หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/31
    ๑๕๑๗. เจ้า ๑  หมายถึง เชื้อสายของพระเจ้าแผ่นดิน และของเจ้านาย            ๙/ ๕๕๗๖
                        ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งได้ตั้งขึ้นแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๙๐๑ ภายหลังสร้างกรุงแล้ว ๘ ปี ได้แบ่งเจ่าออกเป็นสี่ชั้นคือ
                                ๑. ชั้นที่ ๑  ได้แก่ พระเจ้าลูกเธอ เกิดด้วยพระอัครมเหสี เรียกว่า สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า มียศใหญ่กว่าเจ้านายทั้งปวง ต้องอยู่ในเมืองหลวง
                                ๒. ชั้นที่ ๒  ได้แก่ ลูกหลวงเอกซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน และพระมารดาต้องเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน พระเจ้าลูกเธอชั้นนี้มียศได้กินเมืองเอกคือ เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองนครราชสีมา เป็นต้น
                                ๓. ชั้นที่ ๓  ได้แก่ ลูกหลวงโทซึ่งเป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินที่เกิดแต่พระมารดาเป็นหลานหลวงคือ หลานพระเจ้าแผ่นดินสายตรง มียศกินเมืองโทอย่างเมืองสวรรคโลก เมืองสุพรรณ เป็นต้น
                                ๔. ชั้นที่ ๔  ได้แก่ พระเยาวราชคือ เจ้าผู้น้อย ได้แก่ พระราชโอรสที่เกิดด้วยพระสนม ไม่ได้กินเมือง
                                เจ้าทั้งสี่ชั้นนี้เป็นลูกหลวงทั้งสิ้น  เจ้าที่ถือว่าเป็นชั้นพระองค์เจ้ามีทั้งหมด ๒๐ ชั้นด้วยกัน เป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ๑๐ ชั้น พระองค์เจ้าชั้นโท ๗ ชั้น และพระองค์เจ้าชั้นตรี ๓ ชั้น  เจ้าชั้นที่ถัดตกชั้นพระองค์เจ้าลงไปเป็นหม่อมเจ้า มีศักดินา ๑,๕๐๐ ลูกของหม่อมเจ้าเป็นหม่อมราชวงศ์ มีศักดินา ๕๐๐  ลูกของหม่อมราชวงศ์เป็นหม่อมหลวง มีศักดินา ๔๐๐
                ๑๕๑๘. เจ้า ๒  หมายถึงเทพารักษ์ จัดเข้าอยู่ในพวกผีธรรมชาติหรือเทวดาพวกหนึ่งไม่ใช่เทวดาชั้นสูงเช่น เจ้าพ่อหลักเมือง เจ้าทุ่ง เจ้าท่า เจ้าป่า เจ้าเขา เป็นต้น            ๙/ ๕๕๙๐
                ๑๕๑๙. เจ้ากรม  คำนี้ปรากฏตามหลักฐานว่าได้มีใช้มาแล้วแต่โบราณ เท่าที่พบมีอยู่ในทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหาร และพลเรือนซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงบัญญัติขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ เช่น เจ้ากรมมหาดไทย (ฝ่ายพลำภัง, ฝ่ายตำรวจภูธร)  เจ้ากรมอาญาวิเศษ (ขวา, ซ้าย)
                        ประเพณีเรียกพระนามเจ้านายเป็นกรมต่าง ๆ เพิ่งปรากฏในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ตั้งแต่ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ เป็นเจ้ากรมหลวงโยธาทิพ  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี เป็นเจ้ากรมหลวงโยธาเทพ            ๙/ ๕๕๙๑
                ๑๕๒๐. เจ้าขว้าว - ด่าน  เป็นชื่อด่านซึ่งเป็นทางเดินทัพของพม่าในสมัยโบราณ นัยว่าอยู่ริมแม่น้ำภาชี ในจังหวัดราชบุรี ทางตะวันตก            ๙/ ๕๕๙๓
                ๑๕๒๑. เจ้าครอก  เป็นคำสำหรับเรียกผู้มียศในราชสกุล แม้เจ้านายที่ทรงศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้า แต่โบราณก็เรียกกันว่า เจ้าครอกฟ้า            ๙/ ๕๕๙๔
                ๑๕๒๒. เจ้าคุณ  คำนี้แต่เดิมน่าจะเป็นคำสำหรับคนทั้งหลาย เรียกยกย่องซึ่งหมายความว่า เป็นเจ้าโดยคุณหาได้เป็นยศ บรรดาศักดิ์ไม่ และน่าจะมีประเพณีใช้คำนี้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
                        คำเจ้าคุณ ที่เป็นคำเรียกผู้มีบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่ชั้นพระยาขึ้นไปนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เดิมเห็นจะเรียกแต่เฉพาะ ผู้ที่เป็นเจ้าพระยา ภายหลังเรียกเจ้าคุณลงมาถึงขุนนางผู้ใหญ่ชั้นพระยา ที่ได้รับพานทองเครื่องยศ พระยาสามัญหาเรียกเจ้าคุณไม่ ที่มาเรียกพระยาทุกชั้นว่า เจ้าคุณ ดูเหมือนจะเกิดในรัชกาลที่ ๖ ส่วนพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระราชาคณะ ที่เรียกเจ้าคุณนั้น  เดิมทีเห็นจะเรียกแต่ที่เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ต่อมาก็จะเพิ่มลงมาเรียกเพียง พระราชาคณะผู้ใหญ่ แล้วต่อมาเลยเรียกพระราชาคณะทุกชั้นว่า เจ้าคุณ
                        สำหรับคำเจ้าคุณ ซึ่งเป็นยศบรรดาศักดิ์ฝ่ายในนั้น มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ  และในรัชสมัยพระเสือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
                ๑๕๒๓. เจ้าจอม, เจ้าจอมมารดา, เจ้าคุณจอมมารดา, จอม, จอมมารดา  คำเหล่านี้เป็นคำนำหน้านามสตรี บรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายใน
                        ประเภทที่เรียก พระสนม นั้น แบ่งเป็นสามชั้นคือ พระสนมเอก พระสนมโท และพระสนมตรี บรรดาพระสนมเหล่านี้ จะโปรดเกล้า ฯ ให้สูงศักดิ์ขึ้นตามศักดิ์เดิมของตระกูลบ้าง ตามความดีความชอบ ที่ทรงโปรดปรานบ้าง ชั้นแรกโปรดให้อยู่ในตำแหน่งเจ้าจอม เมื่อมีพระราชโอรส พระราชธิดา ก็โปรดให้อยู่ในตำแหน่ง เจ้าจอมมารดา เจ้าคุณจอมมารดา
                       พระภริยาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็เรียกว่า เจ้าจอม เจ้าจอมมารดา และเจ้าคุณจอมมารดา            ๙/ ๕๕๙๙
                ๑๕๒๔. เจ้าเซ็น  หมายถึง คนพวกหนึ่งถือลัทธิอิสลาม ซึ่งนับถืออิหม่าม ฮูเซ็น ผู้เป็นหลานตา ของพระมะหะหมัด อย่างหนึ่ง หมายถึง บุคคลชื่อ อิหม่ามฮูเซ็น ที่เป็นหลานพระมะหะหมัด อย่างหนึ่ง และหมายถึง เพลงไทยเพลงหนึ่ง
                                อิหม่ามฮูเซ็น  เป็นหลายพระมะหะหมัด (นบี มูฮำมัด - เพิ่มเติม)  เมื่อพระมะหะหมัด ล่วงลับไปแล้ว อาบูบากร์ ผู้เป็นพ่อตาของพระมะหะหมัด ได้ปกครองอาณาจักร และอิสลามิกชนสืบต่อมา แต่ได้บัญญัติคำเรียกตำแหน่งที่ดำรงอยู่ใหม่ว่า กาลิฟา หรืออย่างที่ไทยเรียกว่า กาหลิบ อาบูบากร์ ดำรงตำแหน่งกาหลิบอยู่สองปี ก็ถึงแก่กรรม โอมาร์ได้ขึ้นเป็นกาหลิบ ดำรงตำแหน่งอยู่สิบปีก็ถึงแก่กรรม โอธมานขึ้นเป็นกาหลิบ อยู่สิบสองปีก็ถึงแก่กรรม อาลีจึงได้เป็นกาหลิบ ท่านผู้นี้เป็นบุตรเขยของพระมะหะหมัด และเป็นบิดาของอิหม่ามฮูเซ็น
                                เมื่อกาหลิบอาลี ขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว โมอะวิยะ ซึ่งเคยร่วมคณะบุคคลสำคัญของพระมะหะหมัดสมัยแรก แต่ถูกพระมะหะหมัดขับไล่ออกไปจากคณะ เพราะมีความผิด และเป็นศัตรูกับกาหลิบอาลี ได้ไปซ่องสุมผู้คนตั้งตนเป็นอิสระ ได้ยกกำลังเข้าตีเมืองเมดินะ ถึง ๒๓ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จจึงใช้อุบายมอบหญิงงานให้แก่ นายม้า ของกาหลิบอาลี แล้วแนะนำให้ลอบฆ่ากาหลิบอาลี ขณะที่เข้าไปสวดมนต์ในมัสยิด จากนั้น โมะอะวิยะ ก็ยกกำลังเข้ายึดกรุงเมดินะได้ สถาปนาตนเอง เป็นกาหลิบ ย้ายนครหลวงไปดามัสกัส พร้อมกับเปลี่ยนวงศ์กาหลิบใหม่เป็น โอมัยยาท
                                กาหลิบโมอะวิยะ ดำรงตำแหน่งอยู่ ๒๐ ปี ก็ถึงมรณกรรม ยาซิดผู้เป็นบุตร ขึ้นดำรงตำแหน่งยาซิดเคยเป็นอริกับหะซัน และฮูเซ็นมาก่อน พอยาซิดได้เป็นกาหลิบ หะซันก็ตั้งตนเป็นกาหลิบ ครองกรุงเมตินะ ยาซิดจึงส่งนางยะดา มาเป็นอนุภรรยาหะซัน และลอบวางยาพิษหะซัน ถึงแก่มรณกรรม ฮูเซ็นจึงเป็นกาหลิบ ครองกรุงเมตินะ สืบต่อมา ยาซิดออกอุบายฆ่าฮูเซ็น ที่ทุ่งกัตบาลา เมื่อปี พ.ศ.๑๒๒๓ ทหารของยาซิด ตัดศีรษะและมือของฮูเซ็น เอาศีรษะไปให้ยาซิด เอามือทิ้งไว้ข้างศพ
                                พวกที่นับถือกาหลิบอาลี พากันโกรธแค้น ตั้งตนเป็นศัตรูไม่ยอมรับยาซิดเป็นกาหลิบ แล้วแยกลัทธิศาสนาออกมาเป็น นิกายชีเอต์ (ชีอะห์)  คือ พวกเจ้าเซ็นขึ้นมา พวกนี้นับถือว่าวงศ์กาหลิบอาลี ซึ่งเป็นบุตรเขยพระมะหะหมัด และเป็นบิดาของฮูเซ็น เป็นอิหม่าม ที่แท้จริงสืบต่อจากพระมะหะหมัด นี้คือที่มาของลัทธิเจ้าเซ็น ที่ศาสนาอิสลามเกิดแบ่งแยกลัทธิขึ้นในครั้งแรก
                                พวกซิเอต์ ยึดถือกันว่าอิหม่ามมีจำนวนสิบสองคน คนสุดท้ายชื่อ อาบูเอลกาซิม ที่จะมาเป็นอิหม่ามในวันข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีคณะบัณฑิตเรียกว่า มูเชตนีทส์ เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในข้อพิพาท หรือข้อเคลือบคลุมในลัทธิ กับมีพิธีเต้นเจ้าเซ็น เพื่อเป็นการระลึกถึงวันมรณกรรมของฮูเซ็น ในเดือนโมหร่ำ (มะหะหร่ำ มุหัรรอม)            ๙/ ๕๖๐๒
                ๑๕๒๕. เจาตากวน  เป็นชื่อทูตพานิชจีนคนหนึ่ง ในคณะทูตจีนที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศกัมพูชา ในสมัยโบราณและได้บันทึกเหตุการณ์ และขนบธรรมเนียมของกัมพูชาสมัยนั้น ไว้อย่างละเอียดมีความว่า
                        กองทัพมองโกลขนาดย่อม ได้ยกทัพจากจัมปาเข้าไปในกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๒๘ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ของกัมพูชาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิ์กุบไลข่าน ปี พ.ศ.๑๘๓๘ พระองค์ได้สละราชสมบัติให้แก่พระเจ้าศรินทรวรมัน (พ.ศ.๑๘๓๘ - ๑๘๗๐)  ผู้เป็นพระราชบุตรเขย ในปีนี้เองที่กัมพูชาได้ต้อนรับคณะทูตจีน ซึ่งมีเจาตากวน เป็นทูตพานิชรวมอยู่ด้วย
                        เจ้าตากวน ยังคงเรียกชื่อประเทศกัมพูชาว่า เจนละ อยู่ แต่เรียกประชาชนว่า ชาวกัมพูชา เจาตากวนได้พรรณาเรื่องเมืองหลวง ของกัมพูชาไว้ค่อนข้างละเอียดคือ ปราสาทนครวัด กับปราสาทบายน ปราสาทบาปวน พิมานอากาศ ปราสาทพนมบาเก็ง บาราย
                        บรรดาบ้านทั้งหลายหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ชาวกัมพูชาผิวหยาบ และดำมาก แต่พวกผู้หญิงที่อยู่ในวัง หรือคฤหาสน์ใหญ่ ๆ ผิวขาวดังหยก ผู้หญิงเปลือยอก เดินเท้าเปล่า การแต่งกายแตกต่างกันไปตามฐานันดร และฐานะ ผ้าดีที่สุดโดยเฉพาะผ้าไหม ได้ไปจากเมืองไทย คนทั้งหลายเกล้าผมมวย แต่ไม่มีเครื่องประดับศีรษะ แม้แต่พวกผู้หญิง คนงาน ก็สวมแหวนและกำไลทองคำ
                        ในด้านภาษาเจาตากวน บอกว่าภาษาของชาวกัมพูชาคล้ายคลึงกับภาษาของพวกจามและไทย ระเบียบแห่งถ้อยคำแตกต่างจากของจีนมาก พวกขุนนาง นักปราชญ์ และพระต่างก็มีภาษาของตนโดยเฉพาะภาษาที่พูดกันในเมือง กับชนบทก็ไม่เหมือนกัน
                        ด้านกองทัพ ทหารเดินเปลือยกายและเท้าเปล่า มือขวาถือหอก มือซ้ายถือโล่ ชาวกัมพูชาไม่มีคันธนู หรือลูกศร ไม่มีปืนใหญ่ ไม่มีเกราะหรือหมวกเหล็กใช้             ๙/ ๕๖๐๕
                ๑๕๒๖. เจ้าท่า - กรม  ในสมัยโบราณมิได้เรียก กรมเจ้าท่า อย่างเช่นในปัจจุบัน แต่เรียกกันว่า เจ้าภาษี บ้าง นายอากร บ้าง นายด่าน บ้าง และนายขนอนตลาด บ้าง ซึ่งทั้งหมดมีหน้าที่ราชการอย่างเดียวกันคือ บังคับการจอดทอดสมอเรือค้าขาย เก็บค่าธรรมเนียม เรือค้าขายที่เข้าและออกราชอาณาจักร โดยขึ้นอยู่ในความปกครองและบังคับบัญชาของกรมพระคลัง
                        ส่วนคำว่า กรมท่า แต่เดิมคงหมายถึง เจ้าท่าตามระบบเก่า หากแต่มีความหมายกว้างขวางออกไปอีก กรมท่าเป็นส่วนราชการซึ่งมีมาแล้ว แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
                                เจ้าท่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ตามประวัติศาสตร์ คำ "เจ้าท่า" มีมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แล้ว ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา เจ้าท่าซึ่งขณะนั้น เรียกกันว่า นายอากร นายด่าน นายขนอนตลาด และมีหน้าที่บังคับการจอดทอดสมอของเรือเก็บค่าธรรมเนียมแก่เรือค้าขายที่เข้าออกน่านน้ำ ราชอาณาจักรซึ่งขึ้นอยู่ในความปกครอง และบังคับบัญชาของกรมพระคลังตลอดมา
                                เจ้าท่าสมัยกรุงธนบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เริ่มกิจการเจ้าท่าขึ้นใหม่ โดยเริ่มตั้งกรมเจ้าท่า เพื่อดูแลตรวจตราบรรดาเรือแพ และเก็บเงินค่าธรรมเนียมเรือ ที่ไปมาค้าขายและเรือที่เข้าออกประเทศไทย
                                เจ้าท่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ มีพ่อค้าชาติต่างๆ เช่น อาหรับ อินเดีย ชวา มลายู จีนและญี่ปุ่น เข้ามาทำการค้าขายเป็นจำนวนมาก พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯให้ขุนแกล้วกลางสมุทร เป็นเจ้าพนักงาน คุมเรือสำเภาหลวงไปค้าขายทางเมืองแขก และเมืองจีน ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระวิเศษภาษา ฯ ให้เป็นเจ้าท่าเมืองนครศรีธรรมราช
                                กิจการเจ้าท่าของไทยได้เจริญมาตามลำดับ และนับแต่ เซอร์ จอห์น บาวริง เข้ามาขอทำสัญญาเลิกวิธีการค้าแบบโบราณ ตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีเรือค้าขายของประเทศต่าง ๆ เข้ามาในกรุงเทพ ฯ เป็นจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ กิจการของกรมท่าก็เพิ่มพูนมากขึ้น จึงได้จัดงานของกรมท่าออกเป็นสามฝ่าย เรียกว่า กรมท่ากลาง กรมท่าซ้าย และกรมท่าขวา  กรมท่ากลางมีหน้าที่เป็น กองกลางรับหน้าที่ส่วนใหญ่ในกิจการทั่วไป และติดต่อกับฝรั่งชาวยุโรป กรมท่าซ้าย ติดต่อกับคนจีน กรมท่าขวา ติดต่อกับคนแขก และมีหน้าที่ชำระความของคนต่างชาติด้วย
                                เมื่อมีเรือค้าขายเข้ามากรุงเทพ ฯ มากขึ้น ก็จำเป็นต้องปรับปรุงกิจการฝ่ายเจ้าท่าให้เหมาะสม เช่น  การท่าเรือ การท่ารอง การทำเครื่องหมายทางเรือ และการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเดินเรือ ทางราชการจึงได้จัดหาชาวยุโรปมาช่วยราชการของกรมท่า ฝ่ายเจ้าท่า ได้ตกลงจ้างกัปตัน จอห์น บุช ชาวอังกฤษ มาเป็นผู้ริเริ่มงานฝ่ายเจ้าท่าขึ้นกับกรมท่ากลาง กัปตันบุชรับราชการจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ ในปี .ศ.๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดให้ กัปตันบุชจัดสร้างประภาคารขึ้นที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ฯ และวางสามขาทุ่น เครื่องหมายร่องน้ำทางเดินเรือ ตั้งแต่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามชายฝั่งทะเลตะวันออกไปถึงเขต จ.ระยอง
                                เจ้าท่าเดิมอยู่ในกรมพระคลัง ต่อมาย้ายมาขึ้นกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมมีชื่อว่า กรมท่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ได้ย้ายไปขึ้นกระทรวงโยธาธิการ ปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้ยุบตำแหน่งเจ้าท่าเป็นตำแหน่ง เวรท่า พ.ศ.๒๔๓๙ ยกฐานะเวรท่า ขึ้นเป็น กรมเจ้าท่า พ.ศ.๒๔๔๔ ย้ายสังกัดกรมเจ้าท่าไปขึ้นกระทรวงนครบาล พ.ศ.๒๔๔๘ กรมเจ้าท่าได้ยกฐานะเป็นกรมชั้นอธิบดี  และได้มีการตรา พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ร.ศ.๑๒๔๓ ได้เริ่มมีการปรับปรุงกิจการกรมเจ้าท่าขึ้นใหม่ โดยยกเอางานบางส่วนจากกรมคลองเดิม มารวมกับกรมเจ้าท่า พ.ศ.๒๔๕๖  มีการตรา พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยขึ้นใหม่ และยกกระทรวงนครบาล ไปสังกัดรวมกับกระทรวงมหาดไทย             ๙/ ๕๖๒๐
                ๑๕๒๗. เจ้าที่  เป็นเทวดารักษาพื้นที่ หรือเทพารักษ์ประจำพื้นที่ของบ้าน โดยมาเรียกว่า พระภูมิ หรือพระภูมิเจ้าที่
                        ตามปกติชาวบ้านเมื่อปลูกสร้างบ้านเรือนแล้ว มักจะตั้งศาลขึ้นไว้ประจำบ้านเพื่อให้เป็นที่สิงสถิตของเทวดา ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของที่นั้น และทำพลีบูชาตามกาลเวลา เทวดาซึ่งอยู่ในศาลนี้เรียกว่า พระภูมิเจ้าที่
                        ในตำราพระภูมิเจ้าที่กล่าวว่า พระภูมิเจ้าที่มีอยู่ด้วยกันเก้าองค์คือ
                                ๑. พระภูมิบ้านเรือน
                                ๒. พระภูมิรักษาประตู และหัวกระได ตรงกับทวารารักษ์ หรือทวารบาลของอินเดีย และจีน โบราณห้ามไม่ให้เหยียบธรณีประตู เพราะถือว่าตรงนั้นเป็นที่อยู่ของท่าน
                                ๓. พระภูมิรักษาโรงบ่าวสาว หรือเรือนหอ
                                ๔. พระภูมิโรงวัวควาย
                                ๕. พระภูมิยุ้งข้าว
                                ๖. พระภูมินา
                                ๗. พระภูมิสวน
                                ๘. พระภูมิลาน
                                ๙. พระภูมิวัด            ๙/ ๕๖๔๕
                ๑๕๒๘. เจ้าป่า  หมายถึง ผีที่สิงสถิตอยู่ตามป่า มักมีศาลเป็นที่สิงสถิตของเจ้าป่า อยู่ตรงปากช่องเขา หรือปากทางที่จะเข้าป่าเข้าดง ใครจะเข้าไปล่าสัตว์ตัดต้นไม้ ต้องขอต่อเจ้าป่าเสียก่อน             ๙/ ๕๖๔๗
                ๑๕๒๙. เจ้าพระยา ๑ - บรรดาศักดิ์  เจ้าพระยาที่ปรากฎเป็นหลักฐานนั้น แรกมีในกฎหมายทำเนียบศักดินา ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ ในทำเนียบนั้น เจ้าพระยาเป็นชั้นสูงสุดของขุนนาง ซึ่งในครั้งนั้นมีอยู่ห้าท่านด้วยกัน เป็นข้าราชการอยู่ในราชธานีสามท่าน เป็นเจ้าเมืองสองท่าน ถือศักดินาท่านละ ๑๐,๐๐๐ เสมอกัน
                        บรรดาศักดิ์เจ้าพระยานี้ ได้รับพระราชทานเครื่องยศต่างกัน ปรากฎตามหลักฐานว่า นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เป็นต้นมา ได้พระราชทานสุพรรณบัฎ พร้อมด้วยเครื่องยศอื่น แก่เจ้าพระยาผู้ทรงคุณพิเศษ หรือผู้เป็นราชินิกุล ส่วนนอกนั้น ก็พระราชทานเพียงชั้นหิรัญบัตร พร้อมด้วยเครื่องยศอื่น ๆ            ๙/ ๕๖๔๘
                ๑๕๓๐. เจ้าพระยา ๒ - แม่น้ำ  เกิดจากแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน มาสบกันที่ ต.ปากน้ำโพ และ ต.แดงใหญ่  อ.เมือง จ.นครสวรรค์ แล้วไหลลงมาทางใต้ ผ่านจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี พระนคร และสมุทรปราการ ไปลงทะเลในอ่าวไทย ยาวประมาณ ๓๖๐ กม.
                        ทางแยกของแม่น้ำเจ้าพระยามีหลายสายคือ แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำมะขามเฒ่า แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก
                        นอกจากนี้ยังมีคลองที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำสำคัญหลายสายคือ คลองศาลาแดง คลองบางแก้ว คลองบางโผงเผง คลองรังสิต คลองบางบัวทอง คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองดาวคะนอง คลองพระโขนง และคลองสำโรง
                ๑๕๓๑. เจ้าพระยา ๓ - เขื่อน  เป็นชื่ออาคารชลประทานที่ปิดกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก อยู่ในเขต อ.สรรพยา จ.ชัยนาท  เขื่อนนี้สามารถทดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีระดับสูง + ๑๖ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางได้ตลอดปี (สูงจากระดับท้องแม่น้ำขึ้นมา ๑๑ เมตร หรือประมาณระดับตลิ่งบริเวณนั้น)
                        การทดน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาทำให้มีน้ำส่งเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่สี่สายได้ทุกขณะ คือทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาสองสายเป็นแม่น้ำสุพรรณ และแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นลำน้ำเดิม ส่วนฝั่งซ้ายมีสองสายเป็นคลองขุดใหม่คือ คลองชัยนาท - ป่าสัก และคลองชัยนาท - อยุธยา และมีคลองแยกออกจากคลองสายใหญ่ทั้งสี่สายนี้ ๓๓๐ คลอง เป็นความยาวประมาณ ๓,๔๐๐ กม. ส่งน้ำช่วยพื้นที่ได้ประมาณ ๕,๗๑๘,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขต ๑๖ จังหวัด รวมเรียกว่าโครงการเขื่อนเจ้าพระยา
                        เขื่อนเจ้าพระยานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงให้กำเนิดโดยยืมตัวผู้เชี่ยวชาญทางชลประทานชาวฮอลันดา จากประเทศชวา มาศึกษาสภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติของทุ่งราบภาคกลาง เขื่อนนี้เริ่มสร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๕ เสร็จในปี พ.ศ.๒๕๐๐            ๙/ ๕๖๕๘
                ๑๕๓๒. เจ้าฟ้า  เดิมคำนี้ได้ชื่อมาแต่ลูกหลวงที่ได้กินเมืองจริง เจ้าฟ้าคือเจ้าแผ่นดินย่อย หรือเจ้าเมืองเจ้าฟ้าแบบนี้ทางสหรัฐไทยใหญ่ยังมีอยู่ เช่น เจ้าฟ้าแสนหวี เจ้าฟ้าเมืองนาย เป็นต้น
                        คำว่า "เจ้า" กับ "เจ้าฟ้า" สองคำนี้เป็นคำภาษาไทยเก่าแก่มาก น่าจะมาจากเมืองเดิมอันตกเป็นแดนจีนในปัจจุบัน
                        ยศเจ้าฟ้าแรกเข้ามามีขึ้นในประเทศสยามเมื่อใดนั้น ได้พบหลักฐานในหนังสือ "มหาราชวงศ์" พงศาวดารพม่าว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา (คราวขอช้างเผือก) มีชัยชนะแล้วตั้งพระมหาธรรมราชาผู้ครองเมืองพิษณุโลก เป็นเจ้าฟ้าสองแคว (สองแควเป็นชื่อเมืองพิษณุโลก)
                        ตามกฎมณเฑียรบาลเดิมนับแต่ตั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึง ๒๐๐ ปี มีขนบธรรมเนียมอยู่ว่าเจ้าฟ้านั้นมีอยู่เพียงสองชั้นเท่านั้น คือลูกเธอที่เกิดด้วยลูกหลวง และหลานหลวง ส่วนลูกพระอัครมเหสี และลูกสนมไม่เป็นเจ้าฟ้า
                        ยศของเจ้าฟ้าคือเจ้าเมือง จึงยังคงติดอยู่กับเจ้านายซึ่งเป็นลูกหลวง หลานหลวง ถึงไม่ได้ครองเมืองแล้วก็ยังเรียกเจ้าฟ้าอยู่เสมอ            ๙/ ๕๖๖๔
                ๑๕๓๓. เจ้าหมื่น, จมื่น  เป็นชื่อตำแหน่งหัวหมื่นในกรมมหาดเล็ก ซึ่งเคยมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
                        หนังสือตำราหน้าที่มหาดเล็กว่าเป็นตำราแต่งแบบครั้งกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า "อย่างธรรมเนียมมหาดเล็กแต่ก่อนให้หมื่นสารเพชภักดี หมื่นศรีสรรักษ์ หมื่นไวยวรนาถ หมื่นเสมอใจราช นายสิทธิ์ นายฤทธิ์ นายเดช ฯลฯ ผู้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโดยสุจริต"
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มี พ.ร.บ.กรมมหาดเล็ก และมีแบบเรียนราชการกรมมหาดเล็กขึ้น ระบุว่าตำแหน่งต่าง ๆ ในกรมมหาดเล็กจัดเป็นเจ็ดชั้น มีจางวาง หัวหมื่นเป็นชั้นที่สอง และจัดเป็นสี่เวรคือเวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ และเวรเดช  เจ้าหมื่นทั้งสี่อย่างเก่า มีหน้าที่เป็นหัวหน้าเวรมหาดเล็กคนละเวร            ๙/ ๕๖๗๔
                ๑๕๓๔. เจ้าอธิการ   คำนี้เป็นคำบัญญัติตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างหนึ่ง  เป็นคำบัญญัติตามพระวินัยพุทธบัญญัติอย่างหนึ่ง
                        ที่ว่าตามกฎหมายนั้นคือ กำหนดตามลำดับชั้นตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์ เรียกพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล และพระภิกษุรูปนั้นไม่มีสมณศักดิ์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ว่าเจ้าอธิการ
                        ที่ว่าตามพระวินัยพุทธบัญญัตินั้นหมายความว่า พระสงฆ์พุทธสาวก ทางฝ่ายอาณาจักรยกให้เป็นคณะพิเศษจัดการปกครองดูแลกันเองในหมู่ของตน แต่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้อนุวัตตามกฎหมายฝ่ายอาณาจักร ในคณะสงฆ์นั้นมีกิจที่จะต้องทำ เพื่อส่วนรวมของหมู่คณะอยู่ จึงโปรดให้พระสงฆ์ประชุมกัน คัดเลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่พระสงฆ์เห็นว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ไม่มีอคติทั้งสี่ประการ เป็นผู้ทำกิจนั้นในนามของสงฆ์            ๙/ ๕๖๘๓
                ๑๕๓๕. เจิม  เป็นการเอาแป้งหอมแต้มเป็นจุด ๆ ลงที่คนหรือสิ่งที่ต้องการให้มีความเจริญ การเจิมเป็นเรื่องมีอยู่ในพิธีโบราณของชาติต่าง ๆ อยู่มากชาติ โดยเฉพาะชาวอินเดียนิยมการเจิมมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ และดูเหมือนจะทำมากที่สุด การเจิมของอินเดียมีหลายแบบแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์            ๙/ ๕๖๘๔

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch