หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/28
    ๑๔๔๔. จีวร  คือ บริขารของพระภิกษุ และสามเณร ที่ประกอบด้วยชิ้นผ้าขนาดต่าง ๆ มาเย็บเป็นผืนใช้เป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม ของพระภิกษุและสามเณร คำนี้คนทั่วไปหมายเอาเฉพาะผืนที่ห่มเท่านั้น แต่ในพระวินัย หมายถึง บริขารที่จำเป็นอย่างหนึ่ง จัดเป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยสี่
                        ผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้ ต้องทำด้วยวัตถุหกชนิดคือ ทำด้วยเปลือกไม้ ทำด้วยฝ้าย ทำด้วยใยไหม ทำด้วยขนสัตว์ ยกเว้นผม และขนมนุษย์ ขนหางสัตว์  ขนปีกนกเค้า ทำด้วยเปลือกป่าน และผ้าที่ทำด้วยของห้าอย่างนั้น แต่อย่างใดอย่างหนึ่งเอามาปนกันทำผ้า
                        จำนวนจีวร สามผืนอันได้แก่ สบงผ้านุ่ง จีวรผ้าห่ม สังฆาฎิผ้าทาบ รวมเรียกว่า ไตรจีวร ผ้าไตรจีวร นั้น พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้เป็นของตัด ถ้าทำได้ให้ตัดครบทั้งสาม ถ้าผ้าไม่พอให้ผ่อนตัดแต่สองผืน หรือผืนเดียว ตามแต่จะทำได้ ก็ยังไม่พอให้ใช้ผ้าเพลาะ เพราะแต่ครั้งปฐมโพธิกาล พระพุทธเจ้าโปรดให้ภิกษุใช้ผ้าบังสุกุลจีวร ไม่ทรงอนุญาตให้รับคหบดีจีวร ภิกษุต้องไปเก็บเอาผ้าบังสุกุล มาซักให้สะอาด แล้วเย็บประกอบเข้าเป็นจีวร จีวรจึงมีลักษณะเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย
                        ต่อเมื่อเสด็จทักขิณาชนบท ได้ทอดพระเนตรอันนาของชาวมคธ จึงโปรดให้พระอานนท์ตัดจีวรแบบอันนานั้น ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ขนาดจีวร ยาว ๙ คืบ กว้าง ๖ คืบ โดยสุคตประมาณ
                        จีวรนั้น โปรดให้ย้อมด้วยของหกอย่างคือ ราก หรือเหง้า ต้นไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ จีวรย้อมแล้วเรียกว่า กาสายะ บ้าง กาสาวะ บ้าง ที่แปลว่า ย้อมด้วยน้ำฝาด และทรงห้ามสีบางอย่างไว้คือ สีคราม สีเหลือง (เช่นสีดอกบวบ หรือดอกคูน) สีแดง สีบานเย็น สีแสด  สีชมพู และสีดำ
                        การครองจีวร ให้นุ่งห่มให้เป็นปริมณฑลคือ เรียบร้อย ในการแสดงความเคารพ หรือทำวินัยกรรม ให้ห่มดอง ในการเข้าบ้าน
                        มีคำที่ใช้เนื่องด้วยจีวรอีกหลายคำมี จีวรกรรม หมายถึง การทำกิจเนื่องด้วยจีวร ซักย้อม เป็นต้น จีวรกาลสมัย คือ เวลาที่ภิกษุทำจีวร ระยะเวลาที่อนุฐาตให้ภิกษุทำจีวร จีวรทานสมัย คือ เวลาถวายจีวร
                ๑๔๔๕. จุงกิง  เป็นชื่อเมืองในมณฑลเสฉวน ภาคตะวันออกของประเทศจีน อยู่บนแหลม ตรงบริเวณที่แม่น้ำแยงซีเกียง กับแม่น้ำเกียลิง มาสบกัน
                         จุงกิง มีประวัติศาสตร์มากว่า ๔,๒๐๐ ปี ได้เป็นอาณาจักรหนึ่งเมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ก่อน พ.ศ.  จุงกิงได้เป็นอาณาจักรหนึ่ง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๐๐ ในสมัยราชวงศ์ฉิน จุงกิงก็สูญสิ้นสภาพความเป็นเมืองไป ดินแดนบริเวณจุงกิงมักถูกใช้เป็นฐานทัพของพวกหัวหน้าขบถ
                         สัญญาจีน - บริติช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ และสัญญาปักกิ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ทำให้จีนต้องเปิดจุงกิงเป็นเมืองท่าตามสัญญาญี่ปุ่น ได้สิทธิสัมปทานในจุงกิงหลังจากที่ได้ทำสัญญา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘  จุงกิงได้เป็นเมืองเทศบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ และได้เป็นเมืองหลวงของจีน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ - ๒๔๘๙
                ๑๔๔๖.  จุงเจีย  เป็นไทยเดิมกลุ่มหนึ่งในจีน ส่วนมากอยู่ในมณฑลไกวเจาหรือกุยจิ๋ว นับว่าเป็นไทอยู่ในจำพวกเดียวกับไทยน้อย           ๙/ ๕๒๖๗
                ๑๔๔๗. จุณจริยบท  เป็นบทบาลีเล็กน้อยที่ยกขึ้นแสดงก่อนเนื้อความ เป็นสำนวนร้อยแก้ว นิยมใช้เรียกตามหนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ฉบับหอพระสมุด หมายถึง คำบาลีที่ขึ้นต้นของกัณฑ์นั้น ๆ           หน้า ๕๒๖๗
                ๑๔๔๘. จุน  อำเภอขึ้น จ.เชียงราย แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ขึ้น อ.เชียงคำ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
                         ภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีทุ่งนาสองข้างทาง สลับป่าเป็นบางตอน    ๙/ ๕๒๖๙
                ๑๔๔๙. จุนทะ ๑ - นาย  ชื่อเต็มว่านายจุนทะกรรมารบุตร เป็นชาวเมืองปาวา แคว้นมัลละ เป็นช่างทอง เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงนครปาวา เข้าพักอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะ เขาได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมเทศนาเห็นแจ้งชัดในหลักธรรม ตั้งใจจะนำมาประพฤติปฏิบัติ มีความอาจหาญร่าเริงในธรรมนั้น จึงได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ประมาณห้าร้อยที่ตามเสด็จให้เสวยภัตตาหารในเรือนของตน เขาได้จัดภัตตาหาร
    อย่างประณีตบรรจงเป็นพิเศษชนิดหนึ่งเรียกว่า สูกรมัทวะ แปลว่า เนื้อสุกรอ่อน  พระพุทธองค์โปรดให้เขาถวายสูกรมัทวะเฉพาะพระองค์เท่านั้น ถวายภัตตาหารอื่นที่เตรียมไว้แด่ภิกษุสงฆ์ และให้นำสูกรมัทวะที่เหลือไปฝังสีย
                         เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์โปรดให้พระอานนท์แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่าใครจะอยู่หรือจะไปที่ใดก็ตามอัธยาศัย ส่วนพระองค์จะเสด็จยังนครกุสินารา
                         ตั้งแต่เสวยบิณฑบาตของนายจุนทะแล้ว พระพุทธองค์ก็ประชวรมากขึ้น อาการท้องกำเริบมากถึงประชวรขันทิกาพาธ ในขณะนั้นทรงลงพระโลหิต แต่ก็ยังเสด็จพุทธดำเนินไปยังกรุงกุสินารา พระพุทธองค์ได้ตรัสข้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับนายจุนทะว่าดูกรอานนท์ บางทีจะมีใครทำความร้อนใจให้นายจุนทะกรรมารบุตรได้บ้าง เหมือนกันว่าไม่ใช่บุญของท่านแล้ว ท่านเคราะห็์ไม่ดีเลยพระพุทธองค์เสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อมีเหตุอย่างนี้ เธอต้องช่วยบรรเทาความร้อนใจของนายจุนทะด้วยอุบายอย่างนี้ว่า เป็นลาภของท่านแล้ว ท่านมีบุญหนักหนาแล้ว พระพุทธองค์เสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เรื่องนี้ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์เอง บิณฑบาตสองครั้งนี้มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกันมีผลมาก มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตครั้งอื่น ๆ ทั้งหมด บิณฑบาตสองครั้งนั้นคือ
                         ๑. พระพุทธองค์บิณฑบาตครั้งใดแล้วได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
                         ๒. พระพุทธองค์เสวยบิณฑบาตครั้งใดแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
                         นายจุนทะได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าสมณะในโลกมีเท่าใด พระพุทธองค์ตรัสตอบว่าสมณะในโลกนี้มีสี่ ไม่มีสมณะที่ห้า  สมณะสี่เหล่านั้นได้แก่ สมณะผู้ชนะสรรพกิเลสด้วยมรรค สมณะผู้แสดงมรรค สมณะผู้อยู่ในมรรค และสมณะผู้ประทุษร้ายมรรค
                         นายจุนทะได้ฟังพุทธานุศาสน์แล้วได้ความพอใจ ประกาศตนพร้อมทั้งบุตร และภริยาถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป           หน้า ๕๒๗๑
                ๑๔๕๐.  จุนทะ ๒ - พระเถระ  เป็นชาวเมืองนาลันทา เป็นน้องพระสารีบุตร ตัวท่านเป็นน้องคนสุดท้องของพี่น้องเจ็ดคน ทุกคนเลื่อมใสในพระธรรมวินัย ออกบวชในพระพุทธศาสนาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกคน ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นสามเณร เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วได้ติดตามพระสารีบุตรไปในที่ต่าง ๆ และเมื่อได้โอกาสก็เข้าอยู่ในพุทธสำนัก อยู่งานเฝ้าปรนนิบัติพระพุทธเจ้าตามโอกาส ได้ติดตามพระพุทธองค์ไปในที่ต่าง ๆ
                         คราวหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์  พระพุทธองค์ประชวรหนัก พระพุทธองค์ก็โปรดให้พระจุนทะแสดงโพชฌงค์เจ็ดประการถวาย พระพุทธองค์ก็ทรงสำราญพระทัย หายจากประชวร           ๙/ ๕๒๗๖
                ๑๔๕๑. จุนสี  เป็นสิ่งที่มีปรากฏในตำรายาไทย - จีนโบราณ มีการใช้จุนสีในประเทศไทยมานานโดยเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าเข้าจากจีน นิยมใช้ผสมยาสะตุบดเป็นผงทาส่วนของร่างกายที่มีกลิ่นตัว  ละลายน้ำจาง ๆ ใช้บ้วนปากทำให้ฟันทนไม่โยกคลอน  ละลายน้ำจาง ๆ รดผักเพื่อฆ่าเพลี้ยแมลงบางชนิด และทาหรืออาบสัตว์เลี้ยงเพื่อฆ่าพวกเห็บต่าง ๆ
                        ชาวอียิปต์โบราณใช้จุนสีเป็นยา รวมทั้งใช้ถลุงเอาโลหะทองแดงทำภาชนะใช้สอยและอาวุธ ต่อมาชาวยุโรปจึงได้ค้นพบแหล่งกำเนิดในธรรมชาติ แล้วคิดค้นหาทางใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง           หน้า ๕๒๘๑
                ๑๔๕๒. จุ๊บแจง - หอย  เป็นหอยกาบเดียว เปลือกม้วนเป็นวงค่อนข้างยาว ช่องปากเป็นรูอยู่ตอนหน้า เปลือกหนา ฝาปิดปากเป็นวง มีจุดอยู่ตรงกลาง ลักษณะคล้ายเขาสัตว์ เปลือกใช้ทำเครื่องประดับได้ ใช้เป็นอาหารได้           ๙/ ๕๒๘๓
                ๑๔๕๓. จุลกฐิน  เป็นเรื่องกฐินที่เป็นพระพุทธานุญาตเป็นพิเศษ เฉพาะกาล มีจำกัดให้ทำจีวรให้เสร็จในวันนั้น           ๙/ ๕๒๘๓
                ๑๔๕๔. จุลกาล ๑ เป็นชื่อภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ เป็นกระดุมพีที่มั่งคั่งคนหนึ่ง เป็นชาวเสตัพยนคร ในครั้งพุทธกาล มีพี่ชายร่วมมารดาเดียวกันสองคน ชื่อมหากาล และมัชฌิมกาล
                       เมื่อออกบวชในพุทธศาสนา บวชตามมหากาลผู้เป็นพี่ชายคนโต ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา บวชเพื่อจะชวนพี่ชายสึก เมื่อมหากาลได้บรรลุอรหัตแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์จะเสด็จจาริกไปยังเสตัพยนคร ภริยาทั้งสองคิดจะจับจุลกาลผู้เป็นสามีให้สึก จึงส่งคนไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า พระมหากาลจึงส่งพระจุลกาลให้ล่วงหน้าไปก่อน เพื่อจัดเตรียมปูอาสนะถวายพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ภริยาทั้งสองแกล้งปูอาสนะผิด ๆ แล้วฉุดผ้านุ่งผ้าห่มออกให้นุ่งผ้าขาวสวมเทริดมาลา แล้วส่งให้ไปนำพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์มายังเสตัพยนคร ภิกษุสงฆ์ยกโทษว่าพระจุลกาลได้รับอันตรายแห่งบรรพชา พระพุทธเจ้าตรัสสอบภิกษุทั้งหลายว่าจุลกาลนี้คิดถึงแต่ฆราวาสและลูกเมีย เป็นคนมักมากด้วยสุภารมณ์ไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นคนเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน มารย่อมรังควานได้ ส่วนผู้ที่ไม่มักมองเห็นแต่ของสวยงาม สำรวมอินทรีย์ รู้จักประมาณในการบริโภค มีศรัทธา มีเพียรอยู่เสมอ มารย่อมรังควานไม่ได้
                ๑๔๕๕. จุลกาล ๒  เป็นอุบาสกผู้เป็นโสดาบัน รักษาอุโบสถศีลเป็นนิจ เป็นชาวเมือง สาวัตถี วันหนึ่งพวกขโมยข้าวของชาวบ้านมา เจ้าของติดตามมาทัน จึงทิ้งของที่ขโมยมาตรงหน้าจุลกาล คนทั้งหลายสำคัญว่าจุลกาลเป็นผู้ขโมย จึงพากันรุมโบย นางกุมภทาสีมาพบเข้าจึงชี้แจงคนทั้งหลายให้เข้าใจว่าจุลกาลไม่ใช่โจร จึงให้ปล่อยตัวไป จุลกาลได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ภิกษุทั้งหลายนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า จุลกาลรอดชีวิตมาเพราะนางกุมภทาสีช่วยเหลือด้วย เพราะตนเองไม่ได้ขโมยด้วย เพราะธรรมดาสัตว์โลกผู้ใดกระทำบาปของผู้นั้นก็เศร้าหมองเอง ผู้ใดไม่ทำบาปเอง ผู้นั้นก็บริสุทธิ์เอง ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนอื่นทำให้ไม่ได้ จุลกาลได้สดับแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล บริษัทผู้ร่วมสดับก็ได้บรรลุผลเป็นจำนวนมาก           ๙/ ๕๒๘๘
                ๑๔๕๖. จุลจอมเกล้า  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ห้าแห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เสด็จสมภพเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ เลื่อนเป็นกรมขุนพินิจประชานาถ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐
                        เมื่อทรงพระเจริญก็ได้โปรดให้ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ อันนับถือกันในสมัยนั้นว่าสมควรแก่พระราชกุมารจะทรงศึกษาทุกอย่าง ส่วนการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณี และโบราณคดีต่าง ๆ นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงฝึกสอนด้วยพระองค์เองตามเวลาและโอกาสอันสมควร
                        ส่วนหน้าที่ราชการนั้น ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาได้ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง แล้วต่อมาได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมพระคลังมหาสมบัติกับกรมล้อมพระราชวังเพิ่มขึ้นอีก
                        พระองค์ขึ้นเสวยราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ เมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ตกลงให้มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปก่อน จนกว่าจะทรงผนวชแล้วระหว่างนั้น ในบางโอกาสได้เสด็จประพาสยังประเทศใกล้เคียง เพื่อทรงศึกษาวิชารัฐศาสตร์ที่ชาวตะวันตกนำมาดัดแปลงใช้กับชาวตะวันออก ตลอดจนการจัดการศึกษา การค้า โดยเสด็จไปสิงคโปร์ ปัตตาเวีย สมารัง ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ และอินเดีย ในปี พ.ศ.๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับ ก็ได้ทรงถือโอกาศทอดพระเนตรมณฑลฝั่งทะเลตะวันตกของไทยด้วย
                        เมื่อพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ได้เสด็จออกผนวชเป็นเวลา ๑๕ วัน นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองราชย์ ได้เสด็จออกทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา
                        เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖
                        ในระหว่างที่พระองค์ทรงครองราชย์อยู่ ๔๒ ปี เศษ พระองค์ได้ทรงบริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรืองเป็นเอนกประการ เฉพาะเรื่องที่สำคัญ ๆ ได้แก่
                        การเปลี่ยนแบบแผนประเพณีบางอย่าง ให้เป็นแบบสากลมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนแปลงกฎมณเทียรบาลบางอย่างเช่น ตั้งมกุฎราชกุมารขึ้นแทนตำแหน่งพระมหาอุปราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ เปลี่ยนชื่อเดือนปฏิทินเป็นภาษาบาลี เลิกใช้จุลศักราช (จ.ศ.) ให้ใช้รัตนโกสินศก (ร.ศ.) แทน
                        การเลิกทาส พระองค์ทรงริเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๗ และทรงกระทำสำเร็จเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๘ เป็นการเลิกทาสอย่างละมุนละม่อมค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของผู้มีทาสและผู้เป็นทาสเอง
                        การเปแลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง  พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการตั้งเคาน์ซิลออฟสเตดหรือสภาที่ปรึกษาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ ต่อมาได้ทรงตั้งปรีวี เคาน์ซิล หรือสภาองคมนตรีขึ้นในปีเดียวกัน ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๑ - ๒๔๓๔ พระองค์ได้ทรงพิจารณาและปฎิรูปการปกครองใหม่ โดยทรงเลือกประเพณีการปกครอง ทั้งของไทยและต่างประเทศมาปรับปรุงแก้ไข ในที่สุดได้มีการตั้งกระทรวงใหม่ทั้งหมด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ มี ๑๒ กระทรวงได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงวัง กระทรวงเกษตรพาณิชการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพระคลัง กระทรวงยุทธนาธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงธรรมการ กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงมุรธาธิการ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เหมือนกับการพลิกแผ่นดินและระบอบการปกครองที่ไทยใช้มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นเวลา ๔๐๐ ปี เศษ
                        ส่วนการปกครองในหัวเมืองก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองในส่วนกลาง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๗ เป็นต้นมา โดยให้จัดหัวเมืองเป็นมณฑล เทศาภิบาล แบ่งออกได้เป็น ๑๘ มณฑล แต่ละมณฑลมีข้าหลวงเทศาภิบาลออกไปประจำมณฑลละ ๑ คน ประกอบด้วยข้าหลวงใหญ่ เป็นประธาน มีข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงคลัง แพทย์ และเลขานุการเป็นข้าหลวงผู้ช่วย ส่วนการปกครองจังหวัดนั้นมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้า ประกอบด้วยกรมการผู้ใหญ่ ผู้น้อย แต่เดิมทำหน้าที่ปกครอง ขึ้นกับข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑล สำหรับการปกครองในชั้นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านก็ให้ตรา พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ ขึ้นใช้ โดยให้ราษฎรเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นเอง เว้นไว้แต่มณฑลพายัพกับมณฑลปัตตานี ซึ่งเดิมเรียกว่า บริเวณเจ็ดหัวเมือง ก็โปรดให้ใช้ข้อบังคับแยกออกไปต่างหาก
                        นอกจากนั้นยังมีการตรา พ.ร.บ.จัดการสุขาภิบาลตามหัวเมืองต่าง ๆ พ.ศ.๒๔๕๐ ขึ้นใช้เพื่อทดลองใช้ระบอบการปกครองแบบเทศาภิบาล อย่างของต่างประเทศ ที่ให้ราษฎรปกครองกันเอง
                        การปรับปรุงภาษีอากร  มีการปรับปรุงเรื่องภาษีอากรใหม่ จัดตั้งหน่วยราชการขึ้น ทำหน้าที่โดยเฉพาะคือหอรัษฎากรพิพัฒน์ ตรา พ.ร.บ.สำหรับหอรัษฎาพิพัฒน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่เจ้าพนักงานบัญชีกลาง เจ้าจำนวน เจ้าภาษี และนายอากรทั้งปวงได้ถือเป็นหลักปฎิบัติ ต่อมาได้ตรา พ.ร.บ. สำหรับกรมพระคลังมหาสมบัติ และว่าด้วยกรมต่าง ๆ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘ เพื่อให้เป็นหลักสำหรับดำเนินการด้านการคลังของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าตามแบบนานาอารยประเทศ
                        การบำรุงการศึกษา  มีการจัดการศึกษาใหม่ โดยเฉพาะโรงเรียนสอนภาษาไทย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ และแต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นด้วย นับเป็นการแต่งตำราเรียนครั้งแรก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งกรมศึกษาธิการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ ให้โรงเรียนทั้งหมดมาขึ้นกับกรมนี้ ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสไปศึกษา ณ ต่างประเทศ โปรดให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศ
                        การศาล เดิมการศาลปนอยู่กับงานด้านการบริหารและแยกย้าย กระจายไปอยู่ในหน่วยราชการต่างๆ จึงได้โปรดให้แยกศาลมารวมอยู่ ณ ที่แห่งเดียวกัน และปรับปรุงให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นคือ ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้ตรา พ.ร.บ. จัดการศาลในสนามสถิตยุติธรรม กับตั้งศาลโปลิสสภา พ.ศ.๒๔๓๘  ได้ตรา พ.ร.บ.ศาลหัวเมือง พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ตรา พ.ร.บ.ศาลยุติธรรม กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายลักษณะอาญาขึ้น
                       การทหารและตำรวจ ได้มีการปรับปรุงให้สมกับกาลสมัย เช่น ปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้ตรา พ.ร.บ.จัดการทหารและตั้งโรงเรียนนายร้อย ปี พ.ศ.๒๔๓๗ ประกาศตั้งกระทรวงกลาโหม และตรา พ.ร.บ.การเกณฑ์ทหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘
                        ด้านการตำรวจได้ขยายหน้าที่ตำรวจนครบาลออกไปถึงส่วนภูมิภาค ด้วยวิธีจัดตั้งตำรวจภูธรในรูปของกองทหารโปลิสขึ้นก่อน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘ ต่อมาเปลี่ยนเป็นกองตระเวณหัวเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ และยกเป็นกรมตำรวจภูธร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ โดยมีตำรวจจ้างเป็นกำลังพล ต่อมาเมื่อมี พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารขึ้นมา ทางกรมตำรวจภูธรก็ขอใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขอเกณฑ์คนมาเป็นตำรวจด้วย
                        การพระศาสนา  พระองค์ได้ทรงบูรณปฎิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ เป็นอันมาก มีการตั้งสถานศึกษาชั้นสูง ได้แก่ มหามงกุฎราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการชำระพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ ร่างระเบียบการปกครองของสังฆมณฑล แล้วตรา พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ออกมาเป็นหลักปกครองฝ่ายพุทธจักร ออกระเบียบการปกครองนิกายญวน นิกายจีน และได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดสิทธิแก่ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ทรงสละพระราชทรัพย์ร่วมสร้าง และปฎิสังขรณ์สุเหร่าของอิสลามมิกชน
                        เมื่อมีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย อุปราชอินเดียสมัยนั้นได้ส่งมาถวาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ พระองค์ได้ทรงแบ่งพระราชทานไปให้แก่ประเทศญี่ปุ่น พม่า และลังกา ตามที่ขอเข้ามา แล้วประดิษฐานส่วนที่เหลือไว้ ณ เจดีย์ยอดบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกษ
                        การคมนาคม  มีการสร้างทางรถไฟสายพระนคร และจังหวัดนครราชสีมาขึ้นเป็นสายแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ และได้มีการขยายออกไปอีกหลายสาย ในระยะเวลาต่อมามีความยาว ๙๘๒ กม. และเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ มีทางรถไฟที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ๖๙๐ กม.
                        การโทรเลข มีการสร้างครั้งแรกระหว่างพระนครกับจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๒ แล้วตั้งเป็นกรมโทรเลข ในปี พ.ศ.๒๔๒๖ กรมไปรษณี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐
                        ถนนหนทางส่วนใหญ่จัดทำในจังหวัดพระนครก่อน และสร้างสะพานข้ามคลองต่าง ๆ
                        การเกษตรกรรม  ได้ทรงส่งเสริมการป่าไม้ มีการตรา พ.ร.บ.รักษาเมือง พ.ศ.๒๔๑๗ เป็นกฎหมายฉบับแรก ที่เกี่ยวกับการควบคุมการอนุญาตให้ทำป่าไม้สัก ได้ตั้งกรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙
                        การเหมืองแร่  ตั้งกรมโลหกิจภูมิวิทยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ มีหน้าที่ควบคุมกิจการเหมืองแร่ ให้เป็นไปตามแบบอย่างต่างประเทศ ตรา พ.ร.บ.การทำเหมืองแร่ฉบับแรก เมื่อ ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔)
                        การชลประทาน  ตั้งกรมคลองควบคุมการทดน้ำ หรือชลประทาน ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕
                        การเสด็จประพาส  พระองค์ได้เสด็จประพาสแทบทุกมณฑล นอกจากนั้นพระองค์ได้เสด็จต่างประเทศถึงเจ็ดครั้งคือ พ.ศ.๒๔๑๓ เสด็จสิงคโปร์ สมารัง ปัตตาเวีย หรือชวา พ.ศ.๒๔๑๔ เสด็จพม่า และอินเดีย พ.ศ.๒๔๓๒ เสด็จมลายู พ.ศ.๒๔๓๙ และ พ.ศ.๒๔๔๔ เสด็จชวา พ.ศ.๒๔๔๐ และ พ.ศ.๒๔๕๑ เสด็จยุโรป
                        การสุขาภิบาลและการพยาบาล  ได้มีการตรา พ.ร.บ.ปกครองท้องที่เมื่อ ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐)  และมีการตราพระราชกำหนดการสุขาภิบาลขึ้น ในพระนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ตั้งกรมสุขาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ตรา พ.ร.บ.จัดการป้องกันกาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ พ.ศ.๒๔๕๑  จัดตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้นเป็นโรงพยาบาลแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ ตั้งกรมพยาบาลขึ้นควบคุม ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ตั้งสภาอุนาโลมแดง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ต่อมาเป็นสภากาชาดไทย
                        ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  มีการทำสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และเดินเรือกับอิตาลี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ กับออสเตรียฮังการี ปี พ.ศ.๒๔๑๒  กับสเปน ปี พ.ศ.๒๔๑๒ กับญี่ปุ่น ปี พ.ศ.๒๔๓๐ และกับรุสเซีย ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้น
                        ด้านวรรณคดี  พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้มากมาย ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ประเภทร้อยแก้วแบ่งเป็นหมวด ๆ คือ พระบรมราชาธิบาย พระบรมราโชวาท จดหมายเหตุเสด็จประพาส และพระราชนิพนธ์เป็นอย่างถ้อยคำของผู้อื่น  ในด้านร้อยกรองนั้น ทรงพระราชนิพนธ์ได้แทบทุกอย่างทุกชนิด ได้อย่างยอดเยี่ยม จนถึงกับยกย่องกันว่า ทรงบริบูรณ์ด้วยลักษณะของกวีตามคติ ของพระพุทธศาสนาสี่ประการ
                        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓           ๙/ ๕๒๘๙
                ๑๔๕๗. จุลชีพ  หมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก ที่ไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้ ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ดูจึงเห็นได้ ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ นักชีววิทยาชาวเยอรมันชื่อ เฮกเกล ได้คิดตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ว่า โปรติสตา อันเหมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่มีเนื้อเยื่อคือ ไม่มีเซลชนิดต่าง ๆ สำหรับแบ่งหน้าที่การทำงาน ในการดำรงชีพ ได้แก่ พวกที่มีเซลล์เดียวเป็นส่วนมาก แต่พวกที่มีหลายเซลล์  แต่ว่าไม่มีเนื้อเยื่อ เช่น สาหร่ายทะเล เป็นต้น ก็นับว่าเป็นพวกโปรติสตา เหมือนกัน
                        ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งพวกโปรติสตา ออกเป็นหลายกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า ไฟลัม  มีอยู่ ๑๒ ไฟลัม ด้วยกัน          ๙/ ๕๓๐๖
                ๑๔๕๘. จุลพน  คำว่า จุลพน แปลว่า ป่าน้อย  คำว่าจุลพนในที่นี้เป็นชื่อกัณฑ์หนึ่งในเรื่องมหาชาติ หรือเวสสันดรชาดก นับเป็นกัณฑ์ที่หกของเรื่อง พรรณนาข้อความตั้งแต่พรานเจตบุตรเชื่อว่า ชูชกเป็นราชทูตมาจากราชสำนักพระเจ้ากรุงสัญชัย แล้วจัดการต้อนรับด้วยดี แล้วแนะนำทางที่จะไปยังเขาวงกต           ๙/ ๕๓๑๕
                ๑๔๕๙. จุลยุทธการวงศ์  เป็นหนังสือพงศาวดารไทยคู่กับมหายุทธการวงศ์ เชื่อกันว่าสมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพน องค์ที่เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นผู้แต่ง มีทั้งฉบับภาษาบาลี และฉบับภาษาไทย
                        ฉบับที่เป็นภาษาบาลีเป็นเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เริ่มแต่เรื่องสกุลวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นมา ความมาสุดลงเพียงรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราช
                        ส่วนฉบับภาษาไทยกล่าวมูลประวัติในการสมภพของพระร่วงเจ้า ผู้กู้อิสรภาพของไทยจากขอม แต่ก็ไม่จบ พอถึงตอนพระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา ก็หมดต้นฉบับ ข้อความในจุลยุทธการวงศ์ได้ลงท้ายไว้ว่า จ.ศ.๗๑๒ (พ.ศ.๑๘๙๑) ปีขาล โทศก ทรงสร้างพระนครเสร็จให้นามว่า กรุงเทพมหานคร ตามนามพระนครเดิม  ให้นามว่าทวาราวดี เหตุมีคงคาล้อมดุจนามเมืองทวาราวดี  ให้นามศรีอยุธยา เหตุเป็นที่อยู่แห่งชนชราทั้งสองคือยายศรีและตาอุทยาเป็นสามีภรรยาอาศัยอยู่ในที่นั้น  นาม ๑ และนามทั้งสามประกอบกันเรียกว่า กรุงเทพมหานครทวาราวดีศรีอยุธยา
                        ในครั้งนั้น เมืองประเทศราชขึ้น ๑๖ หัวเมืองคือเมืองมะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวสี เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองจันทบูรณ์ เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์
                        จุลศักราช ๗๓๑ (พ.ศ.๑๙๑๒) ปีระกา เอกศก สมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๒๐ ปี           ๙/ ๕๓๑๗

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch