หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/34

    ๑๐ ฉันท์ - เชียงราย      ลำดับที่ ๑๕๗๗ - ๑๘๐๔      ๑๐/ ๕๘๖๕ - ๖๔๘๖
                ๑๕๗๗. ฉันท์ ๑ หรือฉันทะ คือ ความพอใจความรักใคร่ ความชอบใจ ความยินดีในอารมณ์ เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา (เป็นองค์ธรรมข้อหนึ่ง และเป็นข้อแรกในสี่ประการของอิทธิบาทสี่ - เพิ่มเติม)        ๑๐/ ๕๘๖๕
                ๑๕๗๘. ฉันท์ ๒ เป็นชื่อคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งท่านกำหนดจำนวนคำแต่ละพยางค์ ซึ่งประกอบด้วยสระที่มีเสียงสั้นและยาวที่เรียกว่า รัสสระ และทีฆสระ หรือคำเบาและคำหนัก ที่เรียกว่า ลหุและครุ ด้วยวิธีเรียงคำไม่เหมือนกัน จึงเรียกชื่อต่างกันไปแต่ละฉันท์
                        ฉันท์ กล่าวตามคัมภีร์วุตโตทัย (บาลี) มีอยู่ ๑๐๘ ฉันท์ เดิมเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อชนชาติไทยมีความสัมพันธ์รับอารยธรรม มาจากชาวมคธแล้ว คัมภีร์วุตโตทัยนี้แตกมาเป็นตำราของไทยเรา ปรากฎว่าแปลงขึ้นเป็นฉันท์ไทย ในสมัยอยุธยาประมาณรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง หรือในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ด้วยปรากฎว่า ฉันท์สมุทโฆษ ซึ่งเป็นฉันท์เรื่องแรก มีขึ้นในภาษาไทยเราว่า พระมหาราชครูเป็นผู้แปลฉันท์บาลีมาแต่ง        ๑๐/ ๕๘๖๘
                ๑๕๗๙. ฉันทลักษณ์  คือ ตำรารวมคำประพันธ์ที่เป็นแบบ กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย และคำร้องที่เรียกว่า ลำนำต่างๆ ที่โบราณาจารย์ได้รวมรวมขึ้นไว้ เป็นตำราเพื่อการศึกษาสืบต่อไป ที่เรียกว่าฉันทลักษณ์นั้นจะเนื่องด้วยเหตุสองประการคือ ประการแรกคำประพันธ์ที่เป็นคำฉันท์นั้นนับถือกันมาว่าเป็นของสูง ประการที่สองประสงค์ให้มีชื่อตรงกับไวยากรณ์ในภาษาบาลี    ๑๐/ ๕๘๗๑
                ๑๕๘๐. ฉันทศาสตร์ เป็นตำราว่าด้วยแบบบัญญัติการแต่งฉันท์ มีประเภทต่างๆตามที่มาในคัมภีร์วุตโตทัย ซึ่งเป็นภาษาบาลีมีอยู่ ๑๐๘ ฉันท์  และได้แปลงเป็นฉันท์ไทยแล้ว ๑๐๘ ฉันท์เท่ากัน ฉันท์ทั้ง ๑๐๘ ฉันท์นี้ ท่านจัดเป็นสองพวกเรียกว่า ฉันท์วรรณพฤติและฉันท์มาตราพฤติฉันท์ใดกำหนดด้วยตัวอักษรฉันท์นั้น เรียกว่า วรรณพฤติ มี ๘๑ ฉันท์  ฉันท์ใดกำหนด้วยมาตรา ฉันท์นั้นเรียกว่า มาตราพฤติ มี ๒๗ ฉันท์         ๑๐/ ๕๘๗๒
                ๑๕๘๑. ฉันนะ - นาย เป็นสารถีและพระสหายของพระโคดมพุทธเจ้า ครั้งยังเป็นสิทธัตถราชกุมาร เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และเสด็จมาเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ โปรดพระประยูรญาติชาวศากยะ นายฉันนะได้ทูลขออนุญาตบวชในธรรมวินัยได้สำเร็จ แต่เมื่อบวชแล้วเป็นผู้ว่ายาก จึงถูกพระพุทธเจ้ารับสั่งให้สงฆ์ลงโทษเป็นหลายครั้ง
                            พระอานนท์ทูลถาม พระพุทธเจ้าถึงการปฎิบัติต่อพระฉันนะ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าประทานทางปฎิบัติว่า สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะคือ ภิกษุทั้งหลายอย่าไปว่ากล่าว อย่าไปตักเตือน อย่าไปสั่งสอนอย่าไปเจรจาใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น เว้นแต่คำที่เป็นกิจธุระโดยเฉพาะพระฉันนะถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แล้วจะสำนึกผิดและสำเหนียกในธรรมวินัย จักเป็นผู้ว่าง่ายยอมรับโอวาท แล้วจักปฎิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเอง
                            เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระฉันนะถูกพระสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ ก็สำนึกในความผิด ตั้งใจปฎิบัติธรรมได้บรรลุอรหัต พร้อมด้วยปฎิสัมภิทาทั้งสี่โดยไม่นาน         ๑๐/ ๕๘๘๑
                ๑๕๘๒. ฉัพพรรณรังสี  เป็นรัศมีหกประการคือ
                            ๑. นีล  เขียวเหมือนดอกอัญชัน
                            ๒. ปีตะ  เหลืองเหมือนหรดาลทอง
                            ๓. โลหิตะ  แดงเหมือนสีตะวันอ่อน หรือตะวันแรกขึ้น
                            ๔. โอทาตะ  ขาวเหมือนแผ่นเงิน
                            ๕. มัญเชฎฐะ  สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่ง
                            ๖. ปภัสสระ  เลือมพรายเหมือนแก้วผลึก
                            สีทั้งหกแผ่ออกมาพร้อมกัน แผ่ซ่านออกเป็นวงกลม เหมือนพระจันทร์ทรงกลด แสงนั้นปรากฎเกิดแก่ตาคนเป็นสีรุ้ง         ๑๐/ ๕๘๘๖
                ๑๕๘๓. ฉาก  นอกจากหมายถึง เครื่องกั้นและเครื่องวัดมุม ๙๐ องศาแล้ว ฉากยังมีความหมายในทางนาฎศิลป์ ดังต่อไปนี้
                            ๑. เป็นชื่อท่ารำซึ่งเป็นท่าแบบฉบับ หรือแม่บทของละครมโนรา เรียกว่า ฉายน้อยและฉากใหญ่
                            ๒. เป็นชื่อวิธีแสดงโขน ในบางตอนซึ่งเรียกว่า หลบฉากและหนีฉาก
                            ๓. ภาพพื้นหลังสำหรับการแสดงละครต่าง ๆ เพื่อให้สวยงามหรือให้เป็นสถานที่ตามเนื้อเรื่อง         ๑๐/ ๕๘๘๘
                ๑๕๘๔. ฉาน ๑  เป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียกชนที่พูดภาษาไทยทั่ว ๆ ไป นอกจากไทยสยาม
                            ถิ่นที่อาศัยของไทยใหญ่ อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน (คง) ในรัฐฉานเป็นส่วนใหญ่มีเมืองเชียงตุง เป็นเมืองสำคัญ และมีที่ตองอู ท่าตอน เมาะลำเลิง ลงไปถึงมะริด และตะนาวศรี
                            ฉาน หรือเงี้ยว ในเมืองไทยคงเดินทางมาจากรัฐฉาน ในพม่าเข้ามาในอาณาเขตตอนเหนือของไทย หรือตามชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือ และแถบแม่ฮ่องสอน
                            ตามปรกติฉานเรียกตัวเองว่า ไทยหลวงหรือไทยใหญ่ เพื่อแสดงความแตกต่างกับไทย หรือลาว ซึ่งเขาเรียกว่า ไทยน้อย         ๑๐/ ๕๘๙๐
                ๑๕๘๕. ฉาน ๒ - รัฐ  เป็นรัฐที่รวบรวมชาวประเทศ ซึ่งแต่ก่อนเป็นรัฐกึ่งอิสระ อยู่ทางตะวันออกของพม่า ก่อนที่พม่าจะเป็นอิสรภาพ ประเทศฉานปกครองโดยหัวหน้า ที่สืบสายต่อกันมาเรียกว่าเจ้าฟ้าภายใต้การปกครองของพม่า และในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ได้รวมเป็นสหภาพ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ฉานและรัฐว้า ได้รวมกันเข้าเป็นรัฐฉาน แต่แห่งเดียว มีรัฐมนตรีรัฐบาลพม่าเป็นหัวหน้า มีคณะมนตรีรวมทั้งสมาชิกแห่งรัฐ เป็นผู้แทนในเขตนั้นเป็นผู้ช่วย สมาชิกเหล่านี้เลือกโดยผู้แทนในสภาชั้นล่าง และโดยเจ้าฟ้า ในสภาชั้นบน รัฐบาลยอมมอบอำนาจให้ในเรื่องเกษตรกรรม การประมง สาธารณูปโภค การสื่อสาร ตำรวจ ศาล การศึกษา การสาธารณสุข และรัฐท้องถิ่น เหมือนอำนาจท้องถิ่น เหมือนกับอำนาจท้องถิ่น ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ เจ้าฟ้านั้นคงมีอำนาจการปกครอง และการศาล ตามแต่รัฐมนตรีและสภาท้องถิ่น ถึงปี พ.ศ.๒๔๙๕ จนกว่าอำนาจของรัฐบาลจะสิ้นไป คงเหลือแต่อำนาจที่จะเลือกผู้แทนในชั้นสูงเท่านั้น
                           รัฐฉาน แบ่งการปกครองออกเป็นสามเขตคือ ใต้  เหนือ และตะวันออก แต่ละเขตมีผู้ปกครองคนหนึ่ง ซึ่งเขตดั้งเดิมยังคงมีอยู่เหมือนหน่วยเล็ก ๆ หน่วยหนึ่ง
                ๑๕๘๖. ฉาบ  เป็นชื่อเครื่องดนตรีประเภทตีประกอบจังหวะ ทำด้วยโลหะรูปร่างเป็นแผ่นกลม แต่มีปุ่มนูนขึ้นตรงกลาง เจาะรูตรงกลางปุ่มไว้ร้อยเชือก หรือเส้นหนังสำหรับถือตี ชุดหนึ่งมีสองอันเท่ากัน
                            ฉาบเล็ก  มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๒ ซม. เวลาบรรเลงมีหน้าที่ขัดจังหวะยั่วเย้าให้สนุกสนาน
                            ฉาบใหญ่  มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๕ ซม. เวลาบรรเลงมีหน้าที่ควบคุมจังหวะห่าง ๆ
                            ในไตรภูมิพระร่วงมีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวว่า "ตีกลองและฉิ่งแฉ่ง"  คำว่า แฉ่ง นี้ก็คือฉาบ เครื่องดนตรีประเภทนี้ใช้เรียกตามเสียง ในสมัยโบราณอาจตีเปิดเหมือนอย่างการบรรเลงของชาวจีน เสียงก็ดังแฉ่ง จึงเรียกว่า แฉ่ง  ส่วนสมัยต่อมาตีประกบกัน เสียงก็ดังฉาบจึงเรียกว่า ฉาบ           ๑๐/ ๕๘๙๔
                ๑๕๘๗. ฉายา ๑  เป็นคำภาษาบาลีแปลว่าเงาหรือร่มเงา บางครั้งใช้คำว่าฉาย เช่น ในสุธนคำฉันท์ว่า "พฤกษาทรสุมสาง   วิยะฉายกำบังบน" ในบทละครครั้งกรุงเก่าใช้หมายความว่านางผู้มีโฉมงาม มีใช้มากแห่งด้วยกัน เช่น ตอนที่กล่าวถึงนางมโนราห์ตอนหนึ่งว่า "เมื่อนั้น โฉมตรูผู้เจ้ามโนราห์ ได้ฟังถ้อยคำนางทาสา ฉายาเยื้องย่องเข้าห้องใน"         ๑๐/ ๕๘๙๕
                ๑๕๘๘. ฉายา ๒  เป็นชื่อพระภิกษุสามเณรที่พระอุปัชฌายะตั้งให้เมื่ออุปสมบทและบรรพชา โดยตั้งเป็นภาษาบาลีวิธีตั้งฉายา ท่านผู้รู้ได้วางระเบียบแบบแผนการตั้งฉายาขึ้นไว้คือ กำหนดเอาวันเกิดของผู้บรรพชา และอุปสมบทกับอักษรบาลีที่ถือกันว่าเป็นอักษรประจำวันนั้นขึ้นหน้าฉายา         ๑๐/ ๕๘๙๗
                ๑๕๘๙. ฉายา ๓  เป็นชื่อชายาของพระอาทิตย์นางหนึ่ง         ๑๐/ ๕๙๐๒
                ๑๕๙๐. ฉำฉา  ๑. พืชพันธุ์ชนิดหนึ่ง ใช้เรียกกันในภาคเหนือ และเป็นไม้ต้นเดียวกันกับต้นก้ามกราม ต้นก้ามปูที่เรียกกันในภาคกลาง (ดูคำก้ามปู - ลำดับที่ ๓๗๒)
                             ๒. เป็นคำใช้แผ่นกระดานหรือท่อนไม้เนื้ออ่อนของต่างประเทศที่ต่อเป็นหีบลังหรือภาชนะอื่น ๆ  ใช้บรรจุสิ่งของต่าง ๆ เข้ามาในประเทศไทย         ๑๐/ ๕๙๐๓
                ๑๕๙๑. ฉิ่ง  เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีประกอบจังหวะ ทำด้วยโลหะหล่อหนา รูปร่างกลมเหมือนฝาชี เจาะรูตรงกลางไว้ร้อยเชือกสำหรับถือตี สำรับหนึ่งมีสองฝา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจากขอบปากประมาณ ๖.๕ ซม. เวลาบรรเลงตีเป็นสองอย่าง ตีเบิกเสียงดังฉิ่ง และตีกดประกบกันเสียงดังฉับ  มีหน้าที่ควบคุมจังหวะของวงดนตรี ให้รู้ความช้าเร็ว และจังหวะหนักเบา ตีให้ดังฉิ่งในจังหวะเบา และตีให้ดังฉับที่จังหวะหนัก แต่บางเพลงตีแต่ฉับอย่างเดียวหรือฉิ่งอย่างเดียวก็มี         ๑๐/ ๕๙๐๓
                ๑๕๙๒. ฉิน  เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน (พ.ศ.๒๙๗ - ๓๓๗) ในสมัยราชวงศ์จิวหรือโจวนั้น ดินแดนในประเทศจีนแบ่งออกเป็นแคว้น แตกเป็นก๊กเป็นเหล่าจำนวนนับร้อย แต่ละแคว้นแต่ละก๊กต่างมีผู้ครองแค้วนซึ่งเป็นอิสระ อันเป็นเหตุให้การปกครองขาดความเป็นเอกภาพ มีการรบพุ่งระหว่างแคว้นอยู่เนือง ๆ จนกระทั่งปลายสมัยเลียดก๊ก จึงเหลือเพียงเจ็ดก๊ก และในที่สุดจิ้นซีฮ่องเต้ แห่งแคว้นฉินก็สามารถปราบปราม และรวบรวมดินแดนต่าง ๆ ไว้ได้
                             จิ้นซีฮ่องเต้ ได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ์ (ดูจิ้นซีฮ่องเต้ - ลำดับที่ ๑๔๐๗)  ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้น ทรงจัดระเบียบการปกครองเสียใหม่ ทรงเป็นนักเผด็จการเด็ดขาด จึงมิได้ใคร่ครวญคำนึงถึงประชาประสงค์และประชามติแต่อย่างใด ทรงให้เลิกระบบศักดินา แล้วแบ่งดินแดนออกเป็น ๓๖ จังหวัด (ภายหลังเพิ่มเป็น ๔๐ จังหวัด) ทุกจังหวัดมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากส่วนกลางไปปกครองดูแล ซึ่งมีสามตำแหน่งสูงสุด ในแต่ละจังหวัดคือ "โซ่ว" ทำหน้าที่และรับผิดชอบทางด้านกิจการฝ่ายพลเรือน "วี่" รับผิดชอบกิจการฝ่ายทหาร "เจี้ยน" มีหน้าที่สอดส่องตรวจตราการบริหารงานการปกครอง ของบรรดาเจ้าพนักงานในจังหวัดนั้น ๆ ทั้งสามตำแหน่งนี้รับผิดชอบ และขึ้นตรงต่อส่วนกลางโดยเด็ดขาด จึงนับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครอง จากแบบการกระจายจากศูนย์กลางมาเป็นแบบการบริหารจากศูนย์กลาง เพื่อให้การปกครองเป็นเอกภาพ ได้มีพระราชโองการให้ริบบรรดาอาวุธยุทธภัณฑ์และโลหะวัตถุ อันมีสภาพเป็นอาวุธทั้งปวงที่ราษฎรครอบครองอยู่มาเป็นของหลวง ทั้งให้ริบตำรับตำราของราษฎรทุกแขนง เหลือเฉพาะตำราสาขาแพทย์ศาสตร์ โหราศาสตร์ และเกษตรศาตร์เท่านั้น
                             จิ้นซีฮ่องเต้ ได้เสด็จออกตรวจราชการตามดินแดนต่าง ๆ อยู่เนืองนิจ เมื่อเหตุการณ์ภายในประเทศเป็นระบบเรียบร้อยดีแล้ว ก็ทรงแผ่ขยายอำนาจออกไปรอบ ๆ ราชอาณาจักร เช่นไปตีและขับไล่พวกฮั่น ออกจากทางภาคเหนือของจีนเป็นต้น มีการสร้างกำแพงยักษ์เพื่อป้องกันการรุกรานจากภายนอก
                             ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ฉินนับเป็นประเทศที่ใหญ่และทรงพลานุภาพมากที่สุดในทวีปเอเซีย แต่เมื่อพระองค์สวรรคต ในปี พ.ศ.๓๓๓ ครองราชย์ได้ ๓๗ ปี พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ครองราชย์ได้ ๓ ปี พวกขบถก็ยึดอำนาจได้สำเร็จ         ๑๐/ ๕๙๐๓
                ๑๕๙๓. ฉิมพลี  หมายถึง ไม้งิ้ว คำนี้ในวรรณคดีส่วนมากมักจะใช้สิมพลี คือต้นงิ้วซึ่งเป็นที่อยู่ของพระยาครุฑ
                             งิ้วมีทั้งในมนุษย์ สวรรค์ และนรก ในโลกมนุษย์งิ้วเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ (ดูงิ้ว - ลำดับที่ ๑๒๓๒) ในสวรรค์หมายเอางิ้วที่เป็นสถานที่อยู่ของพระยาครุฑ ซึ่งกล่าวว่าอยู่ในชั้นจาตุมหาราช ในนรกหมายเอานรกขุมที่มีการลงโทษด้วยให้ขึ้นต้นงิ้ว เพราะเหตุว่าประพฤติผิดในกาม         ๑๐/ ๕๙๐๕
                ๑๕๙๔. ฉีดยา  เป็นวิธีบริหารด้วยยาวิธีหนึ่งในหลายวิธีด้วยกัน  การฉีดยาทำได้หลายวิธีด้วยกันได้แก่ การฉีดเข้าไปในผิวหนัง การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การฉีดเข้าหลอดเลือดหรือหลอดเลือดแดงหรือหลอดน้ำเหลือง การฉีดเข้าบริเวณเส้นประสาท การฉีดเข้าข้อ การฉีดเข้าช่องเยื่อหุ้มปอด การฉีดเข้าโพรงไขกระดูก การฉีดเข้าโพรงหนองฝี และการฉีดเข้าช่องไขสันหลัง       ๑๐/ ๕๙๐๙
                ๑๕๙๕. ฉุยฉาย  ๑. เป็นชื่อเพลงดนตรีเพลงหนึ่ง สมัยโบราณใช้เป็นเพลงร้องอยู่ในตับมโหรี เช่น ตับเรื่องกากี
                             ตามแบบแผน เมื่อร้องเพลงฉุยฉายหน้าแล้ว ก็ต้องร้องเพลงแม่ศรีติดต่อกันไปและปี่ก็จะต้องเป่ารับเลียนถ้อยคำ และทำนองเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าฉุยฉายเป็นเพลงช้า และเพลงแม่ศรีเป็นเพลงเร็ว แต่เป็นเพลงเร็วสองชั้น เรียกตามหน้าทับว่าสองไม้
                             ๒. ท่ารำตามบทร้องและทำนองเพลงฉุยฉาย ในแบบที่มีปี่เป่ารับ การรำเพลงฉุยฉายจำต้องรำให้งดงาม ไปในเชิงพริ้งเพรา เพราะการรำเพลงฉุยฉายนี้มีความหมาย ไปในทางรู้สึกตื่นเต้น ที่ได้แต่งตัวสะสวย หรือกระหยิ่มใจในการที่ได้แปลงร่างกายได้งดงาม         ๑๐/ ๕๙๑๒
                ๑๕๙๖. ฉู่ฉี่  เป็นแกงคั่วชนิดหนึ่ง น้ำแกงข้นขลุกขลิก เครื่องปรุงน้ำพริกด้วยแกงเผ็ด แต่ไม่ใส่เครื่องเทศ แต่งหน้าใช้ใบมะกรูดหั่นฝอย แทนใบโหระพา         ๑๐/ ๕๙๑๔
                ๑๕๙๗. เฉลว  เป็นเครื่องหมายทำด้วยตอก หักขัดกันเป็นมุม ๆ ตั้งแต่ห้ามุมขึ้นไป ซึ่งแพทย์แผนโบราณใช้สำหรับปักหม้อยาต้ม และปักเป็นเครื่องหมายบอกขาย ปักบอกเขตก็ได้
                            เฉลวคือรั้วนั่นเอง ชาวอิสานเรียกว่าตะเหลว แล้วเพี้ยนเป็นตาเหลว      ๑๐/ ๕๙๑๕
                ๑๕๙๘. เฉลิมพระเกียรติ - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด วรวิหาร อยู่ ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี ริมฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา การสร้างวัดนี้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ถึงสถานที่อันเคยเป็นที่ตั้งป้อม มาแต่ครั้งโบราณ กำแพงรอบวัดก่ออิฐ ถือปูนมีใบเสมาเหมือนกำแพงพระราชวัง กับให้มีป้อมไว้ทั้งสี่ด้านด้วย         ๑๐/ ๕๙๑๖
                ๑๕๙๙. เฉลิมพระชนมพรรษา - พระราชพิธี  เป็นพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในอภิลักขิตสมัย คล้ายวันเสด็จพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร ตามวันทางสุริยคติ
                            พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เพิ่งเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่สี่ แต่ก่อนคือ แต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อถึงเดือนเก้า มีการพระราชพิธีอย่างหนึ่งเรียกว่า พระราชพิธีตุลาภาร คือ พระเจ้าแผ่นดินประทับบนตาชั่ง ท่ามกลางพระราชวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเอาเงินทองใส่ตาชั่งอีกข้างหนึ่ง ให้หนักเท่าพระองค์ แล้วพระราชทานเงินทองนั้นแก่พราหมณ์ พระราชพิธีนี้เลิกตั้งแต่สมัยอยุธยานั้นเอง
                            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันพระบรมราชสมภพ ตั้งแต่ยังทรงผนวชอยู่คือการสวดมนต์เลี้ยงพระ เพิ่งจะทรงทำเป็นพระราชพิธีใหญ่ เมื่อพระชนมายุครบ ๖๐ พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ถวายของเนื่องในงานนี้ได้ พวกจีนก็ถวายเทียน ดอกไม้และแพร กับทั้งได้มีการเสด็จออกมหาสมาคม ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ถวายพระพรชัยมงคล ทรงสดับพระธรรมเทศนา มีสรงพระมูรธาภิเษก มีการพระราชทานเหรียญทองคำ ตราพระมหามงกุฎแก่ข้าราชการ มีการจุดประทีปโคมไฟในพระบรมมหาราชวัง การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในรัชกาลต่อ ๆ มาก็ได้ถือแบบอย่างครั้งนั้น เป็นแนวปฎิบัติ
                            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ตามประทีปโคมไฟถวายพระพร ตามแบบอย่างเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
                            ในรัชกาลปัจจุบันมิได้มีการสรงพระมุรธาภิเษก เว้นแต่ในวาระพิเศษ         ๑๐/ ๕๙๑๙
                ๑๖๐๐. เฉียงพร้าคำ  เป็นพันธุไม้ในวงศ์เหงือกปลา หมอเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ เมตร พบตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ  ไป  ใบรูปรี ดอกสีขาวและชมพู ออกเป็นกระจุกบนช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง       ๑๐/ ๕๙๓๕
                ๑๖๐๑. เฉียงพร้านางแอ  เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ไม้โกงกาง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๒๐ เมตร เรือนยอดทึบแผ่กิ่งก้านสาขา พบทั่วไปตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้นทั่วประเทศ  ใบเดี่ยวอยู่ตรงข้ามิกัน ดอกสีขาวหม่น ออกเป็นช่อแน่นสั้น ๆ ตามง่ามใบ เนื้อไม้สีขาว เสี้ยนตรง เลื่อยผ่าง่าย ใช้ในการก่อสร้าง       ๑๐/ ๕๙๓๘
                ๑๖๐๒. เฉียงพร้ามอญ  เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์เหงือกปลาหมอ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มักปลูกกันทั่ว ๆ ไป โดยที่เชื่อกันว่าเป็นเครื่องปัดรังควาญจากภูติผี และใช้ทำยาแก้ปวดเมื่อยตามข้อ  ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปหอกแคบ ๆ ดอกสีขาวและชมพู ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง       ๑๐/ ๕๙๓๘
                ๑๖๐๓. แฉลบ ๑ - หอย  หอยชนิดนี้ได้ชื่ออานม้า เพราะรูปคล้ายอานจริง เก็บได้จากเกาะช้างใน จ.ตราด        ๑๐/ ๕๙๔๐
                ๑๖๐๔. แฉลบ๒  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ตามต้นมีหนามเป็นแท่งแหลมแข็ง ตามกิ่งหนามสั้น และอ่อนกว่าตามลำต้น ใบคล้ายใบมะขาม ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกกระถินเล็ก ๆ สีเหลือง บางท้องถิ่นเรียกกระถินพิมาน         ๑๐/ ๕๙๔๐
                ๑๖๐๕. โฉนด  เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ซึ่งออกในปี พ.ศ.๑๙๐๓ ระบุหลักฐานสำคัญอันหนึ่ง เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ไว้ที่เรียกกันว่า "โฉนด"           ๑๐/ ๕๙๔๐
                ๑๖๐๖. โฉลก  แปลว่า ช่อง โอกาส เหมาะ ดี คุณ สิริ มงคล ราศี ฯลฯ เป็นคำใช้ทางโหราศาสตร์ และในทางไสยศาสตร์ หรือการทำเคล็ดต่าง ๆ  ในตำราโหราศาสตร์มีใช้หลายอย่าง        ๑๐/ ๕๙๔๖
                ๑๖๐๗. ไฉน - ปี่  เป็นปี่ของไทยชนิดหนึ่ง ทำเป็นสองท่อนสวมกัน ท่อนบนเรียกว่า "เลา" มีลักษณะยาวเรียว มีรูกลวงทะลุตลอดเลา เจาะรูสำหรับปิดเปิดนิ้วให้เป็นเสียงสูงต่ำ ท่อนล่างเรียก "ลำโพง" เพราะมีลักษณะปลายบานออกคล้ายดอกลำโพง ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อนกันสี่ชั้น
                           ปี่ไฉนสมัยปัจจุบัน ใช้บรรเลงร่วมกับกลองชนะ ในการประโคม หรือนำขบวนแห่พระบรมศพ และศพเจ้านาย ผู้เป่าเรียกว่า "จ่าปี่" คู่กับผู้ตีเปิงบาง ซึ่งเรียกว่า "จ่ากลอง"
                           ในการบรรเลงร่วมกับกลองชนะนี้ ถ้าเป็นขบวนเสด็จพยุหยาตราใช้ปี่ชวา ไม่ใช้ปี่ไฉน
                           สมัยโบราณปี่ไฉน อาจบรรเลงรวมอยู่ในวงมโหรีด้วย ต่อมาคงเห็นว่าเสียงดังเกินไป จึงเอาออกเสีย          ๑๐/ ๕๙๔๙
     
     


    ช.

                ๑๖๐๘. ช.พยัญชนะตัวที่สิบของพยัญชนะไทย เป็นตัวที่สามในวรรคที่สอง นับเป็นพวกอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด ในคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ฐานกรณ์คือ ตำแหน่งที่เกิดของเสียงตัว ช ในภาษาบาลีและสันสกฤต ตัว ช เป็นพวกตาลุชะ คือมีเสียงเกิดแต่เพดาน เป็นพยัญชนะสิกิลโฆษะคือ มีเสียงเบาและก้อง  หน้า ๕๙๕๓
                ๑๖๐๙. ชงโค  เป็นชื่อใช้เรียกพันธุ์พืชสองสามชนิดที่เป็นไม้ต้น เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ที่เรียกว่าชงโค อาจเป็นเพราะใบมีลักษณะคล้ายกีบโคก็ได้  ดอกออกเป็นช่อ มีขนาดใหญ่คล้ายดอกกล้วยไม้ มีสีสันต่าง ๆ ขาว ม่วง แดง           หน้า ๕๙๕๒
                ๑๖๑๐ ชงโลง ๑  เป็นเครื่องมือวิดน้ำชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ บางครั้งก็ใช้สังกะสีเรียบ ทำรูปคล้ายเรือครึ่งท่อน ยาวประมาณ ๑.๒๐ เมตร ปากที่เปิดกว้างประมาณ ๔๐ ซม.ผูกแขวนเข้ากับขาหยั่ง ด้านที่ปิดตัน มีด้ามสำหรับถือสำหรับจับด้ามวิดน้ำเข้าสู่ที่ต้องการ          ๑๐/ ๕๙๕๓
                ๑๖๑๑. ชงโลง ๒ ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาแขยง แต่มีหนวดคล้ายปลากด (ทะเล) เป็นปลาน้ำจืด มีชื่อสามัญว่า ปลาแขยง  เป็นปลาไม่มีเกล็ด        ๑๐/ ๕๙๕๓
                ๑๖๑๒. ชฎา  เป็นเครื่องสวมศีรษะ ในการแสดงโขน ละคร เฉพาะตัวพระ (ชาย) ที่มีฐานะเป็นกษัตริย์ หรือราชวงศ์ชั้นสูง และเป็นเครื่องอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ รองจากพระมหามงกุฎ ลักษณะมียอดแหลมคล้ายมงกุฎ แต่ยังมีชฎาพิเศษที่ยอดไม่แหลมเหมือนปกติได้แก่ ชฎาเดินหน ยอดค่อนข้างแบน เอนฉลวยไปข้างหลัง ชฎากลีบ มียอดเหมือนชฎาเดินหน แต่แทนที่จะเขียนลายก็แกะสลักเป็นกลีบ ชฎาแปลง ยอดมีลักษณะเดียวกัน แต่ไม่มีลายเขียน และลายแกะสลัก ชฎาพระมหากฐินมีห้ายอด ยอดกลางสูงอีกสี่ยอดเล็ก และต่ำกว่า ปักขนนกการเวก หรือดอกไม้ทอง ซึ่งทำด้วยขนนก ชฎาพอก สำหรับสวมพระศกเจ้านาย ลงมาถึงขุนนางที่ได้รับเกียรติบรรจุโกศในสมัยโบราณ เป็นชฎาที่ทำด้วยกระดาษ รูปร่างอย่างตะลอมพอก แต่เกี้ยวและดอกไม้ไหว ทำด้วยทองคำ หรือเงินรัดเป็นเครื่องประดับ         ๑๐/ ๕๙๕๕
                ๑๖๑๓. ชฎิล ๑  เป็นนักพรตพวกหนึ่งของอินเดียโบราณ บางทีเรียก ชฎิลดาบส มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คู่กันไปกับพวกปริพาชก อาชีวก และพวกนิครนถ์ ชฎิล ที่เข้าอุปสมบทในพระพุทธศาสนาที่นับว่าสำคัญได้แก่ กัสสปชฎิล สามพี่น้อง ที่พุทธเจดีย์ ที่สาญจิ ในอินเดีย มีรูปแกะสลัก การเทศนาโปรดอุรุเวล กัสสป ด้วย          ๑๐/ ๕๙๕๘
                ๑๖๑๔. ชฎิล ๒  เป็นชื่อมหาเศรษฐีคนหนึ่ง ในแคว้นมคธ ในสมัยพระเจ้าพิมพิสาร ได้รับตำแหน่งเป็นขุนคลังของพระเจ้าแผ่นดิน จนกระทั่งมีอายุแก่มาก จึงมอบสมบัติให้ลูกชายคนเล็ก แล้วได้เข้าอุปสมบทเป็นภิกษุ ในพระพุทธศาสนา และบรรลุพระอรหัตผลในที่สุด         ๑๐/ ๕๙๕๙
                ๑๖๑๕. ชดายุ  เป็นพญานกตัวใหญ่มหึมามีพี่ชายชื่อ สัมปาตี บิดาคือ อรุณเทพ ชดายุ เป็นสหายของท้าวทศรถด้วย จึงสมัครเป็นผู้พิทักษ์นางสีดา ระหว่างที่พระรามและพระลักษณ์ออกไปหาผลไม้ เมื่อราพณืลักพานางสีดา ขึ้นรถเหาะไปในอากาศ ชดายุเข้าขัดขวาง และได้ต่อสู้กับราพณ์ถูกราพณ์ ทำร้ายตกลงยังพื้นดิน พระราม พระลักษณ์ ไปพบทราบเรื่อง การลักพานางสีดาจากชดายุ แล้วออกติดตามนางสีกา ต่อไป         ๑๐/ ๕๙๐๐
                ๑๖๑๖. ชนก ๑ - ท้าว  เป็นกษัตริย์ผู้ครองมิถิลา ต่อมาออกบวชเป็นฤษี ไปสรงน้ำพบผอบ ซึ่งทศกัณฐ์ใส่นางสีดา ลอยมาในแม่น้ำ พระฤษีชนกจึงเก็บเอาไปไว้เลี้ยง ต่อมาพระชนกฤาษีเกิดความเบื่อหน่ายในพรต จึงกลับไปครองเมืองใหม่ พานางสีดาธิดาบุญธรรมกลับเข้าเมืองด้วย         ๑๐/ ๕๙๖๑
                ๑๖๑๗. ชนก ๒หรือมหาชนก - ชาดก  เป็นเรื่องหนึ่งในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต คัมภีร์ขุททกนิกาย, สุตตันตปิฏก กล่าวถึงพระมหาชนกว่าเป็น พระโพธิสัตว์ นับเป็นพระเจ้าชาติที่สอง ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพุทธจริยาในอดีตชาติ ตามชาดกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยปรมัตถบารมี และเนกขัมปรมัตถบารมี
                           เมื่อพระมหาชนกได้ทรงเป็นกษัตริย์ครองกรุงมิถิลานคร แล้วก็ได้ให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรตลอดมา โปรดให้สร้างศาลาทานไว้หกแห่ง ทรงบริจาคมหาทานเป็นประจำ เมื่อพระองค์ทรงหวนระลึกถึงคราวที่พระองค์ พยามยามว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร หลังจากเรือแตกอย่างไม่ท้อถอย จนนางมณีเมขลาเห็นความอุตสาหะ อันแรงกล้าได้พาข้ามมหาสมุทรไปจนสำเร็จ เพราะความพยายามที่ทำมานั้น เป็นเหตุให้ได้รับผลคือ ครองราชสมบัตินี้ เมื่อทรงหวนระลึกไปก็ทรงปิติโสมนัส ทรงเปล่งพระอุทานด้วยความปิติว่า
                            "ลูกผู้ชายควรหวังเข้าไว้ ไม่ควรเบื่อหน่ายในการงาน... คนมีปัญญาแม้ได้รับทุกข์ ก็ไม่ควรสิ้นความหวังที่จะให้ได้รับสุข คนส่วนมากเมื่อได้รับทุกข์ ก็ทำแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เมื่อได้รับความสุข จึงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ"         ๑๐/ ๕๙๖๔
                ๑๖๑๘. ชนไก่ ๑  ภูเขาใน ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี สูง ๒๗๐ เมตร บนยอดเขามีที่ราบเตียนอยู่ตอนหนึ่ง กลางลานหินมีหินทรายรอบเป็นคัน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร และมีหลักหินปักอยู่หลักหนึ่ง มีบ่อกว้าง ๑.๕ เมตร ลึก ๒.๐๐ เมตร อยู่ใกล้ ๆ กัน กล่าวกันว่า เป็นที่ชนไก่ของขุนแผน และมีเจดีย์สูง ๕.๐๐ เมตร         ๑๐/ ๕๙๗๑
                ๑๖๑๙. ชนไก่  ๒  ได้แก่ การเอาไก่มาตีหรือต่อสู้กัน การชนไก่เป็นทั้งกีฬาและการพนัน
                           ไก่ชนเป็นไก่พื้นเมืองชนิดหนึ่ง ไทยเรียกว่า ไก่อู  จะคัดเอาตัวผู้ที่มีพ่อไก่เป็นไก่ชน จากนั้นพิจารณาคัดเลือกตามลักษณะอย่างอื่น อันเป็นการเฉพาะตัว แล้วเอามาเลี้ยงเป็นพิเศษ
                           การชนไก่ของไทยมีมาแล้วแต่โบราณ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่          ๑๐/ ๕๙๗๒
                ๑๖๒๐. ชนโค  เป็นกีฬาพื้นเมืองชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้ เรียกกันเป็นสามัญว่า ชนงัว
                           โค หรืองัว ที่ใช้ชนต้องเป็นพันธุ์วัวชนโดยเฉพาะ เช่น พันธุ์โคอุสุภราช พันธุ์โคนิล ลักษณะดีตามสัตว์ ซึ่งมีอยู่เจ็ดสี มีตีนด่าง หางดอก โหนกพาดผ้า หน้าใบโพ         ๑๐/ ๕๙๗๙
                ๑๖๒๑. ชนแดน  อำเภอ ขึ้น จ.เพชรบูรณ์ เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.เมืองเพชรบูรณ์ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ภูมิประเทศเป็นเขาปนป่า        ๑๐/ ๕๙๘๗
                ๑๖๒๒. ชนบท  อำเภอ ขึ้น จ.ขอนแก่น เดิมเป็นเมืองตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เรียกว่า เมืองชนบท เปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๕ - ๒๔๖๙  ได้ยกฐานะท้องที่ด้านตะวันออกของ อ.ชนบท ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า กิ่ง อ.บ้านไผ่ ขึ้น อ.ชนบท ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้ยุบ อ.ชนบท ลงเป็นตำบลขึ้น อ.บ้านไผ่ ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙
                           ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มและป่าโปร่ง       ๑๐/ ๕๙๘๕
                ๑๖๒๓. ชนเมชัย  เป็นชื่อกษัตริย์องค์หนึ่งของอินเดียโบราณ ในสายจันทรวงศ์และเป็นเหลนของอรชุน ซึ่งเป้นนักรบคนสำคัญที่สุด ของเรื่องมหาภารต
                            ประเพณีอินเดียถือว่า ชนเมชัยเป็นคนแรกที่ได้ฟังเรื่องมหาภารต ที่วยาสฤษี ประพันธ์ขึ้น และคัมภีร์มหาภารตนี้ ก็ได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันแต่นั้นมา         ๑๐/ ๕๙๙๑


    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch