หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวไปชมไป 3
    สู่ตัวเมืองนครพนม

            พระธาตุพนม  ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรวิหาร ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงเป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุมีรูปทรงสี่เหลี่ยมเหมือนมณฑป สูงประมาณ ๕๓ เมตร ฉัตรทองสูง ๔ เมตร รวมความสูง ๕๗ เมตร ประดับตกแต่งด้วยลวดลายอันวิเศษ มีซุ้มต้นสามซุ้มซ้อนกันเป็นสามชั้นเล็กเป็นหลั่นกันขึ้นไป องค์พระสถูปอยูบนมณฑปทั้งสามชั้นนั้น ยอดสถูปหุ้มแผ่นทองคำเช่นเดียวกับ พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และมีขนาดใกล้เคียงกัน
                ตามตำนานพระอุรังคธาตุกล่าวว่า สร้างมานานในผืนแผ่นดินของอาณาจักรศรีโคตบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๘ ผู้สร้างคือพระมหากัสสปะ และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ กับท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ห้าเมือง
                พระธาตุพนมได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง การก่อสร้างสมัยแรกใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุกทีหลัง มีความกว้างด้านละ สองวา สูง สองวา ข้างในเป็นโพรงมีประตูปิดทั้งสี่ด้าน มีการก่อสร้างให้สมบูรณ์ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๕๐๐ ก่อนที่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๓ - ๒๔๘๔ พระธาตุพนมองค์เดิมสูง ๔๓ เมตร ฉัตรทำด้วยทองคำประดับเพชรพลอยสีต่าง ๆ ประมาณ ๒๐๐ เม็ด ส่วนยอดสูงประมาณสี่เมตรเศษหุ้มด้วยสำริด การซ่อมแซมในครั้งนั้นได้เทคอนกรีตเสริมเหล็ก จากแอวขันขึ้นไปถึงยอดสูงสุด และต่อยอดให้สูงขึ้นไปอีก ๑๐ เมตร เมื่อบูรณะเสร็จองค์พระธาตุ ช่วงที่ ๑ ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ ๑๖ เมตร ความสูงจากฐานพื้นดินถึงบัวถลาหรือบัวล่าง ๘ เมตร องค์พระธาตุเดิมประดับด้วยแผ่นอิฐสีแดง จำหลักลวดลายวิจิตรงดงามทั้งสี่ด้านเป็นรูปกษัตริย์สมัยโบราณ มีรูปสัตว์และกนกลายก้นขด ลายใบผักกูดตรงกลางจำหลักเป็นประตูลักษณะเหมือนตังโข่งลวดลายกนกอิฐแดง ประดับกระเบื้องเคลือบลายดอกไม้ บ้างประดับกระจกสีบ้าง เหนือประตูเป็นซุ้ม ช่วงที่ ๒ นับแต่บังล่างไปถึงบัวบน สูง ๑๒ เมตร การซ่อมแซมในชั้นหลัง ๆ ได้โบกปูนทับลวดลายของเก่าทั้งสี่ด้าน มีกระเบื้องถ้วยชามปิดประดับเป็นดอกดวง แต่ยังมีร่องรอยให้เห็นลวดลายเดิมอยูบ้าง ช่วงที่สาม ตั้งแต่บัวบนถึงองค์ระฆังสี่เหลี่ยมขึ้นไปถึงสุดยอด ความสูงเดิม ๒๓ เมตร เป็นตอนที่ต่อเติมเสริมขึ้นเรื่อย ๆ เป็นบัวคว่ำและบัวปากระฆัง หัวบัวเป็นทรงขวดแก้ว องค์ระฆังเรียวรัดขึ้นไปตามลำดับ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นช่อลดหลั่นจนถึงยอด เหนือสุดเป็นฉัตรทองคำสวมยอดไว้ สูง ๔.๕๐ เมตร
                เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ องค์พระธาตุพนมได้หักพังล้มลงมาทั้งองค์ และได้รับการบูรณะใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๒๒ ได้สร้างขึ้นใหม่ทั้งองค์โดยรักษาโครงสร้างขนาดรูปแบบ และลวดลายจำหลักต่าง ๆ ให้เหมือนองค์เดิมแต่มีขนาดเล็กกว่าองค์เดิมเล็กน้อย

                งานนมัสการพระธาตุพนม ได้จัดเป็นประเพณีสืบต่อมาแต่โบราณ จะจัดให้มีในวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี โดยถือเอาวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนสามเป็นวันแรก และไปสิ้นสุดที่วันแรมค่ำเดือนสาม อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศ ก็ได้พากันมานมัสการองค์พระธาตุพนมกันอย่างเนืองแน่นทุกวัน วัดพระธาตุพนม มีบริเวณกว้างใหญ่ และที่ร่มรื่น หน้าวัดหันออกไปสู่แม่น้ำโขง และมีถนนตรงหน้าวัดไปสู่ริมแม่น้ำโขง
                ออกจากพระธาตุพนมแล้วเดินทางมุ่งหน้าไปสู่จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ซึ่งเริ่มต้นจากจังหวัดหนองคาย เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ผ่านอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดหนองคาย ผ่านตัวจังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อออกจากอำเภอธาตุพนมมาได้ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ถึงตัวจังหวัดมุกดาหาร แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๓๔ ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร อยู่ในเขตจังหวัดมุกดาหาร อยู่ทางด้านขวามือของถนน จุดที่ชมได้ง่ายคือ ภูผาเทิบ

                ภูผาเทิบ  หรือกลุ่มหินเทิบ มีลานมุจลินท์อยู่ใกล้กัน มีลักษณะเป็นหินตั้งอยู่บนก้อนหินเป็นจำนวนมาก บริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้ที่ทำการอุทยาน มีผู้เข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายป่าหินงาม แต่มีขนาดใหญ่กว่า และมีลักษณะของหินสองก้อนมาซ้อนกันในรูปแบบต่าง ๆ แทนที่จะเป็นหินก้อนเดียวกัน แต่เนื้อหินกร่อนไปตามธรรมชาติอย่างที่ป่าหินงาม การชมบริเวณหินเทิบใช้เวลาเพียงประมาณ ๑๕ นาทีก็ทั่วถึง สถานที่สำคัญที่อยู่ห่างออกไปมี ภูถ้ำแก้ว และถ้ำฝ่ามือแดง เป็นต้น

              เสาเฉลียง  ออกเดินทางต่อตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๓๒ มุ่งลงใต้ ผ่านอำเภอดอนตาลประมาณ ๒๕ กิโลเมตร อำเภอชานุมาน
    (ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร) เลยอำเภอชานุมานไปเล็กน้อย มีทางแยกไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๔๒ ผ่านอำเภอเขมราฐ
    (ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร) มุ่งไปสู่อำเภอโขงเจียม ระยะทางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร จะมีเส้นทางแยกซ้ายไปสู่ ผาแต้มระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร ก่อนถึงผาแต้ม มีเสาเฉลียง ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือของเส้นทาง แวะเข้าไปชมได้โดยง่าย มีลักษณะคล้ายหินเทิบ แต่ตัวเสาสูงมาก นับเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง จากเสาเฉลียงเดินทางต่อไปตามเส้นทางเดิม อีกประมาณ ๓ กิโลเมตรก็จะถึงผาแต้ม มีลานจอดรถอยู่ด้านบน แล้วมีทางเดินลงไปสู่ผาแต้มด้านล่าง เป็นหน้าผาทอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นระยะทางยาวประมาณเกือบ ๑ กิโลเมตร
    อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

              อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อยู่ในเขต อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิไทร จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประมาณ ๓๔๐ ตารางกิโลเมตร (หรือประมาณ ๒๑๓,๐๐๐ ไร่) ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง และเนินเขา มีหน้าผาสูงชัน มีหินทรายที่มีลักษณะแปลกตากระจายอยู่ทั่วไป เส้นทางไปสู่ผาแต้มจะผ่านเสาเฉลียงก่อนดังได้กล่าวมาแล้ว

                ผาแต้มและผาขาม เป็นหน้าผาสูงทอดยาวขนานไปกับลำน้ำโขง มีความสวยงามตามธรรมชาติ บริเวณหน้าผามีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ อายุกว่า ๓,๐๐๐ ปี เรียงรายกันอยู่เป็นระยะ มีทางเดินลงไปชมภาพเขียนสีดังกล่าวที่หน้าผาด้านล่าง ระยะทางประมาณเกือบหนึ่งกิโลเมตร ภาพเขียนอยู่บนหน้าผาเป็นช่วง ๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นภาพสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ สัญลักษณ์ต่าง ๆ และภาพคน เหนือผาแต้มช่วงหนึ่งเป็นผาหมอนเป็นจุดที่เป็นอันตราย เนื่องจากทางเดินริมหน้าผาแคบมาก และไม่มีการสร้างแนวรั้วกั้น และไม่มีแนวต้นไม้กั้นเหมือนผาแต้มที่อยู่ด้านล่าง การเดินชมผาแต้มสามารถเดินขึ้นไปทางเหนือประมาณหนึ่งกิโลเมตร แล้วกลับขึ้นด้านบนโดยไม่ต้องย้อนกลับทางเดิม จากนั้นจะมีทางเดินบนหน้าผากลับไปสู่ลานจอดรถระยะทางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร
                เนื่องจากผาแต้มอยู่ทางด้านตะวันออกสุดของแนวผาริมฝั่งโขง ข้ามแม่น้ำโขงไปก็จะเป็นประเทศลาว บนผาแต้มซึ่งเป็นที่สูงจึงเหมาะที่จะไปชมดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าได้ ก่อนที่แห่งใดในประเทศไทย
    เข้าสู่เมืองอุบลฯ
                การเที่ยวชมผาแต้ม และภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผาใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงก็น่าจะเพียงพอ จากนั้นก็เดินทางเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๓๒ เข้าสู่อำเภอพิบูลมังสาหาร ระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร แล้วใช้ทางหลวงสาย ๒๑๗ เข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ถนนดีมากมีสี่ช่องการจราจร ถึงตัวเมืองอุบลประมาณ ๑๙.๐๐ น. ในช่วงปีใหม่มีการจัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณทุ่งศรีเมือง ทางหลวงสาย ๒๑๗ จากอำเภอพิบูลมังสาหารเข้าสู่ตัวเมืองอุบลฯ จะผ่านวารินชำราบ แล้วข้ามแม่น้ำมูลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลฯ แล้วจะเปลี่ยนชื่อถนนเป็น ถนนอุปราช ต่อด้วยถนน ชยางกูร และกลายทางหลวงสาย ๒๑๒ ออกไปอำเภอม่วงสามสิบ และจังหวัดอำนาจเจริญ บนถนนสายหลักนี้ช่วงที่เป็นถนนอุปราช จะผ่านทุ่งศรีเมือง ตลอดถนนจะมีการประดับไฟอย่างวิจิตรตระการตา
                การเดินทางในวันที่สอง เป็นระยะทางทั้งสิ้นในการเดินวันนี้ ประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ ๑๒ ชั่วโมง โรงแรมชั้นดีในเมืองอุบลฯ ในช่วงปีใหม่คนไม่มากเข้าพักได้สบาย แต่เพื่อความไม่ประมาทควรจองไว้ก่อน
               เรื่องของยางรถ  กะว่าออกเดินทางจากตัวเมืองอุบลตอนเช้า หลังจากกินอาหารเช้าที่โรงแรม ซึ่งจัดรายการไว้อย่างเรียบง่ายมีผู้เข้าไปใช้บริการบางตา แต่ก็ต้องเสียเวลาไปกับการวิเคราะห์อาการแกว่งตัวทางที่นั่งตอนหลังของรถ เมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วต่ำ ต้องเรียกบริการช่วยเหลือยามฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรของ Volvo ส่งเจ้าหน้าที่มาวิเคราะห์อาการ แล้ววินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวเกิดจากยางหลังเส้นใดเส้นหนึ่งมีอาการบวม จึงเอารถไปให้ร้านขายยางถอดยางออกมาดู พบว่ามียางหลังเส้นหนึ่งมีการบวมเล็กน้อยโดยใช้วิธีเอามือลูบผนังด้านในของยาง จึงต้องเปลี่ยนยางใหม่ทั้งสองเส้น เสียเวลาไปประมาณชั่วโมงเศษ เพื่อความปลอดภัยและสบายใจของคณะเดินทาง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนเมื่อวิ่งทางไกลด้วยความเร็วในการเดินทางดังที่กล่าวไว้แล้วแต่ตอนต้น ยางมีโอกาสระเบิดได้ และเมื่อระเบิดแล้วไม่ว่าเป็นยางเส้นไหน ล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องที่การขับรถทางไกลควรระมัดระวัง คอยสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น แล้วรีบจัดการแก้ไขเสียแต่เนิ่น (ความผิดปกติของยางเกิดขึ้นได้เสมอแม้ว่า สภาพภายนอกของยางยังอยู่ในสภาพดี ดอกยางก็ยังดีอยู่)
    อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ

                ออกจากตัวเมืองอุบลขับรถย้อนกลับมาตามเส้นทางหลวงสาย ๒๑๗ เมื่อถึงอำเภอพิบูลมังสาหารแล้วใช้ทางหลวงสาย ๒๒๒๒ที่ผ่านมาเมื่อวาน มุ่งหน้าไปอำเภอโขงเจียม ก่อนถึงตัวอำเภอโขงเจียมเล็กน้อย มีป้ายบอกทางไปเขื่อนปากมูล เป็นทางแยกเข้าไปทางด้านขวามือ เป็นเส้นทางเข้าสู่เขื่อนปากมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านวังเหว่ อำเภอโขงเจียม มีความสูง ๑๗ เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร อยู่ห่างจากจุดที่แม่น้ำมูลไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง ประมาณ ๖ กิโลเมตร สันเขื่อนใช้เป็นเส้นทางจากอำเภอโขงเจียมไปยังอำเภอสิรินธรได้
                อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ  มีพื้นที่ประมาณ ๘๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๐,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นอุทยาน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ นับเป็นอุทยานแห่งชาติ แห่งที่ ๓๑ ของประเทศไทย อยู่ในเขตอำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบล ฯ ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร สามารถไปได้ทั้งทางฝั่งขวา และทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูล การไปตามทางหลวงสาย ๒๑๗ ที่ผ่านทางเข้าเขื่อนปากมูลดังกล่าว เป็นการไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูล ก่อนถึงตัวอำเภอโขงเจียมประมาณ ๔ กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าไปยังแก่งตะนะ
             แก่งตะนะ  เป็นแก่งกลางแม่น้ำมูลที่ใหญ่ที่สุด ตัวแก่งเป็นแนวโขดหินขนาดใหญ่สูงประมาณ ๑ เมตร ขวางลำแม่น้ำมูล สายน้ำที่ไหลผ่านแก่งตะนะจะไหลผ่านไปตามร่องหิน และลานหินแยกเป็นน้ำตกใหญ่น้อยสวยงาม เหนือแก่งตะนะขึ้นไปเป็นดอนตะนะ ซึ่งเป็นดินดอนที่เกิดขวางแม่ำน้ำมูล ทำให้แบ่งแม่น้ำมูลออกเป็นสองสาย มีความกว้างประมาณ ๔๕๐ เมตร และ ๗๐๐ เมตร ทางตอนเหนือของดอนมีหาดทรายใช้เป็นสถานที่พักผ่อนได้อย่างดี มีสะพานแขวนให้เดินข้ามไปยังตัวดอนได้
                ในเขตอุทยาน ฯ แก่งตะนะยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น แก่งคันเหว่ น้ำตกตาดโตน น้ำตกและบึงห้วยหมาก และน้ำตกห้วยกว้าง เป็นต้น การไปชมจุดที่น่าสนใจทุกจุดต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นด้วยเวลาอันจำกัด จึงเลือกเข้าชมเฉพาะจุดที่อยู่ใกล้เส้นทางหลักเท่านั้น

             แม่น้ำสองสี  หรือดอนด่านปากแม่น้ำมูล อยู่ในเขตบ้านเวินบึก ตำบลบ้านด่าน อำเภอโขงเจียม เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลบรรจบกับแม่น้ำโขง น้ำในแม่น้ำมูลจะเป็นสีคราม ส่วนน้ำในแม่น้ำโขงจะเป็นสีปูน มีจุดชมวิวแม่น้ำสองสีอยู่หลายจุดด้วยกันบนเส้นทางสาย ๒๒๒๒ ทางด้านขวามือเมื่อมุ่งเข้าสู่ตัวอำเภอโขงเจียม แต่จุดที่อยู่ใกล้ที่สุด และเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ บริเวณหน้าวัดโขงเจียม สำหรับห้วงเวลาที่จะเห็นความแตกต่างของสีของน้ำได้ชัดเจนที่สุดคือ เดือนเมษายน
    สู่สามเหลี่ยมมรกต
                จากอำเภอโขงเจียม มีสะพานคอนกรีตข้ามแม่น้ำมูลจากฝั่งซ้ายไปสู่ฝั่งขวาในเขตอำเภอสิรินธร นับว่าสะดวกมาก เนื่องจากแต่เดิมต้องใช้แพข้าม หรือมิฉะนั้นก็ต้องย้อนกลับไปทางอำเภอพิบูลมังสาหาร ระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร แล้วข้ามแม่น้ำมูลไปใช้เส้นทางหมายเลข ๒๑๗ ไปอำเภอสิรินธรเส้นทางนี้จะอ้อมผ่านทางตอนเหนือของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสินรินทร แล้ววกลงทางใต้ไปสู่ช่องเม็ก สำหรับเส้นทางที่ข้ามแม่น้ำมูล จากอำเภอโขงเจียม คือเส้นทางหมายเลข ๒๑๗๓ จะมาบรรจบเส้นทางหมายเลข ๒๑๗ ก่อนถึงช่องเม็กก่อนถึงประมาณ ๒๐ กิโลเมตร

               เขื่อนสิรินธร  อยู่ในเขตอำเภอสิรินธร ห่างจากตัวเมืองอุบล ฯ ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร เมื่อมาตามเส้นทางหมายเลข ๒๑๗ จะมีทางแยกขวาที่หลักกิโลเมตรที่ ๗๑ เข้าไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว เช่นเดียวกับเขื่อนปากมูล สูง ๔๒ เมตร ยาว ๙๔๐ เมตร กับลำน้ำโดมน้อยซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำมูล อ่างเก็บน้ำของเขื่อนทอดยาวไปตามแนวเหนือใต้ จากเขตอำเภอสิรินธรถึงเขตอำเภอบุณฑริก เขื่อนนี้ใช้ประโยชน์ในการชลประทานและผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

             ช่องเม็ก  เป็นชายแดนไทยกับลาว อยู่ในเขตอำเภอสิรินธร มีด่านที่เปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทยกับลาว เส้นทางหลวงหมายเลข ๒๑๗ จากตัวเมืองอุบล ฯ มาสิ้นสุดที่ช่องเม็ก ไปเชื่อมต่อกับถนนในเขตลาวเข้าสู่เมืองปากเซ ระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร เส้นทางดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายเอเซีย ที่เริ่มต้นในเขตไทยทางด้านตะวันตก จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อจากถนนในประเทศพม่า ผ่านจังหวัดต่าง ๆ ในเขตภาคกลางตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่ภาคอีสานมาสิ้นสุดที่ช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบล ฯ ทางด้านตะวันออก ที่ช่องเม็กมีด่านตรวจคนเข้าเมือง และบรรดาร้านค้าต่างอยู่หนาแน่น
                จากช่องเม็ก จะใช้เส้นทางสาย ๒๑๗๓ เลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร ไปสู่อำเภอบุณฑริก ระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร มีสองช่องทางจราจรผิวจราจรดีตลอด การจราจรเบาบาง เมื่อถึงตัวอำเภอบุณฑริก จะมีทางแยกขวาไปอำเภอเดชอุดม ทางแยกซ้ายไปอำเภอนาจะหลวย ซึ่งเป็นเส้นทางหมายเลข ๒๒๔๘ ระยะทางจากอำเภอบุณฑริกถึงอำเภอนาจะหลวยประมาณ ๓๕ กิโลเมตร
    อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย

                อุทยาน ฯ อยู่ในเขตอำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว และประเทศกัมพูชา บริเวณที่เขตแดนของทั้งสามประเทศมาบรรจบกัน ได้ชื่อว่า สามเหลี่ยมมรกต พื้นที่ของอุทยานประมาณ ๖๙๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๓๑,๐๐๐ ไร่ พื้นที่เป็นภูเขาในเทือกเขาพนมดงรัก เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐
                ทางเข้าที่ทำการอุทยานอยู่เลยตัวอำเภอนาจะหลวยไปเล็กน้อย แยกไปทางซ้ายมือ ใกล้ที่ทำการอุทยานมีน้ำตกห้วยหลวง เป็นน้ำตกที่ตกลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ ๔๐ เมตร ด่านล่างของน้ำตกมีแอ่งน้ำ และลานหินขนาดใหญ่ มีทางเดินลงไปชมได้สะดวก มีผู้คนมาเที่ยวชมกันหนาตา
                สำหรับจุดที่น่าสนใจอื่น ๆ มีจุดชมทิวทัศน์บริเวณผาผึ้งสามารถชมทิวทัศน์ตามแนวชายแดนประเทศลาว และประเทศกัมพูชา สวนหินพลาญยาว เป็นกลุ่มหินรูปร่างสวยงามแปลกตา ตั้งกระจายกันอยู่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง
    เส้นทางอิสานใต้
                ออกจากอุทยาน ฯ ภูจองนายอย เมื่อเลยเที่ยงไปแล้ว เส้นทางที่จะต้องเดินทางในวันนี้ยังอีกยาวไกล จึงไม่มีเวลาที่จะแวะชมอะไรสองข้างทางอีก เมื่อใช้เส้นทางสาย ๒๒๔๘ ต่อไปจนถึงทางแยกซ้ายไปเขาพระวิหาร ก็ใช้เส้นทางหมายเลข ๒๒๑ ซึ่งเป็นเส้นทางจากศรีสะเกษไปเขาพระวิหาร โดยมุ่งหน้าไปทางจังหวัดศรีสะเกษเป็นระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร จะไปตัดกับเส้นทางหมายเลข ๒๔ สายโชคชัย - เดชอุดม ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางสายนี้มุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครราชสีมา ผ่านอำเภอสังขะ อำเภอปราสาทจังหวัดสุรินทร์ อำเภอประโคนชัย อำเภอนางรอง อำเภอหนองกี่จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอโชคชัย อำเภอปักธงชัยจังหวัดนครราชสีมา ถึงอำเภอปักธงชัย เมื่อเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. ระยะทางจากอำเภอกันทรลักษณ์ ถึงอำเภอปักธงชัย ประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร
    เส้นทางไปจันทบุรี
                จากอำเภอปักธงชัย ใช้เส้นทางหมายเลข ๓๐๔ สายปักธงชัย - กบินทร์บุรี - สัตหีบ มาตัดเส้นทางหมายเลข ๓๕ สายนครนายก -  อรัญประเทศ ที่อำเภอกบินทร์บุรีระยะทาง ประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางหมายเลข ๓๕ ไปจังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ถึงสระแก้ว แล้วใช้เส้นทางหมายเลข ๓๑๗ สายสระแก้ว - จันทบุรี มุ่งตรงไปตัวจังหวัดจันทบุรี ระยะทางประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตรผ่านอำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้ำเย็น และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์  ถึงตัวเมืองจันทบุรี ประมาณ ๒๓.๐๐ น. รวมระยะทางที่เดินทางในวันนี้ ประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๔ ชั่วโมง เป็นอันจบการเดินทางในวันที่สาม
    กลับกรุงเทพ ฯ
                สำหรับวันที่สี่อันเป็นวันสุดท้ายของการเดินทาง เป็นการพักผ่อนที่จันทบุรี ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ ระยะทางจากจันทบุรีไปกรุงเทพ ฯ ใช้เส้นทางหมายเลข ๓ ถนนสุขุมวิท มาถึงอำเภอแกลง ระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร แล้วใช้เส้นทางหมายเลข ๓๔๔ สายชลบุรี - แกลง ถึงอำเภอบ้านบึง ระยะทางประมาณ ๙๐ กิโลเมตร แล้วใช้เส้นทาง Motor Way เข้าสู่กรุงเทพระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดจากจันทบุรี มากรุงเทพ ฯ ในปัจจุบัน เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางเพื่อเที่ยวไปชมไปในห้วงวันหยุดติดต่อกันหลายวันของการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่


    • Update : 16/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch