หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวคลองสาน ครบตำนาน 100 ปี
    วัดพิชัยญาติ
           พูดถึงถิ่น“บางลำพูล่าง” หลายคนอาจงงว่าคือที่ไหน? เพราะที่ผ่านมารู้จักแต่ย่าน“บางลำภู(บน)” ที่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นบางลำพู ตามหลักฐานใหม่ คือ“ต้นลำพู”ต้นสุดท้าย(ในยุคนั้น ปัจจุบันมีลูกหลานลำพูออกมาอีกหลายต้น) ที่ค้นพบโดย อ.สมปอง ดวงไสว นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
           
           สำหรับถิ่นบางลำพูล่างที่ฉันเกริ่นนำมานั้นก็คือชื่อเดิมของเขตคลองสาน ที่เพิ่งฉลองอายุครบ 100 ปี ไปหมาดๆ
           
           เขตคลองสานเดิม เรียกว่า “อำเภอปุบผาราม” ตั้งที่ว่าการที่หน้าวัดทองธรรมชาติ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2454 ต่อมาในปี 2458 ได้ย้ายที่ว่าการมาตั้งที่หน้าวัดทองนพคุณ

    หินสลัก 3 ก๊ก ที่วัดพิชัยญาติ
           จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น“อำเภอบางลำพูล่าง” จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าพระราชทานนามอำเภอว่า "อำเภอคลองสาน" จังหวัดธนบุรี
           
           ต่อมาในปีพ.ศ.2514 มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ได้รวมพระนครและธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกัน เรียกว่านครหลวงกรุงเทพธนบุรี ทำให้อำเภอคลองสาน ขึ้นกับนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
           
           ในปีพ.ศ. 2515 มีประกาศคณะปฏิวัติให้เปลี่ยนนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็นกรุงเทพมหานครและแบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครออกเป็นเขต และในปีพ.ศ.2516 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งกรุงเทพมหานครออกเป็น 24 เขต อำเภอคลองสานจึงเปลี่ยนเป็น "เขตคลองสาน" และขึ้นกับกรุงเทพมหานครแต่นั้นมา
           
           จากประวัติการก่อตั้งสำนักงานเขตคลองสานจนถึงปัจจุบัน ทำให้ในปัจจุบันนี้เขตคลองสานมีอายุครบ 100 ปีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในครั้งนี้ฉันจะแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆของเขตคลองสาน 12 แห่งด้วยกัน เริ่มกันที่ “วัดพิชยญาติการามวรวิหาร” หรือ “วัดพิชัยญาติ”
           
           วัดแห่งนี้ เดิมเป็นวัดร้าง จนมาในปี พ.ศ. 2384 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ(ทัต บุนนาค)ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ แล้วน้อมถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในเป็นศิลปะแบบจีน หลังคาส่วนหน้าของพระอุโบสถเป็นแบบเก๋งจีน ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย พระนามว่า พระสิทธารถพุทธเจ้า หรือหลวงพ่อสมปรารถนา

    วัดอนงคาราม
           ที่ฐานพาไลพระอุโบสถโดยรอบมีแผ่นหินแกะสลักเป็นเรื่องราวในวรรณกรรมสามก๊ก ด้านหลังพระอุโบสถประดิษฐานพระปรางค์ขนาดใหญ่สามองค์ องค์กลางประดิษฐานพระพุทธเจ้าในอดีตและปัจจุบันสี่พระองค์ องค์ทางด้านซ้ายประดิษฐานพระศรีอาริยะ และองค์ทางด้านขวาประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง4รอย
           
           ถัดไปเป็น “วัดอนงคารามวรวิหาร” ท่านผู้หญิงน้อยภริยาในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นผู้อุทิศที่สวนกาแฟสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นให้คู่กับวัดพิชัยญาติ และน้อมถวายเป็นพระอารามหลวง ภายในมีพระวิหารขนาดย่อมรูปทรงแบบประเพณีนิยมในต้นรัตนโกสินทร์ ที่ซุ้มประตู หน้าต่างเป็นลวดลายปูนปั้นรูปพันธุ์พฤกษาต่างๆผสมผสานกันอย่างลงตัวจนได้รับการยกย่องว่างดงามมาก ภายในประดิษฐานพระจุลนาค พระพุทธรูปสุโขทัย

    ศาลเจ้ากวนอู
           สถานที่ต่อมาได้แก่ “ศาลเจ้ากวนอู” สร้างขึ้นโดยพ่อค้าชาวฮกเกี้ยนที่ล่องสำเภาเข้ามาค้าขายในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมเป็นศาลไม้เล็กๆประดิษฐานเทพเจ้ากวนอูที่อัญเชิญมาจากประเทศจีน ต่อมามีการขยายและบูรณะศาลขึ้นใหม่ตามลำดับ โดยศาลที่เห็นในปัจจุบันเป็นตัวอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตามสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ภายในประดิษฐานเทพเจ้ากวนอูถึง3องค์ ด้านหน้าของศาลเจ้าติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาก่อสร้างเป็นเก๋งจีนขนาดใหญ่สูง3ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานเทพเจ้าตามความเชื่อของชาวจีนตามลำดับ

    ร่มรื่นในสวนสมเด็จย่า
           ใกล้ๆกันมีสวนสวยก็คือ “อุทยานสมเด็จย่า” สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่ออนุรักษ์ย่านนิวาสสถานเดิมครั้งทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในมีอาคารเก่าใกล้เคียงกับบ้านที่สมเด็จย่าเคยประทับ และยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ขณะยังทรงพระชนม์อยู่ นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้และไม้ยืนต้นจำนวนมากที่มีอายุยาวนาน

    มัสยิดกูวติลอิสลาม
           ไม่ไกลกันเป็นที่ตั้งของ “มัสยิดกูวติลอิสลาม” หรือ “มัสยิดตึกแดง” ก่อตั้งขึ้นโดยพ่อค้าชาวมุสลิมจากเมืองสุรัต ประเทศอินเดีย และจากเมืองไทรบุรีที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำการค้าในที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อชาวมุสลิมมีจำนวนมากขึ้นท่านได้ยกตึกอิฐแดงที่เคยเป็นสำนักงานพระคลังสินค้าริมน้ำ ให้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ โดยตัวอาคารมัสยิดยกพื้นสองชั้นสร้างเสร็จในปีพ.ศ.2403

    พระประธานวัดทองธรรมชาติวรวิหาร
           สถานที่ต่อไปคือ “วัดทองธรรมชาติวรวิหาร” เดิมเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยาเรียกกันว่าวัดทองบน คู่กับวัดทองนพคุณซึ่งนิยมเรียกกันว่าวัดทองล่าง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สิ่งที่น่าสนใจคือภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ เขียนขึ้นเมื่อครั้งรัตนโกสินทร์คล้ายรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย

    ซุ้มหน้าต่างแปลกตาที่วัดทองนพคุณ
           ส่วนอีกวัดทองที่อยู่ใกล้กันคือ “วัดทองนพคุณ” นั้น เข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย บูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระอุโบสถมีรูปทรงแปลกตา ด้านหน้าพระอุโบสถมีเรือสำเภาจำลองก่ออิฐถือปูนซึ่งสร้างถวายโดยเจ้าสัวจีนในละแวกนี้ ซึ่งมีสำเภาไปค้าขายยังประเทศจีนในอดีต ซุ้มหน้าต่างด้านข้างทำเป็นรูปมงกุฎและตาลปัตรพัดยศอย่างงดงาม ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝีมือพระครูกสินสังวร(มี) ศิษย์ของขรัวอินโข่ง

    บ้านหวั่งหลี
           ละแวกนี้ยังมี “บ้านหวั่งหลีและท่าเรือกลไฟฮ่วยจุ่งโล่ง” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยต้นตระกูลพิศาลบุตร เป็นอาคารแบบจีนขนาดใหญ่ มีลานกว้างอยู่ตรงกลางด้านติดริมแม่น้ำเป็นท่าเรือ ซึ่งในอดีตเป็นสถานที่รวมกลุ่มของเรือสินค้าของพ่อค้าจีนที่ทำการค้าขายทางท้องทะเล ด้านในสุดของตัวอาคารเป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่ทับทิมหรือชาวจีนเรียกว่า หม่าโจ้ว ซึ่งเคารพนับถือกันว่าเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองในการเดินทางทางท้องทะเล

    พระธาตุมหาเจดีย์พระจอมชาตรีไทย-จีนเฉลิม
           ใกล้กันคือ “มูลนิธิเผยแพร่คุณธรรม(เต็กก่า)จีจินเกาะ” ภายในเป็นที่ทำการและเทววิหารต่างๆ ออกแบบและจัดสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ที่วางตามหลักฮวงจุ้ยอย่างงดงาม นอกจากนี้ยังมีพระธาตุมหาเจดีย์พระจอมชาตรีไทย-จีนเฉลิม ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2542เป็นเจดีย์แบบจีนสูง8ชั้น โดยชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

    อุโบสถวัดสุวรรณ
           เดินทางต่อมาอีกหน่อยจะเจอกับ “วัดสุวรรณ” เดิมบริเวณนี้เชื่อว่าเป็นศาลเจ้าของชาวจีนมาก่อน ต่อมาจึงสร้างเป็นวัดขึ้นพร้อมๆกับกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยมีพุทธลักษณะงดงามมาก นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าแม่กวนอิมประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัดให้ผู้ศรัทธาได้กราบสักการะด้วย

    พระนอนองค์ใหญ่วัดเศวตฉัตร
           ถัดไปเป็น “วัดเศวตฉัตรวรวิหาร” สร้างมาแต่อยุธยา จนในสมัยรัชกาลที่3 พระองค์เจ้าฉัตร ต้นราชสกุลฉัตรกุลทรงมีพระศรัทธาสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ภายในวิหารหลวงพ่อโบสถ์บน ประดิษฐานพระประธานองค์เก่าที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ส่วนพระอุโบสถหลังปัจจุบันเป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นและกระเบื้องเคลือบศิลปะแบบจีนที่งดงาม ด้านหลังพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์พระนามว่าพระพุทธบัณฑูลพูลประดิษฐ์สถิตไสยาสน์

    ภายในวิหารหลวงพ่อฉิม วัดสุทธาราม
           สำหรับสถานที่แห่งสุดท้ายคือ “วัดสุทธาราม” เดิมเป็นวัดที่ประชาชนชาวสวนบริเวณใกล้เคียงได้ร่วมใจกันสร้างขึ้น ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2470 ถัดมาในปีพ.ศ.2509 พระมหาโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดจังหวัดธนบุรีในขณะนั้น ได้เพิ่มตัว “ท” ให้เป็นวัดสุทธารามเพื่อให้ความหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่นามว่าหลวงพ่อฉิม เป็นที่นับถือของชาวบ้านทั่วไป
           
           และนั่นก็คือเสน่ห์ของเขตคลองสานที่มาเขตเที่ยวสามารถเที่ยวได้หลากหลายให้หายอยากกันไปเลย

            
           
           * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
           
           สายรถประจำทางที่ผ่านย่านคลองสาน รถเมล์สาย 3, 4, 6, 7, 9, 19, 37, 40, 42, 43, 57, 85, 88, 89, 105, 111, 149 และ ปอ.6, 8, 89, 167

    ข้อมูลจาก กะฉ่อนพาเที่ยว


    • Update : 21/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch