หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระปฐมเจดีย์ เจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
    พระปฐมเจดีย์ เจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
           โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

    องค์พระปฐมเจดีย์ ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
           เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่งแล้วสำหรับวันพระใหญ่ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน)
           
           ชาวพุทธจึงถือว่าวันนี้เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน

    พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทะรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวนครปฐม
           ในครั้งนี้ฉันจึงอยากจะขอเชิญชวนพี่น้องชาวพุทธ ร่วมกันทำบุญเวียนเทียนเพิ่มบุญเพิ่มกุศลให้กับตนเอง ใครอยู่ใกล้วัดใดก็ไปวัดนั้น หรือถ้าไม่มีแผนจะไปที่ไหนจะไปร่วมเวียนเทียนกับฉันที่ “วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร” จังหวัดนครปฐม ก็ได้ไม่ว่ากัน
           
           โดยที่ “วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร” แห่งนี้ ถือเป็นพระมหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เดิมเรียกว่า “พระธมเจดีย์” สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิมมีลักษณะสถูปกลมรูปทรงคล้ายบาตรคว่ำหรือทรงโอคว่ำ แบบเดียวกับพระสถูปสาญจีในประเทศอินเดีย ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ แต่มียอดเป็นแบบปรางค์ สูงราว 2 เมตร

    สถาปัตยกรรมต่างๆ
           โดยมีตำนานเกี่ยวกับการกำเนิดพระปฐมเจดีย์อยู่หลายตำนานด้วยกัน เช่น ตำนานพระยากง-พระยาพาน ได้เล่าไว้ว่า พระมเหสีในพระยากงผู้ครองเมืองศรีวิชัยหรือนครชัยศรี ได้ประสูติพระกุมารพระองค์หนึ่ง โหรทำนายว่ากุมารเป็นผู้มีบุญญาธิการมากแต่จะทำปิตุฆาต พระยากงจึงรับสั่งให้นำกุมารไปทิ้ง
           
           แต่มียายหอมมาเก็บกุมารไปเลี้ยง เมื่อเติบใหญ่กุมารจึงลายายหอมขึ้นไปเมืองเหนือถึงสุโขทัย บังเอิญไปพบช้างพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยอาละวาดไล่แทงผู้คน กุมารจึงจับช้างกดลงกับดินคนทั้งปวงจึงจับช้างได้ ความทราบถึงพระเจ้าแผ่นดิน จึงชุบเลี้ยงกุมารเป็นบุตรบุญธรรม จนกระทั้งกุมารได้ยกทับมารบกับพระยากง โดยกระทำยุทธหัตถีกัน พระยากงเสียทีถูกกุมารฟันด้วยของ้าวคอขาด

    หลวงพ่อประทานพรภายในพระอุโบสถ
           หลังจากนั้นกุมารจึงยกรี้พลเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองและต้องการได้พระมเหสีพระยากงเป็นภรรยา แต่ก็มีเหตุดลใจให้ทราบว่าเป็นพระมารดา เมื่อแม่ลูกรู้จักกันแล้วและทราบว่าพระยากงเป็นพระบิดาก็เสียใจ และโกรธยายหอมมาก จึงจับยายหอมฆ่าเสียทันที ด้วยเหตุนี้เองคนทั้งปวงจึงเรียกกุมารนั้นว่าพระยาพาล
           
           ครั้นเมื่อฆ่าพระบิดาและยายหอมแล้วก็เกิดความรู้สึกว่าจะเป็นเวรต่อกันจึงทำบุญให้ทานไม่ขาด ต่อมาเมื่อพระมเหสีของพระองค์ให้ประสูติพระโอรส พระยาพานจึงเกิดความรู้สึกถึงความรักที่พ่อมีต่อลูก และเกิดสำนึกในสิ่งที่กระทำไปจึงได้ถามถึงการแก้ไขสิ่งที่ตนได้ทำปิตุฆาตกับพระอรหันต์

    องค์พระปฐมเจดีย์องค์เก่า
           ซึ่งท่านได้ตอบว่าสิ่งนี้เป็นกรรมหนักนักต้องตกมหานรกอเวจี มีแต่ทางผ่อนหนักให้เป็นเบาได้เท่านั้นคือ สร้างพระเจดีย์สูงเท่ากับนกเขาเหิน กรรมอาจจะลดลงไปได้สัก 1 ใน10 ส่วน พระยาพานจึงสั่งให้สร้างเจดีย์ดั้งกล่าวแล้วบรรจุพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วไว้ในเจดีย์ใหญ่นั้นด้วย
           
           โดยมีผู้รู้หลายท่านได้สันนิษฐานว่า องค์พระปฐมเจดีย์มีการสร้างและปฏิสังขรณ์มาอย่างน้อย 3 ครั้งแล้ว นั้นคือในสมัยสุวรรณภูมิ คือ ระยะการสร้างครั้งแรก ราวพุทธศักราช 300-1000 ต่อมาในสมัยทวารวดี มีการสร้างเพิ่มเติม ประมาณช่วงพุทธศักราช 1000-1600 และครั้งที่ 3 ก็คือสมัยที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์

    ภาพจิตกรรมฝาผนังอันวิจิตที่วิหารปัญจวัคคีย์
           ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ที่เมืองนครปฐมพร้อมด้วยคณะสงฆ์ และทรงปักกลดประทับ ณ โคนต้นตะคร้อ ได้สังเกตลักษณะขององค์พระเจดีย์ทรงเห็นว่า ไม่มีพระเจดีย์ใดที่เก่าแก่ และยิ่งใหญ่เท่าเจดีย์องค์นี้
           
           จนเมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติแล้วในราว พ.ศ. 2396 ได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิม เปลี่ยนจากบาตรคว่ำมีพุทธบัลลังก์ ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนระฆัง มียอดนพศูลและมีพระมหามงกุฎสวมไว้บนยอดองค์พระเจดีย์ มีขนาดสูง 120.5 เมตร ฐานโดยรอบยาว 233 เมตร รอบฐานองค์ปฐมเจดีย์สร้างเป็นวิหารคตล้อมรอบเป็น 2 ชั้น ทั้ง 4 ทิศ

    วิหารปัญจวัคคีย์อยู่ทางทิศใต้ขององค์พระฯ
           แต่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จก็สวรรคต ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิสังขรณ์จัดสร้างหอระฆัง และประดับกระเบื้องจนสำเร็จ เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 ปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่าง ๆ ไว้ที่ผนัง รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐาน “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร” เป็นพระยืนปางห้ามญาติ หล่อด้วยโลหะ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ท่านไว้ในใต้ฐานพระนี้ด้วย
           
           ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2509 ทางวัดพบว่าตัวองค์พระปฐมเจดีย์มีรอยร้าวแตกร้าวหลายแห่ง กระเบื้องที่ประดับหลุดร่วงลงมา จึงได้แจ้งเรื่องไปยังรัฐบาลสมัยนั้น และได้มีการสำรวจตรวจสอบอยู่ประมาณ 9 ปี ในที่สุดก็มีความเห็นว่าควรดำเนินการบูรณะเป็นการด่วน จึงได้ลงมือทำการซ่อมแซมบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2518 และแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2524

    ศาสนสถานต่างๆภายในบริเวณองค์
           นอกจากจะไปไหว้พระขอพรในวันพระใหญ่แล้ว ภายในวัดพระปฐมเจดีย์แห่งนี้ ยังมีสิ่งสำคัญอีกหลายอย่างด้วยกัน อาทิ “พระพุทธรูปศิลาขาว” หรือ “หลวงพ่อประทานพร” ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนา สันนิฐานว่าน่าสร้างขึ้นมาในสมัยทวาราวดี
           
           “วิหารปัญจวัคคีย์” ก็เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งภายในวัดแห่งนี้ โดยเพิ่งจะบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ และเปิดให้เข้าชม ภายในเป็นวิหารที่มีจิตรกรรมฝาผนังที่ประณีตและสวยสดงดงามเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องราวประวัติความเป็นมาของศาสนาพุทธ ประวัติการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์แห่งนี้ตั้งแต่เริ่มแรกจนปัจจุบัน และประวัติศาสตร์องค์พระปฐมเจดีย์ 3 สมัย ในยุครัตนโกสินทร์

    ภาพองค์พระปฐมเจดีย์แบบผ่าครึ่งภายในวิหารหลวง
           อีกทั้งภายในวัดแห่งนี้ยังมี “พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์” ตั้งอยู่บริเวณชั้นลดด้านทิศตะวันออกตรงข้าม พระอุโบสถ ภายในเก็บวัตถุโบราณที่ขุดพบได้จากสถานที่ต่างๆในนครปฐมทั้ง สมัยบ้านเชียง สมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป หินบดยา ลูกประคำดินเผา กำไลข้อมือ เงินโบราณ ฯลฯ
           
           และ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์” ตั้งอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศใต้เป็นอาคาร ทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น เป็นที่เก็บศิลปวัตถุและวัตถุโบราณซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปะสมัยทวารวดีที่ขุดพบ

    องค์พระปฐมเจดีย์สีทองอร่ามตา
           ใครที่มีโอกาสแวะเวียนไปยังเมืองนครปฐม ก็อย่าลืมไปไหว้พระขอพรชมความสวยงามที่วัดพระปฐมเจดีย์แห่งนี้ด้วย และในตอนเย็นย่ำภายในบริเวณวัดยังมีตลาดกลางคืนให้ได้อิ่มหนำสำราญกับอาหารอร่อยๆอีกด้วย รู้แบบนี้ ไม่ไปไม่ได้แล้ว!

    • Update : 18/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch