หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/36
    ๑๖๕๓. ชหนุ - ฤาษี   ในเทพนิยายของชาวฮินดู แม่น้ำคงคาได้ชื่อว่า เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลจากนิ้วพระบาท พระวิษณุเทพ เดิมทีแม่น้ำคงคาไหลอยู่ในสรวงสวรรค์เท่านั้น และมีชื่อว่า คงคาแห่งฟากฟ้า ต่อมาฤษีภคีรถต้องการอัญเชิญแม่น้ำคงคา ให้ไหลมาสู่พื้นโลกแล้วหลั่งไหลต่อไปยังบาดาล เพื่อโปรดวิญญาณแห่งบรรพบุรุษ จำนวนหกหมื่นคนที่ถูกฤาษีกบิล แผลงฤทธิ์ลืมเนตรขึ้นไปไฟไหม้ ตายตกไปอยู่ในบาดาลโลกนั้น ให้ไปสู่สุคติภพ
                            ด้วยเหตุนี้ ฤาษีภคีรถจึงบำเพ็ญตบะอย่างหนัก จนในที่สุดพระศิวะทรงเมตตาอนุญาตให้แม่น้ำคงคาไหล ลงสู่มนุษย์โลกได้ แต่ฤาษีอีกรูปหนึ่งชื่อ ชหนุ เห็นกระแสธารของแม่น้ำคงคาไหลท่วมท้น บริเวณโหมาวาส และโหมกูณฑ์ของตน ทำให้ลุแก่โทสะ สำแดงฤทธิ์ดื่มน้ำจากแม่น้ำคงคาไว้ทั้งหมด ร้อนถึงฤาษีภคีรถต้องบำเพ็ญทุกขกิริยา เพื่อเรียกร้องขอความเห็นใจจากฤษีชหนุ ซึ่งฤาษีชหนุ ก็เกิดความเห็นใจปล่อยกระแสธารของพระแม่คงคา ให้ไหลออกจากพระกรรณของท่าน ด้วยเหตุนี้แม่น้ำคงคาจึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ชาหนวี แปลว่า อันเกิดจากชหนุ          ๑๐/ ๖๐๕๗
                ๑๖๕๔. ชอง  เป็นชื่อชนกลุ่มน้อย อยู่ตามเขาเหนือจังหวัดจันทบุรี (เขาสอยดาว)  และในจังหวัดตราด ขยายออกไปจนถึงแดนกัมพูชา นอกจากนั้นก็มีอยู่ในถิ่นอื่น ๆ เช่น ทางตอนใต้ของจีน
                            ชอง มีแต่ภาษาพูด ไม่มีตัวหนังสือ และภาษาของชองใกล้ไปทางเขมร ส่วนการแต่งตั้งประเพณีและความเชื่อถือ ใกล้เข้ามาทางไทยมากแล้ว ชองยังมีเลือดนิกริโต ปนอยู่ประมาณร้อยละ ๒๐ ภาษาชองจัดอยู่ในตระกูลภาษามอญ - เขมร           ๑๐/ ๖๐๕๘
                ๑๖๕๕. ช้องนาง  เป็นไม้พุ่มเตี้ย สูงประมาณ ๑ - ๑.๕๐ เมตร ดอกใหญ่ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เขตร้อน นำมาปลูกในประเทศไทย เป็นไม้ประดับ ใบเดี่ยวอยู่ตรงข้ามกัน รูปรี แกมรูปไข่         ๑๐/ ๖๐๖๐
                ๑๖๕๖. ช้องนางคลี  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ จำพวกที่ใกล้เคียงกับผักกูด พันธุ์ไม้นี้จะเกาะอยู่ตามต้นไม้ ตามป่าดิบทั่ว ๆ ไป ลำต้นเป็นกิ่งยาวห้อยลง ต้นหนึ่งมี ๒ - ๔ กิ่ง กิ่งนี้เกิดจากตาที่โคนกิ่งเก่า รวมกันอยู่เป็นกระจุก แต่ละกิ่งมักจะแยกออกจากกัน เป็นสองแขนง และแต่ละแขนง บางทีก็แยกออกจากกันเป็นสองแขนงอีกครั้งหนึ่ง ใบเล็กแคบ อยู่ชิดติดกันเรียงเวียนไปตามความยาวของกิ่งหรือเรียงสลับอยู่สองข้างกิ่ง          ๑๐/ ๖๐๖๒
                ๑๖๕๗. ช้องแมว  เป็นไม้พุ่มหรือพุ่มกึ่งเลื้อย ตามกิ่งก้านมักมีหนามตรง ๆ ปลายแหลม ตามง่ามใบ ดอกใหญ่สีเหลือง ออกเป็นช่อห้อยตามปลายกิ่ง บางชนิดนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ใบรูปรีแกมรูปไข่ ผลกลม ๆ สีเขียว          ๑๐/ ๖๐๖๕
                ๑๖๕๘. ช่อน - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก เพราะเป็นอาหารของชนทุกชั้น รูปของปลาช่อนค่อนข้างกลม ท่อนหัวเหมือนหัวงู จึงเรียกกันว่า ปลาหัวงู
                            ช่อนงูเห่า - ปลา  บางทีเรียกว่า งูเห่าปลาช่อน เป็นปลาที่เคยได้ยินกัน ส่วนมากในหมู่คนไทย เป็นปลาที่ค่อนข้างหายากในเมืองไทย เชื่อกันว่า หากกัดใครแล้วเป็นพิษ
                            ช่อนทะเล - ปลา  พบในทะเลค่อนข้างเปิด อยู่ในเขตร้อนของแอตแลนติก และไม่เคยพบในแปซิฟิกตะวันออก ในประเทศไทยจับได้ที่บางปลาสร้อย ศรีราชา และสมุทรปราการ
                            ช่อนน้ำเค็ม - ปลา  ปลานี้กระจายพันธุ์อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศไทยมีปลานี้ทั้งในน้ำจืด และน้ำเค็ม แต่มีอยู่น้อยมาก ชาวประมงเรียกปลานี้หลายชื่อด้วยกัน เช่น ปลามะเขือ บ้าง และปลาบู่หัวมัน เป็นต้น           ๑๐/ ๖๐๖๗
                ๑๖๕๙. ช้อน  เป็นเครื่องมือสำหรับตักปลาชนิดหนึ่ง มีขนาดใหญ่กว่าสวิง กักเป็นร่างแห ขอบเป็นรูปวงกลม หรือสามเหลี่ยม มีด้ามจับ
                            ช้อนมีรูปร่างต่าง ๆ กัน แบ่งออกได้เป็น ช้อนขาคีบ ช้อนคอก ช้อนคัด ช้อนปลาสร้อย ช้อนพาย ช้อนลอย  ช้อนลาก ชั้นสนัม  หรือช้อนหางเหยี่ยว          ๑๐/ ๖๐๗๐
                ๑๖๖๐. ช้อนนาง  เป็นไม้เถาไม่ทิ้งใบขนาดกลาง พบขึ้นพันเรือนยอดไม้ตามชายป่า บางท้องถิ่นเรียก รางจืด ยาเขียว ขอบชะนาง เครือเถาเขียว กำลังช้างเผือก ฯลฯ
                           ช่อดอก ออกตามง่ามใบ หรือปลายกิ่ง มีลักษณะเป็นช่อยาวย้อยลงมา ดอกมีตลอดปี
                           ต้นช้อนนาง  ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ บางท้องถิ่นใช้ใบดำพอกฝี  ใบสีเขียวแก่ ออกตรงข้ามกัน รูปใบยาวรีถึงรูปหอก ผลทรงกลม ยอดเป็นปลายแหลม ดูคล้ายหัวนก           ๑๐/ ๖๐๗๓
                ๑๖๖๑. ช้อนหอย - นก  เป็นนกชนิดคอ่นข้างใหญ่ มีปากโค้งและยาวมากในประเทศไทยมีสามชนิด
                           ๑. นกช้อนหอย (กุลา) ขาว  ชอบเดินลุยน้ำ เอาปากยาวเที่ยวงม หาสัตว์น้ำกิน ชอบทำรังอยู่บนต้นไม้ ต้นเดียวกันหลาย ๆ คู่ การทำรังแบบรังของกา
                           ๒. นกช้อนหอยดำ  มีขนาดเล็กกว่านกช้อนหอยขาวเล็กน้อย ชอบหากินทั้งในน้ำและบนพื้นดิน ที่ชาวนาไถแล้ว
                           ๓. นกช้อนหอยใหญ่  มีขนาดใหญ่กว่าสองชนิดแรก ชอบหากินตามใกล้ ๆ หนองในกลางป่า
                           นอกจากที่พบในประเทศไทยแล้ว ยังมีนกช้อนหอยที่น่าสนใจคือ นกช้อนหอยอเมริกาสีขาว นกช้อนหอยสีเหลือบเขียว และนกช้อนหอยแอฟริกา          ๑๐/ ๖๐๗๔
                ๑๖๖๒. ช่อฟ้า  เป็นชื่อตัวไม้ที่ติดอยู่บริเวณหน้าจั่ว รูปเหมือนหัวนาคชูขึ้นเบื้องบน ช่อฟ้าจะเห็นได้ตามหลังคาปราสาทราชฐาน โบส์ถ วิหาร ศาลาการเปรียญ ถือกันว่าเป็นของสูง
                           ความเห็นเกี่ยวกับที่มาของคำว่า ช่อฟ้า มีอยู่หลายประการด้วยกัน แต่ในปัจจุบันตัวไม้ หรือสิ่งอื่นใดที่มีรูปร่างคล้ายหัวนาค หรือหัวนกติดคันทวย และอยู่เหนืออกไก่ ใบระกา ตามหลังคาของปราสาทราชฐาน โบส์ถ วิหาร ศาลาการเปรียญ หรือศาลา แล้ว เราก็เรียกว่า ช่อฟ้า ทั้งสิ้น          ๑๐/  ๖๐๗๖
                ๑๖๖๓. ช้อยนางรำ - ต้น  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ เมตร พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ใบออกเป็นช่อ ๆ ช่อละสามใบ เรียงสลับกัน ดอกเล็ก สีขาวแกมม่วงอ่อน ออกเป็นช่อแน่นตามปลายกิ่ง ผลเป็นฝักแบน ๆ
                           ใบของพันธุ์ไม้ชนิดนี้ เวลาเอามือไปอยู่ใกล้ ๆ และหันกลับไปมา ใบจะเคลื่อนไหวตามไปด้วย บางทีก็เรียกว่า ช้อยช่างรำ          ๑๐/ ๖๐๘๐
                ๑๖๖๔. ชอล์ก  เป็นแร่ชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยคัลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีซิลิกาปนอยู่บ้างเล็กน้อย เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบอยู่ทั่วไป มีสีขาวและสีเทา ชอล์กที่บริสุทธิ์จะมีสีขาว มีส่วนประกอบของคัลเซียมคาร์บอเนต อยู่ประมาณร้อยละ ๙๘ - ๙๙
                           ชอล์ก  ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งในด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม          ๑๐/ ๖๐๘๐
                ๑๖๖๕. ชะคราม  เป็นพันธุ์ไม้ต้นเล็กเป็นพุ่ม กิ่งก้าน และใบอวบน้ำ ชอบขึ้นอยู่ตามชายทะเลที่เป็นหาดทรายปนเลน ต้นชะครามดูดเกลือไว้ในต้นได้มาก ใช้เป็นผักบริโภคได้           ๑๐/๖๐๘๒
                ๑๖๖๖. ชะโด - ปลา  เป็นพวกปลาหัวงูเหมือนอย่างปลาช่อน แต่ตัวโตกว่า ชอบอยู่ตามแหล่งที่เป็นแม่น้ำและคลองที่กว้าง เป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ มีขนาดยาวประมาณ ๑ เมตร หนัก ๒๐ กก. ชอบกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร        ๑๐/ ๖๐๘๒
                ๑๖๖๗. ชะตา  หมายถึง เวลาที่เป็นกำเนิดของคนและของสิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับเวลาเช่นนั้น รูปวงกลม แบ่งเป็นสิบสองราศี ที่โหรผูกขึ้นเรียกว่า ดวงชะตา    ๑๐/ ๖๐๘๓
                ๑๖๖๘. ชะนี  เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในห้าชนิดที่มีลักษณะคล้ายคน ซึ่งจัดระดับตามที่ คล้ายคนมากที่สุดลงไปตามลำดับคือกอริลลา ชิมแปนซี อูรังอูตัง ชะนีเซียมังและชะนี
                          ชะนีมีลักษณะผิดกับลิงค่างชั้นต่ำทั่วไปคือมีสมองใหญ่ ไม่มีหาง ไม่มีถุงอาหารที่แก้ม แขนยาวกว่าขามาก เวลาเดินชอบเดินสองเท้า แขนทั้งสองงอที่ศอกเพื่อการทรงตัว ชอบอยู่เป็นฝูงระหว่างพ่อ แม่ และลูก ๆ ราว ๒ - ๕ ตัว
                           ชะนีมีอยู่เฉพาะในทวีปเอเซียทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ลงไปจนถึงอินโดนีเซีย แบ่งออกเป็นหกชนิดคือ ชะนีอินเดีย ชะนีลาว ชะนีมือขาว ชะนีมลายู ชะนีแคระ และชะนีเทา ในประเทศไทยมีอยู่ชนิดเดียวคือ ชะนีมือขาว ซึ่งแยกออกไปเป็นสามชนิดคือ ชะนีธรรมดา ชะนีปักษ์ใต้ และชะนีมงกุฎ       ๑๐/ ๖๐๘๘
                ๑๖๖๙. ชะพลู  เป็นพันธุ์พืชเล็ก ๆ ต้นมักเลื้อยไปตามดิน โดยชูยอดอ่อน ๆ ขึ้นมาสูงพอประมาณ ทั่วทั้งต้นมีรสเผ็ด ใบกว้างรูปหัวใจคล้ายกับใบพลู นิยมใช้บริโภคเป็นผัก โดยเฉพาะอาหารที่เรียกว่า เมี่ยงคำ           ๑๐/ ๖๐๙๓
                ๑๖๗๐. ชะมด  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่ง มีหางเป็นปล้องดำขาว ซึ่งผิดกับอีเห็นที่หางยาวไม่มีปล้องดำขาว ที่ข้างก้นมีต่อมเป็นถุง ซึ่งระบายน้ำกลิ่นออกมาอยู่เสมอ น้ำกลิ่นชนิดนี้เรียกว่าชะมดเช็ด ชาวบ้านเอาชะมดเช็ดนี้ไปใช้เข้ายาแผนโบราณ หรือใช้ผสมกับยาสูบเป็นของที่มีราคามาก          ๑๐/ ๖๐๙๓
                ๑๖๗๑. ชะล่า - เรือ  เป็นเรือสำหรับใช้บรรทุกสิ่งของและเครื่องใช้ ทำด้วยไม้ซุงทั้งต้น เอามาขุดเป็นรูปเรือ ซุงที่ใช้ตามปรกติใช้ไม้ตะเคียน
                           เรือชะล่าใช้บรรทุกของหนัก ๆ  ซึ่งต้องเป็นเรือที่แข็งแรง แต่ไม่ปราดเปรียว เหมือนเรือเร็วชนิดอื่น ๆ          ๑๐/ ๖๐๙๗
                ๑๖๗๒. ชะลิน  ทูน้ำจืด นวลจันทร์ทะเล - ปลา มีรูปร่างป้อม แบนข้าง และหัวต่ำ เกล็ดกลมเล็ก และมีแถบสีเงิน ลำตัวมีสีเงินและแถบเขียวอ่อน
                            ปลาชนิดนี้มีมากในทะเล และตามปากแม่น้ำ เป็นปลาที่มีค่าทางอาหารมาก และเหมาะที่จะเลี้ยงไว้ในบ่อ ซึ่งจะหาตัวอ่อนได้จากริมทะเล          ๑๐/ ๖๐๙๗
                ๑๖๗๓. ชะลูด  เป็นไม้เถา เนื้อไม้แข็ง ทอดยอดเลื้อยง่าย บางชนิดก็เป็นพุ่มเล็ก ๆ อยู่ได้ นิยมใช้เนื้อไม้และดอกอบเสื้อผ้า กลิ่นหอมติดเนื้อผ้าทนนาน ใบมีขนาดต่าง ๆ ตามแต่ชนิด ดอกออกช่อกระจุกสีขาวหรือขาวอมชมพู มีกลิ่นหอมมากน้อยตามแต่ชนิด       ๑๐/ ๖๐๙๘
                ๑๖๗๔. ชะอม  เป็นไม้เถาขนาดกลางถึงใหญ่ มีขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ มีดอกสีขาวเล็ก ๆ อยู่รวมกันเป็นกระจุกทำให้ดูเป็นหัวกลม ๆ ฝักแบนเป็นสีน้ำตาล ยอดและใบอ่อนมีกลิ่นแรง แต่มีผู้นิยมบริโภคกันมาก ใบเป็นใบแบบใบผสม ออกสลับกัน         ๑๐/ ๖๐๙๘
                ๑๖๗๕. ชะอวด  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ร่อนพิบูลย์ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ภูมิประเทศด้านตะวันตกเป็นป่าสูงลึก         ๑๐/ ๖๑๐๐
                ๑๖๗๖. ชะอำ  อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี อาณาเขตทางทิศตะวันออกตกอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นป่า และเขาทางแถบชายทะเลมีบ้านพักตากอากาศหลายแห่ง         ๑๐/ ๖๑๐๐
                ๑๖๗๗. ชะเอม  เป็นไม้เถาขนาดเล็ก ชอบขึ้นพันตามต้นไม้ต่าง ๆ ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง ผลเป็นฝักกลม ๆ สองฝักโดยติดกัน ใบเป็นแบบใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันรูปไข่
                           ชะเอมหรือชะเอมเทศที่ ใช้ในการปรุงยาสูบและขนมนั้น เป็นส่วนที่ได้จากราก        ๑๐/ ๖๑๐๒
                ๑๖๗๘. ชะโอน - ปลา  เป็นปลาเนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง มีชื่อต่าง ๆ กัน แต่ชื่อสามัญทั่วไปได้แก่ ปลาเนื้ออ่อน        ๑๐/ ๖๑๐๓
                ๑๖๗๙.ชักเย่อ (ชักกะเย่อ)  เป็นชื่อการเล่นอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างรั้งเชือกกัน โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองข้าง จำนวนเท่ากัน ใช้เชือกขนาดพอดี กำรอบและยาวพอที่จะให้ผู้เล่นทั้งสองข้างเรียงแถวจับได้ โดยมีที่ว่างระหว่างกลางประมาณ ๑ เมตร ตรงกลางเชือกทำเครื่องหมายไว้ วางเชือกลงกับพื้นตรงกลาง เชือกที่ทำเครื่องหมายไว้ ขีดเส้นบนพื้นให้เป็นเส้นกลาง ห่างจากเส้นกลางออกไปสองข้างประมาณข้างละ ๑ เมตร ขีดเส้นไว้บนพื้น ให้ขนานกับเส้นกลาง คือเป็นเส้นแดนของแต่ละข้าง
                           เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้เล่นทั้งสองข้างต่างพยายามดึงเชือกให้กึ่งกลางของเชือก เข้ามาผ่านเส้นแดนของตน ผู้เล่นข้างใดสามารถดึงให้กึ่งกลางของเชือก ผ่านเข้ามาในเส้นแดนของตนได้ถือว่าชนะในครั้งนั้น ให้แข่งขันกันสามครั้ง ถ้าข้างใดชนะสองครั้งถือว่าชนะในการแข่งขัน          ๑๐/ ๖๑๐๕
                ๑๖๘๐. ชั่ง  เป็นคำใช้เรียกชื่อมาตราชั่งอย่างหนึ่ง กับใช้เรียกมาตราเงินอีกอย่างหนึ่ง มาตราชั่งกับมาตราเงินตั้งแต่โบราณมาแทบทุกชาติ ใช้ปนกันหรือใช้มาตราเดียวกัน
                           มาตราเงินไทยสมัยโบราณมีหลายมาตรา มาตราตั้งแต่ไพลงมาถึงชั่งเป็นหลักของมาตราเงิน ใช้กันตลอดสมัยอยุธยาจนสมัยรัตนโกสินทร์ ถึงสมัยรัชกาลที่สี่ มีการเปลี่ยนแปลงมาตราเงิน โดยเพิ่มเงินปลีกย่อยเข้าไปอีกมีชื่อว่าโสฬส และอัฐ ดังนี้
                            ๒ โสฬส = ๑ อัฐ, ๒ อัฐ = ๑ ไพ,  ๔ ไพ = ๑ เฟื้อง, ๒ เฟื้อง = ๑ สลึง
                            ๔ สลึง = ๑ บาท,  ๔ บาท = ๑ ตำลึง , ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง
                            ซึ่งเป็นชื่อมาตราเงินที่กำหหนดขึ้นเป็นขั้นสูงสุดมาแต่โบราณ จนถึงปัจจะบัน
                           มาตราชั่ง ใช้สำหรับชั่งน้ำหนักสิ่งของและมีชื่อเรียกไปตามพิกัดมากน้อยไปตามลำดับ มาตราชั่งของไทยแต่โบราณมามีหลายมาตรา ยกตัวอย่างมากตราหนึ่งคือ
                            ๓ เมล็ดผักกาด = ๑ เมล็ดงา,      ๒ เมล็ดงา = ๑ เมล็ดข้าวเปลือก
                            ๔ เมล็ดข้าวเปลือก = ๑ กล่อม,    ๒ กล่อม = ๑ กล่ำ,     ๒ กล่ำ = ๑ ไพ
                            ๔ ไพ = ๑ เฟื้อง,    ๒ เฟื้อง = ๑ สลึง,    ๔ สลึง = ๑ บาท,    ๔ บาท = ๑ ตำลึง    ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง
                            ๒๐ ชั่ง = ๑ ดุล,    ๒๐ ดุล = ๑ ภารา
                            มาตราชั่งของเก่าเปลี่ยนแปลงมาหลายแบบ แบบท้ายสุดคือ
                            ๒ เมล็ดข้าว = ๑ กล่อม,    ๒ กล่อม = ๑ กล่ำ,    ๒ กล่ำ = ๑ ไพ,       ๔ ไพ = ๑ เฟื้อง,    ๒ เพื้อง = ๑ สลึง
                            ๔ สลึง = ๑ บาท,           ๔ บาท = ๑ ตำลึง,    ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง,    ๕๐ ชั่ง = ๑ หาบ          ๑๐/ ๖๑๐๘
                ๑๖๘๑. ชัน  เป็นชื่อทั่วไปของไม้ขนาดใหญ่ไม่ทิ้งใบชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกว่ายางมอก เต็งตานีชันตก  ไม้ชันพบขึ้นทั่วไปในป่าดิบชื้นในประเทศไทย ต้นสูงประมาณ ๓๐ - ๔๐ เมตร เปลือกเรียบ ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ เนื้อไม้เหลืองอมชมพู ไม่ทนทาน          ๑๐/ ๖๑๑๒
                ๑๖๘๒. ชันอากาศ - หญ้า  มีพันธุ์แพร่กระจายทั่วไปในเขตร้อน เฉพาะในประเทศไทย มีขึ้นทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามที่ชื้นภาคกลาง          ๑๐/ ๖๑๑๒
                ๑๖๘๓. ชั้นฉาย  เป็นการสังเกตเวลาด้วยการวัดอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่าเหยียบชั้น คือเอาเท้าวัดเงาของหัวคนที่ยืนอยู่กลางแดด ครั้งโบราณกำหนดเวลาด้วยวัดเงานั้น เป็นช่วงเท้าเป็นหนึ่งชั้นฉาย เท่ากับเงายาวชั่วรอยเท้า มีพิกัดอัตราดังนี้          ๑๐/ ๖๑๑๒
                            ๑๐ อักษร เป็น ๑ เมล็ดงา,    ๔ เมล็ดงา เป็น ๑ ข้าวเปลือก,    ๔ เมล็ดข้าวเปลือก เป็น ๑ องคุลี,    ๑๕ องคุลี เป็น ๑ ชั้นฉาย
                ๑๖๘๔. ชันนะตุ  เป็นชื่อโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เป็นที่ศีรษะ เกิดจากเชื้อรา มักจะทำให้ผมร่วง          ๑๐/ ๖๑๑๕
                ๑๖๘๕. ชันโรง - แมลง  เป็นแมลงพวกผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กในสำหรับต่อย มักชอบทำรังตามบ้านเรือนโรง และต้นไม้ รังของชันโรงนี้จะกลายเป็นชัน          ๑๐/ ๖๑๑๗
                ๑๖๘๖. ชัยเชษฐาหรือไชยเชษฐา - พระ  เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต เป็นพระโอรสพระเจ้าโพธิสาร ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๗ มีพระมารดาเป็นพระธิดาพระเมืองเกษเกล้าซึ่งเคยครองเมืองเชียงใหม่มาก่อน พระชัยเชษฐาได้ไปครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๘๙  ต่อมาได้กลับไปกรุงศรีสัตนาคนหุตเพื่อชิงราชสมบัติกับพระอนุชา แล้วอยู่ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต ไม่ยอมกลับไปเชียงใหม่ ทางเชียงใหม่จึงเชิญเจ้าเมกุติแห่งเมืองนาย มาครองเมืองเชียงใหม่  ต่อมาเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีเมืองนายได้ เจ้าเมกุติก็ยอมตนเป็นเจ้าประเทศราช เมืองเชียงใหม่ก็ขึ้นต่อกรุงหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๙
                           หลังสงครามช้างเผือกไม่นาน เจ้าเมกุติได้คบคิดกับพระยาลำปาง น่าน แพร่และเชียงใหม่ แข็งเมืองต่อกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง จึงยกทัพไปตีเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๗  ฝ่ายพวกเมืองเชียงใหม่เห็นเหลือกำลังก็ยอมอ่อนน้อม กองทัพกรุงหงสาวดีจับได้พระยาเชียงแสนคนเดียว อีกสามคนหนีไปพึ่งพระชัยเชษฐา  พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงให้พระมหาอุปราชายกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้แล้ว จับพระมเหสี และพระญาติวงศ์ไปไว้ที่กรุงหงสาวดี พระชัยเชษฐากลับเข้าเมืองได้ จึงแต่งพระราชสาสน์มาขอพระเทพกษัตรีราชธิดาองค์เล็กของพระมหาจักรพรรดิไปเป็นพระมเหสี แต่ทัพพม่ายกมาชิงพระเทพกษัตรีไปได้ ด้วยความร่วมมือของพระมหาธรรมราชา
                          ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระชัยเชษฐายกกองทัพมาช่วยฝ่ายไทยตามที่ขอไป แต่ถูกฝ่ายกรุงหงสาวดี โดยพระมหาอุปราชา ไปซุ่มดักอยู่ที่เมืองสระบุรี ตีทัพพระชัยเชษฐาแตกกลับไป
                          พระชัยเชษฐาสิ้นพระชนม์ เพราะถูกพระยานครทรยศ ล่อให้ยกกองทัพไปตีเมืององการ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเมืองอัตปือขณะนี้ และหายสาบสูญไป เมื่อพระชนมายุ ๓๘ พรรษา และได้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตเป็นเวลา ๑๔ ปี          ๑๐/ ๖๑๑๗
                ๑๖๘๗. ชัยนาท  จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.อุทัยธานี และ จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันออกจด จ.นครสวรรค์ และ จ.สิงห์บุรี ทิศใต้จด จ.สุรินทร์ และ จ.สุพรรณบุรี ทิศตะวันตกจด จ.อุทัยธานี
                           จ.ชัยนาท เป็นเมืองโบราณ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ตรงแยกฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำเมืองสวรรค์ มีพระมหาเจดีย์และวัดเก่า ๆ หลายวัด เมืองนี้ตั้งขึ้นภายหลังเมืองพันธุมวดี (สุพรรณบุรี)  เป็นเมืองด่านของแว่นแคว้นสุโขทัย น่าจะได้สร้างขึ้นในรัชกาลพญาเลอไท ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๖๐ - ๑๘๙๐ ส่วนเมืองชัยนาทบุรี เพิ่งมาปรากฎในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๐ ที่ทางกรุงศรีอยุธยาได้ยกกองทัพไปยึดเมืองชัยนาท แล้วให้ขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑)  อยู่รักษาเมืองชัยนาท ทางกรุงสุโขทัยแต่งทูตมาเจรจาขอเมืองชัยนาทคืน ต่อมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระนครอินทราชาธิราช ปรากฎว่าเจ้าสามพระยาลูกยาเธอได้ไปครองเมืองชัยนาท ถึงปี พ.ศ.๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราชยกกองทัพมาตีเมืองกำแพงเพชรได้ แล้วส่งกำลังมากวาดต้อนครอบครัวถึงเมืองชัยนาท เข้าใจว่าเมืองชัยนาท เมืองแพรก ก็คงจะถูกทิ้งร้างในครั้งนั้น เวลาล่วงมาได้ร้อยปีเศษ สมเด็จพระเจ้ามหาจักรพรรดิ์ ทรงตั้งเมืองชัยนาทบุรีขึ้นใหม่ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับที่ตั้งเมืองเดิม
                           เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ พระเจ้าเชียงใหม่ (มังนรทาช่อ)  ยกกองทัพมาตั้งที่เมืองชัยนาท ครั้นทัพหน้าถูกพระราชมนูตีถอยกลับไปแล้ว พระเจ้าเชียงใหม่ก็เลิกทัพไปตั้งที่ จ.กำแพงเพชร        ๑๐/ ๖๑๒๒
                ๑๖๘๘. ชัยนารายณ์  เป็นพระนามของกษัตริย์และเป็นชื่อเมืองที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
                            พระองค์ชัยนารายณ์นั้นเป็นโอรสของพระมังรายนราช กษัตริย์ราชวงศ์สิงหล ผู้ครองเชียงโยนก ลำดับที่สี่ สันนิษฐานว่า ประสูติเมื่อประมาณปี พ.ศ.๖๖๐ พระองค์ทรงเสกสมรสกับพระขนิษฐภคินี ทรงไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๗๑๑ แล้วเรียกชื่อว่า เวียงชัยนารายณ์ ปัจจุบันได้แก่ เชียงราย          ๑๐/ ๖๑๒๕
                ๑๖๘๙. ชัยบาดาล  อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี เดิมเป็นเมืองขึ้นเมืองวิเชียรบุรี แล้วยุบเป็น อ.ชัยบาดาล ขึ้น จ.เพชรบูรณ์ ต่อมาขึ้นกับ จ.สระบุรี แล้วโอนไปขึ้น จ.ลพบุรี  ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน เป็นป่าดง มีเขาเตี้ย ๆ ตอนกลางและตอนใต้เป็นป่ามีที่ราบลุ่มทำนา ทำไร่        ๑๐/ ๖๑๒๙
                ๑๖๙๐. ชัยปริตร  เป็นบทสวดมนต์บทหนึ่งในสิบสองบทที่เรียกว่า สิบสองตำนาน เป็นมนต์สำหรับสวดเพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตราย เกิดขึ้นครั้งแรกในลังกาทวีป เมื่อพุทธกาลล่วงแล้วราว ๕๐๐ ปี เนื่องจากพวกทมิฬได้เป็นใหญ่ในลังกาทวีป พวกทมิฬถือไสยศาสตร์ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีการสาธยายพระเวท เพื่อเป็นสิริมงคล และเพื่อป้องกันภยันตราย ชาวลังกาที่เป็นพุทธศาสนิกชนจึงขอให้พระสงฆ์ ช่วยหาทางในพระพุทธศาสนาสงเคราะห์ เพื่อให้เกิดสิริมงคล และป้องกันภยันตรายให้แก่ตนบ้าง พระสงฆ์จึงคิดวิธีสวดพระปริตรขึ้น ให้สมความปรารถนาของประชาชน โดยเลือกพระสูตรที่มีตำนานเกี่ยวกับสิริมงคล และป้องกันภยันตรายไปตรวจ และแต่งคำกล่าวนำที่เรียกว่า บทขัดตำนาน แสดงตำนานและอานุภาพของพระสูตรนั้นอย่างย่อ ๆ พระสูตรที่ใช้สวดดังกล่าวเรียกว่า ปริตฺต ในชั้นแรกก็มีแต่น้อยสูตร ต่อมาได้เพิ่มจำนวนโดยลำดับ มีคำกล่าวในลังกาทวีปว่า เมื่อปี พ.ศ.๙๐๐ พระเถระทั้งหลายมี พระเรวัตเถระ เป็นประธาน ช่วยกันสำรวจรวบรวมพระปริตรต่าง ๆ เรียบเรียงเข้าไว้เป็นคัมภีร์ เรียกว่า ภาณวาร
                           ต่อมาได้มีการปรุงพระปริตรขึ้น สำหรับสวดงานหลวงขึ้นเป็นราชปริตร ซึ่งคงจะเป็นเจ็ดตำนาน ภายหลังได้มีการปรับปรุงเป็นสิบสองตำนาน เรียกว่า มหาราชปริตร และเรียกแบบเดิมว่า จุลราชปริตร
                          ชัยปริตร เป็นบทที่ ๑๒ ในมหาราชปริตร แยกได้เป็นสามตอน ตอนต้นว่า "มหาการุณิโก นาโถ ฯ เป ฯ อคฺคปฺปตฺโต ปโมทติ" ตอนที่สองว่า "สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ ฯ เป ฯ ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณ" ตอนที่สามว่า "โส อตฺถลทฺโย สุขิโต ฯ เป ฯ เต อตฺถลทฺธา สุขิตา ฯ เป ฯ สห สพฺ เพหิ ญฺาติภิ"          ๑๐/ ๖๑๓๑
                ๑๖๙๑. ชัยพฤกษ์  เป็นพันธุ์ไม้ทิ้งใบขนาดกลาง สูง ๓ - ๑๐ เมตร นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทางภาคเหนือเรียก ลมแล้ง คูน ภาคกลางเรียก ราชพฤกษ์ ดอกใหญ่กลีบเหลือง ช่อดอกยาวห้อยลง ออกเป็นคู่หรือมากชื่อ ตามง่ามใบ ผลเป็นฝักกลมยาว เนื้อไม้สีแดงเข้ม แข็งแต่ไม่ทนทาน ทั้งเนื้อไม้และเปลือกชาวบ้านใช้กินกับหมาก หรือทำเป็นน้ำฝาดใช้ในการฟอกหนัง ใบและผลใช้เป็นยาสมุนไพร  ใบเป็นแลลใบผสม ออกสลับกันเป็นช่อ ใบย่อยรูปไข่       ๑๐/ ๖๑๓๕
                ๑๖๙๒. ชัยภูมิ  จังหวัดภาคอีสาน มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกจด จ.ขอนแก่น ทิศใต้จด จ.นครราชสีมา ทิศตะวันตกจด จ.เพชรบูรณ์ ภูมิประเทศทางเหนือและทางตะวันตก เป็นที่สูงมีภูเขาและป่าดงมาก ตอนใต้ ตอนกลางและตอนตะวันออกเป็นที่ราบ
                           จ.ชัยภูมิ เดิมขึ้น จ.นครราชสีมา ในสมัยรัชกาลที่สอง ปรากฎว่าเป็นเมืองร้าง มีชาวเวียงจันทน์คนหนึ่งขื่อ แล มาตั้งทำมาหากินอยู่ที่ ต.ชีลอง อ.เมืองชัยภูมิ และส่งส่วยไปยังเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์จึงตั้งให้เป็น ขุนภักดีชุมพล เมื่อมีผู้คนมากขึ้น จึงย้ายไปตั้งที่หนองปลาเฒ่า เรียกว่า บ้านหลวง ต่อมาขุนภักดีชุมพล พบบ่อทองคำ ได้นำไปถวายเจ้าอนุเวียงจันทน์ จึงได้รับโปรดให้เลื่อนเป็น พระยาภักดีชุมพล ยกบ้านหลวงขึ้นเป็นเมืองชัยภูมิ ต่อมาย้ายไปตั้งที่บ้านหิน ใน ต.เมือง อยู่จนถึงปัจจุบัน         ๑๐/ ๖๑๓๗
                ๑๖๙๓. ชัยราชา หรือชัยราชาธิราช  เป็นพระนามพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๗๗ - ๒๐๘๙ พระองค์โปรด ฯ ให้ขุดคลองลัดในแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนด้านท่าราชวรดิตถ์ ทรงตรากฎหมายลักษณะพิสูจน์
                           การสงครามครั้งแรกกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑ พระเจ้าตะเบงชเวตี้ ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงตราน พระองค์ยกกองทัพไปตีกลับคืนมาได้ ในรัชกาลของพระองค์ มีชาวโปร์ตุเกส ประมาณ ๓๐๐ คน เข้ามาตั้งบ้านเรือนค้าขาย อยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้เกณฑ์ชาวโปร์ตุเกส ๑๒๐ คน เข้าประจำการในกองทัพไทย ที่รบพม่าเพราะพวกนี้ชำนาญใช้ปืนไฟ เมื่อเสร็จศึกพม่าพระองค์ทรงปูนบำเหน็จพระราชทานที่ดิน ที่ตำบลบ้านดิน ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือคลองตะเคียนให้ชาวโปร์ตุเกสตั้งบ้านเรือน อนุญาตให้สร้างวัดสอนศาสนาคริสตัง หรือโรมันคาทอลิก จึงมีบาทหลวงสอนศาสนาคริสตัง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
                           สมเด็จพระชัยราชาทรงได้เมืองเชียงใหม่กลับมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของไทยตามเดิม พระมหาเทวีจิระประภาผู้ครองเมืองเชียงใหม่ เกรงอานุภาพพระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่า สมเด็จพระชัยราชาธิราชทรงยกกองทัพหลวงไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๘ ทรงตีได้นครลำปาง นครลำพูน แล้วเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ พระมหาเทวีจิระประภาเห็นว่าสู้ไม่ได้ ก็ยอมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาดังเดิม สมเด็จพระชัยราชาธิราชเสด็จกลับถึงกรุงศรีอยุธยาไม่นานก็สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๙          ๑๐/ ๖๑๓๙

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch