หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/43

    ๑๘๙๐. เซ่ง  เป็นไม้พุ่มที่ค่อนข้างมีเนื้อน้อย เปลือกของลำต้นเป็นเส้นใย เคยมีรายงานว่าได้ราคาเท่ากับปอใบของต้นเซ่งใช้เป็นอาหารได้    ๑๑/ ๖๗๕๓
                ๑๘๙๑. เซน เป็นชื่อวิธีปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ถือการเข้าฌานเพื่อเข้าถึงพุทธิภาวะ คือความไม่มีสิ่งใด ความมีจิตว่างเป็นหลัก ได้กลายเป็นลัทธิหนึ่งในพุทธศาสนา ตั้งต้นในประเทศอินเดียแล้วแพร่เข้าสู่ประเทศจีนและญี่ปุ่นโดยลำดับ
                        พุทธศาสนิกชนนิกายนี้ถือว่า พระมหากัสสปเถระเป็นปฐมาจารย์ ต่อจากนั้นได้มีการสืบต่อกันมาอีก ๒๘ รูป ก่อนแพร่เข้าสู่ประเทศจีน โดยพระโพธิธรรม อาจารย์องค์ที่ ๒๘ ได้เดินทางไปประเทศจีนเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๑๐๐ ในรัชสมัยพระเจ้าบูเต้ หรือปูตี่แห่งราชวงศ์เหลียง สั่งสอนหลักการบำเพ็ญฌาน โดยลักษณะสองอย่างคือ หลักการตรัสรู้โดยลำดับและหลักการตรัสรู้โดยฉับพลัน
                       เมื่อสิ้นพระโพธิธรรมแล้ว คณาจารย์ได้เล่าเรียนสั่งสอนสืบต่อกันมาอีกหลายชั่วอายุคนจนถึงอาจารย์ฮวยเล้ง (ฮวยหล่าง) ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ตามประวัติกล่าวว่า สมัยนั้นนิกายเซนในเมืองจีนแตกแยกออกเป็นนิกายฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ นิกายฝ่ายเหนือมีอาจารย์ชื่อว่า สิ่งซิ่ว(ยินซู) ถือหลักการปฏิบัติเพื่อตรัสรู้ธรรมเป็นไปโดยลำดับ  นิกายฝ่ายใต้มีอาจารย์ฮวยเล้ง (เอนิน) ถือหลักการเข้าถึงพุทธภาวะโดยฉับพลัน ทั้งสองคนเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกันคือ ฮงยิบ(โคนิน)
                        อุดมคติของเซนคือการมุ่งทำงาน (ตามหน้าที่) ให้ดีที่สุด การทำงานนั้นไม่ต้องการอะไร ใจเมื่อถึงภาวะนี้เมื่อใด เข้าถึงซาโตริ ภาวะว่ารู้แล้วเห็นแล้วเมื่อนั้น         ๑๑/ ๖๗๕๓
                ๑๘๙๒. เซนติเกรด  เป็นหน่วยที่ใช้วัดอุณหภูมิแบบหนึ่ง หน่วยนี้เรียกว่าองศาเซนติเกรด มาตราส่วนขององศาเซนติเกรดจัดให้จุดน้ำแข็งเป็น ๐ องศา และจุดน้ำเดือดเป็น ๑๐๐ องศา ๑ องศาเซนติเกรดหมายถึง อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงของน้ำ ๑ ลูกบาศก์เซนติเมตร ได้รับความร้อนเพิ่มขึ้นหรือลดลง จำนวนความร้อนมีค่า ๑ แคลอรี           ๑๑/ ๖๗๖๖
                ๑๘๙๓. เซนอย  เป็นคนป่าพวกหนึ่งในแหลมมลายูที่เรียกว่า เงาะ ว่าเป็นลูกผสมของพวกเซมังกับสะไก พวกนี้มีผิวดำคล้ำ ผมเป็นคลื่นคดไปคดมา ว่าเป็นมนุษย์อยู่ในตระกูลออสโตรเนเซียน หรืออินโดนีเซีย ซึ่งมีพวกบาตักในเกาะสุมาตรา พวกดยักในเกาะบอร์เนียว และพวกข่าบางเหล่าทางตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศลาว และประเทศเวียดนาม         ๑๑/ ๖๗๖๗
                ๑๘๙๔. เซมัว  เป็นชื่อเงาะอีกพวกหนึ่งในแหลมมลายู ทางรัฐบาลกลันตันเรียกว่าพะงัน (ดูพะงัน - ลำดับที่...) เป็นพวกเร่ร่อนไปตามแหลมมลายูด้านตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดตรังลงไปทางใต้ไปถึงรัฐเประตอนเหนือ และทางด้านตะวันออกของแหลมมลายู ในรัฐกลันตัน ตรังกานู และปาหัง เป็นพวกที่ไม่รู้จักสร้างบ้านเรือน ได้แต่อาศัยนอนตามเชิงผา ป่าไม้เป็นทับที่อยู่ สร้างเป็นเพลิงมุ่งและกรุด้วยใบไม้ มีขนาดพอนอนได้
                        ตามทางสันนิษฐานว่า เป็นมนุษยย์พวกนิกริโต อพยพเข้ามาในดินแดนแหลมมลายูก่อนมนุษย์พวกออสโตรเนเซียน คือสะไก จากุน และพวกชาวน้ำ         ๑๑/ ๖๗๖๗
               ๑๘๙๕. เซรุ่ม ๑  เป็นส่วนน้ำที่ได้ภายหลังการหดตัวของลิ่มเลือดซึ่งเกิดเมื่อเลือดไหลออกมาภายนอกหลอดเลือด เซรุ่มนี้ทางการแพทย์นำเอามาใช ้เพื่อตรวจหาสาร หรือวัตถุเคมี ใช้ประกอบในการวินิจฉัยโรค         ๑๑/ ๖๗๖๘
                ๑๘๙๖. เซรุ่ม ๒  หมายถึงยาที่ใช้ในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือรักษาโรค ได้มาจากสัตว์ ปรกติจากม้า ซึ่งเตรียมเป็นพิเศษ โดยการฉีดวัคซีน หรือทอกซอยด์ของเชื้อโรค หรือพิษของสัตว์ เช่น งู เข้าไปในสัตว์ทีละน้อย เพื่อทำให้สัตว์นั้นมีภูมิคุ้มกันขึ้น แล้วต่อมาเพิ่มขนาดของวัคซีนหรือพิษให้มากขึ้น ทำเป็นลำดับขั้นดังกล่าวจนสัตว์นั้นมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นในร่างกายที่ระดับสูงมากพอ ก็เจาะเอาเลือดจากสัตว์นั้นแล้วแยกเอาเซรุ่มมาเตรียมและทดสอบหาความแรงของภูมิคุ้มกันนั้น ๆ ให้แน่นอน บรรจุหลอดหรือขวดเก็บรักษาไว้ เพื่อนำไปใช้ต่อไป
                        การให้เซรุ่มที่เตรียมไว้แล้ว จะทำให้ผู้นั้นเกิดมีภูมิคุ้มกันขึ้นทันทีและจะคงอยู่ในตัวระยะเวลาหนึ่ง         ๑๑/ ๖๗๖๙
                ๑๘๙๗. เซลล์  ในทางชีววิทยาหมายถึง หน่วยชิพที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต ซึ่งประกอบเป็นโครงสร้างและทำงานได้โดยลำพัง สิ่งมีชีวิตในโลกนี้ อาจประกอบด้วยเซลเพียงเซลเดียวเช่น อมีบา พารามีเซียม บัคเตรี และเชื้อหมัก เป็นต้น
                        เซลล์มีขนาดตั้งแต่ ๒ - ๓ ไมครอน จนกระทั่งใหญ่เท่าไข่นกกระจอกเทศ เซลล์ประสาทอาจยาวมากกว่า ๑ เมตร จากกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน ที่ขยายได้มากกว่าแสนเท่า ความรู้ทางเคม ทางฟิสิกส์ และทางไฟฟ้า ทำให้เห็นรูปร่างและเข้าใจการทำงานของส่วนประกอบแต่ละส่วนของเซลล์ดีขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่รู้อย่างสมบูรณ์ทีเดียว         ๑๑/ ๖๗๗๑
                ๑๘๙๘. เซา  คำนี้เคยเป็นชื่อเมืองเก่าของเมืองหลวงพระบาง เคยเป็นชื่อเก่าของอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และเคยเป็นชื่อตำบล ตำบลหนึ่งในอำเภอบ้านหมี่         ๑๑/ ๖๗๗๖
                ๑๘๙๙. เซี่ยงไฮ้  เป็นเมืองท่าทางทะเลที่สำคัญมากเมืองหนึ่งของจีนในแคว้นเจียวโซ ชื่อนี้มีมาแต่สมัยราชวงศ์ซ้อง ในตอนปลายของราชวงศ์เช็ง ดินแดนของเซี่ยงไฮ้ แบ่งเป็นเขตเช่าของชนต่างชาติ ก่อให้เกิดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตขึ้น
                        เซี่ยงไฮ้เป็นทางเข้าของแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่สำคัญของจีน และเป็นหนึ่งในสี่ของเมืองท่าสากล ทางมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก เป็นหนึ่งในสี่ของตลาดโลก (โตเกียว เซี่ยงไฮ้ นิวยอร์ก และลอนดอน) และเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของจีน ภาษีอากรที่จัดเก็บได้มีจำนวนเท่ากับหนึ่งในสามของประเทศ เฉพาะภาษีศุลกากรได้ราวหนึ่งในสองของประเทศ         ๑๑/ ๖๗๘๑
                ๑๙๐๐. เซียน  เป็นมนุษย์ผู้บำเพ็ญตนตามแนวทาง และบทบัญญัติที่กำหนดไวในศาสนาเต๋า จนประสบผลแห่งกรบำเพ็ญในระดับใดระดับหนึ่ง และมีอิทธิฤทธิ์นานาประการ ศาสนาเต๋านั้นนับว่าเป็นศาสนาใหญ่หนึ่งในสาม (พุทธ เต๋า ขงจื๊อ) ของจีน มีคัมภีร์มากพอ ๆ กับพุทธและขงจื๊อ
                        เซียนมีมาแต่ครั้งโบราณกาล เต๋าเจริญรุ่งเรืองมากในรัชสมัยพระเจ้าถังเฉวียนจง ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ถัง และซ้อง ก็มีเซียนปรากฎมากขึ้น เซียนที่ชาวจีนนับถือกันมากคือ โป๊ยเซียน
                        ผู้ที่จะเป็นเซียนต้องบำเพ็ญตนเป็นเต้าหยินคือ ผู้ปฏิบัติเต๋า ต้องบำเพ็ญพรหมจรรย์ มีการปฏิบัติสมาธิ เพื่อให้ขันธ์ห้าคงมีอายุคู่ฟ้าดิน เซียนจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้สามประเภทคือ
                        ๑. เทียนเซียน  เป็นเซียนที่มีอิทธิฤทธิ์มาก อาศัยอยู่บนสวรรค์
                        ๒. ตี้เซียน  เป็นเซียนที่ยังเป็นมนุษย์  มีอิทธิฤทธิ์น้อยกว่าเทียนเซียน
                        ๓. กุ่ยเซียน  เป็นเต้าหยินที่ปฏิบัติตนเพื่อเป็นเซียน         ๑๑/ ๖๗๘๒
                ๑๙๐๑. เซียมไซ  เป็นชื่อมณฑลสำคัญของจีน มีด่านสำคัญทางยุทธศาสตร์เช่น ด่านก่งกวน ลักษณะภูมิประเทศของมณฑลนี้ ทางทิศตะวันออกสามารถควบคุมประเทศจีนทั้งประเทศ ทางตะวันตกเฉียงเหนือสามารถต่อต้านการรุกรานของข้าศึกภายนอก จึงเหมาะสำรับเป็นที่ตั้งราชธานี
                        การคมนาคมทางบกของมณฑลนี้ ทิศตะวันตกสามารถติดต่อกับอินเดียและปากีสถาน         ๑๑/ ๖๗๘๕
                ๑๙๐๒. เซี่ยวกาง  เป็นชื่อเรียกรูปภาพที่เขียน หรือสลักติดไว้ตามประตูศาสนสถาน และที่เขียนหรือสลักไว้ตามบานพระทวารพระที่นั่งก็มี ความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นผู้รักษาประตู เชื่อว่าเป็นคติมาจากจีน         ๑๑/ ๖๗๘๖
                ๑๙๐๓. แซง  เป็นพันธุ์ไม้อยู่ในวงศ์กก พบตามเขตร้อนของโลก กกชนิดนี้มีลำต้นแข็งและตรง ขึ้นรวมเป็นหมู่ในพวกของตัวเอง และขยายพันธุ์ไปตามใต้ดิน ในเมืองไทยพบทั่วไปตามทุ่งนา
                        ใบหยาบของกกนี้ ใช้ขัดไม้ให้ขึ้นเงา ช่อที่เป็นผลเอามาต้มใช้ประคบแก้ปวดท้องได้        ๑๑/ ๖๗๙๑
                ๑๙๐๔. แซงแซว - นก  นกแซงแซว ในโลกมีอยู่ ๒๐ ชนิด เฉพาะในประเทศไทยมี ๗ ชนิด เกือบทุกชนิดมีสีดำเหลือบเขียว หรือน้ำเงิน ส่วนมากหางแฉก นกแซงแซบางชนิด ส่งเสียงได้หลายอย่าง นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ชอบทำเสียงเลียนแบบสัตว์อื่น เช่น เสียงแมว เสียงนกหวีดได้เหมือนมาก        ๑๑/ ๖๗๙๒
                ๑๙๐๕. โซ่ ๑  เป็นเครื่องมือที่ใช้วิดน้ำ (ดู คันโซ่ - ลำดับที่ ๑๐๐๙)         ๑๑/ ๖๗๙๕
                ๑๙๐๖. โซ่ ๒ หรือกะโซ์  เป็นข่าเผ่าหนึ่ง ผิวคล้ำ บางทีเกือบเป็นสีดำ คำพูดคล้ายมอญเจือเขมร เมื่อประมาณ ๑๕๐ ปี มาแล้ว ได้ข้ามมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เข้ามาอยู่ในเขตไทยหมู่หนึ่ง ได้ตั้งรกรากระหว่างหนองหาน สกลนครและนครพนม อีกหมู่หนึ่งอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำสงคราม และด้านเหนือของภูพาน การแต่งกายคล้ายลาว         ๑๑/ ๖๗๙๕
                ๑๙๐๗. โซ่ง  เป็นคำเรียกชื่อคนไทยสาขาหนึ่ง อยู่ในท้องที่บางส่วนของจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดราชบุรี เดิมมาจากดินแดนอันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศลาวในปัจจุบัน ขนบธรรมเนียมประเพณีส่วนใหญ่ที่ยังปฎิบัติอยู่คล้ายกับผู้ที่ อยู่ในประเทศลาวจึงเรียกว่า ลาวโซ่ง แต่จะเรียกเฉพาะผู้ที่อยู่ใน จ.ราชบุรี และ จ.เพชรบุรี เท่านั้น แต่ไปอยู่ที่อื่น ไม่ค่อยเรียกว่า โซ่ง
                        มีบันทึกของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ตอนหนึ่งโต้เถียงกับ ม.ปาวี ผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศสในกรณีพิพาทเกี่ยวกับดินแดน อ้างถึงเรื่องโซ่งในจังหวัดเพชรบุรี มีความว่า เมืองแถงนี้เป็นพระราชอาณาเขตไทย มาตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ผู้คนในเมืองแถงเป็นไทยดำ เมื่อให้ไปอยู่ ณ เพชรบุรี ก็ได้ชื่อว่า ลาวซ่ง ลาวซ่งผู้ไทยดำนั้น ใช้แซ่อย่างจีนแต่อักษรที่ใช้เป็นอักษรสยาม มีพยัญชนะอย่างโบราณ พวกลาวหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองนอกเป็น สองฝ่ายฟ้า คือ ขึ้นกับลาว และญวนเมืองสิบสองจุไทย และสิบสองปันนา เรียกว่า สามฝ่ายฟ้า ขึ้นอยู่กับลาว ญวนและจีน เมืองเหล่านี้ อยู่ในพระราชอาณาเขตทั้งสิ้น
                        โซ่ง มีภาษาพูดของตนเองโดยเฉพาะ แต่คล้ายกับพวกเวียงจันทน์และพวกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตัวหนังสือคล้ายกับตัวหนังสือลาว หลักภาษาเป็นแบบเดียวกับไทย         ๑๑/ ๖๗๙๘
                ๑๙๐๘. โซงโขดง  มีคำนิยามว่า การเกล้าผมของหญิงไทย ซึ่งรวบขึ้นไปไว้บนขม่อม เป็นห่วงยาว ๆ โดยมากมีเกี้ยว หรือพวงมาลัยสวมอีก         ๑๑/ ๖๘๑๔
                ๑๙๐๙. โซเชียลิสต์  เป็นชื่อของผู้ที่นิยมลัทธิโซเชียลิสต์ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศในภาคตะวันตกของทวีปยุโรป ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๓๒ - ๒๓๙๑  อันเป็นสมัยการปฎิวัติครั้งใหญ่ ในประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๓๓๒ และการปฎิวัติในประเทศฝรั่งเศสกับประเทศอื่น ๆ ในปี พ.ศ.๒๓๗๓ และ พ.ศ.๒๓๙๑ ลัทธิดังกล่าวมีหลายแบบ
                        สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ.๒๔๕๗ - ๒๔๖๑)  ได้แบ่งพวกโซเชียลิสต์ ออกเป็นฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย พวกโซเชียลิสต์ฝ่ายขวาสนับสนุนประเทศของตน ให้เข้าร่วมสงคราม แต่พวกโซเชียลิสต์ฝ่ายซ้าย เป็นฝ่ายคัดค้าน
                        ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๖๑ - ๒๔๘๒)  พรรคโซเชียลิสต์ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป ในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศในยุโรป
                        ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๘)  พวกโซเชียลิสต์ได้ครองอำนาจโดยจัดตั้งรัฐบาล ในประเทศต่างๆ หลายประเทศในทวีปยุโรป
                        ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวโซเชียลิสต์ ต่อมาบุคคลกลุ่มหนึ่งได้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยม ซึ่งถือว่าเป็นพรรคโซเชียลิสต์ของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ แต่พรรคนี้ได้เลิกล้มไป เพราะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวไทย         ๑๑/ ๖๘๑๗
                ๑๙๑๐. โซดา  คำนี้ใช้กับสารประกอบของโซเดียม เช่น โซดาแอช คือ โซเดียมคาร์บอเนต โซดาซักผ้า เบกกิงโซดา และโซดาไฟ         ๑๑/ ๖๘๒๐
                ๑๙๑๑. โซเดียม  เป็นโลหะที่อ่อนใช้มีดตัดได้ และรอยตัดมีเงาสีขาวคล้ายเงิน ทำปฎิกิริยากับออกซิเจน ในอากาศได้ทันที ทำปฎิกิริยารุนแรงกับน้ำ ดังนั้นจึงต้องเก็บไว้ใต้น้ำมันก๊าด เดวี ค้นโซเดียม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐
                        โซเดียมในธรรมชาติเกิดเป็นโซเดียมคลอไรด์ เช่น ในมหาสมุทร ทะเล หรือเกิดเป็นโซเดียมไนเตรท หรือโซเดียมบอเรต โซเดียมคาร์บอเนต และโซเดียมซังเฟรต         ๑๑/ ๖๘๒๐
                ๑๙๑๒. โซเดียมคลอเรต  เป็นของแข็งสีขาวละลายน้ำได้ เป็นออกซิไดซิงเอเจนด์ อย่างแรง โซเดียมคลอเรต เตรียมได้โดยการอิเล็กโตรลิซิส สารละลายโซเดียมคลอไรด์
                        โซเดียมคลอเรต ใช้เป็นสารฆ่าวัชพืช ใช้ทำหัวไม้ขีดไฟ และใช้ในการทำอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องหนัง          ๑๑/ ๖๘๒๒
                ๑๙๑๓. โซเดียม คาร์บอเนต  คือ โซดาแอช หรือโซดาซักผ้า เป็นเกร็ดของแข็งสีขาว ละลายน้ำได้ให้ความร้อนมาก และสารละลายที่ได้จะมีฤทธิ์เป็นด่าง
                        โซเดียม คาร์บอเนต ใช้ในการซักฟอก ล้างภาชนะถ้วยชาม ทำความสะอาดและทำสบู่         ๑๑/ ๖๘๒๒
                ๑๙๑๔. โซเดียมไบคาร์บอเนต  บางทีเรียก เบกกิงโซดา เป็นของแข็งสีขาว ละลายน้ำได้  สารละลายมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อทำให้ร้อนจะได้โซเดียมคาร์บอเนต
                        โซเดียมไบคาร์บอเนต มีประโยชน์หลายประการด้วยกันคือ ใช้ทำสารใส่เชื้อหมักแป้งฟูในการทำขนม ใช้เป็นผงทำให้ขนมปังฟู ใช้ใส่ทำให้เครื่องดื่มเป็นฟอง มีรสคล้ายโซดา ใช้ทำยาลดกรดในกระเพาะอาหาร         ๑๑/ ๖๘๒๓
                ๑๙๑๕. โซเดียมไฮดรอกโซด์  บางทีเรียกคอสติกโซดาหรือโซดาไฟ เป็นของแข็งสีขาว ละลายน้ำได้ มีประโยชน์ ใช้ในอุตสาหกรรมการทำสบู่ แพรเทียม (เรยอง) และกระดาษ ใช้ในการทำให้น้ำมันปิโตรเลียม และน้ำมันพืชบริสุทธิ์ ใช้ในอุตสาหกรรมการทำยาง สิ่งทอ และฟอกหนัง และใช้ในการเตรียมเกลือต่าง ๆ ของโซเดียม          ๑๑/ ๖๘๒๔
                ๑๙๑๖. โซโรอัสเตอร์  เป็นชื่อของศาสดา ชาวเปอร์เซีย มีชีวิตระหว่าง ๑๑๗ ปีก่อน พ.ศ. - พ.ศ. ๑ ชื่อนี้ภายหลังเป็นชื่อของศาสนา บางทีเรียกว่า ศาสนาปาร์ซี บางทีเรียกว่า ศาสนาบูชาไฟ
                        คำสอนของโซโรอัสเตอร์ สาวกได้รวบรวมไว้เป็นคัมภีร์ที่แปลว่าความรู้ ตรงกับคำว่าเวทะ ชื่อคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์
                        โซโรอัสเตอร์ ยอมรับผลแห่งกรรมที่บุคคลกระทำ ยอมรับความไม่สูญแห่งดวงวิญญาณ ตามผลแห่งกรรม
                        ปัจจุบันศูนย์กลางศาสนาโซโรอัสเตอร์อยู่ในเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ศาสนาโซโรอัสเตอร์เสื่อมสิ้นไปจากประเทศเปอร์เซีย (อิหร่าน) เมื่อประเทศนั้น มีศาสนาอิสลามเข้ามาแทนที่อยู่         ๑๑/ ๖๘๒๕
                ๑๙๑๗. ไซ0 ๑ - หญ้า  เป็นหญ้าชนิดหนึ่งชอบขึ้นในน้ำ ริมน้ำ และที่ชื้อแฉะ มีใบเรียวยาวแคบ ปลายใบแหลม ลำต้นเล็ก มักทอดพิงกับพืชหรือหญ้าใกล้เคียง         ๑๑/ ๖๘๓๖
                ๑๙๑๘. ไซ ๒ - งู  ชอบอยู่ในที่น้ำจืด พบในคลองและนาที่มีน้ำท่วมถึง หัวกลม เป็นกระสวย ตัวยาวไม่เกิน ๑ เมตร สีเทา - เหลือง ท้องสีเหลืองอ่อน เป็นงูไม่มีพิษ   ๑๑/ ๖๘๓๖
                ๑๙๑๙. ไซ ๓  เป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีรูปหัวสอบท้ายสอบ ก้นสอบ ปากมีฝาปิด ปากกว้าง ๒๐ ซม. ลำตัวยาว ๑.๒๐ เมตร ช่องดักปลา กว้าง ๗ ซม. มีงาแซงติดภายใน ยาว ๙ ซม. ช่องดาไซห่างกัน ๕ ซม.
                        วิธีใช้ ขุดคันนาเป็นช่องสำหรับใส่ไซ ให้ช่องปากดักปลาอยู่ข้างล่าง         ๑๑/ ๖๘๓๖
                ๑๙๒๐. ไซ่ง่อน  เดิมเป็นเมืองหลวงของเวียดนามใต้ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ ไซ่ง่อนตรงที่บรรจบกับแม่น้ำดอนไน ไซ่ง่อนแต่เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ เพิ่งมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภายหลังที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๕
                        บริเวณที่ตั้งเมืองไซ่ง่อนแต่เดิม เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมรโบราณ และได้เปลี่ยนมือมาเป็นของญวนในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๒ คณะทูตฝรั่งเศสได้เดินทางมาถึงไซ่ง่อนเป็นครั้งแรก และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๒ ก็ได้เข้ายึดเมืองนี้ไว้ ญวนพยายามแย่งคืน แต่ไม่สำเร็จ จึงได้ทำสัญญายกเมืองนี้ให้ฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๕
                        ไซ่ง่อน มีฐานะเป็นเมืองหลวงของอินโดจีนของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๐ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๕ จึงเปลี่ยนไปเป็นเมืองฮานอย ต่อจากนั้นไซ่ง่อนจึงเป็นเพียงเมืองหลวงของแคว้นโคจินจีน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสถาปนาประเทศเวียดนามขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วน ตามข้อตกลงของอนุสัญญาเจนีวา พ.ศ.๒๔๙๗ ไซ่ง่อน จึงมีฐานะเป็นเมืองหลวงของเวียดนาม         ๑๑/ ๖๘๔๒
                ๑๙๒๑. ไซซี  เป็นชื่อของหญิงคนหนึ่งในสมัยเลียตก๊ก เป็นบุตรีของคนขายฟืน ในนครอ๊วก ในเวลานั้นนครอ๊วกแพ้สงครามแก่นครโจ้วอยู่เนือง ๆ เจ้าครองนครอ๊วกรู้ว่าเจ้าครองนครโง้วเป็นผู้มักมากในกามคุณ จึงสรรหาสตรีงามไปเป็นเครื่องบรรณาการแก่เจ้านครโง้ว นางไซซีได้รับเลือกไปเพื่อการนี้ เจ้านครโง้วหลงไหลนางไซซีจนละเลยในด้านการปกครองและการทหาร เสนาบดีได้ทักท้วงแต่ไม่เป็นผลและถูกสั่งให้ฆ่าตัวตาย
                        ฝ่ายเจ้าครองนครอ๊วกเห็นเป็นโอกาส จึงยกทัพมาตีนครโง้วไว้ได้ หว่นฉี่เสนาบดีนครอ๊วกผู้พานางไซซีไปถวายเจ้าครองนครโง้ว ได้พานางไซซีหนีไป และได้อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ได้ตระเวณไปอยู่แถบทะเลสาบทั้งห้า         ๑๑/ ๖๘๔๔
                ๑๙๒๒. ไซอิ๋ว  เป็นชื่อนวนิยายที่แพร่หลายมากที่สุดของจีน ผู้เขียนชื่อโหง่วเส่งอึง (พ.ศ.๒๐๖๓ - ๒๑๒๓) ในสมัยราชวงศ์เหม็ง
                        พระถังซัมจั๋งในเรื่องไซอิ๋วนี้ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์จีนเป็นพระภิกษุ ที่เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียเป็นเวลา ๑๗ ปี และนำเอาพระไตรปิฏกกลับมาประเทศจีน การเดินทางของพระถังซัมจั๋งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ  ปรากฎในจดหมายเหตุการเดินทางของพระถังซัมจั๋ง และลูกศิษย์ของท่าน ก็เขียนประวัติของท่านอีกด้วย ซึ่งต่างก็เป็นเอกสารสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของจีน สำหรับเห้งเจียคือ โป๊ยก่ายและซัวเจ๋ง ในเรื่องไซอิ๋ว ต่างก็เป็นตัวบุคคลสมมติขึ้น         ๑๑/ ๖๘๔๕
                ๑๙๒๓. ไซฮั่น  เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน (๓๓๗ ปี ก่อน พ.ศ.) พระเจ้าจิ้นซีฮ่องเต้ ทรงปกครองประเทศจีนอย่างเหี้ยมโหดทารุณ เป็นเหตุให้ประชาชนก่อการกบถขึ้น ในที่สุดคงเหลือแต่เล่าปัง และฌ้อปาอ๋องเล่าปังรบชนะฌ้อปาอ๋องและได้สถาปนาตนเองเป็นฮั่นอ่อง นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โซฮั่น ตั้งราชธานีที่เมืองเฉียงอังในมณฑลเซียมไซ (ดูเซียมไซ ลำดับที่ ๑๘๗๖)        ๑๑/ ๖๘๔๖

     

                ๑๙๒๔. ฌพยัญชนะตัวที่สิบสองของพยัญชนะไทย เป็นตัวที่ห้าในวรรคที่สอง นับเป็นพวกอักษรต่ำ อ่านออกเสียงเช่นเดียวกับตัว ช จึงบัญญัติให้เรียกชื่อว่า ฌ เฌอ       ๑๑/ ๖๘๔๖
                       ฌ เป็นพยัญชนะเสียงไม่ก้อง หรืออโฆษะ แต่ในภาษาบาลี และสันสกฤตถือว่าเป็นธนิต- โฆษะ คือมีเสียงหนักและก้อง ถือว่าเป็นพยัญชนะเกิดที่เพดานเรียกว่า ตาลุชะเหตุนี้ในตำราสัทศาสตร์บางทีก็เรียกว่า พยัญชนะหน้าคู่กับพยัญชนะวรรค ก ซึ่งเป็นพยัญชนะหลัง และถือว่าเป็นพยัญชนะวรรค ต ผสมด้วยเสียง ย เช่น ฌาน เป็น ธฺยาน
                       ตัว ฌ มักจะใช้เฉพาะคำบาลีและสันสกฤตเท่านั้น แต่ก็มีน้อย
                ๑๙๒๕. ฌ้อ  เป็นชื่อนครใหญ่นครหนึ่งของจีนในสมัยเลียดก๊ก ปลายราชวงศ์จิว นับเป็นหนึ่งในเจ็ดนครใหญ่ในยุคนั้น เมืองหลวงอยู่ที่มณฑลหูไป่ มีอาณาเขตจดมณฑลต่าง ๆ เช่น กุ้ยจิว โอวน้ำ อังฮุย กังโซ เสฉวน
                        ในปลายราชวงศ์จิว เมืองและนครต่าง ๆ รบพุ่งกัน ในที่สุดนครฌ้อก็ถูกจิ๋นซีฮ่องเต้ยึดได้ นับเวลาที่เจ้าครองนครฌ้อสืบสกุลได้ ๔๑ สมัย        ๑๑/ ๖๘๔๗
                ๑๙๒๖. ฌ้อปาอ๋อง  เดิมชื่อฮันอู้ เกิดในรัชสมัยพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฉิน ได้ศึกษาตำราพิชัยสงครามจากผู้เป็นอา แต่ศึกษาไม่จบ ฮันอู้เป็นผู้มีพลังกายมาก
                        เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้มีการก่อขบถขึ้นทั่วไป ฮันอู้สมัครเป็นทหารของฌ้ออ๋อง ร่วมขบวนครั้งนี้ด้วย ฌ้ออ๋องได้แต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ ยกเข้าตีเมืองห่ำเอียง เมืองหลวงของฉินได้ แล้วสถาปนาตนเองเป็นฌ้อปาอ๋อง แล้วได้รบกับเล่าปัง ซึ่งตั้งตนเป็นฮั่นอ๋อง แต่แพ้จึงฆ่าตัวตายในมณฑลอังฮุย การรบระหว่างฌ้อปาอ๋องกับเล่าปัง ได้มีผู้นำมาดัดแปลงแต่งเติมเป็นเกร็ดพงศาวดารปรากฏอยู่ในหนังสือภาคภาษาไทยชื่อไซ่ฮั่น       ๑๑/ ๖๘๔๘
                ๑๙๒๗. ฌาน  โดยรูปคำแปลว่าเผา คือเผาธรรมอันเป็นข้าศึก มีนิวรณ์เป็นต้น และแปลว่าเพ่งหรือคิด คือเพ่งคิดอารมณ์คือ กสิณ และเพ่งลักษณะสภาวธรรม มีอนิจลักษณะเป็นต้น (ดูกสิณ - ลำดับที่ ๒๒๙ และวิปัสสนากรรมฐาน - ลำดับที่ )
                        เมื่อว่าโดยปริยาย ฌานคือธรรมเป็นเครื่องสลัดทิ้ง (ออก) จากกามทั้งหลาย เรียกเป็นเฉพาะว่า "เนกขัมฌาน" เมื่อว่าโดยองค์ธรรมที่เป็นตัวฌานได้แก่ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคตา ที่ประกอบกับจิตให้มีกำลังมากกว่าปรกติจิต จนสามารถละกาม และอกุศลกรรมทั้งหลายอันเป็นปฏิปักษ์โดยเด็ดขาดได้ เรียกเป็นเฉพาะว่าองค์ประกอบของฌาน
                        ฌานจัดโดยประเภทที่เพ่งอารมณ์เป็นสองอย่างคือ รูปฌาน และอรูปฌาน
                        รูปฌาน  แบ่งออกเป็นสี่ชั้นบ้าง ห้าชั้นบ้าง เรียกชื่อตามลำดับที่หยาบ และประณีตขึ้นกว่ากัน โดยลำดับคือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน
                        ปฐมฌาน  มีองค์ประกอบห้าคือ มีตรึกซึ่งเรียกว่า วิตก มีตรองซึ่งเรียกว่า วิจารณ์ เหมือนอารมณ์จิตคนสามัญ แต่ไม่ประกอบด้วย กิเลสกาม และอกุศลธรรม มีปิติคือ ความอิ่มใจและสุขคือ ความสบายใจอันเกิดแต่วิเวกคือ ความเงียบกับประกอบด้วยอารมณ์เป็นหนึ่งลงไปซึ่งเรียกว่า เอกัคตา
                        ทุติยฌาน  มีองค์สาม ละวิตก วิจารณ์เสียได้ คงอยู่แต่ปิติ และสุขอันเกิดแต่สมาธิกับเอกัคตา
                        ตติยฌาน  มีองค์สอง ละปิติเสียได้ คงเหลือแต่สุขกับเอกัคตา
                        จตุตถฌาน  มีองค์สอง ละสุขเสียได้กลายเป็นอุเบกขาคือ เฉย ๆ กับเอกัคตา
                        ฌานสี่นี้จัดเป็นรูปฌาน เป็นรูปสมาบัติ มีรูปธรรมเป็นอารมณ์สงเคราะห์เข้าในรูปาวจรภูมิ
                        อรูปฌานก็จัดเป็นสี่ชั้นเหมือนกัน โดยประเภทอารมณ์สี่เรียกว่า อรูปสี่คือ
                        อรูปฌานที่หนึ่ง  อากาสาปัญจายตนะฌาน ยึดหน่วงเอาอากาศนิมิตอันหาที่สุดฝ่ายข้างเกิดและข้างดับมิได้ เป็นอารมณ์ เป็นบ่อเกิด
                        อรูปฌานที่สอง  วิญญานัญจายตนฌาน ยึดหน่วงเอาจิตที่นึกเอาอากาศตั้งอยู่ในอากาศอันหาที่สุดฝ่ายข้างเกิด และฝ่ายข้างดับมิได้ เป็๋นอารมณ์ เป็นบ่อเกิด
                        อรูปฌานที่สาม  อากิญจัญญายตนะฌาน ยึดหน่วงเอาความที่ไม่มีของจิตที่ตั้งอยู่ในอากาศเป็นอารมณ์ เป็นบ่อเกิด
                        อรูปฌานที่สี่  เนวสัญญาสัญญายตนฌาน ยึดหน่วงเอาอรูปฌานที่สามอันสัญญา เวทนาและสัมปยุตธรรมทั้งสิ้นละเอียดประณีตนัก มีอยู่เหมือนอย่างไม่มี เป็นอารมณ์ เป็นบ่อเกิด
                        อีกนัยหนึ่ง อรูปฌานสี่เป็นชื่อแห่งภพ คือผู้ที่ได้อรูปฌานนั้นล้วนเป็นโลกียะ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดในพรหมภพ มีประเภทเป็นสี่ มีชื่อเหมือนอย่างนั้น ตามกำลังฌานของตน อรูปฌานทั้งสี่นี้มีองค์สมบัติ หรือองค์ประกอบสองคือ อุเบกขา และเอกัคตา เป็นอรูปสมาบัติ มีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ สงเคราะห์เข้าในอรูปาวจรภูมิทั้งสี่ชั้นเหมือนกันหมด
                        ฌานเกิดจากการเจริญสมถกรรมฐาน ๓๐ ในกรมฐาน ๔๐ ถึงขั้นอัปปนาภาวนา  กรรมฐาน ๓๐ นั้นคือ กสิณ ๑๐  อสุภ ๑๐  อาณาปานสติ ๑  กายคตาสติ ๑  พรหมวิหาร ๔  อรูป ๔        ๑๑/ ๖๘๔๙
     
     

                ๑๙๒๘. ญ  พยัญชนะตัวที่สิบสามของพยัญชนะไทย เป็นตัวที่หกและเป็นตัวสุดท้ายของวรรคที่สอง นับเป็นพวกอักษรต่ำ เป็นพยัญชนะนาสิกคือ มีเสียงระเบิด และก้อง หรือเรียกตามบาลีว่า พยัญชนะอมุนาสิก
                       ตำแหน่งที่เกิดของเสียงที่เกิดที่เพดานเรียกว่า ตาลุชะ เช่นเดียวกับ ฌ
                        เมื่อเป็นตัวต้นออกเสียงเป็น ย  แต่เมื่อเป็นตัวสะกดกลายเป็นเสียง น ถือเป็นตัวสะกดในแม่กน
                        เสียง ญ (ที่เป็นเสียงนาสิก) ในไทยกลางสูญไปแล้ว ส่วนภาษาถิ่นยังมีอยู่        ๑๑/ ๖๘๕๕
                ๑๙๒๙. ญวน ๑ - ปลา  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปลาขนุน สาบขนุน อานัมฮื้อ (ดู ขนุน - ปลา ลำดับที่ ๖๘๙ ประกอบ)  พบอยู่ตามแถบทะเลอินเดีย อินโดออสเตรเลีย และออสเตรเลีย มีรูปร่างป้อม แบนข้าง ปากกว้าง และเฉลียงมาก เกล็ดกลม หลุดง่าย มีครีบหลังสองอัน        ๑๑/ ๖๘๕๗
                ๑๙๓๐. ญวน ๒ - ชาติ  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อนัม เวียดนาม
                        ญวน นั้น เข้าใจว่าเดิมเป็นชนชาติไทยพวกหนึ่ง คือพวกที่ลงมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแคว้นตังเกี๋ย ครั้งจีนแผ่อาณาจักรออกมาถึงไทยเดิมในมณฑลฮุนหนำ กุยจิ๋ว กวางตุ้ง และกวางไส จึงมีอำนาจถึงตังเกี๋ย ไทยชาวตังเกี๋ยต้องขึ้น และสมาคมกับจีนยิ่งกว่าไทยใหญ่ และไทยน้อย เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคน ความนิยมของพวกตังเกี๋ย ก็ใกล้ไปทางจีนมากเข้าทุกที จึงเกิดเป็นชนชาติหนึ่งที่เราเรียกว่า ญวน
                        ญวน แต่ก่อนนี้จัดอยู่ในตระกูลมอญ - เขมร เพราะในภาษาญวนมีคำในตระกูลดังกล่าวอยู่มากคำ บัดนี้มีทฤษฎีใหม่ว่า ญวนควรจะเป็นพวกในตระกูลอินโดนิเซียนมากกว่า       ๑๑/ ๖๘๕๘
                ๑๙๓๑. ญ่อ ย่อ ย้อ  เป็นไทยเผ่าหนึ่งที่ข้ามมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดอุดรธานี รอบเมืองสกลนคร เหนือนครพนม และบางตำบลในจังหวัดกาฬสินธุ์  แต่งตัวเหมือนลาว แต่ภาษาพูดมีเสียงกระด้าง
                        ในจังหวัดบุรีรัมย์ มีดงย้อ เพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๖ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา กับพระยานครราชสีมา ได้กวาดต้อนครอบครัวทางเวียงจันทน์ และพวกย้อให้เข้ามาตั้งภูมิลำเนา อยู่ทางหัวเมืองภายใน         ๑๑/ ๖๘๖๐
                ๑๙๓๒. ญัตติ  มีคำนิยามว่า  คำประกาศให้สงฆ์ทราบ เพื่อทำกิจของสงฆ์ร่วมกัน เรียกกันว่า คำเผดียงสงฆ์ ข้อเสนอ เพื่อปรึกษาหรือเพื่อลงมติ
                        ญัตติ เดิมเป็นภาษาวินัย มีปรากฎในคัมภีร์พระวินัยปิฎกหลายแห่ง ในพระวินัยพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ใช้คำนี้ ในสังฆกรรมสามประเภทคือ ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม
                        ญัตติกรรม หมายความว่า ตั้งญัตติ คือ ตั้งประเด็นที่จะขอปรึกษา หรือคำวินิจฉัยขาด หรือขอมติ ที่เรียกว่า ตั้งญัตติ เมื่อตั้งญัตติขึ้นแล้วไม่ต้องประกาศซ้ำอีก ถือว่าที่ประชุมรับรองตามข้อเสนอนั้น การทำในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ญัตติกรรม
                        ญัตติทุติยกรรม  คือ ตั้งญัตติแล้ว ประกาศซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คำประกาศซ้ำนี้เรียกว่า อนุสาวนา คือ คำประกาศให้รับรู้ทั่วกัน
                        ญัตติจตุตถกรรม  คือ เมื่อตั้งญัตติแล้ว ประกาศซ้ำอีกสามครั้ง
                        ต่อมาได้มีการนำคำนี้มาใช้เป็นภาษาสภา เรียกว่า ญัตติ หมายถึง ข้อเสนอให้รู้ ใช้คำนี้ในความหมายว่า ข้อเสนอเพื่อปรึกษา หรือเพื่อลงมติ        ๑๑/ ๖๘๖๐


    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch