพระมหาชนนี พระอัครชายาในสมเด็จพระบรมมหาาชนก ผู้เป็นต้นพระบรมราชจักรีวงศ์        ๑๑/ ๗๐๗๕
                ๒๐๐๗. ดาวเรือง ๓  เป็นชื่อตัวเอกในเรื่องดาวเรือง บทกวีนิพนธ์ ที่จัดอยู่ในประเภทกลอนสด ไม่มีชื่อผู้แต่ง และวันเดือนปีที่แต่ง เป็นหนังสือตัวเขียนที่เขียนไว้ในสมุดไทยสามเล่มจบ ตอนต้นเรื่องเป็นคำไหว้ครูบาอาจารย์ บิดามารดา แล้วกล่าวถึงต้นเรื่องเดิมว่า เป็นนิทานชาดก แสดงอดีตชาติของพระพุทธเจ้า สมัยเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นบุตรเศรษฐี ในเมืองพาราณสี แล้วดำเนินเรื่อง
                        ลักษณะของการแต่งเรื่องได้แต่งเป็นสุรางคนาง ฉบัง ยานี พิลาป สลับกันไปตลอดทั้งเรื่อง และตอนใดที่เห็นเป็นคติธรรม ก็แทรกข้อความลงไปเป็นตอน ๆ  ตอนจบของเรื่องยังมีข้อธรรมะ และคติธรรมของไทยสมัยก่อน ๆ สรุปหลักอันเป็นแก่นสารของเรื่อง เพื่อสอนผู้อ่านอีกมาก        ๑๑/ ๗๐๗๙
               ๒๐๐๘ . ดาวหาง  เป็นดาวที่มีลักษณะแตกต่างจากดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กับทั้งการปรากฎ และการเคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้า ก็แตกต่างไปด้วย
                        นับตั้งแต่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์เป็นต้นมา มีผู้เห็นและสังเกตการณ์ดาวหางประมาณ ๑,๖๐๐ ดวง องค์ประกอบที่สำคัญของดาวหางคือ
                        ก. จุดใจกลางของหัว  มักเป็นจุดสว่างคล้ายดาว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ - ๑๐ กม. มวลหรือเนื้อสารส่วนใหญ่ของดาวหาง รวมกันอยู่ในจุดใจกลางนี้ ซึ่งปรากฎแสงสว่าง เพราะสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์
                        ข. กลุ่มกาซสว่างหุ้มใจกลาง  เมื่อได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ กาซและไอน้ำจากส่วนหัว จะระเหยออกห่อหุ้มกลุ่มใจกลางนั้นไว้ ปรากฎเป็นกลุ่มกาซสว่าง มีขนาดประมาณ ๒,๐๐๐ กม.
                        ค. ส่วนหัว  กาซและไอห่อหุ้มใจกลางขยายตัวแผ่ออกมาในอวกาศ มีการปะทะกับธารอนุภาคที่หลั่งไหล ไม่ขาดสายจากดวงอาทิตย์โดยรอบด้าน การกระจายตัวของกาซและไอนี้ จึงมีรูปลักษณะขึ้นอยู่กับสภาพของอวกาศ ในบริเวณที่ดาวหางกำลังโคจรอยู่ หัวของดาวหางอาจปรากฎเป็นดวงฝ้า ไม่มีโครงสร้างรายละเอียด
                        หัวดาวหางแผ่กระจายออกกินที่กว้างในอวกาศใหญ่ถึงเรือนหมื่น และแสนกิโลเมตร ขนาดของหัวดาวหางเปลี่ยนแปรไปตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ เมื่ออยู่ห่างหัวจะเล็ก และจะค่อยโตขึ้นจนมีขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กม. เมื่ออยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เท่ากับระยะจากโลก ถึงดวงอาทิตย์เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์กว่านั้น หัวจะกลับเล็กลง
                         ง. ส่วนหาง  หางของดาวหางปรากฎเบนชี้ออกจากทิศทางของดวงอาทิตย์เสมอ ไม่ว่าขณะที่ดาวหางโคจรเข้าหา หรือออกจากดวงอาทิตย์
                        ในกรณีสามัญหางดาวหาง อาจยาวได้ถึง ๑๐.๐๐๐.๐๐๐ กม. ในกรณีดาวหางใหญ่ หางของดาวหางยาวถึง ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐  กม. มีความกว้างเฉลี่ย ๑,๐๐๐,๐๐๐ กม.  มึความหนาแน่น ๑๐ - ๑๐๐ โมเลกุล ต่อ ลบ.ซม. นับว่าเจือจางมาก          ๑๑/ ๗๐๘๖
                ๒๐๐๙. ดาหลัง ๑   คือ คนที่ทำหน้าที่พากย์หนัง หรือพากย์ละคร หรือพากย์หุ่นชวา ในการพากย์นั้นดาหลังคิดแต่ง คำพากย์ขึ้นเองเป็นร้อยกรอง และพากย์บรรยายเรื่องด้วยทำนองอันไพเราะ ในการแสดงหนัง บางครั้งดาหลังจะเป็นผู้ตั้งเชิดตัวหนัง ตามลำดับที่จัดเตรียมไว้แล้วพากย์ไปด้วย
                    ชาวชวาถือว่าดาหลัง สำคัญยิ่งกว่าตัวหนังและเครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงประกอบการพากย์          ๑๑/ ๗๐๘๙
                ๒๐๑๐. ดาหลัง  ๒  เป็นชื่อวรรณคดี บทละครเรื่องหนึ่งของไทย เชื่อกันว่าเจ้าฟ้าหญิงกุณฑล ทรงนิพนธ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในสมัยอยุธยา ดำเนินเรื่องตามเค้าโครงนิทานปันหยีชื่อ นางข้าหลวง ชาวมลายู เล่าถวายเป็นบทละครใน ที่คู่กับอิเหนา ซึ่งเป็นบทละคร แต่พระนิพนธ์ดังกล่าวมิได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
                        ที่ปรากฎอยู่เป็นหลักฐานคือ ดาหลังบทละครพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการ ให้กวีในราชสำนักช่วยกันแต่งบทละครเรื่องนี้ขึ้น โดยชำระรวบรวมบทเดิม ครั้งกรุงศรีอยุธยาเพื่อให้บริบูรณ์          ๑๑/ ๗๐๘๙
                ๒๐๑๑. ดาหา ๑  เป็นชื่อนครสำคัญของอาณาจักรชาวตะวันออก หรือชวาโบราณสมัยอยู่ใต้อิทธิพลฮินดู มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กะดีรี  มีเรื่องปรากฎในพงศาวดารว่า เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖  พระเจ้าไอรลังคะ ผู้ครองชวาตะวันออก เวนราชสมบัติให้โอรสสององค์ โดยแบ่งอาณาจักรออกเป็นสองภาค ให้โอรสครององค์ละภาค ภาคหนึ่งคือ ดาหา อยู่ทางตะวันตกของเขากาวี อีกภาคหนึ่งคือ กุเรปัน หรือจังคาล อยู่ทางตะวันออกของเขากาวี ดินแดนทั้งสองภาคนี้ กลับรวมเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันอีกครั้ง ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗
                        ดาหาเจริญรุ่งเรืองที่สุด ในรัชสมัยพระเจ้าชยาภัย (พ.ศ.๑๖๗๘ - ๑๗๐๐)  ซึ่งโปรดให้กวีแต่งพงศาวดารชวาชื่อ ภารตยุทธ ขึ้น ความรุ่งเรืองของดาหาสิ้นสุดลง ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘          ๑๑/ ๗๐๙๑
                ๒๐๑๒. ดาหา ๒  เป็นชื่อนครของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวา ในนิทานปันหยี ซึ่งเป็นนิทานอิงประวัติศาสตร์ชวาโบราณ สืบเนื่องมาจากความชื่นชมยกย่องพระเจ้ากาเมศวร           ๑๑/ ๗๐๙๒
                ๒๐๑๓. ดาหา ๓  เป็นชื่อนครของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวา ในบทละครเรื่องดาหลัง และอิเหนาของไทย          ๑๑/ ๗๐๙๒
                ๒๐๑๔. ดำ ๑ - ทะเล  เป็นทะลภายในอยู่ระหว่างยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียน้อย ชายฝั่งด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นดินแดนของประเทศรุสเซีย ชายฝั่งด้านใต้เป็นประเทศตุรกี ด้านตะวันตกคือ ประเทศบัลเกเรีย และรูเมเนีย ทะเลดำมีพื้นที่ประมาณ ๔๔๐,๓๓๐ ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย ๑,๑๘๐ เมตร ตอนลึกที่สุดลึก ๒,๒๐๕ เมตร
                        ทะเลดำ ติดต่อกับทะเลอาซอฟ ซึ่งอยู่ทางเหนือผ่านทางช่องแคบเดิช ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับทะเลมาร์มะรา โดยผ่านช่องแคบบอสฟอรัส และจากทะเลมาร์มะรา มีช่องแคบดาร์ดะแนลส์ เป็นทางผ่านไปติดต่อกับทะเลเมดิเตอเรเนียน
                        มีแม่น้ำหลายสายไหลลงทะเลดำ ได้แก่ แม่น้ำดานูบ ดนิสเตอร์ บัก ดนีเปอร์ คูบัน ไหลมาจากทวีปยุโรป ทางด้านตุรกีในเอเชียมีแม่น้ำคิซิล และสคาร์ยา ในทะเลดำไม่มีเกาะ แต่มีคาบสมุทรไครเมีย อยู่ทางชายฝั่งด้านเหนือ          ๑๑/ ๗๐๙๓
                ๒๐๑๕. ดำ ๒ - แม่น้ำ  อยู่ในเวียดนามเหนือ มีชื่อในภาษาเวียดนามว่า ซองโย ยอดน้ำอยู่ห่างจากทะเลสาบเออร์ไฮมา ทางใต้ประมาณ ๘๐ กม. อยู่ตอนกลางของมณฑลยูนนาน ทางภาคใต้ของประเทศจีน แม่น้ำดำไหลขนานมากับแม่น้ำแดง ประมาณ ๘๐๐ กม. แล้วบรรจบกับแม่น้ำแดง ใกล้เมืองเวียดตรี          ๑๑/ ๗๐๙๕
                ๒๐๑๖. ดำ ๓ - แมลง  แมลงนี้เมื่อโตเต็มที่แล้วดูคล้ายแมลงสีดำตัวเล็ก ซึ่งมีหลังแบนและตอนนหัวต่ำลงทำให้เป็นเหมือนเรือคว่ำ แมลงนี้จะใช้งวงเจาะเข้าไป ในลำต้นข้าวใกล้รากมากที่สุดแล้วดูดกินน้ำจากลำต้นข้าวนั้น ทำให้ต้นข้าวตายได้ ต้นไม้อื่นที่เป็นอาหารของแมลงดำนี้ได้แก่ หญ้าและกก          ๑๑/ ๗๐๙๕
                ๒๐๑๗. ดำ ๔ - มด  เรามักเรียกมดที่มีลำตัวสีดำตลอดว่ามดดำ โดยไม่จำกัดชนิด มดดำในคำไทยจึงมีอยู่มากมายหลายชนิด          ๑๑/ ๗๐๙๖
                ๒๐๑๘. ดำดง - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๒๐ เมตร ลำต้นตรง ดอกสีขาวแกมเขียว ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามง่ามใบ ผลกลมคล้าย ๆ ผลตะโกหรือผลมะพลับ มีรสฝาด ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปขอบขนาน          ๑๑/ ๗๐๙๘
                 ๒๐๑๙. ดำแดง - ไข้  เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อบักเตรี เชื้อนี้มีอยู่หลายชนิด แต่จะทำให้เกิดโรคนี้ได้ก็เฉพาะชนิดที่สร้างทอกซินหรือพิษเท่านั้น
                         โรคนี้ จะพบบ่อยในประเทศที่อยู่ในเขตอบอุ่นและพบน้อยในเขตร้อน เป็นโรคติดต่อ รักษาให้หายขาดได้โดยใช้ยาจำพวกปฏิชีวนะ ในระหว่างมีการระบาดของโรคนี้นิยมฉีดเซรุ่มแอนติทอกซินให้แก่ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือมีโรคอื่นประจำตัวอยู่         ๑๑/ ๗๐๙๘
                ๒๐๒๐. ดำเนินสะดวก ๑  อำเภอขึ้น จ.ราชบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
                        อำเภอนี้เดิมชื่อ อ.คลองแพงพวย ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.หลักหก จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๔ จึงย้ายไปตั้งที่ ต.ท่านัด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๕ ได้ย้ายมาตั้งที่ ต.ดำเนินสะดวก เรียกว่า อ.ดำเนินสะดวก         ๑๑/ ๗๑๐๑
                ๒๐๒๑. ดำเนินสะดวก ๒  เป็นชื่อคลองใน อ.ดำเนินสะดวก ยาว ๓๕ กม. ขุดใน รัชกาลที่สี่ เชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง          ๑๑/ ๗๑๐๓
                ๒๐๒๒. ดำรงราชานุภาพ - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา  ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ พระนามเดิมพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาหนังสือไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาทหาร วิชารัฐประศาสนศาตร์ โบราณคดี
                        เมื่อโสกันต์แล้ว ทรงผนวชเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘ จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารหนึ่งพรรษา และทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖ จำพรรษาที่วัดนิเวศธรรมประวัติหนึ่งพรรษา
                        เมื่อลาผนวชจากสามเณรแล้วได้เข้ารับราชการครั้งแรกเป็นนักเรียนนายร้อย เป็นนายร้อยตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ ได้ดำรงตำแหน่งทางทหาร และเลื่อนยศขึ้นตามลำดับ พ.ศ.๒๔๒๓ เป็นนายพันตรี ทรงว่าการกรมกองแก้วจินดา (ปืนใหญ่) พ.ศ.๒๔๓๐ เป็นพนักงานใหญ่ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายพลตรี พ.ศ.๒๔๓๒ เป็นผู้กำกับการกรมธรรมการ พ.ศ.๒๔๓๓ เป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ พ.ศ.๒๔๓๕ เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลาถึง ๓๑ ปี พ.ศ.๒๔๖๖ เป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร พ.ศ.๒๔๖๘ เป็นอภิรัฐมนตรี และพ.ศ.๒๔๖๙ เป็นองคมนตรี กับนายกราชบัณฑิตยสภา
                        พระอิสริยยศ ทรงเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖ เลื่อนเป็นกรมหลวง (พ.ศ.๒๔๔๒) เป็นกรมพระ (พ.ศ.๒๔๕๔) เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา (พ.ศ.๒๔๗๒)
                        หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ แล้วประมาณ ๑ ปี พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่ปินังเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี จึงเสด็จกลับประเทศไทย และสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ พระชันษา ๘๑ ปี
                        พระองค์ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่รัฐบาล และประชาชนคนไทย กับองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมสหประชาชาติ (ยูเนสโค) ได้ร่วมจัดงานเฉลิมพระเกียรติขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕         ๑๑/ ๗๑๐๓
                ๒๐๒๓. ดำหัว   เป็นประเพณีทางเหนือ ซึ่งกระทำในวันปีใหม่ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือและรักใคร่ เป็นการนำเอาสิ่งของและน้ำที่ใส่เครื่องหอมเช่น น้ำอบไทยไปให้แก่ผู้ที่เคารพ และขอให้ท่านรดน้ำใส่หัวของตน เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้ใหญ่จะให้ศีลให้พร นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องแสดงว่าผู้น้อยขอขมาลาโทษผู้ใหญ่ ก็แสดงอาการยกโทษให้         ๑๑/ ๗๑๑๒
                ๒๐๒๔. ดิถี  มีคำนิยามว่า "วันตามจันทรคติ ใช้คำว่าค่ำหนึ่ง สองค่ำ ใช้ว่าคฤถีก็มี" วันของจันทรคติทิน หมายถึง ระยะเวลาที่เราเห็นดวงจันทร์โคจรทางทิศตะวันตก ไปสู่ทิศตะวันออก โดยวัดจากจุดใดจุหนึ่งหรือในขณะใดขณะหนึ่งเป็นหลัก บรรจบรอบและเมื่อบรรจบรอบนี้ต่างกัน ระยะเวลาของเดือนหนึ่ง ๆ จึงต่างกันคือ
                        จากอามาวสีถึงอามาวสี (วันดับถึงวันดับ) ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เดือนชนิดนี้ กำหนดให้มี ๓๐ ดิถี ทุกเดือนไป แต่ใน ๓๐ ดิถี เมื่อนำไปเทียบกับเดือนทางสุริยคติทิน ต้องกำหนดให้เดือนที่มี ๒๙ วัน เดือนคู่มี ๓๐ วัน เว้นแต่ปีใดมีอธิกวาร จึงกำหนดให้เดือนเจ็ดมี ๓๐ วัน (เฉพาะปีนั้น) เป็นการเพิ่มวันในปีของดวงจันทร์ที่หย่อนอยู่ ๑๑ วันใน ๑ ปี เพื่อผ่อนผันให้เข้ากับทางโคจรของสุริยยาตร และอนุโลมให้เข้ากับแบบแผนทางพุทธศาสนา เกี่ยวกับเข้าพรรษาด้วย
                        ประเทศไทยได้นิยมใช้เดือนจันทรคติทิน หรือจันทรคติกาล มาแต่ปางบรรพ์ ถือเป็นประเพณีนิยมและเกี่ยวเนื่องด้วยพิธีกรรมตามหลักศาสนา
                        ปีของจันทรคติ กำหนดให้มี ๑๒ เดือน เท่ากับ ๓๖๐ ดิถี แต่ปีตามดวงจันทร์ที่โคจรในปีปรกติมาสวารมี ๓๕๔ วัน ปีปรกติมาสอธิกวารมี ๓๕๕ วัน ปีอธิกมาศมี ๓๘๔ วัน
                        การเติมอธิกวาร เพิ่มอธิกมาส ลงในเดือนจันทรคติเป็นการกระทำเพื่อรักษาฤดูกาล วันขึ้นแรมให้คงที่ไว้ใกล้เคียงกับเดือนสุริยคติ
                        เดือนของจันทรคติทินนั้น กำหนดให้มีสองปักษ์ ปักษ์ละ ๑๕ วัน (บางปักษ์อาจมี ๑๔ วัน ถ้าเป็นเดือนคี่) ปักษ์หนึ่งเรียก ชุณหปักษ์ คือปักษ์ข้างขึ้น ปักษ์ที่สองเรียกกาฬปักษ์คือ ปักษ์ข้างแรม          ๑๑/ ๗๑๑๔
                ๒๐๒๕. ดิน ๑  เป็นวัตถุที่ถมปกคลุมเป็นชั้นบาง ๆ อยู่บนส่วนใหญ่ของพื้นผิวโลก ประกอบด้วย อนินทรีย์วัตถุและอินทรีย์วัตถุต่าง ๆ ปะปนกัน ในสภาพของแข็ง ของเหลว และกาซ ผสมผสานกัน มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืช
                        ดินแบ่งออกได้เป็นสองประเภทกว้าง ๆ คือ อินอนินทรีย์ และดินอินทรีย์ ดินทั่ว ๆ ไปมักจะเป็นดินอนินทรีย์ หรือดินแร่ธาตุ ดินที่มีอินทรีย์สารมาผสมด้วยมากกว่าร้อยละ ๒๐ โดยน้ำหนักจึงเรียกว่า ดินอินทรีย์
                       เนื้อดินเป็นลักษณะของดินซึ่งกำหนดจากขนาดของวัตถุที่ประกอบขึ้นเป็นเนื้อดินได้แก่ ทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว แยกออกได้เป็นสามชนิดคือ
                       ดินทราย  ได้แก่ ดินที่มีปริมาณทรายตั้งแต่ร้อยละ ๗๐ ขึ้นไป โดยน้ำหนักจะร่วนซุยอยู่เสมอไม่ว่าเปียกหรือแห้ง จัดเป็นดินเนื้อหยาบหรือเนื้อเบา
                       ดินเหนียว  เป็นดินที่มีปริมาณดินเหนียวตั้งแต่ร้อยละ ๔๐ ขึ้นไป โดยน้ำหนัก เป็นดินเนื้อละเอียดหรือเนื้อหนัก เมื่อเปียกและเหนียว เมื่อแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็ง
                       ดินร่วน  ได้แก่ ดินที่ประกอบด้วยทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว โดยมีปริมาณดินเหนียวและทรายไม่มากนัก         ๑๑/ ๗๑๒๓
                ๒๐๒๖. ดิน ๒  เป็นชื่อของสัตว์ชนิดหนึ่งรูปร่างกลม ๆ ยาว ๆ เหมมือนงู ชอบอาศัยอยู่ตามรูในดิน จึงพากันเรียกว่า งูดิน มีอยู่ด้วยกันสองชนิดคือ ชนิดหนึ่งเป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกเรียกเป็นชื่อสามัญว่างูดิน อีกชนิดหนึ่งพบที่ตอนใต้ของประเทศไทย พบที่ปัตตานีและบางนารา         ๑๑/ ๗๑๓๐
                ๒๐๒๗. ดิพทีเรีย หรือโรคคอตีบ  เป็นโรคติดต่ออันตรายต่อเด็ก ต้นเหตุของโรคคือ บัคเตรี มีรูปร่าง เป็นท่อนกลมยาว ปลายข้างหนึ่งโตดูคล้ายกระบอง และจัดเรียงตัวกันระเกะระกะ ดูคล้ายตัวอักษรจีน
                        เหตุตายเพราะโรคนี้ที่สำคัญคือหัวใจวาย เพราะพิษนี่เอง เพราะเชื้อโรคนี้สามารถสร้างทอกซินหรือพิษซึมเข้าไปในกระแสโลหิต อวัยวะที่เกิดอันตรายเมื่อถูกพิษคือ กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์ของตับ ไต ต่อมหมวกไต และเส้นประสาท
                        การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารก โดยการฉีดวัคซีน จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อเด็กทุกคน          ๑๑/ ๗๑๓๑
                ๒๐๒๘. ดิศราชา - พระเจ้า  เป็นกษัตริย์ผู้ครองกรุงหงสาวดี องค์ที่ ๑๗ และเป็นองค์สุดท้ายในตำนานกรุงหงสาวดี ตอนที่ ๑ (พ.ศ.๑๑๖ - ๑๖๐๐)
                        กษัตริย์ ๑๖ องค์ ของหงสาวดีล้วนแต่ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่พระเจ้าดิศราชาไม่ได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่ไปเลื่อมใสในลัทธิเดียรดีย์ นับถือเทพารักษ์ จนถึงกับให้เก็บพระพุทธรูปในพระอุโบสถ และพระอารามไปทิ้งแม่น้ำจนหมด
                        ในครั้งนั้นได้มีธิดาเศรษฐีแห่งเมืองหงสาวดีคนหนึ่งชื่อ ภัทรา เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ครั้งนั้นพบพระพุทธรูปทองคำจมน้ำในแม่น้ำองค์หนึ่ง จึงสั่งให้พวกทาสีช่วยกันงมต่อไป ก็พบพระพุทธรูปอีกหลายหนึ่ง จึงนำเอาไปประดิษฐานบนศาลาเพื่อบูชา พระเจ้าดิศราชาทรงทราบก็พิโรธ โปรดให้ราชบุรุษเอาตัวมาซักถาม ได้ความจริง จึงโปรดให้ประหารชีวิต ครั้งแรกใช้ให้ช้างตกมันวิ่งเข้าแทง แต่นางไม่เป็นอันตราย จึงให้ขุดหลุมฝังนางไว้ครึ่งตัว แล้วเอาฟางสุมข้างบนใช้ไฟเผานาง ก็ไม่เป็นอันตรายอีก จึงรับสั่งให้นางสั่งให้พระพุทธรูปลอยขึ้นไปในอากาศ พระพุทธรูปก็ลอยขึ้นจากศาลามาปรากฎเฉพาะพระพักตร์ พระเจ้าดิศราชาเห็นความอัศจรรย์เกิดพระราชศรัทธา โปรดให้สถาปนานางภัทรา เป็นพระมเหสี แล้วโปรดให้รวบรวมพระพุทธรูปที่หักพังทั้งหมด มากองไว้ด้วยกันแล้วสร้างพระเจดีย์ สวมองค์พระเหล่านั้นอัญเชิญพระเกศธาตุ มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ด้วย เพื่อทรงสักการบูชา เจดีย์องค์นี้ไทยเรียกว่า พระเจดีย์ร้อยอ้อม มอญเรียกว่า กะยัดกลอมปอม ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้           ๑๑/ ๗๑๓๓
                ๒๐๒๙. ดี  มีคำนิยามว่า "เครื่องในคนและสัตว์ เป็นถุงบรรจุน้ำข้นสีเขียว มีรสขม ออกมาจากตับ สำหรับช่วยย่อยอาหาร" ปริมาณของน้ำดี ที่ขับลงมาในลำไส้คนมีประมาณ ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ มิลลิลิตรต่อวัน ปริมาณน้ำดีจะเพิ่มขึ้นหลังกินอาหารได้ ๒ - ๓ ชั่วโมง น้ำดีประกอบด้วยสารหลายอย่าง
                       ธรรมดาตับ  จะขับน้ำดีออกมาตลอดเวลา แต่น้ำดีจะใช้ประโยชน์ต่อเมื่อมีการย่อยเท่านั้น ฉะนั้น น้ำดีที่ถูกขับออกจากตับ จึงต้องมีที่พักไว้ก่อน และถูกกระทำให้ข้นขึ้น อวัยวะที่น้ำดีพักอยู่ระหว่างเวลาอาหารคือ ถุงน้ำดี         ๑๑/ ๗๑๓๘
                ๒๐๓๐. ดีเกลือ ดีเกลือ หรือมักเนเซียม ซัลเฟต เป็นยาถ่ายหรือยาระบาย จำพวกเพิ่มปริมาณในลำไส้  ทำให้อุจจาระที่ถูกขับออกมา มีลักษณะเป็นน้ำเป็นส่วนใหญ่
                       ดีเกลือ เป็นส่วนประกอบในน้ำเค็มธรรมชาติหลายชนิด แยกได้เป็นผลึกครั้งแรกจากน้ำเค็มที่ได้มาจากบ่อน้ำพุ ที่เมืองเอปซอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๘ นอกจากนั้นยังพบได้อีกในน้ำทะเล หรือตามถ้ำที่มีตะกอนน้ำเค็ม มาตกจับอยู่เป็นชิ้น ๆ หรือได้จากแร่ธาตุหลายชนิด
                       ดีเกลือบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นผลึกเล็ก ๆ รูปร่างคล้ายเข็มไม่มีสี เมื่อเอามาละลายน้ำ จะเกิดความเย็น มีรสขมเฝื่อน และมีปฎิกิริยาเป็นด่าง        ๑๑/ ๗๑๔๓
                ๒๐๓๑. ดึง - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๒๐ เมตร ใบเป็นช่อ ดอกเป็นช่อ ช่อดอกยาวประมาณ ๑๘ ซม. ออกตามปลายกิ่ง ดอกเล็กสีขาว ผลรูปรี
                       ดึง พบขึ้นทั่ว ๆ ไป ตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ทุกส่วนมีรสขม เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ใช้เปลือกต้มกินเป็นยาแก้ไข้         ๑๑/ ๗๑๔๔
               ๒๐๓๒. ดีซ่าน ภาวะดีซ่าน มีอาการตัวเหลืองซึ่งเกิดกับผู้ป่วย โดยมี บิลิรูปบิน ในเลือดสูงกว่าระดับปรกติ ในคนธรรมดา มีปริมาณ บิลิรูบิน ในเลือด ๑ มิลลิกรัม ใน ๑๐๐ ลูกบาศก์เซ็นติเมตร
                       อาการตัวเหลืองนั้น จะเห็นได้ก่อนที่ตาขาวของนัยน์ตา ถ้ามีมากขึ้นจะเห็นได้จากสีของปัสสาวะ ที่เข้มขึ้น และสุดท้ายจะเห็นได้ตามผิวหนังทั่ว ๆ ไป         ๑๑/ ๗๑๔๔
               ๒๐๓๓. ดีดขัน - กุ้ง เป็นกุ้งขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์ของกุ้งดีด พบอยู่ตามพื้นที่เป็นทราย ตามแนวน้ำลง หรือตามหิน และสาหร่ายทะเล เมื่อน้ำลด กุ้งจะขุดหลุมฝังตัวอยู่ในทราย สีของกุ้งย่อมเปลี่ยนไปตามที่อยู่เพื่อช่วยตัวให้พ้นภัย
                       ในอ่าวไทยมีกุ้งนี้อยู่ราวห้าชนิดเรียกชื่อต่าง ๆ กัน คือ กุ้งดีดขัน กุ้งดีด และกุ้งยิง เป็นต้น

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch