หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/38
    ๑๗๓๒. ชาวบน  เป็นชื่อที่คนไทยเรียกชนเผ่าละว้อหรือละว้า ซึ่งเป็นคนชาวเขาตอนเหนือของประเทศไทยพวกหนึ่งในตระกูลมอญ - เขมร  พอแยกออกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์เรียกว่า ละว้าเพชรบูรณ์ อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า ละว้าโคราช          ๑๐/ ๖๒๒๖
                ๑๗๓๓. ชาววัง  ได้แก่ กุลสตรีที่ได้รับการอบรม และศึกษาในพระบรมมหาราชวัง ที่เรียกว่า ผู้หญิงชาววังนั้น มีต่างกันเป็นสามชั้น มีฐานะและโอกาสกับทั้งการศึกษา และอบรมผิดกัน
                           ชั้นสูง  คือเจ้านายที่เป็นพระราชธิดาประสูติ และศึกษาในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเจริญวัยก็ได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในวังในชาววังชั้นสูง ต่อมาถึงหม่อมเจ้าอันเกิดที่วังพระบิดา ถ้าพระบิดาสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดฯ รับเข้าไปเลี้ยงที่ในพระราชวังต่อลงมาถึงชั้นลูกผู้ดีมีตระกูล คือพวกราชินิกูล และธิดาข้าราชการเป็นต้น หม่อมราชวงศ์ก็นับอยู่ในพวกนี้  เป็นชาววังด้วยถวายตัว
                           ชั้นกลาง  มักเป็นลูกคหบดี ไม่ได้ถวายตัวทำราชการ ผู้ปกครองส่งเข้าไปถวายตัวเป็นข้าหลวง อยู่กับเจ้านายพระองค์หญิง หรืออยู่กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ในพระราชวัง แต่ยังเด็กรับใช้สอย และศึกษาอยู่จนสำเร็จการศึกษาแล้ว พอเป็นสาวก็ลาออกไปมีเหย้าเรือน
                           ชั้นต่ำ  มีสองพวก พวกหนึ่งเรียกว่า โขลน เป็นลูกหมู่คนหลวง (ผู้ชายเรียกว่าไพร่หลวง) ตามกฎหมายเก่า เกณฑ์ให้ต้องผลัดเปลี่ยนเป็นเวรกัน เข้าไปรับราชการในพระราชวังตั้งแต่รุ่นสาว เพิ่งเลิกการเกณฑ์เปลี่ยนเป็นจ้างคนตามใจสมัครในสนมัยรัชกาลที่ห้า มีหน้าที่รักษาประตูวัง และรับใช้เช่นกรรมกรในการงานต่าง ๆ         ๑๐/ ๖๒๒๗
                ๑๗๓๔. ชำมะนาด  เป็นไม้เถาขนาดกลาง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านทั่วไปเพราะดอกเป็นพวงขาว มีกลิ่นหอม          ๑๐/ ๖๒๓๓
                ๑๗๓๕. ชำมะเลียง  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒ - ๕ เมตร มักขึ้นเป็นกอ ผลรูปร่างค่อนข้างกลมหรือรี ๆ มีพูไม่ค่อยชัด ๒ - ๓ พู สีม่วงแก่เกือบดำ บริโภคได้ ใบเป็นแบบใบผสม ดอกเป็นช่อยาวปานกลาง ออกที่ง่ามใบ ดอกเล็กสีแดงคล้ำ ผลรูปค่อนข้างกลมหรือรี สีม่วงแก่ หรือเกือบดำ บริโภคได้ รสหวานจืด ๆ       ๑๐/ ๖๒๓๔
                ๑๗๓๖. ช้ำรั่ว - โรค  เป็นอาการอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดเนื่องจากความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ เป็นผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้เหมือนคนปกติ         ๑๐/ ๖๒๓๕
                ๑๗๓๗. ชิงชัน  เป็นไม้ทิ้งใบขนาดใหญ่ มีอยู่ในป่าเบญจพรรณทั่วไป เว้นทางภาคใต้ สูง ๒๐ - ๓๐ เมตร ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ดอกดอกหนึ่งเล็กสีขาว มีกลิ่นหอม ผลเป็นฝักแบน หัวท้ายแหลมสีน้ำตาลแก่ มี ๑ - ๓ เมล็ด
                            เนื้อไม้แข็ง หนักละเอียด ทนทาน มีสีแดงเข้มถึงสีม่วงแก่ นิยมทำเป็นเครื่องเรือนชั้นสูง  ใบเป็นใบแบบผสม ใบย่อยออกสลับกันรูปไข่กลับ        ๑๐/ ๖๒๓๗
                ๑๗๓๘. ชิด - นาย  เป็นนายบรรดาศักดิ์มหาดเล็กชาวที่เรียกตามตำรามหาดเล็ก - ชาวที่ว่า นายชิดภูบาลคู่กับนายชาญภูเบศร์ อยู่ในกลุ่มมหาดเล็ก ชาวที่ซ้ายขวาขึ้นอยู่กับจมื่นสรรเพชญภักดี จมื่นศรีสรรักษ์ จมื่นไวยวรนารถ จมื่นเสมอในราช โดยมีหลวงนายศักดิ์ หลวงนายสิทธิ์ หลวงนายฤทธิ์ หลวงนายเดช เป็นผู้บังคับบัญชารองลงมา         ๑๐/ ๖๒๓๗
                ๑๗๓๙. ชิด - นาย นายชิต บุรทัต เป็นกวีสำคัญคนหนึ่งของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕
                            ผลงาน  ได้ประพันธุ์บทกวีประเภทต่าง ๆ  มีทั้งโคลง ฉันท์ กาพท์ กลอน ส่วนมากเป็นบทแสดงความเห็นต่าง ๆ ทั้งที่เป็นคติธรรม และเหตุการณ์ในระยะเวลาที่แต่ง เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ ได้รับยกย่องมาก และใช้เป็นแบบเรียนมาจนปัจจุบัน เพราะถือว่าเป็นหนังสือคำฉันท์ชั้นยอดเยี่ยม การแต่งถูกแบบแผนบังคับทุกประการ การใช้ถ้อยคำ สำนวนโวหารเพริศพริ้ง เดินตามแบบฉันท์โบราณ         ๑๐/ ๖๒๔๓
                ๑๗๔๐. ชินกาลมาลินี  เป็นชื่อหนังสือเรื่องหนึ่ง รจนาไว้เป็นภาษาบาลี เดิมคงจารไว้ในใบลาน หรือสมุดกระดาษสา อักษรที่จะคงเป็นอักษรเมืองเหนือสมัยนั้น ต่อมาไทยตอนใต้ได้คัดลอกเป็นอักษรขอมสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดให้คัดลอกจากต้นฉบับสมัยอยุธยา ลงในใบลานอักษรขอมเช่นเดียวกัน แล้วโปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตห้าท่าน ช่วยกันแปลเป็นภาษาไทย แปลเสร็จแล้วเขียนไว้ในสมุดไทยสีดำฉบับหลวง มีอยู่ ๑๒ เล่มสมุดเรียกชื่อว่า ชินกาลมาลินี ตัวอักษรขอมเขียนภาษาบาลีด้วยเส้นทอง ตัวอักษรไทยเขียนด้วยเส้นหรดาลที่เรียกกันว่า ตัวรง เขียนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๙ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มทั้งบาลี และฉบับแปล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ พิมพ์เป็นอักษรไทยทั้งหมดเรียกชื่อตามสมุดไทยว่าชินกาลมาลินี ปี พ.ศ.๒๔๖๖ ยอช เซเดย์ แปลออกเป็นภาษาฝรั่งเศส ต่อมาเสฐียร พันธรังษี แปลเป็นภาษาไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๕ และพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ต่อมากรมศิลปากรได้แปลออกเป็นภาษาไทย พิมพ์เป็นเล่มเรียกชื่อว่า ชินกาลมาลี ได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ จากต้นฉบับภาษาสิงหล ที่ได้ต้นฉบับจากภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑
                            เรื่องสำคัญของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงพระสมณโคดมพุทธะ เริ่มตั้งแต่ปรารถนาเป็นพุทธ บำเพ็ญบารมีผ่านเวลานับเป็นกัป ๆ และผ่านพระพุทธะในอดีต ๒๔ พระองค์ ครั้งสุดท้ายทรงอุทิศในศากยตระกูล บรรลุสัพพัญญตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธทรงและธรรมจักกัปปวัตตนสูตร และแสดงธรรมอื่น ๆ จนปรินิพพาน พระสาวกได้ทำสังคยนาพระธรรมวินัย กล่าวถึงประวัติเมืองลังกา กล่าวถึงพระพุทธโฆษาจารย์ ชาวอินเดียไปลังกา เพื่อแปลพระธรรมวินัยที่เป็นภาษาสิงหลมาเป็นภาษาบาลี กล่าวถึงประวัติเมืองลำพูน และการสร้างพระธาตุหริภุญชัย และกล่าวถึงลาวจังคราชบรรพบุรุษของพญาเม็งราย การสร้างเมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงประวัติพระรัตนพิมพ์ หรือพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์
                            พระรัตนปัญญาเถระ วัดโพธาราม ที่เรียกว่า วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ แต่งเรื่องนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๐          ๑๐/ ๖๒๔๙
                ๑๗๔๑. ชินกาลมาลีปกรณ์  ดูชินกาลมามสินี (ลำดับที่ ๑๗๓๙)          ๑๐/ ๖๒๕๔
                ๑๗๔๒. ชินโต  เป็นศาสนาประกอบด้วยเทพนิยาย ไม่มีศาสดาผู้ก่อตั้ง อนุมาน การเกิด ประมาณก่อน พ.ศ.๑๑๗ ปี เป็นรากศรัทธาดั้งเดิมของชนชาติญี่ปุ่น ชินโตแปลว่าวิถีหรือบรรดาของพระเจ้า
                            บ่อเกิดของชินโต มาจากเทพนิยายอันเป็นรากเหง้าแห่งศรัทธาในชินโต ก่อให้เกิดคุณลักษณะของคนญี่ปุ่น แตกสาขาออกไปเป็นประเภทแห่งศรัทธา ส่วนใหญ่ได้แก่การบูชาธรรมชาติ การบูชาบรรพบุรุษ การบูชาวีรชน การบูชาจักรพรรดิ์
                            ความเชื่อถืออันเป็นรากใจดังกล่าว เป็นผลให้ชาวญี่ปุ่นเป็นคนรักแผ่นดิน รักเผ่าพันธุ์ ภักดีต่อจักรพรรดิ์เยี่ยมยอดกว่าชนชาติอื่นใด สุดท้ายได้กลายเป็นจรรยาประจำชาติประการหนึ่ง เรียกว่า "บูชิโด" (วินัยของชายชาติทหาร)
                            ชินโตผสมผสานด้วยศาสนาอื่นที่แพร่หลายเข้าสู่ญี่ปุ่นตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ลัทธิเต๋าและขงจื๊อ ได้เข้าไปสู่ญี่ปุ่นในสมัยต้นของราชวงศ์ฮั่น ศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างปี พ.ศ.๑๓๑๑ - ๑๓๘๕ และศาสนาคริสต์เข้าไป เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๒ เมื่อศาสนาเหล่านี้เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้หลักชินโตดั้งเดิม เปลี่ยนรูปไปข้างศาสนานั้น ๆ ทั้งที่เป็นส่วนธรรมและพิธีกรรม เกิดนิกายชินโตขึ้นมาใหม่ตามแบบที่ผสมผสานกับคำสอนของศาสนานั้น       ๑๐/ ๖๒๕๔
                ๑๗๔๓. ชินบัญชร - คาถา  เข้าใจว่าพระเถระชาวลังกาเป็นผู้แต่ง เมื่อถอดเป็นภาษาบาลี อักษรไทยได้ ๒๒ คาถาเท่ากันกับต้นฉบับเดิมในสมุดข่อย เขียนด้วยภาษาสิงหล
                            กล่าวโดยสรุปแล้ว ชินบัญชรคาถามีอยู่สามฉบับคือ ฉบับสิงหลเรียกว่า ชินบัญชรปริตร ฉบับคัมภีร์สังขยาปกาสกฎีกาเรียกว่า รัตนบัญชรคาถา ฉบับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เรียกว่า ชินบัญชรคาถา ทั้งสามฉบับแต่งเป็นภาษาบาลีล้วน มีเนื้อความตรงกันเหมือนนกันคือ กล่าวถึงพระนามพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ และพระอรหันต์พุทธสาวก และสรรเสริญพระคุณไปในตัวด้วย ต่อจากนั้นก็กล่าวถึงพระปริตร หรือพระสูตรต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีแนวโน้มไปในทางอธิษฐาน ขออานุภาพคุ้มครองป้องกัน          ๑๐/ ๖๒๖๘
                ๑๗๔๔. ชินราช  เป็นพระนามพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของประเทศไทศไทย ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารใหญ่ด้านตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมือง ฯ จ.พิษณุโลก เรียกพระนามเต็ม ๆ ว่า พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริด มีเรือนแก้วรององค์พระ หน้าตักกว้าง ๒.๘๘ เมตรเศษ ( ๕ศอก คืบ ๕ นิ้ว)
                            ในหนังสือพงศาสดารเหนือกล่าวว่า ได้สร้างพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ.๑๕๐๐ แต่ตามข้อสันนืษฐานของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าสร้างเมื่อราวปี พ.ศ.๑๙๐๐        ๑๐/ ๖๒๗๓
                ๑๗๔๕. ชินวรสิริวัฒน์ - พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวง  เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์โดยลำดับ ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑          ๑๐/ ๖๒๗๘
                ๑๗๔๖. ชินศรี  เป็นพระนามพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของจังหวัดพิษณุโลกคู่กับพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรีหล่อด้วยทองสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒.๘๙ เมตรเศษ (๕ ศอก ๙ นิ้ว ) ตำนานการสร้างเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในเรื่องพระพุทธชินราช
                            เดิมพระพุทธชินศรีประดิษฐานอยู่ในวิหารทิศเหนือ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมือง ฯ จ.พิษณุโลก สมเด็จ ฯ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ทรงอัญเชิญลงมาประดืษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๒         ๑๐/ ๖๒๘๑
                ๑๗๔๗. ชิมแปนซี  เป็นลิงที่มีลักษณะคล้ายคนมากกว่าลิงอื่น ๆ ชอบอยู่เป็นฝูง ในฝูงมีจ่าฝูงตัวหนึ่ง ชอบขึ้นต้นไม้มากกว่ากอริลล่า อายุยืนประมาณ ๔๐ ปี ชิมแปนซี มีที่อยู่ตามธรรมชาติในตอนกลางของทวีปแอฟริกาที่เป็นป่าฝน   หน้า ๖๒๘๔
                ๑๗๔๘. ชิวหา  เป็นรากษสแห่งกรุงลงกา เป็นหลานกากนาสูร เป็นสามีนางสำมนักขา มีลูกชายด้วยนางสำมนักขาสองคนคือ กุมภกาศและวรณีสูร และมีลูกหญิงชื่อนางอดูลปีศาจ เมื่อทศกัณฐ์จะประพาสป่าจึงให้ชิวหาเป็นผู้เฝ้าเมือง ชิวหาได้เนรมิตกายสูงใหญ่จนแลบลิ้นปิดกรุงลงกาไว้มิดชิดแล้วหลับไป เมื่อทศกัณฐ์กลับมาเห็นเมืองมืดมิดก็โกรธ จึงขว้างจักรสุรกานต์ออกไปตัดลิ้นชิวหาตายคาที่
                ๑๗๔๙. ชี ๑ - แม่น้ำ  ยอดน้ำเกิดจากเขาตอนชายเขตด้านตะวันออกเฉียงเหนือของ อ.เมือง ฯ จ.ชัยภูมิ แล้วไหลลงมาทางใต้แล้ววกไปทางตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ ไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลระหว่างเขต อ.เมือง ฯ จ.อุบลราชธานี กับ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีษะเกษ มีความยาว ๗๖๕ กม. มีน้ำตลอดปี        ๑๐/ ๖๒๘๘
                ๑๗๕๐. ชี ๒ - ผัก  เป็นพืชล้มลุก มีกลิ่นหอมคล้ายต้น ใบเป็นเส้นฝอย ๆ ดอกเล็กสีขาว ผลหอมเมื่อแก่ ใช้เป็นเครื่องเทศ
                            นอกจากผักชีธรรมดาทั่วไปแล้ว ยังมีผักชีฝรั่ง ผักชีลาว และผักชีล้อม         ๑๐/ ๖๒๘๙
                ๑๗๕๑. ชี ๓ - นักบวช  ความเดิมน่าจะหมายถึงนักบวชทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าในลัทธิศาสนาใดเช่น ชีเปลือย นักบวชในพระพุทธศาสนาก็ใชคำว่าชีบ้างเหมือนกัน เช่นในคำว่า "ชีบานาสงฆ์" ในคำว่า "ชีต้น" หมายถึงพระสงฆ์
                            คำว่าชี ที่มาเรียกนักบวชหญิงในปัจจุบันเข้าใจว่าจะเรียกเมื่อหมดภิกษุณีแล้ว ผู้หญิงก็ต้องถือเอาการสมาทานศีลแปด หรือุโบสถศีลเป็นนิจตลอดชีวิตว่า เป็นการบวชอย่างหนึ่ง ส่วนการนุ่งขาวห่มขาวครั้งพระพุทธกาลอุบาสก อุบาสิกา ก็นุ่งขาวเหมือนกัน
                            การบวชชีไม่มีอุปัชฌายะเช่น พระภิกษุและเณร และไม่มีพิธีอันเป็นหลักทางพระวินัย แต่มีธรรมเนียมที่ถือกันคือ ผู้ปรารถนาจะบวชเป็นชี ต้องนำสักการะเข้าไปหา พระภิกษุที่จะถือเอาเป็นอาจารย์ฝากตัว บอกความประสงค์ให้ทราบก่อน แล้วรับไตรสรณาคมน์ สมาทานศีล กล่าวคำอธิษฐานต่อหน้าพระสงฆ์ว่าจะถือเพศนักบวช          ๑๐/ ๖๒๙๒
                ๑๗๕๒. ชีผะขาว ชีผ้าขาว - แมลง  เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กชนิดหนึ่ง บัดนี้เรียกว่าหนอนกอ แมลงชนิดนี้จะเห็นว่าบินมาตอมดวงไฟเป็นกลุ่มในตอนหัวค่ำ บินวนเวียนกันอยู่ตามข้างฝา แต่ไม่ห่างจากแสงไฟมากนัก แมลงดังกล่าวเรียกชื่อว่า หนอนกอสีขาว มักวางไข่ไว้ที่ต้นหญ้าหรือต้นข้าว พอเป็นตัวหนอนแล้ว ก็เริ่มกัดกินใบหญ้าใบข้าวทีอาศัยอยู่ ไปจนถึงโคนต้น และเจาะกัดลำต้นทะลุเข้าไปถึงใจกลางต้น คอยกินน้ำเลี้ยงต้นหญ้าต้นข้าว เมื่อโตเต็มที่จะกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน         ๑๐/ ๖๒๙๕
                ๑๗๕๓. ชีวก ๑  เป็นชื่อหมอโกมารภัจ เรียกเต็มว่า หมอชีวกโกมารภัจ เป็นแพทย์หลวง ประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธองค์ทรงห้ามสาวกไม่ให้ฆ่าสัตว์ แต่ไม่ห้ามกินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายว่า เนื้อที่บริสุทธิ์สามประการคือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อตน เป็นเนื้อควรกิน ส่วนเนื้อไม่บริสุทธิ์สามประการคือได้เห็น ได้รู้ และรังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อตนเป็นเนื้อที่ไม่ควรกิน เมื่อหมอชีวกได้ฟังแล้วก็เกิดความเลื่อมใสประกาศตนเป็นอุบาสก
    แล้วได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์พุทธสาวก และได้รับเอตทัคคะคือ ยอดเยี่ยมทางเลื่อมใสในพระรัตนตรัยข้างฝ่ายอุบาสก         ๑๐/ ๖๒๙๘
                ๑๗๕๔. ชีวก ๒  เป็นชื่อบุรุษผู้หนึ่งในนครแห่งหนึ่ง แขวงกรุงตักสิลาโบราณ ปรากฏมีอยู่ในนามสิทธิกชาดก อรรถกถา เอกนิบาตว่า ชีวกบุรุษผู้นี้สิ้นชีวิตลง พวกญาติกำลังจะนำศพไปเผาที่ป่าช้า มาณพคนหนึ่งชื่อ ปาปกะ เป็นศิษย์พระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในกรุงตักสิลา ไม่เข้าใจนามบัญญัติ คิดว่าชื่อตนเป็นกาลกิณีไม่เป็นมงคล จึงไปขอร้องอาจารย์ให้เปลี่ยนชื่อที่เป็นมงคลเสียใหม่ อาจารย์จึงสั่งให้ไปเที่ยวหาชื่อที่เป็นมงคลตามใจชอบ มาณพนั้นได้มาถึงนครที่ชีวกสิ้นชีวิตนั้น จึงเข้าไปถาม มาณพมีความสงสัยว่าคนที่ชื่อชีวก (ไม่น่าจะสิ้นชีวิต) ก็สิ้นชีวิตหรือ เพราะคำว่าชีวกแปลว่าผู้เป็นอยู่ พวกญาติของชีวกจึงบอกว่าคนเราแม้ชื่อชีวก หรือไม่ชื่อชีวกก็สิ้นชีวิตทั้งนั้น มาณพนั้นได้ฟังก็วางใจเป็นกลางได้หน่อยหนึ่ง ต่อมาได้เห็นนางทาสีผู้ยากจนชื่อธนปาลี และพบคนหลงทางชื่อปันถก ก็ได้รับคำตอบทำนองเดียวกันว่า ชื่อนั้นเป็นเพียงนามบัญญัติเท่านั้น มาณพนั้นได้ฟังแล้วก็วางใจเป็นกลางได้สนิท จึงพอใจในชื่อของตนตามเดิม
                             ต่อมาในสมัยพุทธกาล มาณพผู้นี้ได้กลับชาติมาเกิดเป็นกุลบุตรและออกบวช คิดว่าชื่อของตนเป็นกาลกิณี ไม่เป็นมงคลอีกขอเปลี่ยนชื่อใหม่บ่อย ๆ เข้า จึงเป็นที่รู้จักกันในหมู่พระสงฆ์ว่า นามสิทธิภิกษุ          ๑๐/ ๖๒๙๘
                ๑๗๕๕. ชีวก ๓  เป็นชื่อภิกษุรูปหนึ่งในสำนักมหาวิหารวาสี ซึ่งเป็นฝ่ายคณะธรรมวาทีชาวลังกาผู้ขอให้พระพุทธโฆษาจารย์แปลคัมภีร์มโนรถบุรณี อรรถกถา อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก จากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี
                             การแปลอรรถกถานั้น เบื้องต้นแปลอรรถกถากุรุนทีที่เป็นภาษาสิงหล แล้วรจนาเป็นอรรถกถาวินัยปิฎกชื่อ สมันตปาสาทิกา เป็นภาษาบาลี จากนั้นแปลมหาอรรถกถาในสุตตันตปิฎก แล้วรจนาอรรถกถาทีฆนิกายชื่อ สุมังคลวิลาสินี และอรรถกถามัชฌิมนิกายชื่อ ปปัญจสุทนี อรรถกถาสังยุตนิกายชื่อ สาวัตถปกาสินี อรรถกถาอังคุตรนิกายชื่อ มโนรถปุรณ จากนั้นจึงแปลอรรถกถาปัจจรีย์ในพระอภิธรรมปิฎก รจนาอรรถกถาพระธรรมสังคนีชื่อ อัฏฐสาลินี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ชื่อ สัมโมหสิโนทนี และอรรถกถาปกรณ์ทั้งห้าชื่อ ปรมัตถทีปนี ใช้เวลาแปลอยู่หนึ่งปี         ๑๐/ ๖๒๙๙
                ๑๗๕๖. ชีวเคมี  เป็นสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาสารต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต และกระบวนการต่าง ๆ ที่สารเหล่านั้นเข้าไป หรือถูกสร้างขึ้น หรือทำปฏิกิริยาเคมีซึ่งกันและกัน ภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตตลอดจนวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษาเหล่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ชีวเคมีเป็นวิชาที่ใช้ความรู้ และหลักการต่าง ๆ ของวิชาเคมีในการศึกษา เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในสิ่งมีชีวิต
                            สารที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตมีอยู่มากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต ซึ่งมีหน้าที่ประดุจเชื้อเพลิงให้พลังงานแก่สิ่งมีชีวิต โปรตีนเป็นสารส่วนใหญ่ ที่ประกอบเป็นเนื้อหนังของสัตว์ และโปรตีนบางอย่างมีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์ ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ ในร่างกายสิ่งมีชีวิตให้เกิดขึ้นได้เร็ว วิตามินส่วนใหญ่เป็นสารที่ช่วยในการทำงานของเอนไซม์ กรดนิวคลีอิกเป็นสารสำคัญในการถ่ายทอดพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปยังลูกหลาน เป็นต้น
                           สารต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกายสิ่งมีชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีอยู่ตลอดเวลา เช่น ปฏิกิริยาต่อเนื่องต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นน้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะคายพลังงานออกมาให้เซลล์ของสิ่งมีชีวิตใช้ในขณะเดียวกัน
                           การศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในร่างกายสิ่งมีชีวิตซึ่งเรียกว่า เมตาบอลิสม์เหล่านี้ นับเป็นแขนงสำคัญแขนงหนึ่งของวิชาชีวเคมี         ๑๐/ ๖๓๐๑
                ๑๗๕๗. ชีววิทยา  เป็นวิชาที่ว่าด้วยสิ่งมีชีวิตทั้งปวงได้แก่ พืชและสัตว์ ในลักษณะรูปพรรณสัณฐานโครงร่าง ตลอดจนถึงการทำหน้าที่ของส่วนนั้น ๆ  ทำให้รู้ถึงธรรมชาติประวัติอันเป็นต้นตอ และพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ
                            ชีววิทยาแยกแขนงออกไปเป็นสัตววิทยาคือ การศึกษาเรื่องสัตว์ และพฤกษศาสตร์คือ การศึกษาเรื่องต้นไม้ แต่ละแขนงยังแยกแขนงออกไปเป็นวิชาเฉพาะได้อีก เช่น บัคเตรีวิทยา ปรสิตวิทยา เป็นต้น
                            นอกจากนี้วิชาชีววิทยายังแยกออกเป็นวิชาต่าง ๆ ได้อีก เช่น วิชาว่าด้วยเซลล์ วิชาว่าด้วยการเจริญเติบโตของตัวอ่อน เป็นต้น        ๑๐/ ๖๓๐๓
                ๑๗๕๘. ชื่อ  เป็นคำที่ตั้งขึ้นสำหรับเรียกคน สัตว์ ที่และสิ่งของ เมื่อกล่าวตามที่ปรากฏในคัมภีร์บาลีมูลเหตุแห่งการตั้งชื่อมีสี่อย่างคือ
                             ๑. อาวัตถิกนาม  ได้แก่ ชื่อที่ตั้งขึ้นตามที่กำหนดหมาย เช่น แม่โคนมที่เลี้ยงไว้สำหรับรีดนมเรียกว่า โคนม  คนเลี้ยงวัวเรียกว่า โคบาล เป็นต้น
                             ๒. ลิงคิกนาม  ได้แก่ ชื่อที่ตั้งขึ้นตามเพศ ลักษณะและเครื่องหมาย เช่น คนถือไม้เท้ามีชื่อเรียกว่าคนแก่  สัตว์ที่มีหงอนมีชื่อเรียกว่านกยูง ไก่ เป็นต้น
                             ๓. เนมิตกนาม  ได้แก่ ชื่อที่เกิดขึ้นตามเหตุ คือลักษณะและคุณสมบัติ เช่น ผู้มีคุณสมบัติได้บรรลุวิชชาสาม มีชื่อเรียกว่า ไตรวิชชา พระพุทธเจ้าผู้มีปฏิปทาดำเนินไปดี มีชื่อเรียกว่า พระสุคต เป็นต้น
                             ๔. อธิจุสมุปันนาม  ได้แก่ ชื่อที่ตั้งตามใจชอบ
                             นอกจากชื่อบุคคล ยังมีชื่อรองและชื่อสกุล ชื่อรอง หมายถึง ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว ชื่อสกุล หมายถึง ชื่อประจำสกุล          ๑๐/ ๖๓๐๗
                ๑๗๕๙. ชุกชี  มีคำนิยามว่า ฐานสำหรับประดิษฐานพระประธาน         ๑๐/ ๖๓๑๓
                ๑๗๖๐. ชุด  เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง ทำด้วยหวาย ถักเป็นตาโต ๆ เป็นรูปถุงห้าเหลี่ยมยาว ๆ  ยาว ๔๖ ซม. ปากกว้าง ๑๓ ซม. ก้นปิด และกว้าง ๘ ซม. ช่องตากว้าง ๖ ซม. ใช้ผูกกับกิ่งไม้หรือกับพง ปักให้ชุดนอนแนบกับพื้นดิน มักใช้ในฤดูปลาเข้าทุ่ง วางไข่ จับได้ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาสวาย มีใช้ทั่วไป          ๑๐/ ๖๓๑๔
                ๑๗๖๑. ชุนชิว  ในสมัยเลียดก๊ก เรียกประวัติศาสตร์เมืองหลู่ว่า "ชุนชิว" ตามรูปศัพท์นั้น ชุน แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ ชิว แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง
                           ขงจื้อ ซึ่งเป็นชาวเมืองหลู่ ได้เริ่มเรียบเรียงชุนชิว (ประวัติศาสตร์) ตั้งแต่สมัยพระเจ้าโจวผิงหวัง จนถึงสมับพระเจ้าโจวจิ้นหวังคือ ราวก่อน พ.ศ.๑๒๖๕ - ๑๐๒๔ รวม ๒๔๑ ปี ซึ่งเรียกช่วงระยะนี้ว่า สมัยชุนชิว หลังจากเรียบเรียงชุนชิวได้สองปี ขงจื้อก็ถึงแก่กรรม
                           ในชุนชิวนั้น มีบันทึกเกี่ยวกับราชกรณียกิจ และราชกิจวัตรของเจ้า ผู้ครองนครต่าง ๆ ในยุคนั้น ซึ่งผู้เขียนได้หลักฐานจากบันทึกของเจ้าพนักงานราชสำนัก แต่ละรัชสมัย นอกจากเป็นที่รวมแห่งประวัติศาสตร์ ในสมัยนั้นแล้ว ขงจื้อยังได้ให้คำวิจารณ์ประกอบด้วย          ๑๐/ ๖๓๑๕
                ๑๗๖๒. ชุบศร - ทะเล  เป็นบริเวณพื้นที่ลุ่มเป็นแอ่งกว้างใหญ่ในเขต อ.เมือง จ.ลพบุรี บริเวณนี้เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมแลดูกว้างใหญ่ เรียกว่า ทะเลชุบศร ได้ถือมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า น้ำในทะเลชุบศรเป็นน้ำบริสุทธิ์สะอาด
                            ในตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า เมื่อพวกขอมได้เมืองละโว้เป็นเมืองขึ้น พ่อเมืองละโว้ต้องตักน้ำในทะเลสาปนี้ ส่งส่วยแก่เจ้านครขอมหลวง ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่นครธมทุกปี เพราะถือกันว่าพระนารายณ์ก่อนจะแผลงศร ได้ชุบศรในทะเลนี้ก่อน ซึ่งตามคติพราหมณ์ถือว่า เป็นน้ำมีสิริมงคลควรแก่การอภิเษกในงานพระราชพิธี พระแสงศัตราวุธของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ได้ทำพิธีชุบที่ทะเลชุบศรนี้ เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ มาแต่โบราณ
                            ในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเห็นทะเลชุบศรตื้นเขิน จึงโปรดให้ช่างชาวฝรั่งเศส แก้ไขโดยกบดินทำเป็นคันกั้นน้ำขึ้นสองด้าน ทำปากจั่นคือ ประตูน้ำ ไขน้ำให้ล้นไหลมาลงสระแก้ แล้วทำท่อดินเป็นทางประปาต่อจากสระแก้ว เอาน้ำมาใช้ในตัวเมืองลพบุรี ริมฝั่งทะเลชุบศร ได้ทรงสร้างตำหนักไว้เป็นที่ประพาสแห่งหนึ่ง เรียกว่า พระตำหนักเย็น หรือตำหนักทะเลชุบศร          ๑๐/ ๖๓๑๖
                ๑๗๖๓. ชุมพร  จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้จด จ.สุราษฎร์ธานี ทิศตะวันตกจด จ.ระนอง และประเทศพม่า
                           จ.ชุมพร ตั้งอยู่ตอนแคบสุดของแหลมมลายู ได้เป็นเมืองมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นเมืองด่านมาแต่โบราณ มีศักดิ์เป็นหัวเมืองชั้นตรี เมืองขึ้นของเมืองชุมพรในครั้งนั้น ทางตะวันออกมีสี่เมืองคือ เมืองปะทิว เมืองท่าแซะ เมืองตะโก และเมืองหลังสวน ทางตะวันตกมีสามเมืองคือ เมืองตระ (กระบุรี) เมืองมลิวัน (ปัจจุบันอยู่ในพม่า) และเมืองระนอง เจ้าเมืองชุมพรปรากฎในทำเนียบนาทหารหัวเมือง พ.ศ.๑๙๑๙ ว่าชื่อ ออกญา เคางะทราธิบดีศรีสุรัตวลุมหนัก เมืองชุมพรเดิมขึ้นกลาโหม แล้วไปขึ้นกรมท่า ต่อมารัชกาลที่ ๑ โปรดให้ขึ้นกลาโหม พร้อมกับหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกรวม ๒๐ หัวเมือง
                           ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ คราวศึกพระเจ้าปดุง พม่ายกกองทัพเข้าตีเมืองไทย แยกเป็นสองกอง กองหนึ่งยกมาตีเมืองระนอง เมืองกระบุรี ได้ แล้วข้ามมาตีเมืองชุมพร เผาเมืองเสีย แล้วตีได้เมืองไชยา และนครศรีธรรมราช ต่อไป
                           ในปี พ.ศ.๒๓๕๒  พม่ายกทัพมาตีเมืองชุมพรได้ ฝ่ายไทยยกทัพไปตีกลับคืนมาได้
                           ในปี พ.ศ.๒๔๓๙  รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ตั้งมณฑลชุมพรขึ้น มีเมืองไชยา และเมืองหลังสวน เข้ามารวมอยู่ด้วย พ.ศ.๒๔๕๘ ให้ย้ายศาลารัฐบาลมณฑลชุมพรไปตั้งที่บ้านตอน แล้วรวมชุมพรเข้าในมณฑลนครศรีธรรมราช
                           ในรัชกาลที่เจ็ด โปรดให้ยุบ จ.หลังสวน ลงเป็นอำเภอ ให้รวมเข้ากับ จ.ชุมพร          ๑๐/ ๖๓๑๘
                ๑๗๖๔. ชุมพลนิกายาราม - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ประเภทราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่แหลมด้านเหนือของเกาะบางปะอิน ด้านใต้ติดต่อกับพระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
                           วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๕ โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้างพร้อมกับพระราชวังบนเกาะบางปะอิน         ๑๐/ ๖๓๒๐
                ๑๗๖๕. ชุมพลบุรี  อำเภอขึ้น จ.สุรินทร์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ ถึงปี พ.ศ.๒๔๑๘ ได้ถูกยุบลงเป็นกิ่งอำเภอ และได้ยกฐานะเป็นอำเภออีก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม        ๑๐/ ๖๓๓๔
                ๑๗๖๖. ชุมพวง  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ขึ้น อ.พิมาย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒          ๑๐/ ๖๓๓๔
                ๑๗๖๗. ชุมแพ  อำเภอขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีภูเขาและป่าดงดิบอยู่มาก         ๑๐/ ๖๓๓๗
                ๑๗๖๘. ชุมแสง  อำเภอขึ้น จ.นครสวรรค์  ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป ตอนใต้มีบึงใหญ่เรียกว่า บึงบรเพ็ด         ๑๐/ ๖๓๓๗
                ๑๗๖๙. ชูชก  เป็นชื่อพราหมณ์จำพวกนิคคาหก ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ที่เรียกมหาชาติว่าอยู่ที่แคว้นกลิงราช เป็นขอทาน ท่านกล่าวว่า ชูกชกมีรูปร่างอัปลักษณ์ ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ ประการ ได้นางอมิตตาปนา เป็นภรรยา นางได้ขอให้ชูกชกไปขอทาสาและทาสี ต่อพระเวสสันดร ที่ไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต ชูกชกก่อนออกเดินทางมีความเกรงภัย ในหนทางจึงถือเพศเป็นนักบวช เมื่อไปถึงประตูป่าพบพรานเจตบุตร จึงทำอุบายบอกว่า ตนเป็นทูตจำทูลพระราชสาสน์ เพื่อเชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับเมือง พรานเจตบุตรหลงเชื่อ จึงส่งชูชกเข้าทางไป เมื่อชูชกไปพบอจุตฤาษี ในระหว่างทางก็ลวงฤาษี ด้วยอุบายอีก
                            เมื่อชูชกพบพระเวสสันดร ตอนรุ่งเช้าโดยรอให้พระนางมัทรี เสด็จออกไปป่าเสียก่อน แล้วทูลขอสองกุมารต่อพระเวสสันดร พระองค์ก็ประทานให้ และขอให้ได้พบพระนางมัทรีแต่ชูชกไม่ยอม พระเวสสันดรตรัสให้พาสองกุมารไปยังสำนักพระเจ้ากรุงสญชัย ชูชกก็ไม่ยอมอีก พระองค์จึงตั้งค่าตัวสองกุมารไว้สูงถึงองค์ละพันตำลึง
                            ชูชกพาสองกุมารเดินทางกลับมาถึงทางสองแพร่ง ทางหนึ่งจะไปยังเมืองกลิงคราช อีกทางหนึ่งจะไปยังกรุงเชตุดร ชูชกเกิดสำคัญผิดนำสองกุมารไปยังกรุงเชตุดร พระเจ้ากรุงสญชัยพบเข้าจึงได้ไถ่สองกุมารจากชูชก ชูชกได้รับการเลี้ยงดูดี บริโภคเกินขนาดถึงแก่กาลกิริยา
                ๑๗๗๐. เช็ค  คือหนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ผู้รับเงิน
                            เช็ค เป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่ง ซึ่งนิยมใช้กันมานานและรู้จักแพร่หลายที่สุด          ๑๐/ ๖๓๔๕

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch