หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/35
    ๑๖๒๔. ชนวน - หิน  หินชนวนเป็นหินแปรชนิดหนึ่ง มีเนื้อละเอียด ลักษณะคล้ายแผ่นหินบาง ๆ เรียงซ้อนกันอยู่ หนิชนวนเกือบทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากตะกอน จำพวกดินเหนียวและบางแห่งได้มาจากละอองเถ้าถ่านจากภูเขาไฟ แรงอัดอันเกิดจากการฝังตัวใต้พื้นดินลึก ๆ จะทำให้ตะกอนละเอียดเหล่านี้ ค่อย ๆ แข็งตัว กลายเป็นหินดินดาน ต่อไปหินดินดานจะแปรสภาพเป็น หินชนวน          ๑๐/ ๕๙๙๒
                ๑๖๒๕. ชนะสงคราม - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ประเภทราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในเขตพระนคร เดิมวัดนี้เป็นวัดเล็ก ๆ มีมาก่อนสร้างกรุงเทพ ฯ เล่ากันว่าแต่ก่อนเรียก วัดกลางนา          ๑๐/ ๕๙๙๓
                            เมื่อตอนเริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ราชประเพณีต่าง ๆ ก็นำแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยามาใช้ เหตุนี้พระราชพิธีหลายอย่าง จึงต้องใช้คณะสงฆ์มอญเข้าร่วมกับคณะสงฆ์ไทย จึงจำเป็นต้องรีบจัดคณะสงฆ์มอญขึ้น และให้อยู่วัดใกล้ ๆ พระบรมมหาราชวัง สมเด็จ ฯ พรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ทรงสร้างวัดตองปุขึ้นใหม่ โปรดให้พระสงฆ์รามัญอยู่วัดตองปุ เพื่อให้เหมือนกับวัดตองปุ ซึ่งเป็นวัดสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายรามัญในกรุงศรีอยุธยา
                            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พม่าได้ยกกำลังเก้ากองทัพรุกเข้ามาในดินแดนไทยห้าทาง สมเด็จ ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ยกกำลังไปสกัดกั้นที่เมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางที่กองทัพพม่าส่วนใหญ่จะต้องผ่าน และทรงได้ชัยชนะพม่าที่ตำบลลาดหญ้า เมื่อเสด็จกลับมาแล้วจึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดตองปูใหม่หมดทั้งวัด และเข้าใจว่าพร้อมกันนั้นจะทรงบูรณะวัดใต้ที่ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี ซึ่งเคยเสด็จไปพักพลเกือบทุกครั้งที่ทรงยกทัพผ่านขึ้นไปทางนั้นด้วย เสร็จแล้วได้รับพระราชทานนามใหม่คล้าย ๆ กันคือ วัดใต้เป็นวัดไชยชุมพลชนะสงคราม และวัดตองปุเป็นวัดชนะสงคราม
                ๑๖๒๖. ชนะสิบทิศ  หมายถึง พระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี เป็นชาวเมืองพุกาม ได้ชื่อว่า จะเด็ด ต่อมาแม่ของจะเด็ดได้มาเป็นแม่นมมังตรา โอรสพระเจ้าตองอู  จะเด็ดกับมังตราจึงเจริญวัยมาด้วยกันในพระราชวังตองอู จะเด็ดได้รับราชการอยู่ในกรมวัง ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นนายทหารชั้นสูง เมื่อมังตราขึ้นครองราชย์ จะเด็ดได้ดำรงยศเป็น "บุเรงนอง กะยอดินนรธา" (บุเรงนอง แปลว่า พระเชษฐภาดา กะยอดินนรธา คือ กฤษฎานุรุธ แสดงที่รัชทายาท)  ด้วยได้อภิเษกกับพระราชธิดา
    ของพระเจ้าตองอู
                           พระเจ้าตะเบงชเวตี้ (มังตรา) ได้ทำการแผ่อำนาจโดยได้อาศัยบุเรงนองเป็นแม่ทัพสำคัญ ในการขยายดินแดนไปยังมอญ ไทยใหญ่ และได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช นับเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า
                           ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๙๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา มีบุเรงนองเป็นแม่ทัพร่วมมาในกองทัพด้วย แต่ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ เมื่อกลับไปถึงพม่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เสียพระทัยมากจนไม่สามารถว่าราชการบ้านเมืองได้ ในที่สุดถูกพวกขุนนางจับปลงพระชนม์  พม่า มอญและไทยใหญ่ ต่างแยกกันเป็นอิสระ ชิงอำนาจกัน บุเรงนองไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองตองอู ในที่สุดบุเรงนองก็สามารถปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระลงได้ ตั้งเมืองหงสาวดีเป็นราชธานีของพม่าดังเดิม แล้วทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๖
                           ในปี พ.ศ.๒๑๐๖ บุเรงนองยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ด้วยข้ออ้างที่ไทยปฏิเสธไม่ยอมส่งช้างเผือกให้พม่าตามที่ขอมา ฝ่ายไทยต้องยอมสงบศึกกับพม่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทูลขอช้างเผือก และขอตัวบุคคลที่คัดค้านไม่ให้ช้างเผือกคือ พระราเมศวรผู้เป็นพระราชโอรส พระยาจักรีและพระยาสุนทรสงคราม ไปเมืองพม่า และยังได้ตรัสขอพระนเรศวร โอรสองค์ใหญ่ของพระมหาธรรมราชาแห่งเมืองพิษณุโลก และพระวิสุทธิกษัตริย์ไปไว้ที่เมืองหงสาวดีด้วย โดยอ้างว่าจะเอาไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม
                           พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้แต่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๑ และตีกรุงศรีอยุธยาได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ หลังจากล้อมกรุงอยู่เก้าเดือน พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาตลอดฤดูฝนสามเดือน ได้อภิเษกพระมหาธรรมราชา เป็นพระศรีสรรเพชญ์ครองกรุงศรีอยุธยา ในฐานะเจ้าเมืองประเทศราชของพม่า กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของพม่าอยู่ ๑๕ ปี และได้ประกาศเอกราชในรัชสมัยพระเจ้านันทบุเรง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗
                           พระเจ้าบุเรงนอง ฯ ทรงเป็นกษัตริย์ที่หลักแหลมเฉลียวฉลาดในการปกครองบ้านเมือง และยังเป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งเก่งกล้าสามารถในการยุทธ  ในรัชสมัยของพระองค์ กรุงหงสาวดีได้แผ่อำนาจออกไปอย่างกว้างขวางเป็นที่เกรงขามของบรรดาประเทศใกล้เคียงยิ่งกว่าสมัยใด ๆ จึงได้รับสมญาพระนามว่าพระเจ้าชนะสิบทิศ พระองค์สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๔ พระชนมายุได้ ๖๖ พรรษา มังชัยสิงห์ราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ทรงพระนามว่า พระเจ้านันทบุเรง          ๑๐/ ๕๙๙๙
                ๑๖๒๗. ชนัก  เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งทำด้วยเหล็กยาว ๒๗ ซม. หัวแหลมและหยัก เสียบด้ามทำด้วยไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๓ เมตร มีเชือกผูกกับด้ามไม้ชักเมื่อพุ่งถูกสัตว์ โดยมากพบใช้ประกอบในการจับปลาในโป๊ะ ใช้แทงปลาฉลาม ปลาหมอทะเลหรือปลาใหญ่ ๆ ในน่านน้ำจืด และใช้แทงจรเข้          ๑๐/ ๖๐๐๓
                ๑๖๒๘. ชนาง  เป็นเครื่องดักปลามีหลายชนิด ทำด้วยไม้ไผ่ล้วน รูปร่างคล้ายปุ้งกี๋ ขอบปากล่างกว้าง ๒ เมตร ขอบปากบนยาว ๔ เมตร ลึก ๑ เมตร ขนาดช่วงตาตอนบน ๒.๕ ซม. ช่วงตาตอนล่าง ๑ ซม. มีด้ามยาวสองอัน ยาวอันละ ๑๐ เมตร ใช้วางไว้ริมตลิ่งให้ปากหันเข้าหาฝั่งแล้วสุมกิ่งไม้ในชนางเพื่อให้ปลาอาศัย เมื่อจะจับปลาให้ลากชนางเข้าหาฝั่ง จึงเรียกว่า ชนางลาก
                           ชนางอีกชนิดหนึ่งไม่มีด้าม และขนาดย่อมกว่า เรียกว่า ชนางไม่มีคัน ใช้มือถือได้สะดวก  อีกชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายคีมเรียกว่า ชนางมือ          ๑๐/ ๖๐๐๓
                ๑๖๒๙. ชบา  เป็นไม้เล็ก แตกพุ่มได้ กิ่งก้านกลม  มีปุ่มเล็ก ๆ ตลอดกิ่ง  เปลือกบางลอกง่าย ใช้ทำเป็นปอ หรือเชือกได้ ดอกออกตามซอกใบ ขนาดใหญ่สีแดงเลือด เกสรสีเหลือง ชบาเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศ มีทั้งพันธุ์ลา (กลีบชั้นเดียว) และพันธุ์ซ้อน
                            ดอกชบาสีแดงทางมาเลเซียถือว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติ          ๑๐/ ๖๐๐๕
                ๑๖๓๐. ชมนาด  เป็นไม้พันธุ์เลื้อย ลำเถาแข็ง มียางขาวทั่วทั้งต้น ดอกออกเป็นช่อเล็กๆ สีขาว มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นข้าวใหม่ ทำให้มีชื่อเรียกกันอีกว่า ดอกข้าวใหม่
                           ดอกชมนาด บานกลางคืน ชาวไทยนิยมใช้ในการปรุงแต่งเครื่องประทิ่น
                ๑๖๓๑. ชมบ  เป็นชื่อผีชั้นเลวพวกหนึ่ง บางท่านว่าเป็นผีปอบเขมร
                           ในพจนานุกรม ฯ อธิบายว่า เป็นผีผู้หญิงที่ตายในป่า และสิงอยู่ในบริเวณที่ตาย          ๑๐/ ๖๐๐๖
                ๑๖๓๒. ชมพู ๑ - ท้าวมหา  เป็นจุลจักร มีมเหสีชื่อแก้วอุดร ไม่มีบุตรธิดา พระอิศวร จึงประทานพญาวานรลูกพระพาล ชื่อนิลพัทให้ไปอยู่ช่วยกิจการในเมือง มีฤทธิ์เดชมาก ไม่ยอมไหว้ใคร เว้นแต่พระอิศวร และพระนารายณ์ เป็นสัมพันธมิตรแห่งพญากากาศ เมื่อพระรามไปปกครองพลที่เขาคนธมาทน์ สุครีพและหนุมาน ช่วยกันสะกดเอาไปถวายพระรามทั้งแท่น เมื่อรู้ว่าพระรามคือ พระนารายณ์ก็ถวายพลทั้งกรุงชมพู พระรามสั่งให้อยู่กรุงชมพูตามเดิม และรักษากรุงขีดขินด้วย          ๑๐/ ๖๐๐๗
                ๑๖๓๓. ชมพู ๒  เป็นไม้หว้าประจำชมพูทวีป ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เป็นเนินเขาหิมพานต์ ด้านทิศเหนือ หน่อหว้าที่งอกขึ้นกลายเป็นทองเนื้อสุก จึงสมมติเรียกกันว่าทองชมพูนุท เพราะเกิดแต่ผลหว้า          ๑๐/ ๖๐๐๗
                ๑๖๓๔. ชมพู ๓  คือสีแดงอ่อน สีแดงเรื่อ หรือสีแดงที่มีสีขาวปนอยู่มาก          ๑๐/ ๖๐๐๘
                ๑๖๓๕. ชมพู่  ใช้เรียกชื่อพันธุ์ไม้หลายชนิด โดยเฉพาะที่มีลักษณะเป็นไม้ต้น และมีผลใหญ่ ส่วนมากเป็นไม้ต้นขนาดกลาง ดอกออกเป็นช่อเป็นกระจุกติดตามกิ่งหรือตามซอกใบ ที่นิยมนำมาบริโภคกันคือ ชมพู่สาแหรก ชมพู่มะเหมี่ยว ชมพู่แก้มแหม่ม ชมพู่เขียว ชมพู่น้ำดอกไม้  หน้า ๖๐๐๘
                ๑๖๓๖. ชมพูทวีป  กล่าวตามวิชาว่าด้วยไตรภูมิโลกสัณฐาน หรือจักรวาลวิทยา ซึ่งเป็นระยะแรกของวิชาภูมิศาสตร์ เป็นทวีปใหญ่ทวีปหนึ่งในทวีปใหญ่ทั้งสี่ ซึ่งรวมอยู่ในเขาจักรวาล และตั้งอยู่ล้อมรอบในทิศทั้งสี่แห่งเขาพระสุเมรุ
                           ชมพูทวีป มีสัณฐานเหมือนเรือนเกวียน มีพื้นที่ประมาณกว้างและยาวได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ๓,๐๐๐ โยชน์ ป่าหิมพานต์ ๓,๐๐๐ โยชน์ มหาสมุทร ๔,๐๐๐ โยชน์ ในที่อยู่ของมนุษย์ ๓,๐๐๐ โยชน์ แบ่งออกเป็นมัธยมประเทศ ยาว ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๒๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๙๐๐ โยชน์ จัดชมพูทวีปเป็นมัธยมประเทศกับปัจจันตประเทศ
                           ชมพูทวีป มีต้นไม้ประจำทวีปคือไม้ชมพู แปลว่าไม้หว้า ในครั้งพุทธกาลชมพูทวีปแบ่งเป็นหลายอาณาจักร มีชื่อปรากฎในบาลีอุโบสถสูตร ติกนิบาต อังคุตรนิกาย เป็นมหาชนบท ๑๖ แคว้นคือ อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจดี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ
                           ชมพูทวีปมีเขาหิมพานต์ (หิมาลัย) ตั้งอยู่ตอนเหนือ เป็นเทือกเขายาวยืดและสูงชัน ปกคลุมด้วยป่าดงใหญ่ มีมหานทีทั้งห้าและสระใหญ่เจ็ดสระ          ๑๐/ ๖๐๐๙
                ๑๖๓๗. ชมพูนุท  เป็นชื่อทองวิเศษชนิดหนึ่ง ว่าเกิดจากต้นชมพูและแม่น้ำชมพูนที มีนิยามว่าทองคำเนื้อบริสุทธิ์ ทองชมพูนุทเป็นทองวิเศษชนิดหนึ่งในสี่ชนิดด้วยกัน ท่านว่าเนื้อทองสุกปลั่งอยู่ตลอดเวลาไม่มีหมองเลย  ชมพูทวีปก็ได้ชื่อเพราะต้นชมพูต้นนี้เอง ทองที่เกิดจากต้นชมพูนี้ได้ชื่อว่าทองชมพนุท    หน้า ๖๐๑๔
                ๑๖๓๘. ชมพูพาน เป็นชื่อพญาวานร ซึ่งพระอิศวรชุบขึ้นด้วยเหงื่อไคล เป็นผู้มีความรู้ในลางพยาวิเศษ สำหรับเป็นแพทย์ตำรับยาในกองทัพพระยารามได้ไปอยู่กรุงขีดขินพร้อมกับหนุมาน ครั้นพาลีตายแล้ว สุครีพนำถวายตัวพระราม เมื่อพระรามให้หนุมานกับองคตไปถวายแหวนนางสีดาได้ให้ชมพูพานไปด้วย
                           เมื่อพระพรตไปทำศึก ท้าวทศพินที่ลังกาชมพูพานก็ได้เป็นทูตถือสารประกาศสงคราม ภายหลังสงครามแล้วชมพูพานมีความชอบได้รับแต่งตั้งให้ไปกินเมืองปางตาล          ๑๐/ ๖๐๑๕
                ๑๖๓๙. ชมัทอัคคี ชามัทอัคคี ชมทัคนี  เป็นชื่อฤษีภารควโคตร ลูกฤษีฤจิก เป็นผัวนางเรณุกา และเป็นบิดาปรศุราม ซึ่งในรามเกียรติเรียกว่า รามสุร          ๑๐/ ๖๐๑๘
                ๑๖๔๐. ชยันต์ ๑  เป็นขุนพลของท้าวทศรถ ราชาแห่งสุริยวงศ์ ผู้ครองราชย์ในกรุงอโยธยา แคว้นโกศล          ๑๐/ ๖๐๒๒
                ๑๖๔๑. ชยันต์ ๒ หรือไชยันต์  เป็นนามโอรสของพระอินทร์ มีเมืองชื่ออมราวดี ปราสาทชื่อเวชยันต์ หรือไพชยนต์          ๑๐/ ๖๐๒๒
                ๑๖๔๒. ชราสันธ์ - ท้าว  เป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในมหากาพย์ภารตะ เป็นโอรสของท้าวพฤหทรถ กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ และเจถี มีนครหลวงอยู่กรุงราชคฤห์          ๑๐/ ๒๐๒๓
                ๑๖๔๓. ชลบุรี  จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ฉะเชิงเทรา ทิศตะวันออกจด จ.จันทบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ระยอง และตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตก ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศด้านเหนือเป็นที่ราบ เหมาะแก่การทำนา ทำไร่ ด้านตะวันออกทั้งเฉียงใต้และเฉียงเหนือ ตลอดจนด้านใต้ส่วนมากเป็นป่าและภูเขา
                           จ.ชลบุรี เป็นเมืองโบราณ มีวัดใหญ่และวัดสมณโกฎิเหมือน จ.พระนครศรีอยุธยา มีซากเมืองเก่าสองเมืองคือ เมืองศรีพโร และเมืองพระรถ มีถนนติดต่อถึงกัน และจากเมืองพระรถ มีถนนต่อไปอีก ผ่านสนามชัยเขต ไป อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แล้วต่อไป จ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ถนนสายนี้ราษฎรเรียกว่า ถนนขอม มีบางตอนยังสมบูรณ์ดี
                           ในแผนที่ไตรภูมิโบราณสมัยอยุธยา ปรากฎชื่อตำบลสำคัญของชลบุรีสี่ตำบล เรียงจากเหนือไปใต้คือ บางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ และบางละมุง ส่วนทำเนียบศักดินาหัวเมืองตรา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ ออกชื่อชลบุรี แต่ไม่ได้รวมกับบางละมุง ตั้งบางละมุงเป็นอีกเมืองหนึ่งอยู่ในชั้นเมืองจัตวาด้วยกัน ผู้รักษาเมืองชลบุรีเป็นที่ออกเมืองชลบุรีศรีมหาสมุทร นา ๒,๔๐๐ ขึ้นประแดงอินทปัญญาซ้าย ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าว่า เมืองชลบุรีเคยส่งส่วยไม้แดง
                           ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงจัดให้เมืองนี้เป็นชั้นจัตวาตามเดิม แต่มาเพิ่มเป็น ๓,๐๐๐  ผู้รักษาเมืองเป็นที่ พระชลบุรี สังกัดกรมท่า          ๑๐/ ๒๐๒๖
                ๑๖๔๔. ชลประทาน ๑ - การ  คือ การพัฒนาแหล่งน้ำโดยการจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์หลาย  ๆ อย่าง ด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน เช่น การเก็บน้ำ การส่งน้ำ การระบายน้ำ การแปรสภาพดิน การบรรเทาอุทกภัย การไฟฟ้าพลังน้ำ และการคมนาคมทางน้ำ          ๑๐/ ๖๐๒๙
                ๑๖๔๕. ชลประทาน ๒ - กรม  มีหน้าที่พัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำโดยจัดสรรน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์หลาย ๆ อย่างดังกล่าวแล้ว ในลำดับที่ ๑๖๒๗
                             เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงตั้งกรมคลองขึ้น ในสังกัดกระทรวงเกษตร เพื่อขุดลอกคลองในบริเวณทุ่งราบภาคกลางตอนล่าง ที่เชื่อมระหว่าง แม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง แล้วสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมทั้งประตูเรือสัญจรขึ้นที่ปากคลองตอนที่จะออกแม่น้ำทั้งสองข้าง เพื่อเก็บน้ำในคลองไว้ใช้ ในการคมนาคม การเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภค
                             ต่อมากรมนี้ได้เริ่มก่อสร้างการทดและส่งน้ำ โดยสร้างโครงการป่าสักใต้ ซึ่งมีเขื่อนพระรามหก เป็นอาคารทดน้ำในแม่น้ำป่าสักที่ จ.อยุธยา ขึ้นเป็นโครงการแรก และได้เปลี่ยนชื่อกรมคลองเป็น กรมทดน้ำ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ และได้เปลี่ยนเป็น กรมชลประทาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐          ๑๐/ ๖๐๓๓
                ๑๖๔๖. ชลามพุชกำเนิด  เป็นชื่อกำเนิดอย่างหนึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลบัณณาสก์ สุดตันตปิฎก กล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายมีกำเนิดสี่อย่าง เรียกว่า โยนิสี่ คือ
                        ๑. อัณฑชโยนิ  เกิดในไข่ สัตว์พวกนี้ได้แก่ ไก่ เป็ด นก จิ้งจก งู เป็นต้น
                        ๒. ชลามพุชโยนิ  เกิดในครรภ์ มีมดลูกหุ้มห่อ ได้แก่ มนุษย์ และบรรดาสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั้งหลาย
                        ๓. สังเสทชโยนิ  เกิดในเถ้าไคล ในที่มีความชื้น น้ำโสโครก เป็นต้น ได้แก่ หมู่หนอน (และบรรดาพวกจุลชีพต่าง ๆ ที่เกิดจากการแบ่งเซลจากเซลเดิม ได้แก่ เชื้อโรคต่าง ๆ - เพิ่มเติม)
                        ๔. โอปปาติกโยนิ  ได้แก่ การเกิดของสัตว์จำพวกที่เกิดโตขึ้นทันที และเมื่อแรกเกิดไม่ต้องอาศัยอะไรทั้งหมด อาศัยอดีตกรรมอย่างเดียว เมื่อเกิดก็โตทันที ได้แก่ พวกเทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต
                             ชลามพุชโยนิ คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ เรียกว่า คัพภเสยกะ หมายถึง เกิดในครรภ์มารดาแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ อัณฑชะเกิดในฟอง และชลาพุชะ เกิดในมดลูก
                             สัตว์จำพวกชลามพุช กำเนิดระหว่างอยู่ในครรภ์ จนครบสิบเดือนนั้น คัมภีร์สดาถวรรค สังยุตนิกาย สุตตันตปิฎก ตอนยักขสังยุต กล่าวว่า ในสัปดาห์แรก ที่เกิด เกิดเป็นหยาดน้ำใส ๆ เหมือนน้ำมันงา เรียกว่า กลลรูป (รูปเป็นน้ำใส)  ในสัปดาห์ที่สอง เกิดเป็นลักษณะคล้ายฟอง มีลักษณะเหมือนน้ำล้างเนื้อ เรียกว่า อัมพุทรูป ในสัปดาห์ที่สาม เกิดเป็นลักษณะเหมือนชิ้นเนื้อเหลว ๆ สีแดง เรียกว่า เปสิรูป ในสัปดาห์ที่สี่ เกิดมีลักษณะเป็นก้อน มีสัณฐานเหมือนไข่ไก่ เรียกว่า ฆนรูป ในสัปดาห์ที่ห้า เกิดเป็นปุ่มห้าปุ่ม เรียกว่า ปัญจสาขา คือ ห้ากิ่ง หมายถึง แขนสองข้าง ขาสองข้าง และหัวของทารก ต่อจากนั้นในสัปดาห์ที่ ๑๒ - ๔๒ อาการสามสิบสอง (บางส่วน) คือ ผม ขน เล็บ เหล่านี้ก็ปรากฎ          ๑๐/ ๖๐๓๔
                ๑๖๔๗. ช่วงชัย - การเล่น  เป็นการเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งเล่นกันในฤดูเทศกาล
                            วิธีเล่น มีผู้เล่นทั้งชายและหญิงหลาย ๆ คน แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ชายฝ่ายหนึ่ง และหญิงฝ่ายหนึ่ง ยืนหันหน้าเข้าหากัน ห่างกันพอถึงกัน ใช้ผ้าขาวม้า หรือผ้าห่มแถบ ผู้หญิงทำเป็นลูกกลม ๆ ผูกให้แน่นเรียกว่า ลูกช่วง เริ่มเล่นด้วย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้โยนลูกช่วงไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายต้องรับให้ได้ ถ้ารับได้แล้ว ก็เอาลูกช่วงนั้นปาอีกฝ่ายหนึ่ง ถูกคนไหน คนนั้นเป็นผู้แพ้ ต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าโยนไปแล้วอีฝ่ายรับไม่ได้ ก็ต้องโยนให้อีกฝ่ายรับบ้าง ถ้าฝ่ายรับลูกช่วงได้แต่ปาอีกฝ่ายไม่ถูก ฝ่ายถูกปาต้องเป็นผู้โยนลูกช่วงอีกต่อไป
                            การเล่นโดยปกติ มักเล่นติดต่อกับการร้องเพลงพวงมาลัย หรือร้องเพลงอื่น ๆ เมื่อผู้ใดถูกปาแล้ว ผู้นั้นต้องเป็นผู้รำ โดยทั้งสองฝ่ายเข้ามารวมเป็นวงร่วมกันร้องเพลง          ๑๐/ ๖๐๓๙
                ๑๖๔๘. ชวา ๑ - ปี่  เป็นปี่สองท่อนสวมกัน ท่อนหนึ่งเป็นเลาเรียว เจาะรูปสำหรับปิดเปิดนิ้ว ให้มีเสียงสูงต่ำตามต้องการ อีกท่อนหนึ่ง เป็นลำโพง รูปร่างและจำนวนรูปิดเปิดนิ้ว เหมือนปี่ไฉนทุกประการ แต่ปี่ชวามีขนาดใหญ่และยาวกว่า
                            ปี่ชวา ที่ใช้ร่วมกับกลองแขก ซึ่งมีฉิ่งเป็นเครื่องประกอบจังหวะอย่างหนึ่ง สำหรับบรรเลงเป็นเอกเทศ หรือบรรเลงประกอบการแสดงกระบี่ กระบอง  ชกมวย รำกริช เป็นต้น การบรรเลงปี่ชวาร่วมกับกลองแขกนี้ ของชวาและมลายู ใช้ฆ้องโหม่ง เป็นเครื่องประกอบจังหวะ
                            วงกลองแขกปี่ชวานี้ เมื่อบรรเลงร่วมกับวงเครื่องสายไทย ก็เรียกว่า กลองแขกเครื่องใหญ่ หรือเครื่องสายปี่ชวา
                            ส่วนในพระราชพิธี นอกจากบรรเลงเป็นวงกลองแขกปี่ชวาแล้ว ยังบรรเลงร่วมกับกลองชนะ นำขบวนพยุหยาตราที่เป็นงานมงคลด้วย          ๑๐/ ๖๐๔๐
                ๑๖๔๙. ชวา ๒ - เกาะ  เป็นเกาะสำคัญที่สุดในหมู่เกาะประเทศอินโดนิเซียทางตะวันตก มีช่องแคบซุนดากั้นระหว่างเกาะนี้กับเกาะสุมาตรา และทางตะวันออกมีช่องแคบบาหลีกั้นจากเกาะบาหลี ลักษณะของเกาะเป็นรูปค่อนข้างเรียวยาว ตอนกว้างสุดกว้าง ๒๐๓ กม. และตอนยาวที่สุดยาว ๙๗๐ กม.
                            ภูมิประเทศของเกาะชวา ประกอบด้วยเทือกเขาเป็นแนวยาว จากตะวันออกไปตะวันตก ตามรูปร่างของเกาะ มีภูเขาไฟที่ดับแล้ว และที่ยังมีพลังอยู่รวมถึง ๑๑๒ ลูก เทือกเขาที่พาดไปตามความยาวของเกาะ อยู่ชิดไปทางใต้ของเกาะ          ๑๐/ ๖๐๔๑
                            เมืองสำคัญในเกาะชวามีอยู่หลายเมือง ที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ที่สุดคือ เมืองจาการ์ตา เป็นทั้งเมืองหลวงและศูนย์กลางการค้า และวัฒนธรรมของอินโดนิเซีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองจาการ์ตา มีเมืองบันดุง ตั้งอยู่บนที่ราบสูงในเขตเทือกเขาภาคกลางของเกาะ เมืองนี้ได้รับสมญาว่าเป็น ปารีสชวา เพราะเป็นเมืองตากอากาศ
                            ในภาคกลางของชวามีเมืองสำคัญอยู่สามเมืองคือ เมืองเซเมรัง จอกจาการ์ตา และสุราการ์ตา เมืองเซเมรังเป็นเมืองท่า และศูนย์กลางการค้าที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของอินโดนิเซีย ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลภาคเหนือของเกาะ ส่วนเมืองจอกจาการ์ตา และเมืองสุราการ์ตา ตั้งอยู่ตอนในของเกาะ สองเมืองนี้มีความสำคัญ ทางด้านวัฒนธรรมโดยเฉพาะที่เมืองจอกจาการ์ตา มีสถูปเจดีย์พระพุทธศาสนา ที่มีชื่อเสียงมากของโลกแห่งหนึ่งคือ โบโรพุทโธ ใกล้ ๆ กันมีวิหารเก่าแก่ชื่อ วิหารเมนดุต มีพระพุทธเก่าแก่องค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ภาคตะวันออกของเกาะมีเมืองสุราบายา เป็นเมืองสำคัญที่สุดของภาค เป็นเมืองท่า มีความสำคัญรองจากจาการ์ตา
                            ก่อนหน้าที่นักเดินเรือชาวโปร์ตุเกส จะมาถึงเกาชวา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๕๔ นั้น ประวัติศาสตร์ของเกาะชวาแบ่งออกเป็นสองสมัยใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ สมัยแรกเป็นระยะเวลาที่ศาสนาฮินดู มีอำนาจรุ่งเรือง และสมัยที่สอง เป็นระยะเวลาที่ศาสนาอิสลามมีอำนาจขึ้นมาแทนที่ สมัยศาสนาฮินดูรุ่งเรืองในเกาะชวา เริ่มตั้งแต่ประมาณพุทธสตวรรษที่ ๖ ศูนย์กลางสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและการเมืองของฮินดู ผสมชวานี้อยู่ที่อาณาจักรมาตาราม ในภาคกลางของชวา จนถึงประมาณปี พ.ศ.๑๔๑๗ ศูนย์กลางอำนาจได้เสื่อมไปอยู่ในชวาตะวันออก และมีอาณาจักรต่าง ๆ ผัดเปลี่ยนกันครองอำนาจ อาณาจักรสุดท้ายที่มีชื่อเสียงมากคือ อาณาจักร มาชปาหิต ได้ครองดินแดนกว้างขวางมาก
                            สมัยที่ศาสนาอิสลามเรืองอำนาจ เริ่มภายหลังที่อาณาจักรมาชปาหิตเสื่อมโทรมไปมากแล้ว ศาสนาอิสลามแพร่เข้ามาในชวา โดยอาศัยพวกพ่อค้า ที่มาจากเมืองคุชราตในอินเดีย และจากเมืองมะลักกา และเกาะสุมาตรา ในชั้นต้นมีชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนานี้ไปมาก แต่ต่อมาก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น และอำนาจทางการเมืองได้เปลี่ยนมือ จากชวาตะวันออกมาเป็นของชวาภาคกลาง  มีอาณาจักรต่าง ๆ ที่รุ่งเรืองอำนาจแทนที่อาณาจักรมาชปาหิต ได้แก่ อาณาจักรเดมัก ปาจัง และมาตาราม ซึ่งล้วนนับถือศาสนาอิสลาม
                            ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ชาวผิวขาวเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชวา เริ่มต้นด้วยพวกพ่อค้าชาววิลันดา ที่เดินเรือมาถึงเกาะนี้ในปี พ.ศ.๒๑๓๙ ต่อมาได้สร้างเมืองปัตตาเวีย (ต่อมาเป็นเมืองจาการ์ตา)  เป็นที่มั่น แล้วค่อย ๆ ขยายอำนาจออกไปครอบคลุมเกาะชวาทั้งหมด ภายใน ๑๐๐ ปีเศษต่อมา
                            หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนได้ ๒ วัน ชาวพื้นเมืองได้ประกาศเอกราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ ตั้งสาธารณรัฐอินโดนิเซียขึ้น เป็นการยุติการปกครองระบอบอาณานิคมมาเป็นเวลาถึง ๓๕๐ ปี           ๑๐/ ๖๐๔๑
                ๑๖๕๐. ชวาลา  เป็นตะเกียงใช้ตั้งหรือแขวนก็ได้ รูปเป็นหม้อกลม ๆ ป้อม ๆ หล่อด้วยทองเหลืองสำหรับใส่น้ำมัน มีเชิงสำหรับตั้งในถาด ซึ่งติดกันแน่นมีก้านสำหรับแขวน ทำลวดลายอย่างขาโต๊ะกลึง รอบ ๆ หมือมีพวยยื่นออกมาสามพวย เป็นที่ใส่ใส้จุดไฟกับมีที่เขี่ยใส้ มีครอบสำหรับดับไฟ และมีใบโพ สำหรับบังลม
                           โดยนัยนี้ แม้จะเป็นตะเกียงไส้เดียว ไม่มีหลอดก็น่าจะนับเป็นชวาลาได้          ๑๐/ ๖๐๔๘
                ๑๖๕๑. ชเวดากอง - พระเจดีย์  พระเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนยอดเนินเขา ที่ชานเมืองด้านเหนือของเมืองตะเกิงคือ ย่างกุ้ง กล่าวกันว่าสร้างก่อนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ที่องค์พระเจดีย์นี้มีจารึกประวัติเป็นภาษามอญ อยู่ด้านหนึ่งและมีจารึกคำอธิบายเป็นภาษาพม่าอยู่อีกด้านหนึ่ง ศิลาจารึกนี้พระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์มอญรับสั่งให้จารึกไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๘ ในคราวที่ส่งมอญไปอุปสมบทที่ลังกา และกลับมาผูกกัลยาณสีมาที่เมืองพะโค (หงสาวดี) แล้วพระองค์ก็ทรงให้ซ่อมพระเจดีย์ชเวดากอง และมีรับสั่งให้จารึกไว้ มีความว่า มีนายพานิชพี่น้องสองคนได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ตอนตรัสรู้ใหม่แล้วถวายข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง แล้วพระพุทธเจ้าก็ประทานพระเกสามาแปดเส้น นายพานิชทั้งสองเอาพระเกสา ใส่ในผอบพร้อมทับทิม เมื่อกลับมายังบ้านเมือง ก็เอาไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ที่ได้สร้างขึ้น ณ ตำบลที่ประดิษฐานพระเจดีย์ชเวดากอง ในปัจจุบัน          ๑๐/ ๖๐๕๑
                ๑๖๕๒.  ชเวโบ  เป็นชื่อเมืองทางภาคเหนือของพม่า ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำอิรวดี พงศาวดารพม่าเรียกว่า เมืองมุสโสโบ เป็นบ้านเกิดของพระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา อันเป็นราชวงศ์สุดท้าย ที่ปกครองพม่าก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ และเป็นราชธานีของพม่าอยู่ ๑๐ ปี ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๙๖ - ๒๓๐๖
                            ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ขณะที่มอญตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับพม่า ประกาศตั้งกรุงหงสาวดีเป็นราชธานี และสามารถตีเมืองอังวะราชธานีของพม่า และหัวเมืองใกล้ไว้ในอำนาจนั้น มังลองเป็นปลัดแขวง เมืองชเวโบ ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อมอญ สถาปนาเมืองชเวโบเป็นราชธานี ขนานนามว่า กรุงรัตนสิงห์ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ใช้นามว่า พระเจ้าอลอง มินตยาคยี หรืออลองพญา แปลว่า พระโพธิสัตว์ เมื่อเห็นว่ามีกำลังพอ ก็ยกกองทัพไปตีเมืองอังวะราชธานีเดิมของพม่าได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๖
                            เมื่อพระเจ้ามังระ ขึ้นเสวยราชย์ก็ได้ย้ายราชธานีไปตั้งที่กรุงอังวะเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๖
                            ในระยะที่พม่าทำสงครามกับอังกฤษ พระเจ้ามินดงได้หลบหนีไปรวบรวมไพร่พลที่เมืองชเวโบ ทำการปฎิวัติชิงราชสมบัติจากพระเจ้าพุกาม และตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ที่เมืองชเวโบ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖ ต่อมาเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษทั้งประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๒๘  ชาวพม่าบางส่วน ได้หลบหนีไปรวมกำลังอยู่ที่เมืองชเวโบ อังกฤษต้องใช้เวลาปราบปรามอยู่หลายปี

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch